คลังค้นคว้า
บทที่ 51: ลูกา 10:38–ลูกา 12:59


บทที่ 51

ลูกา 10:38–ลูกา 12:59

คำนำ

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนมารีย์กับมารธาในบ้านของมารธา หลังจากนั้น พระองค์ทรงสอนความจริงหลายประการให้สานุศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนและทรงเตือนเกี่ยวกับความหน้าซื่อใจคดและความโลภ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ลูกา 10:38–42

พระเยซูทรงสอนมารีย์กับมารธา

ขอให้นักเรียนนึกถึงการเลือกที่พวกเขาทำเมื่อวานนี้ เชื้อเชิญให้พวกเขาใช้เวลาหนึ่งนาทีเขียนการเลือกเหล่านี้ให้ได้มากที่สุดในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา ขอให้นักเรียนหลายๆ คนรายงานการเลือกที่ดีของพวกเขาในชั้นเรียน

  • ในสถานการณ์ใดบ้างที่เราอาจต้องตัดสินใจระหว่างการเลือกที่ดีสองอย่าง

เมื่อนักเรียนศึกษา ลูกา 10:38–42 เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาหลักธรรมที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนที่จะนำทางเราในการตัดสินใจชองเรา—โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามีทางเลือกที่ดีมากกว่าหนึ่งทางเลือก

อธิบายว่าหลังจากทรงสอนอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดีแล้ว พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จไปที่เบธานีและเยี่ยมบ้านของผู้หญิงที่ชื่อมารธา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 10:38–40 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่มารธาและมารีย์น้องสาวของเธอเลือกทำขณะพระผู้ช่วยให้รอดประทับอยู่ในบ้าน

  • มารีย์ทำอะไรขณะพระผู้ช่วยให้รอดประทับอยู่ในบ้าน

  • มารธาทำอะไร (ชี้ให้เห็นคำว่า วุ่นวาย ใน ข้อ 40 หมายถึงกำลังมีภาระอยู่)

ภาพ
มารีย์และมารธา

แสดงภาพ มารีย์และมารธา (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 45; ดู LDS.orgด้วย) อธิบายว่าการต้อนรับเป็นสิ่งสำคัญมากในสมัยของพระเยซู มารธากำลังพยายามทำสิ่งที่เธอคาดหวังให้ทำโดยปรกติในฐานะเจ้าบ้าน เธอสนใจความกังวลทางโลกเช่นการเตรียมและการบริการอาหาร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 40 มารธาถามอะไรพระผู้ช่วยให้รอดที่แสดงให้เห็นว่าเธอกังวลเกี่ยวกับเรื่องทางโลก

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 10:41–42 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพระดำรัสที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบมารธา

  • พระผู้ช่วยให้รอดน่าจะทรงหมายความว่าอย่างไรเมื่อพระองค์ตรัสว่า “สิ่งจำเป็นนั้นมีเพียงสิ่งเดียวและมารีย์ก็เลือกเอาส่วนที่ดีนั้น”

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“เป็นเรื่องน่ายกย่องที่มารธา ‘กระวนกระวายและร้อนใจด้วยหลายสิ่งนัก’ (ข้อ 41) แต่การเรียนรู้พระกิตติคุณจากพระปรมาจารย์เป็นสิ่งซึ่ง ‘ต้องการมากกว่า’” (“ดี ดีกว่า ดีที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 133)

  • พระผู้ช่วยให้รอดน่าจะทรงหมายความว่าอย่างไรเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ส่วนที่ดี” ที่มารีย์เลือก “ใครจะชิงเอาไปจากเธอไม่ได้” (ลูกา 10:42) (โดยการเลือกฟังพระผู้ช่วยให้รอดแทนที่จะสนใจความกังวลทางโลก เธอจะไดัรับพรทางวิญญาณ ซึ่งเป็นนิรันดร์)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากพระดำรัสที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสกับมารธา (นักเรียนอาจพูดต่างออกไป แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ หากเราเลือกอุทิศตนให้เรื่องทางวิญญาณมากกว่าความกังวลทางโลก เราจะรับพรอันเป็นนิจ)

  • เราจะอุทิศตนให้เรื่องทางวิญญาณและยังคงใส่ใจเรื่องอื่นที่ “จำเป็น” (ลูกา 10:42) แต่สำคัญน้อยกว่าได้อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โอ๊คส์

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ขณะที่เราพิจารณาทางเลือกต่างๆ เราควรจำไว้ว่าไม่เพียงพอที่บางสิ่งนั้นดี ทางเลือกอื่นๆ ดีกว่า และยังมีอื่นๆ อีกที่ดีที่สุด …

“ให้เราพิจารณาว่าเราใช้เวลาของเราอย่างไรในการเลือกของเราขณะชมโทรทัศน์ เล่นวิดีโอเกม ท่องอินเทอร์เน็ต อ่านหนังสือหรือนิตยสาร แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่จะชมรายการซึ่งมีประโยชน์หรือรับข้อมูลน่าสนใจ แต่ไม่ใช่ทุกอย่างของข้อมูลหรือรายการประเภทนั้นจะคุ้มค่ากับส่วนนั้นในชีวิตที่เราจะให้ไปเพื่อให้ได้มา บางสิ่งดีกว่าและบางสิ่งดีที่สุด” (“ดี ดีกว่า ดีที่สุด,” 133)

ขอให้นักเรียนทบทวนรายการการเลือกที่พวกเขาทำเมื่อวานและให้เขียนกำกับแต่ละข้อที่ดีว่า “ดี” “ดีกว่า” หรือ “ดีที่สุด” เชื้อเชิญให้นักเรียนหนึ่งหรือสองคนเป็นพยานว่าพวกเขาได้รับพรอย่างไรเมื่อให้เรื่องทางวิญญาณมาก่อนความกังวลทางโลก

ลูกา 11

พระเยซูทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน

เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขาเป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลากำลังสอนผู้สนใจคนหนึ่งที่พยายามสวดอ้อนวอนสองสามครั้งแล้วและรู้สึกว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงตอบ ผู้สนใจคนนั้นกำลังคิดว่าจะเลิกสวดอ้อนวอน

  • จากประสบการณ์ของท่านเอง ท่านจะตอบข้อกังวลนี้อย่างไร

ขณะที่นักเรียนศึกษา ลูกา 11 เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาความจริงในการช่วยบางคนที่รู้สึกว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเขา

สรุป ลูกา 11:1–4 โดยอธิบายว่าหลังจากฟังคำสวดอ้อนวอนของพระผู้ช่วยให้รอดแล้ว หนึ่งในสานุศิษย์ของพระองค์ทูลถามว่าพระองค์จะทรงสอนพวกเขาสวดอ้อนวอนได้หรือไม่ และพระองค์ทรงทำเช่นนั้น

อธิบายว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนสานุศิษย์ให้สวดอ้อนวอนแล้ว พระองค์ทรงใช้อุปมาเพื่อสอนความจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน รวมถึงความเต็มพระทัยของพระผู้เป็นเจ้าในการตอบคำสวดอ้อนวอน

เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษา ลูกา 11:5–13 เป็นคู่ โดยมองหาว่าพระเจ้าทรงสอนอะไรเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน ชี้ให้เห็นงานแปลของโจเซฟ สมิธที่เพิ่มใน ข้อ 5 และ 13 การเพิ่มเติมนี้พบในงานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 11:5–6 และงานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 11:14 หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามชั้นเรียนว่า

  • ในอุปมาที่ท่านอ่านใน ข้อ 5–8 เพื่อนคนหนึ่งถามเพื่อนอีกคนหนึ่งว่าอะไร เพราะเหตุใด

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเพื่อนคนที่สองจึงทำตามคำขอของเพื่อนคนแรก (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าคำว่า รบเร้า ใน ข้อ 8 หมายถึงการที่ชายคนนั้นยืนกรานจะขอแม้เมื่อเพื่อนของเขาปฏิเสธเขาแล้วในตอนแรก)

  • หากชายที่ขัดสนหมายถึงตัวเรา และเพื่อนที่มีขนมปังหมายถึงพระบิดาบนสวรรค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำว่าเราต้องทำอะไรในยามจำเป็น

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน หากเราสวดอ้อนวอนและแสวงหาพรจากพระบิดาบนสวรรค์ในยามจำเป็นอย่างไม่หยุดหย่อน…

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 13 พระบิดาบนสวรรค์ประทานอะไรแก่คนที่สวดอ้อนวอนและแสวงหาพรจากพระองค์อย่างไม่หยุดหย่อน

  • จากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน ลูกา 11:5–13 ท่านจะเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนว่าอย่างไร หลังจากนักเรียนตอบ ให้เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนเพื่อสื่อถึงความจริงต่อไปนี้ หากเราสวดอ้อนวอนและแสวงหาพรจากพระบิดาบนสวรรค์ในยามจำเป็นอย่างไม่หยุดหย่อน พระองค์จะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเราในวิธีที่จะเป็นพรแก่เรามากที่สุด)

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนยกตัวอย่างเมื่อพวกเขาได้รับคำตอบการสวดอ้อนวอนขณะแสวงหาพรจากพระบิดาบนสวรรค์อย่างไม่หยุดหย่อน

สรุป ลูกา 11:14–54 โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงขับผีออกจากชายคนหนึ่ง ประทานคำแนะนำผู้คนให้ฟังพระคำของพระผู้เป็นเจ้า ตีสอนพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์เรื่องความโง่เขลาทางวิญญาณและความชั่วร้ายของพวกเขา

ลูกา 12

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนเรื่องความหน้าซื่อใจคดและความโลภ

อ่านคำถามต่อไปนี้ให้นักเรียนฟัง และเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำตอบของพวกเขาในใจ

  • ท่านเคยอยากได้อะไรมากจนท่านคิดถึงตลอดเวลาหรือไม่

  • การคิดแบบนี้มีผลทางลบอะไรต่อเรา

สรุป ลูกา 12:1–13 โดยอธิบายว่าขณะที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงยืนอยู่ต่อหน้าฝูงชนเป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ให้ระวังความหน้าซื่อใจคด พระองค์ทรงเตือนพวกเขาว่าทุกสิ่งที่ปกปิดไว้จะถูกเปิดเผย พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบและทรงดูแลบุตรธิดาของพระองค์ จากนั้นชายคนหนึ่งทูลถามพระผู้ช่วยให้รอดว่าพระองค์จะตรัสกับพี่ชายของเขาและเกลี้ยกล่อมให้พี่ชายแบ่งมรดกให้เขาได้หรือไม่

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 12:14–15 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดต่อคำขอของชายคนนี้

  • พระผู้ช่วยให้รอดประทานคำเตือนอะไรแก่คนที่อยู่กับพระองค์

อธิบายว่า ความโลภ หมายถึงความปรารถนาบางสิ่งมากเกินไป เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน พระเจ้าทรงบัญชาเราไม่ให้โลภสิ่งของทางโลก

  • เหตุใดบุคคลพึงหลีกเลี่ยงความโลภ ความจริงนี้จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้นได้อย่างไร

อธิบายว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดตรัสกับสานุศิษย์ของพระองค์ให้หลีกเลี่ยงความโลภแล้ว พระองค์ประทานอุปมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระบัญญัตินี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ลูกา 12:16–19 ในใจ โดยมองหาว่าชายคนที่อยู่ในอุปมาใช้คำว่า ข้า และ ของข้า กี่ครั้ง ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • การที่ชายคนนี้ใช้ ข้า และ ของข้า บ่อยๆ สอนอะไรเราเกี่ยวกับความกังวลของเขา

  • เราอาจถูกล่อลวงให้เป็นเช่นชายคนนี้ในทางใดบ้าง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 12:20–21 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าตรัสเกี่ยวกับความละโมบและโลภของชายคนนี้ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

เขียน คำกล่าว ต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง (คำกล่าวนี้พบใน “สิ่งสำคัญที่สุดคือสิ่งยั่งยืนที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 49–52)

“สิ่งสำคัญที่สุดคือสิ่งยั่งยืนที่สุด,” (เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด)

  • เศรษฐีที่อยู่ในอุปมานี้ล้มเหลวที่จะจดจ่ออยู่กับ “สิ่งสำคัญที่สุด” ในทางใดบ้าง

  • เหตุใดการกระทำของชายคนนี้จึงถือว่าโง่

สรุป ลูกา 12:22–30 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงย้ำว่าสานุศิษย์ของพระองค์ไม่จำเป็นต้องกังวลจนเกินเหตุเกี่ยวกับความต้องการทางโลกของพวกเขา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 12:31–34 เชื้อเชิญให้เขาอ่าน งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 12:34 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่า พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำสานุศิษย์ของพระองค์ให้แสวงหาอะไรแทนที่จะสนใจความปรารถนาอันเห็นแก่ตัวของพวกเขาเอง

  • พระเยซูทรงแนะนำสานุศิษย์ของพระองค์ให้แสวงหาอะไร

  • พวกเขาได้รับคำสัญญาอะไรหากพวกเขาพยายามนำอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าออกมา

  • ท่านจะสรุปคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน ลูกา 12:31–34 เป็นหลักธรรมว่าอย่างไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดของเขาเอง แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ หากเราพยายามนำอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ออกมา พระองค์จะทรงจัดหาเพื่อความต้องการของเราและเตรียมที่สำหรับเราในอาณาจักรของพระองค์)

  • เราจะพยายามนำอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าออกมาในทางใดได้บ้าง (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจต้องการพูดถึงหลักธรรมที่พวกเขาระบุก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการอุทิศตัวเราเองให้กับเรื่องทางวิญญาณมากกว่าความกังวลทางโลก)

เป็นพยานว่าท่านได้รับพรอย่างไรเมื่อท่านพยายามให้เรื่องทางวิญญาณมีความสำคัญมากกว่าความกังวลทางโลกและนำอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าออกมา กระตุ้นให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาสนใจเรื่องทางวิญญาณมากกว่าความกังวลทางโลกหรือไม่ เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อให้เรื่องทางวิญญาณมาก่อนความกังวลทางโลกและเพื่อนำอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าออกมาลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

สรุป ลูกา 12:35–59 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนผู้ติดตามของพระองค์ให้เตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ พระองค์ทรงช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าที่ “ได้รับมาก, … ต้อง [เรียกเอา] มาก” (ข้อ 48) และพระองค์ทรงอธิบายว่าพระกิตติคุณของพระองค์จะทำให้เกิดความแตกแยกในบรรดาผู้คน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ลูกา 10:38–42 “มารีย์ก็เลือกเอาส่วนที่ดีนั้น”

“การต้อนรับเป็นเรื่องสำคัญมากในสังคมชาวยิว เกียรติและชื่อเสียงของสตรีบางส่วนขึ้นอยู่กับว่าเธอทำความคาดหวังทางวัฒนธรรมเรื่องบทบาทของการเป็นเจ้าบ้านได้มีสัมฤทธิผลดีเพียงใด เนื่องจากธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคมนี้ การที่้มารธาบ่นว่ามารีย์น้องสาวของเธอได้ทิ้งเธอให้ปรนนิบัติคนเดียว (ดู ลูกา 10:40) คงถูกมองว่ายุติธรรมแล้วสำหรับหลายๆ คนในสมัยนั้น แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบมารธาโดยชื่นชมการเลือกของน้องสาวเธอว่า ‘มารีย์ก็เลือกเอาส่วนที่ดีนั้น’ (ลูกา 10:42) สิ่งหนึ่งซึ่งพระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้ชัดเจนคือมีสิ่งที่สำคัญกว่าธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคม แม้ว่าจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ดี” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 160)

เมื่อมารธาบ่นว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ไม่สนพระทัยหรือที่น้องสาวของข้าพระองค์ปล่อยให้ข้าพระองค์ปรนนิบัติอยู่คนเดียว” (ลูกา 10:40) เธอยอมให้ตนเองมองพระเจ้าอย่างผิดๆ ว่าไม่ทรงห่วงใย หากเรายอมให้ลำดับความสำคัญของเราผิดเพี้ยน เราอาจเริ่มมีความคิดหรือความรู้สึกต่อพระเจ้าซึ่งไม่เป็นผลดีทางวิญญาณ การตำหนิอย่างนุ่มนวลของพระเยซูมีไว้เพื่อช่วยให้มารธาพิจารณาลำดับความสำคัญของเธอใหม่และแสวงหาพรที่พระองค์ทรงปรารถนาให้เธอรับด้วยความรัก

ลูกา 10:42 เลือกเอาส่วนที่ดีนั้น

ซิสเตอร์บอนนี ดี. พาร์กิน อดีตประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ กล่าวถึงเรื่องราวของมารธาและมารีย์เพื่อสอนความสำคัญของการเลือกส่วนดีนั้นว่า

“พระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดเน้นชัดเจนว่าอะไรสำคัญที่สุด เย็นวันนั้นในบ้านของมารธา ส่วนดีไม่ได้อยู่ในครัว แต่อยู่ที่พระบาทของพระเจ้า อาหารเย็นรอได้ …

“… เราต่างก็พยายามเลือกเอาส่วนดีนั้นซึ่งใครจะชิงไปจากเราไม่ได้ นั่นคือ สร้างสมดุลทางโลกและทางวิญญาณในชีวิตเรา คงไม่ยากถ้าต้องเลือกระหว่างการเยี่ยมสอนกับการปล้นธนาคาร แต่บ่อยครั้งการเลือกของเราละเอียดอ่อนกว่านั้น เราต้องเลือกระหว่างทางเลือกที่มีค่ามากมาย …

“… สิ่งเดียวที่ต้องการคือทำตามพระองค์ทุกวัน ท่านจงเลือกพระคริสต์พระเจ้า เลือกบำรุงเลี้ยงด้วยพระคำของพระองค์ เลือกวางใจในพระองค์ เลือกรอคอยความรักของพระองค์ เลือกอุทิศใจทั้งดวงแด่พระองค์ ท่านจงเลือกเอาส่วนดีนั้น” (“เลือกความใจบุญ: ส่วนดีนั้น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 125, 128)

ลูกา 11:5–10 อุปมาเรื่องเพื่อนในเวลาเที่ยงคืน

เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทัลเมจแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายความแตกต่างระหว่างเพื่อนในอุปมานี้กับพระบิดาบนสวรรค์ของเรา

“บทเรียนของพระเจ้าคือหากคนหนึ่งมีความเห็นแก่ตัวและไม่มีแนวโน้มว่าจะให้ กลับให้เพื่อนบ้านของเขาที่ขอด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้องและยังคงขอต่อไปแม้จะถูกคัดค้านและปฏิเสธชั่วครั้งคราว ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าพระผู้เป็นเจ้าจะประทานสิ่งที่มีผู้ขออย่างไม่หยุดหย่อนด้วยศรัทธาและเจตนาที่ชอบธรรม ไม่มีความสอดคล้องกันระหว่างการปฏิเสธอย่างเห็นแก่ตัวของชายคนนี้กับการรอคอยอันชาญฉลาดและเป็นประโยชน์ของพระผู้เป็นเจ้า ต้องมีจิตสำนึกถึงความจำเป็นที่แท้จริงสำหรับการสวดอ้อนวอน และความวางใจในพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงเพื่อทำให้คำสวดอ้อนวอนเกิดประสิทธิผล บางครั้งด้วยความเมตตาพระบิดาทรงผัดผ่อนการให้เพื่อว่าการขอจะแรงกล้ายิ่งขึ้น” (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 435)