คลังค้นคว้า
บทที่ 145: 1 เปโตร 3–5


บทที่ 145

1 เปโตร 3–5

คำนำ

เปโตรกระตุ้นให้วิสุทธิชนพร้อมเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์เสมอและให้ดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมเพื่อว่าพวกเขาจะขจัดข้อกล่าวหาผิดๆ ที่มีต่อพวกเขา เขาสอนว่าพระเยซูคริสต์ทรงสั่งสอนพระกิตติคุณในโลกวิญญาณหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เปโตรแนะนำให้ผู้อาวุโส (เอ็ลเดอร์) ของศาสนจักรดูแลฝูงแกะของพระผู้เป็นเจ้าโดยดูแลให้เหมือนกับที่พระเยซูคริสต์ พระเมษบาลผู้ยิ่งใหญ่ทรงทำด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 เปโตร 3:1–17

เปโตรแนะนำให้วิสุทธิชนเป็นหนึ่งเดียวกันกับความชอบธรรมและพร้อมเสมอที่จะเป็นพยานถึงพระคริสต์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโธมัส เอส. มอนสัน

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“เราจะมีโอกาสแบ่งปันความเชื่อของเราตลอดชีวิต แม้ไม่รู้เสมอไปว่าเมื่อใดเราจะได้รับเรียกให้ทำเช่นนั้น โอกาสเช่นนั้นมาถึงข้าพเจ้าในปี 1957 เมื่อข้าพเจ้าทำงานธุรกิจสิ่งพิมพ์และต้องไปดัลลัส เทกซัส [สหรัฐ] ซึ่งบางครั้งเรียกว่า ‘เมืองหลายศาสนา’ เพื่อพูดที่การประชุมทางธุรกิจ หลังเลิกประชุมข้าพเจ้านั่งรถไปชมทิวทัศน์แถบชานเมือง เมื่อผ่านโบสถ์แต่ละแห่ง คนขับจะบอกว่า“ทางซ้ายคุณจะเห็นโบสถ์เมโธดิสต์” หรือ “ทางขวาตรงนั้นคือโบสถ์คาทอลิก”

“ขณะผ่านอาคารอิฐแดงสวยงามหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่บนเนิน คนขับอุทานว่า ‘อาคารหลังนั้นเป็นสถานที่ซึ่งชาวมอรมอนประชุมกัน’ สุภาพสตรีที่นั่งอยู่ด้านหลังถามว่า ‘คนขับคะ คุณพอจะบอกเราเพิ่มเติมเกี่ยวกับชาวมอรมอนได้ไหมคะ’

“คนขับจอดรถเข้าข้างทาง แล้วหันมาตอบว่า ‘คุณครับ เท่าที่ผมรู้เกี่ยวกับชาวมอรมอนคือพวกเขาประชุมกันในอาคารอิฐแดงหลังนั้น มีใครในรถคันนี้รู้เรื่องเกี่ยวกับชาวมอรมอนมากกว่านี้บ้างครับ’” (“กล้ายืนคนเดียว,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 77–85)

  • หากท่านอยู่บนรถคันนั้น ท่านจะทำอะไร

  • เหตุใดบางครั้งเป็นเรื่องท้าทายที่จะบอกคนอื่นเกี่ยวกับความเชื่อของเรา

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมเมื่อพวกเขาศึกษา 1 เปโตร 3:1–17 ที่จะช่วยนำพวกเขาเมื่อพวกเขาได้รับโอกาสแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น

สรุป 1 เปโตร 3:1–11 โดยอธิบายว่าเปโตรแนะนำให้ภรรยาช่วยนำสามีที่ไม่เชื่อมาสู่พระคริสต์โดยการกระทำที่ชอบธรรมของพวกเธอ เขาแนะนำให้สามีให้เกียรติภรรยาของพวกเขา เขาแนะนำให้สมาชิกดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของพระกิตติคุณเช่นกัน

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 เปโตร 3:14–16 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าสิ่งที่เปโตรแนะนำให้วิสุทธิชนทำเมื่อพวกเขาทนทุกข์จากการข่มเหงเพราะพวกเขากำลังดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม

  • เปโตรแนะนำให้วิสุทธิชนทำอะไรเมื่อพวกเขาทนทุกข์จากการข่มเหงเพราะพวกเขากำลังดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 15 เปโตรพูดว่าผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ควรพร้อมที่จะทำอะไรตลอดเวลา

  • ท่านคิดว่าพระกิตติคุณในแง่มุมใดที่ให้ความหวังแก่ผู้คน

อธิบายว่าคำว่า อธิบาย ใน ข้อ 15 สามารถแปลว่า “การปกป้อง” ได้ด้วย เปโตรแนะนำให้วิสุทธิชนให้แบ่งปันและปกป้องความเชื่อของพวกเขา

  • คำใดใน ข้อ 15 ที่บรรยายวิธีที่เราควรแบ่งปันและปกป้องพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (ท่านอาจต้องการอธิบายว่า ด้วยความนับถือ หมายถึงความคารวะหรือความยำเกรงในบริบทนี้)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจาก 1 เปโตร 3:15 เกี่ยวกับสิ่งที่เราในฐานะผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ควรมุ่งมั่นที่จะพร้อมทำเสมอ (นักเรียนควรระบุความจริงทำนองนี้ ในฐานะผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ เราควรมุ่งมั่นที่จะพร้อมแบ่งปันและปกป้องความเชื่อของเราด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและความคารวะเสมอ เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่จะแบ่งปันความเชื่อของเราด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและความคารวะ

เพื่อแสดงความจริงบนกระดาน ให้เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงส่วนที่เหลือในเรื่องเล่าของประธานมอนสันเกี่ยวกับประสบการณ์ของท่านบนรถโดยสาร

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“ข้าพเจ้ารอให้คนอื่นตอบ ข้าพเจ้ามองหน้าแต่ละคนเพื่อดูว่ามีใครรู้บ้าง มีใครปรารถนาจะแสดงความเห็นบ้าง ไม่มีใคร ข้าพเจ้าตระหนักว่าข้าพเจ้ามีหน้าที่ต้องอธิบายดังที่อัครสาวกเปโตรแนะนำว่า ‘จงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมเสมอเพื่อท่านจะสามารถตอบทุกคนที่ถามท่านว่าท่านมีความหวังใจเช่นนี้ด้วยเหตุผลประการใด’ ข้าพเจ้าตระหนักเช่นกันถึงความจริงของถ้อยคำดังกล่าว ‘เมื่อถึงคราวต้องตัดสินใจเวลาเตรียมก็ผ่านไปแล้ว’

“เป็นเวลาประมาณ 15 นาทีที่ข้าพเจ้ามีโอกาสแบ่งปันประจักษ์พยานกับคนบนรถเกี่ยวกับศาสนจักรและความเชื่อของเรา ข้าพเจ้าสำนึกคุณสำหรับประจักษ์พยานของข้าพเจ้าและสำนึกคุณที่ข้าพเจ้าพร้อมจะแบ่งปัน” (“กล้ายืนคนเดียว,” 85)

  • เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้เราพร้อมแบ่งปันความเชื่อของเราเสมอ

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาสำนึกคุณที่ได้เตรียมแบ่งปันความเชื่อหรือประจักษ์พยานของพวกเขา ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขากับชั้นเรียน

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อเตรียมพร้อมในการแบ่งปันและปกป้องความเชื่อของพวกเขาอยู่เสมอ กระตุ้นให้พวกเขาทำตามการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณที่พวกเขาอาจได้รับ

1 เปโตร 3:18–4:19

พระเยซูคริสต์ทรงสั่งสอนพระกิตติคุณในโลกวิญญาณหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์

เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขาเป็นผู้สอนศาสนาที่กำลังสอนคนที่พูดดังนี้

“ฉันเชื่อว่าสิ่งที่คุณกำลังสอนฉันเป็นความจริง แต่ฉันสงสัยเกี่ยวกับคนที่ตายไปโดยไม่มีโอกาสที่จะได้ยินความจริงนี้ ดูเหมือนจะไม่ยุติธรรมสำหรับพระผู้เป็นเจ้าที่จะลงโทษพวกเขาหรือปิดกั้นพวกเขาไม่ให้ไปอยู่กับพระองค์อีกครั้งหากพวกเขาไม่เคยมีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับแผนแห่งความรอด”

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะตอบอย่างไร

เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนครึ่งหนึ่งอ่าน 1 เปโตร 3:18–20 รวมถึงงานแปลของโจเซฟ สมิธของ 1 เปโตร 3:20 ใน คู่มือพระคัมภีร์  และอีกครึ่งหนึ่ง อ่าน 1 เปโตร 4:5–6 ในใจ รวมถึงงานแปลของโจเซฟ สมิธของ 1 เปโตร 4:6 ใน คู่มือพระคัมภีร์  ขอให้นักเรียนมองหาความจริงที่เปโตรสอนซึ่งพวกเขาสามารถแบ่งปันกับคนที่อยู่ในสถานการณ์สมมติได้ อธิบายว่าวลี “พวกวิญญาณที่ติดคุกอยู่” ใน 1 เปโตร 3:19 หมายถึงคนที่อยู่ในโลกวิญญาณที่ไม่ได้ยอมรับพระกิตติคุณหรือมีโอกาสได้ยินเกี่ยวกับพระกิตติคุณขณะอยู่ในความเป็นมรรตัย

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามว่า

  • เราเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับคนที่อยู่ในโลกวิญญาณที่ไม่ยอมรับพระกิตติคุณหรือมีโอกาสได้รับพระกิตติคุณในชีวิตนี้

ภาพ
ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ

ให้ดูภาพ ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 127; ดู LDS.org ด้วย) อธิบายว่าประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธกำลังไตร่ตรองความหมายของ 1 เปโตร 3:18–20 และ 1 เปโตร 4:6 เมื่อท่านได้รับการเปิดเผยและนิมิตถึงการเสด็จไปเยือนโลกวิญญาณของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านเห็นว่าระหว่างช่วงการสิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์ พระเยซูคริสต์ทรงสั่งสอนพระกิตติคุณและทรงปฏิบัติศาสนกิจต่อวิญญาณที่ชอบธรรมด้วยพระองค์เอง จากนั้นพระเยซูคริสต์ทรงจัดตั้งและมอบอำนาจให้ผู้รับใช้ที่ชอบธรรมไปสอนพระกิตติคุณให้บรรดาวิญญาณในเรือนจำวิญญาณ (ดู คพ. 138:1–11, 29–30)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 1 เปโตร 4:6 เหตุใดจึงสั่งสอนพระกิตติคุณแก่คนตาย (เพื่อทำให้การพิพากษาเป็นไปอย่างชอบธรรมและเที่ยงธรรมโดยให้บุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ทุกคนมีโอกาสได้ยินและดำเนินชีวิตตามกฎของพระผู้เป็นเจ้า)

  • เราสามารถระบุความจริงอะไรจากคำสอนของเปโตรเกี่ยวกับการสั่งสอนพระกิตติคุณแก่คนตาย (นักเรียนอาจใช้คำพูดของพวกเขาเอง แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงทำนองนี้ สั่งสอนพระกิตติคุณแก่คนตายเพื่อว่าพวกเขาจะมีโอกาสเหมือนกับคนที่ได้ยินพระกิตติคุณในความเป็นมรรตัย)

ให้ทบทวนสถานการณ์สมมติจากช่วงแรกในช่วงพระคัมภีร์นี้สั้นๆ และถามว่า

  • หลักคำสอนเรื่องความรอดสำหรับคนตายเป็นหลักฐานถึงพระเมตตาและความสงสารที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อบุตรธิดาของพระองค์อย่างไร

สรุป 1 เปโตร 4:7–19 โดยอธิบายว่าเปโตรแนะนำให้วิสุทธิชนมีจิตกุศลอย่างแรงกล้าเพราะจิตกุศลปิดกั้นหรือป้องกันบาปมากมาย (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, 1 เปโตร 4:8 [ใน คู่มือพระคัมภีร์ ]) เปโตรสอนให้วิสุทธิชนชื่นชมยินดีเช่นกันเมื่อพวกเขาทนรับการทดลองและถูกประณามเนื่องจากความเชื่อของพวกเขาในพระเยซูคริสต์

1 เปโตร 5

เปโตรแนะนำให้ผู้อาวุโสดูแลฝูงแกะของพระผู้เป็นเจ้าและกระตุ้นวิสุทธิชนให้ยังคงแน่วแน่ในศรัทธา

อธิบายว่าเพื่อช่วยเตรียมวิสุทธิชนให้พร้อมเผชิญการทดลองของพวกเขา เปโตรสอนผู้อาวุโสของศาสนจักรเกี่ยวกับความรับผิดชอบในฐานะผู้นำศาสนจักร เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 เปโตร 5:1–3 ขอให้ขั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำแนะนำของเปโตรที่ให้แก่ผู้อาวุโสของศาสนจักร

  • คำแนะนำอะไรที่เปโตรให้แก่ผู้อาวุโสของศาสนจักร

อธิบายว่าการ “เลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้า” (ข้อ 2) หมายถึงดูแลและปกป้องสมาชิกของศาสนจักร ผู้นำศาสนจักรต้องรับใช้ด้วยความเต็มใจและด้วยความรักแทนที่จะฝืนใจหรือทำเพราะต้องการบำเหน็จ พวกเขาต้องเป็นแบบอย่างให้สมาชิกแทนที่จะเป็น “ผู้ใช้อำนาจบาตรใหญ่” (ข้อ 3) เหนือพวกเขา

  • จากคำแนะนำของเปโตรที่ให้แก่ผู้อาวุโสของศาสนจักร เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้นำศาสนจักร (ช่วยนักเรียนระบุความจริงทำนองนี้ ผู้นำศาสนจักรมีความรับผิดชอบในการปกป้องและดูแลฝูงแกะของพระผู้เป็นเจ้าด้วยความรักและโดยแบบอย่าง เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน เปโตร 5:4 ในใจ โดยมองหาว่าเปโตรเรียกพระผู้ช่วยให้รอดว่าอย่างไร ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

ภาพ
พระเยซูทรงอุ้มลูกแกะที่หายไป

แสดงภาพ พระเยซูทรงอุ้มลูกแกะที่หายไป (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 64; ดู LDS.org ด้วย)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงมักจะบรรยายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะ

  • คุณสมบัติและคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์แบบใดที่จะช่วยผู้นำศาสนจักรปกป้องและดูแลสมาชิกของศาสนจักรได้

  • ท่านเคยได้รับพรผ่านความรักเหมือนพระคริสต์หรือแบบอย่างของผู้นำศาสนจักรอย่างไร

สรุป 1 เปโตร 5:7–14 โดยอธิบายว่าเปโตรสอนให้วิสุทธิชนละความห่วงใย (หมายถึงความวิตกกังวล) ไว้กับพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์และให้ยังคงแน่วแน่ในศรัทธาของพวกเขา แม้จะมีความทุกข์ เปโตรยืนยันกับพวกเขาว่าหากพวกเขาทำเช่นนั้น พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้พวกเขาดีพร้อมและเสริมสร้างพวกเขา

สรุปโดยกระตุ้นให้นักเรียนวางใจและทำตามคนเหล่านั้นที่พระเจ้าทรงเรียกให้ช่วยผู้เลี้ยงแกะและดูแลพวกเขาทางวิญญาณ

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—1 เปโตร 4:6

เพื่อช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในงานแห่งความรอดสำหรับบรรพชนของพวกเขา ให้ทบทวน 1 เปโตร 4:6 กับพวกเขาแล้วถามว่า

  • เราทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยบรรพชนของเราที่ได้รับพระกิตติคุณในโลกวิญญาณและกำลังรอรับการปลดปล่อยจากเรือนจำวิญญาณ

  • ท่านรู้สึกว่าท่านได้รับพรอย่างไรจากการทำประวัติครอบครัวและงานพระวิหารแทนบรรพชนของท่าน

เชื้อเชิญนักเรียนหาโอกาสค้นคว้าประวัติครอบครัวเกี่ยวกับบรรพชนและมีส่วนร่วมในศาสนพิธีพระวิหารแทนพวกเขาเหล่านั้น

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

1 เปโตร 4:6 “ด้วยเหตุนี้เอง ข่าวประเสริฐจึงได้ประกาศแม้แก่คนตาย”

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธสอนสิ่งต่อไปนี้เกี่ยวกับงานแห่งความรอดของผู้วายชนม์

“ทุกคนที่ไม่มีโอกาสจะรับได้ที่นี่ ผู้ที่กลับใจและรับพระกิตติคุณที่นั่น จะเป็นทายาทของอาณาจักรซีเลสเชียลของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ช่วยให้รอดทรง เปิดฉาก งานยิ่งใหญ่นี้เมื่อพระองค์เสด็จไปสั่งสอนวิญญาณที่ถูกคุมขังในเรือนจำ เพื่อพวกเขาอาจได้รับการพิพากษา ตามอย่างมนุษย์ในเนื้อหนัง (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ตามหลักธรรมพระกิตติคุณ) แล้วดำเนินชีวิตตามพระผู้เป็นเจ้าในวิญญาณ โดยการกลับใจและยอมรับพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์ผู้สิ้นพระชนม์เพื่อพวกเขา” (Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 2:132–33)

เกี่ยวกับเรื่องการสั่งสอนพระกิตติคุณในโลกวิญญาณ ประธานลอเรนโซ สโนว์สอนว่า

“เมื่อมีการสั่งสอนพระกิตติคุณแก่วิญญาณในเรือนจำ ความสำเร็จอันเป็นผลของการสั่งสอนจะยิ่งใหญ่กว่าผลของการสั่งสอนจากเอ็ลเดอร์ของเราในชีวิตนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าวิญญาณเหล่านั้นมีเพียงจำนวนน้อยที่ไม่ยินดีรับพระกิตติคุณเมื่อนำไปให้พวกเขา สภาพการณ์ที่นั่นจะดีกว่าเป็นพันเท่า” (“Discourse by President Lorenzo Snow,Millennial Star, Jan. 22, 1894, 50)