คลังค้นคว้า
บทนำสู่พระกิตติคุณตามที่ท่านลูกากล่าวไว้


บทนำสู่พระกิตติคุณตามที่ท่านลูกากล่าวไว้

เหตุใดจึงศึกษาหนังสือนี้

หนังสือของลูกามีพยานเพิ่มเติมเกี่ยวกับความจริงหลายประการที่บันทึกไว้โดยมัทธิวและมาระโกและมีเนื้อหาที่พิเศษอยู่ด้วย พระกิตติคุณของลูกาจะเพิ่มความเข้าใจของนักเรียนเกี่ยวกับคำสอนของพระเยซูคริสต์ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นและช่วยให้พวกเขาสำนึกคุณอย่างเต็มที่มากขึ้นสำหรับความรักความการุณย์ที่พระองค์ทรงมีต่อมนุษยชาติทั้งปวง ดังที่ปรากฏระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัยและการชดใช้อันไม่มีขอบเขตของพระองค์

ใครเขียนหนังสือนี้

ลูกาเป็นผู้เขียนพระกิตติคุณเล่มนี้ เขาเป็นแพทย์ (ดู โคโลสี 4:14) และ “ทูตสวรรค์ของพระเยซูคริสต์” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 1:1 ) ลูกาเป็นหนึ่งใน “เพื่อนร่วมงาน” ของเปาโล ( 1:24) และคู่ผู้สอนศาสนาของเปาโล (ดู 2 ทิโมธี 4:11) ลูกาเขียนหนังสือกิจการของอัครทูตด้วย (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ลูกา”)

ท่านเขียนหนังสือนี้เมื่อใดและที่ไหน

แม้ไม่เป็นที่รู้แน่ชัดว่าลูกาเขียนพระกิตติคุณของท่านเมื่อใด หนังสือนี้น่าจะเขียนขึ้นในครึ่งหลังของศตวรรษแรกใน คริสต์ศักราช แหล่งข้อมูลของลูกาเป็นผู้คนที่ “ได้เห็นกับตาเองตั้งแต่ต้น” (ลูกา 1:2) เกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัยและการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด เราไม่รู้ว่าพระกิตติคุณของลูกาเขียนขึ้นที่ไหน

หนังสือนี้เขียนถึงใครและเพราะเหตุใด

ลูกามุ่งหวังให้คนต่างชาติส่วนใหญ่อ่านพระกิตติคุณของเขา เขานำเสนอพระเยซูคริสต์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของทั้งชาวยิวและคนต่างชาติ ลูกาเขียนพระกิตติคุณของเขาให้แก่ “เธโอฟิลัส” (ลูกา 1:3) ซึ่งในภาษากรีกแปลว่า “สหายของพระผู้เป็นเจ้า” หรือ “ผู้เป็นที่รักของพระผู้เป็นเจ้า” ) เป็นที่ชัดเจนว่าเธโอฟิลัสได้รับคำแนะนำก่อนหน้านี้เกี่ยวกับพระชนม์ชีพและคำสอนของพระเยซูคริสต์ (ดู ลูกา 1:4) ลูกาหวังว่าจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมโดยการเสนอเรื่องราวอย่างเป็นระบบของพระพันธกิจและการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด เขาต้องการให้คนที่อ่านประจักษ์พยานของเขา “รู้ความจริง” (ลูกา 1:4) เกี่ยวกับพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า—ความการุณย์ การชดใช้ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์

ลักษณะเด่นของหนังสือนี้มีอะไรบ้าง

หนังสือลูกาเป็นเล่มที่ยาวที่สุดในพระกิตติคุณสี่เล่มและเป็นหนังสือที่ยาวที่สุดในพันธสัญญาใหม่ เรื่องราวอันเป็นที่รู้จักที่สุดบางเรื่องของศาสนาคริสต์ที่ไม่เหมือนกับพระกิตติคุณของลูกาได้แก่ สภาวะแวดล้อมในการถือกำเนิดของยอห์นผู้ถวายบัพติศมา (ดู ลูกา 1:5–25, 57–80); เรื่องราวดั้งเดิมว่าด้วยการประสูติของพระเยซูคริสต์ (ดู ลูกา 2:1–20); เรื่องราวของพระเยซูในวัยเด็กขณะทรงมีพระชันษา 12 พรรษาในพระวิหาร (ดู ลูกา 2:41–52); อุปมาเช่นเรื่องชาวสะมาเรียใจดี (ดู ลูกา 10:30–37), บุตรหายไป (ดู ลูกา 15:11–32), และเศรษฐีกับลาซารัส (ดู ลูกา 16:19–31); เรื่องราวของคนโรคเรื้อนสิบคน (ดู ลูกา 17:11–19); และเรื่องราวของพระเจ้าผู้ฟื้นคืนพระชนม์ที่ดำเนินเคียงข้างสานุศิษย์ของพระองค์ในถนนไปสู่เอมมาอูส (ดู ลูกา 24:13–32)

ลักษณะเด่นอื่นๆ ได้แก่การที่ลูการวมคำสอนของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาไว้ด้วยซึ่งไม่พบในพระกิตติคุณเล่มอื่น (ดู ลูกา 3:10–14); การเน้นในเรื่องการสวดอ้อนวอนของพระเยซูคริสต์ (ดู ลูกา 3:21; 5:16; 9:18, 28–29; 11:1); และการรวมเรื่องการเรียก การอบรม และการทำงานเผยแผ่ศาสนาของสาวกเจ็ดสิบ (ดู ลูกา 10:1–22) นอกจากนี้ ลูกาเป็นผู้เขียนพระกิตติคุณคนเดียวที่บันทึกว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงหลั่งพระโลหิตในเกทเสมนีและทูตสวรรค์มาปฏิบัติพระองค์ (ดู ลูกา 22:43–44)

เนื่องจากพระกิตติคุณของลูกาเริ่มและจบที่พระวิหาร นั่นเป็นสัญลักษณ์ถึงความสำคัญของพระวิหารในฐานะสถานที่หลักในการติดต่อกับมนุษยชาติของพระผู้เป็นเจ้า (ดู ลูกา 1:9; 24:53)

สรุปเหตุการณ์

ลูกา 1–3 พยากรณ์การถือกำเนิดและพันธกิจของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาและพระเยซูคริสต์ พยานยืนยันว่าพระกุมารเยซูคือพระเมสสิยาห์ เมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา พระเยซูคริสต์ทรงสอนที่พระวิหาร ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาสั่งสอนการกลับใจและบัพติศมาพระเยซูคริสต์ ลูกาบันทึกลำดับการสืบเชื้อสายของพระเยซูคริสต์

ลูกา 4–8 พระเยซูคริสต์ทรงถูกล่อลวงในถิ่นทุรกันดาร ในนาซาเร็ธ พระองค์ทรงประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์และทรงถูกปฏิเสธ พระเยซูคริสต์ทรงเลือกอัครสาวกสิบสองและทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ พระองค์ทรงให้อภัยบาปและทรงทำปฏิหาริย์มากมาย

ลูกา 9–14 พระองค์ทรงส่งอัครสาวกสิบสองไปสั่งสอนและรักษา พระเยซูคริสต์ทรงเลี้ยงอาหารคนห้าพันคนและทรงเปลี่ยนสภาพบนภูเขา พระองค์ทรงเรียกสาวกเจ็ดสิบและทรงส่งพวกเขาออกไปสอน พระเยซูคริสต์ทรงสอนเกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์ ความหน้าซื่อใจคด และการตัดสิน พระองค์ทรงเล่าอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดี

ลูกา 15–17 พระเยซูคริสต์ทรงสอนเป็นอุปมา พระองค์ทรงสอนเกี่ยวกับการทำให้ขุ่นเคือง ศรัทธา และการให้อภัย พระเยซูคริสต์ทรงรักษาคนโรคเรื้อนและสอนเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์

ลูกา 18–22 พระเยซูคริสต์ทรงสอนเป็นอุปมาต่อ พระองค์ทรงรักษาชายตาบอดและทรงสอนศักเคียส พระองค์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิต ทรงกันแสงสงสารเมืองนั้น และทรงชำระพระวิหาร พระเยซูคริสต์ทรงพยากรณ์ถึงความพินาศของเยรูซาเล็มและรับสั่งถึงเครื่องหมายที่จะเกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ พระองค์ทรงจัดตั้งศีลระลึก ทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ และทรงทนทุกข์ในเกทเสมนี พระองค์ทรงถูกทรยศ ถูกจับกุม ถูกเยาะเย้ย ถูกโบยตี และถูกสอบสวน

ลูกา 23–24 พระเยซูคริสต์ทรงถูกสอบสวนต่อหน้าปีลาตและเฮโรด ถูกตรึงกางเขน และถูกฝัง ทูตสวรรค์มาที่อุโมงค์ฝังพระศพและสานุศิษย์สองคนที่อยู่บนถนนไปเอมมาอูสเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงปรากฏต่อสานุศิษย์ของพระองค์ในเยรูซาเล็ม ทรงสัญญากับอัครสาวกของพระองค์ว่าพวกเขาจะได้รับพลังอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้า และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์