สิ่งช่วยศึกษา
เปโตร


เปโตร

ในภาคพันธสัญญาใหม่, เดิมทีเปโตรเป็นที่รู้จักในชื่อสิเมโอนหรือซีโมน (๒ ปต. ๑:๑), ชาวประมงจากเบธไซดาผู้อาศัยอยู่ที่คาเปอรนาอุมกับภรรยา. พระเยซูทรงรักษาแม่ยายของเปโตร (มาระโก ๑:๒๙–๓๑). เปโตรได้รับเรียกเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์พร้อมอันดรูว์น้องชายของท่าน (มธ. ๔:๑๘–๒๒; มาระโก ๑:๑๖–๑๘; ลูกา ๕:๑–๑๑). ชื่อในภาษาอาราเมอิคของท่าน, เคฟาส, ซึ่งหมายถึง “ผู้หยั่งรู้” หรือ “ศิลา,” เป็นชื่อที่พระเจ้าประทานให้ (ยอห์น ๑:๔๐–๔๒; ปจส., ยอห์น ๑:๔๒). ขณะที่ภาคพันธสัญญาใหม่จะกล่าวถึงความอ่อนแอบางอย่างของเปโตรตามประสามนุษย์, แต่อธิบายด้วยเช่นกันว่าท่านเอาชนะความอ่อนแอเหล่านั้นและเข้มแข็งได้ด้วยศรัทธาที่ท่านมีต่อพระเยซูคริสต์.

เปโตรสารภาพว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์และพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า (ยอห์น ๖:๖๘–๖๙), และพระเจ้าทรงเลือกท่านให้ถือกุญแจทั้งหลายของอาณาจักรบนแผ่นดินโลก (มธ. ๑๖:๑๓–๑๘). บนภูเขาแห่งการเปลี่ยนสภาพ, เปโตรเห็นพระผู้ช่วยให้รอดที่เปลี่ยนสภาพ, เห็นโมเสสและเอลีอัส (เอลียาห์) ด้วย (มธ. ๑๗:๑–๙).

เปโตรเป็นหัวหน้าอัครสาวกในสมัยของท่าน. หลังจากการสิ้นพระชนม์, การฟื้นคืนพระชนม์, และการเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระผู้ช่วยให้รอด, ท่านเรียกศาสนจักรมารวมกันและกำกับดูแลการเรียกอัครสาวกแทนยูดาสอิสคาริโอท (กิจการ ๑:๑๕–๒๖). เปโตรกับยอห์นรักษาชายคนหนึ่งที่เป็นง่อยแต่กำเนิด (กิจการ ๓:๑–๑๖) และได้รับการปลดปล่อยออกจากเรือนจำอย่างน่าอัศจรรย์ (กิจการ ๕:๑๑–๒๙; ๑๒:๑–๑๙). โดยผ่านการปฏิบัติศาสนกิจของเปโตรพระกิตติคุณจึงขยายไปถึงคนต่างชาติเป็นครั้งแรก (กิจการ ๑๐–๑๑). ในยุคสุดท้าย, เปโตร, พร้อมด้วยยากอบและยอห์น, มาจากสวรรค์และประสาทฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและกุญแจทั้งหลายของฐานะปุโรหิตนี้ให้โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรี (คพ. ๒๗:๑๒–๑๓; ๑๒๘:๒๐).

สาส์นฉบับแรกของเปโตร

สาส์นฉบับแรกเขียนมาจาก “บาบิโลน” (น่าจะมาจากโรม) และส่งไปให้วิสุทธิชนในที่ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าเอเชียไมเนอร์หลังจากนีโรเริ่มข่มเหงชาวคริสต์ได้ไม่นาน.

บทที่ ๑ พูดถึงบทบาทที่ได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าของพระคริสต์ในฐานะพระผู้ไถ่. บทที่ ๒–๓ อธิบายว่าพระคริสต์ทรงเป็นศิลามุมเอกของศาสนจักร, ว่าวิสุทธิชนดำรงฐานะปุโรหิตอันสูงส่ง, และว่าพระคริสต์ทรงสั่งสอนวิญญาณทั้งหลายในเรือนจำ. บทที่ ๔–๕ อธิบายว่าเหตุใดจึงมีการสั่งสอนพระกิตติคุณแก่คนตายและเหตุใดเอ็ลเดอร์จึงต้องดูแลฝูงแกะ.

สาส์นฉบับที่สองของเปโตร

บทที่ ๑ ชักชวนวิสุทธิชนให้แน่วแน่ในการเรียกและการเลือกของพวกเขา. บทที่ ๒ เตือนเรื่องผู้สอนปลอม. บทที่ ๓ พูดถึงยุคสุดท้ายและการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสต์.