คลังค้นคว้า
บทที่ 79: ยอห์น 20


บทที่ 79

ยอห์น 20

คำนำ

ในวันอาทิตย์หลังจากการตรึงกางเขน มารีย์ มักดาลาพบอุโมงค์ฝังศพที่ว่างเปล่าจึงไปแจ้งกับยอห์นและเปโตรซึ่งรีบวิ่งมาที่อุโมงค์ฝังศพอันว่างเปล่านั้น พระเยซูคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงปรากฏต่อมารีย์ มักดาลาและสานุศิษย์ของพระองค์หลังจากนั้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 20:1–10

มารีย์ มักดาลาพบอุโมงค์ฝังศพที่ว่างเปล่าจึงบอกยอห์นกับเปโตรซึ่งรีบวิ่งมาที่อุโมงค์ฝังศพนั้น

เพื่อเตรียมนักเรียนในการศึกษา ยอห์น 20 เชื้อเชิญให้พวกเขานึกถึงเวลาที่ผู้เป็นที่รักของพวกเขาหรือของคนที่เขารู้จักสิ้นชีวิต

  • เราอาจมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อคนที่เรารักสิ้นชีวิต

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจ บริบท ของ ยอห์น 20 เตือนพวกเขาว่าหลังจากที่พระเยซูสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 15.00 น. ในวันศุกร์ พระศพของพระองค์ถูกนำไปวางไว้ในอุโมงค์ฝังศพช่วงบ่ายจัดของวันนั้นและปิดผนึกทางเข้าอุโมงค์ฝังศพด้วยหินขนาดใหญ่ จากนั้นวันสะบาโตจึงเริ่มขึ้นเมื่อตะวันตกดิน (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าก่อนการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ ผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้าถือปฏิบัติวันสะบาโตนับจากดวงอาทิตย์ตกวันศุกร์ถึงดวงอาทิตย์ตกวันเสาร์)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนจินตนาการว่าสานุศิษย์ของพระเยซูรู้สึกอย่างไรในวันศุกร์ที่น่าสลดใจนั้น

ภาพ
เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน

“ข้าพเจ้านึกถึงวันศุกร์นั้นว่าจะมืดมนสักเพียงใดเมื่อพระคริสต์ถูกยกขึ้นบนกางเขน

“ในวันศุกร์อันน่าสะพรึงกลัวนั้นแผ่นดินโลกสั่นสะเทือนและมืดมิด พายุร้ายอันน่าพรั่นพรึงกระหน่ำลงบนแผ่นดินโลก

“คนชั่วร้ายเหล่านั้นที่หมายมั่นชีวิตพระองค์ชื่นชมยินดี เมื่อไม่มีพระเยซูอีกต่อไปแล้ว แน่นอนว่าบรรดาผู้ติดตามพระองค์จะต้องสลายตัวไป ในวันนั้น พวกเขายืนอย่างมีชัย

“ในวันนั้น ม่านในพระวิหารขาดออกเป็นสองท่อน

“มารีย์ ชาวมักดาลากับมารีย์ พระมารดาของพระเยซู ทุกข์ระทมและสิ้นหวังทั้งสองคน บุรุษผู้ล้ำเลิศที่พวกนางรักและสรรเสริญถูกตรึงอยู่บนกางเขนในสภาพไร้ชีวิต

“ในวันศุกร์นั้น อัครสาวกหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง พระเยซู พระผู้ช่วยให้รอดของพวกเขา—บุรุษที่เคยดำเนินบนน้ำและทำให้คนตายลุกขึ้นได้—พระองค์เองทรงอยู่ในเงื้อมมือของคนชั่วร้าย พวกเขาเฝ้าดูโดยไม่สามารถช่วยอะไรได้ขณะที่ศัตรูมีชัยชนะเหนือพระองค์

“ในวันศุกร์นั้น พระผู้ช่วยให้รอดของมนุษยชาติถูกเหยียดหยามและทุบตี ถูกกระทำทารุณกรรมและถูกเย้ยหยัน

“เป็นวันศุกร์ที่เต็มไปด้วยโทมนัสที่บั่นทอนจิตใจและรู้สึกหมดสิ้นทุกอย่างซึ่งกัดกร่อนจิตวิญญาณของผู้ที่รักและสรรเสริญพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

“ข้าพเจ้าคิดว่าในวันเวลาทั้งหมดนับแต่กาลเริ่มต้นของประวัติศาสตร์โลก วันศุกร์นั้นเป็นวันที่มืดมนที่สุด” (“วันอาทิตย์จะมาถึง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 36)

  • หากท่านเป็นสานุศิษย์คนหนึ่งที่อยู่ที่นั่นในวันศุกร์นั้น ท่านจะมีความคิดหรือความรู้สึกอย่างไร

หลังจากนักเรียนตอบ ให้อ่านออกเสียงคำกล่าวเพิ่มเติมต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เวิร์ธลิน

“แต่ชะตากรรมของวันนั้นมิได้ยืนยงตลอดไป” (“วันอาทิตย์จะมาถึง,” 36)

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาว่า “ชะตากรรมของวันนั้นมิได้ยืนยงตลอดไป” อย่างไรขณะที่พวกเขาศึกษา ยอห์น 20

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 20:1–2 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ามารีย์ มักดาลาพบอะไรเมื่อเธอไปถึงอุโมงค์ฝังศพของพระเยซูเช้าตรู่ในวันแรกของสัปดาห์ หรือวันอาทิตย์

  • มารีย์พบอะไร

  • มารีย์ทำอะไรเมื่อเธอค้นพบว่าหินซึ่งปิดทางเข้าอุโมงค์ฝังศพถูกยกออกไปแล้ว เธอสันนิษฐานว่าอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ยอห์น 20:3–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปโตรและยอห์น ผู้ที่เรียกว่า “สาวกอีกคนหนึ่ง” (ข้อ 3) ทำอะไรหลังจากได้ยินข่าวจากมารีย์

  • เปโตรและยอห์นทำอะไรหลังจากได้ยินข่าวจากมารีย์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 8 ยอห์นตอบสนองอย่างไรที่เห็นอุโมงค์ฝังศพว่างเปล่า เขาเชื่อว่าอะไร

ท่านอาจต้องการอธิบายว่าจนกระทั่งยอห์นมองเข้าไปในอุโมงค์ฝังศพที่ว่างเปล่า เขาไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศว่าพระองค์จะทรงเป็นขึ้นจากตายในวันที่สาม เมื่อยอห์นเห็นอุโมงค์ฝังศพที่ว่างเปล่า เขาจึงจำได้และเชื่อ (ดู ยอห์น 20:8–9)

ยอห์น 20:11–31

พระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงฟื้นคืนทรงปรากฏต่อมารีย์ มักดาลาและสานุศิษย์ของพระองค์หลังจากนั้น

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 20:11–15 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าใครที่พูดกับมารีย์หลังจากเปโตรและยอห์นออกไปจากอุโมงค์ฝังศพ

  • ใน ข้อ 12–13ใครพูดกับมารีย์

  • ใครพูดกับมารีย์ใน ข้อ 15 มารีย์คิดว่าพระเยซูเป็นใคร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 20:16–18 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระเยซูรับสั่งให้มารีย์ทำอะไรทันทีที่มารีย์จำพระองค์ได้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของวลี “อย่าหน่วงเหนี่ยวเรา” (ข้อ 17) เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“พระคัมภีร์ฉบับคิงเจมส์กล่าวว่าพระเยซูคริสต์รับสั่งดังนี้ ‘อย่าแตะต้องเรา’ งานแปลของโจเซฟ สมิธอ่านว่า ‘อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้’ งานแปลหลายงานจากภาษากรีกถอดความเป็น ‘อย่ารั้งเราไว้’ หรือ ‘อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้’ ผู้แปลบางคนให้ความหมายว่า ‘อย่ารั้งเราไว้อีกต่อไป’ หรือ ‘อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้อีกต่อไป’ บ้างก็พูดถึงการเลิกหน่วงเหนี่ยวหรือเลิกรั้งพระองค์ โดยให้ความหมายว่ามารีย์นั้นได้รั้งพระองค์ไว้แล้ว มีเหตุผลน่าเชื่อถือสำหรับสมมุติฐานที่ว่าพระเจ้าผู้ทรงฟื้นคืนทรงสื่อสารกับมารีย์ดังนี้ ‘เจ้าไม่สามารถรั้งเราไว้ที่นี่ เพราะเรากำลังจะเสด็จขึ้นไปหาบิดาของเรา’” (The Mortal Messiah, 4 vols. [1979–81], 4:264)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 17 พระเยซูรับสั่งให้มารีย์ทำอะไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขาเป็นคนหนึ่งในสานุศิษย์ที่ได้ยินคำพยานของมารีย์ ขอให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • ท่านคิดว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านได้ฟังมารีย์

  • ท่านจะเชื่อเธอหรือไม่ เหตุใดจึงเชื่อหรือเหตุใดจึงไม่เชื่อ

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน เตือนพวกเขาว่าสานุศิษย์บางคนมีปัญหาในการเชื่อคำพยานของมารีย์ (ดู มาระโก 16:11)

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 20:19–20 และขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าเกิดอะไรขึ้นเย็นวันนั้น

  • เกิดอะไรขึ้นเย็นวันนั้นเมื่อเหล่าสานุศิษย์มารวมตัวกัน

  • หลักคำสอนสำคัญอะไรที่มารีย์และสานุศิษย์เรียนรู้ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้ พระเยซูคริสต์ทรงเอาชนะความตายผ่านการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 20 สานุศิษย์รู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขาเห็นพระเจ้าผู้ฟื้นคืนพระชนม์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน

ภาพ
เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน

“ในทันทีทันใดดวงตาที่เคยมีน้ำตาไหลพรากตลอดเวลากลับเหือดแห้ง ริมฝีปากที่กระซิบคำสวดอ้อนวอนจากความสิ้นหวังและระทมทุกข์ บัดนี้เปล่งเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญอันน่าพิศวง เพราะพระเยซูพระคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ทรงยืนต่อหน้าพวกเขาในฐานะผลแรกของการฟื้นคืนชีวิต เครื่องพิสูจน์ว่าความตายเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการดำรงอยู่ใหม่และน่าพิศวง” (“วันอาทิตย์จะมาถึง,” 36)

  • การรู้ว่าพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์จะช่วยเราอย่างไรเวลาที่เราโศกเศร้าเมื่อคนที่เรารักสิ้นชีวิต (เพราะว่าพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์ ทุกคนที่เคยอยู่บนแผ่นดินโลกจะฟื้นคืนชีวิตเช่นกัน [ดู 1 โครินธ์ 15:20–22])

สรุป ยอห์น 20:21–23 โดยอธิบายว่าหลังจากพระเยซูทรงให้สานุศิษย์ของพระองค์ดูบาดแผลที่พระหัตถ์และพระปรัศว์ของพระองค์ พระองค์ทรงมอบหมายให้พวกเขาทำงานของพระองค์และตรัสกับพวกเขาว่า “จงรับพระวิญญาณบริสุทธิ์เถิด” (ข้อ 22)

ขอให้นักเรียนหนึ่งคนอ่านออกเสียง ยอห์น 20:24–25 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาอัครสาวกที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์นั้น

  • อัครสาวกคนใดไม่ได้อยู่ที่นั่นเมื่อสานุศิษย์คนอื่นๆ เห็นพระเจ้าผู้ฟื้นคืนพระชนม์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 25 โธมัสพูดว่าเขาต้องการอะไรจึงจะเชื่อ

  • คำตอบของโธมัสดังที่บันทึกในข้อนี้ต่างจากคำตอบของยอห์นเมื่อยอห์นเห็นอุโมงค์ฝังศพที่ว่างเปล่าดังที่บันทึกไว้ใน ยอห์น 20:8อย่างไร

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงเป็นเรื่องยากสำหรับโธมัสที่จะเชื่อ

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ยอห์น 20:26–29 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่โธมัสประสบอยู่แปดวันหลังจากที่เขากล่าวว่าเขาไม่เชื่อว่าพระเยซูฟื้นคืนพระชนม์

แทนที่จะให้นักเรียนอ่าน ท่านอาจฉายวีดิทัศน์ “Blessed Are They That Have Not Seen, and Yet Have Believed (สันติสุขจงอยู่กับท่านทั้งหลายที่ไม่เห็นแต่เชื่อ)” (2:29) จาก วีดิทัศน์พระคัมภีร์ไบเบิล พระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ เพื่อให้นักเรียนมองเห็นภาพประสบการณ์ของโธมัสดังที่บันทึกไว้ในข้อเหล่านี้ วีดิทัศน์เรื่องนี้มีอยู่ที่ LDS.org

  • หลังจากพระเยซูทรงอนุญาตให้โธมัสสัมผัสพระหัตถ์และพระปรัศว์ของพระองค์แล้ว พระองค์ทรงเชื้อเชิญให้โธมัสเลือกอะไร (จงเชื่อ)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 29 พระเยซูทรงต้องการให้โธมัสเข้าใจอะไร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด (หลังจากนักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน เราจะได้รับพรถ้าเราเลือกเชื่อในพระเยซูคริสต์แม้เมื่อเราไม่เห็นพระองค์)

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสองถึงสามคน จากนั้นแจก เอกสารแจก ที่มีคำถามต่อไปนี้ให้แต่ละกลุ่ม

ภาพ
เอกสารแจก เลือกที่จะเชื่อ

เราจะได้รับพรถ้าเราเลือกเชื่อในพระเยซูคริสต์แม้เมื่อเราไม่เห็นพระองค์

คู่มือครูเซมินารี พันธสัญญาใหม่—บทที่ 79

  1. เหตุใดท่านจึงเลือกที่จะเชื่อในพระเยซูคริสต์แม้ท่านไม่ได้เห็นพระองค์ด้วยสายตาทางโลกของท่าน

  2. เราสามารถทำอะไรได้เพื่อแสดงว่าเราได้เลือกที่จะเชื่อในพระเยซูคริสต์

  3. ท่านได้รับพรอย่างไรจากการเลือกที่จะเชื่อในพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มสนทนาคำถามต่อไปนี้ด้วยกันและเขียนคำตอบของพวกเขาในเอกสารแจกหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขากับชั้นเรียน

อธิบายว่าแม้พระเยซูทรงสอนว่าเราจะได้รับพรหากเราเลือกที่จะเชื่อในพระองค์แม้เราไม่เห็นพระองค์ พระองค์จะประทานพยานเพื่อเป็นรากฐานแห่งความเชื่อของเรา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 20:30–31 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสาเหตุที่ยอห์นบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้

  • เหตุใดยอห์นจึงบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ (ท่านอาจต้องการอธิบายคำว่า ชีวิต [ข้อ 31] หมายถึงชีวิตนิรันดร์)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจาก ข้อ 31 เกี่ยวกับประจักษ์พยานของอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุความจริงทำนองนี้ อัครสาวกและศาสดาพยากรณ์เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์เพื่อที่เราจะเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า โดยการเลือกเชื่อในประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่อัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันให้ไว้ เราจะได้รับชีวิตนิรันดร์ ความเชื่อนี้บอกเป็นนัยว่าคนคนหนึ่งจะมุ่งมั่นในการรักษาพระบัญญัติของพระองค์และดำเนินชีวิตอย่างชื่อสัตย์ต่อประจักษ์พยานนั้น)

  • ประจักษ์พยานของอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์เสริมสร้างความเชื่อของท่านในพระเยซูคริสต์อย่างไร

สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ กระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้ความจริงที่พวกเขาระบุใน ยอห์น 20 โดยตัดสินใจว่าพวกเขาจะแสดงความเชื่อของพวกเขาในพระเยซูคริสต์อย่างไร

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 20:11–18 พยานแรกของพระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดอธิบายว่าบุคคลแรกที่พระเยซูทรงปรากฏพระองค์ในฐานะพระสัตภาวะผู้ฟื้นคืนพระชนม์เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

“ไม่มีสตรีคนใดควรสงสัยว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเห็นค่าความเป็นสตรีเพียงใด มารีย์ มักดาลาผู้โศกเศร้าเป็นคนแรกที่มาถึงสถานที่ฝังศพหลังจากการตรึงกางเขน เมื่อเธอเห็นว่าหินถูกเคลื่อนออกไปและอุโมงค์ฝังศพนั้นว่างเปล่า เธอวิ่งไปบอกเปโตรและยอห์น อัครสาวกทั้งสองมาดูและจากนั้นก็ออกไปด้วยความโศกเศร้า แต่มารีย์ยังคงอยู่ เธอยืนอยู่ใกล้กางเขน [ดู มัทธิว 27:56; มาระโก 15:40; ยอห์น 19:25] เธอไปที่พิธีฝังพระศพ [ดู มัทธิว 27:61; มาระโก 15:47] และเวลานี้เธอยืนร้องไห้อยู่นอกอุโมงค์ที่ว่างเปล่า [ดู ยอห์น 20:11] ที่นั่นเธอได้รับเกียรติเป็นมนุษย์คนแรกที่เห็นพระเจ้าผู้ฟื้นคืนพระชนม์” (“Woman, Why Weepest Thou?” Ensign, Nov. 1996, 54)

ยอห์น 20:16–20 “เมื่อพวกสาวกเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้วก็มีความยินดี”

เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองบรรยายถึงความสิ้นหวังของสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ในวันศุกร์ที่พระองค์ถูกตรึงกางเขน จากนั้นท่านเพิ่มเติมว่า

“ความสิ้นหวังมิได้อ้อยอิ่งอยู่นานเพราะในวันอาทิตย์ พระเจ้าผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงทำลายพันธนาการแห่งความตาย พระองค์เสด็จขึ้นจากหลุมฝังศพและทรงปรากฏพระองค์อย่างผู้มีชัยในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของมวลมนุษย์ …

“เราต่างมีวันศุกร์ของเราเอง—วันที่จักรวาลเองดูเหมือนจะแตกสลายและซากปรักหักพังของโลกเรี่ยรายอยู่รอบตัวเราเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เราทุกคนจะประสบช่วงเวลาอันแหลกสลายเหล่านั้นเมื่อดูเหมือนว่าไม่มีใครสามารถนำเรากลับคืนไปเหมือนเดิมได้อีกครั้ง เราทุกคนจะมีวันศุกร์ของเรา

“แต่ข้าพเจ้าเป็นพยานแก่ท่าน ในพระนามของพระผู้ทรงพิชิตความตาย—วันอาทิตย์จะมาถึง ในความมืดมนแห่งโทมนัสของเรา วันอาทิตย์จะมาถึง

“ไม่ว่าความสิ้นหวังของเราจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าความโศกเศร้าของเราจะเป็นเช่นไร วันอาทิตย์จะมาถึง ในชีวิตนี้หรือชีวิตหน้า วันอาทิตย์จะมาถึง

“ข้าพเจ้าเป็นพยานแก่ท่านว่าการฟื้นคืนพระชนม์ไม่ใช่นิทาน เรามีประจักษ์พยานส่วนตัวของผู้ที่เห็นพระองค์ คนหลายพันคนในโลกเก่าและโลกใหม่เป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงฟื้นคืน พวกเขาสัมผัสบาดแผลที่พระหัตถ์ พระบาท และพระปรัศว์ของพระองค์ พวกเขาหลั่งน้ำตาแห่งปีติที่ไม่อาจระงับไว้ได้ขณะที่พวกเขาสวมกอดพระองค์” (“วันอาทิตย์จะมาถึง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 36)

ยอห์น 20:22 “ทรงระบายลมหายใจเหนือพวกเขา”

ประธานฮาโรลด์ บี. ลีกล่าวเกี่ยวกับข้อความต่อไปนี้

“พระองค์ ‘ทรงระบายลมหายใจเหนือพวกเขา และตรัสกับเขาว่า จงรับพระวิญญาณบริสุทธิ์เถิด’ (ยอห์น 20:22) ซึ่งน่าจะเป็นการยืนยันและการรับสั่งให้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือการบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ โดยการวางมือเพราะนั่นเป็นขั้นตอนที่ทำตามโดยสานุศิษย์ของพระองค์ในภายหลัง” (ใน Conference Report, Apr. 1955, 18)

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้คำแนะนำที่คล้ายกันว่าวลี “ทรงระบายลมหายใจเหนือพวกเขา’ … น่าจะหมายถึงว่าพระองค์ทรงวางพระหัตถ์ของพระองค์บนพวกเขาขณะพระองค์ทรงมีพระดำรัสประกาศิตว่า ‘จงรับพระวิญญาณบริสุทธิ์เถิด’” เอ็ลเดอร์แมคคองกีสอนต่อไปว่าเหตุการณ์นี้แสดงถึงความแตกต่างระหว่างการประสาทของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์กับการชื่นชมของประทานนั้น “พวกเขาจึง ได้รับ ไม่ได้ ชื่นชม ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ในตอนนั้นจริงๆ … ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็น สิทธิ ซึ่งตั้งอยู่บนความชื่อสัตย์ เพื่อจะรับสมาชิกองค์นี้ของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ให้เป็นเพื่อนที่ยั่งยืนของเรา และของประทานนี้ประสาทโดยการวางมือหลังจากบัพติศมา ของประทานนี้มีพรบางประการให้ไว้โดยกำหนดว่าต้องยอมทำตามกฎอย่างครบถ้วน ทุกคนที่ได้รับการประสาทของประทานนี้ไม่ได้ ชื่นชม หรือ ครอบครอง ของประทานที่มอบให้นั้นโดยแท้จริง ในกรณีของเหล่าอัครสาวกการชื่นชมของประทานที่แท้จริงไม่ได้เกิดขึ้นจนถึงวันเพ็นเทคอสต์ (กิจการ 2)” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:857)