คลังค้นคว้า
บทที่ 59: ลูกา 24


บทที่ 59

ลูกา 24

คำนำ

วันที่สามหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ ทูตสวรรค์ที่อุโมงค์ประกาศการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ต่อหญิงกลุ่มหนึ่ง เมื่อได้ยินรายงานของหญิงเหล่านี้ สานุศิษย์บางคนสงสัยในความเป็นไปได้ของการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด สานุศิษย์สองคนเดินทางไปเอมมาอูส และโดยไม่รู้จักพระเจ้าที่ฟื้นคืนพระชนม์ ได้พูดกับพระองค์ระหว่างทาง หลังจากนั้นพระเยซูทรงปรากฎพระองค์ต่ออัครสาวกและคนอื่นๆ ทรงแสดงพระวรกายที่ฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ต่อพวกเขา และทรงมอบภารกิจให้พวกเขาสั่งสอนการกลับใจและเป็นพยานถึงพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ลูกา 24:1–12

ทูตสวรรค์ประกาศต่อหญิงกลุ่มหนึ่งว่าพระเยซูคริสต์เป็นขึ้นมาแล้ว

ฉายบางส่วนของวีดิทัศน์ “Jesus Is Laid in a Tomb (วางพระเยซูในอุโมงค์)” จาก วีดิทัศน์พระคัมภีร์ไบเบิล พระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์, ให้หยุดก่อนที่ทูตสวรรค์จะพูดกับหญิงเหล่านั้น (นาทีที่ 0:00–2:27) วีดิทัศน์นี้มีอยู่ใน LDS.org

หากท่านไม่สามารถฉายวีดิทัศน์ เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขาอยู่ที่อุโมงค์เมื่อคนเหล่านั้นวางพระเยซูไว้ที่นั่นและเห็นว่าก้อนหินกลิ้งออกจากปากอุโมงค์ ขอให้พวกเขาจินตนาการว่าพวกเขาจะคิดและรู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขาอยู่ที่นั่น ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 24:1–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่หญิงเหล่านั้นค้นพบเมื่อกลับไปที่อุโมงค์สามวันต่อมา

หลังจากฉายวีดิทัศน์หรืออ่าน ข้อ 1–4 แล้วให้ถามว่า

  • หญิงเหล่านั้นพบอะไรที่อุโมงค์

  • ท่านคิดว่าท่านจะมีปฏิกิริยาอย่างไรหากท่านเห็นทูตสวรรค์ยืนตรงอุโมงค์ที่เปิดอยู่

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 24:5–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ทูตสวรรค์บอกหญิงเหล่านั้น เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

สรุป ลูกา 24:9–10 โดยอธิบายว่าหญิงเหล่านั้นละจากอุโมงค์ไปบอกเหล่าสานุศิษย์ถึงสิ่งที่พวกเธอเห็นและได้ยิน

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 24:11 ขอให้ชั้นเรียนมองหาปฏิกิริยาของอัครสาวกที่มีต่อคำพูดของหญิงเหล่านั้น เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

อธิบายว่าหลังจากได้ยินรายงานของพวกเธอแล้ว เปโตรและยอห์นวิ่งไปยังสถานที่เก็บพระศพและพบว่าพระศพของพระเยซูหายไป ลูกา 24:12; ยอห์น 20:1–4)

ลูกา 24:13–32

พระเจ้าผู้ฟื้นคืนพระชนม์ตรัสกับสานุศิษย์สองคนบนถนนไปเอมมาอูส

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองถึงเวลาที่พวกเขายากจะเชื่อแนวคิดในพระกิตติคุณ เช่นสานุศิษย์ในเรื่องราวนี้

อธิบายว่าใน ลูกา 24:13 เราเรียนรู้ว่าสานุศิษย์สองคนออกจากเยรูซาเล็ม “วันนั้นเอง” เดินทางไปประมาณ 6–7.5 ไมล์ (10–12 กิโลเมตร) “ไปหมู่บ้านชื่อเอมมาอูส” การศึกษาประสบการณ์ของพวกเขาระหว่างทางไปเอมมาอูสสามารถช่วยให้เรารู้วิธีเสริมสร้างประจักษ์พยานของเราในพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 24:14–17 และขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าใครมาร่วมเดินกับสานุศิษย์ทั้งสอง

  • ใครมาร่วมเดินทางกับสานุศิษย์

  • เหตุใดสานุศิษย์จึงจำพระเยซูไม่ได้ (อธิบายว่าคำว่า ถูกปิดไว้ [ข้อ 16] หมายถึงถูกยับยั้งหรือปกปิด)

ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “Christ Appears on the Road to Emmaus (พระคริสต์ทรงปรากฎบนถนนสู่เอมมาอูส)” (3:32) จาก วีดิทัศน์พระคัมภีร์ไบเบิล พระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ ซึ่งมีอยู่ใน LDS.org ขอให้นักเรียนหาดูว่าสานุศิษย์เรียนรู้อะไรจากพระเยซูขณะที่พวกเขาเดินไปพร้อมกับพระองค์โดยไม่รู้ว่าพระองค์เป็นใคร ก่อนฉายวีดิทัศน์ อธิบายว่าบทพูดที่อยู่ในวีดิทัศน์นั้นมาจาก ลูกา 24:17–33 เพื่อให้นักเรียนดูตามในพระคัมภีร์หากพวกเขาต้องการ (หากท่านไม่สามารถฉายวีดิทัศน์ได้ ให้เชื้อเชิญนักเรียนผลัดกันอ่านออกเสียงข้อเหล่านี้)

ชี้ให้เห็นว่าในวีดิทัศน์นี้ เราไม่ได้ยินสิ่งที่พระเยซูทรงสอนสานุศิษย์ขณะที่พวกเขาเดินไป เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 24:27 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พระเยซูทรงสอนสานุศิษย์

  • พระเยซูทรงสอนอะไรสานุศิษย์ พระองค์ทรงใช้เครื่องมืออะไรเพื่อสอนเกี่ยวกับพระองค์เอง

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ลูกา 24:32 คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดจากพระคัมภีร์ส่งผลต่อสานุศิษย์สองคนอย่างไร

  • อาการ “ใจเรารุ่มร้อนภายใน” ของสานุศิษย์หมายความว่าอย่างไร (พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพยานว่าคำสอนเกี่ยวกับพระเยซูในพระคัมภีร์เป็นจริง)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าสานุศิษย์อาจได้เรียนรู้อะไรจากการใช้พระคัมภีร์ของพระเยซูเพื่อสอนพวกเขาแทนที่จะเพียงเปิดเผยว่าพระองค์เป็นใคร ท่านอาจขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันความคิดของพวกเขา

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับผลของการศึกษาพระคัมภีร์ของเราเอง (หลังจากนักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน เมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์ เราอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้สอนเราเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์)

  • นอกจากใจรุ่มร้อนภายใน ท่านจะบรรยายสิ่งที่เราอาจประสบเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ในรูปแบบอื่นได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนหาพระคัมภีร์ข้อหนึ่งที่จะช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสอนเขาเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันข้อพระคัมภีร์ของพวกเขาและผลจากสิ่งที่พวกเขารู้สึก ท่านอาจต้องการแบ่งปันพระคัมภีร์หนึ่งข้อที่เคยช่วยท่านเป็นการส่วนตัวเช่นกัน

เตือนนักเรียนว่าถึงแม้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องอ่านพันธสัญญาใหม่เพื่อให้ได้หน่วยกิตเซมินารี แต่สำคัญมากกว่าที่จะศึกษาพระคัมภีร์ในวิธีที่พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด

แจกสำเนา ที่คั่นหนังสือ ที่มีคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง (หรือเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำกล่าวลงในที่คั่นหนังสือเปล่า)

ภาพ
เอกสารแจก ที่คั่นหนังสือ

คู่มือครูเซมินารี พันธสัญญาใหม่—บทที่ 59

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“จุดประสงค์หลักของพระคัมภีร์ทุกเล่มคือเติมจิตวิญญาณของเราด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและในพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ …

“… ศรัทธาเกิดจากการที่พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เป็นพยานต่อจิตวิญญาณเรา พระวิญญาณต่อวิญญาณ เมื่อเราได้ยินหรืออ่านพระคำของพระผู้เป็นเจ้า และศรัทธาเติบโตขึ้นเมื่อเราดื่มด่ำพระวจนะ…อยู่เสมอ …

“… จงศึกษาพระคัมภีร์อย่างละเอียดถี่ถ้วน ไตร่ตรองและสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับสิ่งที่อ่าน พระคัมภีร์เป็นการเปิดเผย และจะนำการเปิดเผยเพิ่มเติมมาสู่เรา” (ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “พรจากพระคัมภีร์,”เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 42)

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวโดยเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สัน เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาวิธีที่พวกเขาจะปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัวของพวกเขา

เชื้อเชิญให้นักเรียนตั้งเป้าหมายที่จะศึกษาพระคัมภีร์ในวิธีที่จะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อเพิ่มศรัทธาในพระเยซูคริสต์และความรู้เกี่ยวกับพระองค์ ท่านอาจแนะนำให้พวกเขาเขียนเป้าหมายหนึ่งอย่างไว้ด้านหลังที่คั่นหนังสือเพื่อพวกเขาจะใช้เตือนตนเองระหว่างการศึกษาพระคัมภีร์

ลูกา 24:33–53

พระเยซูทรงปรากฎพระองค์ต่อสานุศิษย์ของพระองค์และทรงแสดงพระวรกายที่ฟื้นคืนพระชนม์ต่อพวกเขา

เชื้อเชิญให้นักเรียนสองคนนำพระคัมภีร์ของพวกเขาออกมาหน้าห้องเรียนเพื่อช่วยแสดงบทบาทเป็นผู้สอนศาสนากำลังเดินไปเคาะประตูบ้านคน บอกให้พวกเขาเคาะประตู ทำเป็นเปิดประตูและทักทายพวกเขา บอกให้พวกเขาแนะนำตัว หลังจากพวกเขาแนะนำตนเองแล้ว ให้พูดบางอย่างในทำนองนี้

“ฉันมีคำถาม มีคนมากมายที่ฉันรู้จักไม่เชื่อในชีวิตหลังความตาย บางคนบอกว่าพวกเขาเชื่อในพระเยซูคริสต์แต่ไม่เชื่อว่าพระองค์ฟื้นคืนพระชนม์พร้อมกับร่างกาย พวกเขาบอกว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่ต่อไปเป็นวิญญาณ ท่านเชื่ออะไรเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์

ให้เวลานักเรียนสองคนตอบคำถาม

ชี้ให้เห็นว่า ลูกา 24:36–39 เป็นข้อ ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ และสามารถช่วยสอนเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์อย่างแท้จริง บอกบริบทของข้อนี้โดยอธิบายว่าสานุศิษย์ที่อยู่กับพระเยซูบนถนนไปเอมมาอูส กลับไปที่เยรูซาเล็มทันทีและเล่าประสบการณ์ของพวกเขาให้อัครสาวกและสานุศิษย์คนอื่นๆ ฟัง (ดู ลูกา 24:33–35) ขณะที่พวกเขาพูดกันอยู่นั้น พระผู้ช่วยให้รอดทรงปรากฏพระองค์ (ดู ข้อ 36)

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งที่ช่วยแสดงบทบาทสมมติอ่านออกเสียง ลูกา 24:36–39 ขอให้ชั้นเรียนเหลือดูตาม โดยมองหาหลักฐานที่ว่าพระเยซูฟื้นคืนพระชนม์จริงๆ และมีพระวรกายเป็นเนื้อหนังและกระดูก

ภาพ
พระเยซูทรงให้ดูบาดแผลของพระองค์
  • พระเยซูทรงเชื้อเชิญให้สานุศิษย์ของพระองค์ทำอะไรเพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพระองค์ไม่ได้เป็นเพียงวิญญาณแต่มีร่างกาย (ท่านอาจแสดงภาพ พระเยซูทรงให้ดูบาดแผลของพระองค์ [หนังสือภาพพระกิตติคุณ (2009), ภาพที่ 60; ดูLDS.orgด้วย])

  • ท่านคิดว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรถ้าท่านอยู่ในเวลาที่พระคริสต์ทรงปรากฏต่อสานุศิษย์ของพระองค์

ขอบคุณนักเรียนที่ช่วยแสดงบทบาทสมมติ และขอให้พวกเขานั่งลง เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 24:40–43 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระเยซูทรงทำอะไรอีกเพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงมีพระวรกายที่ฟื้นคืนพระชนม์ (หรือมีร่างกาย) จับต้องได้

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรอีกเพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงมีพระวรกายที่พื้นคืนพระชนม์แล้ว

  • เราสามารถเรียนรู้หลักคำสอนอะไรได้บ้างจากข้อเหล่านี้ (นักเรียนอาจระบุหลักคำสอนที่หลากหลาย แต่ให้แน่ใจว่าได้เน้นว่า พระเยซูคริสต์ทรงมีพระวรกายที่ฟื้นคืนพระชนม์เป็นเนื้อหนังและกระดูก เขียนหลักคำสอนนี้ไว้บนกระดาน)

  • เหตุใดเหลักคำสอนนี้จึงสำคัญที่ต้องเข้าใจและเชื่อ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้

“โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ทุกคนจะได้รับการฟื้นคืนชีวิต—รอดจากความตายทางร่างกาย (ดู 1 โครินธ์ 15:22) การฟื้นคืนชีวิตคือการกลับมารวมกันอีกครั้งของวิญญาณกับร่างกายในสภาพที่สมบูรณ์และเป็นอมตะ ไม่ต้องประสบกับโรคภัยหรือความตายอีกต่อไป (ดู แอลมา 11:42–45) …

“ความเข้าใจและประจักษ์พยานถึงการฟื้นคืนชีวิตจะให้ความหวังและมุมมองแก่ท่านขณะประสบความท้าทาย การทดลอง และชัยชนะของชีวิต ท่านจะพบการปลอบประโลมในคำรับรองที่ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงพระชนม์และโดยการชดใช้ของพระองค์ ‘พระองค์ทรงทำให้สายรัดแห่งความตายขาด, เพื่อหลุมศพจะไม่มีชัยชนะ, และเพื่อความเจ็บแปลบแห่งความตายจะถูกกลืนเข้าไปในความหวังแห่งรัศมีภาพ’ (แอลมา 22:14)” (ดู แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 139, 54)

  • มีตัวอย่างของการทดลองอะไรบ้างที่ความหวังถึงการฟื้นคืนชีวิตของเราเองจะช่วยให้เราอดทนได้

ขอให้นักเรียนสองสามคนเป็นพยานถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดและอธิบายว่าเหตุใดหลักคำสอนเรื่องการฟื้นคืนชีวิตจึงสำคัญสำหรับพวกเขา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 24:44–53 ขอให้ชั้นเรียนฟังพระคำของพระผู้ช่วยให้รอดประหนึ่งพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มสานุศิษย์ผู้อยู่กับพระองค์และเพื่อพิจารณาว่าคำสอนใดที่อาจมีความหมายที่สุดสำหรับพวกเขา เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันความคิดของพวกเขาเกี่ยวกับข้อเหล่านี้

สรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงที่ท่านสนทนาไปแล้ว

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—ลูกา 24:36–39

เพื่อช่วยให้นักเรียนท่องจำ ลูกา 24:36–39 ให้แบ่งนักเรียนเป็นสี่กลุ่ม มอบหมายข้อพระคัมภีร์ให้กลุ่มละข้อและบอกให้นักเรียนในแต่ละกลุ่มช่วยกันท่องจำข้อที่ได้รับมอบหมาย หลังจากสองสามนาที ขอให้แต่ละกลุ่มท่องข้อที่ได้รับมอบหมายตามลำดับข้อ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนท่องข้อพระคัมภีร์ของพวกเขาอีกครั้งในชั้นเรียนถัดไปสองสามชั้นเรียนจนกระทั่งทุกคนคุ้นกับทุกข้อ

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ลูกา 24:11 “แต่พวกอัครทูตไม่เชื่อ”

ลูกาชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องยากสำหรับอัครสาวกที่จะเชื่อหญิงเหล่านั้นที่เป็นพยานว่าพระเยซูทรงเป็นขึ้นจากหลุมศพ แม้ว่าคนอื่นๆ อาจจะถูกทำให้ฟื้นขึ้นชั่วคราวจากความตายแต่ในท้ายที่สุดก็จะตายอีกครั้งในฐานะมรรตัย พระเยซูคริสต์ทรงเป็นบุคคลแรกที่ฟื้นคืนชีวิต ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ อธิบายว่า

“เรื่องเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เคยมีเพียงความตายที่ปราศจากความหวัง แต่บัดนี้มีชีวิตนิรันดร์ พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่ทรงทำได้ การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์เป็นเหตุการณ์สุดยอดของพระชนม์ชีพและพระพันธกิจของพระองค์ เป็นศิลายอดของการชดใช้ การเสียสละเพื่อมวลมนุษย์จะไม่สมบูรณ์หากพระองค์ไม่ได้ออกมาจากอุโมงค์ฝังศพ พร้อมด้วยความแน่นอนของการฟื้นคืนชีวิตสำหรับทุกคนที่เคยดำเนินชีวิตบนแผ่นดินโลก

“ในบรรดาชัยชนะทั้งสิ้นในพงศาวดารของมนุษย์ ไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่ ไม่มีสิ่งใดส่งผลต่อทุกคน ไม่มีสิ่งใดส่งผลอันเป็นนิจมากเท่ากับชัยชนะของพระเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน ผู้ทรงออกมาจากอุโมงค์ฝังศพในรุ่งอรุณของอิสเตอร์แรกนั้น

“ผู้ที่เป็นพยานถึงเหตุการณ์ดังกล่าวทุกคนที่เห็น ได้ยิน และพูดกับพระเจ้าผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์ เป็นพยานถึงความจริงแท้ของการอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนี้ ผู้ติดตามพระองค์ตลอดหลายศตวรรษมีชีวิตและสิ้นชีวิตในการประกาศถึงความจริงแห่งการกระทำอันศักดิ์สิทธิ์นี้

“ทั้งหมดนี้ เราเพิ่มเติมประจักษ์พยานของเราว่า พระองค์ผู้ทรงสิ้นพระชนม์บนกางเขนแห่งคัลวารี ทรงเป็นขึ้นมาอีกครั้งในความรุ่งโรจน์อันน่าอัศจรรย์ในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งชีวิตและความตาย” (“พยานพิเศษของพระคริสต์,” เลียโฮนา, เม.ย. 2001, 16–17)

ลูกา 24:36–43 “ผีไม่มีเนื้อและกระดูกเหมือนอย่างที่พวกท่านเห็นว่าเรามี”

เอ็ลเดอร์แทด อาร์. คอลลิสเตอร์ ซึ่งเคยรับใช้ในฝ่ายประธานโควรัมสาวกเจ็ดสิบ กล่าวสิ่งต่อไปนี้เกี่ยวกับแนวความคิดผิดๆ ที่ว่าการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นไปแค่ชั่วคราว

“ภายหลังการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงปรากฎต่อเหล่าสาวกของพระองค์ และตรัสว่า ‘จงคลำตัวเราดู เพราะว่าผีไม่มีเนื้อและกระดูกเหมือนอย่างที่พวกท่านเห็นว่าเรามี’ (ลูกา 24:39) บางคนกล่าวว่านี่เป็นเพียงการปรากฏร่างชั่วคราว เมื่อเสด็จขึ้นสู่สวรรค์จะทรงละพระวรกายและคืนสู่รูปลักษณ์ทางวิญญาณของพระองค์ แต่พระคัมภีร์บอกเราว่า หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เปาโลสอนว่า ‘เรารู้อยู่ว่า พระเจ้าทรงให้พระคริสต์เป็นขึ้นมาจากตาย แล้วพระองค์จะไม่ตายอีก ความตายจะไม่มีอำนาจเหนือพระองค์ต่อไป’ (โรม 6:9) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อพระคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชนม์ พระวรกายของพระองค์ไม่สามารถแยกจากวิญญาณของพระองค์ หาไม่แล้วพระองค์ต้องทรงรับความตาย ผลที่ตามมาดังที่เปาโลกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปหลังจากการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์” (ดู“โจเซฟ สมิธ—ศาสดาพยากรณ์แห่งการฟื้นฟู,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 43)