คลังค้นคว้า
บทนำสาส์นฉบับที่หนึ่งของเปโตร


บทนำสาส์นฉบับที่หนึ่งของเปโตร

เหตุใดจึงศึกษาหนังสือนี้

หัวข้อตลอดทั้งสาส์นฉบับที่หนึ่งของเปโตรคือโดยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ สานุศิษย์ของพระผู้ช่วยให้รอดจะทนอย่างซื่อสัตย์และตอบสนองต่อการทนทุกข์และการข่มเหงได้ ทุกบทของ 1 โปโตรพูดถึงการทดลองและความทุกข์ เปโตรสอนว่าการทนต่อการทดลองด้วยความอดทน “ล้ำค่ายิ่งกว่า … ทองคำ” และจะช่วยให้ผู้เชื่อได้รับ “ความรอดแห่งวิญญาณจิต [ของพวกเขา] ” (1 เปโตร 1:7, 9) เปโตรเตือนวิสุทธิชนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของพวกเขาในฐานะ “พงศ์พันธุ์ที่ทรงเลือกสรร เป็นพวกปุโรหิตหลวง เป็นชนชาติบริสุทธิ์ เป็นประชากรอันเป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า” (1 เปโตร 2:9) โดยการศึกษาคำแนะนำที่เปโตรให้ในสาส์นฉบับนี้ นักเรียนจะได้รับความหวัง กำลังใจ และความเข้มแข็งที่จะช่วยพวกเขารับมือกับความท้าทายที่พวกเขาเผชิญ

ใครเขียนหนังสือนี้

ผู้เขียนสาส์นฉบับนี้คือ “เปโตร อัครทูตของพระเยซูคริสต์” (1 เปโตร 1:1) “เดิมทีเปโตรเป็นที่รู้จักในชื่อสิเมโอนหรือซีโมน (2 เปโตร 1:1) ชาวประมงจากเบธไซดาผู้อาศัยอยู่ที่คาเปอรนาอุมกับภรรยาของเขา … เปโตรได้รับเรียกเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์พร้อมอันดรูว์น้องชายของท่าน (มัทธิว 4:18–22; มาระโก 1:16–18; ลูกา 5:1–11) …

“… พระเจ้าทรงเลือก [เปโตร] ให้ถือกุญแจทั้งหลายของอาณาจักรบนแผ่นดินโลก (มัทธิว 16:13–18) …

“เปโตรเป็นหัวหน้าอัครสาวกในสมัยของท่าน” (คู่มือพระคัมภีร์, “เปโตร,” scriptures.lds.org)

งานเขียนของเปโตรแสดงให้เห็นการเติบโตของเขาจากชาวประมงธรรมดาสู่อัครสาวกที่ยิ่งใหญ่

สาส์นนี้เขียนเมื่อใดและที่ไหน

เปโตรน่าจะเขียนสาส์นฉบับแรกของเขาระหว่าง ค.ศ. 62 และ 64 เขาเขียนจาก “เมืองบาบิโลน ” (1 เปโตร 5:13) น่าจะเป็นการพูดถึงกรุงโรมในเชิงสัญลักษณ์

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเปโตรสิ้นชีวิตระหว่างการครองราชย์ของนีโรจักรพรรดิโรมัน—น่าจะหลังจาก ค.ศ. 64 เมื่อนีโรเริ่มข่มเหงชาวคริสต์ (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “เปโตร”)

สาส์นนี้เขียนถึงใครและเพราะเหตุใด

เปโตรเขียนสาส์นนี้ถึงสมาชิกศาสนจักรที่อาศัยอยู่ในห้าจังหวัดของโรมันในเอเชียไมเนอร์ ตั้งอยู่ในตุรกีสมัยปัจจุบัน (ดู 1 เปโตร 1:1) เปโตรถือว่าผู้อ่านของเขาเป็น “ผู้เลือกสรร” ของพระผู้เป็นเจ้า (1 เปโตร 1:2) เขาเขียนเพื่อเสริมสร้างและให้กำลังใจวิสุทธิชนใน “การทดสอบความเชื่อ [ของพวกเขา] ” (1 เปโตร 1:7) และเตรียมพวกเขาสำหรับ “ความทุกข์ยากแสนสาหัส” ในอนาคต (1 เปโตร 4:12) ข่าวสารของเปโตรสอนพวกเขาถึงวิธีตอบสนองต่อการข่มเหงด้วย (ดู 1 เปโตร 2:19–23; 3:14–15; 4:13)

คำแนะนำของเปโตรเป็นสิ่งที่ถูกจังหวะเวลาเพราะสมาชิกศาสนจักรกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการข่มเหงอย่างรุนแรง รัฐบาลโรมันอดทนต่อชาวคริสต์จนกระทั่งประมาณ ค.ศ. 64 ประมาณช่วงที่เปโตรเขียนสาส์นฉบับนี้ ในเดือนกรกฎาคมของปีนั้น กรุงโรมส่วนใหญ่ถูกเพลิงไหม้เสียหาย และมีข่าวลือว่าจักรพรรดินีโรรับสั่งให้วางเพลิงด้วยพระองค์เอง เพื่อพยายามเบี่ยงเบนข้อกล่าวหา ชาวโรมันที่มีชื่อเสียงบางคนกล่าวหาว่าชาวคริสต์เป็นผู้วางเพลิง สิ่งนี้นำไปสู่การข่มเหงชาวคริสต์อย่างรุนแรงทั่วทั้งจักรวรรดิโรมัน เปโตรระบุว่าเมื่อวิสุทธิชน “ทนทุกข์เพราะได้ชื่อว่าเป็นคริสตชน” (1 เปโตร 4:16) พวกเขาจะรู้สึกปีติที่ได้รู้ว่าพวกเขากำลังดำเนินตามรอยพระบาทพระเยซูคริสต์ (ดู 1 เปโตร 2:19–23; 3:15–18; 4:12–19)

ลักษณะเด่นของหนังสือนี้มีอะไรบ้าง

ท่ามกลางความทุกข์และการข่มเหงที่วิสุทธิชนเผชิญในช่วงเวลาของเขา เปโตรแนะนำให้พวกเขาหันหน้าเข้าหากันด้วยความรักและมีจิตใจอ่อนโยน (ดู 1 เปโตร 1:22; 3:8–9) นอกจากนั้น เราอ่านใน 1 เปโตร 5 ว่าเปโตรอธิบายว่าผู้นำศาสนจักรควรเสริมสร้างการประชุมของพวกเขาอย่างไร

สาส์นฉบับนี้อาจมีการอ้างอิงพระคัมภีร์ไบเบิลถึงโลกวิญญาณและงานแห่งความรอดซึ่งเกิดขึ้นที่นั่นอย่างชัดเจนที่สุด เปโตรกล่าวสั้นๆ ว่าพระเยซูคริสต์เสด็จไปเยือนโลกวิญญาณเพื่อสั่งสอนวิญญาณที่ไม่เชื่อฟังซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยของโนอาห์ (ดู 1 เปโตร 3:18–20) เขาเสริมว่าคนตายได้รับการสอนพระกิตติคุณเพื่อให้ผู้วายชนม์มีโอกาสรับการพิพากษาตามเงื่อนไขเท่าเทียมกันกับคนที่มีชีวิต (ดู 1 เปโตร 4:5–6) ในสมัยการประทานของเรา ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธกำลังไตร่ตรองความหมายของ 1 เปโตร 3:18–20 และ 1 เปโตร 4:6 เมื่อท่านได้รับการเปิดเผยซึ่งให้ความกระจ่างแก่หลักคำสอนเรื่องโลกวิญญาณ (ดู คพ. 138)

สรุปย่อ

1 เปโตร 1:1–2:10 เปโตรเขียนเกี่ยวกับความจำเป็นที่วิสุทธิชนจะต้องเติบโตทางวิญญาณเพื่อได้รับรางวัลนิรันดร์ สัญญาแห่งความรอดเป็นไปได้โดยผ่านพระโลหิตอันล้ำค่าของพระเยซูคริสต์ วิสุทธิชนเป็น “พงศ์พันธุ์ที่ทรงเลือกสรร เป็นพวกปุโรหิตหลวง เป็นชนชาติบริสุทธิ์ เป็นประชากรอันเป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า” (1 เปโตร 2:9) ผู้ได้รับพระเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า

1 เปโตร 2:11–3:12 สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์พยายามให้เกียรติทุกคน ยอมเชื่อฟังผู้มีสิทธิอำนาจและกฎหมาย เปโตรพูดกับวิสุทธิชนบางกลุ่มได้แก่ พลเมืองที่มีเสรีภาพ คนใช้ ภรรยา และสามี

1 เปโตร 3:13–5:14 เมื่อการข่มเหงทำให้วิสุทธิชนต้องทนทุกข์ พวกเขาจึงจดจำแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงทนทุกข์และจากนั้นได้รับความสูงส่ง พระเยซูคริสต์ทรงสั่งสอนพระกิตติคุณให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเพื่อว่าพวกเขาจะได้รับการพิพากษาอย่างเที่ยงธรรม ผู้นำศาสนจักรทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ในการดูแลฝูงแกะของพระผู้เป็นเจ้า วิสุทธิชนต้องอ่อนน้อมถ่อมตนและละความกังวลไว้กับพระผู้เป็นเจ้า