คลังค้นคว้า
บทที่ 1: บทนำของพันธสัญญาใหม่


บทที่ 1

บทนำของพันธสัญญาใหม่

คำนำ

โดยพื้นฐานแล้วพันธสัญญาใหม่เป็นบันทึกเกี่ยวกับพระชนม์ชีพมรรตัย คำสอน และการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ การจัดตั้งศาสนจักรของพระองค์ และการปฏิบัติศาสนกิจของสานุศิษย์รุ่นแรกๆ ของพระองค์ขณะที่พระองค์ทรงนำทางพวกเขาหลังจากพระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ บทเรียนนี้มุ่งเตรียมและกระตุ้นให้นักเรียนศึกษาพันธสัญญาใหม่โดยแนะนำพวกเขาเกี่ยวกับหัวข้อหลักสองข้อที่พบในคำสอนของพระเยซูคริสต์และอัครสาวกสมัยโบราณของพระองค์ นั่นคือ การเชื้อเชิญครั้งแล้วครั้งเล่าของพระผู้ช่วยให้รอดให้มาหาพระองค์และความรับผิดชอบของสานุศิษย์ของพระองค์ในการช่วยผู้อื่นให้ทำเช่นเดียวกัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

พันธสัญญาใหม่ช่วยให้เรามาหาพระเยซูคริสต์

ก่อนเริ่มชั้นเรียน เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน: มีภาระยุ่งยากอะไรบ้างที่เยาวชนประสบอยู่ในยุคของเรา

ให้นำกล่องเปล่าหรือเป้สะพายและของหนักๆ เช่นหินก้อนใหญ่หรือหนังสือ เพื่อใส่ในกล่องหรือเป้สะพาย เชิญนักเรียนคนหนึ่งออกมาหน้าห้องและขอให้นักเรียนถือกล่องเปล่าหรือสะพายกระเป๋า ขอให้ชั้นเรียนตอบคำถามที่เขียนบนกระดาน และขอให้นักเรียนอีกคนเขียนคำตอบบนกระดาน หลังจากได้คำตอบแต่ละข้อ ใส่วัตถุหนักๆ ทีละชิ้นลงในกล่องหรือเป้สะพายจนเต็ม

  • ท่านจะรู้สึกอย่างไรถ้าท่านต้องแบกภาระนี้ทั้งวัน

ขอให้นักเรียนอธิบายความท้าทายและความลำบากซึ่งเกิดจากภาระตามที่เขียนไว้ในรายการบนกระดาน

อธิบายว่าพันธสัญญาใหม่สอนเราเกี่ยวกับพระชนม์ชีพมรรตัยของและการปฏิบัติศาสนกิจหลังการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ รวมถึงคำสอน สิ่งอัศจรรย์ การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ และการเยือนสานุศิษย์ในศาสนจักรสมัยเริ่มแรกของพระองค์ ตลอดการสอนและการปฏิสัมพันธ์ของพระองค์กับผู้อื่นแสดงถึงความจริงครั้งแล้วครั้งเล่าที่สามารถช่วยแบกรับภาระของเรา

อธิบายว่า มัทธิว 11 รวมเอาตัวอย่างของหัวข้อหลักนี้ที่นักเรียนจะเห็นบ่อยๆ ในการศึกษาพันธสัญญาใหม่ของพวกเขาในปีนี้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 11:28 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำเชื้อเชิญที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่คนที่แบกภาระยากลำบาก

  • ท่านคิดว่าการทำงานเหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนักหมายความว่าอย่างไร

  • พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าเราต้องทำอะไรเพื่อรับการพักผ่อนของพระองค์ (โดยใช้คำพูดของนักเรียน ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: เมื่อเรามาหาพระเยซูคริสต์พร้อมกับภาระหนักของเรา พระองค์จะทรงให้เราหยุดพัก)

  • ท่านคิดว่าการมาหาพระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการมาหาพระคริสต์หมายความว่าอย่างไร ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 11:29–30 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอดที่ให้แก่คนเหล่านั้นผู้ที่ปรารถนาจะมาหาพระองค์

  • ตามข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ เราต้องทำอะไรเพื่อมาหาพระคริสต์

วาดรูป แอก เทียมวัวไว้บนกระดาน หรือแสดงภาพแอก

ภาพ
แอกไม้

อธิบายว่าแอกคือท่อนไม้ โดยปกติใช้ล่ามระหว่างคอวัวเทียมคู่หรือสัตว์อื่นเพื่อให้สามารถลากของบรรทุกไปด้วยกัน

  • จุดประสงค์และประโยชน์ของแอกคืออะไร (แม้ว่าแอกเป็นสิ่งที่หนักหรือภาระ แต่ทำให้สัตว์ทั้งคู่รวมพลังและความเข้มแข็ง จึงเพิ่มความสามารถในการแบกของพวกมัน)

  • ท่านคิดว่าการที่เรานำเอาแอกของพระผู้ช่วยให้รอดมาแบกไว้หมายความว่าอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าเราจะนำเอาแอกของพระผู้ช่วยให้รอดมาแบกไว้ได้อย่างไรและพรอะไรที่เราจะได้รับเมื่อทำเช่นนั้น

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“แอกทำให้สัตว์อยู่เคียงข้างกัน มันจึงเดินไปด้วยกันได้เพื่อทำให้งานสำเร็จลุล่วง

“พึงพิจารณาพระดำรัสเชื้อเชิญของพระเจ้าให้แต่ละคน ‘เอาแอกของเราแบกไว้’ การทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ใส่แอกเทียมเรากับพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ประเด็นคือ พระผู้ช่วยให้รอดทรงขอให้เราวางใจและลากไปพร้อมกับพระองค์ แม้เราจะพยายามสุดความสามารถก็ยังไม่เท่าเทียมและเทียบไม่ได้กับพระองค์ เมื่อเราวางใจและลากภาระไปกับพระองค์ระหว่างการเดินทางในความเป็นมรรตัย แอกของพระองค์พอเหมาะ และภาระของพระองค์ก็เบา

“เราไม่โดดเดี่ยวและไม่จำเป็นต้องโดดเดี่ยว เราสามารถมุ่งหน้าในชีวิตทุกวันด้วยความช่วยเหลือจากสวรรค์ โดยผ่านทางการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดเราได้รับความสามารถและ ‘กำลัง [ของเรา] เสริมเพิ่มขึ้น ’ (‘พระเจ้าขอข้าตามพระองค์,’ เพลงสวด, บทเพลงที่ 106)” (“ทนแบกสัมภาระได้โดยง่าย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 87)

  • อะไรที่ “ใส่แอกเทียม” เรากับพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์

  • ตามที่เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าวไว้ อะไรคือพรของการใส่แอกเทียมกับพระผู้ช่วยให้รอด

ชี้ให้เห็นว่าสัญญาของพระผู้ช่วยให้รอดเรื่อง “หยุดพัก” ใน มัทธิว 11:28–29 ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าพระองค์จะทรงขจัดปัญหาและความท้าทายของเราเสมอไป บ่อยครั้ง พระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบสันติสุขและความเข้มแข็งที่เราต้องการเพื่อเอาชนะและทนต่อความเดือดร้อนของเรา จึงทำให้ภาระของเราเบาลง หากเราซื่อสัตย์ผ่านความท้าทายของชีวิตมรรตัย การหยุดพักท้ายที่สุดที่เราจะได้รับคือความสูงส่งกับพระผู้เป็นเจ้า (ดู คพ. 84:23–24)

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพระผู้ช่วยให้รอดประทานการหยุดพักแก่พวกเขาอย่างไรเมื่อพวกเขามาหาพระองค์ เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขากับชั้นเรียน ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเอง

เชื้อเชิญให้นักเรียนตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาสามารถมาหาพระเยซูคริสต์ตลอดทั้งปีนี้ระหว่างการศึกษาพันธสัญญาใหม่ กระตุ้นให้พวกเขาตั้งเป้าหมายของตนเองรวมถึงการศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันและอ่าน พันธสัญญาใหม่ ทั้งหมดในปีนี้

สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์มีหน้าที่รับผิดชอบในการช่วยให้คนอื่นๆ มาหาพระองค์

ขอให้นักเรียนนึกถึงช่วงชีวิตของพวกเขาเมื่อพวกเขากระตือรือร้นและตื่นเต้นที่จะบอกใครสักคนเกี่ยวกับประสบการณ์ที่พวกเขามีหรือสิ่งที่พวกเขาเห็น อ่าน หรือได้ยิน เชิญนักเรียนสองสามคนให้รายงานสิ่งที่พวกเขากระตือรือร้นและตื่นเต้นที่จะบอกใครสักคน

อธิบายว่าพันธสัญญาใหม่ประกอบด้วยแบบอย่างของบุคคลหลายคนที่ได้รับการเสริมสร้างให้เข้มแข็ง รับการสอน หรือได้รับพรจากพระเจ้าแล้วรู้สึกปรารถนาจะบอกคนอื่นเกี่ยวกับพระองค์ เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ยอห์น 1:37-42 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่สานุศิษย์สองคนของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาทำหลังจากได้ยินประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระเยซู

  • อันดรูว์เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูเมื่อพูดกับพระองค์

  • อันดรูว์ทำอะไรหลังจากรู้ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์

  • ทำไมท่านจึงคิดว่าเขาตื่นเต้นที่จะบอกข่าวนี้กับซีโมนเปโตรพี่ชายของเขา

ให้สรุป ยอห์น 1:43-44 โดยบอกนักเรียนว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญชายคนหนึ่งชื่อฟีลิปให้เป็นสานุศิษย์ของพระองค์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 1:45-46 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ฟีลิปทำหลังจากที่เขารู้ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์

  • ฟีลิปพูดอะไรกับนาธานาเอลเกี่ยวกับเยซูแห่งนาซาเร็ธ

  • นาธานาเอลตอบสนองอย่างไรต่อประจักษ์พยานของฟีลิปที่ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์

  • คำเชื้อเชิญที่ฟีลิปให้แก่นาธานาเอลคืออะไร

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เมื่อเรามาหาพระเยซูคริสต์

  • ตามตัวอย่างจากพันธสัญญาใหม่ เราจะมีความปรารถนาอะไรเมื่อเรามาหาพระเยซูคริสต์ (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนเพื่อแสดงถึงหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเรามาหาพระเยซูคริสต์ เราจะมีความปรารถนามากขึ้นในการเชื้อเชิญผู้อื่นให้มาหาพระองค์)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนนี้ดีขึ้น ให้ลอก แผนภาพ ประกอบนี้บนกระดาน

ภาพ
แผนภาพลูกศร
  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจะมีความปรารถนามากขึ้นที่จะเชื้อเชิญผู้อื่นให้มาหาพระคริสต์เมื่อเรามาหาพระองค์ด้วยตัวเราเอง

อธิบายว่าประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนเกี่ยวกับพรยิ่งใหญ่ที่เราได้รับเมื่อเราเชื้อเชิญผู้อื่นมาหาพระเยซูคริสต์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“เมื่อท่านให้ใจของท่านแก่การเชื้อเชิญคนมาหาพระคริสต์ ใจของท่านจะเปลี่ยน … โดยการช่วยให้ผู้อื่นมาหาพระองค์ ท่านจะพบว่าตัวท่านเองได้มาหาพระองค์ (Come unto Christ, Ensign, มี.ค. 2008, 49)

  • จะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเราเมื่อเราเชื้อเชิญผู้อื่นให้มาหาพระเยซูคริสต์

เพิ่มลูกศรไปที่ภาพวาดบนกระดานเพื่อให้ดูคล้ายกับ แผนภาพประกอบ:

ภาพ
แผนภาพลูกศรสองอัน
  • ท่านคิดว่าเหตุใดการเชื้อเชิญผู้อื่นมาหาพระคริสต์จะช่วยให้เราเข้าใกล้พระองค์มากขึ้นเช่นกัน

  • ใครเชื้อเชิญให้ท่านมาหาพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ ชีวิตท่านได้รับพรอย่างไรเป็นผลที่ตามมา

กระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าพวกเขาจะเชื้อเชิญใครมาหาพระเยซูคริสต์

  • เราจะทำอะไรเพื่อเชื้อเชิญให้ผู้อื่นมาหาพระองค์

อธิบายว่าการเชิญเพื่อนหรือเพื่อนร่วมชั้นเรียนมาเข้าชั้นเรียนเซมินารีเป็นวิธีหนึ่งที่นักเรียนจะเชื้อเชิญให้ผู้อื่น “มาดูเถิด” ว่าพระเยซูคริสต์เป็นใครและพระกิตติคุณของพระองค์จะเป็นพรแก่ชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 1:47-50 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่านาธานาเอลมีประสบการณ์อะไรเมื่อเขาพบกับพระผู้ช่วยให้รอด (อธิบายว่าวลี “ไม่มีอุบาย” แปลว่าไม่หลอกลวง)

  • พระผู้ช่วยให้รอดตรัสอะไรที่ทำให้นาธานาเอลประกาศว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 50พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาอะไรกับนาธานาเอลเนื่องจากเขาเชื่อ

อธิบายว่า นาธานาเอลกลายเป็นหนึ่งในอัครสาวกของพระเยซู พร้อมกับอันดรูว์ เปโตร ฟีลิปและคนอื่นๆ เนื่องจากอัครสาวกเหล่านี้ฟังการเชื้อเชิญให้มาหาพระเยซูคริสต์ พวกเขาเป็นพยานถึง “เหตุการณ์ใหญ่กว่า” (ข้อ 50) รวมถึงปาฏิหาริย์และการสอนของพระเยซูคริสต์และการฟื้นคืนพระชนม์ตลอดจนการเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระองค์

ทิ้งท้ายโดยการแสดงประจักษ์พยานว่าเมื่อนักเรียนศึกษาพันธสัญญาใหม่ปีนี้ พวกเขาจะรู้สึกถึงคำร้องขออันต่อเนื่องของพระผู้ช่วยให้รอดให้มาหาพระองค์ เมื่อพวกเขาประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรมที่เรียนรู้ตลอดทั้งปี พวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์กับภาระของพวกเขา เช่นเดียวกับอัครสาวกสมัยโบราณ จะเปี่ยมด้วยความปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นมาหาพระองค์เช่นกัน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

มัทธิว 11:29-30 “จงเอาแอกของเราแบกไว้”

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์สอนถึงพรที่จะเกิดขึ้นเมื่อเรานำเอาแอกของพระคริสต์มาแบกไว้

“ในสมัยพระคัมภีร์ไบเบิลแอกเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยคนไถนา แอกทำให้พละกำลังของสัตว์ตัวที่สองเชื่อมประสานควบคู่ไปกับความพยายามของสัตว์ตัวแรก โดยแบ่งรับและลดการทำงานหนักของคันไถหรือเกวียน ภาระที่หนักเกินกำลังหรืออาจแบกเพียงลำพังไม่ไหว สัตว์สองตัวสามารถแบกได้อย่างสบายเท่าๆ กันด้วยการเทียมแอกร่วมกัน แอกของพระองค์เรียกร้องความพยายามและความตั้งใจจริงอย่างมาก แต่สำหรับคนที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างแท้จริง แอกนั้นพอเหมาะและภาระก็เบา

“เหตุใดจึงเผชิญภาระของชีวิตเพียงลำพัง พระคริสต์ทรงถาม หรือเหตุใดจึงเผชิญภาระเหล่านั้นด้วยความช่วยเหลือทางโลกซึ่งจะโอนเอนไปมาอย่างรวดเร็ว สำหรับผู้แบกภาระหนัก แอกของพระคริสต์ เดชานุภาพและสันติสุขของการยืนเคียงข้างพระผู้เป็นเจ้าจะให้ความช่วยเหลือ สมดุล และความเข้มแข็งเพื่อเผชิญกับความท้าทายของเราและอดทนต่อภารกิจของเราที่นี่ใน … ความเป็นมรรตัย” (Come unto Me, Ensign, พ.ย. 1990, 18 )

ยอห์น 1:39, 46 “มาดูเถิด”

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าเราสามารถทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น

“พระผู้ช่วยให้รอดสอนเราถึงวิธีแบ่งปันพระกิตติคุณ ข้าพเจ้าชอบเรื่องของอันดรูว์ ผู้ที่ถามว่า ‘รับบี ท่านพักอยู่ที่ไหน?’ [ยอห์น 1:38] พระเยซูทรงตอบได้ว่าพระองค์ประทับอยู่ที่ไหน แต่แทนที่จะทรงตอบอย่างนั้น พระองค์กลับตรัสกับอันดรูว์ว่า ‘มาดูเถิด’ [ยอห์น 1:39] ข้าพเจ้าชอบคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะตรัสว่า ‘มาและดูไม่ใช่แค่เราอยู่ที่ไหนแต่ดูว่าเราดำเนินชีวิตอย่างไร มาและดูว่าเราเป็นใคร มาและสัมผัสพระวิญญาณ’ …

“สำหรับคนที่สนใจการสนทนาของเรา เราสามารถทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยเชิญพวกเขา ‘มาและดู’ บางคนจะตอบรับคำเชื้อเชิญของเราและบางคนอาจจะไม่ เราทุกคนจะรู้จักบางคนที่เราเชิญหลายครั้งก่อนจะยอมรับคำเชื้อเชิญให้ ‘มาและดู’ ขอให้เรานึกถึงคนที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่กับเราแต่ตอนนี้เราไม่ค่อยได้เจอเขา ขอให้เชื้อเชิญเขากลับมาและดูอีกครั้ง” (“นี่คือปาฏิหาริย์” เลียโฮนา พ.ค. 2013, 79)