คลังค้นคว้า
บทที่ 74: ยอห์น 14


บทที่ 74

ยอห์น 14

คำนำ

หลังจากพระกระยาหารปัสกา พระเยซูทรงสอนอัครสาวกของพระองค์ถึงวิธีกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์และวิธีแสดงความรักที่พวกเขามีต่อพระผู้ช่วยให้รอด จากนั้นพระเยซูทรงสัญญากับอัครสาวกของพระองค์ว่าพระองค์จะทรงส่งพระผู้ปลอบโยนอีกองค์หนึ่งมาให้พวกเขา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 14:1–14

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอัครสาวกของพระองค์ถึงวิธีกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์

หากเป็นไปได้ ให้แสดงแผนที่เมืองของท่านและเชื้อเชิญให้นักเรียนระบุสถานที่ซึ่งเขาอยู่ในปัจจุบันบนแผนที่ ระบุสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งนักเรียนคุ้นเคยในแผนที่ เชื้อเชิญพวกเขาเขียนลงในแผ่นกระดาษถึงวิธีที่จะไปจากจุดที่เขาอยู่ตอนนี้เพื่อไปยังสถานที่นั้น เชื้อเชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคนรายงานสิ่งที่พวกเขาเขียน

เขียน อาณาจักรซีเลสเชียล บนกระดาน ขอให้นักเรียนพิจารณาเส้นทางที่พวกเขาจะบอกคนที่ต้องการรู้วิธีไปถึงอาณาจักรซีเลสเชียล

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมขณะศึกษา ยอห์น 14 ซึ่งจะช่วยให้พวกเขารู้วิธีกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์และเข้าสู่อาณาจักรซีเลสเชียล

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทของ ยอห์น 14 เตือนพวกเขาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงถือปฏิบัติปัสกากับอัครสาวกของพระองค์ที่ห้องชั้นบนในเยรูซาเล็ม หลังจากรับประทานอาหารปัสกา พระเยซูตรัสบอกสานุศิษย์ของพระองค์ว่าอีกไม่นานพระองค์จะทรงไปจากเขา (ดู ยอห์น 13:33)

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ยอห์น 14:1–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระเยซูทรงสอนอะไรอัครสาวกของพระองค์เพื่อช่วยปลอบโยนพวกเขา

  • พระเยซูทรงสอนอะไรอัครสาวกของพระองค์เพื่อช่วยปลอบโยนพวกเขา

  • ท่านคิดว่าประโยคนี้ “ในพระนิเวศของพระบิดาเรามีที่อยู่มากมาย” ใน ข้อ 2 หมายถึงอะไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“[ประโยค] ‘ในพระนิเวศของพระบิดาเรามีที่อยู่มากมาย’ … ข้อนี้ควรเป็นว่า—‘ในอาณาจักรของพระบิดาของเรามีอาณาจักรมากมาย,’ ทั้งนี้เพื่อท่านจะเป็นทายาทของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นทายาทร่วมกับข้าพเจ้า … มีที่อยู่สำหรับผู้ที่เชื่อฟังกฎซีเลสเชียล และมีที่อื่นอีกสำหรับผู้ไม่เชื่อฟังกฎ ทุกคนอยู่ตามลำดับของตน” (ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 235)

ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนคำว่า อาณาจักร และ อาณาจักรมากมาย ในพระคัมภีร์เหนือคำว่า พระนิเวศน์ และ ที่ ใน ยอห์น 14:2

  • คำสอนใดใน ยอห์น 14:1–4 ที่อาจเป็นคำปลอบโยนสำหรับอัครสาวก

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5 โธมัสตอบคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดว่าอัครสาวกของพระองค์รู้จักทางไปอาณาจักรของพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่ง อ่าน ออกเสียง ยอห์น 14:6 ขอให้ชั้นเรียนมองหาพระดำรัสที่พระเยซูทรงตอบคำถามของโธมัส

  • พระเยซูทรงตอบคำถามของโธมัสอย่างไร

วาดรูปเส้นทางบนกระดาน ต้นทางให้เขียนว่า เรา และปลายทางอีกด้านหนึ่งให้เขียน อาณาจักรของพระบิดาบนสวรรค์ เขียนคำว่า ทางนั้น ใต้ภาพเส้นทางและชี้ให้เห็นว่าวลีนี้หมายถึงเส้นทางที่นำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นทางนั้นอย่างไร (นักเรียนอาจตอบว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงให้เราเห็นวิธีการดำเนินชีวิตเพื่อเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าและวิธีมีค่าควรที่จะอยู่ในที่ประทับของพระบิดาบนสวรรค์)

เขียนคำว่า ความจริง และ ชีวิต บนกระดานใต้คำว่า “ทางนั้น”

  • พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความจริงในทางใดบ้าง (พระองค์ทรงเป็นที่มาของความจริงทั้งปวงและทรงดำเนินพระชนม์ชีพในความจริงทั้งปวงอย่างสมบูรณ์แบบ)

  • พระเยซูทรงเป็นชีวิตในทางใดบ้าง (พระองค์ทรงทำให้เป็นไปได้สำหรับเราที่จะเอาชนะความตายทางร่างกายและฟื้นคืนชีวิตด้วยร่างกายที่เป็นอมตะและเอาชนะความตายทางวิญญาณเพื่อได้รับชีวิตนิรันดร์ พระองค์ทรงเป็น “แสงสว่างซึ่งอยู่ในสิ่งทั้งปวง, ซึ่งให้ชีวิตแก่สิ่งทั้งปวง” [คพ. 88:13])

ใต้ภาพเส้นทางบนกระดาน ให้เขียน พระเยซูคริสต์ทรงเป็น ข้างๆ “ทางนั้น”

  • จากสิ่งที่เราสนทนาไปแล้ว ท่านจะสรุปความหมายพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดที่ว่า “ไม่มีใครมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา” อย่างไร (ยอห์น 14:6) (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุความจริงทำนองนี้ โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และโดยการทำตามทางของพระองค์เท่านั้นที่เราจะสามารถเข้าสู่อาณาจักรของพระบิดาบนสวรรค์ได้)

  • จะเกิดอะไรขึ้นหากเราพยายามทำตามทางซึ่งไม่ใช่ทางของพระผู้ช่วยให้รอด

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ลอว์เรนซ์ อี. คอร์บริดจ์แห่งสาวกเจ็ดสิบ ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเราพยายามทำตามทางซึ่งไม่ใช่ทางของพระผู้ช่วยให้รอด

ภาพ
เอ็ลเดอร์ลอว์เรนซ์ อี. คอร์บริดจ์

“มีทางเดียวไปสู่ความสุขและความสำเร็จ พระองค์ทรงเป็นทางนั้น ทางอื่น ทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นทางใดก็เป็นความสับสนอลม่าน …

“… เราสามารถเลือกติดตามพระเจ้าและได้รับการประสิทธิ์ประสาทด้วยพลังของพระองค์และมีสันติสุข ความสว่าง กำลัง ความรู้ ความมั่นใจ ความรักและปีติหรือเราจะไปหนทางอื่นหนทางใดก็ได้ ทางใดสุดแล้วแต่และไปตามลำพัง—โดยไม่มีความช่วยเหลือจากพระองค์ ไม่มีพลังของพระองค์ ไม่มีการนำทาง อยู่ในความมืด ความยุ่งยาก ความสงสัย โศกเศร้าและผิดหวัง ข้าพเจ้าขอถามว่าทางใดง่ายกว่ากัน …

“มีทางเดียวไปสู่ความสุขและความสำเร็จ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นทางนั้น” (“ทางนั้น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 43, 45–46)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์คอร์บริดจ์กล่าวไว้ จะเกิดอะไรขึ้นหากเราไม่ทำตามทางของพระผู้ช่วยให้รอด

  • จะเกิดอะไรขึ้นหากเราทำตามทางของพระผู้ช่วยให้รอด

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองประสบการณ์ที่พวกเขาเคยมีซึ่งพวกเขาได้รับพรจากการทำตามทางของพระผู้ช่วยให้รอด เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา

สรุป ยอห์น 14:7–14 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอัครสาวกของพระองค์ว่าจุดประสงค์หนึ่งของพระองค์ในการเสด็จมายังแผ่นดินโลกคือเพื่อเปิดเผยธรรมชาติวิสัยอันแท้จริงของพระบิดาบนสวรรค์ผ่านพระคำและการกระทำของพระองค์ พระองค์ทรงสัญญาอัครสาวกของพระองค์เช่นกันว่าพวกเขาจะมีพลังอำนาจในการทำงานที่ยิ่งใหญ่

ยอห์น 14:15–31

พระเยซูทรงสอนอัครสาวกของพระองค์ถึงวิธีที่พวกเขาจะแสดงความรักต่อพระองค์

ขอให้นักเรียนนึกถึงคนบางคนที่พวกเขารัก

  • ท่านแสดงความรักของท่านต่อบุคคลนี้อย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่ง อ่าน ออกเสียง ยอห์น 14:15 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าพระเยซูทรงบอกให้อัครสาวกของพระองค์ทำอะไรเพื่อแสดงความรักต่อพระองค์

  • ตามที่พระเยซูทรงสอนอัครสาวกของพระองค์ เราจะทำอะไรเพื่อแสดงความรักต่อพระเยซูคริสต์ (นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้ เราแสดงความรักต่อพระเยซูคริสต์โดยรักษาพระบัญญัติของพระองค์)

ให้นำแผ่นกระดาษหลายๆ แผ่นที่เขียนพระบัญญัติไว้บนนั้นมาที่ชั้นเรียน (เช่น เชื่อฟังพระคำแห่งปัญญา จ่ายส่วนสิบ และรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์) เชื้อเชิญนักเรียนหลายคนออกมาที่หน้าชั้นเรียน บอกให้แต่ละคนหยิบกระดาษหนึ่งแผ่น อ่านออกเสียงพระบัญญัตินั้น และอธิบายว่าการรักษาพระบัญญัติข้อนั้นทำให้เราแสดงความรักต่อพระเยซูคริสต์อย่างไร หลังจากนั้น เชื้อเชิญให้พวกเขากลับไปที่นั่ง

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขากำลังแสดงความรักต่อพระผู้ช่วยให้รอดโดยการรักษาพระบัญญัติของพระองค์ได้ดีเพียงใด กระตุ้นให้พวกเขาตั้งเป้าหมายเพื่อแสดงความรักต่อพระผู้ช่วยให้รอดโดยรักษาพระบัญญัติหนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นที่อาจจะยากสำหรับพวกเขาให้ดียิ่งขึ้น

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 14:16–17, 26 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพระดำรัสที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญากับอัครสาวกของพระองค์

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาอะไรกับอัครสาวกของพระองค์

อธิบายว่าวลี “ผู้ช่วยอีกผู้หนึ่ง” ใน ข้อ 16 หมายถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ เนื่องจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นพระผู้ปลอบโยนแก่อัครสาวกของพระองค์ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย พระองค์จึงทรงเรียกพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าเป็นพระผู้ปลอบโยน อีกผู้หนึ่ง

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ยอห์น 14:16–17, 26 พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงทำอะไรให้เรา (โดยใช้คำพูดของพวกเขาเอง นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงปลอบโยนเรา สอนเราทุกสิ่ง และจะทำให้ระลึกถึงทุกสิ่ง)

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำตอบของพวกเขาต่อคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • ท่านเคยรู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงปลอบโยนท่านเมื่อใด ท่านรู้สึกว่าพระองค์ทรงสอนท่านเมื่อใด พระองค์ทรงช่วยให้ท่านระลึกถึงทุกสิ่งเมื่อใด

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขออาสาสมัครสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ยอห์น 14:18–23

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 21 และ 23 เราจะได้รับพรอะไรหากเรารักษาพระบัญญัติ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ ถ้าเรารักษาพระบัญญัติ พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์จะทรงอยู่กับเรา)

  • ท่านคิดว่าการที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์จะทรงอยู่กับเราหมายความว่าอย่างไร (หมายถึงการปรากฏพระองค์ของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ [ดู คพ. 130:3])

อธิบายว่าศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เรียกว่าเป็นพระผู้ปลอบโยนองค์แรก แต่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ปลอบโยนองค์ที่สอง เพื่อรับพระองค์ในฐานะพระผู้ปลอบโยนองค์ที่สอง เราต้องพัฒนาศรัทธาในพระองค์ก่อน กลับใจ รับบัพติศมา รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ พยายามเป็นคนชอบธรรมและรับใช้พระผู้เป็นเจ้า หากเราทำสิ่งเหล่านี้ ในท้ายที่สุดเรา “จะมีพระอติรูปของพระเยซูคริสต์มาอยู่กับ [เรา] หรือปรากฎต่อ [เรา] เป็นครั้งคราว … และนิมิตแห่งฟ้าสวรรค์จะเปิดต่อ [เรา] และพระเจ้าจะทรงสอน [เรา] ตรงหน้า” (ใน History of the Church, 3:380–81) คำสัญญานี้จะเกิดสัมฤทธิผลตามพระประสงค์และจังหวะเวลาของพระเจ้า (ดู คพ. 88:68)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 14:27 ในใจ โดยมองหาข่าวสารที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่อัครสาวกของพระองค์

  • ข่าวสารของพระผู้ช่วยให้รอดใน ข้อ 27 เกี่ยวข้องกับหลักธรรมที่เราระบุในบทเรียนนี้อย่างไร

  • อะไรคือความแตกต่างระหว่างสันติสุขที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานกับสันติสุขที่โลกให้

สรุป ยอห์น 14:28–30 งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 14:30 (ใน คู่มือพระคัมภีร์) โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงบอกอัครสาวกของพระองค์ว่าพวกเขาควรชื่นชมยินดีเนื่องจากพระองค์กำลังจะไปจากพวกเขาเพื่อเสด็จกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ พระองค์ทรงบอกพวกเขาด้วยว่าซาตานไม่มีอำนาจเหนือพระองค์เพราะพระองค์ทรงเอาชนะโลกแล้ว พระเยซูทรงบอกอัครสาวกว่าซาตานจะยังคงมีอิทธิพลต่อพวกเขาเพราะงานของพวกเขาบนแผ่นดินโลกยังไม่สำเร็จลุล่วง

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 14:31 ในใจ โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้โลกรู้อะไร

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้โลกรู้อะไร

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงความรักของพระองค์ต่อพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร

เพื่อสรุป เชื้อเชิญให้นักเรียนเป็นพยานว่าหลักธรรมในบทเรียนนี้สามารถช่วยพวกเขาขณะพยายามกลับไปยังที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าในอาณาจักรซีเลสเชียลอย่างไร

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—ยอห์น 14:6

เพื่อช่วยนักเรียนท่องจำ ยอห์น 14:6 ท่านอาจจะใช้แนวคิดอย่างหนึ่งที่อธิบายไว้ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—ยอห์น 14:15

เพื่อช่วยให้นักเรียนท่องจำ ยอห์น 14:15 เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนข้อนี้ลงในกระดาษ ขอให้พวกเขาท่องซ้ำๆ จนจำได้ จากนั้นเชื้อเชิญให้พวกเขาวางกระดาษไว้ในที่ซึ่งจะช่วยเตือนให้พวกเขาแสดงความรักต่อพระเจ้าโดยการรักษาพระบัญญัติของพระองค์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 14:6 “เราเป็นทางนั้น ความจริง และเป็นชีวิต”

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายความสำคัญของ ยอห์น 14:6 และวิธีซึ่งพระเยซูคริสต์ทรงเป็น “ทางนั้น ความจริง และเป็นชีวิต” ดังนี้

“พระองค์ทรงเป็น ทางนั้น โดยการที่ทางอยู่ในพระองค์และผ่านพระองค์ที่ความรอดจะมาถึง ‘ไม่มีใครจะมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา’ พระองค์ตรัส (ยอห์น 14:6) พระองค์ทรงเป็น ความจริง เนื่องจากพระองค์คือลักษณะของรูปและบุคลาธิษฐานของคุณลักษณะอันศักดิ์สิทธิ์นั้น (แอลมา 5:48) พระองค์ทรงเป็น ชีวิต เนื่องจากแสงสว่างแห่งชีวิตมีศูนย์กลางอยู่ในพระองค์ ไม่มีการดำรงอยู่ใดเลยหากไม่มีพระองค์และพลังอำนาจของพระองค์ หากพระองค์ทรงนำเอาแสงสว่างแห่งชีวิตออกไป ความตายจะได้รับชัยชนะทันที และปราศจากพระองค์จะไม่มีทั้งชีวิตอมตะ ชีวิตนิรันดร์ ซึ่งเป็นชีวิตในรัศมีภาพอันไม่สิ้นสุด” (Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 832)

ยอห์น 14:9–12 “คนที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา”

ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ อธิบายความหมายในพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดที่ว่า “คนที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา” ดังนี้

“พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าทรงมี ‘สภาวะเป็นพิมพ์เดียวกัน’ กับพระบิดาของพระองค์ (ฮีบรู 1:3) พระองค์ทรงดำเนินบนแผ่นดินโลกในฐานะชายที่ดีพร้อม เพื่อตอบข้อสงสัยที่เสนอต่อพระองค์ พระองค์จึงตรัสว่า ‘คนที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา’ (ยอห์น 14:9) เพียงข้อนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะไขปัญหาเพื่อให้ทุกคนที่มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้พอใจ โดยไม่อาจสกัดกั้นข้อสรุปนี้ ว่าหากพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าทรงมีสภาวะเป็นพิมพ์เดียวกัน (เป็นเหมือน) กับพระบิดาของพระองค์ ดังนั้น พระบิดาของพระองค์ก็ทรงอยู่ในรูปลักษณ์ของมนุษย์ เพราะนั่นเป็นรูปลักษณ์ของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ไม่เฉพาะในช่วงพระชนม์ชีพมรรตัยของพระองค์เท่านั้น แต่ก่อนการประสูติในมรรตัยของพระองค์ และหลังการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ด้วย ในรูปลักษณ์นี้ที่พระบิดาและพระบุตร ในฐานะพระอติรูปสองพระองค์ ทรงมาปรากฏต่อโจเซฟ สมิธ เด็กหนุ่มอายุสิบสี่ปี เมื่อท่านได้รับนิมิตแรกของท่าน” (ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร : โจเซฟ เอฟ. สมิธ [1998], 366)

ยอห์น 14:12 “เขาจะทำกิจที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก เพราะว่าเราจะไปหาพระบิดาของเรา”

อาจจะดูสับสนที่อ่านว่าคนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์จะทำงานได้ยิ่งใหญ่กว่าที่พระองค์ทรงทำไว้ อย่างไรก็ตาม Lectures on Faith แนะนำว่าจะเข้าใจข้อความนี้ได้ดีขึ้นก็ต่อเมื่อเชื่อมโยงกับคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน ยอห์น 17:20–24 ดังนี้

“คำกล่าวเหล่านี้เมื่อมารวมกันได้ให้เรื่องราวที่ชัดเจนเกี่ยวกับสภาพของวิสุทธิชนที่ได้รับรัศมีภาพมากเท่าที่ภาษาจะให้ได้ ว่า—งานที่พระเยซูทรงทำไว้แล้ว พวกเขาจะต้องทำ และพวกเขาควรทำงานที่ยิ่งใหญ่กว่าที่พระองค์ทรงทำไว้แล้วท่ามกลางพวกเขา และนั่นเป็นเพราะว่าพระองค์เสด็จไปหาพระบิดา พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าพวกเขาจะทำงานเหล่านี้ทันที แต่พวกเขาควรทำงานที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ เพราะพระองค์เสด็จไปหาพระบิดา … งานที่ยิ่งใหญ่กว่าซึ่งคนที่เชื่อในพระนามของพระองค์จะต้องทำให้สำเร็จลุล่วงในนิรันดร ซึ่ง ณ ที่นั้น พระองค์จะเสด็จไปและพวกเขาจะได้เห็นรัศมีภาพของพระองค์” (Lectures on Faith [1985], 77–78)

ยอห์น 14:16–23, 26; 15:26; 16:7 “พระผู้ปลอบโยน” เป็นพระนามสำหรับพระวิญญาณบริสุทธิ์และสำหรับพระเยซูคริสต์

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายดังนี้

“มีพระผู้ปลอบโยนสององค์ที่พูดถึง องค์แรกคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ องค์เดียวกันกับที่ประทานให้ในวันเพ็นเทคอสต์ และที่วิสุทธิชนได้รับหลังจากศรัทธา การกลับใจ และบัพติศมา …

“พระผู้ปลอบโยนอีกองค์หนึ่งที่พูดถึงเป็นหัวข้อที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และอาจมีคนไม่กี่คนในรุ่นนี้ที่เข้าใจ หลังจากบุคคลหนึ่งมีศรัทธาในพระคริสต์ กลับใจจากบาปของเขา รับบัพติศมาเพื่อการปลดบาปของเขาและรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ (โดยการวางมือ) ซึ่งเป็นพระผู้ปลอบโยนองค์แรก จากนั้นให้เขาอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระผู้เป็นเจ้าต่อไป โดยที่หิวกระหายความชอบธรรม และดำเนินชีวิตด้วยพระวจนะทุกคำของพระผู้เป็นเจ้า จากนั้นไม่นานพระเจ้าจะตรัสกับเขาว่า ลูกเอ๋ย เจ้าจะได้รับความสูงส่ง เมื่อพระเจ้าได้พิสูจน์เขาจนถ่องแท้แล้ว และพบว่าบุคคลนั้นตั้งใจรับใช้พระองค์แม้จะมีภยันตรายทั้งปวง เขาผู้นั้นจะพบกับการยืนยันว่าพระองค์ทรงเรียกและทรงเลือกเขา จากนั้นจะเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะรับพระผู้ปลอบโยนอีกองค์หนึ่ง ซึ่งพระเจ้าทรงสัญญาไว้กับวิสุทธิชน ดังที่บันทึกในประจักษ์พยานของท่านยอห์น ในบทที่ 14 จากข้อ 12 ถึงข้อ 27” (ใน History of the Church, 3:380)

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในฐานะพระผู้ปลอบโยนองค์แรกดังนี้

“ตราบใดที่พระเยซูทรงอยู่กับพวกเขา พระองค์ทรงเป็นพระผู้ปลอบโยนของพวกเขา พระองค์รับสั่งให้เกิดความสงบแก่จิตวิญญาณของพวกเขา คนเหล่านั้นที่แบกภาระหนักด้วยความโศกเศร้าและความทุกข์คนที่ต่อสู้ดิ้นรนกับปัญหาของโลก พวกเขามาหาพระองค์และได้พบการพักผ่อนให้จิตวิญญาณของพวกเขา พระองค์ทรงปลอบโยนหญิงม่ายและทรงเป็นบิดาให้แก่ผู้ที่ขาดบิดา พระคำของพระองค์ยกจิตวิญญาณที่เชื่อขึ้นไปสู่ความสงบและสันติสุขระดับใหม่ บัดนี้พระองค์กำลังจะจากไป แต่พระองค์จะส่งพระผู้ปลอบโยนอีกองค์—พระวิญญาณบริสุทธิ์—เพื่ออยู่กับคนที่ซื่อสัตย์ตลอดกาล

“สำหรับมนุษย์ทั้งปวงยกเว้นไม่กี่คนที่ได้ยินสุรเสียงของพระองค์ในความเป็นมรรตัย พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพระผู้ปลอบโยนองค์แรก สมาชิกองค์นี้ของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์รับสั่งให้เกิดความสงบแก่จิตวิญญาณของคนที่ชอบธรรมในทุกสมัย พระวิญญาณบริสุทธิ์ ‘เป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานแก่คนทั้งปวงผู้แสวงหาพระองค์อย่างขยันหมั่นเพียร เหมือนกันดังนี้ทั้งในสมัยโบราณกับในสมัยที่พระองค์จะทรงแสดงองค์ให้พระจักษ์แก่ลูกหลานมนุษย์’ (1 นีไฟ 10:17) และในสมัยที่จะมาถึงเช่นเดียวกัน พระองค์ทรงเป็นพระวิญญาณแห่งความจริง—ดังที่ทรงเป็นพระคริสต์เช่นกัน—แต่โลกไม่สามารถรับพระวิญญาณบริสุทธิ์เนื่องจากพระวิญญาณไม่ทรงพำนักอยู่ในร่างที่ไม่สะอาด” (Mortal Messiah, 4 vols. [1979–81], 4:74–75)

ยอห์น 14:26 พระวิญญาณบริสุทธิ์แตกต่างจากแสงสว่างของพระคริสต์

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ สอนความแตกต่างบางอย่างระหว่างพระวิญญาณบริสุทธิ์กับแสงสว่างของพระคริสต์ ดังนี้

“ไม่ควรสับสนระหว่างพระวิญญาณบริสุทธิ์กับพระวิญญาณที่เติมเต็มความกว้างใหญ่ไพศาลของที่ว่างและทรงสถิตอยู่ทุกแห่งหน พระวิญญาณอีกองค์หนึ่ง [แสงสว่างของพระคริสต์] ไม่มีพระลักษณะเป็นบุคคล ไม่มีขนาด หรือรูปทรง กำเนิดมาจากที่ประทับของพระบิดาและพระบุตรและทรงสถิตอยู่ในทุกสิ่ง เราควรพูดถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ในฐานะพระอติรูปว่าเป็น ‘พระองค์’ และพระวิญญาณอีกองค์ว่าเป็น ‘มัน’ แม้ว่าเมื่อเราพูดถึงอำนาจหรือของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เราอาจพูดได้อย่างเหมาะสมว่า ‘มัน’

“… พระวิญญาณบริสุทธิ์ ดังที่เราเรียนรู้ในการเปิดเผยสมัยใหม่ เป็นสมาชิกองค์ที่สามในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์และเป็นพระอติรูปที่เป็นวิญญาณ คำต่อไปนี้ใช้โดยมีความหมายเหมือนกัน พระวิญญาณพระผู้เป็นเจ้า พระวิญญาณของพระเจ้า พระวิญญาณแห่งความจริง พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ พระผู้ปลอบโยน ล้วนหมายถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ คำที่ส่วนใหญ่ใช้เกี่ยวข้องกับพระวิญญาณของพระเยซูคริสต์ เรียกเช่นกันว่า แสงสว่างของความจริง แสงสว่างของพระคริสต์ พระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า และพระวิญญาณของพระเจ้า แต่คำเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องแยกแยะและแตกต่างกัน เรามีความสับสนมากมายเนื่องจากความคิดเราไม่ได้เข้าใจอย่างชัดเจน” (Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 1:49–50)