คลังค้นคว้า
บทที่ 3: บทบาทของผู้เรียน


บทที่ 3

บทบาทของผู้เรียน

คำนำ

พระวิญญาณบริสุทธิ์ ครู และผู้เรียนต่างก็มีบทบาทที่สำคัญในการเรียนรู้พระกิตติคุณ บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจบทบาทแต่ละอย่างเพื่อพวกเขาจะประสบความสำเร็จจากการพยายามเรียนรู้ ท่านอาจต้องทบทวนหลักธรรมที่สอนในบทนี้เป็นประจำเพื่อเตือนนักเรียนถึงความรับผิดชอบของพวกเขาในการเรียนรู้พระกิตติคุณ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

บทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ครู และผู้เรียนในการเรียนรู้พระกิตติคุณ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงสถานการณ์ต่อไปนี้

เด็กสาวคนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจและการจรรโลงใจเมื่อเธอเข้าเรียนเซมินารี เธอรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่นั่นและสำนึกคุณสำหรับสิ่งที่เธอเรียนรู้ เด็กสาวอีกคนหนึ่งอยู่ในชั้นเรียนเดียวกัน อย่างไรก็ดี เธอมักจะรู้สึกเบื่อ และรู้สึกว่าเธอไม่ค่อยได้อะไรจากชั้นเรียน

  • อาจมีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้เด็กสาวสองคนนี้มีประสบการณ์ที่แตกต่างกันขณะเข้าเรียนชั้นเรียนเซมินารีเดียวกัน (คำตอบที่อาจเป็นไปได้มีดังต่อไปนี้ เด็กสาวคนแรกอาจมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในบทเรียน เด็กสาวคนแรกอาจมีประสบการณ์การเรียนรู้ทางวิญญาณซึ่งสามารถต่อยอดการเรียนรู้ในปัจจุบัน และเด็กสาวคนที่สองอาจเสียสมาธิจากความวิตกกังวลอื่นๆ )

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักคำสอนหรือหลักธรรมในบทเรียนวันนี้ที่จะช่วยพวกเขาทำบทบาทของพวกเขาให้เกิดสัมฤทธิผลในเซมินารีและเสริมสร้างประจักษ์พยานในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

อธิบายว่าบุคคลสามคนที่มีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้พระกิตติคุณในสภาพแวดล้อมคล้ายกับเซมินารีคือ พระวิญญาณบริสุทธิ์ ครู และนักเรียน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 14:26 และอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 16:13 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาบทบาทบางประการของพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (นักเรียนอาจให้คำตอบต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: พระวิญญาณบริสุทธิ์สอนความจริง)

  • เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อใดที่พระวิญญาณบริสุทธิ์กำลังสอนความจริงแก่เรา (ท่านอาจต้องการให้นักเรียนเปิดไปที่ หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2-3)

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:13–14 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามโดยมองหาบทบาทของครูสอนพระกิตติคุณ ก่อนที่นักเรียนจะอ่าน อธิบายว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ให้แก่สมาชิกศาสนจักรในสมัยแรกๆ ที่ได้รับแต่งตั้งให้สอนพระกิตติคุณ

  • บทบาทของครูสอนพระกิตติคุณคืออะไร (ดู คพ. 42:14 ด้วย)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 33:1 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำให้เราเมื่อเราสอนความจริงโดยเดชานุภาพของพระองค์

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำอะไรให้เรา

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจวิธีอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้นำความจริงเข้ามาสู่จิตใจของพวกเขา เชิญนักเรียนอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยหาดูว่าเราจะแสวงหาการเรียนรู้ได้อย่างไร

  • เราจะแสวงหาการเรียนรู้ได้อย่างไร (โดยการศึกษาและโดยศรัทธา)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำพูดต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่าเราทำให้อะไรเกิดขึ้นได้เมื่อเราแสวงหาการเรียนรู้โดยศรัทธา

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“ครูสามารถอธิบาย สาธิต ชักชวน และเป็นพยาน ทำสิ่งเหล่านี้ด้วยพลังยิ่งใหญ่ทางวิญญาณและความมีประสิทธิผล อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดเนื้อหาของข่าวสารและพยานของพระวิญญาณบริสุทธิ์จะแทรกเข้าไปในใจได้ก็ต่อเมื่อผู้รับยินยอมให้เข้าไป การเรียนรู้โดยศรัทธาเปิดหนทาง เข้าสู่ หัวใจ” (Seek Learning by Faith, Ensign, ก.ย. 2007, 61)

  • จากคำกล่าวนี้ เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นหากเราแสวงหาการเรียนรู้ด้วยศรัทธา (ช่วยให้นักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราแสวงหาการเรียนรู้ด้วยศรัทธา แล้วเราจะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาสู่ใจของเราให้สอนและเป็นพยานถึงความจริง ท่านอาจจะเขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

ชี้ให้เห็นว่าศรัทธาเป็นมากกว่าความเชื่อที่ปราศจากการกระทำ เราแสดงศรัทธาผ่านการกระทำ

  • ท่านคิดว่าการเรียนรู้ด้วยศรัทธาหมายความว่าอย่างไร

เพื่อสาธิตว่าการเรียนรู้ด้วยศรัทธาหมายความว่าอย่างไร ขออาสาสมัครหนึ่งคนที่ไม่เคยเล่นฟุตบอล (ท่านสามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมนี้โดยให้นักเรียนคนหนึ่งที่ไม่เคยเล่นบาสเก็ตบอล เล่นดนตรี โยนบอล ผูกเนคไท และอื่นๆ มาร่วม) บอกอาสาสมัครว่าท่านตั้งใจจะสอนวิธีเล่นฟุตบอลให้เขาเก่งพอที่จะเล่นในทีมฟุตบอล ถามอาสาสมัครว่าเขามีศรัทธาในความสามารถของท่านที่จะสอนและในความสามารถของเขาที่จะเรียนหรือไม่ จากนั้นอธิบายและสาธิตวิธีเลี้ยงลูกบอล แต่ไม่ต้องให้อาสาสมัครลอง อธิบายวิธีส่งบอล จากนั้นสาธิตโดยส่งบอลไปที่อาสาสมัคร แต่เอาบอลคืนมาแทนที่จะปล่อยให้อาสาสมัครลองส่งบอลกลับคืนให้ท่าน ทำเช่นเดียวกันกับการทุ่มบอลเข้าไปในสนามเมื่อบอลหลุดออกไป จากนั้นให้ถามอาสาสมัครว่า

  • ท่านรู้สึกท่านพร้อมเพียงใดที่จะไปคัดตัวเข้าทีมฟุตบอล เพราะเหตุใด

  • ถึงแม้ว่าการเรียนรู้เกี่ยวกับฟุตบอลและการดูคนอื่นเล่นจะช่วยได้ แต่หากท่านต้องการพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อประสบความสำเร็จในการเล่นฟุตบอล ท่านต้องทำอะไร

  • สิ่งนี้สัมพันธ์กับการเรียนรู้โดยศรัทธาอย่างไร (เพียงเชื่อและวางใจว่าพระวิญญาณจะสอนเราไม่พอ เพื่อให้ได้ความรู้เรื่องความจริงของพระผู้เป็นเจ้า เราต้องพยายามเรียนรู้และประยุกต์ใช้สิ่งที่เราเรียนรู้)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เบดนาร์ ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่ท่านสอนเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยศรัทธา (ท่านอาจทำสำเนาข้อความนี้ให้นักเรียนและให้พวกเขาทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาหาเจอ)

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“ผู้เรียนที่กำลังใช้สิทธิ์เสรีโดยทำตามหลักธรรมที่ถูกต้องจะเปิดใจรับพระวิญญาณบริสุทธิ์และเชื้อเชิญเดชานุภาพการสอน การเป็นพยาน และพยานยืนยันของพระองค์ การเรียนรู้ด้วยศรัทธาเรียกร้องความพยายามอย่างเต็มที่ทางวิญญาณ จิตใจ และร่างกาย ไม่ใช่รับอย่างเดียว ในการกระทำที่เกิดจากศรัทธาอย่างแท้จริงและอย่างเสมอต้นเสมอปลายนั่นเองที่บอกพระบิดาบนสวรรค์ของเราและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ให้ทรงทราบว่าเราเต็มใจเรียนรู้และรับคำแนะนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ …

การเรียนรู้ด้วยศรัทธาไม่สามารถส่งผ่านจากผู้สอนสู่นักเรียนโดยการบรรยาย การสาธิต หรือการทดลอง แต่นักเรียนต้องใช้ศรัทธาและการกระทำเพื่อให้ได้ความรู้ด้วยตนเอง” (Seek Learning by Faith, 64)

  • อะไรคือความพยายามทางวิญญาณ ทางจิตใจ หรือทางร่างกายที่เราทำได้เพื่ออัญเชิญพระวิญญาณมาสอนและเป็นพยานถึงความจริงแก่เรา

หมายเหตุ: ตอนนี้อาจเป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:122 และสนทนาถึงความสำคัญของระเบียบและความเคารพในชั้นเรียน

  • เจตคติหรือพฤติกรรมลักษณะใดบ้างที่ขัดขวางพระวิญญาณจากการสอนความจริงให้เราในชั้นเรียนเซมินารี

  • ประสบการณ์ในเซมินารีของนักเรียนคนหนึ่งที่แสวงหาการเรียนรู้ด้วยศรัทธาจะแตกต่างอย่างไรจากประสบการณ์ของนักเรียนที่ไม่ได้ทำเช่นนั้น

ขอให้นักเรียนเปิดไปที่ มัทธิว 4 อธิบายว่าในประสบการณ์ของอัครสาวกเปโตรเราจะเห็นว่าแบบอย่างของการแสวงหาการเรียนรู้ด้วยศรัทธาจะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาสู่ใจเราเพื่อสอนและเป็นพยานถึงความจริงได้อย่างไร ขอให้นักเรียนหนึ่งคนอ่านออกเสียง มัทธิว 4:18-20 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำเชื้อเชิญที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสแก่เปโตรและอันดรูว์

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้เปโตรและอันดรูว์ทำอะไร

  • คำตอบของพวกเขาเป็นแบบอย่างของการแสวงหาการเรียนรู้ด้วยศรัทธาอย่างไร

ชี้ให้เห็นว่าการกระทำของเปโตรในการติดตามพระเยซูคริสต์ทำให้เขาอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอดตลอดการปฏิบัติศาสนกิจในความเป็นมรรตัยของพระองค์ โดยเชื่อฟังการเรียกของพระผู้ช่วยให้รอดให้ตามพระองค์ เปโตรมีสิทธิพิเศษในการฟังพระผู้ช่วยให้รอดสอนทุกวันและเป็นพยานถึงปาฏิหาริย์มากมาย ด้วยพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอด เปโตรเดินได้แม้กระทั่งบนน้ำ (ดู มัทธิว 14:28–29)

อธิบายกับนักเรียนว่าครั้งหนึ่ง พระเยซูทรงถามคำถามหนึ่งกับอัครสาวกของพระองค์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 16:13-14 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงถาม

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงถามอะไรอัครสาวกของพระองค์

  • พวกเขาตอบอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 16:15-17 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยหาดูว่าเปโตรตอบคำถามต่อไปของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร

  • คำตอบของเปโตรต่อคำถามของพระผู้ช่วยให้รอดคืออะไร

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงอธิบายวิธีที่เปโตรได้รับความรู้ของเขาว่าอะไร

  • ประสบการณ์ของเปโตรเป็นตัวอย่างของความจริงที่เราได้ระบุไว้ในบทเรียนนี้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ในสมุดจดในชั้นเรียนหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา (ท่านอาจเขียนคำถามไว้บนกระดาน)

  • ท่านแสวงหาการเรียนรู้ด้วยศรัทธาเมื่อใด พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำตามบทบาทของพระองค์ในการเรียนรู้พระกิตติคุณอย่างไรเมื่อท่านทำสิ่งนี้ (ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผ่านมาเมื่อพวกเขาพยายามเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์)

หากนักเรียนไม่สะดวกใจในการแบ่งปัน เชิญนักเรียนสองสามคนให้บรรยายประสบการณ์ที่พวกเขาเขียน ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเช่นเดียวกันกับประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความจริงที่ท่านสนทนา

ขอให้นักเรียนนึกถึงสิ่งที่พวกเขาจะทำหนึ่งหรือสองสิ่งเพื่อเรียนรู้ด้วยศรัทธาและอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาสู่ใจพวกเขาเพื่อสอนและเป็นพยานถึงความจริง เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนสิ่งที่พวกเขาจะทำ

สรุปโดยแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานโธมัส เอส. มอนสัน

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“เยาวชนทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอให้ท่านมีส่วนร่วมในเซมินารี ศึกษาพระคัมภีร์ของท่านทุกวัน ตั้งใจฟังครูของท่าน ประยุกต์ใช้สิ่งที่ท่านเรียนรู้ร่วมกับการสวดอ้อนวอน (“Participate in Seminary,” ส.ค. 12, 2011, seminary.lds.org)

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ความคารวะเชื้อเชิญการเปิดเผย

เจตคติและพฤติกรรมที่มีความคารวะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ด้วยศรัทธาและสามารถอัญเชิญพระวิญญาณเพื่อสอนและเป็นพยานถึงความจริง ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความคารวะกับการเปิดเผย

“หลายปีมานี้เราเฝ้าดูรูปแบบของความคารวะและความไม่คารวะในศาสนจักร แม้ว่าหลายคนสมควรได้รับคำชื่นชมอย่างมาก แต่เราก็ห่างไกลจากความคารวะออกไปเรื่อยๆ เรามีเหตุผลที่ต้องกังวลอย่างลึกซึ้ง

“โลกมีเสียงดังขึ้นอย่างมาก …

“แนวโน้มของเสียงที่ดังขึ้น ตื่นเต้นมากขึ้น ขัดแย้งมากขึ้น ยับยั้งชั่งใจน้อยลง ศักดิ์ศรีน้อยลง พิธีรีตองน้อยลงไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือไม่เป็นภัยหรือไร้อันตราย

“คำสั่งแรกของผู้บังคับบัญชาระดมการโจมตีทางทหารคือการตัดช่องทางการสื่อสารของคนที่เขาหมายจะเอาชนะ

“ความไม่คารวะเข้ากับจุดประสงค์ของปฏิปักษ์โดยขัดขวางช่องทางที่ละเอียดอ่อนของการเปิดเผยทั้งในความคิดและวิญญาณ …

“… ผู้นำควรสอนว่าความคารวะเชื้อเชิญการเปิดเผย” (Reverence Invites Revelation, Ensign, พ.ย. 1991, 22)

ซิสเตอร์ มาร์กาเร็ต เอส. ลิฟเฟิร์ธ ฝ่ายประธานปฐมวัยสามัญสอนเกี่ยวกับความคารวะในการประชุม และคำสอนของเธอใช้ได้กับชั้นเรียนเซมินารีเช่นกัน

“ในเจตคติของความคารวะเท่านั้นที่พระวิญญาณจะยืนยันความจริงของพระกิตติคุณผ่านพระคำของพระผู้เป็นเจ้า ดนตรี ประจักษ์พยาน และคำสวดอ้อนวอนได้ …

“… การส่งข้อความหรืออ่านอีเมลในการประชุมศาสนจักรไม่เพียงแสดงความไม่คารวะเท่านั้น แต่ยังรบกวนสมาธิและบ่งบอกถึงการขาดความเคารพต่อคนรอบข้างเราด้วย ดังนั้นเราเป็นแบบอย่างความคารวะโดยการเข้าร่วมการประชุม ฟังผู้พูด และการร้องเพลงสวดของไซอันร่วมกัน” (“ความเคารพและความคารวะ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 13)

ศาสดาพยากรณ์ขอให้มีส่วนร่วมในเซมินารี

ประธานโธมัส เอส. มอนสันให้ข่าวสารต่อไปนี้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในเซมินารี

“เซมินารีเป็นพรแก่เยาวชนวิสุทธิชนยุคสุดท้ายหลายแสนชีวิต ข้าพเจ้าจำประสบการณ์เซมินารีของข้าพเจ้าเองได้ สำหรับข้าพเจ้า เซมินารีจัดขึ้นในชั่วโมงเช้าตรู่ในบ้านหลังเล็กๆ ตรงข้ามถนนจากโรงเรียนมัธยมปลายของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคิดว่า หากครูของข้าพเจ้าสามารถตื่นเช้าได้ขนาดนั้น ข้าพเจ้าก็ตื่นเช้าขนาดนั้นได้

“เซมินารีจะช่วยให้ท่านเข้าใจและพึ่งพาคำสอนตลอดจนการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ท่านจะรู้สึกถึงพระวิญญาณของพระเจ้าเมื่อท่านเรียนรู้ที่จะรักพระคัมภีร์ ท่านจะเตรียมตัวของท่านเองสำหรับพระวิหารและการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา

“เยาวชนทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอให้ท่านมีส่วนร่วมในเซมินารี” ศึกษาพระคัมภีร์ของท่านทุกวัน ตั้งใจฟังครูของท่าน ประยุกต์ใช้สิ่งที่ท่านเรียนรู้ร่วมกับการสวดอ้อนวอน” (“Participate in Seminary,” ส.ค. 12, 2011, seminary.lds.org)

มีส่วนร่วมในชั้นเรียน

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนสิ่งต่อไปนี้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในประสบการณ์การเรียนรู้พระกิตติคุณ:

“การตัดสินใจ[ของนักเรียน] ในการมีส่วนร่วมเป็นการใช้สิทธิ์เสรีที่ยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสื่อข่าวสารส่วนตัวที่เหมาะกับความต้องการของแต่ละบุคคล การสร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วมยกระดับความน่าจะเป็นที่พระวิญญาณจะทรงสอนบทเรียนซึ่งสำคัญเกินกว่า [ครู] จะสื่อสารได้

“การมีส่วนร่วมเช่นนั้นจะพาการนำทางของพระวิญญาณเข้ามาในชีวิตของพวกเขา เมื่อท่านกระตุ้นให้นักเรียนยกมือเพื่อตอบคำถาม แม้พวกเขาจะไม่ตระหนัก พวกเขาแสดงให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเห็นความเต็มใจของพวกเขาที่จะเรียนรู้ การใช้เสรีภาพทางศีลธรรมนั้นจะทำให้พระวิญญาณสามารถกระตุ้นพวกเขาและให้การนำทางที่มีพลังยิ่งขึ้นระหว่างที่พวกท่านอยู่ด้วยกัน การมีส่วนร่วมช่วยให้แต่ละคน ประสบ การนำทางจากพระวิญญาณ พวกเขาจะรู้และรู้สึกว่าการนำทางจากพระวิญญาณคืออะไร” (“To Learn and Teach More Effectively” [Brigham Young University Campus Education Week devotional, Aug. 21, 2007], 4–5, speeches.byu.edu)

วิธีอื่นๆ ที่จะช่วยให้นักเรียนทำบทบาทของตนให้เกิดสัมฤทธิผลในการเรียนรู้ประกิตติคุณ

เพื่อเรียนรู้วิธีช่วยนักเรียนทำบทบาทของตนให้เกิดสัมฤทธิผลในการเรียนรู้พระกิตติคุณ ดูหัวข้อต่อไปนี้ใน การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ: คู่มือสำหรับครูและผู้นำในเซมินารีและ สถาบันศาสนา [2012]:

  • “เราช่วยให้นักเรียนมีสัมฤทธิผลในบทบาทของพวกเขาในกระบวนการเรียนรู้และเตรียมพวกเขาให้พร้อมสอนพระกิตติคุณแก่ผู้อื่น” (หมวด 1.3.3, หน้า 6–7)

  • “คาดหวังให้นักเรียนทำบทบาทของตนให้เกิดสัมฤทธิผลในฐานะผู้เรียน” (หมวด 2.2.2, หน้า 15)

  • “สนทนาหลักธรรมแห่งการเรียนรู้ทางวิญญาณ” (หมวด 2.2.3, หน้า 17)

  • “มุ่งเน้นการช่วยนักเรียนทำบทบาทของตนให้เกิดสัมฤทธิผล” (หมวด 4.3.4, หน้า 57)