คลังค้นคว้า
บทที่ 54: ลูกา 16


บทที่ 54

ลูกา 16

คำนำ

พระเยซูทรงสอนอุปมาเรื่องพ่อบ้านที่ไม่ซื่อสัตย์ พวกฟาริสีได้ยินคำสอนของพระเยซูและเยาะเย้ยพระองค์ พระเยซูทรงตำหนิพวกฟาริสีและสอนอุปมาเรื่องเศรษฐีกับลาซารัสแก่พวกเขา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ลูกา 16:1–12

พระเยซูทรงสอนอุปมาเรื่องพ่อบ้านที่ไม่ซื่อสัตย์

ท่านอาจนำเอาสิ่งของมาที่ชั้นเรียน สิ่งของที่แสดงถึงความร่ำรวยและอำนาจทางโลก เช่นเงิน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ วุฒิบัตร รถยนต์ของเล่น หรือภาพบ้าน

เริ่มบทเรียนโดยถามว่า

  • มีสิ่งของอะไรที่คนมักมีใจฝักใฝ่และพยายามให้ได้มา (หากท่านนำสิ่งของที่เกี่ยวข้องมาด้วย ให้นักเรียนดูสิ่งของนั้นเมื่อนักเรียนพูดถึง หรือมิฉะนั้น ขอให้นักเรียนคนหนึ่งเขียนรายการคำตอบของสมาชิกชั้นเรียนบนกระดาน)

  • มีความร่ำรวยใดบ้างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราแสวงหา (เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนรายการคำตอบของสมาชิกชั้นเรียนบนกระดาน ซึ่งอาจรวมถึงครอบครัวนิรันดร์ สันติสุข ความปีติยินดี และรัศมีภาพซีเลสเชียล บอกนักเรียนคนนั้นให้เขียนหัวข้อ ความร่ำรวยนิรันดร์ ข้างบนรายการนั้น)

ชี้ให้เห็นว่าเราสามารถได้รับความร่ำรวยนิรันดร์บางอย่างได้ในชีวิตนี้ ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าความร่ำรวยนิรันดร์ข้อใดสำคัญต่อพวกเขาเป็นพิเศษ เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาความจริงขณะที่พวกเขาศึกษา ลูกา 16 ที่จะช่วยให้พวกเขาได้รับความร่ำรวยนิรันดร์

อธิบายว่าหลังจากทรงสอนอุปมาเรื่องแกะหาย เงินเหรียญหาย และบุตรหายไป พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอุปมาเรื่องพ่อบ้านที่ไม่ซื่อสัตย์ ท่านอาจต้องการอธิบายว่าพ่อบ้านคือคนที่ดูแลธุรกิจ เงิน และทรัพย์สินให้อีกคนหนึ่ง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 16:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเศรษฐีในอุปมาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพ่อบ้านของเขา

  • พ่อบ้านทำอะไรกับสมบัติของเศรษฐี

  • ผลของการผลาญสมบัติของพ่อบ้านคืออะไร (เขาจะถูกถอดออกจากหน้าที่)

สรุป ลูกา 16:3–7 โดยอธิบายว่าพ่อบ้านกังวลว่าเขาจะทำอย่างไรเมื่อเขาตกงานเนื่องจากเขาไม่อยากทำงานใช้แรงงานและอายเกินกว่าจะขอทาน เขาวางแผนซึ่งเขาคิดว่าจะทำให้เขาได้งานในบ้านหลังอื่น เขาไปหาลูกหนี้สองคนของเศรษฐีและลดจำนวนหนี้ของพวกเขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเขาหวังว่าลูกหนี้ทั้งสองจะชื่นชอบเขา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 16:8 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเศรษฐีตอบสนองอย่างไรเมื่อเขารู้การกระทำของพ่อบ้าน อธิบายว่า “ลูกของยุคนี้” คือคนที่ใส่ใจเรื่องทางโลกและ “ลูกของความสว่าง” คือผู้ติดตามของพระผู้เป็นเจ้า หรือคนที่ใส่ใจเรื่องทางวิญญาณ

  • เศรษฐีตอบสนองอย่างไรเมื่อเขารู้การกระทำของพ่อบ้าน เศรษฐีชมว่าอย่างไร (เศรษฐีชมความฉลาดของพ่อบ้านที่ทำให้ลูกหนี้ของเศรษฐีชื่นชอบ ไม่ได้ชมความไม่ซื่อสัตย์ของพ่อบ้าน)

แจกสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ เจมส์ อี. ทาลเมจแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวนั้น ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนผ่านอุปมาเรื่องพ่อบ้านที่ไม่ซื่อสัตย์

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจ

“จุดประสงค์ของพระเจ้าคือเพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างความห่วงใย ความอาทร และการอุทิศตนของคนที่เกี่ยวข้องในธุรกิจการเงินของโลก และความไม่เต็มใจของอีกหลายๆ คนที่บอกว่ากำลังแสวงหาความร่ำรวยทางวิญญาณ …

“… โดยเรียนรู้แม้จากคนไม่ซื่อสัตย์และชั่วร้าย หากพวกเขามองการณ์ไกลถึงการจัดเตรียมไว้สำหรับในอนาคตที่เขานึกถึง ท่านผู้ที่เชื่อในอนาคตนิรันดร์ควรจัดเตรียมไว้มากกว่านั้นเพียงใด! … จงทำตามพ่อบ้านที่ไม่ซื่อสัตย์และผู้ที่รักเงินทอง ไม่ใช่ในเรื่องความไม่ซื่อสัตย์ ความละโมบ (โลภมากเพราะเห็นแก่ตัว) และเก็บสะสมความมั่งคั่งอย่างตระหนี่ของเขาไว้อย่างดีที่สุดแต่ก็ไม่ยั่งยืน [ชั่วคราว] แต่ให้เลียนแบบการจัดเตรียมไว้เผื่ออนาคตอย่างใจจดใจจ่อ คิดไว้ล่วงหน้าของพวกเขา” (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 463, 464)

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้สานุศิษย์ของพระองค์เรียนรู้อะไรจากคนที่ใส่ใจเรื่องทางโลกเช่นพ่อบ้านที่ไม่ซื่อสัตย์

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน ถ้าเราเตรียมอย่างฉลาดสำหรับอนาคตนิรันดร์ของเรา…

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 16:10–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าเราต้องทำเพื่อจะรับพรด้วยความร่ำรวยนิรันดร์ อธิบายว่า เงินทอง หมายถึงความร่ำรวยทางโลก รวมถึงเงินตรา ทรัพย์สิน และการคบค้าสมาคม

  • ท่านคิดว่า “ซื่อสัตย์ในของเล็กน้อย” (ข้อ 10) หมายความว่าอย่างไร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เพิ่มวลีต่อไปนี้เข้าไปในวลีบนกระดาน และใช้ความร่ำรวยทางโลกอย่างชอบธรรม…)

ดึงความสนใจของนักเรียนมายังรายการความร่ำรวยนิรันดร์บนกระดาน

  • อะไรที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็น “ของเที่ยงแท้” (ของ 11)

ขอให้นักเรียนเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนเพื่อให้เป็นหลักธรรมเกี่ยวกับวิธีที่เราจะได้รับความร่ำรวยนิรันดร์ (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ ถ้าเราเตรียมอย่างฉลาดสำหรับอนาคตนิรันดร์ของเราและใช้ความร่ำรวยทางโลกอย่างชอบธรรม เราจะได้รับพรด้วยความร่ำรวยนิรันดร์)

  • เหตุใดบางครั้งจึงยากที่จะเตรียมอย่างฉลาดและอย่างพากเพียรสำหรับอนาคตนิรันดร์ของเรา

  • เราจะใช้ความร่ำรวยทางโลกอย่างชอบธรรมได้อย่างไร

  • การใช้ความร่ำรวยทางโลกอย่างชอบธรรมสะท้อนค่าควรของเราที่จะได้รับมอบความร่ำรวยนิรันดร์ของเรา อย่างไร

ลูกา 16:13–31

พระเยซูทรงตำหนิพวกฟาริสีและสอนอุปมาเรื่องเศรษฐีกับลาซารัส

ดึงความสนใจของนักเรียนมายังรายการบนกระดาน (หรือไปที่สิ่งของที่แสดงถึงความร่ำรวยทางโลก หากท่านนำมาด้วย) ขอให้พวกเขาไตร่ตรองว่าการโลภความร่ำรวยทางโลกจะกีดกันเราจากการได้ความร่ำรวยนิรันดร์อย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาคำตอบหนึ่งของคำถามนี้ขณะที่พวกเขาศึกษา ลูกา 16:13–26

สรุป ลูกา 16:13–14 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าเรา “รับใช้ [ทั้ง] พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้” (ข้อ 13) พวกฟาริสีได้ยินคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดและ “เยาะเย้ย” (ข้อ 14) หรือล้อเลียนพระองค์ ขอให้นักเรียนค้นหาคำใน ลูกา 16:14 ที่บรรยายถึงพวกฟาริสีและให้อธิบายมาหนึ่งข้อว่าเหตุใดพวกเขาจึงเยาะเย้ยพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับคำสอนของพระองค์

  • จากสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับพวกฟาริสี พวกเขาโลภสิ่งใด (อำนาจและความมั่งคั่งทางโลก [ดู มัทธิว 23:2–6, 14])

  • ท่านคิดว่าเหตุใดความโลภของพวกฟาริสีจึงนำเขาให้เยาะเย้ยพระผู้ช่วยให้รอด

อธิบายว่า งานแปลของโจเซฟ สมิธในลูกา 16:16–23 (ในคู่มือพระคัมภีร์) อธิบายมากขึ้นเกี่ยวกับการโต้ตอบกันระหว่างพวกฟาริสีและพระผู้ช่วยให้รอด เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อสรุปของงานแปลต่อไปนี้

พวกฟาริสีอ้างว่ากฎของโมเสสและพระคัมภีร์จากศาสดาพยากรณ์อื่นๆ (พันธสัญญาเดิม) เป็นกฎของพวกเขา ดังนั้นพวกเขาจึงปฏิเสธพระเยซูในฐานะผู้พิพากษาพวกเขา พระเยซูคริสต์ทรงอธิบายว่ากฎของโมเสสและศาสดาพยากรณ์เป็นพยานถึงพระองค์ พระองค์ทรงถามพวกฟาริสีที่ปฏิเสธสิ่งที่เขียนไว้และตำหนิพวกเขาใน “[การ] บิดเบือนทางที่ถูกต้อง” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 16:21) เพื่อช่วยพวกฟาริสี ผู้ที่ใจของเขาอยู่กับอำนาจและความร่ำรวยทางโลก ให้เข้าใจพฤติกรรมและผลของพฤติกรรมของพวกเขา พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปรียบพวกเขากับเศรษฐีในอุปมาที่บันทึกใน ลูกา 16:19–31

ขออาสาสมัครสามคนออกมาอ่านบทพูด มอบหมายให้อาสาสมัครหนึ่งคนอ่านพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอด (ลูกา 16:19–23) อาสาสมัครคนที่สองอ่านคำพูดของเศรษฐี (ลูกา 16:24, 27, 28, 30) และอาสาสมัครคนที่สามอ่านคำพูดของอับราฮัม (ลูกา 16:25, 26, 29, 31) บอกนักเรียนเหล่านี้ให้อ่านออกเสียงส่วนของพวกเขาใน ลูกา 16:19–26 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่คนยากจนชื่อลาซารัสและเศรษฐีคนหนึ่งประสบ

  • ชีวิตมรรตัยของเศรษฐีกับลาซารัสต่างกันอย่างไร

  • ชีวิตหลังมรรตัยของพวกเขาแตกต่างกันอย่างไร (ท่านอาจต้องการอธิบายว่า “อยู่กับอับราฮัม” [ข้อ 22] หมายถึงเมืองบรมสุขเกษมในโลกวิญญาณ และ “แดนคนตาย” [ข้อ 23] หมายถึงเรือนจำวิญญาณ [ดู Bible Dictionary, “Abraham’s Bosom,” คู่มือพระคัมภีร์, “นรก”])

  • เศรษฐีล้มเหลวที่จะใช้ความร่ำรวยทางโลกอย่างชอบธรรมในทางใด

เตือนนักเรียนว่าเศรษฐีในอุปมานี้หมายถึงพวกฟาริสีที่โลภ

  • เราเรียนรู้อะไรจากอุปมานี้เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากเราโลภและไม่ใช้ความร่ำรวยทางโลกอย่างชอบธรรม (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเราโลภและไม่ใช้ความร่ำรวยทางโลกอย่างชอบธรรม เราจะประสบความทุกข์ทรมานและความเสียใจในท้ายที่สุด [ดู คพ. 104:18] ด้วย)

เพื่อเตรียมให้นักเรียนระบุความจริงเพิ่มเติมจากอุปมานี้ เชื้อเชิญให้พวกเขานึกถึงคนที่พวกเขาห่วงใยผู้ที่เลือกดำเนินชีวิตโดยไม่เชื่อฟังคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด

  • ท่านคิดว่าอะไรจะสามารถจูงใจบุคคลนั้นให้กลับใจและเปลี่ยนรูปแบบชีวิตของเขาได้

เชื้อเชิญนักเรียนที่มอบหมายไว้ให้อ่านส่วนของพวกเขาใน ลูกา 16:27–31 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเศรษฐีคนนี้ร้องขออะไร

  • เศรษฐีอยากให้ทำอะไรกับน้องชายห้าคนของเขา เพราะเหตุใด

  • เศรษฐีเชื่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าลาซารัสไปปรากฎต่อน้องชายของเศรษฐี

อธิบายว่าเศรษฐีเชื่อว่าน้องชายของเขาจะกลับใจและเปลี่ยนใจเลื่อมใสไปสู่ความจริงหากลาซารัสไปปรากฏต่อพวกเขา การเปลี่ยนใจเลื่อมใสคือ “การเปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนใจ และชีวิตของคนคนหนึ่งเพื่อยอมรับและประพฤติตนให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า” (คู่มือพระคัมภีร์, “การเปลี่ยนใจเลื่อมใส, เปลี่ยนใจเลื่อมใส,” scriptures.lds.org)

  • ตามที่กล่าวไว้ในอุปมา เหตุใดอับราฮัมจึงไม่ส่งลาซารัสไปหาน้องชายของเศรษฐี

ชี้ให้เห็นว่าโดยการกล่าวถึง “โมเสสและพวกผู้เผยวจนะ” (ลูกา 16:29, 31) พระผู้ช่วยให้รอดตรัสอีกครั้งถึงพระคัมภีร์ที่พวกฟาริสีอ้างว่าเชื่อในและดำเนินชีวิตตามแต่ในความจริงกลับปฏิเสธ อธิบายว่าในภายหลัง ชายคนหนึ่งที่ชื่อลาซารัสจริงๆ เป็น “ [คนที่] เป็นขึ้นจากความตาย” (ข้อ 31) เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้เขาเป็นขึ้นจากความตาย (ดู ยอห์น 11) ต่อมา พระเยซูทรงเป็นพระองค์นั้นที่เป็นขึ้นจากความตายเมื่อพระองค์ฟื้นคืนพระชนม์ อย่างไรก็ตาม ในทั้งสองเหตุการณ์ พวกฟาริสีและคนอื่นๆ ปฏิเสธหลักฐานของความเป็นพระผู้เป็นเจ้าของพระผู้ช่วยให้รอดและไม่ถูกโน้มน้าวให้กลับใจ

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรเกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่อับราฮัมสอนเศรษฐีในอุุปมานี้ (นักเรียนอาจระบุความจริงหลายประการ แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเกิดจากการเชื่อและการฟังคำของศาสดาพยากรณ์ ไม่ใช่การเห็นปาฏิหาริย์หรือเห็นเทพ)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการเปลี่ยนใจเลื่อมใสจึงเกิดจากการเชื่อและการฟังคำของศาสดาพยากรณ์แทนที่จะเกิดจากการเห็นปาฏิหาริย์หรือเห็นเทพ

  • เราจะช่วยให้คนเชื่อและฟังคำของศาสดาพยากรณ์ได้อย่างไร

  • มีคำสอนอะไรจากศาสดาพยากรณ์ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของท่าน

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาถึงวิธีที่พวกเขาจะเชื่อและฟังคำสอนหรือคำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงของศาสดาพยากรณ์ได้ดีขึ้น เพื่อให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพวกเขาแข็งแกร่งขึ้น กระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเขียน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ลูกา 16:9 “จงทำตัวให้มีมิตรสหายด้วยเงินทองอธรรม”

การมี “มิตรสหายด้วยเงินทองอธรรม” หมายถึงการใช้เงิน ทรัพย์สิน อิทธิพล และการคบค้าสมาคมทางโลกเพื่อบรรลุจุดประสงค์ที่ชอบธรรม พระองค์ประทานคำแนะนำนี้แก่ทั้งสานุศิษย์ของพระองค์ระหว่างที่พระองค์ทรงปฏิบัติศาสนกิจในความเป็นมรรตัยและกับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (ดู คพ. 82:22) ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ อธิบายวิธีที่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายจะประยุกต์ใช้คำแนะนำนี้ว่า

“ไม่ได้มีเจตนาว่าในการมีมิตรสหายด้วย ‘เงินทองอธรรม’ พี่น้องชายจะต้องมีส่วนทำบาปกับคนเหล่านั้น เพื่อเปิดใจยอมรับพวกเขา ยุ่งเกี่ยวกับพวกเขาหรือไม่ก็ลดลงไปอยู่ระดับเดียวกับพวกเขา แน่นอนว่าพวกเขาต้องอยู่อย่างสงบกับศัตรูของพวกเขา พวกเขาต้องปฏิบัติต่อศัตรูด้วยความเมตตา เป็นมิตรกับพวกนั้นตราบเท่าที่ถูกต้องและเป็นไปตามหลักธรรมแห่งความซื่อสัตย์ แต่จะไม่มีวันสาบานกับพวกนั้นหรือดื่มหรือดื่มฉลองกับพวกนั้น หากพวกเขาจะลดอคติและแสดงความเต็มใจเพื่อแลกเปลี่ยนหรือแสดงวิญญาณแห่งความเมตตา นั่นอาจช่วยให้ศัตรูหันไปจากความขมขื่น จงปล่อยการตัดสินไว้กับพระเจ้า” (Church History and Modern Revelation, 2 vols. [1953], 1:323)

ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เราต้องให้เกียรติและเป็นมิตรกับผู้อื่น เมื่อทำเช่นนี้ เราจะขยายแวดวงของคนคุ้นเคยและเรียนรู้จากผู้อื่นได้กว้างขึ้น โดยการปฏิสัมพันธ์ที่จริงใจ จะทำให้คนที่เราคบค้าสมาคมด้วยมีความคิดเห็นที่ดีต่อเราและต่อศาสนจักรของพระเจ้า พวกเขาอาจจะแม้แต่ปกป้องศาสนจักรเมื่อจำเป็น

ลูกา 16:1–12 เรียนรู้จากอุปมาเรื่องพ่อบ้านที่ไม่ซื่อสัตย์

บทเรียนเพิ่มเติมที่เราเรียนรู้จากอุปมาเรื่องพ่อบ้านที่ไม่ซื่อสัตย์ ให้ดู บราเดอร์ซูง ทิง ยัง อดีตสาวกเจ็ดสิบภาค “Parables of Jesus: The Unjust Steward,” Ensign, July 2003, 28–31

ลูกา 16:19–26 ผลจากการละเลยความต้องการของผู้อื่น

เศรษฐีดำเนินชีวิตหรูหราขณะที่ลาซารัสทนทุกข์ด้วยความยากจน แม้ไม่ได้มีการกล่าวเจาะจงถึงบาปของเศรษฐีในอุปมานี้ แต่การที่ลาซารัสชี้แจงข้อเท็จจริงที่ว่าเขา “นอนอยู่ที่ประตูรั้วบ้าน [ของเศรษฐี]” (ลูกา 16:20) ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐีเมินเฉยต่อคำร้องขอบรรเทาทุกข์จากลาซารัส เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเตือนเราว่าเราทุกคนเป็นขอทานที่ขอพระเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้าและสอนเกี่ยวกับความรับผิดชอบของเราในการช่วยคนอื่นให้มีสิ่งจำเป็นทางโลก ท่านให้สัญญาต่อไปนี้เกี่ยวกับวิธีที่ถูกต้องในการให้ความช่วยเหลือนี้

“[พระผู้เป็นเจ้า] จะทรงช่วยท่านและนำทางท่านในการเป็นสานุศิษย์ที่มีการุณยธรรม หากท่านต้องการและสวดอ้อนวอนหาวิธีรักษาพระบัญญัติที่พระองค์ประทานแก่เราครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างจริงจัง” (“เราทั้งหลายไม่ได้เป็นขอทานหรอกหรือ?” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 41)

ลูกา 16:19–31 แก้ไขความไม่เท่าเทียมของชีวิตมรรตัย

ในอุปมาเรื่องเศรษฐีกับลาซารัส อับราฮัมบอกเศรษฐีว่า “เมื่อเจ้ายังมีชีวิตอยู่ เจ้าได้สิ่งที่ดีสำหรับตัว และลาซารัสได้แต่สิ่งเลว เวลานี้เขาได้รับการปลอบโยนแล้ว แต่เจ้าได้รับแต่ความทุกข์ระทม” (ลูกา 16:25) ประสบการณ์ที่ต่างกันของเศรษฐีกับลาซารัสในความเป็นมรรตัยและในโลกวิญญาณแสดงถึงพลังอำนาจของการชดใช้ที่จะกลับหรือแก้ความไม่เท่าเทียมและอยุติธรรมที่ประสบในชีวิตนี้ เนื่องจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ความยุติธรรมเข้าข้างและเป็นเพื่อนคนชอบธรรม

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“พระผู้ช่วยให้รอดจึงทรงทำให้ทุกสิ่งถูกต้อง ไม่มีความอยุติธรรมใดในชีวิตมรรตัยที่คงทนถาวร แม้แต่ความตาย เพราะพระองค์ทรงกลับคืนสู่ชีวิตอีกครั้ง ไม่มีความบาดเจ็บ ความพิการ การทรยศ หรือการกระทำทารุณกรรมใดที่ไม่ได้รับการชดใช้คืนในวันสุดท้าย ทั้งนี้เนื่องจากความเที่ยงธรรมและพระเมตตาสูงสุดของพระองค์” (“การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 112)

ลูกา 16:19–31 โลกวิญญาณในอุปมาเรื่องเศรษฐีกับลาซารัส

“อุปมาเรื่องเศรษฐีกับลาซารัสพูดถึงสภาพสองอย่างในโลกวิญญาณหลังมรรตัย ‘อยู่กับอับราฮัม’ และ ‘แดนคนตาย’ (ดู ลูกา 16:22–23) สภาพแรกบ่งบอกถึงสถานที่แห่งความสบายใจโดยมีผู้ซื่อสัตย์ (ตัวอย่างคือบิดาอับราฮัม) เป็นเพื่อน ส่วนสภาพหลังเป็นสถานที่แห่งความทุกข์ระทม … ระหว่างที่อยู่ของผู้ซื่อสัตย์กับ ‘แดนคนตาย’ มี ‘เหวใหญ่ตั้งขวาง’ (ลูกา 16:26) ซึ่งกั้นไม่ให้ทั้งสองข้ามไป …

“… ก่อนการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ วิญญาณจากเมืองบรมสุขเกษมไม่สามารถไปเยี่ยมคนที่อยู่ในคุกแห่งวิญญาณได้ การปฎิบัติศาสนกิจของพระองค์ในโลกวิญญาญสร้างสะพานข้ามเหวระหว่างเมืองบรมสุขเกษมกับเรือนจำวิญญาณ ทำให้วิญญาณในเรือนจำได้รับข่าวสารพระกิตติคุณจากผู้ปฏิบัติที่มีสิทธิอำนาจซึ่งส่งไปจากเมืองบรมสุขเกษม (ดู คพ. 138:18–37; ยอห์น 5:25–29; 1 เปโตร 3:18–21; 4:6)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 173) สำหรับภาพของเหวกั้นระหว่างสองสภาพนี้ที่พระคริสต์ทรงเชื่อม ดู บทวิจารณ์ สำหรับ ลูกา 16:19–31 ใน คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่

งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 16:16–23 (ในคู่มือพระคัมภีร์) ความชั่วร้ายของพวกฟาริสี

ดังที่บันทึกใน งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 16:16–23 พระเยซูทรงตำหนิพวกฟาริสีใน “[การ] บิดเบือนทางที่ถูกต้อง” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 16:21 [ในคู่มือพระคัมภีร์]) วิธีหนึ่งที่พวกฟาริสีทำอย่างนี้คือการเสแสร้งว่าทำตามกฎของโมเสสและพระคัมภีร์อื่นๆ ขณะที่พวกเขากำลังใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อจุดประสงค์อันชั่วร้าย พระเยซูตรัสถึงตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้เมื่อพระองค์ทรงเรียกพวกฟาริสีว่าเป็นคนผิดประเวณี ซึ่งพวกเขาตอบกลับด้วยความโกรธและเยาะเย้ยพระองค์อีกครั้ง พระเยซูทรงบรรยายการแทรกแซงการหย่าอย่างไม่ชอบธรรมของพวกฟาริสีเพื่อเหตุผลอื่นนอกจากการผิดประเวณี ซึ่งพวกเขาพยายามอธิบายด้วยการบิดเบือนกฎที่โมเสสให้ไว้ (ดู มัทธิว 19:3–9 ด้วย) พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศด้วยว่าในใจของชายเหล่านี้ไม่ได้เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าจริงๆ

ตลอดการปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซู พระองค์ทรงเผยถึงการบิดเบือนและการใช้กฎของโมเสสตลอดจนคำสอนอื่นๆ ของศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณไปในทางที่ผิดรวมทั้งการตีความผิดๆ ของพวกฟาริสี พระองค์ทรงเป็นภัยต่ออำนาจทางสังคมและการเมืองที่พวกฟาริสีได้มาจากความชั่วร้ายของพวกเขา เนื่องจากเหตุนี้ พวกฟาริสีหลายคนจึงหมายมั่นจะสังหารพระเยซู