คลังค้นคว้า
บทที่ 139: ฮีบรู 12–13


บทที่ 139

ฮีบรู 12–13

คำนำ

เปาโลแนะนำให้สมาชิกชาวยิวของศาสนจักรวิ่งแข่งขันในการเป็นสานุศิษย์โดยทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ เขาอธิบายถึงพรที่ได้รับจากการตีสอนของพระเจ้าด้วย เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชนทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อพวกเขาจะดีพร้อมผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

หมายเหตุ: บทที่ 140 เปิดโอกาสให้นักเรียนสองคนสอน เลือกนักเรียนสองคนล่วงหน้าและให้สำเนาของส่วนที่กำหนดไว้จากบทที่ 140 เพื่อพวกเขาจะได้เตรียมตัว กระตุ้นให้พวกเขาศึกษาเนื้อหาบทเรียนร่วมกับการสวดอ้อนวอนและแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการเตรียมและการสอนของพวกเขา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ฮีบรู 12

เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชนวิ่งแข่งในชีวิตด้วยศรัทธาและความอดทน

ภาพ
ภาพลายเส้น นักวิ่ง

บนกระดาน ให้วาด ภาพ ลายเส้นง่ายๆ เป็นรูปนักวิ่ง ขอให้ชั้นเรียนบรรยายว่านักวิ่งอาจต้องเผชิญกับความยากลำบากอะไรเมื่อเขาวิ่งแข่งทางไกล (ท่านอาจถามด้วยว่ามีนักเรียนคนใดในชั้นเรียนเคยวิ่งทางไกลหรือไม่และจากนั้นถามนักเรียนที่เคยวิ่งว่าเขาเคยประสบกับความยากลำบากอะไรเมื่อวิ่งทางไกล)

  • อะไรที่จะกระตุ้นให้นักวิ่งยังคงวิ่งต่อไปแม้เมื่อเขาประสบกับความอ่อนล้าหรือความยากลำบากอื่นๆ

  • ชีวิตการเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์เป็นเหมือนกับความอดทนในการวิ่งแข่งในทางใดบ้าง

  • เราอาจเผชิญความยากลำบากอะไรในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์

ขอให้นักเรียนนึกถึงว่าพวกเขาเผชิญ (หรือเคยเผชิญ) ความยากลำบากอะไรในฐานะผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงขณะพวกเขาศึกษา ฮีบรู 12 ที่จะช่วยให้พวกเขายังคงติดตามพระเยซูคริสต์แม้เมื่อเป็นเรื่องยาก

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 12:1 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลบอกวิสุทธิชนถึงสิ่งที่พวกเขาต้องทำเพื่อวิ่งแข่งขันในการเป็นสานุศิษย์ได้อย่างประสบความสำเร็จ

  • เปาโลบอกวิสุทธิชนว่าพวกเขาต้องทำอะไรเพื่อวิ่งแข่งขันในการเป็นสานุศิษย์ได้อย่างประสบความสำเร็จ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งออกมาหน้าห้องและให้เขาสะพายเป้หลังใบหนึ่ง ใส่ก้อนหินไว้ในเป้หลัง แล้วขอให้นักเรียนอธิบายว่าการสะพายเป้หลังที่เต็มไปด้วยก้อนหินจะส่งผลต่อนักวิ่งอย่างไร

  • บาปของเราเป็นเหมือนเป้หลังที่เต็มไปด้วยก้อนหินในทางใดบ้าง

ขอให้นักเรียนวางเป้ลง และเชิญเขากลับไปนั่ง

  • การวิ่งแข่งขันในการเป็นสานุศิษย์ด้วยความอดทนหมายความว่าอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 12:2–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลบอกให้วิสุทธิชนทำซึ่งจะช่วยให้พวกเขาละทิ้งบาปและยืนหยัดอดทนต่อการตรงกันข้าม อธิบายว่าคำว่า การคัดค้าน ใน ข้อ 3 หมายถึงการตรงกันข้าม

  • ตามที่เปาโลสอนวิสุทธิชน อะไรจะช่วยให้เราละทิ้งบาปและยืนหยัดอดทนต่อการตรงกันข้าม (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ เมื่อเรามองไปที่แบบอย่างของพระเยซูคริสต์ เราจะพบกับความเข้มแข็งที่จะละทิ้งบาปของเราและยืนหยัดอดทนต่อการตรงกันข้าม)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 2 พระเยซูคริสต์ทรงทำอะไรที่เปาโลบอกให้วิสุทธิชนมองเป็นแบบอย่าง

ภาพ
การตรึงกางเขน

แสดงภาพ การตรึงกางเขน (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่. 57; ดู LDS.org ด้วย) อธิบายว่าเปาโลบอกวิสุทธิชนว่าพระเยซูคริสต์เต็มพระทัยที่จะทนรับความตายบนกางเขนและทนรับความอับอายของโลกเพราะพระองค์ทรงทราบถึงปีติที่พระองค์จะทรงได้รับหากพระองค์ยังคงซื่อสัตย์ต่อพระบิดาบนสวรรค์

  • ท่านคิดว่าการมองไปที่แบบอย่างของพระเยซูคริสต์จะช่วยเราเมื่อเราเผชิญกับความทุกข์และอุปสรรคได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนนึกถึงความท้าทายในปัจจุบันของพวกเขาและการมองไปที่แบบอย่างของพระเยซูคริสต์จะช่วยให้พวกเขารับมือกับความท้าทายเหล่านั้นอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่าแบบอย่างของพระเยซูคริสต์จะช่วยให้เราละทิ้งบาปของเราและยังคงอดทนต่อไปได้อย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“เพื่อให้การชดใช้ของพระองค์ไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ พระองค์ต้องทรงรู้สึกว่าจะเป็นเช่นไรที่ต้องสิ้นพระชนม์ไม่เพียงทางพระวรกายเท่านั้นแต่ทางวิญญาณด้วย เพื่อจะทรงสัมผัสได้ว่าจะเป็นเช่นไรเมื่อพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จากไป ทิ้งให้รู้สึกอ้างว้างเดียวดาย น่าสลดใจ สิ้นหวังเพียงลำพัง

“พระเยซูทรงอดทน พระองค์ทรงดำเนินต่อไป พระคุณความดีในพระองค์ยอมให้ศรัทธามีชัยชนะแม้ในสถานะอันขมขื่นที่สุด ความวางพระทัยที่พระองค์ทรงมีมาตลอดพระชนม์ชีพนั้นได้บอกกับพระองค์ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงรู้สึกอยู่ว่าความเห็นอกเห็นใจจากสวรรค์ไม่เคยจากไป พระผู้เป็นเจ้ายังทรงรักษาสัจจะเสมอ พระองค์มิได้ทรงทอดทิ้งเราหรือทำให้เราผิดหวัง” (“ไม่มีใครอยู่กับพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 107)

กระตุ้นให้นักเรียนจัดเวลาไว้แต่ละวัน อาจเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา ให้มองหาแบบอย่างของพระเยซูคริสต์เพื่อว่าพวกเขาจะมีความเข้มแข็งในการละทิ้งบาปและยืนหยัดอดทนต่อการตรงกันข้าม

เพื่อเตรียมนักเรียนให้ระบุหลักธรรมอีกข้อหนึ่งซึ่งเปาโลสอนใน ฮีบรู 12 เชื้อเชิญให้พวกเขานึกถึงเวลาที่มีบางคนแก้ไขพวกเขา ขอให้พวกเขานึกว่าพวกเขาตอบสนองต่อการแก้ไขนั้นอย่างไร

  • เหตุใดจึงเป็นเรื่องยากที่จะรับการแก้ไขจากบางคน

  • มีเหตุผลอะไรที่ท่านคิดว่าผู้คนจึงพยายามแก้ไขเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนเหล่านั้นรู้ว่าเราอาจไม่ชอบการแก้ไขของพวกเขา

อธิบายว่าเมื่อเราวิ่งแข่งขันในการเป็นสานุศิษย์ เราคาดได้ว่าเราจะถูกตีสอน หรือแก้ไข เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่ง อ่าน ออกเสียงฮีบรู 12:6–9 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าใครจะแก้ไขเราและเพราะเหตุใด ในบริบทนี้ คำว่า ลูกนอกกฎหมาย ใน ข้อ 8 หมายถึงคนที่เกิดนอกการแต่งงาน คนที่ไม่ถือว่าเป็นทายาทโดยชอบด้วยกฎหมาย

  • ใครจะแก้ไขเราขณะที่เราวิ่งแข่งขันในการเป็นสานุศิษย์

  • ตามที่เปาโลกล่าวไว้ เหตุพระบิดาบนสวรรค์ทรงตีสอนหรือแก้ไขเรา

  • การตีสอนของพระบิดาบนสวรรค์เป็นการชี้ให้เห็นถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อบุตรธิดาของพระองค์ในทางใดบ้าง

เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้เวลา 30 วินาทีเพื่อเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเกี่ยวกับวิธีที่พระบิดาบนสวรรค์อาจแก้ไขเรา ขอให้นักเรียนหลายๆ คนรายงานสิ่งที่เขียนกับชั้นเรียน ให้แน่ใจว่านักเรียนเข้าใจว่าแม้การตีสอนจะมาในหลายๆ วิธี แต่การทดลองหรือความทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่เราประสบมาจากพระผู้เป็นเจ้า

  • ใน ข้อ 9 เปาโลพูดว่าเราควรทำอะไรเมื่อพระบิดาบนสวรรค์ทรงแก้ไขและตีสอนเรา

  • การ “อยู่ใต้บังคับ” หรือยอมต่อพระบิดาบนสวรรค์หมายความว่าอย่างไร (การอ่อนน้อมถ่อมตน สอนได้ และเต็มใจเปลี่ยนแปลงชีวิตเราให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์)

เขียนประโยคที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเรายอมต่อการตีสอนจากพระบิดาบนสวรรค์ เราจะ

อธิบายว่าใน ข้อ 10 เปาโลยอมรับว่าบิดาทางโลกของเราอาจตีสอนเราด้วยวิธีที่ไม่ดีพร้อมในบางครั้ง แต่การตีสอนของพระบิดาบนสวรรค์ดีพร้อมและทำเพื่อประโยชน์ของเรา เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 12:10–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนว่าจะเกิดขึ้นหากเรายอมต่อการตีสอนของพระบิดาบนสวรรค์ อธิบายว่าวลี “มีส่วนในความบริสุทธิ์ของพระองค์” ใน ข้อ 10 หมายถึงการเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

  • คำพูดของเปาโลใน ข้อ 11 บรรยายว่าเราอาจรู้สึกอย่างไรในตอนแรกเมื่อเราถูกตีสอน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 10–11 จะเกิดอะไรขึ้นหากเรายอมต่อการตีสอนจากพระผู้เป็นเจ้า (หลังจากนักเรียนตอบ ให้เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนดังนี้ ถ้าเรายอมต่อการตีสอนจากพระบิดาบนสวรรค์ เราจะเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้นและมีสันติสุขที่มาจากความชอบธรรม)

ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์เมื่อท่านยอมต่อการตีสอนจากพระบิดาบนสวรรค์และรู้สึกว่าได้รับพรจากการทำเช่นนั้น (ให้แน่ใจว่าไม่ได้แบ่งปันอะไรที่เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์หรือส่วนตัวมากเกินไป) เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองถึงเวลาที่พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาถูกตีสอนจากพระบิดาบนสวรรค์ ขอให้พวกเขานึกว่าพวกเขาตอบสนองต่อการแก้ไขนั้นอย่างไร กระตุ้นให้นักเรียนตัดสินใจตอนนี้ที่จะยอมต่อการตีสอนจากพระบิดาบนสวรรค์ที่พวกเขาอาจได้รับในอนาคต

สรุป ฮีบรู 12:12–29 โดยอธิบายว่าเปาโลกระตุ้นให้วิสุทธิชนเสริมสร้างสมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ ด้วยศรัทธา เปาโลแนะนำให้พวกเขาละจากบาปเพื่อว่าพวกเขาจะไม่ถูกริบพรของพระผู้เป็นเจ้าเหมือนกับเอซาวและเหมือนลูกหลานของอิสราเอลที่ภูเขาซีนาย เปาโลอธิบายว่าวิสุทธิชนที่ยังคงซื่อสัตย์และรับใช้พระผู้เป็นเจ้าจะได้รับรัศมีภาพอันหาที่เปรียบมิได้และสถานที่ในอาณาจักรของพระองค์

ฮีบรู 13

เปาโลให้คำแนะนำหลายอย่างแก่วิสุทธิชน

อธิบายว่าเปาโลทิ้งท้ายจดหมายที่เขาเขียนถึงวิสุทธิชนชาวฮีบรูโดยให้คำแนะนำพวกเขาหลายเรื่อง แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มละสองหรือสามคน เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน ฮีบรู 13:1–9, 17 ด้วยกัน โดยมองหาคำแนะนำที่เปาโลให้แก่วิสุทธิชน ให้นักเรียนสนทนาคำถามต่อไปนี้ในกลุ่มของพวกเขาเมื่อพวกเขาอ่านจบ ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้บนกระดาน

  • ท่านคิดว่าคำแนะนำอะไรที่จำเป็นที่สุดในสมัยของเรา เพราะเหตุใด

หลังจากให้เวลาพอสมควร เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนรายงานว่าพวกเขาตอบคำถามว่าอย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาว่าส่วนใดในคำแนะนำของเปาโลที่พวกเขาจะประยุกต์ใช้ในชีวิตของพวกเขาเองได้ดีขึ้น

สรุป ฮีบรู 13:10–12 โดยอธิบายว่าเปาโลสอนว่าในสมัยพันธสัญญาเดิม สัตวบูชาเพื่อเป็นเครื่องบูชาบาปจะเผานอกค่ายของอิสราเอล เช่นเดียวกัน พระเยซูคริสต์ทรงพลีบูชานอกกรุงเยรูซาเล็ม อธิบายว่าหลังจากพระเยซูคริสต์ทรงทำการชดใช้เสร็จสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องมีสัตวบูชาอีกต่อไป (ดู 3 นีไฟ 9:18–20)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 13:13–16 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเครื่องบูชาอะไรที่เปาโลบอกว่าวิสุทธิชนควรถวายแทนสัตว์ ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ

  • เครื่องบูชาอะไรที่เปาโลบอกว่าเราควรถวาย

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการถวายเช่นนั้นจะทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัย

สรุป ฮีบรู 13:17–25 โดยอธิบายว่าเปาโลแนะนำวิสุทธิชนให้เชื่อฟังผู้นำทางวิญญาณของพวกเขาและสวดอ้อนวอนให้พวกเขา เปาโลสวดอ้อนวอนว่าพระผู้เป็นเจ้าจะประทานทุกสิ่งที่จำเป็นแก่วิสุทธิชนเพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ

ท่านอาจต้องการสรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงที่นักเรียนระบุใน ฮีบรู 12–13

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—ฮีบรู 12:9

ช่วยนักเรียนท่องจำ ฮีบรู 12:9 โดยเชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนตัวอักษรแรกของแต่ละคำในข้อพระคัมภีร์บนแผ่นกระดาษ ทบทวนพระคัมภีร์ข้อนั้นหลายๆ ครั้งกับนักเรียนของท่านจนกระทั่งพวกเขาสามารถท่องข้อนั้นได้โดยใช้อักษรตัวแรกของแต่ละคำ

  • เราสามารถเรียนรู้หลักคำสอนใดจากข้อนี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับพระบิดาบนสวรรค์ (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้ พระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นพระบิดาของวิญญาณเรา)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่จะเชื่อว่าเราเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า

เป็นพยานว่าเราเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าจริงๆ

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ฮีบรู 12:6–11 การตีสอนของพระเจ้า

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายเกี่ยวกับการตีสอนของพระเจ้าดังนี้

“การแก้ไขสำคัญอย่างยิ่งหากเราจะปรับชีวิตให้สอดคล้องกับการ ‘บรรลุถึงความเป็นผู้ใหญ่ [นั่นคือ] โตเต็มถึงขนาดความบริบูรณ์ของพระคริสต์’ (เอเฟซัส 4:13) เปาโลพูดถึงการแก้ไขหรือการตีสอนจากเบื้องบนว่า ‘องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตีสอนผู้ที่พระองค์ทรงรัก’ (ฮีบรู 12:6) แม้ว่าสิ่งนี้มักจะอดทนได้ยาก แต่อันที่จริง เราควรดีใจที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเห็นว่าเราคุ้มค่ากับเวลาและความยุ่งยากที่พระองค์จะทรงแก้ไขเรา” (ดู“เรารักผู้ใดเราก็ตักเตือนและตีสอนผู้นั้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 122)

ฮีบรู 12:9 “บิดาแห่งจิตวิญญาณ”

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าวิญญาณของแต่ละคนเป็นลูกของพระบิดาบนสวรรค์ดังนี้

“ท่านเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งวิญญาณของเรา ท่านมีจุดกำเนิดอันสูงส่งทางวิญญาณ เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของกษัตริย์แห่งสวรรค์ จงทำให้ความจริงดังกล่าวติดแน่นในใจท่านและยึดไว้ให้มั่น ไม่ว่าบรรพชนของท่านจะมีคนมากมายหลายรุ่น ไม่ว่าท่านจะเป็นคนกลุ่มใดหรือเชื้อชาติใด ตระกูลของวิญญาณท่านเขียนได้บรรทัดเดียว นั่นคือ ท่านเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า!” To Young Women and Men, May 1989, 54)

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเน้นย้ำความสำคัญของความเข้าใจว่าเราเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าดังนี้

“ขอให้พิจารณาพลังความคิดที่สอนไว้ในบทเพลงที่เรารัก ‘ฉันลูกพระผู้เป็นเจ้า’ (เพลงสวด,1985, บทเพลงที่ 149) … เพลงนี้เป็นคำตอบของคำถามอันสำคัญยิ่งของชีวิตที่ว่า ‘ฉันเป็นใคร’ ฉันเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้าที่มีเชื้อสายทางวิญญาณของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ การมีบิดามารดาเช่นนั้นบ่งบอกศักยภาพนิรันดร์ของเรา ความคิดอันทรงพลังเช่นนี้เป็นยาต้านซึมเศร้าที่มีฤทธิ์แรง สามารถเพิ่มพลังให้เราแต่ละคนทำการเลือกที่ชอบธรรมและแสวงหาสิ่งดีที่สุดที่อยู่ในตัวเรา ให้กำหนดแนวคิดอันทรงพลังในความคิดของเยาวชนว่าเขาเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้าและท่านได้รับความเคารพในตนเองและแรงจูงใจในการเผชิญปัญหาของชีวิต” (Powerful Ideas, Nov. 1995, 25)

ฮีบรู 12:23 “คริสตจักรของบรรดาบุตรหัวปี”

“คำสอนของเปาโลว่าวิสุทธิชนที่ได้รับการไถ่เข้าร่วม ‘คริสตจักรของบรรดาบุตรหัวปี’ (ฮีบรู 12:23) ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิลในข้อความนี้เท่านั้น ในการเปิดเผยยุคสุดท้าย ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเรียนรู้ว่าศาสนจักรของพระบุตรหัวปีหมายถึงศาสนจักรแห่งสวรรค์ของพระคริสต์ ซึ่งประกอบไปด้วยวิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ ได้รับความสูงส่งในอาณาจักรซีเลสเชียล (ดู คพ. 76:54; 88:4–5) ‘พระเยซูทรงเป็นพระบุตรทางวิญญาณองค์แรกของพระบิดาบนสวรรค์และทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระบิดาในเนื้อหนัง ทรงเป็นบุคคลแรกที่ฟื้นจากความตายในการฟื้นคืนชีวิต (โคโลสี 1:13–18) วิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์กลายเป็นสมาชิกของศาสนจักรของพระบุตรหัวปีในนิรันดร (คพ. 93:21–22)’ (คู่มือพระคัมภีร์, “บุตรหัวปี,” scriptures.lds.org)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 489) วิสุทธิชนเหล่านี้เป็น “ทายาทร่วมกับพระคริสต์” (โรม 8:17) และในที่สุดจะได้รับ “ทุกสิ่งที่พระบิดามี” เป็นมรดก (คพ. 84:38)