คลังค้นคว้า
บทที่ 61: ยอห์น 2


บทที่ 61

ยอห์น 2

คำนำ

ในหมู่บ้านคานา พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำปาฏิหาริย์ครั้งแรกต่อหน้าสาธารณชนในการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลกเมื่อพระองค์ทรงเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่น พระเยซูคริสต์เสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อร่วมเทศกาลปัสกา พระองค์ทรงชำระพระวิหารโดยการไล่คนรับแลกเงินที่ดูหมิ่นความศักดิ์สิทธิ์พระนิเวศน์ของพระบิดาของพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 2:1–11

พระเยซูทรงเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่น

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาเป็น “ครั้งแรก” ได้แก่ วันแรกของโรงเรียน งานแรกของพวกเขา และครั้งแรกที่พวกเขาจำได้ว่ารู้สึกถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • เหตุใดเราจึงให้ความสำคัญกับ “ครั้งแรก” เหล่านี้และอื่นๆ ในชีวิตของเรา

อธิบายกับนักเรียนว่าเมื่อพวกเขาศึกษา ยอห์น 2:1–11 พวกเขากำลังจะเรียนรู้เกี่ยวกับปาฏิหาริย์ครั้งแรกในบันทึกซึ่งพระเยซูทรงทำระหว่างพระองค์ทรงปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลก เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาว่าเหตุใดปาฏิหาริย์ครั้งแรกที่บันทึกไว้จึงมีความสำคัญ

อธิบายว่าไม่นานหลังจากพระเยซูทรงรับบัพติศมา พระองค์และสานุศิษย์เข้าร่วมงานสมรสในคานา หมู่บ้านที่อยู่ใกล้นาซาเร็ธ บ้านเกิดของพระเยซู เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 2:1–3 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นระหว่างงานสมรส

  • เกิดปัญหาอะไรขึ้นระหว่างงานสมรส

อธิบายว่าเหล้าองุ่นเป็นเครื่องดื่มตามประเพณีในงานสมรส บางครั้งงานสมรสจะฉลองไปเรื่อยๆ หลายวัน การที่เหล้าองุ่นหมดจะเป็นเรื่องน่าขายหน้าสำหรับเจ้าภาพงานเลี้ยง ดูเหมือนมารีย์รู้สึกรับผิดชอบต่องานเลี้ยง ดังนั้นเมื่อเหล้าองุ่นหมด เธอจึงไปหาบุตรของเธอและขอความช่วยเหลือจากพระองค์เพื่อช่วยไม่ให้ครอบครัวเจ้าภาพขายหน้า การตอบสนองของพระเยซูแสดงถึงความเคารพและความเห็นใจต่อความปรารถนาของมารดาในการช่วยงานสมรส

อ่านงานแปลของโจเซฟ สมิธ ยอห์น 2:4 ต่อไปนี้ โดยขอให้นักเรียนฟังพระดำรัสที่พระเยซูทรงตอบมารดาของพระองค์ “พระเยซูตรัสกับนางว่า หญิงเอ๋ย ท่านจะให้เราทำอะไรให้ท่านเล่า สิ่งนั้นเราจะทำ เพราะเวลาของเรายังมาไม่ถึง”

  • พระเยซูตรัสตอบอะไรมารดาของพระองค์

  • พระดำรัสตอบของพระเยซูแสดงถึงความเคารพที่พระองค์ทรงมีต่อมารดาของพระองค์อย่างไร (พระเยซูไม่เพียงตรัสถามมารดาของพระองค์ว่าเธอต้องการให้พระองค์ทำอะไรเท่านั้น แต่พระองค์ตรัสด้วยว่าพระองค์เต็มพระทัยที่จะทำ ท่านอาจต้องอธิบายว่าในสมัยของพระเยซู “หญิงเอ๋ย” เป็นวิธีเอ่ยชื่อมารดาของคนๆ หนึ่งด้วยความเคารพ)

  • พระเยซูทรงหมายถึงอะไรเมื่อตรัสว่า “เวลาของเรายังมาไม่ถึง”

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 2:5 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่มารีย์บอกกับพวกคนใช้ เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • คำสั่งของมารีย์ที่ให้กับพวกคนใช้สอนอะไรเราเกี่ยวกับศรัทธาของเธอในพระเยซู

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 2:6–7 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พระเยซูรับสั่งให้พวกคนใช้ทำ

  • พระเยซูรับสั่งให้พวกคนใช้ทำอะไร

อธิบายว่าในสมัยของพระเยซู โอ่ง ที่ทำจากหินถือว่าเป็นสิ่งบริสุทธิ์ตามธรรมเนียมซึ่งมีไว้ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เป็นการถือปฏิบัติของชาวยิวที่จะมีพิธีชำระตนให้บริสุทธิ์ก่อนการรับประทานอาหารโดยการล้างมือของพวกเขาโดยใช้น้ำจากโอ่งหินเหล่านี้

ภาพ
โอ่งหินปูน

โอ่งหินปูนจากสมัยพันธสัญญาใหม่ในอิสราเอล

  • คนใช้เติมน้ำในโอ่งหินเต็มขนาดไหน

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจจำนวนน้ำที่บรรจุอยู่ในโอ่งหิน ให้แสดงภาพภาชนะที่สามารถบรรจุน้ำได้หนึ่งแกลลอน (หรือหนึ่งลิตร) อธิบายกับนักเรียนว่า “firkin” (ในฉบับภาษาอังกฤษ) มีปริมาณเก้าแกลลอน (หรือ 34 ลิตร) โดยประมาณ ดังนั้นโอ่งหินหกใบจะบรรจุได้ประมาณ 100 ถึง 160 แกลลอน (หรือประมาณ 380 ถึง 600 ลิตร) เติมน้ำใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 2:8 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พระเยซูรับสั่งให้คนใช้ทำต่อไป ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ เมื่อนักเรียนรายงาน จุ่มแก้วลงในภาชนะบรรจุน้ำ และยกแก้วขึ้น

  • หากท่านเป็นหนึ่งในคนใช้เหล่านี้ ท่านจะคิดหรือรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านนำเอาแก้วไปให้เจ้าภาพ หรือผู้นำของงานเลี้ยง

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 2:9–10 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่เจ้าภาพพูดหลังจากที่ได้ชิมเครื่องดื่มที่นำไปให้เขา

  • พระเยซูทรงทำอะไรกับน้ำ

  • เจ้าภาพงานเลี้ยงพูดอะไรเกี่ยวกับเหล้าองุ่นใหม่นั้น (อธิบายว่าเหล้าองุ่นที่ดีที่สุดมักจะใช้ในช่วงเริ่มงานเลี้ยงและเหล้าองุ่นที่คุณภาพด้อยกว่าจะนำมาใช้ในช่วงหลังของงานเลี้ยง)

อธิบายว่าพระเยซูไม่เคยประทานความหมายหรือสัญลักษณ์ของปาฏิหาริย์ครั้งแรกซึ่งบันทึกไว้ในการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย อย่างไรก็ตาม มีความจริงที่สำคัญหลายประการซึ่งเราสามารถเรียนรู้จากเรื่องปาฏิหาริย์ครั้งแรกของพระเยซูซึ่งมีบันทึกไว้

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มละสองหรือสามคน เชื้อเชิญแต่ละกลุ่มให้เขียนความจริงหลายๆ ข้อที่เรียนรู้ได้จาก ยอห์น 2:1–11 เท่าที่พวกเขาทำได้ลงในกระดาษแผ่นหนึ่ง หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เชื้อเชิญสมาชิกคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มแบ่งปันความจริงที่กลุ่มพวกเขาระบุกับชั้นเรียน เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งเป็นคนจด ขอให้คนจดเขียนความจริงที่โดดเด่นแต่ละข้อที่แบ่งปันไว้บนกระดาน ต่อไปนี้เป็นข้อความจริงที่เป็นไปได้บางข้อที่นักเรียนอาจระบุ พระเยซูคริสต์ทรงมีอำนาจเหนือธาตุวัตถุ พระผู้ช่วยให้รอดทรงทราบว่าพระองค์ทรงมีพระพันธกิจแห่งสวรรค์ที่ทรงต้องทำให้เกิดสัมฤทธิผล พระเมสสิยาห์ทรงแสดงพลังอำนาจแห่งสวรรค์ของพระองค์ผ่านทางปาฏิหาริย์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าทรงรักและเคารพมารดาของพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 2:11 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าปาฏิหาริย์นี้มีผลต่อสานุศิษย์ของพระเยซูอย่างไร

  • ปาฏิหาริย์นี้มีผลต่อสานุศิษย์ของพระเยซูอย่างไร

ให้วงกลมความจริงต่อไปนี้บนกระดานจากความจริงแต่ละข้อที่นักเรียนระบุ พระเยซูคริสต์ทรงมีอำนาจเหนือธาตุวัตถุ (หมายเหตุ: หากนักเรียนไม่ได้เขียนความจริงนี้ไว้ในรายการ ให้เพิ่มเข้าไปในรายการ)

  • ความเข้าใจที่ว่าพระเยซูทรงมีอำนาจเหนือธาตุวัตถุเสริมสร้างศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์อย่างไร

  • มีเรื่องราวอื่นใดอีกที่เราศึกษาในพันธสัญญาใหม่ซึ่งแสดงไว้เช่นกันว่าพระเยซูคริสต์ทรงมีอำนาจเหนือธาตุวัตถุ (คำตอบอาจจะรวมสิ่งต่อไปนี้ ปาฏิหาริย์สองอย่างเกี่ยวกับขนมปังและปลา [ห้าพันคน: มาระโก 6:33–44; สี่พันคน: มาระโก 8:1–9], ทรงห้ามพายุ [มาระโก 4:35–41], หรือดำเนินบนทะเล [มัทธิว 14:22–33])

ยอห์น 2:12–25

พระเยซูทรงชำระพระวิหาร

เชื้อเชิญให้นักเรียนบอกชื่อเกมกลางแจ้งที่พวกเขาเล่นสมัยยังเด็ก หลังจากพวกเขาเขียนเกมไปหลายเกมแล้ว ให้ถามดังนี้

  • แม้ว่าเกมเหล่านี้จะไร้เดียงสาและสนุก แต่ท่านรู้สึกว่าจะเล่นเกมเหล่านี้ได้อย่างสบายใจในบริเวณพระวิหารหรือไม่

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสองคน เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 2:12–17 ขณะที่พวกเขาอ่าน ให้กลุ่มต่างๆ มองหาหรือสนทนาคำตอบของ คำถาม ต่อไปนี้ (เขียนคำถามเหล่านี้บนกระดาน)

  1. พระเยซูทรงพบใครในพระวิหาร

  2. ท่านคิดว่าเหตุใดพระเยซูจึงไม่พอพระทัย

  3. พระเยซูทรงทำอะไรเพื่อแก้ปัญหา

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้แสดงภาพ พระเยซูทรงชำระพระวิหาร (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 51; ดู LDS.org ด้วย) ขอให้สองสามกลุ่มมารายงานคำตอบของพวกเขา ท่านอาจต้องการอธิบายว่าผู้มาเยือนกรุงเยรูซาเล็มหลายพันคนเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกาจำเป็นต้องซื้อสัตว์เพื่อถวายเป็นเครื่องพลีบูชาในพระวิหารอันเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการ คนแลกเปลี่ยนเงินโรมันกับเงินสกุลอื่นๆ เป็นเงินพระวิหารเพื่อจะได้ซื้อสัตว์พลีบูชา และพ่อค้าคนอื่นๆ ขายสัตว์ ขณะที่การค้าขายนั้นจำเป็นต้องเกิดขึ้น การทำธุรกิจเช่นนั้นที่พระวิหารเป็นการไม่เคารพและขาดความคารวะ

  • ความจริงอะไรเกี่ยวกับพระวิหารที่เราสามารถเรียนรู้จากพระดำรัสที่พระเยซูทรงอธิบายเกี่ยวกับพระวิหารใน ข้อ 16 (นักเรียนควรระบุความจริงทำนองนี้ พระวิหารเป็นพระนิเวศน์ของพระผู้เป็นเจ้า)

  • พระวิหารเป็นพระนิเวศน์ของพระผู้เป็นเจ้าใน ทาง ใดบ้าง (คำตอบของนักเรียนอาจต่างกันไปแต่อาจรวมถึงแนวคิดต่อไปนี้ พระวิหารเป็นสถานที่ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าอาจเสด็จมา ที่ซึ่งรู้สึกถึงพระสิริหรือพระวิญญาณของพระองค์ และใช้ประกอบศาสนพิธีอันเกี่ยวข้องกับงานแห่งความรอดของพระองค์ พระวิหารเป็นสถานที่นมัสการที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดบนแผ่นดินโลก)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ ขอให้นักเรียนฟังดูว่าความเข้าใจของพระเยซูคริสต์เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารส่งผลต่อการตัดสินพระทัยของพระองค์ในการไล่คนรับแลกเงินและคนขายของออกจากพระวิหารอย่างไร

ภาพ
ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

“สาเหตุของความวุ่นวายมาจากถ้อยคำนี้ ‘พระนิเวศน์ของพระบิดาของเรา’ สถานที่นี้ไม่ใช้บ้านทั่วไป นี่เป็นพระนิเวศน์ของพระผู้เป็นเจ้า สถานที่นี้ตั้งขึ้นเพื่อนมัสการพระผู้เป็นเจ้า สถานที่นี้เป็นบ้านของใจที่คารวะ ที่นี่มีไว้เพื่อเป็นสถานที่แห่งการปลอบขวัญจากความทุกข์ร้อนและปัญหาของมนุษย์ เป็นประตูสู่ฟ้าสวรรค์อย่างแท้จริง …การอุทิศพระองค์ [ของพระเยซู] ต่อพระผู้สูงสุดจุดไฟในจิตวิญญาณของพระองค์และประทานพลังอำนาจแก่พระคำของพระองค์ดังกริชที่เสียดแทงผู้กระทำความผิด” (“Hallowed Be Thy Name,” Ensign, Nov. 1977, 53)

  • การกระทำของพระเยซูแสดงถึงความคารวะที่พระองค์ทรงมีต่อพระนิเวศน์ของพระบิดาของพระองค์อย่างไร

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้บนกระดาน เราแสดงความคารวะต่อพระวิหารโดย …

แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มๆ ละสองหรือสามคน เชื้อเชิญกลุ่มต่างๆ ให้เขียนในแผ่นกระดาษด้วยวิธีต่างๆ ที่จะเติมข้อความให้ครบถ้วนให้มากที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้ หลังจากหนึ่งหรือสองนาที ขอให้หนึ่งกลุ่มแบ่งปันรายการกับชั้นเรียน ขณะที่กลุ่มแรกแบ่งปัน ขอให้กลุ่มอื่นๆ ใส่เครื่องหมายถูกข้างรายการที่กล่าวถึงแล้ว ต่อไป ขอให้อีกกลุ่มหนึ่งแบ่งปันข้อในรายการที่กลุ่มแรกยังไม่ได้พูดถึง ทำเช่นนี้ต่อไปจนแบ่งปันครบทุกกลุ่ม

  • เป็นไปได้อย่างไรที่จะแสดงความคารวะต่อพระวิหารแม้เมื่อเราไม่ได้อยู่ในพระวิหาร

เชื้อเชิญให้นักเรียนแต่ละคนเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาถึงสาเหตุที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นสิ่งสำคัญที่พวกเขาต้องทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อแสดงความคารวะพระวิหาร เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนเป้าหมายที่จะทำสิ่งหนึ่งเพื่อแสดงความคารวะพระวิหาร กระตุ้นให้พวกเขาทำตามเป้าหมายนี้

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักธรรมที่ระบุในบทเรียนวันนี้

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

กิจกรรมนี้สามารถใช้แนะนำหรือทบทวนข้อความผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ เลือกบัตรผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์จำนวนหนึ่ง และเตรียมแจกให้นักเรียนของท่าน (ให้แน่ใจว่าแต่ละบัตรมีอยู่หลายใบเพื่อว่าจะมีนักเรียนมากกว่าคนหนึ่งได้รับผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้อเดียวกัน ท่านอาจต้องการมีบัตรมากพอเพื่อที่นักเรียนแต่ละคนจะมีข้อความสองสามข้อที่ต่างกัน) แจกบัตรให้นักเรียน ให้นักเรียนศึกษาข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ข้ออ้างโยง คำสำคัญ และข้อความบริบท หลักคำสอนและหลักธรรม และแนวคิดการประยุกต์ใช้ในแต่ละใบ บอกคำใบ้จากแต่ละใบ (ตัวอย่างเช่น คำจากข้อพระคัมภีร์หรือคำสำคัญ บริบท หลักคำสอนหรือหลักธรรม หรือการประยุกต์ใช้) นักเรียนที่มีบัตรคำที่เกี่ยวข้อควรยืนขึ้นและบอกข้ออ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้อนั้น

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 2:1–11 “เหล้าองุ่นอย่างดี”

“มีข้ออ้างอิงหลายข้อในพระคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับความชั่วร้ายของการมึนเมาและเครื่องดื่มแรง (ตัวอย่างเช่น ดู สุภาษิต 23:20–21; อิสยาห์ 5:11–12; เอเฟซัส 5:18) ข้อเหล่านี้ไม่ได้เจาะจงห้ามการใช้แอลกอฮอล์ แต่ประณามความมัวเมาและการมึนเมา ในสมัยของเรา พระเจ้าทรงเปิดเผยพระคำแห่งปัญญา ซึ่งห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ดู คพ. 89:4–7) เราควรหลีกเลี่ยงการตัดสินผู้คนในสมัยการประทานก่อนหน้านี้โดยพระบัญญัติที่พระเจ้าประทานแก่เราในสมัยนี้” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 208)

ยอห์น 2:4 “หญิงเอ๋ย เราจะทำอะไรกับท่านดีเล่า”

“พระดำรัสที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบมารดาของพระองค์อาจดูเหมือนห้วนเมื่ออ่านในพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับคิงเจมส์ แต่ทั้งงานแปลของโจเซฟ สมิธและฉบับภาษากรีกระบุว่าพระองค์ตรัสด้วยความเคารพ เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจ (1862–1933) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า ‘คำนามที่ใช้เรียก “หญิงเอ๋ย” ตามที่บุตรเรียกมารดาอาจฟังดูกระด้าง หรือไม่เคารพ แต่ในความเป็นจริงมีเจตนาตรงกันข้าม … ในฉากสุดท้ายอันเลวร้ายของประสบการณ์มรรตัยของพระองค์ เมื่อพระคริสต์ผู้ถูกตรึงในความทุกขเวทนากำลังจะสิ้นพระชนม์บนกางเขน พระองค์ทอดพระเนตรลงมาที่มารีย์ มารดาของพระองค์ซึ่งกำลังร้องไห้ พระองค์ทรงฝากฝังเธอไว้กับอัครสาวกยอห์นอันเป็นที่รักให้ช่วยดูแลเธอ ด้วยพระดำรัสว่า “หญิงเอ๋ย นี่คือบุตรของท่าน” [ยอห์น 19:26] คิดได้ไหมว่าในช่วงเวลาที่สุดนี้ ความกังวลของพระเจ้าเกี่ยวกับมารดาผู้ซึ่งพระองค์กำลังจะพลัดพรากจากกันด้วยความตายจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์อื่นใดได้อีกนอกเหนือจากการให้เกียรติ ความอ่อนโยนและความรัก’ (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 144–45)

“งานแปลของโจเซฟ สมิธช่วยให้เราเข้าใจด้วยว่าพระเยซูไม่เพียงถามมารดาของพระองค์ว่าเธอต้องการให้พระองค์ทำอะไร แต่พระองค์ทรงแสดงความเต็มพระทัยที่จะทำด้วย ‘หญิงเอ๋ย ท่านจะให้เราทำอะไรให้ท่านเล่า สิ่งนั้นเราจะทำ’ (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 2:4) คำถามที่ว่า ‘เราจะทำอะไรกับท่านดีเล่า?’ หมายความโดยเฉพาะว่า ‘ท่านต้องการให้เราทำอะไร?’ (ยอห์น 2:4),” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 208)