คลังค้นคว้า
บทที่ 58: ลูกา 23


บทที่ 58

ลูกา 23

คำนำ

พระผู้ช่วยให้รอดถูกสอบสวนต่อหน้าทั้งปีลาตเจ้าเมืองและเฮโรด อันทีพา ชายทั้งสองคนนี้ไม่เห็นว่าพระผู้ช่วยให้รอดมีความผิดในสิ่งที่ชาวยิวกล่าวหาพระองค์ แต่อย่างไรก็ตามปีลาตยอมให้พระองค์ถูกตรึงกางเขน พระเยซูประทานอภัยแก่ทหารโรมันที่ตรึงพระองค์บนกางเขนและตรัสกับผู้ร้ายคนหนึ่งที่กำลังถูกตรึงกางเขนเช่นกัน หลังจากพระเยซูสิ้นพระชนม์ โจเซฟแห่งอาริมาเธียนำพระศพของพระองค์ไปวางไว้ในอุโมงค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ลูกา 23:1–25

พระผู้ช่วยให้รอดถูกสอบสวนต่อหน้าปีลาตและเฮโรด

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนคำถามต่อไปนี้บน กระดาน

ท่านรู้สึกว่าถูกข่มเหงจากการกระทำและคำพูดของคนอื่นเมื่อใด

ท่านตอบสนองในสถานการณ์นั้นอย่างไร

เริ่มชั้นเรียนโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามบนกระดาน

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงขณะพวกเขาศึกษา ลูกา 23 ที่จะช่วยพวกเขารู้วิธีตอบสนองเมื่อพวกเขาถูกคนอื่นข่มเหง

เตือนนักเรียนว่าหลังจากพระเยซูทรงทนทุกข์ในเกทเสมนี หัวหน้าปุโรหิตจับกุมพระองค์และตัดสินโทษให้พระองค์ตาย อธิบายว่าจากเวลานั้นจนถึงการสิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงมีปฏิสัมพันธ์กับคนต่อไปนี้ ปีลาตเจ้าเมือง เฮโรด อันทีพา ผู้หญิงที่ซื่อสัตย์กลุ่มหนึ่ง ทหารโรมัน และผู้ร้ายสองคนที่กำลังถูกตรึงกางเขนขนาบข้างพระองค์ เจ้าเมืองปีลาตเป็นผู้ปกครองโรมันในเขตยูเดีย ซึ่งรวมถึงเมืองหลวงของเยรูซาเล็ม เฮโรด อันทีพา (คนที่สั่งประหารยอห์น ผู้ถวายบัพติศมา) ปกครองเขตแดนของแคว้นกาลิลีและเพอเรียภายใต้อำนาจของโรมัน (ดู ลูกา 3:1)

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่และแบ่งให้แต่ละคู่อ่าน ลูกา 23:1–11 ด้วยกัน โดยมองหาความแตกต่างระหว่างพระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดกับปีลาตเจ้าเมืองและพระดำรัสตอบของพระองค์กับเฮโรด อันทีพา เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจพระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดกับปีลาต อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธใน มาระโก 15:2 อ่านว่า “และพระองค์ตรัสตอบกับเขา, เราเป็น, แม้ดังที่ท่านพูด”

เชื้อเชิญให้นักเรียนสนทนาคำตอบของคำถามต่อไปนี้กับคู่ของพวกเขา

  • พระดำรัสตอบของพระเยซูกับปีลาตต่างจากพระดำรัสตอบของพระองค์กับเฮโรดอย่างไร

  • เหตุใดปีลาตจึงประหลาดใจกับพระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดกับเขา

  • เหตุใดเฮโรดจึงผิดหวังกับการนิ่งเงียบของพระองค์

สรุป ลูกา 23:12–25 โดยอธิบายว่าทั้งปีลาตและเฮโรดไม่พบความผิดกับพระเยซู ดังนั้นปีลาตบอกประชาชนว่าเขาจะลงโทษพระเยซูและปล่อยพระองค์ ประชาชนร้องให้ปีลาตปล่อยบารับบัสแทนและเรียกร้องให้ตรึงกางเขนพระเยซู ปีลาตปล่อยบารับบัสและยอมให้พระเยซูถูกตรึงกางเขน (หมายเหตุ: เรื่องราวของพระเยซูต่อหน้าปีลาตจะสอนรายละเอียดมากขึ้นในบทเรียนของ ยอห์น 18–19)

ลูกา 23:26–56

พระเยซูทรงถูกตรึงกางเขนระหว่างผู้ร้ายสองคน

สรุป ลูกา 23:26–31 โดยอธิบายว่าผู้หญิงที่ซื่อสัตย์กลุ่มใหญ่ที่อยู่กับพระองค์ตั้งแต่การปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ในแคว้นกาลิลีร้องไห้คร่ำครวญขณะที่ตามพระเยซูเมื่อพระองค์ถูกนำไปยังสถานที่ตรึงกางเขน พระเยซูทรงบอกพวกเขาไม่ให้ร้องไห้กับพระองค์แต่ให้ร้องไห้กับความพินาศที่จะมาถึงเยรูซาเล็มเนื่องจากชาวยิวได้ปฏิเสธกษัตริย์ของพวกเขา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 23:32–34 อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธ ในลูกา 23:34 อ่านว่า “พระเยซูตรัสว่า, พระบิดาเจ้าข้า, ขอทรงยกโทษพวกเขา; เพราะพวกเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร. (หมายถึงทหารที่ตรึงพระองค์บนกางเขน,) แล้วพวกเขาก็เอาฉลองพระองค์มาจับฉลากแบ่งกัน” เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรขณะที่พระองค์ทรงถูกตอกตะปูตรึงบนกางเขน

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรขณะที่พระองค์ถูกตอกตะปูตรึงบนกางเขน (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายพระคำของพระผู้ช่วยให้รอดใน ข้อ 34)

  • เหตุใดคำสวดอ้อนวอนของพระผู้ช่วยให้รอดในเวลานี้จึงล้ำเลิศ

  • เราเรียนรู้หลักธรรมใดจากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับวิธีที่เราควรตอบสนองเมื่อคนอื่นข่มเหงเรา (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้ เราสามารถทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์โดยเลือกที่จะให้อภัยผู้ที่ข่มเหงเรา)

  • การให้อภัยหมายความว่าอย่างไร

ท่านอาจต้องการอธิบายว่าการให้อภัยผู้อื่นไม่ได้หมายความว่าคนที่ทำบาปกับเราไม่ควรรับผิดชอบต่อการกระทำของเขา ทั้งไม่ได้หมายความว่าเราควรปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่คนอื่นจะข่มเหงเราต่อไปได้ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น การให้อภัยหมายความว่าต้องปฏิบัติด้วยความรักกับคนที่ข่มเหงเราและไม่เก็บความไม่พอใจหรือความโกรธต่อพวกเขา (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ให้อภัย,” scriptures.lds.org)

ขอให้นักเรียนพิจารณาในใจว่ามีใครที่พวกเขาจะต้องให้อภัยบาปหรือไม่ ให้ยอมรับว่าบางครั้งเป็นการยากที่จะให้อภัยคนอื่น เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่าพวกเขาจะทำอะไรได้หากพวกเขามีความยุ่งยากในการให้อภัยผู้อื่น

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“ข้าพเจ้าวิงวอนท่านทูลขอความเข้มแข็งจากพระเจ้าในการให้อภัย …สิ่งนั้นอาจไม่ง่าย และอาจไม่เกิดขึ้นโดยเร็ว แต่หากท่านจะแสวงหาด้วยความจริงใจและปลูกฝังสิ่งนี้ สิ่งนี้ จะ เกิดขึ้น” (“Of You It Is Required to Forgive,” Ensign, June 1991, 5)

  • ประธานฮิงค์ลีย์แนะนำให้เราทำอะไรหากเรามีความยุ่งยากในการให้อภัยผู้อื่น

  • ท่านคิดว่าการสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจะช่วยท่านให้อภัยได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาให้อภัยบางคน เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขากับชั้นเรียน (ขอให้พวกเขาไม่เอ่ยชื่อใครในชั้นเรียน และเตือนพวกเขาว่าไม่ให้แบ่งปันอะไรที่ส่วนตัวมากเกินไป)

กระตุ้นนักเรียนให้ทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์และให้อภัยคนที่ข่มเหงพวกเขา เชื้อเชิญให้พวกเขาสวดอ้อนวอนขอความเข้มแข็งและความสามารถที่จะทำเช่นนั้น

สรุป ลูกา 23:35–38 โดยอธิบายว่าผู้นำชาวยิวและทหารโรมันเยาะเย้ยพระผู้ช่วยให้รอดขณะที่พระองค์ถูกตรึงบนกางเขน

ภาพ
การตรึงกางเขน

แสดงภาพ การตรึงกางเขน (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 57; ดู LDS.org ด้วย) เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 23:39–43 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าผู้ร้ายสองคนที่ถูกตรึงกางเขนขนาบข้างพระผู้ช่วยให้รอดปฎิบัติิกับพระองค์อย่างไร

  • ผู้ร้ายสองคนปฏิบัติกับพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร

  • ผู้ร้ายคนนั้นหมายความว่าอย่างไรเมื่อเขาพูดว่า “เราได้รับผลสมกับการกระทำ” (ข้อ 41)

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบผู้ร้ายคนนี้ว่าอย่างไรเมื่อเขาทูลขอพระผู้ช่วยให้รอดให้ระลึกถึงเขาในแผ่นดินของพระเจ้า

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า พระผู้ช่วยให้รอดทรงหมายความว่าอะไรเมื่อพระองค์ตรัสบอกผู้ร้ายคนนั้นว่าเขาจะอยู่กับพระองค์ในเมืองบรมสุขเกษม เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้

“ในพระคัมภีร์ใช้คำว่า เมืองบรมสุขเกษม แตกต่างกัน หนึ่ง หมายถึงสถานที่ซึ่งมีความสงบและความสุขในโลกแห่งวิญญาณหลังจากสิ้นชีวิตแล้วสงวนไว้สำหรับผู้ที่รับบัพติศมาและยังคงชื่อสัตย์ (ดู แอลมา 40:12; โมโรไน 10:34) …

“สอง คำว่า เมืองบรมสุขเกษม ใช้ในเรื่องราวของลูกาเกี่ยวกับการตรึงกางเขนของพระผู้ช่วยให้รอด … ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายว่า … อันที่จริงพระเจ้าตรัสว่า ผู้ร้ายจะอยู่กับพระองค์ในโลกแห่งวิญญาณ” (ดู แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 211; ดู History of the Church, 5:424–25 ด้วย)

  • ตามที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าว ผู้ร้ายจะไปที่ไหนหลังจากความตาย (โลกวิญญาณ [ดู แอลมา 40:11–14])

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงใดจากพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดที่ว่าผู้ร้ายจะอยู่กับพระองค์ในเมืองบรมสุขเกษม (ลูกา 23:43) (นักเรียนอาจใช้คำแตกต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ วิญญาณของทุกคนจะเข้าไปสู่โลกวิญญาณหลังจากความตายของพวกเขา)

อธิบายว่าพระคัมภีร์ข้ออื่นๆ สามารถช่วยให้เราเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ร้ายและคนอื่นๆ เช่นเดียวกับเขาในโลกแห่งวิญญาณ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียน หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:28–32, 58–59 เป็น ข้ออ้างโยง ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ข้าง ลูกา 23:43

อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 138 มีการเปิดเผยที่ประทานแก่ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ ซึ่งพระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับโลกวิญญาณ ความจริงเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงหมายความว่าอย่างไรเมื่อพระองค์ตรัสว่า “วันนี้ท่านจะอยู่กับเราในเมืองบรมสุขเกษม” (ลูกา 23:43)

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:11, 16, 18, 28–32 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเมื่อพระองค์เสด็จไปที่โลกวิญญาณ

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเมื่อพระองค์เสด็จไปที่โลกวิญญาณ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 29 พระผู้ช่วยให้รอดไม่ได้ไปที่ไหนขณะที่พระองค์ประทับอยู่ในโลกวิญญาณ

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงกำหนดให้ผู้ส่งสารที่ชอบธรรมของพระองค์ทำอะไร

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรในข้อเหล่านี้ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของพระเยซูคริสต์ ผู้ส่งสารที่ชอบธรรมสอนพระกิตติคุณให้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำวิญญาณ)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยบราเดอร์เอเลน เอ. เพ็ทชั่น อดีตสาวกเจ็ดสิบภาค ขอให้นักเรียนฟังสิ่งที่ข่าวสารของพระผู้ช่วยให้รอดอาจส่งผลต่ออาชญากรบนกางเขน

ภาพ
เอเลน เอ. เพ็ทชั่น

“พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบและประทานความหวังแก่เขาด้วยความยินดี อาชญกรคนนั้นคงจะไม่เข้าใจว่าเขาจะได้รับการสั่งสอนพระกิตติคุณในโลกวิญญาณหรือว่าเขาจะได้รับโอกาสที่จะดำเนินชีวิตตามพระผู้เป็นเจ้าในวิญญาณ (ดู 1 เปโตร 4:6; คพ. 138:18–34) แท้จริงแล้ว พระผู้ช่วยให้รอดทรงห่วงใยผู้ร้ายที่ถูกตรึงอยู่ข้างพระองค์ แน่นอนว่าพระองค์ทรงห่วงใยคนที่รักพระองค์และพยายามรักษาพระบัญญัติของพระองค์เป็นอย่างมาก!” (“Words of Jesus: On the Cross,” Ensign, June 2003, 34)

  • ถ้อยคำใน คพ. 138:29–32 ให้ความหวังอะไรเราเกี่ยวกับคนเหล่านั้นที่ตายโดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับพระกิตติคุณ

อธิบายว่าแม้จะมีการสั่งสอนพระกิตติคุณให้แก่ผู้ร้ายคนนี้ แต่เขาจะไม่รอดในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าโดยอัตโนมัติ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:58–59 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าผู้ร้ายและคนอื่นๆ ในเรือนจำวิญญาณจะต้องทำอะไรเพื่อได้รับการไถ่

  • ผู้ร้ายหรือวิญญาณอื่นๆ ในเรือนจำวิญญาณจะต้องทำอะไรเพื่อได้รับการไถ่

  • จะเกิดอะไรขึ้นกับวิญญาณเหล่านั้นที่กลับใจและยอมรับศาสนพิธีพระวิหารที่ทำแทนพวกเขา (วิญญาณ “คนตายผู้ที่กลับใจจะได้รับการไถ่, โดยการเชื่อฟังศาสนพิธีแห่ง [พระวิหาร] ของพระผู้เป็นเจ้า,” ได้รับการชำระให้สะอาดผ่านการชดใช้และ “ได้รับรางวัล [ของพวกเขา] ” [คพ. 138:58–59])

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยวิญญาณเหล่านั้น ที่เป็นเหมือนผู้ร้าย ที่ต้องได้รับการไถ่ (เราทำงานประวัติครอบครัวให้สมบูรณ์และมีส่วนร่วมในศาสนพิธีพระวิหารแทนคนตาย)

สรุป ลูกา 23:44–56 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดสิ้นพระชนม์บนกางเขนหลังจากพระองค์ตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา ข้าพระองค์ขอฝากจิตวิญญาณของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ข้อ 46) จากนั้นโจเซฟแห่งอาริมาเธียพันพระศพของพระผู้ช่วยให้รอดด้วยผ้าป่านและวางพระองค์ไว้ในอุโมงค์

สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานถึงความจริงที่ท่านสนทนาในบทนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ลูกา 22:34 “พระบิดาเจ้าข้า, ขอทรงยกโทษพวกเขา”

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ แห่งฝ่ายประธานสูงสุดบอกเหตุผลหนึ่งที่เราควรให้อภัยคนที่ทำให้เราขุ่นเคืองด้วยว่า

“เราต้องให้อภัยและไม่เคียดแค้นคนที่ทำให้เราขุ่นเคือง พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างจากกางเขน ‘พระบิดาเจ้าข้า ขอทรงยกโทษพวกเขาเพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร’ (ลูกา 23:34) เราไม่รู้ใจของคนที่ทำให้เราขุ่นเคือง” (“That We May Be One,” Ensign, May 1998, 68)

ขณะรับใช้เป็นสมาชิกฝ่ายประธานโควรัมสาวกเจ็ดสิบ เอ็ลเดอร์ เอวิด อี. ซอเรนเซ็นสอนว่าเมื่อเราให้อภัยผู้อื่น เราปล่อยวางอดีตและก้าวสู่อนาคตด้วยศรัทธาและความรัก

“เมื่อมีใครบางคนหรือคนที่เราห่วงใยทำร้ายจิตใจ ดูเหมือนความเจ็บปวดจะท่วมท้น อาจจะรู้สึกประหนึ่งว่าความเจ็บปวดหรือความอยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในโลก และเราไม่มีทางเลือกใดนอกจากจะหาทางแก้แค้น แต่พระคริสต์เจ้าชายแห่งสันติ สอนวิธีที่ดีกว่านั้นให้เรา ยากนักที่จะให้อภัยคนที่ทำร้ายเรา แต่เมื่อเราให้อภัย เราย่อมเปิดรับอนาคตที่ดีกว่า ความผิดของผู้อื่นจะไม่ควบคุมวิถีของเราอีกต่อไป เมื่อเราให้อภัย เราเลือกได้อย่างเสรีว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร การให้อภัยหมายความว่าปัญหาในอดีตไม่ได้กำหนดจุดหมายของเราอีกต่อไปและเราสามารถจดจ่ออยู่กับอนาคตได้โดยมีความรักของพระผู้เป็นเจ้าในใจเรา” (“การให้อภัยเปลี่ยนความขมขื่นเป็นความรัก,” เลียโฮนา,พ.ค. 2003, 15)

ลูกา 23:7–12 “พระองค์ไม่ทรงตอบอะไรเลย”

เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนเกี่ยวกับการตอบโต้กันระหว่างพระผู้ช่วยให้รอดและเฮโรด ดังนี้

“เฮโรดเริ่มสอบถามผู้ต้องหา แต่พระเยซูไม่ทรงตอบ หัวหน้าปุโรหิตและพวกธรรมาจารย์แจ้งข้อกล่าวหาของพวกเขาอย่างร้อนรน แต่ไม่มีพระดำรัสใดออกมาจากพระเจ้า … เท่าที่เราทราบ เฮโรด … เป็นคนเดียวที่เห็นพระคริสต์ตรงหน้าและพูดกับพระองค์ แต่ไม่เคยได้ยินสุรเสียงของพระองค์ …สำหรับเฮโรดสุนัขป่า พระองค์ทรงนิ่งด้วยขัตติยมานะ เมื่อถูกสบประมาทเช่นนั้น เฮโรดหันเหจากคำถามที่ดูแคลนไปเป็นการเย้ยหยันที่แฝงไว้ด้วยความอาฆาตมาดร้าย เขาและทหารติดอาวุธของเขาเหยียดหยันพระคริสต์ผู้ทนทุกข์ ‘ดูหมิ่นและเยาะเย้ยพระองค์’ และเพื่อล้อเลียนพระองค์พวกเขา ‘เอาเสื้อผ้าที่สวยงามมาสวมให้พระองค์แล้วก็ส่งกลับไปหาปีลาตอีก’ [ลูกา 23:11] เฮโรดไม่พบหลักฐานอะไรในพระเยซูเพื่อยืนยันข้อกล่าวหา” (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 636)

ลูกา 23:7–34 พระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดที่ให้แก่คนที่ข่มเหงพระองค์

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแบ่งปันความคิดต่อไปนี้ว่าเราจะทำตามแบบอย่างของพระคริสต์เมื่อคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์หรือข่มเหงเราอย่างไร

“เมื่อเราโต้ตอบผู้กล่าวร้ายเราดังเช่นพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ เราไม่เพียงเป็นเหมือนพระคริสต์เท่านั้น แต่เราเชื้อเชิญให้ผู้อื่นรู้สึกถึงความรักของพระองค์และติดตามพระองค์เช่นกัน

“การโต้ตอบในวีถีแห่งความเป็นเหมือนพระคริสต์ไม่สามารถเขียนบทพูดหรือมีสูตรตายตัว พระผู้ช่วยให้รอดทรงโต้ตอบในวิธีที่แตกต่างกันในแต่ละสถานการณ์ เมื่อพระองค์ทรงเผชิญหน้ากับกษัตริย์เฮโรดผู้ชั่วร้าย พระองค์ทรงนิ่งเงียบ เมื่อพระองค์ทรงยืนอยู่ต่อหน้าปีลาตประองค์ทรงแสดงประจักษ์พยานที่เรียบง่ายและทรงพลังถึงความเป็นพระเจ้าและจุดประสงค์ของพระองค์ การเผชิญหน้ากับนักแลกเงินตราผู้กำลังทำให้พระวิหารแปดเปื้อนอยู่นั้น พระองค์ทรงใช้ความรับผิดชอบจากเบื้องบนพิทักษ์รักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อถูกยกขึ้นบนกางเขนพระองค์ทรงเอื้อนเอ่ยพระวจนะโต้ตอบแบบชาวคริสต์อันหาที่เปรียบมิได้ ‘พระบิดาเจ้าข้า ขอทรงยกโทษพวกเขาเพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร’ (ลูกา 23:34)

“บางคนเข้าใจผิดคิดว่าการตอบสนองเช่นการนิ่งเงียบ ความสุภาพอ่อนน้อม ให้อภัย และแสดงประจักษ์พยานเป็นความเฉยเฉื่อยหรืออ่อนแอ แต่การ ‘รักศัตรู [ของเรา] อวยพรผู้ที่สาปแช่ง [เรา] ทำดีต่อผู้ที่เกลียดชัง [เรา] และสวดอ้อนวอนเพื่อพวกเขาผู้ที่ใช้ [เรา] อย่างมุ่งร้าย และข่มเหง [เรา]’ (มัทธิว 5:44) ต้องใช้ศรัทธา ความเข้มแข็ง และเหนือสิ่งอื่นใด ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์” (ดู “ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์: คุณค่าแห่งความเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 89)

ลูกา 23:31 ไม้สดและไม้แห้ง

“‘ไม้สด’ ที่บรรยายใน ลูกา 23:31 หมายถึงช่วงเวลาของการปฏิบัติศาสนกิจขณะพระเยซูคริสต์ทรงเป็นมรรตัย พระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดบอกเป็นนัยว่าหากผู้ข่มเหงชาวยิวจะกระทำสิ่งที่ชั่วร้าย (ดู ลูกา 23:28–30) ในเวลาที่พระเยซูประทับอยู่ท่ามกลางพวกเขา พวกเขาจะทำสิ่งเลวร้ายต่อชาวยิวมากกว่านี้เพียงใดหลังจากช่วงเวลาที่พระองค์ทรงจากไป—ซึ่งหมายถึง ‘ไม้แห้ง’ งานแปลของโจเซฟ สมิธเพิ่มพระโยคเข้าไปในข้อนี้ ซึ่งบรรยายความพินาศที่จะเกิดขึ้นหลังการสิ้นพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 188)

ลูกา 23:46 “ข้าแต่พระบิดา ข้าพระองค์ขอฝากจิตวิญญาณของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์”

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายถึงความสำคัญของพระดำรัสสุดท้ายของพระผู้ช่วยให้รอดบนกางเขน ดังนี้

“เมื่อทรงชำระหนี้ครบถ้วนทุกสิ่ง เมื่อความตั้งพระทัยจะซื่อสัตย์ของพระคริสต์ประจักษ์ชัดเท่าๆ กับที่ไม่สามารถทำลายได้ และด้วยพระเมตตา ในที่สุดจึง ‘สำเร็จแล้ว’ [ดู ยอห์น 19:30] ทั้งที่เป็นไปได้ยากและไม่มีใครช่วยเหลือหรือสนับสนุนพระองค์ แต่พระเยซูแห่งนาซาเร็ธ พระบุตรผู้ทรงพระชนม์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ทรงคืนชีพทางกายที่ความตายพรากไป และทำให้เกิดการไถ่อันเปี่ยมปีติทางวิญญาณจากบาป ความมืดมนอนธกาล และความสิ้นหวัง ด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรง รู้ พระองค์ตรัสด้วยชัยชนะได้ว่า ‘ข้าแต่พระบิดา ข้าพระองค์ขอฝากจิตวิญญาณของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์’ [ลูกา 23:46]” (“ไม่มีใครอยู่กับพระองค์,”เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 107)