คลังค้นคว้า
บทเรียนการศึกษาที่บ้าน: มาระโก 10–ลูกา 4 (หน่วย 9)


บทเรียนการศึกษาที่บ้าน

มาระโก 10ลูกา 4 (หน่วย 9)

การเตรียมเนื้อหาสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

สรุปบทเรียนประจำวันภาคการศึกษาที่บ้าน

ใจความสรุปหลักคำสอนและหลักธรรมต่อไปนี้ที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา มาระโก 10ลูกา 4 (หน่วย 9) ไม่ได้มีเจตนาจะให้สอนเป็นส่วนหนึ่งในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นไปที่หลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ ทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (มาระโก 10–16)

เมื่อนักเรียนศึกษาเกี่ยวกับพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้เด็กเล็กๆ มาหาพระองค์ พวกเขาเรียนรู้ว่าเมื่อเรารับพระกิตติคุณเหมือนเด็กเล็กๆ เราจะได้รับการเตรียมเข้าสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ขณะที่พวกเขาอ่านเกี่ยวกับการตักเตือนเศรษฐีหนุ่มของพระเยซูคริสต์ พวกเขาเรียนรู้ว่าเพราะพระองค์ทรงรักเรา พระเจ้าจะทรงช่วยให้เราทราบว่าเราบกพร่องอะไรในความพยายามของเราเพื่อทำตามพระองค์และหากเราทูลถามพระเจ้า พระองค์จะทรงสอนเราถึงสิ่งที่เราต้องทำเพื่อได้รับชีวิตนิรันดร์ เรื่องราวของหญิงม่ายที่ถวายเงินเหรียญทองแดงของเธอและมารีย์ที่เจิมพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ว่า หากเราเต็มใจถวายทุกสิ่งที่เรามีแด่พระเจ้า พระองค์จะทรงรับการถวายของเราแม้เมื่อดูเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น พระผู้ช่วยให้รอดพอพระทัยเมื่อเราถวายสิ่งที่ดีที่สุดของเราแด่พระองค์

วันที่ 2 (ลูกา 1)

ในบทเรียนนี้นักเรียนศึกษาเกี่ยวกับคำสัญญาของทูตสวรรค์กาเบรียลว่าเศคาริยาห์และเอลีซาเบธจะมีบุตรชาย พวกเขาเรียนรู้ด้วยว่ากาเบรียลบอกมารีย์ว่าเธอจะเป็นมารดาพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า จากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้นักเรียนเรียนรู้ความจริงต่อไปนี้ พระคำของพระเจ้าที่ตรัสผ่านผู้รับใช้ของพระองค์จะเกิดสัมฤทธิผลตามกำหนด พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา กับพระผู้เป็นเจ้า ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าเราพยายามอย่างซื่อสัตย์ที่จะทำบทบาทที่พระเจ้าประทานแก่เราให้เกิดสัมฤทธิผล พระองค์จะทรงทำการใหญ่ในชีวิตเราได้

วันที่ 3 (ลูกา 2)

เมื่อนักเรียนศึกษาเกี่ยวกับการประสูติของพระเยซูคริสต์ พวกเขาเรียนรู้ว่า เนื่องจากพระผู้ช่วยให้รอดประสูติบนแผ่นดินโลก เราจะประสบปีติอย่างยิ่ง พวกเขาเรียนรู้ด้วยว่าเมื่อเราฟังคำแนะนำจากสวรรค์ เราจะได้รับประจักษ์พยานของเราเองเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ และเมื่อเรารับประจักษ์พยานของเราเองเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เราจะต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานของเรากับผู้อื่น เมื่่อนักเรียนศึกษาเกี่ยวกับพระเยซูขณะทรงพระเยาว์ พวกเขาเรียนรู้ว่าเราสามารถทำตามแบบอย่างของพระเยซูได้โดยรับปัญญา การเติบโตทางร่างกาย ทางวิญญาณ และทางสังคม

วันที่ 4 (ลูกา 3–4)

ในบทเรียนนี้นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับยอห์นผู้ถวายบัพติศมาและการรับบัพติศมาของพระเยซูคริสต์ พวกเขาเรียนรู้เช่นกันเกี่ยวกับการที่พระเยซูทรงประกาศในนาซาเร็ธว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ จากเรื่องราวเหล่านี้นักเรียนเรียนรู้ความจริงต่อไปนี้ พระเยซูคริสต์ทรงแยกคนชอบธรรมออกจากคนชั่วร้าย พระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่ถูกส่งมารักษาใจที่ชอกช้ำและปลดปล่อยคนที่ถูกจองจำทางวิญญาณ เมื่อเราแสดงศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ เราจะเห็นปาฏิหาริย์เกิดขึ้น

คำนำ

บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจบางสิ่งซึ่งพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์ทรมานอันเป็นส่วนหนึ่งของการชดใช้ของพระองค์ นอกจากนั้น นักเรียนจะเข้าใจเหตุผลบางประการที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์เพื่อเรา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มาระโก 14:10–16:20

พระเยซูทรงเริ่มการชดใช้ของพระองค์ขณะที่พระองค์ทรงทนทุกข์ในเกทเสมนีเพื่อบาปของเรา พระองค์ทรงถูกยูดาส อิสคาริโอททรยศและถูกนำมาอยู่ต่อหน้าผู้นำชาวยิว

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ในใจ

  • ท่านเคยรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจท่านหรือสิ่งที่ท่านพบเจอมาหรือไม่

  • ท่านเคยรู้สึกว่าท่านไม่สามารถได้รับการอภัยบาปในอดีตของท่านหรือไม่

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงขณะพวกเขาศึกษา มาระโก 14 เพื่อจะช่วยบางคนที่อาจมีความรู้สึกเหล่านี้

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 14:32–34 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกอย่างไรในสวนเกทเสมนี

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกอย่างไรในสวนเกทเสมนี

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนวลีต่อไปนี้บนกระดาน เป็นทุกข์ หนักพระทัยอย่างยิ่ง

อธิบายว่าวลีเหล่านี้บอกถึงการทนทุกข์ที่พระเยซูคริสต์ทรงประสบอันเป็นส่วนหนึ่งของการชดใช้ของพระองค์

  • วลีเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน ในส่วนหนึ่งของการชดใช้ของพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์และโศกเศร้าในสวนเกทเสมนี)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนนี้ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์

“ในเกทเสมนี พระเยซูผู้ทนทุกข์เริ่มที่จะ ‘เป็นทุกข์’ (มาระโก 14:33) หรือ ‘ตกใจ’ และ ‘ประหลาดใจ’ ในภาษากรีก

“ให้จินตนาการว่า พระเยโฮวาห์ พระผู้สร้างโลกนี้และโลกอื่นๆ ทรง “ประหลาดใจ”! … พระองค์ผู้ซึ่งไม่เคยรู้จักกระบวนการอันรุนแรงและละเอียดอ่อนของการชดใช้มาก่อน ดังนั้น เมื่อความปวดร้าวมาถึงขีดสุด นั่นเลวร้ายมาก มากเกินกว่าพระองค์จะทรงจินตนาการได้ด้วยพระปรีชาญาณอันหาใดเทียบได้ของพระองค์! ไม่สงสัยเลยว่าเหตุใดทูตสวรรค์จึงมาปรากฏเพื่อชูกำลังพระองค์! (ดู ลูกา 22:43)

“น้ำหนักที่ทบทวีของบาปทั้งหมดของมนุษย์—อดีต ปัจจุบัน และอนาคต—กดทับบนจิตวิญญาณที่ดีพร้อม ไม่มีบาป และละเอียดอ่อนของพระองค์! ความทุพพลภาพและความเจ็บป่วยทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์อันน่าสะพรึงกลัวของการชดใช้เช่นกัน (ดู แอลมา 7:11–12; อิสยาห์ 53:3–5; มัทธิว 8:17) …

“ในความสาหัสที่สุดนี้ พระองค์อาจจะทรงหวังว่าจะมีแกะที่มาช่วยชีวิตในพุ่มไม้หรือไม่ ข้าพเจ้าไม่ทราบเช่นกัน ความทุกขเวทนาของพระองค์—ตามที่เป็น หฤโหด ทวีคูณด้วย ความไม่สิ้นสุด—เป็นเหตุให้ทรงเปล่งพระสุรเสียงจากห้วงลึกของจิตวิญญาณบนกางเขนในเวลาต่อมา และนั่นคือเสียงร้องของการถูกทอดทิ้ง (ดู มัทธิว 27:46) …

“การชดใช้อันอัศจรรย์และรุ่งโรจน์เป็นการฉากกลางของประวัติศาสตร์มนุษย์ทั้งมวล นี่คือจุดพลิกผันของสิ่งสำคัญอื่นๆ ทั้งมวลในที่สุด แต่ก็เกิดขึ้นเนื่องจากการยอมทางวิญญาณของพระเยซู!” (“Willing to Submit,” Ensign, พ.ค. 1985, 72–73)

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก มาระโก 14:35–42 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเนื่องจากความทุกข์แสนสาหัสของพระองค์

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเนื่องจากความทุกข์แสนสาหัสของพระองค์ (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการทนทุกข์ของพระเยซูสาหัสมากจนพระองค์ทูลขอว่าเป็นไปได้หรือไม่หากพระองค์จะทรงไม่รับมัน)

เขียนวลีต่อไปนี้บนกระดาน พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์ … เพื่อว่าพระองค์ …

อธิบายว่าข้อพระคัมภีร์อื่นๆ จะช่วยให้เราเข้าใจการทนทุกข์ทรมานของพระเยซูคริสต์และสาเหตุที่พระองค์เต็มพระทัยที่จะทนทุกข์ทรมานเพื่อเรา

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้บนกระดาน อิสยาห์ 53:3–5 และ แอลมา 7:11–13 แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านข้อเหล่านี้ด้วยกัน โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์และสาเหตุที่พระองค์ทรงทนทุกข์ทรมาน ขอให้นักเรียนเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าพวกเขาจะเติมวลีที่เขียนไว้บนกระดานให้ครบถ้วนโดยใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ใน อิสยาห์ 53:3–5 และ แอลมา 7:11–13 ว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องการอธิบายคำว่า ช่วย ใน แอลมา 7:12 ซึ่งหมายความว่ารีบบรรเทาความเจ็บปวดหรือไปช่วยบางคน)

หลังจากให้เวลาพอสมควร เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนรายงานว่าพวกเขาเติมวลีให้ครบถ้วนว่าอย่างไร คำตอบของพวกเขาควรเป็นทำนองนี้ พระเยซูคริสต์ทรงทนรับความเจ็บปวด ความทุกข์ยาก การล่อลวง ความเจ็บป่วย ความทุพพลภาพ และความโศกเศร้าของเราเพื่อว่าพระองค์จะทรงรู้ว่าจะช่วยเราได้อย่างไร พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อบาปของเรา ทั้งนี้เพื่อพระองค์จะทรงลบการล่วงละเมิดของเรา เตือนนักเรียนว่าการทนทุกข์ของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อบาปของมนุษยชาติทั้งปวงในสวนเกทเสมนีและยังดำเนินต่อไปจนสิ้นสุดที่การตรึงพระองค์บนกางเขน

  • การรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์และสาเหตุที่พระองค์ทรงทนทุกข์ช่วยท่านขณะที่ท่านเผชิญกับการทดลอง ความเจ็บปวด และความทุกข์อย่างไร (ดู คพ. 45:3–5)

  • ท่านรู้สึกถึงความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอดในเวลาที่ท่านเจ็บปวด ป่วยไข้ หรือโศกเศร้าเมื่อใด

  • ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านกลับใจและรู้สึกว่าบาปของท่านถูกลบผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

สรุป มาระโก 14:43–16:20 โดยอธิบายว่าพระเยซูถูกนำไปที่การสอบสวนซึ่งไม่ถูกกฎหมายต่อหน้าสภายิว (ผู้นำยิว) และถูกพิพากษาประหารชีวิต หลังจากพระผู้ช่วยให้รอดสิ้นพระชนม์บนกางเขนและฟื้นคืนพระชนม์ พระองค์ทรงปรากฏต่ออัครสาวกของพระองค์ ทรงส่งพวกเขาออกไปสั่งสอนและสัญญากับพวกเขาว่ามีคนเชื่อที่ไหนหมายสำคัญจะเกิดขึ้นที่นั่น (หมายเหตุ: การสิ้นพระชนม์ การฝัง และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์จะสอนโดยละเอียดเมื่อนักเรียนศึกษา มัทธิว 27–28ก่อนหน้านี้แล้ว)

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 16:15 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่อัครสาวกของพระองค์

  • ท่านจะช่วยทำให้ภารกิจในการสั่งสอนพระกิตติคุณ “ทั่วโลก” ในปัจจุบันและในอนาคตเกิดสัมฤทธิผลได้อย่างไร

ท่านอาจต้องการสรุปโดยการเป็นพยานถึงความจริงที่ท่านสนทนาไปในวันนี้

หน่วยต่อไป (ลูกา 5:1–10:37)

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่าบาปของพวกเขาจะได้รับยกโทษหรือไม่ อธิบายว่าขณะที่พวกเขาศึกษา ลูกา 5:1–10:37 ในสัปดาห์ที่จะมาถึง พวกเขาจะเรียนรู้เกี่ยวกับความเต็มพระทัยของพระผู้ช่วยให้รอดในการให้อภัยบาปของพวกเขาและสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อรับการให้อภัย