คลังค้นคว้า
บทที่ 142: ยากอบ 3


บทที่ 142

ยากอบ 3

คำนำ

ยากอบสอนวิสุทธิชนถึงความสำคัญของการควบคุมคำพูดของพวกเขา จากนั้นเขาเปรียบเทียบปัญญาของโลกกับปัญญาที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยากอบ 3:1–12

ยากอบสอนวิสุทธิชนถึงความสำคัญของการควบคุมคำพูดของพวกเขา

นำหลอดยาสีฟันมาที่ชั้นเรียน เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งมาบีบยาสีฟันทั้งหมดออกจากหลอด (หรือขอให้นักเรียนจินตนาการสถานการณ์สมมตินี้) ขอให้นักเรียนอีกคนพยายามใส่ยาสีฟันกลับเข้าไปในหลอด หลังจากนักเรียนคนที่สองมีปัญหาในการทำเช่นนั้น ให้ถามว่า

  • ยาสีฟันในบทเรียนนี้จะเป็นเหมือนคำพูดที่เราพูดออกมาอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาเคยพูดอะไรที่พวกเขาเสียใจทีหลังหรือไม่ เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงขณะพวกเขาศึกษา ยากอบ 3:1–12 ที่จะช่วยให้พวกเขาเลือกคำพูดอย่างฉลาด

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยากอบ 3:2–4 และประโยคแรกของ ยากอบ 3:5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ายากอบบรรยายถึงคนที่ไม่ได้ทำให้ผู้อื่นขุ่นเคืองด้วยคำพูดของเขาว่าอย่างไร อธิบายว่า “เราทำผิดพลาดกันทุกคน” ใน ข้อ 2 หมายความว่าเราทุกคนล้วนทำผิดพลาด และอธิบายว่ายากอบใช้คำว่า ลิ้น เพื่อหมายถึงคำที่เราพูด

  • ยากอบบรรยายถึงคนที่สามารถควบคุมคำพูดของเขาว่าอย่างไร

ภาพ
ภาพลายเส้น ม้าและบังเหียน
ภาพ
ภาพลายเส้น เรือและหางเสือ

ท่านอาจแสดงภาพหรือวาดภาพลายเส้น เหล็กปากม้า และ หางเสือเรือบนกระดาน ท่านอาจจำเป็นต้องอธิบายว่า เหล็กปากม้า (ข้อ 3) เป็นเหล็กชิ้นเล็กใส่ไว้ในปากม้าเชื่อมกับบังเหียน ทำให้คนขี่ม้าบังคับทิศทางม้าได้ ในข้อนี้ คำว่า หางเสือ (ข้อ 4) หมายถึงหางเสือของเรือที่ช่วยให้คนคัดท้ายหรือเลี้ยวเรือ

  • ตามที่ยากอบกล่าว เหล็กปากม้าและหางเสือมีอะไรที่เหมือนกัน (ทั้งสองอย่างมีขนาดเล็ก และช่วยนำทางหรือบังคับสิ่งที่ใหญ่กว่าที่มันติดอยู่)

  • การที่ยากอบเปรียบเทียบวัตถุเหล่านี้กับลิ้น หรือคำพูดที่เราพูดออกมาจะช่วยเราเข้าใจอำนาจของคำพูดเราอย่างไร

  • เราสามารถระบุหลักธรรมอะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราเรียนรู้ที่จะควบคุมคำพูดของเรา (นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ เมื่อเราเรียนรู้ที่จะควบคุมคำพูดของเรา เราจะเรียนรู้ที่จะควบคุมการกระทำที่เหลือของเรา)

  • เหตุใดการควบคุมคำพูดของเราอาจช่วยเราควบคุมการกระทำที่เหลือของเรา

เชื้อเชิญนักเรียนอ่านออกเสียงประโยคสุดท้ายของ ยากอบ 3:5 และ ยากอบ 3:6 ด้วย ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ายากอบเปรียบคำพูดของเรากับอะไรอีก อธิบายว่า ป่าใหญ่ หมายถึงป่า

  • ยากอบเปรียบคำพูดของเรากับอะไรอีก

  • ด้านใดของชีวิตเราที่อาจ “ถูกเผาผลาญโดยไฟ” (ข้อ 6) หรือเสี่ยงอันตรายจากการใช้คำพูดที่ไม่ฉลาดของเรา

อธิบายว่าวลี “วงจรของชีวิต” ใน ข้อ 6 หมายถึงวงจรชีวิตของคนๆ หนึ่ง

  • คำพูดที่เราพูดส่งผลต่อวงจรชีวิตของเราในด้านใดบ้าง

  • การเปลี่ยนแปลงคำพูดที่เราพูดเพียงเล็กน้อยส่งผลต่อวงจรชีวิตของเราในด้านดีอย่างไร ส่งผลต่อชีวิตของผู้อื่นอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ยากอบ 3:7–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ายากอบเปรียบคำพูดของเรากับอะไรอีก

  • ยากอบเปรียบคำพูดของเรากับอะไรอีก (สัตว์ที่ต้องทำให้เชื่อง [ดู ข้อ 7–8] “พิษร้ายถึงตาย” [ข้อ 8] บ่อน้ำพุที่ “มีทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มพุ่งออกมา” “จากช่องเดียวกัน” [ข้อ 11–12] ต้นมะเดื่อออกผลเป็นมะกอกและเถาองุ่นออกผลเป็นมะเดื่อ [ดู ข้อ 12])

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาของข้อเหล่านี้ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“เห็นได้ชัดว่ายากอบไม่ได้หมายความว่าลิ้นของเราจะบาปหนา ตลอดเวลา หรือว่า ทุกอย่าง ที่เราพูดจะ ‘เต็มไปด้วยพิษร้ายถึงตาย’ แต่ความหมายที่ชัดเจนคืออย่างน้อยก็มีบางอย่างที่เราพูดซึ่งอาจบ่อนทำลาย หรือถึงขนาดมีพิษร้ายแรงมาก—และนั่นเป็นข้อกล่าวหาที่น่าหวาดกลัวสำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย! เสียงที่แสดงประจักษ์พยานอย่างจริงใจ กล่าวคำสวดอ้อนวอนอย่างแรงกล้า และร้องเพลงสวดแห่งไซอัน อาจเป็น เสียงเดียวกันที่ดุด่าว่ากล่าวและวิพากษ์วิจารณ์ ก่อความอึดอัดดูหมิ่น ทำให้เจ็บปวดและทำลายวิญญาณของตนเองและผู้อื่นในการกระทำเช่นนั้น …

“… ขอให้เราพยายามเป็นบุรุุษและสตรีที่ ‘ดีพร้อม’ อย่างน้อยที่สุดในหนทางหนึ่งตั้งแต่บัดนี้—โดยไม่ทำให้ขุ่นเคืองในคำพูด หรือถ้าจะกล่าวอย่างสร้างสรรค์ โดยการพูดด้วยลิ้นใหม่ ลิ้นของเทพ คำพูดของเราเหมือนกับการกระทำของเรา ควรเปี่ยมด้วยศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล หลักธรรมอันยิ่งใหญ่สามประการของชาวคริสต์อันจำเป็นอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันนี้ ด้วยคำพูดที่กล่าวภายใต้อิทธิพลของพระวิญญาณน้ำตาสามารถเหือดแห้งไป ใจหายเจ็บ ชีวิตยกขึ้นสู่ความสูงส่ง ความหวังกลับคืนมา ความมั่นใจยังคงอยู่” (ดู“ลิ้นของเทพ,” เลียโฮเลีย, พ.ค. 2007, 21, 23)

  • เราสามารถระบุความจริงอะไรบ้างจากข้อเหล่านี้ว่าผู้ติดตามของพระผู้เป็นเจ้าควรพูดอย่างไร (โดยใช้คำพูดของพวกเขาเอง นักเรียนควรระบุความจริงทำนองนี้ ผู้ติดตามของพระผู้เป็นเจ้าพยายามใช้คำพูดของพวกเขาเพื่อจุดประสงค์ที่ชอบธรรม ไม่ใช่เพื่อแพร่ความชั่ว)

  • เหตุใดจึงเป็นปัญหาร้ายแรงหากวิสุทธิชนยุคสุดท้ายใช้ภาษาของพวกเขาเพื่อจุดประสงค์ที่ชั่วร้ายหรือเพื่อทำให้เจ็บปวดหรือทำลายคนอื่น

  • มีอะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อ “ดีพร้อม” มากขึ้นอีกหน่อย (ยากอบ 3:2) ในการเลือกคำพูดของเรา

เชื้อเชิญให้นักเรียนอธิบายว่าการดำเนินชีวิตตามความจริงที่พวกเขาระบุใน ยากอบ 3:9–10 จะนำการกระทำของพวกเขาในสถานการณ์สมมติต่อไปนี้ได้อย่างไร

  1. ท่านกำลังส่งข้อความหรือใช้สื่อสังคม

  2. ท่านเป็นปุโรหิตที่ให้พรศีลระลึกในวันอาทิตย์ ที่โรงเรียน เพื่อนของท่านเริ่มล้อนักเรียนอีกคนหนึ่ง

  3. ท่านเป็นเยาวชนหญิงคนหนึ่งที่ในอดีตเคยพูดไม่ดีเกี่ยวกับเยาวชนหญิงอีกคนในวอร์ดหรือสาขาของท่าน

  4. เพื่อนร่วมทีมของท่านใช้ภาษาหยาบคาย

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำพูดต่อไปนี้จาก เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน

“วิธีที่ท่านสื่อสารควรสะท้อนว่าท่านคือบุตรหรือธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ภาษาที่สะอาดและฉลาดเป็นหลักฐานยืนยันความคิดที่ดีงามและหลักแหลม ภาษาที่ดีจรรโลงใจ ให้กำลังใจ และชมเชยผู้อื่นเชื้อเชิญพระวิญญาณให้สถิตกับท่าน คำพูดของเรา เช่นเดียวกับการกระทำของเรา ควรเปี่ยมด้วยศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล” (เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [จุลสาร, 2011], 20)

  • คำพูดของบุคคลอีกคนหนึ่งเคยจรรโลงใจหรือให้กำลังใจท่านเมื่อใด

  • ท่านได้รับพรอย่างไร เมื่อท่านพยายามจรรโลงใจหรือให้กำลังใจผู้อื่นด้วยคำพูดของท่าน

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนเป้าหมายหนึ่งในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าพวกเขาจะทำอะไรให้ดีขึ้นเพื่อควบคุมคำพูดและใช้ภาษาของพวกเขาเพื่อจุดประสงค์ที่ชอบธรรม เชื้อเชิญให้พวกเขา กระทำ สิ่งที่พวกเขาเขียนระหว่างสัปดาห์หน้า

ยากอบ 3:13–18

ยากอบเปรียบเทียบความต่างระหว่างปัญญาของโลกกับปัญญาที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า

สรุป ยากอบ 3:13–18 โดยอธิบายว่ายากอบเปรียบเทียบความต่างระหว่างปัญญาของโลกกับปัญญาที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า ปัญญาของโลกนำไปสู่ “ความวุ่นวาย” (ข้อ 16) และ “ความมักใหญ่ใฝ่สูง” (ข้อ 14) ขณะที่ปัญญา “จากเบื้องบน” นั้น “บริสุทธิ์” และ “เต็มเปี่ยมด้วยความเมตตา” (ข้อ 17)

เป็นพยานถึงหลักธรรมที่สอนในบทเรียนวันนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยากอบ 3:2 “ทำผิดทางคำพูด”

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเตือนถึงอันตรายของการพูดในด้านไม่ดีและพูดถึงความจำเป็นที่จะต้องให้คำพูดของเราอยู่ในด้านดีมากขึ้นดังนี้

“ข้าพเจ้าคิดว่าไม่จำเป็นต้องเอ่ยว่าการพูดในทางลบมักจะเกิดจากความคิดในทางลบ รวมทั้งความคิดในทางลบเกี่ยวกับตัวเราเอง เรามองเห็นความผิดพลาดของตนเอง เราพูด—หรืออย่างน้อยก็คิด—ในทางที่วิพากษ์วิจารณ์ตนเอง และไม่นานนั่นคือวิธีที่เราจะมองทุกคนและทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีดอกกุหลาบ ไม่มีสัญญาแห่งความหวังหรือความสุข ไม่นานนักเราและทุกคนรอบข้างก็จะเศร้าหมอง

“… เราควรเชื่อฟังคำประกาศของพระผู้ช่วยให้รอดว่า ‘ทำใจดีดีเถิด’ [มัทธิว 14:27; มาระโก 6:50; ยอห์น 16:33] (แน่นอน ดูเหมือนว่าเราอาจมีความผิดในการละเมิดพระบัญญัติข้อนั้นมากกว่าข้ออื่นทั้งหมด!) จงพูดด้วยความหวัง พูดให้กำลังใจ รวมทั้งเกี่ยวกับตัวท่านเอง พยายามอย่าบ่นหรือโอดครวญตลอดเวลา” (“ลิ้นของเทพ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 20–23)

ยากอบ 3:10 “คำสรรเสริญและคำแช่งด่าออกมาจากปากเดียวกัน”

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต เอส. วูดแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนเกี่ยวกับพลังของคำพูดของเราให้เป็นพรแก่ผู้อื่นและตัวเราเองดังนี้

“คำพูดและการกระทำภายนอกของเราใช่ว่าจะไม่ส่งผลอะไรเลย เพราะทั้งสองอย่างจะสะท้อนว่าเราเป็นใครและเราจะเป็นอะไร …

“คำพูดและอากัปกิริยาของเรา ไม่เพียงเผยให้เห็นธาตุแท้ในตัวเราเท่านั้น แต่จะหล่อหลอมความเป็นตัวเรา หล่อหลอมคนที่อยู่รอบข้างเรา และในที่สุดสังคมทั้งหมดของเรา ทุกวันเราแต่ละคนเข้าไปมีส่วนในการบดบังความสว่างหรือขับไล่ความมืดออกไป เราได้รับเรียกให้เชื้อเชิญความสว่างและเป็นความสว่างเพื่อชำระตัวเราให้บริสุทธิ์และสร้างสรรค์ผู้อื่น …

“เมื่อเราพูดและทำ เราควรถามว่าคำพูดและการกระทำของเรามีแนวโน้มที่จะอัญเชิญอำนาจของสวรรค์มาสู่ชีวิตของเราและเชื้อเชิญทุกคนให้มาสู่พระคริสต์หรือไม่ เราต้องปฏิบัติกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยความคารวะ เราจำเป็นต้องกำจัดความหยาบโลนและการลามก ความรุนแรงและการข่มขู่ ความเสื่อมทรามและความโป้ปดมดเท็จให้หมดไปจากการสนทนาของเรา อัครสาวกเปโตรเขียนไว้ ‘แต่พระองค์ผู้ทรงเรียกพวกท่านนั้นบริสุทธิ์อย่างไร พวกท่านเองก็จงเป็นคนบริสุทธิ์ในชีวิตทุกด้านอย่างนั้น’ (1 เปโตร 1:15) คำว่า ชีวิตทุกด้าน ในข้อนี้ไม่ได้หมายถึงคำพูดเท่านั้น แต่หมายถึงการกระทำทั้งสิ้นของเราด้วย” (“ลิ้นของเทพ,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 102-104)