คลังค้นคว้า
บทนำสาส์นของยอห์นฉบับที่หนึ่ง


บทนำสาส์นของยอห์นฉบับที่หนึ่ง

เหตุใดจึงศึกษาหนังสือนี้

ในสาส์นฉบับนี้ยอห์นพูดถึงการเผยแพร่คำสอนที่เป็นอันตรายอันเนื่องจากอิทธิพลของการละทิ้งความเชื่อในศาสนจักร เขาเตือนวิสุทธิชนไม่ให้มีสามัคคีธรรมกับความมืดและให้อยู่อย่างปลอดภัยในความสว่างของพระกิตติคุณ การศึกษา 1 ยอห์นจะช่วยให้นักเรียนเล็งเห็นคำสอนเท็จเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์มากขึ้น และการทำตามคำแนะนำของยอห์นจะช่วยให้พวกเขายังคงมีสามัคคีธรรมกับพระเจ้าเมื่อพวกเขาอยู่ในความจริง นอกเหนือจากนั้น การศึกษาหนังสือนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจความรักอันยิ่งใหญ่ที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีต่อบุตรธิดาแต่ละคนของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงแสดงให้ประจักษ์โดยประทานพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์ เป็นเครื่องพลีบูชาเพื่อมนุษยชาติทั้งปวง

ใครเขียนหนังสือนี้

“แม้ผู้เขียนสาส์นทั้งสามฉบับนี้ไม่ได้ระบุชื่อเมื่อกล่าวถึงตนเอง, แต่ภาษาที่ใช้เหมือนกันมากกับที่ยอห์นอัครสาวกใช้จึงอนุมานได้ว่าท่านเป็นผู้เขียนทั้งสามฉบับ,” หนึ่งในอัครสาวกสิบสองในภาคพันธสัญญาใหม่ (คู่มือพระคัมภีร์, “ยอห์น, บุตรของเศเบดี”)

ผู้เขียนสาส์นของยอห์นเป็นผู้เห็นพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ ซึ่งเป็นเรื่องจริงอย่างแน่นอนเกี่ยวกับยอห์นผู้เป็นอัครสาวก (ดู 1 ยอห์น 1:1–4; 4:14)

หนังสือนี้เขียนที่ไหนและเขียนเมื่อใด

เราไม่รู้แน่ชัดว่า 1 ยอห์นเขียนที่ไหนและเขียนเมื่อใด น่าจะเขียนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหลังศตวรรษแรกของ ค.ศ.

แม้ว่ายอห์นใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงแรกของชีวิตเขาที่ปาเลสไตน์ แต่เขตนั้นไม่เป็นมิตรต่อชาวคริสต์และชาวยิวหลังจากความพินาศของกรุงเยรูซาเล็มและพระวิหารของกรุงเยรูซาเล็มใน ค.ศ. 70 อนุมานกันว่ายอห์นออกจากปาเลสไตน์ไปอาศัยอยู่ที่เมืองเอเฟซัสในช่วงปีท้ายๆ ของเขา หากเป็นกรณีนี้ ยอห์นน่าจะเขียนจดหมายฉบับนี้จากเมืองเอเฟซัสระหว่าง ค.ศ. 70 ถึง 100

หนังสือนี้เขียนถึงใครและเพราะเหตุใด

ไม่ได้มีการกล่าวถึงผู้อ่านของ 1 ยอห์น แต่จากงานเขียนของเขาดูเหมือนว่ายอห์นเขียนถึงผู้เชื่อ (ดู 1 ยอห์น 1:3–4; 2:12–14) อาจเป็นคนที่อยู่ในเอเชียไมเนอร์ (ตุรกียุคปัจจุบัน) ซึ่งแหล่งประวัติศาสตร์บางแห่งบอกว่ายอห์นอาจมีชีวิตและปฏิบัติศาสนกิจช่วงหลังศตวรรษแรกของ ค.ศ.

ในช่วงนี้ ผู้สอนเท็จสร้างความแตกแยกท่ามกลางวิสุทธิชนในพื้นที่นั้น (ดู 1 ยอห์น 2:18–19, 22, 26; 4:1) และการละทิ้งความเชื่อกำลังแพร่กระจายในศาสนจักร ปรัชญาหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือลัทธิโดเสติส ลัทธิโดเสติสเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวที่ชื่อว่าไญยนิยม แก่นคำสอนในหลายรูปแบบของไญยนิยมคือวิญญาณทั้งหมดดีและสสาร รวมถึงร่างกายชั่วร้ายทั้งหมด

ผู้ติดตามไญยนิยมเชื่อว่าการได้รับความรอดไม่ได้มาจากการเป็นอิสระจากบาปแต่เป็นการทำให้วิญญาณเป็นอิสระจากสสาร ซึ่งหมายถึงร่างกาย พวกเขาเชื่อด้วยว่าความรอดได้มาโดยความรู้พิเศษ (นอสติก) แทนที่จะผ่านความเชื่อในพระเยซูคริสต์

ผู้ติดตามลัทธิโดเสติสเน้นย้ำธรรมชาติทางวิญญาณของพระเยซูมากจนพวกเขาปฏิเสธแนวคิดที่ว่าพระองค์เสด็จมาแผ่นดินโลกในรูปกายจริงๆ พวกเขาเชื่อว่าไม่สามารถมองเห็นพระผู้เป็นเจ้าได้ พระองค์ทรงเป็นอมตะทรงทราบทุกสิ่ง ทรงไม่มีตัวตน พวกเขามองว่าโลกและร่างกายเสื่อมทรามและชั่วร้าย ดังนั้น พวกเขาเชื่อว่าเนื่องจากพระเยซูทรงเป็นพระบุตรจากสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ไม่อาจประสบกับข้อจำกัดของการเป็นมนุษย์ได้ ในความคิดเห็นของพวกเขา พระเยซูคริสต์ไม่ได้ประสูติในเนื้อหนังจริงๆ และพระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ในร่างกายที่จับต้องได้ ไม่ได้หลั่งพระโลหิต ทนทุกข์ สิ้นพระชนม์ หรือทรงฟื้นขึ้นมาในพระวรกายที่ฟื้นคืนพระชนม์—แค่ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงทำสิ่งเหล่านั้นเท่านั้น ลัทธิโดเสติส มาจากคำในภาษากรีกว่า dokeō หมายถึง “ดูเหมือน” หรือ “ปรากฎ”

แม้ว่า 1 ยอห์นจะโต้แย้งคำสอนเท็จเหล่านั้น แต่คำสอนยังคงอยู่และค่อยๆ เข้ามาสู่สมาชิกศาสนจักร หลักคำสอนเท็จเหล่านี้และอื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่

ลักษณะเด่นของหนังสือนี้มีอะไรบ้าง

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในอัครสาวกสิบสองดั้งเดิมของพระเยซูคริสต์ ยอห์นเป็นพยานพิเศษของพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ ยอห์นเริ่มต้นจดหมายฉบับนี้โดยประกาศว่าเขาได้เห็น ได้ยิน และสัมผัสพระเยซูคริสต์ด้วยตนเอง นอกเหนือจากการเป็นพยานส่วนตัวนี้ ยอห์นเชื้อเชิญให้ผู้อ่านของเขามี “สามัคคีธรรม … กับพระบิดา และกับพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์” (1 ยอห์น 1:3) ความรักเป็นหัวข้อหลักของสาส์นฉบับแรกของยอห์น ยอห์นย้ำว่าคนที่พูดว่ารักพระผู้เป็นเจ้าแต่ไม่รักคนที่อยู่รอบข้างพวกเขานั้นเป็นคนพูดมุสา (ดู 1 ยอห์น 4:20–21)

สรุปย่อ

1 ยอห์น 1–3 ยอห์นสอนว่าโดยผ่านการเชื่อฟัง เราจะรู้จักพระผู้เป็นเจ้า มีสามัคคีธรรมกับพระองค์ และเป็นเหมือนพระองค์ ในวันสุดท้ายผู้ต่อต้านพระคริสต์จะเกิดขึ้น ความรักที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีต่อเราแสดงออกโดยผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์

1 ยอห์น 4–5 ยอห์นกระตุ้นให้วิสุทธิชนพิจารณาว่าผู้สอนมาจากพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่ พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นความรักและเนื่องจากความรักอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงมีต่อเรา พระองค์ทรงส่งพระบุตรของพระองค์เพื่อทนทุกข์แทนเรา คนที่รักพระผู้เป็นเจ้าจะรักษาพระบัญญัติของพระองค์ คนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์และเกิดจากพระผู้เป็นเจ้าจะเอาชนะโลก