คลังค้นคว้า
บทที่ 108: 1 โครินธ์ 11


บทที่ 108

1 โครินธ์ 11

คำนำ

เปาโลแก้ไขความขัดแย้งระหว่างวิสุทธิชนชาวโครินธ์เกี่ยวกับเรื่องประเพณีทางศาสนา เขาเน้นย้ำว่าชายหญิงมีบทบาทนิรันดร์และสูงส่ง และจำเป็นต่อกันในแผนของพระเจ้า เขาสอนสมาชิกศาสนจักรเกี่ยวกับการเตรียมที่เหมาะสมสำหรับการรับส่วนศีลระลึกด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 โครินธ์ 11:1–16

เปาโลแก้ไขความขัดแย้งเกี่ยวกับประเพณีในสมัยของเขา

ภาพ
คู่แต่งงาน พระวิหารลาเอีย ฮาวาย

ให้ดูภาพคู่แต่งงาน (เช่น คู่สามีภรรยาหนุ่มสาวไปพระวิหาร, หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 120; ดู LDS.org ด้วย) อ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ที่สะท้อนให้เห็นว่าบางคนอาจรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการแต่งงาน

  1. “การประสบความสำเร็จในงานอาชีพเป็นทุกสิ่งสำหรับฉัน ฉันไม่ต้องการแยกความสนใจของฉันระหว่างเป้าหมายทางอาชีพกับการแต่งงานของฉัน”

  2. “ฉันไม่ต้องการผูกมัดในความสัมพันธ์ระยะยาว ฉันกังวลว่าฉันจะตัดสินใจในสิ่งที่จะทำให้เสียใจภายหลัง”

  3. “การแต่งงานจะผูกมัดฉัน ฉันจะไม่สามารถทำอะไรที่ฉันต้องการได้อีก”

  4. “ฉันรู้ว่าการแต่งงานเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดที่ฉันจะเคยทำ และฉันรอคอยสิ่งนั้น”

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการแต่งงาน ขอให้พวกเขามองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา 1 โครินธ์ 11:1–16 ที่จะช่วยให้พวกเขาและคนอื่นๆ เข้าใจความสำคัญของการแต่งงาน

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 โครินธ์ 11:3 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับความรับผิดชอบของสามี ท่านอาจอธิบายว่าในข้อนี้คำที่แปลว่า “ผู้ชาย”สามารถแปลว่า “สามี” ได้ด้วยและคำที่แปลว่า “ผู้หญิง” สามารถแปลว่า “ภรรยา” ได้เช่นกัน

  • อะไรคือบทบาทของสามี (ท่านอาจจำเป็นต้องอธิบายว่าวลี “ชายเป็นศีรษะของหญิง” แปลว่าสามีมีความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ของการควบคุมในบ้าน) การ ควบคุม หมายถึงการนำและนำทางผู้อื่นอย่างชอบธรรมในเรื่องทางวิญญาณและทางโลก)

  • ใครเป็นคนควบคุมและนำทางสามีเพื่อให้เขาควบคุมครอบครัวของเขา

สรุป 1 โครินธ์ 11:4–16 โดยอธิบายว่าเปาโลตอบคำถามเกี่ยวกับประเพณีสำหรับชายและหญิงเมื่อพวกเขาสวดอ้อนวอนและพยากรณ์ระหว่างพิธีนมัสการของพวกเขา

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าผู้อ่านพันธสัญญาใหม่บางครั้งเข้าใจผิดว่าคำสอนของเปาโลหมายความว่าบทบาทของผู้ชายสำคัญกว่าบทบาทของผู้หญิงหรือผู้ชายอยู่เหนือกว่าหรือมีค่ามากกว่าผู้หญิง อ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“บุรุษและสตรีเท่าเทียมกันในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า และในสายตาของศาสนจักร แต่เท่าเทียมกันไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเหมือนกัน หน้าที่รับผิดชอบและของประทานอันสูงส่งของบุรุษและสตรีมีลักษณะต่างกัน แต่ความสำคัญหรืออิทธิพลของพวกเขาไม่ต่างกัน หลักคำสอนของศาสนจักรเราวางสตรีไว้เท่าเทียมแต่แตกต่างจากบุรุษ พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงถือว่าเพศหนึ่งดีกว่าหรือสำคัญกว่าอีกเพศหนึ่ง ” (“บุรุษและสตรีในงานของพระเจ้า,” เลียโฮนา, เม.ย. 2014, 48)

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 โครินธ์ 11:11 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา

  • เปาโลสอนอะไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา

ชี้ให้เห็นวลี “ในองค์พระผู้เป็นเจ้า” อธิบายว่าวลีนี้หมายถึงแผนของพระเจ้าที่จะช่วยให้เราเป็นเหมือนพระองค์และได้รับชีวิตนิรันดร์

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับผู้ชายและผู้หญิงในแผนของพระเจ้า (โดยใช้คำพูดของนักเรียน ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน ในแผนของพระเจ้า ผู้ชายและผู้หญิงไม่สามารถได้รับชีวิตนิรันดร์โดยปราศจากกันและกัน [ดู คพ. 131:1–4])

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงที่ระบุไว้ข้างต้น ให้ชู กรรไกร ขึ้นและเริ่มตัดกระดาษหนึ่งแผ่น ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าสองส่วนของกรรไกรถูกแยกออกจากกัน

  • คนหนึ่งจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหนหากเขาพยายามตัดกระดาษด้วยกรรไกรเพียงครึ่งเดียว กรรไกรเป็นเหมือนสามีภรรยาที่ทำงานด้วยกันอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“โดยแผนอันศักดิ์สิทธิ์ มีเจตจำนงให้ชายและหญิงเจริญก้าวหน้าไปสู่ความสูงส่งและความสมบูรณ์แห่งรัศมีภาพด้วยกัน เนื่องจากภาวะจิตใจและความสามารถที่แตกต่างกัน ชายและหญิงจึงต่างก็นำทัศนะและประสบการณ์เฉพาะตนมาสู่สัมพันธภาพของการแต่งงาน ชายกับหญิงให้สิ่งที่แตกต่างกันแต่เท่าเทียมกันเพื่อเอกภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีอื่น ชายทำให้หญิงสมบูรณ์และดีพร้อม หญิงทำให้ชายสมบูรณ์และดีพร้อม ขณะที่พวกเขาร่วมกันเรียนรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็ง และเป็นพรให้แก่กัน ” (“การแต่งงานเป็นสิ่งจำเป็นในแผนนิรันดร์ของพระองค์,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2006, 52)

  • ลักษณะนิสัยและความรับผิดชอบของชายกับหญิงส่งเสริมกันในครอบครัวอย่างไร

เตือนความจำนักเรียนถึงเจตคติต่างๆ เกี่ยวกับการแต่งงานในข้อความบางตอนที่ท่านอ่านในช่วงเริ่มต้นของบทเรียน เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันความคิดและประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับความสำคัญของการแต่งงานในแผนของพระเจ้า ท่านอาจต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเช่นกัน

1 โครินธ์ 11:17–34

เปาโลสอนวิสุทธิชนชาวโครินธ์ไม่ให้ปฏิบัติต่อศีลระลึกอย่างไม่เหมาะสม

เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาน ประสบการณ์ทางวิญญาณอย่างแท้จริง การต่อจิตวิญญาณใหม่ จุดเด่นของวันสะบาโตของฉัน

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองประสบการณ์ล่าสุดของการรับส่วนศีลระลึกของพวกเขาและให้พิจารณาว่าพวกเขาจะใช้วลีใดบนกระดานเพื่อบรรยายประสบการณ์ของพวกเขาได้หรือไม่ ขอให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา 1 โครินธ์ 11:17–34 ที่จะช่วยพวกเขาทำให้การรับส่วนศีลระลึกเป็นประสบการณ์ที่เสริมสร้างจิตวิญญาณและมีความหมายมากขึ้น

อธิบายว่าในสมัยของเปาโล สมาชิกศาสนจักรถือปฏิบัติการระลึกถึงพระกระยาหารมื้อสุดท้าย พวกเขาจะรับประทานอาหารด้วยกันแล้วจึงรับส่วนศีลระลึก สรุป 1 โครินธ์ 11:17–22 โดยอธิบายว่าเปาโลสังเกตเห็นรายงานที่เขาได้รับว่าเมื่อวิสุทธิชนชาวโครินธ์มารวมกันเพื่อรับส่วนศีลระลึก มีการแตกแยกหรือความขัดแย้งกันท่ามกลางพวกเขา เปาโลต่อว่าวิสุทธิชนที่เปลี่ยนการประชุมนี้เป็นการรับประทานอาหารธรรมดาแทนที่จะเป็นการถือปฏิบัติความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนพิธีศีลระลึก

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 โครินธ์ 11:23–26 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลกระตุ้นสมาชิกศาสนจักรให้ระลึกถึงเกี่ยวกับศีลระลึก ท่านอาจต้องการอธิบายว่าคำ ประกาศ ใน ข้อ 26 แปลว่าแถลง แจ้ง หรือเป็นพยานถึง

ให้ดูภาพ พระกระยาหารมื้อสุดท้าย (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 54; ดู LDS.orgด้วย)

ภาพ
พระกระยาหารมื้อสุดท้าย
  • เปาโลบอกว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ให้ระลึกถึงอะไรเมื่อพวกเขารับส่วนศีลระลึก

  • การระลึกถึงพระวรกายและพระโลหิตของพระผู้ช่วยให้รอดระหว่างศีลระลึกจะช่วยสมาชิกศาสนจักรเหล่านั้นที่มีปัญหาเรื่องการแตกแยกอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 โครินธ์ 11:27–30 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำเตือนที่เปาโลให้แก่วิสุทธิชนชาวโครินธ์เกี่ยวกับศีลระลึก

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 27 และ 29 เปาโลเตือนวิสุทธิชนชาวโครินธ์เกี่ยวกับอะไร

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเรารับส่วนศีลระลึกอย่างไม่มีค่าควร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ คนที่รับส่วนศีลระลึกอย่างไม่มีค่าควรจะนำการกล่าวโทษและความอัปมงคลมาสู่ตัวพวกเขาเอง)

อธิบายว่าเรา “ไม่จำเป็นต้องดีพร้อมเพื่อรับส่วนศีลระลึก แต่ [เรา] ควรมีวิญญาณของความนอบน้อมและการกลับใจอยู่ในใจ [ของเรา] ” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ (2004), 219) หากเรารับส่วนศีลระลึกขณะกำลังทำบาปร้ายแรงหรือด้วยใจที่ไม่กลับใจ ไม่มีความปรารถนาที่จะระลึกถึงและติดตามพระผู้ช่วยให้รอด เรากำลังรับส่วนศีลระลึกอย่างไม่มีค่าควร กระตุ้นให้นักเรียนสวดอ้อนวอนถึงพระบิดาบนสวรรค์และคุยกับอธิการของพวกเขา (ดู 3 นีไฟ 18:26–29) หากพวกเขามีคำถามเกี่ยวกับค่าควรของพวกเขาในการรับส่วนศีลระลึก

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการรับส่วนศีลระลึกอย่างไม่มีค่าควรจะนำความอัปมงคลมาสู่จิตวิญญาณของเรา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 1 โครินธ์ 11:28 เปาโลให้คำแนะนำอะไรแก่สมาชิกศาสนจักร (โดยใช้คำพูดของนักเรียนเอง ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน เราควรตรวจสอบชีวิตของเราเมื่อเรารับส่วนศีลระลึก)

ชี้ให้เห็นว่าจุดประสงค์ของการตรวจสอบตัวเราเองไม่ใช่เพื่อพิจารณาว่าเรามีค่าควรจะรับส่วนศีลระลึกหรือไม่เท่านั้นแต่เป็นการพิจารณาด้วยว่าเราพยายามรักษาพันธสัญญากับพระเจ้าได้ดีแค่ไหน เราจะมุ่งกลับใจและพัฒนาได้อย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ภาพ
ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

“ข้าพเจ้าถามตนเองดังนี้ ‘ข้าพเจ้าให้พระผู้เป็นเจ้าอยู่เหนือสิ่งอื่นทั้งหมดและรักษาพระบัญญัติทุกข้อของพระองค์หรือไม่’ ตามมาด้วยการใคร่ครวญและตั้งปณิธาน การทำพันธสัญญากับพระเจ้าว่าจะรักษาพระบัญญัติของพระองค์เสมอเป็นข้อผูกมัดที่จริงจัง และการต่อพันธสัญญานั้นโดยการรับส่วนศีลระลึกถือว่าจริงจังเท่าเทียมกัน ช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ของความคิดขณะส่งผ่านศีลระลึกมีความสำคัญยิ่ง นั่นเป็นช่วงเวลาของการสำรวจตนเอง การทบทวนความคิด การวินิจฉัยตนเอง—เวลาให้ใคร่ครวญและตั้งปณิธาน” (Thoughts on the Sacrament, May 1977, 25)

เพื่อช่วยให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาอาจประยุกต์ใช้ความจริงที่พวกเขาระบุใน 1 โครินธ์ 11:28 เชื้อเชิญให้พวกเขานึกถึงคำถามที่พวกเขาจะพิจารณาขณะที่พวกเขาเตรียมรับส่วนศีลระลึก ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจถามว่า “ฉันจะเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ให้ดีขึ้นได้อย่างไร” ขอให้นักเรียนแบ่งปันคำถามอื่นที่พวกเขาอาจถามตนเอง ท่านอาจต้องการแนะนำคำถามบางข้อของท่านเองด้วย เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำถามที่พวกเขาสามารถถามตนเองระหว่างศีลระลึกเมื่อพวกเขาตรวจสอบค่าควรของตนเองลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

เป็นพยานว่าเมื่อนักเรียนตรวจสอบค่าควรของพวกเขาก่อนและระหว่างการรับส่วนศีลระลึก พระเจ้าจะทรงช่วยให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาจะทำให้พันธสัญญาของตนเองเกิดสัมฤทธิผลและมีค่าควรแก่การได้รับพรที่พระองค์ทรงประสงค์จะประทานแก่พวกเขาได้อย่างไร พรเหล่านี้รวมถึงการที่พวกเขาจะสะอาดจากบาปและได้รับอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์มากขึ้นในชีวิต เชื้อเชิญให้นักเรียนตั้งเป้าหมายว่าพวกเขาจะเตรียมได้ดีขึ้นสำหรับการรับส่วนศีลระลึกในโอกาสหน้าได้อย่างไร

สรุป 1 โครินธ์ 11:33–34 โดยอธิบายว่าเปาโลให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่วิสุทธิชนชาวโครินธ์เกี่ยวกับอาหารที่พวกเขารับประทานร่วมกับการปฏิบัติศีลระลึก

สรุปบทเรียนโดยเป็นพยานถึงความจริงที่ระบุใน 1 โครินธ์ 11

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

1 โครินธ์ 11:11 “ในองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ชายก็ขาดผู้หญิงไม่ได้ และผู้หญิงก็ขาดผู้ชายไม่ได้”

เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองชี้ให้เห็นว่าผู้ชายและผู้หญิงมีบทบาทที่เท่าเทียมกันแต่แตกต่างกันดังนี้

“ในแผนการประสาทฐานะปุโรหิตอันสำคัญยิ่งของพระบิดาบนสวรรค์ บุรุษและสตรีมีบทบาทต่างกันแต่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน แต่พวกเขาไม่ใช่ฐานะปุโรหิต ชายและหญิงมีบทบาทสำคัญเท่าเทียมกันแต่แตกต่างกัน สตรีไม่อาจตั้งครรภ์ได้โดยปราศจากผู้ชายฉันใด ชายก็ไม่อาจใช้อำนาจฐานะปุโรหิตอย่างเต็มที่เพื่อสถาปนาครอบครัวนิรันดร์โดยปราศจากผู้หญิงฉันนั้น … ในมุมมองนิรันดร์ ทั้งอำนาจแห่งการให้กำเนิดและอำนาจฐานะปุโรหิตมีร่วมกันโดยสามีและภรรยา” (“นี่คืองานของเราและรัศมีภาพของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 19)

ภาพ
ครอบครัว

“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ได้บอกความรับผิดชอบที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่สามีและภรรยา ดังนี้

“โดยแผนของพระผู้เป็นเจ้า บิดาเป็นผู้นำครอบครัวด้วยความรัก ด้วยความชอบธรรม และรับผิดชอบที่จะจัดหาสิ่งจำเป็นต่างๆ ของชีวิต และคุ้มครองครอบครัว มารดารับผิดชอบเบื้องต้นในการเลี้ยงดูลูกๆ ในความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ บิดาและมารดาจำต้องช่วยเหลือกันในฐานะเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กัน” (“ครอบครัว:ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 129)

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์สอนบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับความรับผิดชอบร่วมกันของชายและหญิงในการปกครองครอบครัว

“ชายผู้ดำรงฐานะปุโรหิตยอมรับว่าภรรยาเป็นหุ้นส่วนในการนำบ้านและครอบครัวโดยรู้ทุกเรื่องและมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง จำเป็นจะต้องมีเจ้าหน้าที่ควบคุมในศาสนจักรและในบ้าน (ดู คพ. 107:21) ความรับผิดชอบในการปกครองบ้านตกอยู่กับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตตามที่พระเจ้าทรงกำหนด (ดู โมเสส 4:22) พระเจ้าทรงประสงค์ให้ภรรยาเป็นคู่อุปถัมภ์ของชาย (อุปถัมภ์ หมายถึงเท่าเทียมกัน)—นั่นคือ คู่ที่เท่าเทียมกันและจำเป็นในการเป็นหุ้นส่วนโดยสมบูรณ์ การดูแลด้วยความชอบธรรมจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างสามีกับภรรยา ท่านปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันด้วยความรู้และมีส่วนร่วมในครอบครัวทุกเรื่อง การที่บุรุษปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระหรือไม่คำนึงถึงความรู้สึกและคำปรึกษาของภรรยาในการปกครองครอบครัว เขากำลังใช้อำนาจปกครองอย่างไม่ชอบธรรม” (“Being a Righteous Husband and Father,” Ensign, Nov. 1994, 50–51)

1 โครินธ์ 11:27–29 การรับส่วนศีลระลึกอย่างไม่มีค่าควรหมายความว่าอย่างไร

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์สอนว่า “เมื่อเราไม่ได้ดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติ เมื่อเราอยู่ในการล่วงละเมิด เมื่อเรามีความโกรธ ความเกลียดและความขมขื่น เราควรพิจารณาอย่างจริงจังว่าเราควรรับส่วนศีลระลึกหรือไม่” (The Teachings of Spencer W. Kimball, ed. Edward L. Kimball [1982], 225)

เอ็ลเดอร์จอห์น เฮช. โกรเบิร์กแห่งสาวกเจ็ดสิบอธิบายว่าเจตคติของเราเป็นองค์ประกอบสำคัญของความมีค่าควรของเราในการรับส่วนศีลระลึก

“ถ้าเราปรารถนาจะปรับปรุง (ซึ่งคือการกลับใจ) และไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของฐานะปุโรหิต เมื่อนั้นในความเห็นของข้าพเจ้า เราย่อมมีค่าควร อย่างไรก็ดี ถ้าเราไม่ปรารถนาจะปรับปรุง ถ้าเราไม่ประสงค์จะทำตามการนำทางของพระวิญญาณ เราต้องถามว่า เรามีค่าควรรับส่วนหรือไม่ หรือเรากำลังเย้ยหยันจุดประสงค์ของศีลระลึกซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวเร่งการกลับใจและการปรับปรุงตนเอง ถ้าเราระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดและทุกสิ่งที่พระองค์ทรงทำและจะทรงทำให้เรา เราจะปรับปรุงการกระทำของเราและจะเข้าใกล้พระองค์มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เรายังอยู่บนถนนสู่ชีวิตนิรันดร์

“อย่างไรก็ดี ถ้าเราไม่ยอมกลับใจและปรับปรุง ถ้าเราไม่ระลึกถึงพระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เท่ากับเราได้หยุดความก้าวหน้าของเรา และนั่นเป็นความอัปมงคลต่อจิตวิญญาณของเรา” (“The Beauty and Importance of the Sacrament,” Ensign, May 1989, 38)

1 โครินธ์ 11:27–32 ศีลระลึกไม่ควรปฏิบัติเล่นๆ

ศีลระลึกเป็นศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ควรปฏิบัติเล่นๆ เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “ศาสนพิธีศีลระลึกทำให้การประชุมศีลระลึกเป็นการประชุมศักดิ์สิทธิ์ที่สุดและสำคัญที่สุดในศาสนจักร” (“การประชุมศีลระลึกและพิธีศีลระลึก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 21)

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองประกาศว่าศีลระลึก “เป็นสิ่งสำคัญของการถือปฏิบัติวันสะบาโตของเรา” (“Worshiping at Sacrament Meeting,” Ensign, Aug. 2004, 26)

เอ็ลเดอร์เมลวิน เจ. บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าการรับส่วนศีลระลึกอย่างสม่ำเสมอจะนำเอาความปลอดภัยทางวิญญาณมาสู่เรา

“เราต้องการให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทุกคนมายังโต๊ะศีลระลึกเพราะนั่นเป็นสถานที่สำรวจตนเอง ตรวจสอบตนเอง ที่ซึ่งเราเรียนรู้ว่าต้องแก้ไขวิถีของเราและทำชีวิตเราให้ถูกต้อง โดยดำรงตนสอดคล้องกับคำสอนของศาสนจักรและปรองดองกับพี่น้องชายหญิงของเรา นี่เป็นสถานที่ซึ่งเราจะเป็นผู้พิพากษาตัวเราเอง …

“… สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยกับชายหญิงทุกคนคือการมาอยู่ที่โต๊ะศีลระลึกทุกวันสะบาโต เราจะไปได้ไม่ไกลมากในหนึ่งสัปดาห์—ไม่ไกลเกินกว่าที่เราจะไม่สามารถแก้ไขความผิดที่เราอาจทำไปโดยกระบวนการสำรวจตัวเอง … ถนนสู่โต๊ะศีลระลึกคือหนทางแห่งความปลอดภัยสำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย” (ไบร์อันท์ เอส. ฮิงค์ลีย์, Sermons and Missionary Services of Melvin Joseph Ballard [1949], 150–151)