คลังค้นคว้า
บทนำสาส์นของยากอบ


บทนำสาส์นของยากอบ

เหตุใดจึงศึกษาหนังสือนี้

สาส์นของยากอบเป็นที่รู้จักดีในบรรดาสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์สำคัญใน ยากอบ 1:5 ซึ่งนำให้เด็กหนุ่มโจเซฟ สมิธแสวงหาความจริงจากพระผู้เป็นเจ้า ตลอดทั้งสาส์นของเขา ยากอบเน้นว่าเราต้องเป็น ‘ผู้ประพฤติตามพระวจนะ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้น’ (ยากอบ 1:22) การศึกษาหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจความสำคัญของการแสดงศรัทธาของพวกเขาให้เห็นประจักษ์ผ่าน “งาน” หรือการกระทำ (ดู ยากอบ 2:14–26) และกระตุ้นให้พวกเขาแสวงหา “มงกุฎแห่งชีวิตที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับคนทั้งหลายที่รักพระองค์” (ยากอบ 1:12)

ใครเขียนหนังสือนี้

สาส์นฉบับนี้บอกว่าเขียนโดย “ยากอบ ผู้รับใช้ของพระเจ้าและของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ยากอบ 1:1)

ชาวคริสต์เชื่อว่ายากอบ เช่นเดียวกับยูดา เป็นบุตรคนหนึ่งในบรรดาบุตรของโจเซฟกับมารีย์ จึงเป็นน้องชายต่างบิดาของพระเยซูคริสต์ (ดู มัทธิว 13:55; มาระโก 6:3; กาลาเทีย 1:19) ข้อเท็จจริงที่ว่ายากอบได้รับการกล่าวถึงก่อนในรายชื่อน้องชายของพระเยซูใน มัทธิว 13:55 อาจชี้ให้เห็นว่าเขาเป็นน้องชายคนโตที่สุดในบรรดาน้องชายต่างบิดา เช่นเดียวกันกับน้องชายต่างบิดาคนอื่นๆ ของพระเจ้า เดิมทียากอบไม่ได้เป็นสานุศิษย์ของพระเยซู (ดู ยอห์น 7:3–5) อย่างไรก็ตาม หลังจากพระเยซูฟื้นคืนพระชนม์ ยากอบเป็นคนหนึ่งที่พระคริสต์ทรงปรากฏพระองค์ในฐานะพระสัตภาวะผู้ฟื้นคืนพระชนม์ (ดู 1 โครินธ์ 15:7)

ตามที่นักเขียนชาวคริสต์ในยุคต้นกล่าวไว้ ภายหลังยากอบกลายเป็นอัครสาวกและเขาเป็นอธิการคนแรกของศาสนจักรในเยรูซาเล็ม (ดู กิจการของอัครทูต 12:17; 21:18; กาลาเทีย 1:18–19; 2:9) ในฐานะผู้นำในศาสนจักร เขามีบทบาทโดดเด่นในสภาที่จัดตั้งในกรุงเยรูซาเล็ม (กิจการของอัครทูต 15:13) เป็นที่แน่ชัดว่าอิทธิพลของเขาในศาสนจักรแข็งแกร่งขึ้นเพราะเป็นญาติกับพระเยซู กระนั้นยากอบแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนเมื่อเขาแนะนำตัวไม่ใช่ในฐานะ น้องชาย ของพระเยซูแต่เป็น ผู้รับใช้ ของพระเจ้า (ดู ยากอบ 1:1)

ท่านเขียนหนังสือนี้เมื่อใดและที่ไหน

เราไม่ทราบแน่ชัดว่ายากอบเขียนหนังสือนี้เมื่อใด เนื่องจากยากอบอาศัยอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มและดูแลกิจจานุกิจของศาสนจักรที่นั่น เขาน่าจะเขียนสาส์นของเขาจากพื้นที่นั้น

เนื่องจากยากอบไม่ได้กล่าวถึงการประชุมในกรุงเยรูซาเล็มประมาณ ค.ศ. 50 (ดู กิจการของอัครทูต 15) อาจบ่งชี้ว่าจดหมายฉบับนี้เขียนก่อนการประชุมเกิดขึ้น หากจดหมายฉบับนี้เขียนก่อนการประชุมในกรุงเยรูซาเล็มจริงๆ นี่จะเป็นการเขียนสาส์นฉบับแรกในพันธสัญญาใหม่

สาส์นฉบับนี้เขียนถึงใครและเพราะเหตุใด

ยากอบเขียนจดหมายของเขาถึง “ ถึงคนสิบสองเผ่าที่กระจัดกระจายอยู่นั้น” (ยากอบ 1:1) หมายถึงเชื้อสายแห่งอิสราเอลทั้งหมด เขาเชื้อเชิญให้คนเหล่านั้น “รับพระกิตติคุณ … [และ] เข้ามาสู่คอกของพระคริสต์” (Bruce R. McConkie, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 3:243) ยากอบแนะนำสมาชิกศาสนจักรให้ดำเนินชีวิตเพื่อเป็นการแสดงออกถึงศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์

ลักษณะเด่นของหนังสือนี้มีอะไรบ้าง

บางครั้งมีผู้แยกประเภทสาส์นของยากอบว่าเป็นวรรณกรรมแห่งปัญญาที่คล้ายกับหนังสือสุภาษิตของพันธสัญญาเดิม เนื้อความของจดหมายประกอบด้วยคำอธิบายสั้นๆ ของหลักธรรมในการดำเนินชีวิตของชาวคริสต์ นอกจากนั้น มีความคล้ายคลึงกันระหว่างคำเทศนาบนภูเขาของพระผู้ช่วยให้รอดดังที่บันทึกไว้ใน มัทธิว 5–7 และถ้อยคำของยากอบ หัวข้อที่คล้ายกันได้แก่การอดทนต่อการข่มเหง (ดู ยากอบ 1:2–3, 12; มัทธิว 5:10–12); การเป็นคน “ดีพร้อม” หรือเป็นคนที่สมบูรณ์พร้อมทางวิญญาณ (ดู ยากอบ 1:4; 2:22; มัทธิว 5:48); การทูลขอพระผู้เป็นเจ้า (ดู ยากอบ 1:5; มัทธิว 7:7–8); การทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (ดู ยากอบ 1:22; มัทธิว 7:21–25); รักผู้อื่น (ดู ยากอบ 2:8; มัทธิว 5:43–44; 7:12); การรู้จักความดีและความชั่วจากผลของมัน (ดู ยากอบ 3:11–12; มัทธิว 7:15–20); การเป็นผู้สร้างสันติ (ดู ยากอบ 3:18; มัทธิว 5:9); และการไม่สาบาน (ดู ยากอบ 5:12; มัทธิว 5:34–37)

สรุปย่อ

ยากอบ 1–2 ยากอบทักทายผู้อ่านของเขาและแนะนำหัวข้อหลักๆ ในสาส์นของเขา ซึ่งรวมถึงการอดทนต่อการทดลอง การแสวงหาปัญญา และการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความเชื่อที่คนๆ หนึ่งบอกว่าเชื่อ ผู้ฟังพระคำของพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ประพฤติตามพระคำนั้นเช่นกัน ยากอบนิยาม “ธรรมะบริสุทธิ์” ว่าเป็นการดูแลเด็กกำพร้าและหญิงม่าย และพยายามดำเนินชีวิตให้ปราศจากบาป (ดู ยากอบ 1:27) วิสุทธิชนต้องรักเพื่อนบ้านและแสดงศรัทธาของพวกเขาให้เห็นประจักษ์ผ่านงานของพวกเขา

ยากอบ 3–4 ยากอบแสดงให้เห็นถึงลักษณะอันเป็นการบ่อนทำลายของคำพูดที่ไม่ได้ควบคุมโดยเปรียบกับผลของความชอบธรรมจากผู้ที่สร้างสันติ เขาเตือนผู้อ่านของเขาไม่ให้เป็นมิตรกับโลกแต่ให้ต้านทานความชั่วร้ายและเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า

ยากอบ 5 ยากอบเตือนคนมั่งมีที่ชั่วร้าย เขาทิ้งท้ายสาส์นของเขาด้วยคำแนะนำสั้นๆ เกี่ยวกับความรับผิดชอบของวิสุทธิชนต่อสมาชิกคนอื่นๆ ของศาสนจักร เขาแนะนำให้วิสุทธิชนยืนหยัดอดทนจนถึงการเสด็จมาของพระเจ้าและให้ซื่อสัตย์ในการสนทนาทั้งหมดของพวกเขา ยากอบกระตุ้นผู้ป่วยให้เรียกหาผู้นำเพื่อเจิมพวกเขาด้วยน้ำมัน