คลังค้นคว้า
บทที่ 38: มาระโก 7–8


บทที่ 38

มาระโก 7–8

คำนำ

พระเยซูทรงตำหนิพวกฟาริสีเกี่ยวกับประเพณีผิดๆ ของพวกเขา จากนั้นพระองค์ทรงรักษาเด็กคนหนึ่งที่โดนผีสิงด้วยความสงสาร เช่นเดียวกันกับชายคนหนึ่งที่หูหนวกและพูดติดอ่าง พระองค์ทรงเลี้ยงอาหารคนสี่พันคนใกล้กับทะเลกาลิลีและเสด็จไปที่เบธไซดาซึ่งพระองค์ทรงรักษาชายตาบอด

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มาระโก 7

พระเยซูทรงตำหนิพวกฟาริสี ทรงรักษาเด็กที่ถูกผีสิง และทรงรักษาชายหูหนวก

ก่อนเริ่มชั้นเรียน ให้คำสั่งต่อไปนี้กับนักเรียนสามคน นักเรียน 1: “เมื่อออกคำสั่ง ให้เดินไปรอบๆ ชั้นเรียนโดยไม่มีเสื้อนอกและทำเป็นหนาวสั่น” นักเรียน 2: “เมื่อออกคำสั่ง ให้เดินไปรอบๆ และถามว่ามีใครเห็นสัตว์เลี้ยงของครอบครัวที่หายไปหรือไม่” นักเรียน 3: “เมื่อออกคำสั่ง ให้เปิดซิบกระเป๋าเพื่อว่าเมื่อท่านเดินท่านจะทำของหล่น” (ท่านอาจปรับกิจกรรมโดยใช้สถานการณ์ที่จะแสดงถึงนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ให้ระวังอย่าใช้เวลามากเกินไป)

เมื่อชั้นเรียนเริ่ม ให้นักเรียนทำคำสั่งเหล่านี้ให้เสร็จทีละอย่าง ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าสถานการณ์ทั้งสามมีอะไรเหมือนกัน

  • สถานการณ์เหล่านี้มีอะไรเหมือนกัน (สถานการณ์แต่ละอย่างนี้แทนคนที่ต้องการความช่วยเหลือ)

  • ท่านมีโอกาสช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือบ่อยเพียงใด มีโอกาสใดบ้างที่ท่านเห็นเมื่อไม่นานมานี้

กระตุ้นนักเรียนเมื่อพวกเขาศึกษา มาระโก 7–8 ให้มองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนให้เราทำเมื่อเราสังเกตเห็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือ

สรุป มาระโก 7:1–30 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงตำหนิพวกฟาริสีที่ทำตามประเพณีผิดๆ พระองค์ทรงรักษาลูกสาวสตรีชาวกรีกที่โดนผีโสโครกสิงด้วย เตือนนักเรียนว่าเวลานี้ พระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอดมีต่อเชื้อสายแห่งอิสราเอลไม่ใช่ต่อคนต่างชาติ กระนั้นพระองค์ยังทรงช่วยหญิงต่างชาติผู้รบเร้าพระองค์ด้วยความสงสาร

เชื้อเชิญให้นักเรียนหาเมืองไทระ ไซดอน และทะเลกาลิลีในแผนที่พระคัมภีร์ไบเบิล เลขที่ 11, “แผ่นดินบริสุทธิ์ในสมัยพันธสัญญาใหม่” อธิบายว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงออกจากไทระและไซดอนพระองค์เสด็จไปที่ชายฝั่งตะวันออกของทะเลกาลิลี ไปแคว้นทศบุรี

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านออกเสียง มาระโก 7:31–37 พร้อมกันโดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงความสงสารต่อชายคนหนึ่งในแคว้นทศบุรีอย่างไร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนสนทนาคำถามต่อไปนี้กับคู่ของตน

  • ชายคนนี้ต้องการรักษาให้หายจากโรคอะไร

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรก่อนรักษาชายคนนี้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจการกระทำของพระผู้ช่วยให้รอด เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“พระเจ้าทรงปฏิบัติกับจิตวิญญาณที่เชื่อผู้ไม่สามารถได้ยินพระคำของพระองค์หรือตอบพระคำเหล่านั้นได้คล่อง ดังนั้นจะมีอะไรที่เป็นธรรมชาติมากไปกว่าการใช้สัญลักษณ์ธรรมดาๆ ซึ่งคนหูหนวกและติดอ่างรู้จักและเข้าใจ เพื่อระบุว่าพระอาจารย์ทรงทำและจะทำอะไรได้… ” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:373)

  • การกระทำของพระผู้ช่วยให้รอดในสถานการณ์นี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระองค์

อธิบายว่าแม้พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนคนที่พระองค์ทรงรักษาไม่ให้ประกาศปาฏิหาริย์ของพระองค์ แต่คนในแคว้นทศบุรียังคงได้ยินเกี่ยวกับสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ และฝูงชนมาหาพระองค์ (ดู มาระโก 7:36–37)

มาระโก 8:1–21

พระเยซูทรงเลี้ยงอาหารคนมากกว่าสี่พันคน

เชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • มีบางคนสังเกตว่าท่านต้องการความช่วยเหลือและทำบางอย่างเพื่อช่วยเหลือท่านเมื่อใด

อธิบายว่าต่อจากเนื้อหาในบทเรียน นักเรียนที่อยากแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขาจะมีโอกาสทำเช่นนั้น

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 8:1–3 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามโดยมองหาปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากฝูงชนที่ตามพระเยซู

  • เกิดปัญหาอะไรขึ้นกับฝูงชน ใครทราบความต้องการของฝูงชน

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงกังวลว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้นหากผู้คนพยายามกลับบ้านโดยไม่ได้รับประทานอะไรก่อน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 2 พระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกอย่างไรต่อฝูงชน (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลี “เราสงสารฝูงชนนี้” ซึ่งระบุว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกสงสารและห่วงใยผู้คน)

เชิญนักเรียนสองคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก มาระโก 8:4–9 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาผลที่เกิดจากความสงสารของพระผู้ช่วยให้รอด

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรให้ฝูงชน

  • พระองค์ทรงเลี้ยงอาหารคนกี่คน

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในเรื่องนี้ (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้ เราสามารถทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยการรู้ถึงความต้องการของผู้อื่นและจากนั้นช่วยสนองความต้องการเหล่านั้น เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนให้เข้าใจหลักธรรมนี้ อธิบายว่าซิสเตอร์ลินดา เค. เบอร์ตัน ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนว่าเพื่อทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในการรับใช้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า เราต้อง “สังเกตก่อน แล้วรับใช้” (“สังเกตก่อน แล้วรับใช้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 78) เขียนวลีนี้ไว้บนกระดานใต้หลักธรรม

  • เราสามารถเรียนรู้ที่จะสังเกตความต้องการของคนอื่นได้อย่างไร (ท่านอาจชี้ให้เห็นว่าความต้องการบางอย่างอาจเห็นไม่ชัดในทันที อย่างไรก็ดี เราสามารถสวดอ้อนวอนและทูลขอความช่วยเหลือในการสังเกตเห็นความต้องการของผู้อื่นและมุ่งความคิดของเราไปที่ผู้อื่นแทนตัวเราเอง)

  • มีสิ่งใดที่จะขวางกั้นความสามารถของเราในการสังเกตเห็นความต้องการของผู้อื่นและช่วยสนองความต้องการเหล่านั้น

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคน แบ่งปัน ประสบการณ์ที่พวกเขาเขียนไว้เกี่ยวกับเวลาที่มีบางคนสังเกตว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือและให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโธมัส เอส. มอนสัน

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“มีกี่ครั้งที่ใจของท่านอ่อนไหวเมื่อท่านเห็นความขัดสนของผู้อื่น มีกี่ครั้งที่ท่าน ตั้งใจ เป็นคนหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือ แต่มีกี่ครั้งในแต่ละวันที่ท่านปล่อยให้ผู้อื่นเป็นคนช่วยโดยคิดว่า ‘โอ แน่นอน ต้องมีคนมาดูแลความต้องการนั้น’

“เรามัวแต่ให้ความสนใจกับชีวิตอันวุ่นวายของเรา อย่างไรก็ตามถ้าเราฉุกคิดและมองอย่างพินิจพิเคราะห์ว่าเรากำลังทำอะไร เราอาจพบว่าเรากำลังหมกมุ่นอยู่กับ ‘สิ่งที่ไร้สาระ’ หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือเรามักจะใช้เวลาเอาใจใส่เรื่องที่ไม่ค่อยมีความสลักสำคัญในภาพรวม” (“วันนี้ฉันทำอะไรให้ใครบ้าง?” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 104)

ขอให้นักเรียนนึกภาพเหตุการณ์ทั่วไปในแต่ละวันของพวกเขา เชื้อเชิญให้พวกเขานึกถึงผู้คนที่พวกเขาพบเจอที่อาจต้องการความช่วยเหลือจากพวกเขาเช่น พ่อแม่ พี่น้อง และเพื่อนๆ กระตุ้นนักเรียนให้คำมั่นที่จะทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยเสนอความช่วยเหลือเมื่อพวกเขารู้ว่ามีคนต้องการความช่วยเหลือ

สรุป มาระโก 8:10–21 โดยอธิบายว่าหลังจากทรงเลี้ยงอาหารคน 4,000 คนอย่างปาฏิหาริย์ พระเยซูและสานุศิษย์ของพระองค์ลงเรือไปยังสถานที่ซึ่งเรียกว่าดาลมานูธา ที่นั่นพวกฟาริสีขอให้พระองค์ทรงแสดงหมายสำคัญต่อพวกเขา พระเยซูทรงปฏิเสธและสอนสานุศิษย์ของพระองค์ให้ระวังหลักคำสอนของพวกฟาริสีซึ่งหลักคำสอนนั้นส่งผลให้มีความมืดบอดทางวิญญาณ

มาระโก 8:22–26

พระเยซูทรงค่อยๆ รักษาคนตาบอด

อธิบายว่าพระเยซูและสานุศิษย์ของพระองค์ออกไปจากเขตเมืองดาลมานูธาและไปที่ๆ เรียกว่าเบธไซดา เมื่อพวกพระองค์ไปถึงที่นั่น มีคนพาชายตาบอดคนหนึ่งมาให้พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษา

เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก มาระโก 8:22–26 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาคนคนตาบอดอย่างไร

  • เกิดอะไรขึ้นหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงวางพระหัตถ์ลงบนชายตาบอดครั้งแรก (ท่านอาจต้องการอธิบายประโยคที่ว่า “ข้าพระองค์มองเห็นคนเหมือนต้นไม้เดินไปเดินมา” [ข้อ 24] บ่งชี้ว่าชายตาบอดมองเห็นได้ แต่ไม่ชัด)

  • เกิดอะไรขึ้นหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงวางพระหัตถ์ลงบนชายตาบอดครั้งที่สอง

จัดเตรียมสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้นักเรียน และเชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กระตุ้นให้นักเรียนดูตาม โดยมองหาเหตุผลที่พระเยซูอาจทรงค่อยๆ รักษาชายคนนั้น หรือรักษาทีละระดับ

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“ปาฏิหาริย์ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งอื่นๆ นี่เป็นตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวที่บันทึกว่าพระเยซูทรงรักษาคนๆ หนึ่งทีละระดับ นี่อาจเป็นว่าพระเจ้าของเราทรงทำตามรูปแบบนี้เพื่อทำให้คนที่อ่อนแอเข้มแข็งขึ้นแต่ก็เพิ่มศรัทธาของชายตาบอด นี่อาจดูเหมือนว่าตัวอย่างการสัมผัสทางกายกับพระเยซูที่ทำสำเร็จนั้นส่งผลในการเพิ่มความหวัง ความเชื่อมั่น และศรัทธาต่อคนตาบอด พระเยซูพระองค์เองทรง (1) จูงมือคนตาบอดออกไปนอกหมู่บ้าน (2) ทรงบ้วนน้ำลายไปที่ดวงตาของคนตาบอด (3) ทรงปฏิบัติศาสนพิธีโดยการวางมือ และ (4) ทรงวางพระหัตถ์ของพระองค์เป็นครั้งที่สองบนดวงตาของชายคนนี้

“เป็นที่แน่ชัดว่า วิธีที่การรักษาที่เกิดขึ้นสอนเราว่ามนุษย์ควรแสวงหาพระคุณที่เยียวยาของพระองค์สุดพลังและศรัทธาของพวกเขา แม้ทำเช่นนั้นจะพอแค่การรักษาบางส่วนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากการได้รับการรักษา พวกเราอาจได้รับความเชื่อมั่นและศรัทธาที่เพิ่มขึ้นเพื่อได้รับการเยียวยาและหายดี มนุษย์มักจะได้รับการรักษาจากความเจ็บป่วยทางวิญญาณทีละขั้น ทีละตอนขณะที่พวกเขาทำให้ชีวิตของตนเองสอดคล้องกับแผนและจุดประสงค์ของพระเจ้า” (Doctrinal New Testament Commentary, 1:379–80)

  • การค่อยๆ ได้รับการรักษาอาจเพิ่มพูนศรัทธาที่บางคนมีต่อพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร

  • เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าใจว่าพรบางประการ เช่นการได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระกิตติคุณหรือได้รับการรักษาทางร่างกายหรือทางวิญญาณ มักจะค่อยๆ เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นทีละระดับ แทนที่จะเกิดขึ้นทันทีหรือทั้งหมดในคราวเดียว

มาระโก 8:27–38

เปโตรเป็นพยานว่าพระเยซูคือพระคริสต์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 8:27 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาคำถามที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงถามสานุศิษย์ของพระองค์ เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ขอให้นักเรียนคิดทบทวนว่าเปโตรตอบคำถามนี้ ตามที่บันทึกไว้ใน มัทธิว 16:16 อย่างไร (ข้อนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์) หากพวกเขาจำไม่ได้ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 8:29 (ข้อนี้มีคำตอบของเปโตรรวมอยู่ด้วย)

สรุป มาระโก 8:30–38 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสบอกสานุศิษย์ของพระองค์ไม่ให้บอกคนอื่นเกี่ยวกับการเป็นพระคริสต์หรือพระเมสสิยาห์ของพระองค์ พระองค์ทรงเริ่มสอนพวกเขาเกี่ยวกับการทนทุกข์และการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ที่จะเกิดขึ้น

สรุปบทเรียนโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนเป็นพยานถึงความจริงที่พวกเขาเรียนรู้จากพระคัมภีร์ที่พวกเขาศึกษาระหว่างบทเรียน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

มาระโก 7:11 “โกระบาน” คืออะไร

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายความหมายของ “โกระบาน” และสาเหตุที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงประณามวิธีที่พวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ใช้การถือปฏิบัตินี้

“นี่เป็นสิ่งที่พระเยซูทรงต้องการให้เราเข้าใจ บิดามารดาทั้งหลาย ซึ่งอาจจะแก่ชรา หิวโหย เปลือยเปล่า และไร้ที่อยู่อาศัย … แต่พวกเขามีลูก—ลูกที่รุ่งเรืองและมีความเป็นอยู่ที่ดี … เป็นที่แน่ชัดว่ามีเพียงพอให้กับทุกคนและเหลือเฟือ แต่ไม่ ลูกๆ บอกว่า ‘นี่เป็นโกระบาน’ ซึ่งหมายถึง ‘เราได้สาบานต่อจุดประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ ท่านทั้งหลาย พ่อแม่ของเรา อาจจะหนาว หิวโหย ไร้ที่อยู่อาศัย เราไม่มีทรัพย์สินที่จะช่วยท่าน เรามีใจจดจ่ออยู่กับพระเจ้า เราสาบานว่าจะถวายทรัพย์สินของเราแด่พระองค์ เราไม่สามารถละเมิดคำสาบานนั้นได้’

“หรืออาจพูดว่า ‘นี่เป็นโกระบาน; ข้าพเจ้าได้สาบานว่าทรัพย์สินของข้าพเจ้านั้นประหนึ่งว่าจะมีไว้เพื่ออุทิศแด่จุดประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น และแม้ข้าพเจ้าอาจจะใช้มันไปตลอดชีวิต ท่านก็จะไม่ได้ทรัพย์สินนั้นเนื่องจากคำสาบานของข้าพเจ้า’

“‘… เป็นสิ่งสำคัญที่ข้าพเจ้าจะรักษาคำสาบานมากกว่าการทำพันธะรับผิดชอบให้เกิดสัมฤทธิผลในการเลี้ยงดูบิดามารดาข้าพเจ้า ประเพณีปากเปล่าของผู้นำมาก่อนกฎที่โมเสสเขียนไว้’

“นี่ดูเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อว่าศาสนาสามารถดิ่งลึกลงไปได้ขนาดนั้นและคนที่สารภาพว่าจะรับใช้พระเยโฮวาห์แห่งบรรพบุรุษของพวกเขาจะละเลยมโนธรรมของตนเองและรู้สึกว่าพวกเขาเป็นอิสระจากการรักษากฎของพระองค์ พระเยซูทรงเรียกคนเหล่านี้ว่าพวกหน้าซื่อใจคดและตรัสว่าการนมัสการของพวกเขาเปล่าประโยชน์” (The Mortal Messiah, 4 vols. [1979–81], 2:407–8)

มาระโก 8:1–9 “เราสงสารฝูงชนนี้”

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน สอนเกี่ยวกับการกระทำเพื่อช่วยเหลือคนอื่นดังนี้

“ความต้องการของผู้อื่นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เราทุกคนสามารถทำบางอย่างเพื่อช่วยใครสักคน …

พี่น้องทั้งหลาย คนที่อยู่รอบข้างเรามีผู้ต้องการความเอาใจใส่ กำลังใจ ความช่วยเหลือ การปลอบโยน ความเมตตาจากเรา—ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนสนิทมิตรสหาย หรือคนแปลกหน้า เราคือพระหัตถ์ของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกโดยมีพระบัญชาให้รับใช้และให้กำลังใจบุตรธิดาของพระองค์ พระองค์ทรงพึ่งพาเราทุกคน” (“วันนี้ฉันทำอะไรให้ใครบ้าง?” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 103, 104)