คลังค้นคว้า
บทที่ 53: ลูกา 15


บทที่ 53

ลูกา 15

คำนำ

พวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์บ่นว่าเกี่ยวกับการที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงคบค้าสมาคมกับคนเก็บภาษีและพวกคนบาป พระผู้ช่วยให้รอดตรัสตอบโดยประทานอุปมาเรื่องแกะหาย เงินเหรียญหาย และบุตรหายไป

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ลูกา 15:1–10

พระเยซูประทานอุปมาเรื่องแกะหายและเงินเหรียญหาย

เริ่มชั้นเรียนโดยถามนักเรียนว่าพวกเขาเคยทำของมีค่าหายหรือไม่

  • พวกท่านเต็มใจทำอะไรเพื่อหาให้เจอ เพราะเหตุใด

  • ท่านคิดว่าการที่บุคคลคนหนึ่งจะ “หลง” ไปทางวิญญาณหมายถึงอะไร (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่านี่อาจหมายถึงคนที่ยังไม่ได้รับพระกิตติคุณที่ฟื้นฟูแล้วของพระเยซูคริสต์หรือไม่ได้กำลังดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระกิตติคุณ)

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงคนรู้จักที่อาจหลงไปทางวิญญาณ ขอให้พวกเขาไตร่ตรองว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับคนนี้

อธิบายว่า ลูกา 15 ประกอบไปด้วยคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับคนที่หลงไปทางวิญญาณ เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงใน ลูกา 15 ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับคนที่หลงไปทางวิญญาณและความรับผิดชอบของเราที่มีต่อพวกเขา

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 15:1–2 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคนที่เข้าใกล้พระเยซูและสิ่งที่พวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์บ่นว่า

  • ใครที่เข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอด เหตุใดพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์จึงบ่นว่า

  • การบ่นว่านี้เผยอะไรเกี่ยวกับพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์

อธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบโดยประทานอุปมาสามเรื่อง เรื่องแกะหาย เรื่องเงินเหรียญหาย และเรื่องบุตรหายไป อุปมาเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความหวังกับคนบาปเช่นเดียวกับประณามความหน้าซื่อใจคดและการคิดว่าตนชอบธรรมของพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี กระตุ้นให้นักเรียนเอาใจใส่สาเหตุที่สิ่งของในอุปมาแต่ละเรื่องหายไปและพบได้อย่างไร

ลอกแผนภูมิต่อไปนี้ลงบนกระดานหรือทำเป็น เอกสารแจก ให้นักเรียน แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ มอบหมายให้นักเรียนคนหนึ่งศึกษา ลูกา 15:3–7 และอีกคนหนึ่งศึกษา ลูกา 15:8–10 เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษาอุปมาที่ได้รับมอบหมาย โดยมองหาคำตอบของคำถามในช่องซ้ายมือ (อุปมาเรื่องที่สามจะพูดถึงในช่วงหลังของบทเรียน)

ภาพ
เอกสารแจก อุปมาเรื่องแกะหาย เงินเหรียญหาย และบุตรหายไป

อุปมาเรื่องแกะหาย เงินเหรียญหาย และบุตรหายไป

คู่มือครูเซมินารี พันธสัญญาใหม่—บทที่ 53

ลูกา 15:3–7

ลูกา 15:8–10

ลูกา 15:11–32

อะไรหายไป

เหตุใดจึงหาย

พบได้อย่างไร

คำหรือวลีใดบรรยายปฏิกิริยาเมื่อพบสิ่งของชิ้นนั้น

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนอธิบายอุปมาที่ได้รับมอบหมายและรายงานคำตอบของคำถามในแผนภูมิกับคู่ หลังจากนักเรียนทั้งสองในแต่ละกลุ่มทำเสร็จแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนมาที่กระดานและเติมแผนภูมิด้วยคำตอบของพวกเขา หรือ (หากท่านไม่ได้วาดแผนภูมิไว้บนกระดาน) ให้แบ่งปันคำตอบของพวกเขากับชั้นเรียน

  • แกะหายกับเงินเหรียญหายในวิธีที่แตกต่างกันอย่างไร (แกะหายไม่ได้เป็นความผิดของเจ้าของ แต่เงินเหรียญหายเป็นความละเลยหรือไม่ใส่ใจของเจ้าของ [ดู เดวิด โอ. แมคเคย์, ใน Conference Report, Apr. 1945, 120, 121–22])

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 7 และ 10เงินเหรียญและแกะที่พบหมายถึงอะไร (หมายถึงคนบาปที่กลับใจและกลับมาหาพระผู้เป็นเจ้า)

  • ความรับผิดชอบของเราต่อคนที่หลงไปคืออะไร ไม่ว่าจะหลงหายด้วยสาเหตุใด

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้บนกระดาน เมื่อเราช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกปรารถนาจะกลับใจ…

  • จากการตอบสนองของคนที่หาของที่หายเจอ ท่านจะเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนว่าอย่างไร (นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ เมื่อเราช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกปรารถนาจะกลับใจ เรารู้สึกปีติและสวรรค์ชื่นชมยินดี เติมหลักธรรมที่เขียนบนกระดานให้ครบถ้วน ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาเขียนหลักธรรมนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาข้าง ลูกา 15:1–10)

  • ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักช่วยคนที่หลงไปทางวิญญาณให้รู้สึกปรารถนาจะกลับใจและเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นอย่างไร บางคนเคยช่วยท่านเมื่อใด (เตือนนักเรียนว่าพวกเขาไม่ควรแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นเรื่องส่วนตัวเกินไป)

ลูกา 15:11–32

พระเยซูทรงสอนอุปมาเรื่องบุตรหายไป

เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนพิจารณาสถานการณ์สมมติต่อไปนี้ เยาวชนหญิงคนหนึ่งทำผิดบาปร้ายแรง เธอหยุดสวดอ้อนวอนและไม่ไปโบสถ์ เธอรู้สึกปรารถนาจะเริ่มสวดอ้อนวอนและดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของพระจ้า แต่เธอกังวลว่าพระองค์จะไม่ทรงต้องการให้เธอกลับมา

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขารู้จักบางคนที่อาจรู้สึกเหมือนกับคนในสถานการณ์สมมตินี้หรือไม่ อธิบายว่าอุปมาเรื่องที่สามใน ลูกา 15 เป็นเรื่องของบุตรหายไป (คือบุตรที่ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายและฟุ้งเฟ้อโดยไม่ยั้งคิด) พี่ชายของเขา และบิดาของเขา เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาความจริงขณะศึกษาอุปมานี้ที่จะช่วยคนที่อาจรู้สึกหลงทางไปจนหมดหวังจะหาทางกลับ

ท่านอาจแบ่งนักเรียนเป็น กลุ่ม กลุ่มละสามคน แจกสำเนาเอกสารต่อไปนี้ให้แต่ละกลุ่ม เชื้อเชิญพวกเขาอ่านออกเสียง ลูกา 15:11–32 ในกลุ่มของพวกเขา มอบหมายให้นักเรียนคนหนึ่งพิจารณาอุปมาจากมุมมองของบุตรหายไป นักเรียนคนที่สองพิจารณาจากมุมมองของบิดา และนักเรียนคนที่สามพิจารณาจากมุมมองของพี่ชาย

หลังจากนักเรียนอ่านเสร็จแล้ว ขอให้พวกเขาสนทนาคำถามที่อยู่ใน เอกสารแจก เป็นกลุ่ม

ภาพ
เอกสารแจก อุปมาเรื่องบุตรหายไป

อุปมาเรื่องบุตรหายไป

คู่มือครูเซมินารี พันธสัญญาใหม่—บทที่ 53

บุตรหายไป

  • อะไรที่ทำให้ท่านสำนึก หรือตระหนักว่าท่านกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่

  • ท่านคาดหวังว่าบิดาของท่านจะตอบรับการกลับบ้านของท่านอย่างไร

  • ท่านจะคิดหรือรู้สึกอย่างไรเมื่อบิดาของท่านปฏิบัติต่อท่านอย่างที่เขาปฏิบัติ

บิดา

  • ท่านจะคิดหรือรู้สึกอย่างไรขณะที่บุตรชายคนสุดท้องของท่านหายไป

  • เหตุใดท่านจึงต้อนรับบุตรที่หายไปนี้กลับบ้านอย่างที่ท่านทำ

  • เมื่อบุตรชายคนโตของท่านไม่พอใจสิ่งที่ท่านปฏิบัติกับน้องชายของเขา ท่านช่วยให้เขาเข้าใจการกระทำของท่านอย่างไร

พี่ชาย

  • ท่านจะคิดหรือรู้สึกอย่างไรขณะน้องชายของท่านหายไป

  • เหตุใดจึงเป็นเรื่องยากที่ท่านจะชื่นชมยินดีเมื่อน้องชายกลับมา

  • ท่านได้รับพรใดบ้างจากการเป็นบุตรที่ซื่อสัตย์ต่อบิดาของท่าน

ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะเติมช่องที่สามใน (ลูกา 15:11–32) แผนภูมิบนกระดาน หรือในเอกสารแจกแผ่นแรกว่าอย่างไร เขียนคำตอบของนักเรียนบนกระดาน หรือเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำตอบของพวกเขาในเอกสารแจก

  • เหตุใดบุตรจึงหายไป (ตรงข้ามกับแกะและเงินเหรียญ บุตรหายไปเนื่องจากความกบฏของเขาเอง)

  • โดยที่เข้าใจว่าบิดาในอุปมานี้หมายถีงพระบิดาบนสวรรค์ เราสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงตอบรับคนที่กลับมาหาพระองค์โดยการกลับใจ (นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ หากเรากลับมาหาพระบิดาบนสวรรค์โดยการกลับใจและแสวงหาการให้อภัยจากพระองค์ พระองค์จะทรงชื่นชมยินดีและต้อนรับเรากลับมาด้วยพระพาหุที่เปิดรับ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • หลักธรรมนี้จะช่วยคนที่รู้สึกหลงหายไปทางวิญญาณอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ภาพอันอ่อนโยนของบิดาผู้ตื่นเต้นและซื่อสัตย์ของเด็กหนุ่มคนนี้ที่วิ่งไปรับเขาและพรมจูบเขาเป็นฉากที่น่าประทับใจและสะเทือนใจที่สุดในจารึกศักดิ์สิทธิ์ ภาพดังกล่าวบอกเราว่าบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าจะหลงหายไปหรือไม่ พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เรากลับมาอยู่ในพระพาหุที่ปกป้องของพระองค์เพียงใด ” (“บุตรหายไปอีกคนหนึ่ง,” เลียโฮนา, ก.ค. 2002, 72)

(เตือนนักเรียนให้นึกถึงพี่ชายในอุปมานี้)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพี่ชายจึงโกรธ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ และขอให้ชั้นเรียนฟังความคิดเห็นถึงสาเหตุที่พี่ชายโกรธ

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“บุตรคนนี้โกรธที่น้องกลับมาบ้านแต่ก็ไม่มากเท่าความโกรธที่บิดามารดามีความสุขกับเรื่องนั้น ความที่รู้สึกน้อยใจและบางทีอาจจะเป็นมากกว่าความสงสารตัวเอง ทำให้บุตรที่มีความรับผิดชอบคนนี้—ผู้มีความรับผิดชอบ มากเป็นพิเศษ —ลืมไปชั่วขณะว่าเขาไม่เคยต้องพบกับความสกปรกหรือสิ้นหวัง ความกลัวหรือเกลียดตัวเอง เขาลืมไปชั่วขณะว่าวัวทุกตัวในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นของเขาอยู่แล้ว เสื้อผ้าทุกชุดในตู้และแหวนทุกวงในลิ้นชักก็เป็นของเขาด้วย เขาลืมไปชั่วขณะว่าความซื่อสัตย์ของเขามีผลตอบแทนให้เสมอ …

“… เขายังไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ไม่มีเมตตา ไม่มีสายตากว้างไกลและความใจกว้าง เขาไม่เห็นว่า คนที่กลับมาไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นน้องชายของเขาเอง …

“แน่นอนว่าน้องชายคนนี้เคยเป็นเชลยมาก่อน—เชลยของบาป ความโง่เขลา และเล้าหมู แต่พี่ชายมีชีวิตอยู่ในที่คุมขังด้วย เขาไม่สามารถปลดปล่อยตนเองจากการเป็นเชลย เขาวนเวียนอยู่กับความอิจฉาตาร้อน” (“บุตรหายไปอีกคนหนึ่ง,” 77)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์กล่าว พี่คนโตโกรธเพราะอะไร

  • เราต้องจดจำอะไรเมื่อเราเห็นพระผู้เป็นเจ้าทรงเมตตาและประทานพรคนที่กลับใจและกลับมาหาพระองค์

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากอุปมานี้เกี่ยวกับการเป็นเหมือนพระบิดาในสวรรค์ของเรามากขึ้น (นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ เราสามารถเป็นเหมือนพระบิดาในสวรรค์ของเรามากขึ้นโดยการตอบสนองด้วยความสงสารและปีติยินดีเมื่อคนอื่นกลับใจ)

ทบทวนหลักธรรมต่างๆ ที่นักเรียนเรียนรู้จากอุปมาใน ลูกา 15 ขอให้นักเรียนอธิบายว่าพวกเขาจะใช้หลักธรรมเหล่านี้เพื่อตอบพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ที่บ่นว่าเมื่อพระเยซูเสวยกับคนบาปอย่างไร

เตือนนักเรียนถึงคนที่พวกเขานึกถึงเมื่อเริ่มชั้นเรียนที่อาจหลงหายไปทางวิญญาณ กระตุ้นให้พวกเขาพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าพวกเขาจะสามารถช่วยคนนั้นให้กลับใจและเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นได้อย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • วิธีหนึ่งที่ท่านจะประยุกต์ใช้สิ่งที่ท่านเรียนรู้ในวันนี้คืออะไร

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ลูกา 15 “อุปมาเรื่องแกะหาย เงินเหรียญหาย และบุตรหายไป”

อุปมาต่างๆ ที่บันทึกใน ลูกา 15 เป็นพระดำรัสที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์หลังจากพวกเขาตำหนิพระองค์ที่เสวยกับคนบาป ตามที่เห็นในบริบทนี้ อุปมาเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงถ้อยคำแห่งความหวังสำหรับคนบาปที่กลับใจแต่มีคำประณามอันรุนแรงต่อคนที่คิดว่าตนชอบธรรม การประณามนี้อาจเห็นได้ในพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดว่ามีความชื่นชมยินดีในสวรรค์เรื่องคนบาปคนเดียวที่กลับใจใหม่มากกว่าเรื่องคนชอบธรรมเก้าสิบเก้าคนที่ไม่ยอมกลับใจ พระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดถึง “คนที่ไม่ยอมกลับใจ” (ลูกา 15:7) ไม่ได้แนะนำว่าพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ไม่จำเป็นต้องกลับใจ แต่นั่นเป็นการแสดงออกอย่างเหมาะสมถึงความถือตัวหยิ่งผยองและความล้มเหลวในการรับรู้ความจำเป็นที่พวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์เองต้องกลับใจ การประณามอีกอย่างหนึ่งถึงเจตคติเช่นนั้นสามารถเห็นได้ในการกระทำของพี่คนโตในอุปมาเรื่องบุตรหายไป เช่นเดียวกับพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ที่บ่นว่าเมื่อพระเยซูทรงรับคนบาป พี่คนโตในอุปมามีปฏิกิริยาที่เป็นศัตรูเนื่องจากคิดว่าตนชอบธรรมแทนที่จะสงสารเมื่อบิดาของเขาต้อนรับน้องที่หลงหายไปกลับมา

ลูกา 15:1–32 แกะ เงินเหรียญ และบุตรหายไปในวิธีที่ต่างกัน

ประธาน เดวิด โอ. แมคเคย์พูดถึงเหตุผลที่บางคนหลงหายไปดังนี้

“ข้าพเจ้าอยากพูดถึงสภาพที่ทำให้เกิดการหายของ [แกะ เงินเหรียญ และบุตรที่หายไป] …

“ข้าพเจ้าถามท่านในคืนนี้ แกะตัวนั้นหายไปได้อย่างไร มันไม่ได้กบฎ หากท่านฟังการเปรียบเทียบ แกะกำลังหาสิ่งดำรงชีวิตในแบบที่เป็นไปตามหลักการ แต่อาจจะโง่เขลา บางทีอาจไม่รู้ตัว มันเดินตามทุ่งหญ้าที่ล่อใจ คาดหวังหญ้าที่อุดมสมบูรณ์กว่าจนกระทั่งมันออกนอกฝูงและหลงไป

“เราก็มีคนแบบนั้นในศาสนจักร เยาวชนชายและเยาวชนหญิงผู้ที่หลงทางไปจากฝูงในแบบที่เป็นไปตามหลักการ พวกเขาแสวงหาความสำเร็จ ความสำเร็จในธุรกิจ ความสำเร็จในอาชีพ และไม่นานหลังจากนั้นพวกเขาก็เลิกสนใจศาสนจักรและในท้ายที่สุดก็ขาดการติดต่อจากฝูง พวกเขาหลงลืมไปว่าความสำเร็จที่แท้จริงคืออะไร บางทีด้วยความโง่เขลา บางทีโดยที่ไม่รู้ตัว ในบางกรณีหลงไปด้วยความเต็มใจ พวกเขามองไม่เห็นว่าอะไรที่ทำให้เกิดความสำเร็จที่แท้จริง …

“ใน [กรณีของเงินเหรียญหาย] สิ่งที่หายไม่ได้เกิดจากความรับผิดชอบของตัวมันเอง คนที่ถูกฝากฝังให้ดูแลเหรียญเงินนั้น สะเพร่าหรือละเลย หลงวางไว้หรือทำหล่น มีความแตกต่าง และนี่เป็นหนึ่งในสาม ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าประยุกต์ใช้กับเราได้ในคืนนี้ ความรับผิดชอบของเราไม่ได้เป็นแค่เงินเหรียญ แต่เป็นจิตวิญญาณที่มีชีวิตของเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ พวกเขาเป็นความรับผิดชอบของเรา พวกเขาบางคนอาจหลงทางไปในคืนนี้เนื่องจากการละเลยของผู้สอนในวอร์ด …

“[เกี่ยวกับบุตรที่หายไป] นี่เป็นกรณีของความตั้งใจ นี่เป็นการเลือก การเลือกที่คิดรอบคอบแล้ว นี่เป็นการกบฎต่อสิทธิอำนาจในแบบหนึ่ง และเขาทำอะไร เขาใช้สิ่งที่เขามีไปกับการใช้ชีวิตเหลวไหล เขาใช้จ่ายส่วนของเขาไปกับหญิงโสเภณี นั่นคือวิธีที่เขาหายไป

“เยาวชนที่เริ่มปล่อยใจไปกับความอยากและกิเลสของพวกเขากำลังอยู่บนหนทางที่ลงไปสู่การละทิ้งความเชื่อซึ่งเป็นเหมือนดั่งพระอาทิตย์ที่ขึ้นทางตะวันออก ข้าพเจ้าไม่ได้จำกัดที่เยาวชนเท่านั้น ชายหรือหญิงคนใดที่เริ่มเดินไปบนหนทางแห่งการหลงระเริงของการใช้ชีวิตอย่างไร้สาระจะแยกตัวเขาหรือเธอออกจากฝูงอย่างหนีไม่พ้นดังความมืดที่เกิดขึ้นหลังกลางวัน” (ใน Conference Report, Apr. 1945, 120, 121–22, 123)

ลูกา 15:1–32 อุปมาเรื่องแกะหาย เงินเหรียญหาย และบุตรหายไป

เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทัลเมจ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนไว้ว่า

“อุปมาทั้งสาม … เป็นหนึ่งในการแสดงถึงความชื่นชมยินดีในสวรรค์ต่อการค้นพบจิตวิญญาณที่ครั้งหนึ่งถูกนับอยู่ในบรรดาผู้ที่หาย ไม่ว่าจิตวิญญาณนั้นจะเป็นสัญลักษณ์ของแกะที่เดินหลงไปไกล เงินเหรียญที่หล่นหาไม่พบเนื่องจากการละเลยของผู้ดูแล หรือบุตรที่ตั้งใจแยกตัวออกจากบ้านและสวรรค์ ไม่มีเหตุผลสำหรับการกล่าวอ้างว่าคนบาปที่กลับใจนั้นจะมาก่อนจิตวิญญาณที่ชอบธรรมผู้ซึ่งต้านทานบาป … แม้ว่าบาปเป็นสิ่งที่ทำให้ขุ่นเคืองใจ คนบาปก็ยังมีค่ายิ่งในสายพระเนตรของพระบิดา เนื่องจากความเป็นไปได้ของการกลับใจและการกลับมาสู่ความชอบธรรมของเขา จิตวิญญาณที่หลงหายนั้นมีอยู่จริงและเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่สำหรับพระผู้เป็นเจ้า พระองค์จึงทรงเจ็บปวดและคร่ำครวญ เพราะเป็นพระประสงค์ของพระองค์ว่าเพียงคนเดียวก็ไม่ควรพินาศ” (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 461)

ลูกา 15:3–7 แกะหาย

“ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (1805–1844) กล่าวว่าการตีความอย่างหนึ่งของอุปมาคือ ‘แกะร้อยตัวหมายถึงพวกสะดูสีและพวกฟาริสีร้อยคน’ เพราะว่าพวกเขาไม่ยอมรับและทำตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์จะทรงออกไปนอกฝูงและหา ‘คนสองสามคน หรือคนเก็บภาษีที่น่าสงสารสักคน ซึ่งพวกฟาริสีและพวกสะดูสีเกลียดชัง’ เมื่อพระองค์ทรงพบ ‘แกะหาย’ ที่จะกลับใจและรับพระองค์ พวกเขาจะมี ‘ความชื่นชมยินดีในสวรรค์’ (ใน History of the Church, 5:262) การตีความนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าพระคำของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นการประณามเพื่อช่วยพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ให้ตระหนักในความจำเป็นของตนเองที่ต้องกลับใจ เนื่องจากพระเจ้าทรงบัญชา ‘มนุษย์ทั้งปวงทุกแห่งหนให้กลับใจ’ (คพ. 133:16; ดู โรม 3:23; 1 ยอห์น 1:8; คพ. 18:9, 42)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 168–69)

ลูกา 15:11–32 “บุตรหายไป”

โดยกล่าวถึงอุปมาเรื่องบุตรหายไป ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ กระตุ้นว่า

“ข้าพเจ้าขอให้ท่านอ่านเรื่องนั้น บิดามารดาทุกคนต้องอ่านแล้วอ่านอีก เรื่องนี้สำคัญมากพอที่จะเป็นเครื่องนำทางแก่ทุกบ้าน ประยุกต์ใช้ได้กับมนุษย์ทุกคน เพราะเราทั้งหมดไม่ได้เป็นบุตรธิดาที่หายไปผู้ที่ต้องกลับใจและรับส่วนพระเมตตาแห่งการให้อภัยจากพระบิดาบนสวรรค์แล้วทำตามแบบอย่างของพระองค์หรอกหรือ” (“Of You It Is Required to Forgive,” Ensign, June 1991, 5)

ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวด้วยว่า

“เรามีคนของเราบางคนที่ร้องออกมาด้วยความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน ความโดดเดี่ยว และความกลัว หน้าที่อันสำคัญยิ่งและจริงจังของเราคือยื่นมือออกไปช่วยพวกเขา พยุงพวกเขา ให้อาหารพวกเขาหากพวกเขาหิวโหย บำรุงเลี้ยงวิญญาณของพวกเขาหากพวกเขากระหายความจริงและความชอบธรรม …

“… มีผู้ที่ครั้งหนึ่งอบอุ่นด้วยศรัทธาแต่ศรัทธาของพวกเขากลับมอดลง หลายคนปรารถนาจะกลับมาแต่ไม่รู้แน่นอนว่าจะทำอย่างไร พวกเขาต้องการมือแห่งมิตรภาพที่ยื่นออกไปหาพวกเขา ด้วยความพยายามเพียงเล็กน้อยพวกเขาหลายคนจะได้รับการนำกลับมาที่โต๊ะของพระเจ้าอีกครั้ง

พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะตั้งความหวัง ข้าพเจ้าจะสวดอ้อนวอนว่าเราทุกคน… จะตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะแสวงหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือซึ่งตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังและยากลำบาก เพื่อจะยกพวกเขาขึ้นด้วยวิญญาณแห่งความรักสู่อ้อมอกของศาสนจักร ซึ่งที่นี่มีมืออันแข็งแรงและหัวใจที่มีความรักจะทำให้พวกเขาอบอุ่น จะปลอบโยนพวกเขา จะค้ำจุนและนำพวกเขาไปสู่หนทางแห่งความสุขและชีวิตอันอุดมสมบูรณ์” (ดู “จงยื่นมือออกไปช่วยเหลือ,” เลียโฮนา, ม.ค. 1997,100–102)