คลังค้นคว้า
กิจกรรมผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์


กิจกรรมผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

คำนำ

หมวดนี้มีแนวคิดบางอย่างที่ท่านสามารถใช้เพื่อช่วยให้นักเรียนเชี่ยวชาญข้อพระคัมภีร์สำคัญ เมื่อท่านช่วยและกระตุ้นให้นักเรียนพัฒนาทักษะเหล่านี้ ท่านกำลังช่วยให้พวกเขาพึ่งพาตนเองในการศึกษาพระคัมภีร์ นักเรียนสามารถใช้ทักษะผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ตลอดชีวิตพวกเขาในการหา เข้าใจ ประยุกต์ใช้ และท่องจำข้อความในพระคัมภีร์ แนวคิดสำหรับการสอนแต่ละส่วนของผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์มีดังรายการที่อยู่ด้านล่าง การใช้ความหลากหลายของกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการเชี่ยวชาญข้อพระคัมภีร์มากขึ้น

กิจกรรมที่ช่วยนักเรียน หา ข้อความผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

การทำเครื่องหมายข้อความ

การทำเครื่องหมายพระคัมภีร์จะช่วยนักเรียนจำข้อเหล่านี้และหาได้เร็วขึ้น ท่านอาจกระตุ้นให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อความสำคัญเหล่านี้ในพระคัมภีร์ให้โดดเด่นกว่าข้ออื่นที่พวกเขาทำเครื่องหมาย

การรู้จักหนังสือต่างๆ

การท่องจำชื่อและลำดับของหนังสือในพันธสัญญาใหม่จะช่วยให้นักเรียนหาข้อพระคัมภีร์ได้เร็วยิ่งขึ้น ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนคุ้นเคยกับหนังสือในพันธสัญญาใหม่

  • หาสารบัญ—ช่วยนักเรียนคุ้นเคยกับสารบัญในพระคัมภีร์ไบเบิลเพื่อช่วยให้พวกเขาหาหนังสือซึ่งมีข้ออ้างอิงผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

  • ร้องเพลง—ใส่ชื่อหนังสือในพันธสัญญาใหม่เข้าไปแทนคำในเพลงสวดหรือเพลงปฐมวัยที่คุ้นเคย สอนเพลงให้นักเรียนของท่าน (หรือใช้เพลง “The Books in the New Testament” [หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 116–117]) ให้นักเรียนร้องเพลงนี้เป็นประจำตลอดทั้งปีเพื่อช่วยให้พวกเขาจำชื่อและลำดับของหนังสือในพันธสัญญาใหม่

  • ใช้อักษรตัวแรก—เขียนอักษรตัวแรกของหนังสือลงบนกระดาน (ม, ม, ล, ย, และอื่นๆ) ให้นักเรียนฝึกพูดชื่อหนังสือที่สอดคล้องกับแต่ละอักษร ให้นักเรียนทำกิจกรรมนี้ต่อไปจนพวกเขาสามารถท่องชื่อหนังสือทั้งหมดจากความจำ

  • แข่งเปิดหาหนังสือ— ขานชื่อหนังสือซึ่งมีข้อพระคัมภีร์ และให้นักเรียนเปิดพระคัมภีร์ของพวกเขาไปที่หน้าใดก็ได้ในหนังสือนั้น จับเวลาว่าทั้งห้องใช้เวลาเปิดหาหนังสือเหล่านั้นนานแค่ไหน ท่านอาจต้องทำกิจกรรมนี้ซ้ำๆ เพื่อช่วยนักเรียนท่องจำชื่อและหาหนังสือในพันธสัญญาใหม่ได้คล่องขึ้น

การจำข้ออ้างอิงและเนื้อหา

เมื่อนักเรียนรู้ว่าข้อและเนื้อหาของข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์อยู่ที่ไหน พระวิญญาณบริสุทธิ์จะช่วยให้พวกเขานึกถึงข้ออ้างอิงพระคัมภีร์เมื่อจำเป็น (ดู ยอห์น 14:26) คำสำคัญหรือวลี เช่น “เกิดจากน้ำและพระวิญญาณ” (ยอห์น 3:5) และ “ผลของพระวิญญาณ” (กาลาเทีย 5:22–23) จะช่วยนักเรียนจำเนื้อหาและคำสอนเชิงหลักคำสอนในแต่ละข้อ วิธีต่อไปนี้จะช่วยนักเรียนเชื่อมโยงข้ออ้างอิงผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์กับเนื้อหาหรือคำสำคัญของแต่ละข้อ (ท่านอาจต้องการเก็บกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน แข่งความเร็ว หรือจับเวลาไว้เล่นทีหลังในปีนั้น หลังจากนักเรียนแสดงให้เห็นว่าพวกเขารู้ว่าข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์นั้นอยู่ที่ไหน กิจกรรมเช่นนั้นจะช่วยส่งเสริมสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้)

  • ข้ออ้างอิงหรือคำสำคัญ—กระตุ้นให้นักเรียนท่องจำข้ออ้างอิงและคำสำคัญของแต่ละข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่เขียนอยู่ในบัตรผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ (สามารถสั่งบัตรผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ออนไลน์ที่ store.lds.org ท่านอาจให้นักเรียนทำชุดบัตรผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ของพวกเขาเอง) ให้เวลานักเรียนศึกษาบัตรผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์กับคู่และจากนั้นให้ทดสอบกัน กระตุ้นให้นักเรียนใช้วิธีที่สร้างสรรค์ขณะที่พวกเขาศึกษาและทดสอบกันเอง เมื่อพวกเขาเชี่ยวชาญข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์มากขึ้น ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาใช้คำไขที่เกี่ยวข้องกับบริบทหรือการประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรมจากข้อพระคัมภีร์ คนที่ถูกทดสอบอาจตอบปากเปล่าหรือเขียนตอบ

  • บัตรผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—กิจกรรมนี้สามารถใช้แนะนำหรือทบทวนชุดข้อความผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ เลือกบัตรผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์จำนวนหนึ่ง และเตรียมแจกให้นักเรียนของท่าน (ให้แน่ใจว่าแต่ละบัตรมีอยู่หลายใบเพื่อว่าจะมีนักเรียนมากกว่าหนึ่งคนได้รับผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้อเดียวกัน ท่านอาจต้องการมีบัตรมากพอเพื่อที่นักเรียนแต่ละคนจะมีข้อความสองสามข้อที่ต่างกัน) แจกให้กับชั้นเรียน ให้นักเรียนศึกษาข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ข้ออ้างอิง คำสำคัญ และข้อความบริบท หลักคำสอนและหลักธรรม และแนวคิดการประยุกต์ใช้ในแต่ละใบ บอกคำไขจากแต่ละใบ (ตัวอย่างเช่น คำจากข้อพระคัมภีร์หรือคำสำคัญ บริบท หลักคำสอนหรือหลักธรรม หรือการประยุกต์ใช้) นักเรียนที่มีบัตรคำที่เกี่ยวข้องควรยืนขึ้นและบอกข้ออ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้อนั้น

  • แข่งหาพระคัมภีร์—ใช้คำไขเพื่อช่วยให้นักเรียนฝึกหาข้อความในพระคัมภีร์ของพวกเขาได้อย่างรวดเร็ว สำหรับคำไข ท่านสามารถใช้คำสำคัญ ข้อความบริบท หลักคำสอนและหลักธรรม ตลอดจนแนวคิดการประยุกต์ใช้จากบัตรผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจจะสร้างคำไขของท่านเองด้วย กิจกรรมการแข่งหาพระคัมภีร์ซึ่งนักเรียนจะแข่งกันหาว่าข้อความนั้นอยู่ที่ไหนจะช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์อย่างแข็งขัน เมื่อใช้กิจกรรมการแข่งหาพระคัมภีร์ ให้ทำในวิธีที่จะไม่ทำร้ายความรู้สึกหรือขุ่นเคืองพระวิญญาณ ช่วยนักเรียนหลีกเลี่ยงการปฏิบัติต่อพระคัมภีร์ด้วยความไม่เคารพหรือแข่งขันกันมากเกินไป ท่านอาจให้นักเรียนแข่งกับมาตรฐานไม่ใช่แข่งกันเอง ตัวอย่างเช่น นักเรียนสามารถแข่งกับครู หรือท่านจะให้พวกเขาแข่งกันดูว่านักเรียนกี่เปอร์เซ็นต์ของห้องจะหาข้อนั้นในเวลาที่กำหนดได้หรือไม่

  • แข่งหาเรื่องราว—ให้คำไขโดยสร้างสถานการณ์สมมติที่จะแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องกันของข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น สำหรับคำไขของ มัทธิว 28:19–20 หรือ ฟีลิปปี 4:13 ท่านอาจพูดว่า “เดเนียลสามารถรับใช้งานเผยแผ่ได้และรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ฐานะปุโรหิตของเขาที่จะทำเช่นนั้น แต่เขากังวลว่าเขาไม่ความรู้พอที่จะสอนพระกิตติคุณได้ดี เขากังวลด้วยว่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับเขาที่จะพูดกับคนแปลกหน้า เมื่อเขาสวดอ้อนวอนทูลขอการยืนยัน เขาจำได้ว่าหลังจากพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์ พระองค์ทรงบัญชาอัครสาวกของพระองค์ว่า ‘จงออกไป… และสอนชนทุกชาติ’ และพระเจ้าจะทรงอยู่กับพวกเขาตลอดเวลา เดเนียลนึกถึงคำของเปาโลที่ว่า “ข้าพเจ้าเผชิญได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า” เมื่อนักเรียนฟังสถานการณ์สมมติแล้ว ให้พวกเขาหาข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่อยู่ในพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • การทดสอบและข้อสอบ—จะให้โอกาสนักเรียนทดสอบความจำของพวกเขาเกี่ยวกับข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ คำไขอาจรวมถึงคำสำคัญหรือข้ออ้างอิงพระคัมภีร์ ข้อความที่ยกมาจากพระคัมภีร์ หรือสถานการณ์ที่แสดงความจริงซึ่งสอนไว้ในข้อพระคัมภีร์ อาจมีการสอบปากเปล่า บนกระดาน หรือในกระดาษ หลังจากนักเรียนทำการทดสอบและข้อสอบแล้ว ท่านอาจให้นักเรียนที่ได้คะแนนสูงจับคู่กับนักเรียนที่ได้คะแนนต่ำกว่า นักเรียนที่มีคะแนนสูงสามารถทำหน้าที่ครูช่วยนักเรียนที่มีคะแนนต่ำกว่าเพื่อช่วยศึกษาและพัฒนา ส่วนหนึ่งของความพยายามครั้งนี้ คือนักเรียนคู่นั้นอาจตั้งเป้าหมายให้ได้คะแนนรวมสูงกว่าในแบบทดสอบครั้งต่อไป ท่านอาจจะสร้างแผนภูมิหรือกระดานข่าวแสดงเป้าหมายของนักเรียนเพื่อให้มองเห็นความก้าวหน้าของพวกเขา

กิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียน เข้าใจ ข้อความผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

การนิยามคำและวลี

การนิยามคำและวลีในข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ (หรือช่วยนักเรียนนิยามคำหรือวลี) จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของทั้งข้อ เมื่อนิยามเหล่านั้นจำเป็นต่อความเข้าใจหลักคำสอนและหลักธรรมในข้อหนึ่ง ท่านอาจต้องการแนะนำให้นักเรียนเขียนนิยามเหล่านี้ไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา ทบทวนความหมายของคำและวลีเมื่อท่านทบทวนข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

การระบุบริบท

การระบุบริบทของข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของข้อนั้นได้ดีขึ้น บริบทรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับว่าใครพูดกับใครและทำไม ฉากหลังของข้อ (ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิศาสตร์) และคำถามหรือสถานการณ์ซึ่งทำให้เกิดเนื้อหาในข้อพระคัมภีร์ ตัวอย่างเช่น คำสอนของพระเจ้าใน ยอห์น 3:5 เป็นส่วนหนึ่งในการสนทนาระหว่างพระเยซูคริสต์กับฟาริสีที่น่าสงสารชื่อนิโคเดมัสที่มาหาพระผู้ช่วยให้รอดตอนกลางคืนเพื่อถามเกี่ยวกับหลักคำสอนของพระองค์ พระเจ้ารับสั่งกับนิโคเดมัสว่าถ้าเราไม่ “เกิดใหม่” เรา “ไม่สามารถเห็นแผ่นดินของพระเจ้า” (ยอห์น 3:3) ด้วยความสับสน นิโคเดมัสถามว่าคนชราจะเกิดใหม่ได้อย่างไร ยอห์น 3:5 มีพระดำรัสตอบของพระเจ้าต่อคำถามของนิโคเดมัส การรู้เกี่ยวกับข้อมูลนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับคำถามที่พระเจ้าทรงตอบเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดไม่ได้บังเกิดใหม่จากน้ำและพระวิญญาณ ผู้นั้นจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้” เมื่อท่านสอนบทเรียนที่มีข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ให้เน้นย้ำบริบทที่เกิดขึ้นในข้อความเหล่านั้น กิจกรรมเพิ่มเติมต่อไปนี้อาจช่วยให้นักเรียนเข้าใจข้อความสำคัญเหล่านี้ด้วย

  • การระบุบริบท—เขียนหัวข้อต่อไปนี้ด้านบนของกระดาน ผู้พูด ผู้ฟัง จุดประสงค์ และ ความคิดเห็นที่มีประโยชน์อื่นๆ แบ่งนักเรียนออกเป็นห้ากลุ่ม มอบหมายข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ให้กลุ่มละหนึ่งข้อ เชื้อเชิญให้พวกเขาค้นบริบทของข้อที่ได้รับมอบหมายให้พบโดยระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อต่างๆ บนกระดาน ให้นักเรียนเขียนสิ่งที่พบบนกระดาน จากนั้นขอให้แต่ละกลุ่มอธิบายบริบทของข้อที่ได้รับมอบหมายและอธิบายว่าข้อมูลนี้ส่งผลต่อความเข้าใจของพวกเขาเกี่ยวกับความจริงในแต่ละข้ออย่างไร ในการเพิ่มอีกมุมมองหนึ่งให้แก่กิจกรรมนี้ ท่านอาจต้องการท้าทายให้ชั้นเรียนเดาข้ออ้างอิงผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์โดยใช้คำบรรยายบนกระดานก่อนที่แต่ละกลุ่มจะอธิบายสิ่งที่พวกเขาเขียน

การวิเคราะห์

การวิเคราะห์เกี่ยวข้องกับการระบุหลักคำสอนและหลักธรรมที่พบในข้อพระคัมภีร์ รวมถึงการช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าความจริงเหล่านี้สำคัญสำหรับพวกเขาอย่างไร สิ่งนี้จะนำไปสู่การประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรมในชีวิตของพวกเขาได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น กิจกรรมต่อไปนี้ช่วยให้นักเรียนวิเคราะห์ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

  • เขียนคำไข—เมื่อนักเรียนคุ้นเคยกับข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์มากขึ้น จงเชื้อเชิญให้พวกเขาตั้งคำถาม สร้างเหตุการณ์ หรือคำไขอื่นๆ ที่แสดงตัวอย่างหลักคำสอนและหลักธรรมที่สอนไว้ในข้อเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้อาจใช้เพื่อเป็นการทดสอบชั้นเรียน

การอธิบาย

การให้นักเรียนอธิบายข้อความพระคัมภีร์ทำให้ความเข้าใจของพวกเขาลึกซึ้งขึ้นและปรับปรุงความสามารถของพวกเขาในการสอนหลักคำสอนและหลักธรรมจากพระคัมภีร์ วิธีการสองวิธีต่อไปนี้สามารถช่วยนักเรียนฝึกอธิบายข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

  • คำและวลีสำคัญ—เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์เดียวกันด้วยตนเองและระบุคำหรือวลีที่พวกเขาคิดว่าสำคัญต่อความหมายของข้อเป็นพิเศษ จากนั้นเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อนั้นให้ชั้นเรียนฟังและเน้นคำหรือวลีที่เขาเลือก ขอให้นักเรียนอธิบายสาเหตุที่คำหรือวลีนั้นสำคัญต่อการเข้าใจข้อความนั้น เชื้อเชิญให้นักเรียนอีกสองสามคนทำเช่นเดียวกัน นักเรียนอาจเลือกคำหรือวลีที่ต่างกันจากข้อเดียวกัน เมื่อสมาชิกชั้นเรียนได้ยินความคิดเห็นที่แตกต่างเหล่านี้แล้ว พวกเขาจะได้รับความเข้าใจเกี่ยวกับข้อนั้นมากขึ้น

  • เตรียมการให้ข้อคิดทางวิญญาณ—ให้โอกาสนักเรียนใช้ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์เมื่อพวกเขาเตรียมการให้ข้อคิดทางวิญญาณขณะเริ่มชั้นเรียน ช่วยพวกเขาสรุปบริบท อธิบายหลักคำสอนและหลักธรรม แบ่งปันประสบการณ์และตัวอย่างที่มีความหมาย และแสดงประจักษ์พยานเกี่ยวกับหลักคำสอนและหลักธรรมในข้อเหล่านั้น ท่านอาจเสนอแนะให้นักเรียนใช้สื่อการสอนเพื่ออธิบายแนวคิดในข้อเหล่านั้น

การรู้สึกถึงความสำคัญของหลักคำสอนและหลักธรรม

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจและได้รับพยานทางวิญญาณเกี่ยวกับหลักคำสอนและหลักธรรมที่สอนในข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “เมื่อครูที่แท้จริงสอนข้อเท็จจริง [ของพระกิตติคุณ ] … เขาพา [นักเรียน] ก้าวออกไปรับพยานทางวิญญาณและความเข้าใจมาไว้ในใจพวกเขาซึ่งก่อให้เกิดการปฏิบัติและการกระทำ” (“Teaching by Faith” [คำปราศัยกับนักการศีกษาศาสนาซีอีเอส, 1 ก.พ. 2002], 5, si.lds.org; ดู Teaching Seminary: Preservice Readings [2004], 92 ด้วย) เมื่อนักเรียนรู้สึกถึงความจริง ความสำคัญ และความเร่งด่วนของหลักธรรมหรือหลักคำสอนผ่านอิทธิพลของพระวิญญาณ ความปรารถนาของพวกเขาที่จะประยุกต์ใช้ความจริงกับชีวิตจะเพิ่มขึ้น ครูสามารถช่วยนักเรียนเชื้อเชิญและหล่อเลี้ยงความรู้สึกเหล่านี้ของพระวิญญาณโดยเปิดโอกาสให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีในการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณที่พบในข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ สิ่งนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงที่สอนในข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ดีขึ้นและทำให้แน่ใจว่าความจริงเหล่านี้จารึกไว้ในใจของนักเรียน กิจกรรมต่อไปนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจความสำคัญของหลักคำสอนและหลักธรรมที่สอนในข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

  • การฟังข้อพระคัมภีร์—เชื้อเชิญให้นักเรียนฟังข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ในคำพูดหรือบทเรียนในศาสนจักร ในคำปราศัยการประชุมใหญ่ และในการสนทนากับครอบครัวและเพื่อน เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานว่าพวกเขาได้ยินเกี่ยวกับข้อใดบ้าง ข้อนั้นใช้อย่างไร มีการสอนความจริงอะไร และประสบการณ์อะไรที่พวกเขาหรือผู้อื่นมีเกี่ยวกับความจริงที่สอนเป็นครั้งคราว มองหากิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนเป็นพยาน (และเชื้อเชิญให้นักเรียนเป็นพยาน) ถึงความจริงที่สอนในข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

กิจกรรมที่ช่วยนักเรียน ประยุกต์ใช้ ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

การสอน

ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์และหลักคำสอนพื้นฐานได้รับการพัฒนามาด้วยกันและมีเจตนาจะทำให้สอดคล้องกันเพื่อประโยชน์ของนักเรียน (มีข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์อยู่ทั่วทั้งเอกสารหลักคำสอนพื้นฐาน) เมื่อนักเรียนเรียนรู้และพูดถึงหลักคำสอนและหลักธรรมที่มีอยู่ในข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ พวกเขากำลังเรียนรู้และพูดถึงหลักคำสอนพื้นฐานเช่นกัน และเมื่อนักเรียนเรียนรู้ที่จะพูดถึงหลักคำสอนพื้นฐานด้วยคำของตนเอง พวกเขาอาจพึ่งพาข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่ท่องจำเพื่อช่วยพวกเขา การให้โอกาสนักเรียนสอนหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณโดยใช้ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในตนเองและความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์ของพวกเขา เมื่อนักเรียนสอนและเป็นพยานเกี่ยวกับหลักคำสอนและหลักธรรมที่มีอยู่ในข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ พวกเขาเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาเช่นกัน กระตุ้นให้นักเรียนใช้ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์สอนและอธิบายพระกิตติคุณในชั้นเรียนและในการสนทนากับเพื่อน ครอบครัว และผู้อื่น

  • นำเสนอข้อพระคัมภีร์—มอบหมายให้นักเรียนเตรียมการพูดหรือบทเรียนสามถึงห้านาทีเกี่ยวกับข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ให้พวกเขาเตรียมที่ชั้นเรียนหรือที่บ้าน นอกจากข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ พวกเขาอาจใช้แหล่งช่วยอื่นเพื่อช่วยพวกเขาเตรียม เช่นบัตรผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ คู่มือพระคัมภีร์ หรือ แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ แต่ละคำพูดหรือบทเรียนควรมีการแนะนำ ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ เรื่องราวหรือตัวอย่างของหลักธรรมที่สอน และประจักษ์พยานของนักเรียน นักเรียนอาจอาสานำเสนอข้อพระคัมภีร์ในชั้นเรียน ในการสังสรรค์ครอบครัว หรือในโควรัมหรือชั้นเรียนของพวกเขาอันเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้าหรือความก้าวหน้าส่วนบุคคล หากนักเรียนนำเสนอคำพูดหรือบทเรียนนอกชั้นเรียน ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขารายงานเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง

  • การแสดงบทบาทสมมติผู้สอนศาสนา—เตรียมบัตรจำนวนหนึ่งพร้อมคำถามที่ผู้สนใจอาจจะถามซึ่งสามารถตอบได้โดยใช้ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ช่วย (ตัวอย่างเช่น “สมาชิกในศาสนจักรของท่านเชื่ออะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์?”) เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คู่มาหน้าชั้นเพื่อตอบคำถามที่เลือกจากบัตร เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าผู้สอนศาสนาจะตอบคำถามคล้ายๆ กันอย่างไร ท่านอาจเสนอแนะวิธีสอนที่มีประสิทธิภาพสักสองสามวิธี อาทิ (1) กล่าวถึงบริบทของข้อพระคัมภีร์ (2) อธิบายหลักคำสอนหรือหลักธรรม (3) ถามคำถามเพื่อดูว่าคนที่พวกเขาสอนเข้าใจหรือเชื่อสิ่งที่สอนหรือไม่ (4) แบ่งปันประสบการณ์และประจักษ์พยาน และ (5) เชื้อเชิญคนที่พวกเขาสอนให้ปฏิบัติตามความจริงที่เรียนรู้ ขอให้ชั้นเรียนติชมว่าพวกเขาชอบอะไรเกี่ยวกับวิธีตอบคำถามของแต่ละคู่

  • เป็นพยาน—เชื้อเชิญให้นักเรียนตรวจดูข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์และเลือกมาหนึ่งข้อซึ่งประกอบด้วยหลักคำสอนหรือหลักธรรมที่พวกเขาสามารถเป็นพยานถึง เชื้อเชิญให้พวกเขาเป็นพยานถึงความจริงที่พวกเขาเลือกและแบ่งปันประสบการณ์ที่ทำให้พวกเขาสามารถเป็นพยานถึงเรื่องนั้นได้ ขณะนักเรียนแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขา พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงยืนยันความจริงของหลักคำสอนหรือหลักธรรมที่พวกเขากำลังเป็นพยาน ประจักษ์พยานของพวกเขาอาจสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นกระทำด้วยศรัทธาเช่นกัน

หมายเหตุ: โอกาสที่นักเรียนแบ่งปันประจักษ์พยานควรเป็นไปด้วยความเต็มใจ นักเรียนไม่ควรถูกบังคับให้แบ่งปันประจักษ์พยานหรือทำให้รู้สึกว่าพวกเขาต้องแสดงตนว่ามีความรู้ที่พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่ามี นอกจากนั้น นักเรียนบางคนลังเลที่จะแสดงประจักษ์พยานเนื่องจากพวกเขาเข้าใจผิดว่าพวกเขาต้องเริ่มต้นด้วย “ข้าพเจ้าต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานของข้าพเจ้า …” หรือว่าการแสดงประจักษ์พยานของพวกเขาต้องมีการแสดงอารมณ์ความรู้สึกด้วย ช่วยนักเรียนเข้าใจว่าเมื่อพวกเขาเป็นพยาน พวกเขาเพียงแบ่งปันเกี่ยวกับหลักคำสอนและหลักธรรมที่พวกเขารู้ว่าเป็นความจริง การแบ่งปันประจักษ์พยานสามารถเรียบง่ายโดยการพูดเพียงว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่านี่เป็นความจริง” หรือ “ข้าพเจ้ารู้ว่านี่เป็นความจริง” หรือ “ข้าพเจ้าเชื่ออย่างนี้ด้วยสุดใจ”

การดำเนินชีวิต

การเสนอแนะวิธีที่นักเรียนจะประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรมในข้อความพระคัมภีร์ (หรือการเชื้อเชิญนักเรียนให้คิดหาวิธี) จะเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้โดยใช้ศรัทธา

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“ผู้เรียนรู้ที่กำลังใช้สิทธิ์เสรีโดยทำตามหลักธรรมที่ถูกต้องจะเปิดใจรับพระวิญญาณบริสุทธิ์และเชื้อเชิญเดชานุภาพการสอน การเป็นพยาน และพยานยืนยันของพระองค์ การเรียนรู้โดยศรัทธาเรียกร้องความพยายามอย่างเต็มที่ทางวิญญาณ จิตใจ และร่างกาย ไม่ใช่รับอย่างเดียว การกระทำที่จริงใจและเสมอต้นเสมอปลายอันเกิดจากจากศรัทธาของเรานั่นเองที่บอกพระบิดาบนสวรรค์ของเราและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ให้ทรงทราบว่าเราเต็มใจเรียนรู้และรับคำแนะนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์” “Seek Learning by Faith,Ensign, Sept. 2007, 64)

จงเปิดโอกาสให้นักเรียนแบ่งปันและเป็นพยานถึงประสบการณ์ที่พวกเขาเคยมีกับการประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรม ต่อไปนี้จะเป็นวิธีหนึ่งในการกระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ในชีวิตพวกเขา

  • ตั้งเป้าหมาย—เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้หมวดการประยุกต์ใช้บัตรผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ตั้งเป้าหมายเฉพาะเจาะจงว่าจะดำเนินชีวิตตามหลักธรรมที่พบในข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ให้ดีขึ้น ให้พวกเขาเขียนเป้าหมายลงในแผ่นกระดาษไว้พกติดตัวเป็นเครื่องเตือนใจ เมื่อเห็นสมควร ให้เชิญนักเรียนรายงานความสำเร็จของพวกเขา

กิจกรรมที่ช่วยนักเรียน ท่องจำ ข้อความผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

การท่องจำ

การท่องจำข้อพระคัมภีร์จะทำให้ความเข้าใจนักเรียนลึกซึ้งยิ่งขึ้นและเพิ่มความสามารถของพวกเขาในการสอนพระกิตติคุณ เมื่อนักเรียนท่องจำพระคัมภีร์ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะนำเอาวลีหรือแนวคิดกลับมาที่ความทรงจำของพวกเขาในเวลาที่จำเป็น (ดู ยอห์น 14:26; คพ. 11:21) อย่าลืมปรับกิจกรรมการท่องจำให้เข้ากับความสามารถของนักเรียนของท่าน

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสนับสนุนการท่องจำพระคัมภีร์เมื่อท่านกล่าวว่า

“พลังยิ่งใหญ่สามารถมาจากการท่องจำพระคัมภีร์ การท่องจำพระคัมภีร์เป็นการสร้างมิตรภาพใหม่ เปรียบเสมือนการค้นพบบุคคลอีกคนหนึ่งที่สามารถช่วยเราได้ยามจำเป็น ให้การดลใจและการปลอบโยนตลอดจนเป็นบ่อเกิดของแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น” (“พลังแห่งพระคัมภีร์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 7)

ท่านอาจจะทำกิจกรรมแต่ละอย่างต่อไปนี้ซ้ำหลายวันติดต่อกันเมื่อเริ่มหรือจบชั้นเรียนเพื่อช่วยให้นักเรียนบรรลุผลสำเร็จในการท่องจำระยะยาว

  • การแข่งหนึ่งคำ—ท้าทายให้นักเรียนพูดข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์คนละหนึ่งคำ ตัวอย่างเช่น เมื่อช่วยนักเรียนท่องจำ มัทธิว 5:14–16 นักเรียนคนแรกจะพูดว่า ท่าน นักเรียนคนที่สองพูด ทั้งนักเรียนคนที่สามจะพูดว่า หลาย และพูดต่อไปจนจบทั้งสองข้อ จับเวลาชั้นเรียน และให้พวกเขาพยายามหลายๆ ครั้งเพื่อให้ทำได้ตามเวลาที่ตั้งไว้ เมื่อท่านทำกิจกรรมนี้ซ้ำอีกครั้ง ท่านอาจเปลี่ยนลำดับของนักเรียนเพื่อให้พวกเขาได้พูดคำที่ต่างไป

  • อักษรแรก—เขียนอักษรแรกของแต่ละคำในข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์บนกระดาน ชี้ไปที่อักษรในขณะที่ชั้นเรียนพูดทวนข้อพระคัมภีร์กับท่าน โดยใช้พระคัมภีร์ของพวกเขาเมื่อต้องการ ทำกิจกรรมนี้ซ้ำอีกจนกระทั่งนักเรียนรู้สึกมั่นใจในความสามารถของพวกเขาที่จะท่องข้อพระคัมภีร์โดยใช้อักษรแรกของคำเท่านั้น ท่านอาจต้องการลบอักษรสองสามตัวแต่ละครั้งที่นักเรียนท่องข้อพระคัมภีร์ การทำเช่นนี้จะค่อยๆ เพิ่มความท้าทายขึ้นไปจนนักเรียนสามารถพูดข้อพระคัมภีร์ได้โดยไม่ใช้อักษรตัวแรกเลย

  • ปริศนาแผ่นคำ—เขียน หรือให้นักเรียนเขียนคำจากข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ในแถบกระดาษ ตัดกระดาษเป็นทางยาวโดยให้มีข้อความจากพระคัมภีร์อยู่ในแถบกระดาษ ตัดกระดาษบางส่วนให้สั้นลงโดยมีแค่ไม่กี่คำจากข้อพระคัมภีร์ในแถบกระดาษ นำแผ่นกระดาษมาสลับกันและแจกให้กับคู่นักเรียนหรือกลุ่มนักเรียน ท้าทายให้นักเรียนเรียงแผ่นกระดาษตามลำดับที่ถูกต้องโดยใช้พระคัมภีร์ของพวกเขาช่วย ให้พวกเขาฝึกจนพวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้พระคัมภีร์อีกต่อไป หลังจากพวกเขาทำเสร็จ ขอให้พวกเขาท่องข้อนั้นออกเสียง ท่านอาจจับเวลานักเรียนเพื่อดูว่ากลุ่มใดสามารถเรียงได้ถูกต้องและรวดเร็วที่สุด หรือท่านอาจจับเวลาทั้งชั้นเรียนเพื่อดูว่าทุกกลุ่มใช้เวลานานเท่าใดเพื่อแก้ปริศนา (เมื่อกลุ่มแรกเสร็จ ให้พวกเขาช่วยกลุ่มที่ช้ากว่า)