คลังค้นคว้า
บทที่ 40: มาระโก 9:30–50


บทที่ 40

มาระโก 9:30–50

คำนำ

พระเยซูรับสั่งกับสานุศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ที่จะมาถึงของพระองค์และทรงสอนพวกเขาว่าใครจะยิ่งใหญ่ที่สุดในแผ่นดินของพระเจ้า พระองค์ทรงเตือนถึงผลของการนำคนอื่นไปสู่บาปและแนะนำสานุศิษย์ของพระองค์ให้แยกตนเองออกจากอิทธิพลที่จะนำพวกเขาไปสู่บาป

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มาระโก 9:30–37

พระเยซูตรัสล่วงหน้าถึงการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์และทรงสอนว่าใครจะยิ่งใหญ่ที่สุดในแผ่นดินของพระเจ้า

นำเอาสิ่งของชิ้นหนึ่งซึ่งมีกลิ่นแรงที่นักเรียนรู้จักมาที่ชั้นเรียน (เช่นส้มหรือหัวหอมที่พึ่งตัดใหม่หรือขนมปังใหม่) ก่อนเริ่มชั้นเรียนให้วางสิ่งของชิ้นนี้ไว้ในชั้นเรียนโดยไม่ให้นักเรียนมองเห็น

เริ่มชั้นเรียนโดยถามนักเรียนว่าพวกเขาสังเกตว่ามีกลิ่นอะไรใหม่หรือไม่เมื่อพวกเขาเดินเข้ามาในห้องเรียน

  • กลิ่นนี้ทำให้ท่านนึกถึงอะไรหรือเคยทำอะไร หากมี เมื่อท่านจำกลิ่นได้

ชี้ให้เห็นว่าคล้ายคลึงกับการที่กลิ่นนี้มีผลต่อเรา เราสามารถมีอิทธิผลต่อความคิดหรือพฤติกรรมของคนอื่นได้ เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงใน มาระโก 9:30–50 ที่จะช่วยพวกเขาพิจารณาอิทธิพลที่พวกเขามีต่อความพยายามของคนอื่นในการติดตามพระผู้ช่วยให้รอดเช่นเดียวกับอิทธิพลของคนอื่นที่มีต่อพวกเขา

อธิบายว่าหลังจากขับผีออกจากเด็กหนุ่ม (ดู มาระโก 9:17–29) พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จผ่านกาลิลีไปกับสานุศิษย์ของพระองค์ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 9:31–32 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาเหตุการณ์ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงพยากรณ์

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงพยากรณ์เหตุการณ์ใดบ้าง

สรุป มาระโก 9:33–37 โดยอธิบายว่าเมื่อพระเยซูเสด็จมาที่คาเปอรนาอุม พระองค์ทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ว่าใครจะยิ่งใหญ่ที่สุดในแผ่นดินของพระเจ้า พระองค์ทรงแนะนำให้พวกเขารับคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนเป็นเหมือนเด็กและคนที่รับพระองค์เข้ามาสู่ศาสนจักร (ดูงานแปลของโจเซฟ สมิธ, มาระโก 9:34–35 ) (หมายเหตุ: คำสอนเหล่านี้จะสนทนาเชิงลึกในบทเรียนสำหรับ มาระโก 10)

มาระโก 9:38–50

พระเยซูทรงเตือนเกี่ยวกับการเป็นอิทธิพลให้คนอื่นทำบาปและการไม่แยกตนเองออกจากอิทธิพลชั่วร้าย

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน มาระโก 9:38 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสถานการณ์ที่อัครสาวกยอห์นบอกพระผู้ช่วยให้รอด

  • ยอห์นรายงานอะไรต่อพระผู้ช่วยให้รอด

อธิบายว่าอัครสาวกห้ามชายคนนี้จากการขับผีออกเนื่องจากเขาไม่ได้ร่วมเดินทางกับอัครสาวกสิบสอง อย่างไรก็ตาม พระผู้ช่วยให้รอดตรัสบอกพวกเขาว่าอย่าห้ามชายคนนั้น (ชี้ให้เห็นว่าเขาเป็นคนชอบธรรมที่มีสิทธิอำนาจ) และสอนว่าคนที่ช่วยเหลือตัวแทนของพระองค์จะได้รับบำเหน็จ (ดู มาระโก 9:39–41)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 9:42 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพระดำรัสเตือนของพระผู้ช่วยให้รอด อธิบายว่าในบริบทนี้ คำว่าทำให้ หลงผิด หมายถึงเป็นอิทธิพลให้คนอื่นสะดุด หรือนำให้หลงทาง หรือเป็นอิทธิพลให้บางคนทำบาปหรือละทิ้งความเชื่อของพวกเขา

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนคนกลุ่มใดไม่ให้เป็นอิทธิพลในการทำบาป (ท่านอาจต้องการอธิบายว่า “ผู้เล็กน้อยเหล่านี้สักคนหนึ่งที่วางใจใน [พระเยซู]” รวมถึงคนที่ความเชื่อยังเยาว์ เช่นเยาวชนและผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่ สานุศิษย์ที่อ่อนน้อมถ่อมตนและวางใจของพระองค์ไม่ว่าจะอายุเท่าใด)

  • พระเยซูทรงเตือนอะไรเกี่ยวกับการเป็นอิทธิพลให้สานุศิษย์ของพระองค์ทำบาป (พระองค์ทรงระบุว่าให้เราตายไปดีกว่าจะต้องประสบความทุกขเวทนาแสนสาหัสและการแยกจากพระผู้เป็นเจ้าหากเราเป็นอิทธิผลให้คนอื่นทำบาป)

  • เราเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากการเตือนของพระผู้ช่วยให้รอดใน ข้อ 42 (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ หากเราเป็นอิทธิพลให้คนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ทำบาป เราจะต้องรับผิดชอบต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า)

  • บางคนอาจจะเป็นอิทธิพลให้คนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ทำบาปในทางใดบ้าง

เตือนนักเรียนถึงกลิ่นที่อยู่ในชั้นเรียนและความจริงที่ว่า เช่นเดียวกันกับกลิ่น เรามีอิทธิพลทั้งทางบวกและลบต่อผู้อื่น ขอให้นักเรียนไตร่ตรองถึงอิทธิพลของพวกเขาที่มีต่อคนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์

เพื่อ เตรียม นักเรียนให้ระบุหลักธรรมอีกข้อหนึ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน ให้ขออาสาสมัครหนึ่งคนที่สวมรองเท้ามีเชือกผูกออกมาหน้าชั้นเรียน บอกนักเรียนให้ถอดเชือกรองเท้าออกและผูกใหม่โดยใช้แค่มือเดียว ขณะที่นักเรียนพยายามทำ ให้ถามชั้นเรียนดังนี้

  • มีความท้าทายอะไรที่ท่านจะประสบหากท่านเสียมือไปข้างหนึ่ง

  • มีอะไรหรือไม่ที่คุ้มค่าต่อการเสียมือของท่านไป หากมี

อธิบายว่าการตั้งใจนำเอาอวัยวะหนึ่งของร่างกายออกไปเรียกว่าการตัดอวัยวะและจะต้องทำการผ่าตัดเช่นนั้นหากร่างกายส่วนนั้นเสียหายหนัก ติดเชื้อ หรือตาย แม้การตัดอวัยวะและการพักฟื้นที่ตามมาจะเป็นสิ่งที่เจ็บปวดและสาหัส กระบวนการนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อจากการกระจายไปทั่วร่างกายที่เหลือและทำให้เกิดความเสียหายที่มากขึ้นหรือตาย

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 9:43 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าเมื่อใดที่เป็นการดีกว่าที่จะเสียมือข้างหนึ่งไปแทนที่จะเก็บไว้ทั้งสองข้าง

  • เมื่อใดที่การเสียมือข้างหนึ่งนั้นดีกว่าการเก็บไว้ทั้งสองข้าง

  • ท่านคิดว่าเราควรเข้าใจคำสอนนี้ตามที่เขียนไว้และตัดมือข้างหนึ่งที่ทำให้เรา “หลงผิด” หรือชักจูงเราให้ทำบาป (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดไม่ได้ตรัสว่าคนควรจะตัดมือของเขาออกไปจริงๆ แต่พระองค์ทรงใช้อุปมาอุปมัยเพื่อย้ำถึงความสำคัญของสิ่งที่พระองค์ทรงสอน)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งวาดรูปคนบนกระดาน ขณะที่นักเรียนกำลังวาด อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธ มาระโก 9:43–48 จะเพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อนี้ ในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ เราเรียนรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้มือ เท้า และตาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอิทธิพลในชีวิตของเราที่สามารถนำเราไปทำบาป แนะนำนักเรียนที่กำลังวาดรูปบนกระดานให้วงกลมรอบมือข้างหนึ่ง เท้าข้างหนึ่ง และตาข้างหนึ่งบนภาพที่เขาหรือเธอวาด จากนั้นเชื้อเชิญให้นักเรียนกลับไปนั่งลง

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนสลับกันอ่านออกเสียงจาก งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มาระโก 9:40–48 (ในคู่มือพระคัมภีร์) ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปรียบกับมือ เท้า และตาที่ทำให้บางคน “หลงผิด” หรือเป็นอิทธิพลให้ทำบาป ท่านอาจต้องการอธิบายคำว่า ชีวิต ใน งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มาระโก 9:40–41, 43 หมายถึงชีวิตนิรันดร์

  • ตามที่กล่าวไว้ในงานแปลนี้ มือ เท้า และตาที่กระทำความผิดหมายถึงอะไร (มือหมายถึงสมาชิกครอบครัวและเพื่อน เท้าหมายถึงคนที่เรามองเป็นแบบอย่างว่าจะคิดหรือทำอย่างไร และตาหมายถึงผู้นำของเรา)

เขียนกำกับอวัยวะต่างๆ ด้วยคำแปลบนภาพที่นักเรียนวาดบนกระดาน

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนให้เราทำอะไรกับอิทธิพลที่ไม่ชอบธรรม หรืออิทธิพลที่นำเราให้ทำบาป

  • การแยกตัวเราเองออกจากอิทธิพลที่ไม่ชอบธรรมอาจคล้ายคลึงกับการตัดมือและเท้าอย่างไร

  • จะเกิดอะไรขึ้นหากเราไม่แยกตนเองจากอิทธิพลที่ไม่ชอบธรรม เพราะเหตุใด

  • ท่านเรียนรู้ความจริงอะไรจากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุความจริงทำนองนี้: เป็นการดีกว่าที่จะแยกตัวเราเองจากอิทธิพลที่ไม่ชอบธรรมแทนที่จะถูกแยกออกจากพระผู้เป็นเจ้าในท้ายที่สุด โดยใช้คำพูดของนักเรียน ให้เขียนความจริงนี้บนกระดาน)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์วอลเตอร์ เอฟ. กอนซาเลซแห่งสาวกเจ็ดสิบ ให้ชั้นเรียนฟังดูว่าอิทธิพลอื่นๆ ที่เราควรแยกตนเองออกมาคืออะไรบ้าง

ภาพ
เอ็ลเดอร์วอลเตอร์ เอฟ. กอนซาเลซ

“สิ่งที่ตามมาคือการตัดขาดเช่นนั้นไม่ได้หมายเฉพาะเพื่อนเท่านั้นแต่หมายถึงอิทธิพลเลวร้ายทุกอย่าง เช่น รายการโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสม เว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต ภาพยนตร์ วรรณกรรม เกม หรือดนตรี เมื่อเราจารึกลงในจิตวิญญาณของเรา หลักธรรมดังกล่าวจะช่วยเราต้านทานการล่อลวงให้ยอมรับอิทธิพลที่ไม่ดี” (“วันนี้ถึงเวลาแล้ว,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 68)

  • เราอาจประสบความท้าทายอะไรบ้างจากการแยกตนเองออกมาจากอิทธิพลที่ไม่ชอบธรรม

  • เราจะรู้วิธีที่เหมาะสมในการแยกตนเองออกจากอิทธิพลที่ไม่ชอบธรรมได้อย่างไร

อธิบายว่าการแยกตัวเราเองออกจากอิทธิพลที่ไม่ชอบธรรมไม่ได้หมายถึงการปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างหยาบคาย การประณามคนอื่น หรือปฏิเสธไม่สมาคมกับคนที่ไม่ใช่สมาชิกศาสนจักรที่ซื่อสัตย์ แต่ เราควรแยกตัวเราหรือหลีกเลี่ยงการคบหาสมาคมอย่างใกล้ชิดกับคนที่จะนำเราไปสู่บาป แม้เราอาจจะไม่สามารถขจัดหรือหลีกเลี่ยงอิทธิพลทุกอย่างที่จะนำเราไปสู่บาป แต่พระเจ้าจะประทานพรเราเมื่อเราพยายามแยกตัวเราเองจากอิทธิพลชั่วร้าย เท่าที่เราจะทำได้และเมื่อเราพยายามพัฒนาวินัยในตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงอิทธิพลที่เราไม่สามารถขจัดออกไปได้หมด

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงนี้ยิ่งขึ้น เชื้อเชิญนักเรียนสองคนมาที่หน้าชั้นเรียน บอกนักเรียนแต่ละคนให้อ่านออกเสียงสถานการณ์สมมติต่อไปนี้และถามคำามที่เกี่ยวข้องกับชั้นเรียน เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนตอบคำถามโดยใช้ความจริงที่ระบุใน มาระโก 9:43–48

สถานการณ์สมมติ 1 ฉันมีเพื่อนหลายคนที่มักสนับสนุนฉันให้เข้าร่วมกิจกรรมที่ละเมิดพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า อย่างไรก็ตาม ฉันคิดว่าฉันสามารถเป็นอิทธิพลที่ดีต่อพวกเขาได้หากฉันใช้เวลากับพวกเขาต่อไป

  • ฉันจะไม่สูญเสียความสามารถของฉันในการเป็นอิทธิพลที่ดีกับเพื่อนเหล่านี้หากฉันแยกตนเองออกจากพวกเขาหรือ ฉันควรมีสัมพันธภาพแบบใดกับพวกเขา

  • ฉันควรพูดและทำอะไรเพื่อแยกตัวฉันเองออกจากเพื่อนเหล่านี้อย่างเหมาะสม

สถานการณ์สมมติ 2 ฉันเป็นแฟนวงดนตรียอดนิยมมาหลายปีแล้ว ในเพลงและการสัมภาษณ์ล่าสุดของพวกเขา พวกเขาสนับสนุนพฤติกรรมและแนวคิดที่ตรงข้ามกับมาตรฐานและคำสอนของพระเจ้า

  • นี่ก็แค่เพลงและคำพูด ใช่ไหม จะมีอันตรายอะไรหรือถ้ายังคงฟังเพลงของพวกเขาและติดตามพวกเขาตามสื่อสังคมต่อไป

ขอบคุณอาสาสมัครสำหรับความช่วยเหลือของพวกเขา เชื้อเชิญให้พวกเขากลับไปที่นั่ง ถามชั้นเรียนว่า

  • แม้การแยกตัวเราเองออกจากอิทธิพลที่นำเราไปสู่บาปอาจจะยากในบางครั้ง เราจะได้รับอะไรจากการเสียสละนี้ (พรมากมาย รวมถึงชีวิตนิรันดร์) เหตุใดรางวัลนี้จึงคุ้มค่าที่จะเสียสละสิ่งใดๆ ก็ตาม

  • ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักเคยแยกตนเองออกจากอิทธิพลที่ไม่ชอบธรรมเมื่อใด (เตือนนักเรียนไม่ให้แบ่งปันเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป) มีอะไรที่ยากในการแยกออกจากอิทธิพลนั้น พรใดเกิดจากการทำเช่นนั้น

ขอให้นักเรียนใคร่ครวญว่ามีอิทธิพลอะไรบ้างในชีวิตพวกเขาที่อาจกำลังนำพวกเขาไปสู่บาป เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนวิธีที่พวกเขาจะแยกตนเองออกจากอิทธิพลเหล่านี้ในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

สรุป มาระโก 9:49–50 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำสานุศิษย์ของพระองค์ให้มีสัมพันธภาพที่สงบสุขต่อกัน

สรุปโดยกระตุ้นให้นักเรียนทำตามการกระตุ้นเตือนที่พวกเขาได้รับระหว่างบทเรียนนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

มาระโก 9:31 “บุตรมนุษย์”

“บุตรมนุษย์” เป็น “พระสมัญญานามที่พระเยซูคริสต์ทรงใช้เมื่อรับสั่งถึงพระองค์เอง (ลูกา 9:22; 21:36) หมายถึงพระบุตรแห่งพระมหาบุรุษแห่งความบริสุทธิ์ พระมหาบุรุษแห่งความบริสุทธิ์เป็นพระนามหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา เมื่อพระเยซูทรงเรียกพระองค์เองว่าบุตรแห่งพระมหาบุรุษ นั่นคือการประกาศอย่างเปิดเผยให้รู้ถึงความสัมพันธ์อันสูงส่งของพระองค์กับพระบิดา พระสมัญญานามดังกล่าวพบบ่อยครั้งในพระกิตติคุณสี่เล่ม การเปิดเผยยุคสุดท้ายยืนยันความหมายพิเศษและความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระนามนี้ของพระผู้ช่วยให้รอด (คพ. 45:39; 49:6, 22; 58:65; โมเสส 6:57)” (คู่มือพระคัมภีร์, “บุตรแห่งพระมหาบุรุษ,” scriptures.lds.org)

มาระโก 9:38–40 ชายคนที่ขับผีออกในพระนามของพระผู้ช่วยให้รอด

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าอัครสาวกยอห์นกังวลเกี่ยวกับชายคนที่ขับผีออกในพระนามของพระผู้ช่วยให้รอด เป็นไปได้ว่าเพราะชายคนนั้น “ไม่ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มสานุศิษย์ใกล้ชิดที่เดินทาง รับประทานอาหาร นอน และสนิทสนมกับพระอาจารย์อย่างต่อเนื่อง ลูกาเขียนว่า ‘เขาไม่ได้อยู่ ใน กลุ่มเรา’ ซึ่งหมายถึงเขาไม่ได้เป็นเพื่อนร่วมเดินทางคนหนึ่งของเรา แต่จากพระดำรัสตอบของพระเจ้า เป็นที่แน่ชัดว่าเขาเป็นสมาชิกของอาณาจักร เป็นผู้ปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎที่กำลังปฏิบัติในสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตและพลังอำนาจแห่งศรัทธา ยอห์นอาจไม่รู้จักเขาจึงเข้าใจผิดว่าเขาไม่มีสิทธิอำนาจหรือไม่ยอห์นอาจเข้าใจผิดว่าอำนาจในการขับผีออกถูกจำกัดไว้ในอัครสาวกสิบสองเท่านั้นและไม่ได้ครอบคลุมผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ชื่อสัตย์ทุกคน เป็นไปได้ว่าคนที่ขับผีออกอาจเป็นสาวกเจ็ดสิบคนหนึ่ง ไม่ได้มีบันทึกในพันธสัญญาใหม่ที่เกี่ยวกับการเรียกโควรัมแรกของสาวกเจ็ดสิบ แต่เมื่อพระเยซู (ในภายหลัง) ทรงเรียกโควรัมที่สองของสาวกเจ็ดสิบมาปฏิบัติศาสนกิจ พระองค์ตรัสให้อำนาจพวกเขาขับผีออก (ลูกา 10:1–20)” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:417)

“พระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดที่ให้แก่ยอห์น บันทึกใน มาระโก 9:40 ยืนยันกับยอห์นและอัครสาวกสิบสองว่าชายคนนั้นเป็นสานุศิษย์ที่มีสิทธิอำนาจ แม้ไม่ได้เป็นอัครสาวก” (คู่มือนักเรียนพันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาศาสนจักร, 2014], 125)

มาระโก 9:42 “ให้เอาหินโม่ก้อนใหญ่ผูกคอคนนั้นและโยนเขาลงในทะเลก็จะดีกว่า”

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับการเตือนของพระผู้ช่วยให้รอดใน มาระโก 9:42ดังนี้

“มีอาชญากรรมไม่กี่อย่างที่ต่ำช้าและชั่วร้ายเหมือนการสอนหลักคำสอนที่ผิดและนำเอาจิตวิญญาณออกจากพระผู้เป็นเจ้าและความรอด … หากปีตินิรันดร์เป็นรางวัลที่มอบให้กับคนที่สอนความจริงและนำจิตวิญญาณมาสู่ความรอด คนเหล่านั้นที่สอนหลักคำสอนที่ผิดและนำจิตวิญญาณไปสู่ความอัปมงคลจะไม่ได้รับรางวัลของพวกเขาเป็นความเศร้าโศกนิรันดร์หรือ (คพ. 18:10–16)

“…เป็นการดีกว่าที่จะตายและถูกปฏิเสธจากพรของการคงอยู่ในมรรตัยต่อไปแทนที่จะมีชีวิตอยู่และนำจิตวิญญาณออกจากความจริง แล้วได้รับความอัปมงคลนิรันดร์ด้วยตนเอง” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:420)

มาระโก 9:43–48 การแยกตนเองออกจากอิทธิพลที่จะนำเราไปสู่บาป

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าเมื่อใดจึงเหมาะสมที่จะแยกตัวเราเองออกจากคนเหล่านั้นที่จะนำเราไปสู่บาป

“ท่านจะเลือกสมาคมกับใคร

“ท่านจงคบหาคนดีมากมายที่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นยิว คาทอลิก โปรเตสแตนต์ หรือมุสลิม ผู้เชื่อรู้ว่ามีความจริงอันสมบูรณ์ …

“ขณะเดินทางต่อไปในชีวิต ท่านจะรู้จักผู้คนที่ไม่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน หลายคนยังไม่พบความจริงจากสวรรค์และไม่รู้ว่าจะหาได้ที่ไหน แต่คนหนุ่มสาวผู้มีสิทธิกำเนิดอันสูงส่งอย่างท่านกำลังมาช่วยชีวิตพวกเขา …

“เมื่อท่านคบหากับผู้ไม่เชื่อ พึงตระหนักว่าอาจมีบางคนที่ไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของท่าน (ดู คพ. 1:16; 89:4) ทันทีที่ท่านประเมินได้ จงหนีให้พ้นพวกเขาโดยเร็วและอย่างถาวร (ดู 1 ทิโมธี 6:5–6, 11)” (“ท่านจะเลือกอะไร?” , เลียโฮนา, ม.ค. 2015, 20)

มาระโก 9:43–48 การไป “ลงนรก … ซึ่งเป็นที่ตัวหนอนไม่เคยตายและไฟไม่เคยดับเลย”

คำว่า นรก ใน มาระโก 9:43, 45, 47 เป็นการแปลคำว่า gehenna, ซึ่งเป็นรูปแบบภาษากรีกของคำในภาษาฮีบรูว่า ge hinnom, แปลว่า “หุบเขาเบนฮินโนม” ในหุบเขาลึกในตอนใต้ของเยรูซาเล็มนี้, “ยิวที่เชื่อในรูปเคารพถวายพลีบูชาลูกๆ ของพวกเขา [เป็นเครื่องพลีบูชา] แก่ [พระเจ้านอกศาสนา] พระโมเลค (2 พงศาวดาร 28:3; 33:6; เยเรมีย์ 7:31; 19:2–6)” (พจนานุกรมไบเบิลในพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาอังกฤษแอลดีเอส, “Hell”) หลังจากกษัตริย์โยสิยาห์ยกเลิกการถือปฏิบัตินี้ หุบเขาถูก “ใช้เป็นสถานที่เผาขยะของเมือง (2 พงศ์กษัตริย์ 23:10) และในการนั้นจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของสถานที่แห่งความทรมาน (มัทธิว 5:22, 29–30; 10:28; 18:9; 23:15, 33; มาระโก 9:43, 45, 47; ลูกา 12:5; ยากอบ 3:6) การพูดว่า ‘ไฟนรก’ คงเป็นเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากความคิดของมนุษย์โดยมองเห็นภาพการเผาไหม้ที่ไม่หยุดหย่อนและเป็นการเปรียบเทียบความทรมานของท่านที่ตั้งใจไม่เชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า” (พจนานุกรมไบเบิลในพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาอังกฤษแอลดีเอส, “Hell”)

มาระโก 9:44, 46 หมายถึงคนกบฏที่มีหนอนซึ่ง “ไม่เคยตาย” หนอนบางชนิดชอนไชของเสีย หนอนพยาธิเข้าไปอยู่ในร่างกายที่มีชีวิต ทำให้เกิดความเจ็บป่วยหลายอย่างและความเจ็บปวดรุนแรง ดังนั้นหนอนที่ “ไม่เคยตาย” จึงหมายถึงความทรงจำและความสำนึกผิดในมโนธรรมของคนกบฎซึ่งจะชอนไชและทรมานพวกเขาต่อไปในชีวิตหน้า