คลังค้นคว้า
บทที่ 52: ลูกา 13–14


บทที่ 52

ลูกา 13–14

คำนำ

พระเยซูทรงสอนเกี่ยวกับการกลับใจและแผ่นดินของพระเจ้า พระองค์ทรงทำการรักษาในวันสะบาโต พระเยซูทรงใช้อุปมาเพื่อสอนเกี่ยวกับความอ่อนน้อมถ่อมตนและข้อเรียกร้องของการเป็นสานุศิษย์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ลูกา 13:1–14:14

พระเยซูทรงรักษาในวันสะบาโต ทรงสอนเกี่ยวกับความอ่อนน้อมถ่อนตนและการดูแลคนที่ขัดสนกว่า

อ่านออกเสียงสถานการณ์สมมติต่อไปนี้ ท่านกำลังนั่งรับประทานอาหารกลางวันอยู่กับเพื่อนหลายคน พวกเขาสังเกตเห็นนักเรียนที่แต่งกายมอซอนั่งอยู่คนเดียว คนหนึ่งในกลุ่มของท่านพูดไม่สุภาพเกี่ยวกับสภาพของนักเรียนคนนั้น และเพื่อนของท่านก็หัวเราะ

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์นี้

  • มีวิธีใดบ้างที่ท่านจะตอบสนองในสถานการณ์นี้

เชื้อเชิญให้นักเรียนดูใน ลูกา 13–14 ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์กับคนที่ทุกข์ยากกว่าเราอย่างไร

สรุป ลูกา 13:1–14:6 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเล่าอุปมาเกี่ยวกับต้นมะเดื่อที่จะถูกตัดหากไม่มีผล ซึ่งสอนว่าเราจะวิบัติหากเราไม่กลับใจ พระองค์ทรงรักษาหญิงคนหนึ่งในวันสะบาโตและทรงสอนเกี่ยวกับแผ่นดินของพระเจ้าและคนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในนั้น พระองค์ทรงคร่ำครวญถึงความพินาศของเยรูซาเล็มที่เกิดขึ้นในไม่ช้า ใน ลูกา 14:1–6 เราอ่านว่าผู้นำคนหนึ่งของพวกฟาริสีทูลเชิญพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จไปเสวยที่บ้านในวันสะบาโต ก่อนเสวย พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาชายคนหนึ่งที่เป็นโรคบวมน้ำ ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ร่างกายคนบวมด้วยน้ำ

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งในแต่ละคู่อ่าน ลูกา 13:15–16 ในใจและอีกคนหนึ่งอ่าน ลูกา 14:5–6 ขอให้นักเรียนมองหาพระดำรัสตอบที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสแก่พวกฟาริสีที่กล่าวหาว่าพระองค์ทรงละเมิดวันสะบาโตโดยการรักษาคนเหล่านี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบกับคู่ของเขา

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ถามนักเรียนว่า

  • วลีใดที่บรรยายสิ่งที่พวกฟาริสีจะทำเพื่อสัตว์ของพวกเขาในวันสะบาโต (ปล่อยสัตว์ออกจากคอกและฉุดขึ้นมาจากบ่อ)

  • เราเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับการให้เกียรติวันสะบาโตและรักษาให้ศักดิ์สิทธิ์ (การปฏิบัติต่อคนที่ทุกข์ยากเป็นสิ่งที่เหมาะสมในวันสะบาโต แบบอย่างอันชอบธรรมของพระผู้เป็นเจ้าแตกต่างกับเจตคติของพวกฟาริสีบางคนที่มองว่าการช่วยสัตว์ถูกต้องแต่ไม่ใช่การช่วยคนในวันสะบาโต)

สรุป ลูกา 14:7–11 โดยอธิบายว่าหลังจากทรงรักษาชายที่ทุกข์ทรมานจากโรคบวมน้ำแล้ว พระผู้ช่วยให้รอดทรงตีสอนแขกอื่นที่ร่วมรับประทานอาหารเย็นซึ่งพยายามยกตนโดยนั่งในที่นั่งอันมีเกียรติที่สุดและใกล้กับเจ้าภาพมากที่สุด

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 14:12–14 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนชาวฟาริสีที่ทูลเชิญพระองค์มาเสวย

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำอะไรชาวฟาริสีคนนี้

  • มีเหตุผลที่เป็นไปได้ใดบ้างที่คนเชิญเพื่อนและเพื่อนบ้านที่ร่ำรวยของพวกเขามารับประทานอาหารเย็น

อธิบายว่าในสมัยพระผู้ช่วยให้รอด คนพิการ คนง่อย หรือคนตาบอดมักลำบากในการหาเลี้ยงตนเองจึงทำให้พวกเขายากจน พวกฟาริสีบางคนดูถูกคนเหล่านี้ (ดู ลูกา 16:14–31)

  • มีเหตุผลอะไรบ้างที่คนทุกวันนี้อาจดูถูกคนอื่น

  • เราเรียนรู้หลักธรรมอะไรจาก ลูกา 14:14 เกี่ยวกับการพยายามช่วยคนที่ขัดสนกว่าเรา (ต่อไปนี้เป็นหลักธรรมหนึ่งข้อที่นักเรียนอาจระบุ เมื่อเราพยายามช่วยคนที่ขัดสนกว่าเรา พระเจ้าจะประทานบำเหน็จแก่เราที่การฟื้นคืนชีวิต)

ชี้ให้เห็นว่านอกจากจะประทานบำเหน็จแก่เราที่การฟื้นคืนชีวิต พระเจ้าจะประทานพรเราในชีวิตนี้เมื่อเราพยายามช่วยคนที่ขัดสนกว่าเรา

  • เราจะช่วยคนที่ขัดสนกว่าเราได้ในทางใดบ้าง

  • ท่านหรือคนรู้จักได้รับพรจากการพยายามช่วยคนที่ขัดสนกว่าท่านเมื่อใด

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาวิธีที่พวกเขาจะช่วยคนที่ขัดสนกว่าพวกเขา กระตุ้นให้พวกเขาเขียนเป้าหมายหนึ่งที่จะรับใช้คนที่ขัดสนมากกว่าพวกเขาลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

ลูกา 14:15–35

พระเยซูประทานอุปมาเรื่องงานเลี้ยงใหญ่และสอนเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของการเป็นสานุศิษย์

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนบนกระดานถึงบางสิ่งที่อาจจะมีผู้ขอให้พวกเขาเสียสละหรือละทิ้งในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์

  • มีข้ออ้างอะไรบ้างที่บางคนอาจถูกล่อลวงให้ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียสละเหล่านี้

ขณะที่พวกเขาศึกษา ลูกา 14 ต่อ เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาหลักธรรมที่สอนถึงสิ่งที่พระเยซูทรงเรียกร้องจากสานุศิษย์ของพระองค์

อธิบายว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำพวกฟาริสีให้เชิญคนที่ขัดสนกว่ามารับประทานอาหาร บางคนในห้องนั้นทูลพระองค์ว่า “ผู้ที่จะได้รับประทานอาหารในแผ่นดินของพระเจ้าก็เป็นสุข” (ลูกา 14:15) เพื่อตอบคำกล่าวนี้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงเล่าอุปมาเรื่องงานเลี้ยงใหญ่

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านออกเสียง ลูกา 14:16–24 กับคู่ของเขาจากตอนต้นในบทเรียน ขอให้นักเรียนคนหนึ่งในแต่ละคู่มองหาคำเชิญที่คนในอุปมาได้รับ เชื้อเชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งในแต่ละคู่ให้มองหาข้ออ้างของคนที่ปฏิเสธข้อเสนอที่ให้ไว้ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ถามชั้นเรียนว่า

  • พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นเหมือนงานเลี้ยงใหญ่อย่างไร (คำตอบอาจได้แก่ พระกิตติคุณเป็นของประทานที่เตรียมไว้สำหรับเรา พระกิตติคุณจะเติมเต็มเราและสนองความต้องการของเรา เราได้รับเชิญให้รับส่วนพระกิตติคุณ และเราสามารถรับหรือปฏิเสธคำเชิญให้รับส่วนพระกิตติคุณได้)

  • ผู้คนที่ไม่รับเชิญมางานเลี้ยงใหญ่ให้ข้ออ้างว่าอะไร

  • ข้ออ้างเหล่านี้เปิดเผยอะไรเกี่ยวกับลำดับความสำคัญของคนเหล่านี้

ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 24 ผลของการให้สิ่งอื่นมีความสำคัญมากกว่าพระเจ้าและพระกิตติคุณของพระองค์คืออะไร (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมนำนองนี้ หากเราให้สิ่งอื่นมีความสำคัญมากกว่าพระเจ้าและพระกิตติคุณของพระองค์ เราจะสูญเสียพรที่เราจะได้รับ)

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองดูรายการบนกระดานของการเสียสละต่างๆ ที่อาจมีผู้ขอให้พวกเขาทำในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์

  • เราจะสูญเสียพรใดบ้างหากเราไม่เต็มใจเสียสละ

อธิบายว่าหลังจากทรงสอนอุปมานี้ พระผู้ช่วยให้รอดตรัสกับฝูงชนเกี่ยวกับสิ่งที่พระองค์ทรงเรียกร้องจากสานุศิษย์ของพระองค์ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 14:25–27 อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธอธิบายคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน ลูกา 14:25–27 ดังนี้ “มีมหาชนไปกับพระเยซู พระองค์จึงทรงเหลียวไปตรัสกับพวกเขาว่า ถ้าใครมาหาเราและไม่ชังบิดามารดา บุตรภรรยา และพี่น้องชายหญิง แม้แต่ชีวิตของตนเอง หรือพูดอีกนัยหนึ่ง กลัวที่จะสละชีวิตของเขาเพื่อเห็นแก่เรา คนนั้นจะเป็นสาวกของเราไม่ได้ และใครก็ตามที่ไม่ได้แบกกางเขนของตนตามเรามา คนนั้นจะเป็นสาวกของเราไม่ได้ ดังนั้น ท่านตกลงใจให้แน่วแน่ ว่าท่านจะทำสิ่งที่เราจะสอน และบัญชาท่าน”

  • พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าสานุศิษย์ของพระองค์ต้องเต็มใจทำอะไร

อธิบายว่านิยามหนึ่งของคำในภาษากรีกที่แปลว่า เกลียด คือการ “รักน้อยลง” (เจมส์ สตรอง, The Exhaustive Concordance of the Bible [1890], “misĕō,” 48) พระผู้ช่วยให้รอดทรงอธิบายว่าสำหรับสานุศิษย์ของพระองค์ การอุทิศตนต่อครอบครัวหรือแม้แต่ชีวิตของตนเองมาหลังการอุทิศตนต่อพระองค์ (ดู มัทธิว 10:37 ด้วย) การรับกางเขนของตนหมายถึงการตรึงกางเขนและเป็นตัวแทนของความเต็มใจที่กำหนดไว้เพื่อถวายชีวิตของคนๆ หนึ่งเพื่อพระคริสต์ ผู้ประทานพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อเรา (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 16:26 [ใน คู่มือพระคัมภีร์])

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ (นักเรียนอาจระบุความจริงที่แตกต่างกันไป แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงทำนองนี้ สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ต้องเต็มใจเสียสละทุกสิ่งเพื่อติดตามพระองค์ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนความจริงนี้ในที่ว่างริมหน้าพระคัมภีร์ข้าง ลูกา 14:25–27)

  • เหตุใดท่านจึงคิดว่าสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ต้องเต็มใจที่จะให้พระองค์มาก่อนทุกสิ่ง รวมถึงสมาชิกครอบครัวและชีวิตพวกเขาเอง

เขียนประโยคนี้บนกระดาน ท่านตกลงใจให้แน่วแน่ (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 14:27)

  • ท่านคิดว่าประโยคนี้ “ท่านตกลงใจให้แน่วแน่” หมายความว่าอย่างไร อธิบายว่าในบริบทนี้ ตกลงใจ หมายถึงตัดสินใจแน่วแน่หรือตัดสินใจหนักแน่น

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้เราตกลงใจอะไรให้แน่วแน่

  • เราเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากงานแปลของโจเซฟ สมิธในลูกา 14:27 (นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ เมื่อเราตกลงใจแน่วแน่ว่าจะทำสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนและทรงบัญชาเรา เราเป็นสานุศิษย์ของพระองค์)

แจกสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์แลร์รีย์ ดับเบิลยู. กิบบอนส์แห่งสาวกเจ็ดสิบให้นักเรียน เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยหาดูว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อดำเนินชีวิตตามหลักธรรมนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์แลร์รีย์ ดับเบิลยู. กิบบอนส์

“เมื่อท่านเริ่มจัดลำดับความสำคัญในชีวิต จงจำไว้ว่าความมั่นคงที่แท้จริงอยู่ในการดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติเท่านั้น …

“… เป็นเรื่องดีที่จะตัดสินใจแต่เนิ่นๆ และเพียงครั้งเดียวในชีวิตว่าท่านจะทำอะไรและท่านจะไม่ทำอะไรเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ ความสุภาพเรียบร้อย ความบริสุทธิ์ พระคำแห่งปัญญา และการแต่งงานในพระวิหาร

“พี่น้องทั้งหลาย จงอยู่บนทางคับแคบและแคบ ไม่ใช่อยู่ ระหว่างกลาง ของทางคับแคบและแคบ อย่าหลงระเริง อย่าเถลไถล อย่าประมาท จงระวัง

“… การดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติจะนำความสุขมาให้ท่านซึ่งเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากค้นหาตามที่ต่างๆ” (“เหตุฉะนั้น จงเอาใจจดจ่อในเรื่องนี้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 129, 130)

  • พระบัญญัติใดที่ท่านตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะเชื่อพัง ท่านเคยได้รับพรอย่างไรจากการตัดสินใจที่จะเชื่อฟังพระบัญญัตินั้น

กระตุ้นให้นักเรียนตกลงใจให้แน่วแน่ “ว่า [พวกเขา] จะ … และ … จะไม่ทำอะไรเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ ความสุภาพเรียบร้อย ความบริสุทธิ์ พระวาจาแห่งปัญญา และการแต่งงานในพระวิหาร” ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนการตัดสินใจของเขาลงในสมุดจดหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

อธิบายว่าหลังจากสอนหลักธรรมเหล่านี้เกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์ พระผู้ช่วยให้รอดประทานแนวเทียบสองเรื่อง เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 14:28–30 และขอให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 14:31–33 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและพิจารณาว่าแนวเทียบสองเรื่องนี้แสดงถึงอะไร

  • ท่านคิดว่าแนวเทียบสองเรื่องนี้แสดงถึงอะไร

อธิบายว่าแนวเทียบทั้งสองเรื่องแสดงถึงความสำคัญของการนับ หรือการกำหนด สิ่งที่ต้องสูญเสียของแนวทางปฏิบัติก่อนที่จะเริ่มทำเพื่อตัดสินใจว่าท่านจะสามารถทำสำเร็จได้หรือไม่ พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้ผู้ติดตามพระองค์ใคร่ครวญให้รอบคอบว่าพวกเขาจะเต็มใจเสียสละอะไรก็ตามที่จำเป็นเพื่อพวกเขาจะดำเนินต่อไปตลอดชีวิตในฐานะสานุศิษย์ของพระองค์หรือไม่ (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 14:31 )

ขอให้นักเรียนเขียนสิ่งที่พวกเขาต้องเสียสละบนกระดานอีกครั้ง เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนมาอธิบายว่าเหตุใดพวกเขาจึงเต็มใจเสียสละในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมาย ข้อ 33 ซึ่งมีบทสรุปสั้นๆ จากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในบทนี้ เป็นพยานถึงความจริงที่ท่านสนทนาไปแล้ว

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ลูกา 14:12–14 หากเราพยายามช่วยคนที่ขัดสนกว่าเรา พระเจ้าจะประทานพรเรา

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดอธิบายถึงพรบางประการที่เราจะได้รับเนื่องจากการช่วยเหลือผู้อื่น

“ขณะที่เราหยิบยื่นมือและใจไปหาผู้อื่นด้วยความรักเหมือนอย่างพระคริสต์ มีสิ่งยอดเยี่ยมเกิดขึ้นกันเรา วิญญาณของเราเองจะได้รับการเยียวยา ทำให้บริสุทธิ์ และเข้มแข็งมากขึ้น เรามีความสุข มีสันติสุข และเปิดรับต่อเสียงกระซิบของพระวิญญาณบริสุทธิ์มากขึ้น” (“เจ้าคือมือของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 88)

ลูกา 14:15–24 อุปมาเรื่องงานเลี้ยงใหญ่

เพื่อเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับอุปมาเรื่องงานเลี้ยงใหญ่ ให้ดูบทวิจารณ์ใน คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ (คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014, 164)