คลังค้นคว้า
บทที่ 49: ลูกา 8–9


บทที่ 49

ลูกา 8–9

คำนำ

พระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติศาสนกิจในกาลิลีต่อไป พระองค์พยากรณ์ถึงการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ เมื่อเสด็จออกจากกาลิลี พระเยซูเสด็จไปเยรูซาเล็มเพื่อทำพระพันธกิจมรรตัยของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วง ในสะมาเรีย ยากอบและยอห์นปรารถนาจะขอไฟจากสวรรค์มาเผาผลาญหมู่บ้านชาวสะมาเรียที่ปฏิเสธพระเยซู แต่พระองค์ทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ว่าพระองค์เสด็จมาช่วยคนให้รอด ไม่ใช่ทำลายพวกเขา พระเยซูสอนเกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ลูกา 8:1–9:56

พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำปาฏิหาริย์ ทรงสอนโดยใช้อุปมา และเสด็จไปเยรูซาเล็ม

เขียนสถานการณ์ต่อไปนี้บนกระดาน หรือเขียนสถานการณ์แต่ละข้อในกระดาษแต่ละแผ่นแยกกัน เชื้อเชิญนักเรียนสามคนอ่านออกเสียง

  1. เมื่อท่านขออย่างสุภาพให้น้องชายของท่านช่วยเก็บของให้เป็นระเบียบและทำความสะอาด เขาบอกท่านอย่างหยาบคายให้ท่านทำเอง

  2. ขณะวางแผนกิจกรรมโรงเรียน เพื่อนร่วมชั้นสองสามคนวิพากษ์วิจารณ์และหัวเราะเยาะความคิดที่ท่านแบ่งปัน

  3. ขณะที่ท่านแบ่งปันพระกิตติคุณกับเพื่อน เธอบอกว่าความเชื่อของท่านแปลก

  • ท่านจะรู้สึกอย่างไรในแต่ละสถานการณ์นี้ ท่านจะมีปฏิกิริยาอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงขณะพวกเขาศึกษาคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน ลูกา 8–9 ที่จะช่วยนำทางพวกเขาเมื่อพวกเขารู้สึกขุ่นเคืองจากการกระทำหรือคำพูดของผู้อื่น

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงสรุปใจความสำคัญในบทของ ลูกา 8–9 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในบทเหล่านี้ อธิบายว่าเนื่องจากพวกเขาศึกษาเหตุการณ์เหล่านี้โดยละเอียดในบทเรียนของมัทธิวและมาระโก บทเรียนนี้จะมุ่งเน้นไปที่ ลูกา 9:51–62

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 9:51 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสถานที่ซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดตัดสินพระทัยจะเสด็จไป อธิบายว่าวลี “ถูกรับขึ้นไป” หมายถึงการเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระผู้ช่วยให้รอดที่ใกล้จะมาถึง

  • พระผู้ช่วยให้รอดตัดสินพระทัยว่าจะเสด็จไปที่ไหน

อธิบายว่าการทำบางสิ่งอย่างแน่วแน่หมายถึงทำในแบบที่มุ่งมั่นและไม่หวั่นไหว ก่อนหน้านั้น พระผู้ช่วยให้รอดทรงพยากรณ์กับสานุศิษย์ของพระองค์ว่าพระองค์จะทรงถูกทรยศ เฆี่ยนตี และตรึงกางเขนในเยรูซาเล็ม (ดู มัทธิว 20:17–19; ลูกา 9:44)

  • ความตั้งพระทัยของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะไปเยรูซาเล็มแม้จะมีความท้าทายเหล่านี้เผยให้เห็นพระลักษณะนิสัยของพระองค์อย่างไร

ชี้ให้เห็นว่าขณะเสด็จไปเยรูซาเล็ม พระเยซูและสานุศิษย์ของพระองค์ไปถึงหมู่บ้านชาวสะมาเรีย เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ลูกา 9:52–54 ขอให้ชั้นเรียนมองหาปฏิกิริยาของชาวสะมาเรียเมื่อพวกเขารู้ว่าพระเยซูและสานุศิษย์ของพระองค์ต้องการเข้าไปในหมู่บ้าน

  • ชาวสะมาเรียมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อพวกเขารู้ว่าพระเยซูและสานุศิษย์ของพระองค์ต้องการเข้าไปในหมู่บ้านของพวกเขา

  • ยากอบและยอห์นมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อความไร้น้ำใจของชาวสะมาเรียและการปฏิเสธพระผู้ช่วยให้รอด

  • ผู้คนทุกวันนี้อาจตอบสนองเกินควรในทางใดบ้างเมื่อมีผู้ว่ากล่าวและก่อความขุ่นเคืองใจ (พูดถึงสถานการณ์สมมติต่างๆ ในตอนเริ่มต้นบทเรียน และขอให้นักเรียนไตร่ตรองวิธีที่บางคนอาจจะตอบสนองเกินควรในสถานการณ์เหล่านี้)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 9:55–56 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำตอบของพระผู้ช่วยให้รอดที่ให้แก่ยากอบและยอห์น เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

อธิบายว่าเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “ท่านไม่รู้หรือว่าท่านเป็นของวิญญาณใด” [ไม่มีในภาษาไทย] (ข้อ 55) พระองค์กำลังแนะนำว่าคำขอของยากอบและยอห์นไม่สอดคล้องกับพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าแต่สอดคล้องกับวิญญาณของซาตาน ผู้ที่ยั่วยุใจมนุษย์ให้มีความโกรธกัน (ดู 3 นีไฟ 11:29–30)

  • ปฏิกิริยาของพระผู้ช่วยให้รอดต่อการปฏิเสธของชาวสะมาเรียแตกต่างจากปฏิกิริยาของยากอบและยอห์นอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงใดจากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะนำทางเราเมื่อเราเผชิญกับความขุ่นเคืองใจ (โดยใช้คำพูดของนักเรียน ให้เขียนความจริงทำนองนี้บนกระดาน เราทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อเราเลือกตอบสนองความขุ่นเคืองด้วยความอดทนและอดกลั้น)

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงสถานการณ์สมมติจากตอนเริ่มต้นบทเรียน

  • มีอันตรายอะไรบ้างที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกขุ่นเคืองใจในสถานการณ์สมมติแต่ละเรื่อง

  • ในสถานการณ์สมมติแต่ละเรื่อง เราจะทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร

  • เราอาจได้รับพรอย่างไรเมื่อเราเลือกตอบสนองความขุ่นเคืองด้วยความอดทนและอดกลั้น

ขอให้นักเรียนนึกถึงเหตุการณ์ที่พวกเขาเลือกขุ่นเคืองใจเพราะคำพูดหรือการกระทำของคนบางคน กระตุ้นให้พวกเขาทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยการเลือกตอบสนอง ความขุ่นเคือง ด้วยความอดทนและอดกลั้น

ลูกา 9:57–62

พระเยซูทรงสอนเกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งออกมาหน้าห้องและนำของชิ้นเล็กๆ 20 ถึง 30 ชิ้นมาให้เขา (เช่นลูกปัด) บอกให้นักเรียนนับจำนวนสิ่งของในใจ ขณะทำเช่นนั้น ขอให้ชั้นเรียนดูว่าพวกเขาจะรบกวนการนับโดยการดึงความสนใจของนักเรียนคนนั้นได้หรือไม่ ให้แน่ใจว่านักเรียนจะไม่ทำอะไรไร้ระเบียบเมื่อพวกเขาพยายามทำให้นักเรียนคนนั้นเสียสมาธิ บอกให้พวกเขานั่งอยู่กับที่ และเตือนพวกเขาไม่ให้โยนสิ่งของหรือสัมผัสนักเรียนที่กำลังนับ

  • การพยายามนับสิ่งของขณะถูกรบกวนคล้ายกับการพยายามติดตามพระเยซูคริสต์ในทางใดบ้าง

ขอบคุณนักเรียนที่นับสิ่งของ และเชื้อเชิญให้เขานั่งลง ขณะนักเรียนศึกษา ลูกา 9 ต่อ เชื้อเชิญให้พวกเขาพิจารณาวิธีที่เราจะเอาชนะอิทธิพลที่อาจทำให้เราเขวหรือต่อต้านเราจากการติดตามพระผู้ช่วยให้รอด

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 9:57 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ชายคนหนึ่งพูดกับพระเยซูขณะที่พระองค์และสานุศิษย์ของพระองค์เดินทางไปเยรูซาเล็ม

  • ชายคนนี้บอกพระผู้ช่วยให้รอดว่าเขาเต็มใจทำอะไร

เขียนวลีต่อไปนี้บนกระดาน เพื่อเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์…

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 9:58 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำตอบของพระผู้ช่วยให้รอดต่อชายคนที่ปรารถนาจะติดตามพระองค์ เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • วลี “แต่บุตรมนุษย์ไม่มีที่ที่จะวางศีรษะ” บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระผู้ช่วยให้รอด (พระเยซูและสานุศิษย์ของพระองค์เดินทางตลอดเวลา การปฏิบัติศาสนกิจของพวกเขาไม่สะดวกสบายหรือง่าย)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ลูกา 9:59–60 ในใจ โดยมองหาคำตอบของชายคนที่สองต่อพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้ติดตามพระองค์

  • ชายคนนี้ต้องการทำอะไรก่อนติดตามพระผู้ช่วยให้รอด

  • คำว่า ก่อน (ข้อ 59) อาจบ่งบอกอะไรเกี่ยวกับชายคนนี้

อธิบายว่าพระเยซูคริสต์ไม่ได้บอกว่าเป็นสิ่งผิดที่จะไว้ทุกข์การตายของคนที่เรารักหรือแสดงความเคารพในงานศพ (ดู คพ. 42:45) แต่พระองค์ทรงสอนชายคนนี้ถึงบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์

  • เราเรียนรู้อะไรจากคำตอบของพระผู้ช่วยให้รอดที่บันทึกไว้ใน ข้อ 60 เกี่ยวกับลำดับความสำคัญของสานุศิษย์ที่แท้จริง

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 9:61–62 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ชายคนที่สามปรารถนาจะทำก่อนติดตามพระผู้ช่วยให้รอด

  • ชายคนนี้ต้องการทำอะไรก่อนติดตามพระผู้ช่วยให้รอด

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบชายคนนี้อย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจอุปมาของการจับคันไถแล้วไม่หันหลังกลับ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ภาพ
ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

“เพื่อขุดร่องดินเป็นเส้นตรง [หรือท้องร่อง] คนที่ไถนาต้องมองตรงไปข้างหน้า เพื่อให้เขาอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม หากเขาบังเอิญเหลียวหลังมาดูว่าเขาไปถึงไหนแล้ว เขามีโอกาสมากขึ้นที่จะออกนอกทาง ผลที่ตามมาคือได้ร่องดินที่คดเคี้ยวและไม่ต่อเนื่อง … หากเราไม่ทุ่มเทพลังงานของเราไปอยู่กับสิ่งที่อยู่เบื้องหลังแต่ให้อยู่กับสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าเรา—แน่นอนว่าชีวิตนิรันดร์และปีติของความรอด—คือสิ่งที่เราจะได้รับ” (“Am I a ‘Living’ Member?” Ensign, May 1987, 17)

  • การเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์เป็นเหมือนการจับคันไถและไม่หันหลังกลับอย่างไร

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างของสิ่งที่พระองค์ทรงสอนดังที่บันทึกใน ข้อ 62 อย่างไร (“พระองค์ตั้งพระทัยจะไปยังเยรูซาเล็ม” [ลูกา 9:51] เพื่อทรงทำให้พระพันธกิจที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานแก่พระองค์สำเร็จลุล่วง และพระองค์ไม่หันหลังกลับ)

พูดถึงข้อความที่ไม่ครบถ้วนบนกระดาน

  • ตามที่เราเรียนรู้จาก ลูกา 9:57–62 ท่านจะสรุปความจริงที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเกี่ยวกับสิ่งที่พระองค์ทรงเรียกร้องจากสานุศิษย์ของพระองค์อย่างไร (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมที่หลากหลาย หลังจากที่พวกเขาตอบ ให้เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนเพื่อสื่อถึงความจริงต่อไปนี้ เพื่อเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ เราต้องไม่ปล่อยให้สิ่งใดมีความสำคัญกว่าการติดตามพระองค์)

  • เหตุใดในบางครั้งเราให้สิ่งอื่นๆ มาก่อนความรับผิดชอบในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“ซาตานมีเครื่องมืออันทรงพลังในการใช้ต่อต้านคนดี นั่นคือการทำให้เขว ซาตานจะทำให้คนดีเติม ‘สิ่งดีๆ’ ในชีวิตจนไม่มีที่ให้สิ่งสำคัญ” (“First Things First,” Ensign, May 2001, 7)

เพื่อช่วยให้นักเรียนพิจารณาว่าอะไรจะขัดขวางพวกเขาจากการติดตามพระเยซูคริสต์อย่างเต็มที่ ให้วาด แผนภูมิ ต่อไปนี้ไว้บนกระดานและขอให้นักเรียนลอกลงไปในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

ความรับผิดชอบของสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์

ลำดับความสำคัญอื่น

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ ขอให้พวกเขาทำงานกับคู่เพื่อเขียนรายการในแผนภูมิความรับผิดชอบของสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ (ซึ่งอาจได้แก่การเป็นคนซื่อสัตย์ การรับใช้คนอื่น การแบ่งปันพระกิตติคุณ การทำประวัติครอบครัวและงานพระวิหาร และการเลี้ยงดูครอบครัว) สำหรับความรับผิดชอบแต่ละอย่างที่อยู่ในแผนภูมิของพวกเขา ขอให้นักเรียนเขียนตัวอย่างของลำดับความสำคัญอื่นๆ ที่บางคนอาจจะใส่เหนือความรับผิดชอบนั้น

เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาเขียนในรายการ

กระตุ้นให้นักเรียนแบ่งปันตัวอย่างด้านดีของสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์โดยถามว่า

  • ท่านเคยเห็นบางคนเลือกหยุดวางเป้าหมายหรือลำดับความสำคัญอื่นๆ ไว้ก่อนเพื่อติดตามพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อใด

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่ามีอะไรที่พวกเขาอาจยอมให้มีความสำคัญเหนือการติดตามพระเยซูคริสต์และคำสอนของพระองค์ เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาโดยระบุเป้าหมายหนึ่งที่พวกเขาจะทำให้พระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์อยู่ในลำดับความสำคัญที่สูงขึ้น

ท่านอาจต้องการสรุปบทเรียนโดยเชื้อเชิญนักเรียนให้ร้อง เพลงสวด “พระเจ้าขอข้าตามพระองค์” (เพลงสวด, บทที่ 106) หรือเพลงสวดอื่นเกี่ยวกับการติดตามพระเยซูคริสต์และคำสอนของพระองค์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ลูกา 8:1–3 สตรีที่ซื่อสัตย์ช่วยเหลือและปฏิบัติพระผู้ช่วยให้รอด

ลูกาบันทึกว่าพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จไปกับสานุศิษย์ของพระองค์ทั่วแคว้นกาลิลี ทรงสอน “หมู่บ้านและเมืองต่างๆ” ของแคว้น (ลูกา 8:1) สตรีหลายคนเดินทางกับพระองค์ด้วย สตรีเหล่านี้บางคนได้รับการรักษาให้หายจากโรคต่างๆบางคนอาจเป็นภรรยาของอัครสาวก สตรีกลุ่มเดิมนี้จำนวนหนึ่งยังคงติดตามพระเยซูต่อไปจนถึงเวลาสิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ (ดู ลูกา 23:27, 49; 24:10; ยอห์น 20:11–18)

บันทึกของลูกาเกี่ยวกับสตรีที่เดินทางกับพระเยซูย้ำถึงความกังวลของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับคนทั้งปวง รวมถึงผู้หญิง—ผู้ซึ่งไม่มีความสำคัญในสังคมชาวยิวในศตวรรษแรก โดยใช้สิ่งที่พวกเขามี สตรีเหล่านี้สนับสนุนพระเยซูและสานุศิษย์ที่เลือกสรรของพระองค์

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ยืนยันว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงใส่ใจสตรีทุกคนและขอให้สตรีในศาสนจักรในสมัยของเราเป็นหนึ่งเดียวกันกับพี่น้องชายในการทำให้งานของพระเจ้าก้าวไปข้างหน้า

“นี่ต้องเป็นการปลอบโยนสำหรับท่านพี่น้องสตรีที่รักของศาสนจักรของพระองค์ที่จะระลึกว่าพระเยซูองค์เดียวกันนี้ พระผู้ช่วยให้รอดของเราทรงแสดงความรักความห่วงใยต่อสตรีในสมัยของพระองค์โดยผ่านการชดใช้ พระองค์พอพระทัยกับการมีสตรีเป็นเพื่อนและมีมิตรสหายใกล้ชิดในหมู่สตรี …

“มีเหตุผลอะไรที่จะคิดว่าพระองค์ทรงห่วงใยสตรีในทุกวันนี้น้อยลงอย่างนั้นหรือ …

“ขณะที่พระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเราทรงต้องการสตรีในช่วงเวลาของพระองค์สำหรับมือที่ปลอบโยน หูที่คอยฟัง หัวใจที่เชื่อ การมองอย่างเมตตา ถ้อยคำแห่งกำลังใจ ความซื่อสัตย์—แม้ในโมงแห่งความอัปยศอดสู โทมนัส และการสิ้นพระชนม์ของพระองค์—ดังนั้นเรา ผู้รับใช้ของพระองค์ทั่วศาสนจักร ต้องการท่าน สตรีของศาสนจักร ให้ยืนกับเราและเพื่อเราในการต่อต้านมารที่คอยคุกคามเพื่อจะกลืนกินเรา เราต้องยืนอย่างซื่อสัตย์และมั่นคงด้วยกันในศรัทธาเพื่อต่อต้านจำนวนคนที่มากกว่าของคนที่คิดต่างจากเรา สำหรับข้าพเจ้า ดูเหมือนว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้สตรีของศาสนจักรยืนหยัดกับพี่น้องชายในการต่อต้านสิ่งชั่วร้ายที่รายล้อมเราและในการทำให้งานของพระผู้ช่วยให้รอดของเรารุดไปข้างหน้า” (“To the Women of the Church,” Ensign, Nov. 1992, 95–96)

ลูกา 9:54 ไฟจากสวรรค์ลงมาเผาผลาญชาวสะมาเรีย

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนอธิบายเหตุผลที่เป็นไปได้ของยากอบและยอห์นในการขอให้มีอำนาจเรียกไฟลงมาจากฟ้าสวรรค์เพื่อเผาผลาญชาวสะมาเรียดังนี้

“[ยากอบและยอห์น] รู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าของอิสราเอล—พระเยซูองค์เดียวกันนั้นที่พวกเขายืนอยู่ต่อหน้า—ได้ส่งไฟจากสวรรค์ตามคำของเอลียาห์เพื่อเผาผลาญศัตรูของศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณ (2 พงศ์กษัตริย์ 1) พวกเขารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตาองค์เดียวกันนั้นจะทำลายคนชั่วร้ายด้วยไฟในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ (มาลาคี 4:1) สิ่งที่พวกเขายังไม่ได้เรียนรู้คือในสมัยการประทานของพวกเขา ภายใต้สภาพที่เป็นอยู่ในเวลานั้น… ข่าวสารพระกิตติคุณจะออกไปด้วยจิตกุศล ความอดทน ความอดกลั้น และการอดทนนาน …

“… แม้พวกเขาไม่ทราบถึงแหล่งที่มา แต่ยากอบและยอห์นได้รับอิทธิพลในการเสนอของพวกเขาโดยวิญญาณจากเบื้องล่างแทนที่จะเป็นพระวิญญาณจากเบื้องบน” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:440)

ลูกา 9:54–56 การเลือกที่จะตอบสนองความขุ่นเคืองด้วยความอดทนและอดกลั้น

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าเราสามารถเลือกที่จะไม่ขุ่นเคืองโดยคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นได้

“การเชื่อว่าบางคนหรือบางสิ่ง ทำ ให้เรารู้สึกขุ่นเคือง โกรธ เจ็บใจ หรือเจ็บแค้นจะบั่นทอนสิทธิ์เสรีทางศีลธรรมของเราและเปลี่ยนเราเป็นวัตถุที่ถูกกระทำ ในฐานะตัวแทน ท่านและข้าพเจ้ามีอำนาจที่จะกระทำและเลือกว่าเราจะตอบสนองอย่างไรต่อสถานการณ์ที่ทำให้ขุ่นเคืองหรือเจ็บใจ …

“พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นบบอย่างอันดีเลิศผู้ทรงแสดงให้เราเห็นวิธีตอบสนองต่อเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่อาจทำให้เราขุ่นเคือง” (“ไม่มีสิ่งใดทำให้เขาขุ่นเคืองได้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 112)

ลูกา 9:60 “ปล่อยให้คนตายฝังคนตายของเขาเองเถิด”

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับคำตอบของพระผู้ช่วยให้รอดที่ให้แก่ชายซึ่งปรารถนาจะฝังศพพ่อเขาก่อนติดตามพระคริสต์ ให้ดูบทวิจารณ์สำหรับ ลูกา 9:59–60 ใน คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ ([คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 158)

ลูกา 9:62 ทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดและไม่หันหลังกลับ

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ สอนว่าการเป็นสานุศิษย์หมายถึงการติดตามรอยพระบาทของพระผู้ช่วยให้รอด

“คนที่เข้าสู่น้ำแห่งบัพติศมาและรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์แล้วได้วางเท้าของตนบนเส้นทางแห่งการเป็นสานุศิษย์และมีหน้าที่เดินตามรอยพระบาทของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างแน่วแน่และซื่อสัตย์” (“วิสุทธิชนทุกฤดูกาล,” เลียโฮนา, ก.ย. 2013, 5)

เอ็ลเดอร์เอ็ดเวิร์ด ดูเบแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่าพระเยซูประทานตัวอย่างให้เข้าใจว่าการจับคันไถและไม่หันหลังกลับหมายความว่าอย่างไร

“พระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเห็นตั้งแต่กาลเริ่มต้นจนถึงอวสาน ทรงรู้จักเส้นทางที่จะเสด็จไปยังเกทเสมนีและกลโกธาได้ดีมากเมื่อพระองค์ทรงประกาศว่า ‘ไม่มีใครเอามือจับคันไถแล้วหันหลังกลับ จะสมควรกับแผ่นดินของพระเจ้า’ (ลูกา 9:62) ในสายพระเนตรของพระเจ้า สิ่งที่เราเคยทำหรือจุดที่เราเคยอยู่นั้นไม่สำคัญเท่ากับจุดที่เราเต็มใจจะไป” (“จงมองไปข้างหน้าและเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 17)