คลังค้นคว้า
บทที่ 78: ยอห์น 18–19


บทที่ 78

ยอห์น 18–19

คำนำ

หลังจากผู้นำชาวยิวจับกุมและสอบสวนพระเยซู พวกเขาพาพระองค์ไปอยู่ต่อหน้าปีลาตเพื่อพิจารณาคดีและพิพากษา ปีลาตยอมให้ตรึงกางเขนพระเยซู ถึงแม้เขาจะเชื่อในความบริสุทธิ์ของพระเยซู ขณะอยู่บนกางเขน พระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบมารดาของพระองค์ให้อยู่ในความดูแลของอัครสาวกยอห์น หลังจากพระเยซูถูกตรึงกางเขน พระศพของพระองค์ถูกนำไปวางไว้ในอุโมงค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 18:1–32

พระเยซูทรงถูกผู้นำชาวยิวจับกุมและสอบสวน หลังจากนั้นพวกเขาจึงพาพระองค์ไปอยู่ต่อหน้าปีลาต

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บน กระดาน

ช่วงเวลาที่ยากที่สุดในการดูแลความผาสุกของผู้อื่นคือเมื่อใด

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนให้อธิบายว่าพวกเขาจะตอบคำถามบนกระดานอย่างไร

อธิบายว่าพระเยซูคริสต์และปีลาต เจ้าเมืองชาวโรมันเลือกให้ความสำคัญ หรือให้คุณค่าแก่สิ่งที่ต่างกันระหว่างเหตุการณ์ที่บรรยายไว้ใน ยอห์น 18–19 เขียน ข้อกังวลของพระเยซูคริสต์ และ ข้อกังวลของปีลาต บนกระดานคนละด้าน เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา ยอห์น 18–19 ที่จะช่วยให้พวกเขารู้ว่าข้อกังวลอะไรที่ควรมีความสำคัญอันดับแรกในชีวิตพวกเขา

สรุป ยอห์น 18:1–3 โดยอธิบายว่าหลังจากพระเยซูทรงทนทุกข์ในสวนเกทเสมนี ยูดาส อิสคาริโอทมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่จากพวกหัวหน้าปุโรหิตและพวกฟาริสีเพื่อจับกุมพระเยซู

  • หากท่านทราบว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ติดอาวุธกำลังจะมาถึงเพื่อจับกุมท่านและสังหารท่านในที่สุด ท่านจะมีปฏิกิริยาอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ยอห์น 18:4–11 และ ลูกา 22:50–51 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระเยซูจะทรงตอบสนองอย่างไรเมื่อคนกลุ่มนี้มาถึง

  • พระเยซูตรัสอะไรกับคนที่มาจับกุมพระองค์ (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าคำว่า คนเหล่านี้ ใน ยอห์น 18:8 และ คนเหล่านั้น ใน ยอห์น 18:9 หมายถึงอัครสาวกที่อยู่กับพระเยซู)

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระเยซูคริสต์ทรงกังวลเกี่ยวกับอะไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนวลีต่อไปนี้บนกระดานใต้ “ข้อกังวลของพระเยซูคริสต์” คือ การปกป้องอัครสาวกของพระองค์ การรักษาหูของทาส การทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์)

ขอให้นักเรียนอ่านออกเสียงสรุปความต่อไปนี้ของ ยอห์น 18:12–32

พระเยซูทรงยอมให้เจ้าหน้าที่จับกุมพระองค์ พวกเขาพาพระองค์ไปหาอันนาส หนึ่งในผู้นำชาวยิว และจากนั้นไปหาคายาฟาส มหาปุโรหิตที่พยายามจะลงโทษประหารพระเยซู เปโตรและสานุศิษย์อีกคนหนึ่งที่ติดตามพระเยซู เมื่อคนสามคนถามเปโตรว่าเขาเป็นสานุศิษย์คนหนึ่งของพระเยซูหรือไม่ เปโตรปฏิเสธว่ารู้จักพระองค์ทุกครั้ง หลังจากคายาฟาสสอบสวนพระเยซูแล้ว ผู้นำชาวยิวนำพระเยซูไปหาปีลาต เจ้าเมืองชาวโรมันในแคว้นยูเดียเพื่อพิจารณาคดีและพิพากษา มีเพียงชาวโรมันเท่านั้นที่มีอำนาจตัดสินโทษประหารในเยรูซาเล็ม

อธิบายว่าการพิจารณาคดีครั้งนี้อาจเกิดขึ้นในป้อมอันโทเนียใกล้พระวิหาร (ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเปิดไปที่แผนที่พระคัมภีร์ไบเบิล แผ่นที่ 12 “เยรูซาเล็ม ณ สมัยของพระเยซู” ในคู่มือพระคัมภีร์และมองหาป้อมอันโทเนีย [หมายเลข 3 ในแผนที่])

ยอห์น 18:33–19:16

พระเยซูคริสต์ทรงถูกพิจารณาคดีต่อหน้าปีลาต

เชื้อเชิญให้นักเรียนสองคนอ่านออกเสียงพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดและคำพูดของปีลาตตามลำดับ ดังบันทึกใน ยอห์น 18:33–37 (ท่านอาจเชื้อเชิญนักเรียนเหล่านี้ก่อนเริ่มชั้นเรียนเพื่อดูว่าบรรทัดที่พวกเขาจะอ่านอยู่ที่ไหน) ท่านอาจสวมบทบาทผู้บรรยาย หรือเชื้อเชิญให้นักเรียนอีกคนเป็นผู้บรรยาย เมื่อนักเรียนเหล่านี้อ่านบทของพวกเขา ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าปีลาตต้องการจะรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซู

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ยอห์น 18:33 ปีลาตต้องการจะรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซู

อธิบายว่าผู้นำชาวยิวกล่าวหาว่าพระเยซูทรงแอบอ้างว่าเป็นกษัตริย์ของชาวยิวเนื่องจากหากพระเยซูทรงอ้างว่าเป็นกษัตริย์ พระองค์จะถูกจับกุมด้วยข้อหาต่อต้าน หรือกบฎ ต่อต้านรัฐบาลโรมัน (ดู ยอห์น 19:12) ความผิดที่ลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต

  • พระเยซูทรงอธิบายอะไรกับปีลาต (อาณาจักรของพระองค์ “ไม่ได้เป็นของโลกนี้” [ยอห์น 18:36] และพระองค์เสด็จมายังแผ่นดินโลกเพื่อ “เป็นพยานให้กับสัจจะ” [ยอห์น 18:37])

ขอให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 18:38–40 ในใจ โดยมองหาว่าปีลาตตัดสินอะไรเกี่ยวกับพระเยซู

  • ปีลาตตัดสินอะไรเกี่ยวกับพระเยซู (เขากล่าวว่าเขา “ไม่เห็นว่าคนนั้นมีความผิด” [ข้อ 38])

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 39 ปีลาตทำอะไรเพื่อพยายามปล่อยพระเยซู

สรุป ยอห์น 19:1–5 โดยอธิบายว่าทหารโรมันโบยตีและเยาะเย้ยพระเยซู จากนั้นปีลาตนำพระเยซูมาอยู่ต่อหน้าผู้คน

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 19:4, 6 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่ปีลาตย้ำกับชาวยิว (“เราไม่พบความผิดอะไรในตัวเขา”)

  • ตามที่ปีลาตยืนยันว่าเขาไม่พบความผิดอะไรในพระเยซู ปีลาตเชื่อว่าอะไรคือสิ่งถูกต้องที่ควรทำ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 19:7 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าผู้นำชาวยิวบอกอะไรปีลาตเกี่ยวกับพระเยซู

เชื้อเชิญให้นักเรียนที่อ่านคำพูดของปีลาต พระเยซู และผู้บรรยายให้กลับมาทำหน้าที่ของเขาและอ่านออกเสียงจาก ยอห์น 19:8–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำตอบของปีลาตเมื่อเขาได้ยินว่าพระเยซูเคยตรัสว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

  • ปีลาตตอบอย่างไรหลังจากผู้นำชาวยิวบอกเขาว่าพระเยซูเคยตรัสว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

  • หากท่านอยู่ในสถานการณ์ของปีลาต ท่านจะรู้สึกอย่างไรหลังจากได้ยินสิ่งที่พระเยซูตรัสเกี่ยวกับอำนาจของท่านในฐานะเจ้าเมือง เพราะเหตุใด

อธิบายว่าถ้อยคำของพระเยซูดังบันทึกไว้ใน ข้อ 11 เกี่ยวกับผู้นำชาวยิวที่มี “ความผิดมากกว่า” ระบุว่าหากปีลาตยอมต่อคำขอของฝูงชนและสั่งตรึงกางเขนพระเยซู ปีลาตจะผิดบาป แต่ไม่เท่ากับคนที่พยายามอย่างไม่ลดละที่จะสังหารพระเยซู

เชื้อเชิญนักเรียนอ่าน มัทธิว 27:19 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่ภรรยาปีลาตแนะนำให้เขาทำ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 19:12–15 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ปีลาตพยายามจะทำไม่ว่าพระเยซูและชาวยิวจะตอบสนองอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 12 ปีลาตพยายามทำอะไร

  • ผู้นำชาวยิวบอกอะไรปีลาตเมื่อพวกเขารู้ว่าเขาต้องการปล่อยพระเยซู

เตือนนักเรียนว่าซีซาร์เป็นจักรพรรดิโรมันที่มอบตำแหน่งเจ้าเมืองยูเดียให้ปีลาต หลายครั้งก่อนหน้านี้ ปีลาตสั่งทหารโรมันให้สังหารชาวยิว และเขาได้ลบหลู่ประเพณีทางศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์บางอย่างของชาวยิว การกระทำของปีลาตถูกรายงานต่อซีซาร์ และซีซาร์ตำหนิปีลาต (ดู บทที่ 34, หมายเหตุ 7, ใน เจมส์ อี. ทาลเมจ, Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 648–49)

  • อาจจะเกิดอะไรขึ้นกับปีลาตหากชาวยิวรายงานว่าเขาไม่ได้เป็น “มิตร” ของซีซาร์ (ข้อ 12) (หากซีซาร์สงสัยว่าปีลาตนั้นไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ ซีซาร์อาจปลดปีลาตออกจากตำแหน่งและอำนาจในฐานะเจ้าเมือง)

ชี้ให้เห็นว่าปีลาตต้องเลือกระหว่างการปกป้องผลประโยชน์ของเขาเองกับการปล่อยพระผู้ช่วยให้รอด ผู้ที่เขารู้ว่าไม่มีความผิด

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 19:16 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าปีลาตเลือกทำอะไร

  • ปีลาตเลือกทำอะไร

  • การเลือกนี้บอกอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่ปีลาตกังวลมากที่สุด (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนวลีต่อไปนี้บนกระดานใต้ “ข้อกังวลของปีลาต” คือ ตัวเขาเอง ตำแหน่งและอำนาจของเขา)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากการตัดสินใจของปีลาตที่ให้ผลประโยชน์ของเขาเองมาก่อนการปล่อยพระผู้ช่วยให้รอด ผู้ที่เขารู้ว่าไม่มีความผิด (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน การให้ผลประโยชน์ของเรามาก่อนการทำสิ่งที่ถูกต้องจะนำเราไปสู่บาป)

  • ในสถานการณ์ใดบ้างที่เราอาจถูกล่อลวงเพื่อให้ผลประโยชน์ของเราเองมาก่อนการทำสิ่งที่ถูกต้อง

  • เราทำอะไรได้เพื่อเอาชนะการล่อลวงที่จะให้ผลประโยชน์ของเราเองมาก่อนการทำสิ่งที่ถูกต้อง

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาสิ่งที่พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้เกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระคริสต์ เปรียบเทียบ กับอุปนิสัยของปีลาตเมื่อพวกเขาศึกษาวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพมรรตัยของพระเยซูคริสต์

ยอห์น 19:17–42

พระเยซูถูกตรึงกางเขน พระศพของพระองค์บรรจุไว้ในอุโมงค์ฝังศพ

สรุป ยอห์น 19:17–24 โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงแบกกางเขนของพระองค์ไปที่กลโกธา พระองค์ถูกตรึงกางเขนที่นั่น

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 19:25–27 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ามีใครอยู่ที่นั่นอีกเมื่อพระเยซูถูกตรึงกางเขน

  • ใครยืนอยู่ใกล้กับกางเขนเมื่อพระเยซูถูกตรึงกางเขน (หลังจากนักเรียนตอบ อธิบายว่าวลี “สาวก … คนที่ [พระเยซู] ทรงรัก” [ข้อ 26] หมายถึงอัครสาวกยอห์น ซึ่งเป็นที่รู้จักว่ายอห์นผู้เป็นที่รัก)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 26–27 พระเยซูทรงห่วงใยใครเมื่อพระองค์ถูกตรึงบนกางเขน พระองค์ทรงสั่งให้ยอห์นทำอะไร (ดูแลมารดาของพระองค์ประหนึ่งว่าเธอเป็นมารดาของยอห์นเอง บนกระดานใต้ “ข้อกังวลของพระเยซูคริสต์” ให้เขียนว่า ความผาสุกของมารดาพระองค์)

หากเป็นไปได้ ให้แจกสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความดังกล่าว

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“อุปนิสัยจะเผยออกมา … ในอำนาจที่จะเล็งเห็นความทุกข์ของคนอื่นเมื่อเราเองก็กำลังทนทุกข์ ในความสามารถที่จะรับรู้ความหิวของผู้อื่นเมื่อเราหิว ในอำนาจที่จะเอื้อมออกไปและเผื่อแผ่ความสงสารให้กับความทุกข์ทรมานทางวิญญาณของผู้อื่นเมื่อเราอยู่ท่ามกลางความเศร้าโศกทางวิญญาณของเราเอง ดังนั้น อุปนิสัยจะเผยออกมาโดยการมองและเอื้อมออกไปเมื่อปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติและตามสันชาตญาณคือการสนใจแต่ความยากลำบากของตนเองเท่านั้น หากความสามารถเช่นนั้นเป็นเกณฑ์สูงสุดของอุปนิสัยทางศีลธรรมอย่างแท้จริง พระผู้ช่วยให้รอดของโลกย่อมเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์แบบของอุปนิสัยที่เสมอต้นเสมอปลายและมีจิตกุศลนั้น” (“The Character of Christ” [Brigham Young University–Idaho Religion Symposium, Jan. 25, 2003], 2–3)

  • ตามที่เราเรียนรู้จาก ยอห์น 18–19 เกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระผู้ช่วยให้รอด เราสามารถทำอะไรได้เพื่อทำตามแบบอย่างของพระองค์ (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน เราสามารถทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยการเลือกที่จะช่วยผู้อื่นแม้เมื่อเราเองก็ลำบากอยู่)

  • เราสามารถเอาชนะความปรารถนาที่จะกังวลเกี่ยวกับตัวเราเองเป็นหลักและเลือกช่วยผู้อื่นแม้เมื่อเราเองก็ลำบากอยู่ได้อย่างไร

  • ท่านเคยเห็นบางคนที่ทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยการเลือกช่วยผู้อื่นแม้เมื่อเขาก็ยังลำบากอยู่เมื่อใด

ท่านอาจต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงพระเยซูคริสต์และแบบอย่างที่ดีพร้อมของพระองค์ในการให้ความต้องการของคนอื่นมาก่อนพระองค์เอง เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

สรุป ยอห์น 19:28–42 โดยอธิบายว่าหลังจากพระเยซูสิ้นพระชนม์ โยเซฟจากอาริมาเธียขอพระศพพระเยซูจากปีลาต จากนั้นโยเซฟและนิโคเดมัสได้เตรียมพระศพของพระผู้ช่วยให้รอดและวางไว้ในอุโมงค์ฝังศพ ซึ่งโยเซฟบริจาค

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 18:5–8 “เราเป็นผู้นั้น”

“คำเหล่านี้ [‘เราเป็นผู้นั้น’] แปลจากวลีภาษากรีก egō eimi ที่ใช้หลายแห่งในยอห์นเมื่อมีการอ้างอิงถึงความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์ … หลังจากพระผู้ช่วยให้รอดตรัสคำนี้ พวกทหารและเจ้าหน้าที่ ‘ถอยหลังและล้มลงที่ดิน’ (ยอห์น 18:6), ‘เห็นได้ชัดว่าไม่สามารถมีพลังอำนาจเหนือพระเยซูยกเว้นว่าจะได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้น’ (บรูซ อาร์. แมคคองกี, Doctrinal New Testament Commentary, 1:780) ‘ความภาคภูมิอันเรียบง่ายและอ่อนโยนกระนั้นพลังซึ่งบีบบังคับของการประทับอยู่ของพระคริสต์พิสูจน์ว่าทรงอำนาจมากกว่าแขนที่แข็งแรงและอาวุธแห่งความรุนแรง’ (เจมส์ อี. ทาลเมจ, Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 615) รายละเอียดนี้แสดงให้เห็นว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงมีความสามารถที่จะเอาชนะผู้จับกุมพระองค์แต่ทรงยอมตกอยู่ใต้อำนาจการจับกุมและการตรึงกางเขน” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 256)

ยอห์น 19:12, 16 เหตุใดปีลาตจึงตัดสินใจทำสิ่งที่เขารู้ว่าผิด

เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ถึงสาเหตุที่ปีลาตตัดสินใจทำสิ่งที่เขารู้ว่าผิด

“สาเหตุที่ทำให้ปีลาตอ่อนแอคืออะไร เขาเป็นตัวแทนของจักรพรรดิ เป็นผู้แทนของจักรพรรดิผู้มีอำนาจที่จะตรึงกางเขนหรือไว้ชีวิต เขาเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดอย่างเป็นทางการ เขาเชื่อมั่นว่าพระคริสต์ไม่ทรงมีความผิดและความปรารถนาของเขาที่จะช่วยพระองค์จากกางเขนเป็นสิ่งที่ไม่ต้องสงสัย เหตุใดปีลาตจึงหวั่นไหว ลังเล รวนเร และถึงกับยอมทำสิ่งที่ตรงข้ามกับมโนธรรมและความประสงค์ของเขา เพราะไม่ว่าจะอย่างไรเขาก็เป็นทาสมากกว่าเป็นไท เขาเป็นทาสอดีตของเขา เรารู้ว่าหากมีคนฟ้องร้องเขาที่โรม เกี่ยวกับการฉ้อฉลและความโหดร้ายของเขา การรีดไถของเขาและการเข่นฆ่าอย่างไม่ยุติธรรมที่เขาทำมาแล้วเขาจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับความผิดทุกอย่างที่เขาทำ เขาเป็นผู้ปกครองชาวโรมัน แต่ผู้คนที่เขามีอำนาจปกครองอย่างเป็นทางการนั้นยินดีที่จะเห็นเขาแสดงท่าทีประจบประแจง เมื่อพวกเขาฟาดแส้ข่มขู่เสียงดังด้วยความมุ่งร้ายอยู่เหนือศรีษะ ว่าเขาจะรายงานเขาต่อทิเบอเรียส นายแห่งจักรพรรดิของเขา” (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 641)

เอ็ลเดอร์ทาลเมจให้ข้อสังเกตต่อไปว่า “ปีลาตรู้ว่าอะไรถูกต้องแต่ขาดความกล้าหาญทางศีลธรรมที่จะทำ” (บทที่ 34, หมายเหตุ 7 ใน Jesus the Christ, 648)

ยอห์น 19:31–36 “ชาวยิว … จึงขอปีลาตให้ทุบขาของคนที่ถูกตรึงให้หัก”

บ่อยครั้งเหยื่อของการตรึงกางเขนมีชีวิตอยู่อย่างทรมานหลายวันก่อนตาย หลังจากคนที่ถูกตรึงกางเขนตาย ตามธรรมเนียมปฏิบัติชาวโรมันจะทิ้งศพไว้บนกางเขนเพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นเป็นอาชญากร อย่างไรก็ตาม กฎของโมเสสห้ามทิ้งศพของอาชญากรแขวนไว้บนต้นไม้ข้ามคืน (ดู เฉลยธรรมบัญญัติ 21:22–23) ในกรณีการตรึงกางเขนพระเยซู วันรุ่งขึ้นเป็นวันสะบาโต ดังนั้น ผู้นำชาวยิวที่ต้องการให้นำเอาศพลงจากกางเขนก่อนวันสะบาโตจะเริ่มขึ้นเมื่อตะวันตกดินจึงพยายามให้ชายสามคนบนไม้กางเขนตายเร็วขึ้นโดยขอให้ทุบขาของพวกเขาให้หัก การทำเช่นนี้จะทำให้เหยื่อทุกข์ทรมานจากการเกร็งทรวงอกและทำให้หายใจลำบากเนื่องจากพวกเขาไม่สามารถใช้ขารับน้ำหนักได้อีกต่อไป หลังจากทุบขาของชายอีกสองคนที่ถูกตรึงกางเขนให้หักแล้ว ทหารโรมันพบว่าพระเยซูสิ้นพระชนม์แล้วจึงไม่จำเป็นต้องทุบขาของพระองค์ให้หัก

ช่วงเวลาสำคัญนี้บนไม้กางเขนจึงทำให้คำพยากรณ์ในพันธสัญญาเดิมเกิดสัมฤทธิผล “พระองค์ทรงปกป้องกระดูกทุกชิ้นของเขา ไม่หักสักซี่เดียว” (สดุดี 34:20) นอกจากนี้ พระเจ้าทรงบัญชาชาวอิสราเอลว่าแกะปัสกา ซึ่งหมายถึงการเสียสละของพระเยซูคริสต์ที่จะมาถึงในฐานะพระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า ต้องไม่หักกระดูกของพวกมัน (ดู อพยพ 12:46)