คลังค้นคว้า
บทที่ 36: มาระโก 4–5


บทที่ 36

มาระโก 4–5

คำนำ

ที่ชายฝั่งทะเลกาลิลี พระเยซูทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์โดยใช้อุปมา ขณะอยู่ในทะเล พระผู้ช่วยให้รอดทรงห้ามพายุ พระเยซูทรงแสดงว่าพระองค์ทรงเหนือกว่ามารทั้งหลายโดยการขับมารเหล่านั้นออกจากชายคนหนึ่ง ขณะที่ทรงปฏิบัติศาสนกิจในคาเปอรนาอุม พระองค์ทรงรักษาผู้หญิงที่เป็นโรคโลหิตตกและทรงทำให้ลูกสาวของไยรัสฟื้นจากความตาย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มาระโก 4

พระเยซูทรงใช้อุปมาสอนเรื่องแผ่นดินของพระผู้เป็นเจ้าแล้วทรงห้ามพายุ

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงพายุที่รุนแรงที่สุดที่พวกเขาเคยเจอ ขอให้นักเรียนสองสามคนบรรยายประสบการณ์ของพวกเขาสั้นๆ

  • ความท้าทายต่างๆ ในชีวิตเปรียบเหมือนพายุอย่างไร

เขียนคำต่อไปนี้บนกระดาน (แต่เหลือช่องว่างทิ้งไว้ใต้คำแต่ละคำ) ร่างกาย วิญญาณ จิตใจ สังคม ถามคำถามต่อไปนี้ตามที่ประยุกต์ใช้ได้กับแต่ละคำบนกระดาน

  • มีตัวอย่างของพายุทางร่างกาย (หรือวิญญาณ จิตใจ หรือทางสังคม) ใดบ้างที่เยาวชนประสบ (เขียนรายการคำตอบของนักเรียนใต้คำที่สอดคล้องกันบนกระดาน)

ขณะที่นักเรียนศึกษา มาระโก 4–5 เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาหลักธรรมที่จะช่วยพวกเขาเมื่อต้องเผชิญกับพายุชีวิต

สรุป มาระโก 4:1–34 โดยอธิบายว่าขณะประทับอยู่ริมฝั่งทะเลกาลิลี พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอุปมาหลายเรื่องกับฝูงชน

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก มาระโก 4:35–38 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาความท้าทายที่สานุศิษย์ประสบขณะที่พวกเขาข้ามทะเลกาลิลี

  • มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นขณะที่พระผู้ช่วยให้รอดและสานุศิษย์ของพระองค์กำลังข้ามทะเลกาลิลี

อธิบายว่า ทะเลกาลิลี อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 213 เมตรและล้อมรอบด้วยภูเขาสามด้าน บางครั้ง ลมเย็นแห้งๆ พัดลงมาจากภูเขา ปะทะกับอากาศชื้นอบอุ่นเหนือทะเลกาลิลีทำให้เกิดพายุรุนแรงได้รวดเร็ว—บางครั้งในเวลาไม่กี่นาที—โดยมีคลื่นลูกใหญ่ในผืนน้ำเล็กๆ นี้

ภาพ
ทะเลกาลิลีและภูเขาเอบาล

ทะเลกาลิลีและภูเขาเอบาล

  • พายุส่งผลต่อเรืออย่างไร

  • ถ้าท่านอยู่ในเรือในสภาพนี้ ท่านจะคิดหรือมีความรู้สึกอย่างไร

  • สานุศิษย์มองหาความช่วยเหลือจากใครในช่วงเวลาที่น่ากลัวนี้ พวกเขาถามอะไรพระผู้ช่วยให้รอด

  • เราอาจถูกล่อลวงให้ตอบสนองเหมือนอย่างที่สานุศิษย์ของพระเยซูได้ทำในช่วงพายุชีวิตของเราเองในทางใดบ้าง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 4:39 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบคำวิงวอนให้ช่วยจากสานุศิษย์อย่างไร ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลี “จงสงบเงียบ” และ “เงียบสนิท” (ข้อ 39)

  • หากเราแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าในเวลาที่มีปัญหาหรือกลัว พระองค์จะทรงทำอะไรให้เราได้ (หลังจากนักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน หากเราแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าในเวลาที่มีปัญหาหรือกลัว พระองค์จะทรงนำสันติสุขมาให้เราได้)

  • เราสามารถแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าในทางใดบ้างเมื่อเรามีปัญหาหรือกลัว (เราสามารถสวดอ้อนวอนพระบิดาบนสวรรค์ในพระนามของพระเยซูคริสต์ คำสวดอ้อนวอนของเราไม่ได้รับคำตอบในวิธีที่เราคาดหวัง อย่างไรก็ดี เราจะได้รับพรด้วยสันติสุขขณะที่เราแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้า)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 4:40–41 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่สานุศิษย์ถามเกี่ยวกับพระเยซู

  • หากท่านอยู่กับสานุศิษย์ ท่านจะตอบคำถามของสานุศิษย์ใน ข้อ 41อย่างไร

  • การเข้าใจว่าพระเยซู “ผู้นี้เป็นผู้ใด” (ข้อ 41) เสริมสร้างศรัทธาของเราและทำให้เราแสวงหาความช่วยเหลือจากพระองค์ในเวลาที่เรามีปัญหาหรือกลัวได้อย่างไร

หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านคำร้องของเพลงสวด “อาจารย์พายุกำลังโหมหนัก” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 46) เน้นว่าพระเยซูคริสต์ทรงมีพลังอำนาจที่จะไม่เพียงห้ามพายุทางกายภาพเท่านั้นแต่ทรงห้ามพายุส่วนตัวในใจของเราด้วย

เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันเรื่องราวในยามที่พวกเขาแสวงหาสันติสุขจากพระเจ้าในช่วงมรสุมชีวิตและพระองค์ทรงทำให้ความกลัวของพวกเขาลดลงและทรงปลอบประโลมพวกเขา

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าระหว่างความท้าทายของพวกเขาในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

มาระโก 5:1–20

พระเยซูทรงรักษาชายคนหนึ่งโดยการขับผีออกจากเขา

สรุป มาระโก 5:1–18 โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงรักษาชายคนหนึ่งที่โดนผี “โสโครก” หรือวิญญาณชั่วร้ายสิง หลังจากผีโสโครกถูกขับออกไปแล้ว พวกมันเข้าไปสิงในฝูงสุกร ซึ่งวิ่งกระโดดจากหน้าผาชันลงไปในทะเล แล้วชายคนนั้นก็พยายามเข้าไปในเรือที่พระเยซูประทับอยู่

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 5:19–20 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำให้ชายคนนี้ทำอะไร

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำให้ชายคนนี้ทำอะไร

  • ชายคนนี้ตอบสนองอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรได้บ้างจากเรื่องราวนี้เกี่ยวกับสิ่งที่เราทำได้เมื่อเราประสบกับพลังอำนาจของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตเรา (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเราประสบกับพลังอำนาจของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตเรา เราสามารถเป็นพยานแก่ผู้อื่นเกี่ยวกับพรและพระเมตตากรุณาของพระองค์)

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาถึงวิธีที่พวกเขาจะช่วยคนอื่นโดยการเป็นพยานเกี่ยวกับพรและพระเมตตากรุณาของพระองค์

มาระโก 5:21–43

พระเยซูทรงรักษาหญิงที่เป็นโรคโลหิตตกและทรงทำให้ลูกสาวของไยรัสฟื้นจากความตาย

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องเล่าของเอ็ลเดอร์เชย์น เอ็ม. โบเว็นแห่งสาวกเจ็ดสิบ ดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์เชย์น เอ็ม. โบเว็น

“วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 1990 ลูกชายคนที่สามซึ่งเป็นลูกคนที่หกของเราเกิด เราตั้งชื่อเขาว่าไทสัน …

“เมื่อไทสันอายุแปดเดือน เขาสูดแท่งชอล์คที่เจอบนพรมเข้าไป แท่งชอล์คติดอยู่ในลำคอของเขาซึ่งทำให้เขาหยุดหายใจ พี่ชายไทสันอุ้มเขาขึ้นไปชั้นบนพร้อมตะโกนด้วยความหวาดกลัว ‘น้องไม่หายใจ น้องไม่หายใจ’ เราเริ่มทำการกู้ชีพและโทรเรียกหน่วยฉุกเฉิน

“เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพมาถึงและรีบนำตัวไทสันเข้าโรงพยาบาล ในห้องรอผู้ป่วยเราสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาแรงกล้าอย่างต่อเนื่องเพื่อขอให้พระผู้เป็นเจ้าประทานปาฏิหาริย์แก่ เรา หลังจากรอเป็นเวลานานมาก ในที่สุดคุณหมอก็เข้ามาในห้องและกล่าวว่า ‘ดิฉันเสียใจด้วยค่ะ เราพยายามสุดความสามารถแล้ว คุณอยู่ที่นี่ได้เท่าที่คุณต้องการ’ จากนั้นจึงออกจากห้องไป” (“เพราะเรามีชีวิตอยู่ พวกท่านก็จะมีชีวิตอยู่ด้วย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 16)

  • หากไทสันเป็นน้องชายของท่าน ท่านจะคิดหรือทำอะไรในตอนนั้น

  • ประสบการณ์เช่นนี้จะทดสอบศรัทธาของบางคนอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 5:21–24 เชื้อเชิญให้นักเรียนดูตาม โดยมองหาว่านายธรรมศาลาที่ชื่อว่าไยรัสเผชิญกับความท้าทายคล้ายคลึงกันที่อาจทดลองศรัทธาของเขาอย่างไร

  • เหตุใดไยรัสจึงแสวงหาความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอด

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 5:25–26 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าใครอีกที่ต้องการความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอด

อธิบายว่าถึงแม้เรื่องราวในพันธสัญญาใหม่ไม่ได้บอกลักษณะของ “โรคโลหิตตก” ของผู้หญิงคนนั้น (ข้อ 25) แต่เรารู้ว่าโรคดังกล่าวทำให้เธอทุกข์ใจ นอกจากนี้ ภายใต้กฎของโมเสส คนที่เป็นโรคโลหิตตกถือว่าเป็นมลทิน (ดู เลวีนิติ 15:19–33) นี่อาจหมายความว่าผู้หญิงคนนี้ถูกเนรเทศและถูกแยกออกจากผู้คนระหว่าง 12 ปีที่เธอป่วย ความสิ้นหวังที่เธอรู้สึกเกี่ยวกับสถานการณ์ของเธอมีหลักฐานจากการที่เธอ “สูญสิ้นทรัพย์ที่เธอมี” (มาระโก 5:26) เพื่อแสวงหาหมอหลายคนมารักษา

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก มาระโก 5:27–34 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ผู้หญิงคนนี้ทำเพื่อได้รับความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอด

  • ผู้หญิงคนนี้ทำอะไรเพื่อแสดงออกถึงศรัทธาของเธอในพระเยซูคริสต์ (ท่านอาจอธิบายว่าวลี “เดินเข้าไปในฝูงชนที่มาทางข้างหลัง” [ข้อ 27] หมายถึงความลำบากของเธอที่ต้องแทรกผ่านฝูงชนที่ล้อมรอบพระผู้ช่วยให้รอดอยู่)

  • เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องราวนี้เกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำหากเราปรารถนาจะหายจากโรค (ช่วยให้นักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้ ถ้าเราจะแสดงออกถึงศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ผ่านความพยายามของเราที่จะมาหาพระองค์ พระองค์จะทรงทำให้เราหายจากโรค)

ชี้ให้เห็นว่าการเยียวยาจากความทุพพลภาพผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพยายามของเราเพื่อมาหาพระองค์เท่านั้นแต่ต้องขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าด้วย

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน มาระโก 5:35 ในใจ โดยมองหาข่าวสารที่ส่งไปถึงไยรัสขณะที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยผู้หญิงคนนี้

  • ไยรัสทราบข่าวอะไร

  • ถ้าท่านตกอยู่ในสภาพของไยรัส ท่านน่าจะคิดหรือรู้สึกอย่างไรในเวลานั้น

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 5:36 และเชื้อเชิญชั้นเรียนให้มองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงตรัสอะไรกับไยรัส

  • พระผู้ช่วยให้รอดตรัสอะไรที่อาจหนุนศรัทธาของไยรัส

เพื่อเน้นสิ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับศรัทธาจากเรื่องราวนี้ ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน การใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์เรียกร้องเราให้เชื่อในพระองค์ต่อไปแม้ในช่วงเวลาของความไม่แน่นอน

  • เราสามารถประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้กับชีวิตเราในด้านใดบ้าง

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก มาระโก 5:37–43 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกสาวของไยรัส

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำปาฏิหาริย์อะไร

ท่านอาจต้องการเป็นพยานเกี่ยวกับพลังอำนาจของพระผู้ช่วยให้รอดในการประทานพรและรักษาเรา ชี้ให้เห็นว่าในบางครั้งพระผู้ช่วยให้รอดทรงห้ามพายุในชีวิตเราโดยการขจัดความยากลำบากหรือความกลัวที่เราประสบ แต่ในบางครั้ง พระองค์จะไม่ทรงกำจัดการทดลองของเรา ดังที่แสดงในเรื่องราวของเอ็ลเดอร์โบเว็นเกี่ยวกับความตายของลูกชายของท่าน อย่างไรก็ดี เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ พระองค์จะประทานสันติสุขแก่เราในช่วงที่เราเผชิญความท้าทาย

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเรายังคงมีศรัทธาได้อย่างไรไม่ว่าผลของพายุส่วนตัวของเราจะเป็นเช่นไร อ่านประจักษ์พยานต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โบเว็น เชื้อเชิญให้นักเรียนฟังว่าท่านสามารถรักษาศรัทธาของท่านได้อย่างไรแม้หลังจากบุตรชายของท่านสิ้นชีวิต

ภาพ
เอ็ลเดอร์เชย์น เอ็ม. โบเว็น

“เมื่อข้าพเจ้าสัมผัสถึงความรู้สึกผิด ความโกรธ ความสงสารตนเองที่กำลังครอบงำข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนเพื่อใจข้าพเจ้าจะเปลี่ยนได้ โดยผ่านประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์ส่วนตัว พระเจ้าประทานหัวใจดวงใหม่แก่ข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าจะยังคงรู้สึกโดดเดี่ยวและเจ็บปวดแต่ทัศนะโดยรวมของข้าพเจ้าเปลี่ยนไป ข้าพเจ้าได้รับรู้ว่าไม่มีอะไรถูกพรากไปจากข้าพเจ้าหากแต่มีพรอันประเสริฐที่รอข้าพเจ้าอยู่ถ้าข้าพเจ้าจะพิสูจน์ตนเองว่าซื่อสัตย์ …

“ข้าพเจ้าเป็นพยานว่า… ‘เมื่อเราพึ่งพาการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พระองค์จะทรงช่วยให้เราอดทนต่อการทดลอง ความเจ็บป่วย และความเจ็บปวดได้ เราจะเปี่ยมไปด้วยความปีติยินดี สันติสุข และความอบอุ่นใจ ความอยุติธรรมทั้งหลายในชีวิตจะได้รับการแก้ไขโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์’ [สั่งสอนกิตติคุณของเรา: คู่มือการรับใช้ผู้สอนศาสนา (2004), 54]” (“เพราะเรามีชีวิตอยู่,” 17)

  • ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักยังคงมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนเช่นไยรัสเมื่อใด พรใดเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเป็นพยานถึงความจริงที่สอนในบทนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

มาระโก 4:35–41 พระเยซูคริสต์ทรงห้ามพายุ

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์สนทนาความจริงสำคัญต่อไปนี้เกี่ยวกับบันทึกของมาระโกถึงการที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงห้ามพายุในทะเลกาลิลีดังนี้

“เราทุกคนเคยเห็นมรสุมฉับพลันในชีวิตเรามาบ้างแล้ว พายุบางลูก แม้จะเป็นเพียงชั่วคราวเช่นที่เกิดในทะเลกาลิลีนี้ สามารถรุนแรง น่ากลัว และอาจเป็นอันตรายได้ เราแต่ละคน แต่ละครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ และแม้ศาสนจักรต่างเคยมีพายุฝนฉับพลันเกิดขึ้นซึ่งทำให้เราถามทำนองนี้ว่า ‘พระอาจารย์ พระองค์ไม่ทรงเป็นห่วงว่าพวกเรากำลังจะพินาศหรือ?’ อย่างไรก็ตามเรามักจะได้ยินถ้อยคำทำนองนี้ในความเงียบสงบหลังเกิดพายุว่า ‘ทำไมพวกเจ้ากลัว? พวกเจ้าไม่มีความเชื่อหรือ?’

“ในบรรดาพวกเราคงไม่มีใครคิดว่าเรา ไม่มี ศรัทธา แต่ข้าพเจ้าคิดว่าพระดำรัสอ่อนโยนที่พระเจ้าทรงตำหนิเราในที่นี้สมควรอย่างยิ่ง พระเยโฮวาห์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ ผู้ที่เราพูดว่าเราวางใจและผู้ที่เรารับพระนามของพระองค์ไว้กับเรา คือพระองค์ผู้ตรัสว่า ‘จงมีภาคพื้นในระหว่างน้ำ แยกน้ำออกจากกัน’ (ปฐมกาล 1:6) พระองค์คือผู้ตรัสเช่นกันว่า ‘น้ำที่อยู่ใต้ฟ้าจงรวมอยู่ในที่เดียวกัน ที่แห้งจงปรากฏขึ้น’ (ปฐมกาล 1:9) ใช่แต่เท่านั้น พระองค์คือผู้ทรงแยกทะเลแดง โดยทรงยอมให้ชาวอิสราเอลผ่านไปบนดินแห้ง (ดู อพยพ 14:21–22) แน่นอนว่าเราไม่ควรประหลาดใจที่พระองค์ทรงสามารถบัญชาธาตุบางอย่างที่มีผลต่อทะเลกาลิลี และศรัทธาของเราควรเตือนเราว่าพระองค์ทรงทำให้ผืนน้ำอันปั่นป่วนในชีวิตเราสงบได้” (“Master, the Tempest Is Raging,” Ensign, Nov. 1984, 33)

มาระโก 5:30 “ฤทธิ์ซ่านออกจากพระองค์”

งานแปลของ มาระโก 5:30 บอกว่า “ฤทธิ์” ซ่านออกจากพระเยซูคริสต์เมื่อผู้หญิงคนนั้นได้รับการรักษา ในเนื้อความต้นฉบับภาษากรีก คำที่สอดคล้องกับคำว่า ฤทธิ์ คือ พลังงาน ซึ่งหมายถึง “พลัง” หรือ “พละกำลัง”

มาระโก 5:36 “อย่าวิตกเลย จงเชื่อเท่านั้น”

ความจริงอย่างหนึ่งที่สอนใน มาระโก 4–5 คือศรัทธาและความกลัวไปด้วยกันไม่ได้ ในทั้ง มาระโก 4:40 และ มาระโก 5:36พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำคนที่พระองค์ทรงสอนให้แทนที่ความกลัวของพวกเขาด้วยศรัทธาในพระองค์ บันทึกเหล่านี้ฝากบทเรียนที่ทรงพลังไว้กับเราให้มีศรัทธาในพระเยซูคริสต์และไม่ฟังความกลัวของเรา

ในคำปราศัยต่อนักการศึกษาศาสนาของระบบการศึกษาของศาสนจักร เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองได้ขอให้นักเรียนและครู “อย่าวิตกเลย จงเชื่อเท่านั้น” ท่านกระตุ้นให้เรามีความมั่นใจเต็มเปี่ยมในพระผู้เป็นเจ้าและพูดด้วยความเชื่อมั่นว่าพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็น “ความจริงที่แน่นอนที่สุด มั่นคงที่สุด เชื่อถือได้ที่สุดและคุ้มค่ามากที่สุดบนแผ่นดินโลกและในสวรรค์ ในกาลเวลาและในนิรันดร” ท่านเป็นพยานว่าเราสามารถเอาชนะความกลัว ความสงสัย และความกังวลใจได้เมื่อเรามุ่งไปที่ “ความจริงพื้นฐานนิรันดร์อันสูงส่ง [ซึ่งเป็น] ศูนย์กลางแห่งความยิ่งใหญ่ของข่าวสารพระกิตติคุณ ทั้งมวล ” —เช่นแผนแห่งความรอด การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ นิมิตแรก การฟื้นฟูฐานะปุโรหิต พระคัมภีร์มอรมอน—และไม่ปล่อยวางหรือละเลยความจริงทั้งมวลโดย “หมกมุ่นอยู่กับส่วนที่เป็นอันดับสอง อันดับสาม หรืออันดับสี่ของความจริงทั้งมวลนั้น” (ดู Be Not Afraid, Only Believe [ยามค่ำกับเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, 6 ก.พ. 2015], lds.org/broadcasts)

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนสิ่งต่อไปนี้เช่นกันเกี่ยวกับการเอาชนะความกลัวของเราผ่านศรัทธาในพระเจ้า

“ความท้าทาย ความยากลำบาก คำถาม ความสงสัย—สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในความเป็นมรรตัยของเรา แต่เราไม่ได้อยู่ตามลำพัง ในฐานะสานุศิษย์ของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ เรามีคลังสะสมพลังทางวิญญาณของความสว่างและความจริง ความกลัวและศรัทธาจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ ในวันเวลาแห่งความยากลำบากของเรา เราเลือกถนนแห่งศรัทธา พระเยซูตรัสว่า ‘อย่าวิตกเลย จงเชื่อเท่านั้นเถิด’ [มาระโก 5:36]” (“ท่านรู้มากพอ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 15)