คลังค้นคว้า
บทเรียนการศึกษาที่บ้าน: มาระโก 4–9 (หน่วย 8)


บทเรียนการศึกษาที่บ้าน

มาระโก 4–9 (หน่วย 8)

การเตรียมเนื้อหาสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

สรุปบทเรียนประจำวันภาคการศึกษาที่บ้าน

ใจความสรุปหลักคำสอนและหลักธรรมต่อไปนี้ที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา มาระโก 4–9 (หน่วย 8) ไม่ได้มีเจตนาจะให้สอนเป็นส่วนหนึ่งในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นไปที่หลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ ทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (มาระโก 4–5)

นักเรียนเรียนรู้ว่า หากเราแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าในเวลาที่มีปัญหาหรือกลัว พระองค์จะทรงนำสันติสุขมาสู่เรา พวกเขาเรียนรู้ด้วยว่า เมื่อเราประสบกับพลังอำนาจของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตเรา เราสามารถเป็นพยานกับคนอื่นเกี่ยวกับพรและพระเมตตาสงสารของพระองค์ จากเรื่องราวของลูกสาวไยรัสและหญิงที่เป็นโรคโลหิตตก นักเรียนเรียนรู้ว่า ถ้าเราจะแสดงออกถึงศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ผ่านความพยายามของเราที่จะมาหาพระองค์ พระองค์จะทรงทำให้เราหายจากโรคและการใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์เรียกร้องให้เราเชื่อในพระองค์ต่อไปแม้ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอน

วันที่ 2 (มาระโก 6–8)

จากปาฎิหาริย์ของการเลี้ยงอาหารคนมากกว่า 5,000 คน นักเรียนเรียนรู้ว่าเมื่อเราถวายทุกสิ่งที่เรามีแด่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์สามารถเพิ่มเติมสิ่งที่เราถวายเพื่อทำให้จุดประสงค์ของพระองค์สำเร็จ นักเรียนเรียนรู้ด้วยว่าเราสามารถทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยรู้ถึงความต้องการของผู้อื่นและจากนั้นช่วยสนองความต้องการเหล่านั้น

วันที่ 3 (มาระโก 9:1–29)

จากเรื่องราวที่พระเยซูทรงขับผีออกจากเด็ก นักเรียนเรียนรู้ว่าหากเราเชื่อในพระเยซูคริสต์ ทุกสิ่งจะเป็นไปได้สำหรับเรา หลักธรรมอื่นๆ จากบทเรียนนี้รวมถึงหลักธรรมต่อไปนี้ ถ้าเรายึดมั่นในสิ่งที่เราเชื่อและแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้า พระองค์จะทรงช่วยเราเสริมสร้างศรัทธาของเรา เราสามารถเพิ่มพูนศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ผ่านการสวดอ้อนวอนและการอดอาหาร

วันที่ 4 (มาระโก 9:30–50)

ขณะที่นักเรียนศึกษา มาระโก 9:30–50 พวกเขาเรียนรู้ว่า หากเราเป็นอิทธิพลให้คนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ทำบาป เราจะต้องรับผิดชอบต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า จากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้ นักเรียนเรียนรู้ว่าเป็นการดีกว่าที่จะแยกตัวเราเองจากอิทธิพลไม่ชอบธรรมแทนที่จะถูกแยกออกจากพระผู้เป็นเจ้าในท้ายที่สุด

บทนำ

บทเรียนนี้สามารถช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า การพยายามทำให้ผู้อื่นพอใจแทนที่จะทำสิ่งที่เรารู้ว่าถูกต้องจะนำไปสู่การเลือกที่ผิด ความโศกเศร้า และความเสียใจ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มาระโก 6:1–29

พระเยซูทรงถูกปฏิเสธในนาซาเร็ธและทรงส่งอัครสาวกสิบสองออกไป มีผู้เล่าถึงมรณกรรมของยอห์นผู้ถวายบัพติศมา

เริ่มชั้นเรียนโดยการเชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงครั้งล่าสุดที่พวกเขารู้สึกกดดันให้ทำบางสิ่งที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง

เขียน ข้อความ ต่อไปนี้บนกระดาน (ข้อความเหล่านี้มีอยู่ใน “Making the Right Choices,” Ensign, Nov. 1994, 37)

“บุคคลที่ทำความผิดต้องการให้ท่านเข้าร่วมกับพวกเขาเนื่องจากพวกเขาจะรู้สึกสบายใจในสิ่งที่พวกเขากำลังทำเมื่อคนอื่นทำด้วยเช่นกัน” ( ริชาร์ด จี. สก็อตต์)

  • มีตัวอย่างใดบ้างของวิธีที่คนอื่นอาจพยายามกดดันท่านให้ทำบางสิ่งที่ท่านรู้ว่าผิด

เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาความจริงขณะศึกษา มาระโก 6 ที่จะช่วยพวกเขาหลีกเลี่ยงการยอมแพ้ต่อแรงกดดันจากเพื่อนในทางที่ไม่ดี

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 6:17–18 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าเฮโรดทำอะไรกับยอห์นผู้ถวายบัพติศมา ให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ

  • เฮโรดทำอะไรกับยอห์นและเพราะเหตุใด

เฮโรดหย่ากับภรรยาของเขาและแต่งงานกับนางเฮโรเดียส ภรรยาของฟีลิปน้องชายของเขา การกระทำนี้เป็นการละเมิดกฎของชาวยิวอย่างโจ่งแจ้ง (ดู เลวีนิติ 18:16) ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาจึงกล่าวประณาม การที่ยอห์นคัดค้านการแต่งงานนี้ทำให้เฮโรเดียสโกรธ ดังนั้นเฮโรดจึงคุมขังยอห์นเพื่อเอาใจเธอ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 6:19–20 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าเฮโรเดียสต้องการทำอะไรกับยอห์นผู้ถวายบัพติศมา

  • เฮโรเดียสต้องการทำอะไรกับยอห์นผู้ถวายบัพติศมา

  • เหตุใดเธอจึงทำให้ยอห์นถูกสังหารไม่ได้ (เนื่องจากเฮโรดกลัวยอห์นและรู้ว่าเขาเป็นคนของพระผู้เป็นเจ้า)

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก มาระโก 6:21–29 เชื้อเชิญให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาว่าเฮโรดทำอะไรกับยอห์นผู้ถวายบัพติศมา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 26 เฮโรดรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการสังหารยอห์นผู้ถวายบัพติศมา

  • เหตุใดเฮโรดจึงให้คนตัดศีรษะยอห์นหากเขารู้ว่าเป็นสิ่งที่ผิดและไม่ต้องการจะทำเช่นนั้น (เฮโรดกังวลเกี่ยวกับความคิดเห็นของแขกของเขา)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากการเลือกของเฮโรดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราพยายามทำให้คนอื่นพอใจแทนที่จะทำสิ่งถูกต้อง (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้ การพยายามทำให้คนอื่นพอใจแทนที่จะทำสิ่งที่เรารู้ว่าถูกต้องจะนำไปสู่การเลือกที่ผิด ความโศกเศร้า และความเสียใจ)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงนี้มากขึ้น จัดกลุ่มนักเรียนสองถึงสี่คนและขอให้พวกเขานึกถึงตัวอย่างสถานการณ์หลายๆ เรื่องซึ่งเยาวชนต้องเลือกระหว่างการพยายามทำให้คนอื่นพอใจกับการทำสิ่งที่พวกเขารู้ว่าถูกต้อง หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มรายงาน ขณะที่พวกเขารายงาน ให้เขียนตัวอย่างของพวกเขาไว้บนกระดาน

  • ท่านเคยเห็นการยอมแพ้ต่อแรงกดดันเช่นตัวอย่างแบบนี้นำมาซึ่งความโศกเศร้าและความเสียใจในทางใดบ้าง

  • ท่านเคยเห็นคนบางคนเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องแทนที่จะพยายามทำให้คนอื่นพอใจเมื่อใด

  • อะไรสามารถช่วยให้เราเลือกทำสิ่งที่เรารู้ว่าถูกต้องแทนที่จะพยายามทำให้คนอื่นพอใจ

อ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้ของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

ภาพ
ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“การตัดสินใจที่ถูกต้องทำได้ง่ายที่สุดเมื่อเราตัดสินใจไว้แล้วล่วงหน้า … ซึ่งจะช่วยให้รอดพ้นจากความปวดร้าวมากมายตรงทางแยก [ขณะที่ต้องตัดสินใจ] เมื่อเราเหน็ดเหนื่อยและถูกล่อลวงอย่างหนัก” (คำสอนของประธานศาสนจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ [2006], 117)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองถึงสัปดาห์ที่จะมาถึงและระบุสถานการณ์ที่เป็นไปได้ที่พวกเขาอาจต้องเลือกระหว่างการทำให้คนอื่นพอใจกับการทำสิ่งที่ถูกต้อง กระตุ้นให้พวกเขาวางแผนว่าพวกเขาจะตอบสนองต่อแรงกดดันนี้อย่างไรหากพวกเขาประสบด้วยตนเอง

อธิบายว่าเมื่อเฮโรดได้ยินเกี่ยวกับปาฏิหาริย์หลายอย่างที่พระเยซูทรงทำในกาลิลี เขากลัวว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมาได้ลุกขึ้นมาจากความตายและกำลังทำปาฏิหาริย์เหล่านี้ (ดู มาระโก 6:14–16)

มาระโก 7–8

พระเยซูคริสต์ทรงรักษาคนสองคนและทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์

อธิบายว่า มาระโก 7–8 มีเรื่องราวสองเรื่องเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาคนบางคน แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ มอบหมายให้นักเรียนคนหนึ่งในแต่ละคู่อ่านมาระโก 7:31–35 และอีกคนหนึ่งอ่าน มาระโก 8:22–25 จากนั้นเชื้อเชิญให้นักเรียนบรรยายปาฏิหาริย์ของการรักษาในข้อที่พวกเขาอ่านให้คู่ฟัง

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้นักเรียนอธิบายว่า พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จไปรักษาคนสองคนนี้อย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรจากการที่ชายตาบอดไม่ได้รับการรักษาให้หายขาดในตอนแรก

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้นักเรียนฟังหาสาเหตุที่พระเยซูอาจทรงค่อยๆ รักษาชายคนนั้น หรือรักษาทีละระดับ

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“ปาฏิหาริย์นี้พิเศษ นี่เป็นตัวอย่างที่ได้รับการบันทึกไว้เรื่องเดียวที่พระเยซูทรงรักษาคนๆ หนึ่งทีละระดับ นี่อาจเป็นว่าพระเจ้าของเราทรงทำตามรูปแบบนี้เพื่อทำให้คนอ่อนแอเข้มแข็งขึ้นแต่ก็เพิ่มศรัทธาของชายตาบอด นี่อาจดูเหมือนว่าตัวอย่างการสัมผัสโดยต่อเนื่องทางกายกับพระเยซูส่งผลให้เกิดความหวัง ความเชื่อมั่น และศรัทธาต่อคนตาบอดมากขึ้น พระเยซูพระองค์เองทรง (1) จูงมือคนตาบอดออกไปนอกหมู่บ้าน (2) ทรงบ้วนน้ำลายลงที่ตาของคนตาบอด (3) ทรงปฏิบัติศาสนพิธีแห่งการวางมือ และ (4) วางพระหัตถ์ของพระองค์เป็นครั้งที่สองบนดวงตาของชายคนนี้

“เป็นที่แน่ชัดว่า วิธีการรักษาที่เกิดขึ้นสอนเราว่ามนุษย์ควรแสวงหาพระคุณที่เยียวยาของพระเจ้าอย่างสุดพลังและด้วยศรัทธาของพวกเขา แม้การทำเช่นนั้นจะเพียงพอแค่การรักษาบางส่วนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากรับการรักษานั้น พวกเขาอาจได้รับความเชื่อมั่นและศรัทธาที่เพิ่มขึ้นเพื่อได้รับการเยียวยาและหายดี มนุษย์มักได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยทางวิญญาณ ทีละขั้น ทีละตอนขณะพวกเขาทำให้ชีวิตของตนเองสอดคล้องกับแผนและจุดประสงค์ของพระเจ้า” (Doctrinal New Testament Commentary, 1:379–80)

  • การค่อยๆ ได้รับการรักษาอาจค่อยๆ เพิ่มพูนศรัทธาของบางคนที่มีต่อพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร

  • เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าใจว่าพรบางประการ เช่นการได้รับประจักษ์พยานของพระกิตติคุณหรือการรับการรักษาทางร่างกายหรือทางวิญญาณ มักค่อยๆ เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นทีละระดับ แทนที่จะเกิดขึ้นทันทีหรือทั้งหมดในคราวเดียว

สรุป มาระโก 8:27–28 โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงถามสานุศิษย์ของพระองค์ว่าคนอื่นๆ บอกว่าพระองค์ทรงเป็นใคร พวกเขาตอบโดยกล่าวว่าบางคนพูดว่าพระองค์ทรงเป็นยอห์นผู้ถวายบัพติศมาหรือศาสดาพยากรณ์อีกคน

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 8:29 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปโตรประกาศเกี่ยวกับพระเยซู

  • เปโตรบอกว่าพระเยซูเป็นใคร (คำว่า พระคริสต์ เป็นคำภาษากรีกที่แปลว่า พระเมสสิยาห์)

สรุป มาระโก 8:30–31 โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงสอนสานุศิษย์ว่าพระองค์จะถูกชาวยิวปฏิเสธและถูกสังหาร เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 8:32–33 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปโตรมีปฏิกิริยาต่อข่าวนี้อย่างไร

อธิบายว่าเนื่องจากความคาดหวังอย่างแพร่หลายของชาวยิวถึงพระเมสสิยาห์ผู้พิชิต จึงเป็นเรื่องยากสำหรับเปโตรและชาวยิวอีกมากมายในตอนนั้น ที่จะเข้าใจและยอมรับแนวคิดเรื่องพระเมสสิยาห์ผู้จะทรงทนทุกข์และสิ้นพระชนม์

  • เปโตรเป็นเหมือนชายตาบอดที่บรรยายไว้ใน มาระโก 8:22–25 อย่างไร (เปโตรเริ่มค่อยๆ “เห็น” ความจริง เขามีศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอด แต่ความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอดพัฒนาทีละขั้น)

  • พระเจ้าทรงช่วยท่านหรือคนที่ท่านรู้จักให้ค่อยๆ มองเห็นความจริงชัดเจนขึ้นอย่างไร

สรุปบทเรียนวันนี้โดยเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน มาระโก 8:34–38 ในใจ โดยไตร่ตรองว่าบทเรียนในวันนี้จะช่วยท่านให้พระเจ้ามาก่อนในชีวิตของท่านอย่างไร

หน่วยต่อไป (มาระโก 10ลูกา 4)

อธิบายว่านักเรียนจะจบการศึกษาของพวกเขาเกี่ยวกับพระกิตติคุณของมาระโกและเริ่มศึกษางานเขียนของลูกา เชื้อเชิญให้พวกเขามองหารายละเอียดใหม่ๆ ขณะที่พวกเขาอ่านเหตุการณ์ในบั้นปลายพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ ให้นักเรียนสังเกตคำพูดเยาะเย้ยที่กระทำต่อพระเยซูขณะพระองค์ทรงอยู่บนกางเขน ในพระกิตติคุณของลูกาพวกเขาจะอ่านบทอันเป็นที่รู้จักมากที่สุดในพระคัมภีร์ไบเบิล—ลูกา 2—เรื่องราวของคนที่ถูกข่มเหง คนที่ถูกขับออกจากสังคม และคนบาป