คลังค้นคว้า
บทที่ 133: ทิตัส


บทที่ 133

ทิตัส

คำนำ

ในสาส์นที่เปาโลเขียนถึงทิตัส ผู้นำท้องถิ่นของศาสนจักรในเกาะครีต เปาโลแนะนำให้เขาใช้หลักคำสอนที่ถูกต้องสอนและแก้ไขผู้อื่น เปาโลแนะนำให้ทิตัสสอนวิสุทธิชนให้เป็นแบบอย่างที่ชอบธรรม ให้มีความหวังในการไถ่ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ และให้ดำเนินต่อไปในงานดี (หมายเหตุ: ในการเตรียมบทเรียนนี้ การทบทวนหลักคำสอนใน seektruth.lds.org อาจมีประโยชน์)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ทิตัส 1

เปาโลแนะนำให้ทิตัสใช้หลักคำสอนที่ถูกต้องสอนและแก้ไขวิสุทธิชนตลอดจนคนอื่นๆ ในเกาะครีต

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาได้ยินบางคนพูดโต้แย้งศาสนจักรและหลักคำสอนของศาสนจักร

  • อะไรเป็นวิธีที่เหมาะสมในการปกป้องศาสนจักรและหลักคำสอนของศาสนจักรเมื่อบางคนพูดโต้แย้งศาสนจักร

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงขณะศึกษาหนังสือทิตัสที่จะช่วยพวกเขารู้วิธีปกป้องศาสนจักรและหลักคำสอนของศาสนจักรอย่างเหมาะสมเมื่อมีคนโต้แย้ง

เชื้อเชิญให้นักเรียนระบุที่ตั้งของเกาะครีตในแผนที่พระคัมภีร์ไบเบิล แผนที่ 13 “เส้นทางในการเผยแผ่ศาสนาของอัครสาวกเปาโล” อธิบายว่าเมื่อใกล้สิ้นสุดชีวิตของเปาโล เปาโลเขียนจดหมายถึงทิตัส ผู้ที่กำลังรับใช้เป็นผู้นำศาสนจักรในเกาะครีต เปาโลเปลี่ยนใจเลื่อมใสทิตัสหลายปีก่อนหน้านี้ และหลังจากทิตัสรับบัพติศมา เขาได้รับใช้กับเปาโลในงานมอบหมายหลายอย่าง ในสาส์นฉบับนี้ เปาโลให้กำลังใจทิตัสและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเรียกของเขา

สรุป ทิตัส 1:1–6 โดยอธิบายว่าเปาโลเป็นพยานถึงความหวังที่เขามีในชีวิตนิรันดร์เนื่องจากคำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าในการดำรงอยู่ก่อนเกิดของเรา เปาโลอธิบายด้วยว่าเขาได้ส่งทิตัสไปที่เกาะครีตเพื่อจัดระเบียบให้ศาสนจักรที่นั่น หน้าที่อย่างหนึ่งที่ทิตัสมีคือให้เรียกผู้ชายรับใช้เป็นอธิการ

เชื้อเชิญนักเรียนอ่าน ทิตัส 1:7–8 ในใจ โดยมองหาลักษณะนิสัยที่อธิการควรมี ท่านอาจต้องการกระตุ้นให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาพบ

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ ลักษณะนิสัยอะไรที่อธิการควรมี (ท่านอาจจำเป็นต้องอธิบายว่า เย่อหยิ่ง หมายถึงหัวแข็งหรือยโสและ “โลภมักได้” หมายถึงเงินที่ได้มาอย่างไม่ซื่อสัตย์หรือได้มาโดยวิธีที่ไม่ชอบธรรม)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดอธิการจึงจำเป็นต้องมีลักษณะนิสัยเหล่านี้

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ทิตัส 1:9 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาลักษณะนิสัยอื่นๆ ที่อธิการควรมี อธิบายว่า “คำสอนที่ถูกต้อง” หมายถึงหลักคำสอนที่แท้จริง

  • ลักษณะนิสัยอีกอย่างหนึ่งที่อธิการควรมีคืออะไร

  • ท่านคิดว่า “[ยึด] มั่น” ในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 9 เหตุใดจึงสำคัญสำหรับอธิการที่จะยึดมั่นในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า (เพื่อสามารถใช้หลักคำสอนที่แท้จริงในการกระตุ้นคนอื่นให้ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและให้ชี้แจงต่อ “พวกคนที่คัดค้าน” พวกคนที่คัดค้านเป็นบางคนที่พูดแย้งหรือปฏิเสธแนวคิด [ในกรณีนี้คือ ความจริงของพระกิตติคุณ] พวกคนที่คัดค้านสามารถเป็นได้ทั้งสมาชิกและคนที่ไม่ใช่สมาชิกของศาสนจักร)

  • เช่นเดียวกันกับอธิการ ท่านสามารถทำอะไรได้เพื่อยึดมั่นในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเรายึดมั่นในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า เราจะสามารถใช้หลักคำสอนที่แท้จริงเพื่อกระตุ้นให้คนอื่นดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และเพื่อชี้แจงต่อคนที่คัดค้าน เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังพลังอำนาจที่มีอยู่ในหลักคำสอนที่แท้จริงซึ่งจะช่วยให้คนดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“หลักคำสอนที่แท้จริงเปลี่ยนเจตคติและพฤติกรรม ถ้าเข้าใจ

“การศึกษาหลักคำสอนของพระกิตติคุณจะปรับปรุงพฤติกรรมเร็วกว่าการศึกษาพฤติกรรมจะปรับปรุงพฤติกรรม … นั่นคือสาเหตุที่เราเน้นหนักเรื่องการศึกษาหลักคำสอนของพระกิตติคุณ” (Little Children, Nov. 1986, 17)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์แพคเกอร์กล่าวไว้ เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะศึกษาและเรียนรู้หลักคำสอนที่แท้จริง

แบ่ง นักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสองหรือสามคน เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มทำงานด้วยกันเพื่อตอบคำถามต่อไปนี้และให้เขียนคำตอบของพวกเขาในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัวของตนเอง ท่านอาจจะเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บน กระดาน

  1. เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อสอนหลักคำสอนที่แท้จริงเพื่อเราจะกระตุ้นให้ผู้อื่นดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ (ดู แอลมา 17:2–4)

  2. มีตัวอย่างอะไรบ้างจากพระคัมภีร์เกี่ยวกับเวลาที่บางคนสอนหลักคำสอนที่แท้จริงให้แก่คนๆ หนึ่งที่สงสัยหรือเป็นปฏิปักษ์กับศาสนจักรและหลักคำสอนของศาสนจักร (รวมถึงอย่างน้อยหนึ่งตัวอย่างของเวลาที่บางคนกลับใจเนื่องจากเขาได้รับการสอนหลักคำสอนที่แท้จริง)

  3. การเรียนรู้หลักคำสอนที่แท้จริงเคยช่วยโน้มน้าวท่านหรือบางคนที่ท่านรู้จักให้ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ได้เต็มที่มากขึ้นเมื่อใด

หลังจากให้เวลาพอสมควร เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันคำตอบของพวกเขากับชั้นเรียน หลังจากพวกเขารายงาน ให้อธิบายว่าแม้หลักคำสอนที่แท้จริงจะช่วยเรากระตุ้นให้คนอื่นดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและชี้แจงคนที่ต่อต้านศาสนจักร แต่ไม่ใช่ทุกคนจะยอมรับความจริง เนื่องจากทุกคนมีสิทธิ์เสรี พวกเขาสามารถเลือกรับหรือปฏิเสธหลักคำสอนที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ได้

เชื้อเชิญนักเรียนนึกถึงข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่พวกเขาได้เรียนรู้ไปแล้วในปีนี้

  • ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้อใดมีประโยชน์เป็นพิเศษในการกระตุ้นคนอื่นให้ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ

  • ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้อใดที่จะช่วยหักล้างผู้ที่ต่อต้านศาสนจักร

กระตุ้นให้นักเรียนเชี่ยวชาญข้อพระคัมภีร์หลักต่อไปเพื่อว่าพวกเขาจะพร้อมสอนหลักคำสอนที่แท้จริงให้ผู้อื่น

สรุป ทิตัส 1:10–16 โดยอธิบายว่าเปาโลสอนทิตัสว่าอธิการจำเป็นต้องพึ่งพาหลักคำสอนที่แท้จริงเนื่องจากมีผู้หลอกลวงและผู้สอนปลอมจำนวนมากท่ามกลางพวกเขา เขาแนะนำให้ทิตัสตำหนิผู้สอนปลอมเพื่อว่าพวกเขาจะทิ้งความผิดพลาดและ “มีความเชื่อที่ถูกต้อง” (ข้อ 13) เปาโลอธิบายด้วยว่าคนชั่วช้าพูดว่าเขารู้จักพระผู้เป็นเจ้าแต่การกระทำของพวกเขาปฏิเสธพระองค์

ทิตัส 2

เปาโลแนะนำให้ทิตัสสอนวิสุทธิชนในเกาะครีตให้ดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนที่แท้จริง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ทิตัส 2:1 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลแนะนำให้ทิตัสทำอะไรอีกกับหลักคำสอนที่แท้จริง

  • เปาโลแนะนำให้ทิตัสทำอะไรอีกกับหลักคำสอนที่แท้จริง (สอนให้วิสุทธิชนในเกาะครีต)

เขียนคำต่อไปนี้บนกระดาน: ผู้ชาย ผู้หญิง หญิงสาว และ ชายหนุ่ม

เชื้อเชิญให้หญิงสาวในชั้นเรียนอ่าน ทิตัส 2:3–5 ในใจโดยมองหาคำแนะนำของเปาโลว่าหญิงสูงวัยกว่าควรดำเนินชีวิตอย่างไรและพวกเขาควรสอนอะไรหญิงสาว เชื้อเชิญให้ชายหนุ่มอ่าน ทิตัส 2:2, 6–8 ในใจ โดยมองหาคำแนะนำของเปาโลว่าชายสูงวัยกว่าและชายหนุ่มควรดำเนินชีวิตอย่างไร

หมายเหตุ: หากมีคำถามเกิดขึ้นเกี่ยวกับผู้หญิงต้อง “เชื่อฟังสามีของตน” (ข้อ 5) ท่านอาจพูดถึงเนื้อหาในบทเรียนสำหรับ เอเฟซัส 5–6

  • ตามที่เปาโลกล่าวไว้ ชายสูงวัย หญิงสูงวัย ชายหนุ่ม หญิงสาว ควรดำเนินชีวิตอย่างไร (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดานใต้หัวข้อที่สอดคล้อง หรือขอให้นักเรียนมาที่กระดานและเขียนคำตอบของพวกเขา ท่านอาจต้องการช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าคำบางคำมีความหมายว่าอะไร ตัวอย่างเช่น ประมาณตน หมายถึงสงบเสงี่ยมหรือจริงจัง มีสติสัมปชัญญะ หมายถึงควบคุมตนเองและมี ความน่านับถือหมายถึงน่าเคารพ)

  • ประโยค “จงประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างในการดีทุกด้าน” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 7) (เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ)

  • ตามคำแนะนำที่เปาโลให้แก่ทิตัส ผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ควรทำอะไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ ผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้อื่น)

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงสมาชิกสูงวัยในวอร์ดหรือสาขาที่เป็นแบบอย่างที่ดีของการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและการอุทิศตนเพื่อพระกิตติคุณ ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันเกี่ยวกับคนที่พวกเขานึกถึงและอธิบายว่าแบบอย่างของบุคคลนั้นช่วยพวกเขาอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกพฤติกรรมหนึ่งที่เขียนไว้บนกระดานและให้ตั้งเป้าหมายเพื่อนำพฤติกรรมนั้นเข้ามาสู่ชีวิตพวกเขาให้ดีขึ้นเพื่อแบบอย่างที่ดีของพวกเขาจะเป็นพรแก่ผู้อื่น

สรุป ทิตัส 2:9–10 โดยอธิบายว่าเปาโลแนะนำให้ทิตัสสอนสมาชิกศาสนจักรที่ทำงานเป็นทาสให้ซื่อสัตย์และไม่ขัดแย้งในการติดต่อกับนายของเขา โดยการเป็นคนซื่อสัตย์และไม่ขัดแย้ง สมาชิกศาสนจักรเหล่านี้จะสรรเสริญเกียรติพระเจ้าและเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับนายของพวกเขา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ทิตัส 2:11–15 อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธ ฟีลิปปี 1:28 กล่าวว่า “และท่านไม่เกรงกลัวพวกที่ขัดขวางเลย ผู้ที่ปฏิเสธพระกิตติคุณ ซึ่งนำความพินาศมาสู่พวกเขา แต่ท่านผู้ที่ยอมรับพระกิตติคุณซึ่งคือความรอด และนั่นเป็นของพระผู้เป็นเจ้า” ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าทำให้อะไรเป็นไปได้สำหรับคนทั้งปวงและพระคริสต์ทรงทำอะไรให้เราทุกคน

  • พระคุณของพระผู้เป็นเจ้าทำให้อะไรเป็นไปได้สำหรับคนทั้งปวง

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 12 วิสุทธิชนควรทำอะไรเพื่อเข้าถึงพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า

  • เราเรียนรู้อะไรจากคำสอนของเปาโลใน ข้อ 14 เกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงทำเพื่อเรา (นักเรียนควรระบุความจริงทำนองนี้ พระเยซูคริสต์ทรงสละพระชนม์ชีพพระองค์เองเพื่อเราเพื่อว่าพระองค์จะทรงไถ่เราและชำระเราให้บริสุทธิ์ ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีนี้ใน ข้อ 14 ที่สอนความจริงนี้)

ชี้ให้เห็นว่า “ประชากร” (ข้อ 14) หมายถึงผู้คนที่มีค่าของพระเจ้า คนที่พระองค์ทรงซื้อหรือไถ่ไว้แล้ว (ดู 1 เปโตร 1:18–19; 2:9) และคนที่ทำพันธสัญญาว่าจะรักษาพระบัญญัติของพระองค์ (ดู อพยพ 19:5–6)

ทิตัส 3

เปาโลบอกทิตัสถึงสิ่งที่วิสุทธิชนในเกาะครีตต้องทำหลังจากพวกเขารับบัพติศมา

สรุป ทิตัส 3:1–2 โดยอธิบายว่าเปาโลแนะนำให้ทิตัสสอนวิสุทธิชนในเกาะครีตให้เชื่อฟังกฎหมายของแผ่นดินและให้สุภาพอ่อนโยนในความสัมพันธ์ของพวกเขากับผู้อื่น

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ทิตัส 3:3–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลพูดว่าพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ได้เปลี่ยนเขาและวิสุทธิชนในเกาะครีตอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3 เปาโลบรรยายถึงตัวเขาเองและสมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ ก่อนที่พวกเขาจะเรียนรู้พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5–6 สิ่งใดเปลี่ยนแปลงผู้คนเหล่านี้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 7 จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากพระคุณของพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเนื่องจากพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 8 เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชนทำอะไรหลังจากพวกเขาเปลี่ยนและรับบัพติศมาแล้ว

สรุป ทิตัส 3:9–15 โดยอธิบายว่าเปาโลแนะนำวิสุทธิชนให้หลีกเลี่ยงการทะเลาะกับคนที่สร้างความแตกแยก เปาโลขอให้ทิตัสมาเยี่ยมเขาในมาซิโดเนียด้วย

สรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงที่ระบุในบทนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ทิตัส 1–3 แหล่งช่วยในการแก้ข้อสงสัยของคำถามที่ยาก

“ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือไม่เป็นที่พึงปรารถนาที่นักเรียนพระกิตติคุณจะมีคำถามเกี่ยวกับหลักคำสอน ประวัติศาสตร์ หรือจุดยืนเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมของศาสนจักร ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดยอมรับว่า ‘เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีคำถาม … มีสมาชิกศาสนจักรเพียงไม่กี่คน ในต่างช่วงต่างวาระกัน ที่ยังไม่เคยต่อสู้กับคำถามหนักหน่วงหรือคำถามละเอียดอ่อน’ (‘เชิญมาร่วมกับเรา,’ เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 23) ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ครูจะเรียนรู้วิธีการตอบคำถามของนักเรียนอย่างเหมาะสม เอ็ลเดอร์พอล วี. จอห์นสันแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า ‘วิธีการของเราในการเข้าถึงนักเรียนที่มีข้อสงสัยถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อวิธีที่พวกเขาเลือกตอบสนอง’ (‘A Pattern for Learning Spiritual Things’ [การถ่ายทอดการอบรมเซมินารีและสถาบันศาสนา, 7 ส.ค. 2012]) เมื่อครูทำตามการฝึกฝนเรื่องการฟัง การเป็นพยาน การเชื้อเชิญและการติดตามผลที่ฝึกไว้ พวกเขามีแนวโน้มที่จะช่วยนักเรียนรักษาศรัทธาและหาคำตอบให้คำถามของพวกเขาได้มากขึ้น” (seektruth.lds.org)

ทิตัส 2:1–12 ผลของ “หลักคำสอนที่ถูกต้อง”

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับคุณค่าในการสอนหลักคำสอนของพระกิตติคุณดังนี้

“หลักคำสอนและหลักธรรมที่ได้รับการสอนอย่างดีมีอิทธิพลอันทรงพลังยิ่งต่อพฤติกรรมมากกว่ากฎเกณฑ์ เมื่อเราสอนหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณ เราจะทำตัวให้มีคุณสมบัติเหมาะแก่การเป็นพยานและการนำทางของพระวิญญาณเพื่อเสริมการสอนของเรา” (“การสอนพระกิตติคุณ,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 98)