คลังค้นคว้า
บทนำสู่พระกิตติคุณตามที่ท่านมาระโกกล่าวไว้


บทนำสู่พระกิตติคุณตามที่ท่านมาระโกกล่าวไว้

เหตุใดจึงศึกษาหนังสือนี้

หนังสือมาระโกเล่าเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจ การสิ้นพระชนม์ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์โดยดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็วและมักจะมุ่งเน้นไปที่การกระทำอันทรงพลังของพระผู้ช่วยให้รอด เรื่องที่โดดเด่นที่สุดคือการชดใช้ ซึ่งมาระโกเน้นว่าเป็นศูนย์รวมพระพันธกิจของพระเยซูในฐานะพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้เนิ่นนาน โดยการศึกษาเรื่องราวและประจักษ์พยานของมาระโกเกี่ยวกับการทำให้พระพันธกิจการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดเกิดสัมฤทธิผล นักเรียนจะเปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่พระกิตติคุณมากขึ้นและพบความกล้าหาญในการติดตามพระผู้ช่วยให้รอด

ใครเขียนหนังสือนี้

มาระโก (มีชื่อว่ายอห์น มาระโก ด้วย) เป็นคนเขียนหนังสือเล่มนี้ แม้ว่ามาระโกไม่ได้เป็นหนึ่งในสานุศิษย์รุ่นแรกๆ ของพระเยซูคริสต์ แต่เขาเปลี่ยนใจเลื่อมใสในเวลาต่อมาและเป็นผู้ช่วยของอัครสาวกเปโตร เขาอาจจะเขียนพระกิตติคุณของเขาโดยอาศัยพื้นฐานที่เรียนรู้จากเปโตร (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “มาระโก”)

มาระโกและมารีย์มารดาของเขาอาศัยอยู่ในเยรูซาเล็ม บ้านของพวกเขาเป็นสถานที่ประชุมของชาวคริสต์ในยุคแรกสุด (ดู กิจการ 12:12) มาระโกออกจากเยรูซาเล็มเพื่อช่วยบารนาบัสและเซาโล (เปาโล) ในการเดินทางเผยแผ่ศาสนาครั้งแรกของพวกเขา (ดู กิจการ 12:25; 13:4–6, 42–48) หลังจากนั้นเปาโลเขียนว่ามาระโกอยู่กับเขาในโรม (ดู โคโลสี 4:10; ฟีเลโมน 1:24) และชื่นชมมาระโกว่าเป็นคู่ที่ “เป็นประโยชน์ [ต่อเขา] ในพันธกิจ” (2 ทิโมธี 4:11) เปโตรเรียกเขาว่า “บุตรของข้าพเจ้า” (1 เปโตร 5:13) แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของพวกเขา

ท่านเขียนหนังสือนี้เมื่อใดและที่ไหน

เราไม่รู้แน่ชัดว่าพระกิตติคุณของมาระโกเขียนที่ไหน มาระโกน่าจะเขียนพระกิตติคุณของเขาในโรมระหว่าง ศริสต์ศักราช 64 และ ศริสต์ศักราช 70 อาจจะหลังจากอัครสาวกเปโตรถูกสังหารเป็นมรณสักขีไม่นาน ประมาณ ศริสต์ศักราช 64

หนังสือนี้เขียนถึงใครและเพราะเหตุใด

พระกิตติคุณของมาระโกมีรายละเอียด—เช่นคำพูดที่แปลมาจากภาษาอาราเมอิค คำพูดภาษาละติน และการอธิบายถึงประเพณีชาวยิว—ซึ่งดูเหมือนจะเน้นไปที่ผู้อ่านที่เป็นชาวโรมันและคนที่มาจากชนชาติอื่นๆ ของคนต่างชาติเป็นหลักรวมทั้งคนที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่ศาสนาคริสต์ น่าจะเป็นในโรมและทั่วอาณาจักรโรมัน หลายคนเชื่อว่ามาระโกอาจจะอยู่กับเปโตรในโรมระหว่างช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นการทดลองศรัทธาอย่างสาหัสสำหรับสมาชิกศาสนจักรในหลายที่ทั่วทั้งอาณาจักรโรมัน

หนึ่งในสามของพระกิตติคุณของมาระโกเล่าเกี่ยวกับคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดและประสบการณ์ระหว่างสัปดาห์สุดท้ายในพระชนม์ชีพของพระองค์ มาระโกเป็นพยานว่าการทนทุกข์ของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าเอาชนะความชั่วร้าย บาป และความตายได้ในที่สุด ประจักษ์พยานนี้หมายความว่าผู้ติดตามพระผู้ช่วยให้รอดไม่จำเป็นต้องกลัว เมื่อพวกเขาเผชิญกับการข่มเหง การทดลอง หรือแม้แต่ความตาย พวกเขากำลังทำตามพระอาจารย์ของพวกเขา พวกเขาสามารถทนได้ด้วยความมั่นใจ โดยที่รู้ว่าพระเจ้าทรงช่วยพวกเขาและคำสัญญาทั้งปวงของพระองค์จะเกิดสัมฤทธิผลในที่สุด

ลักษณะเด่นของหนังสือนี้มีอะไรบ้าง

พระกิตติคุณของมาระโกเริ่มต้นในลักษณะฉับไว ตรงไปตรงมาและยังคงดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว โดยเล่าเรื่องสั้นๆ ต่อกัน มาระโกมักใช้คำว่า ทันที และ ในทันทีส่งผลให้เกิดการดำเนินเรื่องและการกระทำที่รวดเร็ว

ถึงแม้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาในมาระโกจะพบอยู่ในมัทธิวและลูกาเช่นกัน แต่การเล่าเรื่องของมาระโกมักรวมรายละเอียดเพิ่มเติมที่ช่วยให้เราซาบซึ้งกับพระเมตตาสงสารของพระเยซูคริสต์และการตอบสนองจากผู้คนรอบข้างพระองค์ (เปรียบเทียบ มาระโก 9:14–27 กับ มัทธิว 17:14–18) ตัวอย่างเช่น มาระโกเล่าเรื่องการต้อนรับอย่างกระตือรือร้นที่พระผู้ช่วยให้รอดได้รับจากบรรดาผู้คนในกาลิลีและที่อื่นๆ เมื่อพระองค์ทรงปฏิบัติศาสนกิจในช่วงแรกๆ (ดู มาระโก 1:32–33, 45; 2:2; 3:7–9; 4:1) มาระโกเล่าอย่างระมัดระวังเช่นกันเรื่องการตอบรับทางลบของพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี ผู้ที่การต่อต้านของพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากความกังขา (ดู มาระโก 2:6–7) ไปสู่การวางแผนทำลายพระเยซู (ดู มาระโก 3:6)

ในบรรดาเรื่องสำคัญในหนังสือมาระโกคือคำถามที่ว่าพระเยซูเป็นใครและใครเข้าใจพระอัตลักษณ์ของพระองค์ เช่นเดียวกับบทบาทของสานุศิษย์ในการเป็นคนที่ต้อง “รับกางเขนของตนแบก และตาม [พระเยซู] มา” (มาระโก 8:34) นอกจากนี้ มาระโกยังเป็นพระกิตติคุณเล่มเดียวที่เล่าอุปมาเรื่องเมล็ดพืชที่งอกขึ้น (ดู มาระโก 4:26–27) การรักษาคนหูหนวกในแคว้นทศบุรี (ดู มาระโก 7:31–37) และการค่อยๆ รักษาชายตาบอดที่เบธไซดา (ดู มาระโก 8:22–26)

สรุปเหตุการณ์

มาระโก 1–4 พระเยซูทรงรับบัพติศมาจากยอห์นผู้ถวายบัพติศมา และทรงเริ่มสั่งสอน เรียกสานุศิษย์ และทำปาฏิหาริย์ ขณะที่การต่อต้านพระองค์มีมากขึ้น พระองค์ทรงสอนเป็นอุปมา

มาระโก 5–7 พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำปาฏิหาริย์ต่อไปอย่างมากมาย และทรงมีพระเมตตาสงสารผู้อื่น หลังจากยอห์นผู้ถวายบัพติศมาถูกสังหาร พระเยซูทรงเลี้ยงอาหารคนมากกว่าห้าพันคนและทรงดำเนินบนทะเล พระเยซูทรงสอนให้ต่อต้านประเพณีผิดๆ

มาระโก 8–10 พระเยซูคริสต์ทรงทำปาฏิหาริย์ต่อไป เปโตรเป็นพยานว่าพระเยซูคือพระคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงพยากรณ์สามครั้งถึงความทุกขเวทนา การสิ้นพระชนม์ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ แต่สานุศิษย์ของพระองค์ไม่ได้เข้าใจความหมายของพระองค์ทั้งหมด พระองค์ทรงสอนพวกเขาเกี่ยวกับความอ่อนน้อมถ่อมตนและการรับใช้ที่สานุศิษย์ของพระองค์ต้องทำ

มาระโก 11–16 ระหว่างสัปดาห์สุดท้ายในพระชนม์ชีพของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม ทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ ทรงทนทุกข์ในเกทเสมนี และถูกตรึงกางเขน พระเยซูคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชนม์