คลังค้นคว้า
บทที่ 35: มาระโก 2–3


บทที่ 35

มาระโก 2–3

คำนำ

พระเยซูทรงให้อภัยและทรงรักษาคนง่อย จากนั้นทรงเรียกมัทธิวให้ติดตามพระองค์ พระองค์ทรงสอนเหล่าธรรมาจารย์และฟาริสีเกี่ยวกับวันสะบาโต พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาคนมากมายต่อไป ทรงส่งสานุศิษย์ของพระองค์ออกไปสั่งสอนและเตือนไม่ให้ลบหลู่พระวิญญาณบริสุทธิ์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มาระโก 2:1–12

พระเยซูทรงให้อภัยและทรงรักษาคนง่อย

เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่ามีบางคนที่พวกเขารักกำลังทนทุกข์กับปัญหาสุขภาพที่อันตรายถึงชีวิตซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาเป็นพิเศษ

  • ท่านจะไปหาใครให้มาช่วยคนที่ท่านรัก เพราะเหตุใด

  • ท่านเต็มใจจะทำสิ่งใดหากมีหมอเพียงคนเดียวที่สามารถช่วยได้แต่นัดหมายกับหมอคนนี้ได้ยาก

สรุป มาระโก 2:1–4 โดยอธิบายว่าหมู่บ้านคาเปอรนาอุมในแคว้นกาลิลี มีชายคนหนึ่งเป็น “ง่อย” (ข้อ 3) ซึ่งหมายความว่าเขาเป็นอัมพาต มีคนสี่คนหามคนง่อยคนนี้มาที่บ้านซึ่งพระเยซูประทับอยู่ เมื่อพวกเขาพบว่าบ้านนั้นมีคนชุมนุมมากจนพวกเขาเข้าไปไม่ได้ พวกเขาจึงเจาะดาดฟ้าบ้านและหย่อนแคร่ที่คนง่อยนอนอยู่ลงไปยังที่ประทับของพระผู้ช่วยให้รอด

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 2:5 และเชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาว่าพระเยซูตรัสกับชายที่เป็นง่อยนั้นว่าอะไร ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียง มาระโก 2:6–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 6–7“พวกธรรมาจารย์บางคน” ตอบสนองต่อพระคำของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร (พวกเขาโกรธที่พระองค์ทรงอ้างสิทธิ์ในการให้อภัยบาป)

  • พระเยซูทรงถามอะไรพวกธรรมาจารย์

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงตัวอย่างและสอนโดยการรักษาชายคนนี้อย่างไร (หลังจากนักเรียนตอบ ช่วยพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ พระเยซูคริสต์ทรงมีพลังอำนาจในการรักษาเราทางวิญญาณและทางร่างกาย)

ชี้ให้เห็นว่าเมื่อพวกธรรมาจารย์เห็นชายที่เป็นง่อยลุกขึ้นเดิน พวกเขาได้รับหลักฐานอันปฏิเสธไม่ได้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงมีพลังอำนาจรักษาคนป่วยและพวกเขาได้ยินพระองค์เป็นพยานว่าพระองค์ทรงให้อภัยบาปได้ อย่างไรก็ดี ไม่มีข้อบ่งชี้ใดที่บอกว่าชายเหล่านี้เข้าไปหาพระเยซูหลังจากนั้นเพื่อขออภัยบาปของพวกเขาเอง

(หมายเหตุ: เหตุการณ์ต่างๆ ที่บันทึกไว้ใน มาระโก 2:1–12 จะสนทนาอย่างลึกซึ้งมากขึ้นในบทเรียน ลูกา 5)

มาระโก 2:13–22

พระเยซูทรงเรียกมัทธิวให้ติดตามพระองค์และพระองค์เสวยกับพวกคนเก็บภาษีและคนบาป

แบ่งนักเรียนเป็นคู่ แจกกระดาษให้คู่ละหนึ่งแผ่น เชื้อเชิญให้นักเรียนสนทนาคำถามต่อไปนี้กับคู่ จากนั้นเขียนรายการคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาษ

  • มีสาเหตุใดบ้างที่บุคคลอาจต้องแสวงหาการให้อภัยบาปของพวกเขาจากพระเจ้า

ขอให้นักเรียนสองสามคนรายงานคำตอบของพวกเขาซึ่งอาจจะรวมถึงคำตอบต่อไปนี้ บางคนอาจไม่ต้องการหยุดทำบาป บางคนอาจไม่ต้องการยอมรับหรือสารภาพบาปของพวกเขาเนื่องจากความจองหองหรือความอับอาย คนอื่นๆ อาจหวังว่าพระเจ้าจะทรงให้อภัยพวกเขาแม้เมื่อพวกเขาไม่กลับใจ และบางคนอาจเชื่อว่าพระเจ้าทรงมีอำนาจที่จะให้อภัยได้ แต่พวกเขาขาดศรัทธาว่าพระองค์จะทรงให้อภัยบาปบางอย่างของพวกเขา

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงใน มาระโก 2:13–22 ซึ่งจะกระตุ้นให้เราแสวงหาการให้อภัยจากพระเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 2:13–15 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรหลังจากพระองค์ทรงรักษาคนง่อย

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรหลังจากพระองค์ทรงรักษาชายคนนี้

  • คนเลวีตอบสนองอย่างไรต่อพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอด

อธิบายว่าคนเลวีคนนั้นใช้ชื่อว่ามัทธิวด้วยและเป็นมัทธิวคนเดียวกันกับคนที่เขียนพระกิตติคุณของมัทธิว วลี “นั่งอยู่ที่ด่านภาษี” (ข้อ 14) หมายความว่ามัทธิวเป็นพวกคนเก็บภาษีและเป็น “คนเก็บภาษีที่คาเปอรนาอุม น่าจะเคยรับใช้เฮโรด อันทีพา” (คู่มือพระคัมภีร์ “มัทธิว”) คนยิวจำนวนมากเกลียดชังคนเก็บภาษีเนื่องจากพวกเขามองว่าคนเก็บภาษีเป็นคนทรยศที่เก็บเงินจากคนของตนเองไปให้ชาวโรมัน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 15 มัทธิวทำอะไรให้พระผู้ช่วยให้รอดและสานุศิษย์ของพระองค์

  • มีใครอื่นอีกที่ไปร่วมรับประทานอาหารครั้งนี้

อธิบายว่าระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นมรรตัย การรับประทานอาหารร่วมกันเป็นมากกว่าเพียงการกินและดื่มด้วยกัน เป็นการชี้ให้เห็นสัมพันธภาพอันแนบแน่นและสันติที่ดำรงอยู่ท่ามกลางทุกคนที่เข้าร่วม

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 2:16 และขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าพวกธรรมาจารย์และฟาริสีมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อพวกเขาเห็นพระผู้ช่วยให้รอดเสวยกับพวกคนเก็บภาษี

  • พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีพูดว่าอะไร

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพวกเขาจึงวิพากษ์วิจารณ์พระเยซูที่เสวยกับคนเก็บภาษีและคนบาป

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 2:17 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำตอบของพระผู้ช่วยให้รอดต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของพวกธรรมาจารย์และฟาริสี

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้คำใดเพื่อบรรยายถึงพระองค์เอง (ชี้ให้เห็นว่าโดยการใช้คำว่า หมอ พระผู้ช่วยให้รอดทรงยืนยันถึงพลังอำนาจของพระองค์ในการรักษาทั้งทางวิญญาณและทางร่างกาย)

  • คำตอบของพระผู้ช่วยให้รอดอาจช่วยให้พวกธรรมาจารย์และฟาริสีเข้าใจสาเหตุที่พระองค์ทรงคบค้าสมาคมกับพวกคนเก็บภาษีและคนบาปอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจาก ข้อ 17 เกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบสนองต่อบาปของเรา (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน พระผู้ช่วยให้รอดทรงปรารถนาจะช่วยให้เรากลับใจจากบาปของเราและได้รับการรักษา)

  • เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเชื่อว่าพระเยซูทรงปรารถนาจะช่วยให้เรากลับใจและได้รับการรักษา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เครก เอ. คาร์ดอนแห่งสาวกเจ็ดสิบ

ภาพ
เอ็ลเดอร์เครก เอ. คาร์ดอน

“พระเจ้าทรงรักเราและทรงต้องการให้เราเข้าใจความเต็มพระทัยของพระองค์ที่จะให้อภัย …

“… เราทั้งหลาย รวมถึงผู้ที่พยายามต่อสู้เพื่อเอาชนะนิสัยเสพติดบางอย่างไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเสพติด หรือสื่อลามก และผู้ที่ใกล้ชิดกับคนเหล่านั้น ควรรู้ว่าพระเจ้าจะทรงจดจำความพยายามอันชอบธรรมของเรา และจะทรงให้อภัยด้วยความรักเมื่อมีการกลับใจอย่างสมบูรณ์” (“พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้อภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 16)

  • เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้าทรงปรารถนาจะช่วยให้เรากลับใจและได้รับการอภัยจากพระองค์

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาเป็นเหมือนคนเก็บภาษีและคนบาป (ที่ยอมรับว่าพวกเขาต้องการพระผู้ช่วยให้รอดและมาหาพระองค์) หรือเหมือนกับพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี (ที่ไม่มาหาพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อแสวงหาการให้อภัยและพลังอำนาจแห่งการรักษาของพระองค์)

เป็นพยานถึงพลังอำนาจและความปรารถนาของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะรักษาเรา กระตุ้นให้นักเรียนแสวงหาการให้อภัยผ่านการกลับใจเมื่อจำเป็น

สรุป มาระโก 2:18–22 โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงสอนถึงสาเหตุที่สานุศิษย์ของพระองค์ไม่ได้อดอาหารขณะที่พระองค์อยู่กับพวกเขา พระองค์ทรงสอนด้วยว่าเหตุใดจึงยากสำหรับบางคนที่จะรับพระกิตติคุณของพระองค์ (หมายเหตุ: คำสอนเหล่านี้จะครอบคลุมอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในบทเรียน ลูกา 5)

มาระโก 2:23–3:6

พระเยซูทรงสอนเกี่ยวกับวันสะบาโต

ถามนักเรียนว่าพวกเขาเคยเลือกที่จะไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมใดเพื่อรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์บ้างหรือไม่ เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขา

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองขณะที่พวกเขาศึกษา มาระโก 2–3 ต่อ ท่านรู้ได้อย่างไรว่ากิจกรรมใดเหมาะสมที่จะทำในวันสะบาโต

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสองกลุ่ม เชื้อเชิญนักเรียนครึ่งหนึ่งอ่าน มาระโก 2:23–28 ในใจ (กระตุ้นให้นักเรียนเหล่านี้อ่าน งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มาระโก 2:26–27 ด้วย [คู่มือพระคัมภีร์]) ขอให้นักเรียนอีกครึ่งหนึ่งอ่าน มาระโก 3:1–6 ในใจ แนะนำให้นักเรียนมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดและสานุศิษย์ของพระองค์ทำ ซึ่งพวกสะดูสีเชื่อว่าเป็นการละเมิดพระบัญญัติการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • พวกฟาริสีเชื่อว่าพระผู้ช่วยให้รอดและสานุศิษย์ของพระองค์ทำผิดกฎอะไรในวันสะบาโต (เด็ดรวงข้าวและรักษาคน)

  • เหตุใดพวกฟาริสีจึงคิดว่าเป็นการละเมิดกฎของพระผู้เป็นเจ้าในการเด็ดรวงข้าวหรือรักษาคนในวันสะบาโต

หากจำเป็น เตือนความจำนักเรียนว่าครูสอนชาวยิวได้เพิ่มกฎและการตีความของพวกเขาเอง ที่เรียกว่ากฎปากเปล่าหรือประเพณีเข้าไปในกฎของโมเสส กฎที่เพิ่มขึ้นมาเหล่านี้มีเจตนาป้องกันไม่ให้ละเมิดกฎของพระผู้เป็นเจ้า แต่พวกเขากีดกันบางคนจากการเข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริงของพระบัญญัติบางข้อเช่นกัน รวมถึงพระบัญญัติที่ให้รักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน เราสามารถรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์โดย …

  • ท่านจะเติมข้อความนี้ให้ครบถ้วนโดยใช้คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน มาระโก 2:3อย่างไร (หลังจากที่นักเรียนตอบ ให้เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนเพื่อสื่อถึงความจริงต่อไปนี้ เราสามารถรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์โดยการเฉลิมพระเกียรติพระผู้เป็นเจ้าและทำงานดี)

  • เราสามารถเฉลิมพระเกียรติพระผู้เป็นเจ้าในวันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ในทางใดบ้าง

  • มีแบบอย่างอะไร บ้างของการทำงานดีในวันสะบาโต

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพวกเขาจะตัดสินได้อย่างไรว่ากิจกรรมนั้นเหมาะสมสำหรับวันสะบาโต ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“มีเส้นแบ่งตรงไหนว่าอะไรเป็นที่ยอมรับได้และอะไรเป็นที่ยอมรับไม่ได้ในวันสะบาโต เราแต่ละคนต้องตอบคำถามนี้ด้วยตัวเราเองภายใต้คำแนะนำ แม้คำแนะนำเหล่านี้จะมีอยู่ในพระคัมภีร์และในถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบัน แต่ต้องเขียนไว้ในใจเราเช่นกันและควบคุมโดยใช้มโนธรรมของเรา … แทบจะไม่มีการละเมิดการนมัสการวันสะบาโตที่ร้ายแรงแต่อย่างใดหากเรานอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระเจ้าและถวายใจของเรา จิตวิญญาณของเรา และความคิดของเราแด่พระองค์ (ดู มัทธิว 22:37)

“เราแต่ละคนจะเป็นผู้ตัดสินว่าสิ่งใดมีค่าควรหรือไม่มีค่าควรในวันสะบาโตโดยพยายามซื่อสัตย์กับพระเจ้า ในวันสะบาโตเราควรทำสิ่งที่เราต้องทำและสิ่งที่เราควรทำโดยมีเจตคติของการนมัสการ จากนั้นจึงจำกัดกิจกรรมอื่นๆ ของเรา” (“The Lord’s Day,” Ensign, Nov. 1991, 35)

  • ท่านได้รับพรอย่างไรเมื่อท่านพยายามนมัสการพระผู้เป็นเจ้าและทำงานดีในวันสะบาโต

กระตุ้นให้นักเรียนไตร่ตรองวิธีหนึ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ดีขึ้นเพื่อรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์และให้เขียนเป้าหมายหนึ่งที่จะทำเช่นนั้นในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

มาระโก 3:7–35

พระเยซูทรงรักษาคนมากมาย ทรงส่งอัครสาวกของพระองค์ออกไปสั่งสอน และทรงเตือนคนอื่นเกี่ยวกับการลบหลู่พระผู้เป็นเจ้า

สรุป มาระโก 3:7–35 โดยอธิบายว่าพระเยซูเสด็จไปทะเลกาลิลีและทรงรักษาผู้คนมากมายที่ติดตามพระองค์ไปที่นั่น รวมถึงคนที่มีผีโสโครกเข้าสิง หลังจากการเลือกอัครสาวกสิบสอง พระเยซูทรงแต่งตั้งพวกเขาและทรงส่งพวกเขาออกไปสั่งสอน รักษา และขับมารออก จากนั้นพระองค์ทรงเตือนพวกธรรมาจารย์เกี่ยวกับการลบหลู่พระวิญญาณบริสุทธิ์และทรงสอนว่าครอบครัวของพระองค์คือคนที่ทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์

(หมายเหตุ: เหตุการณ์บางอย่างที่บันทึกใน มาระโก 3:7–35 ครอบคลุมเรื่องราวที่ลึกซึ้งมากขึ้นในบทเรียน มัทธิว 12:22–35)

เพื่อสรุป ท่านอาจต้องการเป็นพยานถึงความจริงที่ระบุไว้ในบทเรียนนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

มาระโก 2:7 พระเยซูทรงรักษาคนที่เป็นง่อยทั้งทางวิญญาณและทางร่างกาย

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี สอนว่าพระเยซูประทานหลักฐานที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์เมื่อพระองค์ทรงรักษาชายที่เป็นง่อย

“เหตุการณ์นี้ในพระชนม์ชีพของพระเจ้าเป็นหลักฐานที่เห็นได้ชัดและหักล้างไม่ได้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ นี่เป็นสิ่งที่ทราบกันในบรรดาผู้คนซึ่งได้รับการปฏิบัติศาสนกิจจากพระองค์ พระองค์ทรงแสดงประจักษ์พยานบ่อยครั้งว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นพระบิดาของพระองค์และได้ทรงส่งเสริมพยานส่วนพระองค์นั้นด้วยการปฏิบัติศาสนกิจของการสั่งสอนและการรักษาที่ไม่มีใครเทียบได้ นั่นเป็นจุดประสงค์ของพระองค์ที่จะทรงประกาศว่าพระองค์ทรงทำสิ่งที่ไม่มีผู้ใดทำได้ยกเว้นพระผู้เป็นเจ้า เพื่อพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงทำสิ่งนั้นโดยการแสดงให้ประจักษ์มากขึ้นถึงพลังอำนาจของพระบิดา

“ทั้งพระเยซูและ ‘อาจารย์สอนธรรมบัญญัติ’ ซึ่งอยู่ที่นั่นรู้ว่าไม่มีผู้ใดยกเว้นพระผู้เป็นเจ้าที่จะให้อภัยบาปได้ ดังนั้น ในฐานะพยานโดยตรงและล้ำลึกว่าพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าอยู่กับพระองค์ พระเยซูทรงใช้ (อาจจะแสวงหา) โอกาสอันเหมาะสมนี้เพื่อให้อภัยบาป โดยที่เวลานั้นพระองค์ถูกเรียกมาสอบสวนจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ซึ่งรู้ (โดยสิทธิ์) ว่าสมมติฐานผิดๆ เกี่ยวกับพลังอำนาจในการอภัยบาปนั้นเป็นการลบหลู่พระผู้เป็นเจ้า พระเยซูทรงทำสิ่งที่ไม่มีผู้หลอกลวงคนใดทำได้คือ—พระองค์ทรงพิสูจน์พลังอำนาจความเป็นพระผู้เป็นเจ้าของพระองค์โดยการรักษาและให้อภัยมนุษย์ สำหรับคำถามที่มีต่อพระองค์ว่า ‘ต้องใช้พลังอำนาจในการยกโทษบาปมากกว่าการทำให้คนป่วยลุกขึ้นเดินหรือไม่’ ย่อมมีเพียงคำตอบเดียว! พลังอำนาจทั้งสองเป็นหนึ่งเดียว พระองค์ผู้ทรงสามารถทำสิ่งหนึ่งได้ ย่อมทำอีกสิ่งหนึ่งได้เช่นกัน ” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:177–78)

มาระโก 2:27–28 วันแห่งการสรรเสริญพระเกียรติพระผู้เป็นเจ้า

เอ็ลเดอร์มาร์ค อี. พีเตอร์สัน แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าการที่เราถือปฏิบัติวันสะบาโตสื่ออะไรต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

“การถือปฏิบัติหรือไม่ถือปฏิบัติวันสะบาโตคือเครื่องมือที่มีความแม่นยำในการวัดเจตคติที่เรามีต่อพระเจ้าเป็นการส่วนตัว ต่อการทนทุกข์ทรมานของพระองค์ในสวนเกทเสมนี การสิ้นพระชนม์บนกางเขน และการฟื้นคืนพระชนม์จากความตาย” (“The Sabbath Day,” Ensign, May 1975, 49)

มาระโก 3:4 “เป็นเรื่องถูกกฎหรือไม่ที่จะทำการดีในวันสะบาโต หรือทำการชั่วร้าย”

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ช่วยอธิบายว่า “ทำการดี” ในวันสะบาโตหมายความว่าอย่างไร

“วันสะบาโตเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะทำสิ่งที่มีค่าควรและศักดิ์สิทธิ์ การงดจากการทำงานและกิจกรรมรื่นเริงเป็นสิ่งสำคัญ แต่นั่นยังไม่เพียงพอ สะบาโตเรียกร้องความคิดและการกระทำที่สร้างสรรค์ หากคนๆ หนึ่งเพียงปล่อยเวลาผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลยในวันสะบาโต เขากำลังทำลายวันสะบาโต” (“The Sabbath—a Delight,” Ensign, Jan. 1978, 4)

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้คำแนะนำต่อไปนี้เกี่ยวกับการถือปฏิบัติวันสะบาโต

“ในสมัยที่ข้าพเจ้ายังหนุ่ม ข้าพเจ้าศึกษางานของผู้อื่นที่รวบรวมรายการสิ่งที่ทำได้และสิ่งที่ทำไม่ได้ในวันสะบาโต ภายหลังข้าพเจ้าจึงเรียนรู้จากพระคัมภีร์ว่าพฤติกรรมและเจตคติของข้าพเจ้าเกี่ยวกับวันสะบาโตเป็นหมายสำคัญระหว่างข้าพเจ้ากับพระบิดาบนสวรรค์ [ดู อพยพ 31:13; เอเสเคียล 20:12, 20] ด้วยความเข้าใจนั้น ข้าพเจ้าไม่ต้องใช้รายการสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้อีกต่อไป เมื่อข้าพเจ้าต้องตัดสินใจว่ากิจกรรมนี้เหมาะสมสำหรับวันสะบาโตหรือไม่ ข้าพเจ้าเพียงถามตนเองว่า ‘ข้าพเจ้าต้องการถวายหมายสำคัญอะไรแด่พระผู้เป็นเจ้า’ คำถามนั้นทำให้การเลือกของข้าพเจ้าเกี่ยวกับวันสะบาโตชัดเจนมาก …

“… ท่านจะส่งสัญญาณอะไรให้พระเจ้าเพื่อแสดงถึงความรักที่ท่านมีต่อพระองค์” (“สะบาโตคือวันปีติยินดี,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 130)