คลังค้นคว้า
บทที่ 150: ยูดา


บทที่ 150

ยูดา

คำนำ

ยูดาแนะนำให้สมาชิกศาสนจักรต่อสู้เพื่อความเชื่ออย่างแข็งขันต่อต้านผู้สอนเท็จ เขาบรรยายถึงผู้สอนเท็จและแนะนำให้วิสุทธิชนสร้างชีวิตของพวกเขาบนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เชื่อกันว่ายูดาเป็นน้องชายต่างบิดาของพระเยซูคริสต์ (ดู มัทธิว 13:55) เห็นได้ชัดว่ายูดาเป็นสมาชิกศาสนจักรที่แข็งขันซึ่งได้รับความเคารพในกรุงเยรูซาเล็ม

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยูดา 1:1–19

ยูดาแนะนำให้สมาชิกศาสนจักรต่อสู้เพื่อความเชื่ออย่างแข็งขันต่อต้านผู้สอนเท็จ

อ่านออกเสียงสถานการณ์สมมติต่อไปนี้และเชื้อเชิญให้นักเรียนคิดว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไร

  1. ในเว็บไซต์สื่อสังคม เพื่อนคนหนึ่งเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของศาสนจักรเกี่ยวกับการแต่งงานกับเพศเดียวกัน

  2. เพื่อนบ้านคนหนึ่งทราบว่าท่านเป็นสมาชิกของศาสนจักร เขาบอกท่านว่าเขาอ่านพระคัมภีร์มอรมอนและรู้สึกว่านั่นเป็นงานเขียนที่จรรโลงใจแต่ไม่ใช่พระคำของพระผู้เป็นเจ้า

  3. ระหว่างการสนทนาในชั้นเรียนที่โรงเรียน เพื่อนคนหนึ่งแย้งว่าการดูสื่อลามกไม่อันตรายและไม่ควรห้ามดู

  • คนๆ หนึ่งจะตอบสนองในทางใดได้บ้างในสถานการณ์เหล่านี้

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยูดา 1:3–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ายูดาเตือนสมาชิกศาสนจักรเกี่ยวกับอะไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 4 ยูดาเตือนสมาชิกศาสนจักรเกี่ยวกับอะไร

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า “คนอธรรม” ที่มีเจตนาชั่วร้ายได้แอบแฝงเข้ามาในตำแหน่งผู้นำของศาสนจักร สมาชิกศาสนจักรเหล่านี้สนับสนุนความประพฤติเสื่อมทรามไร้ศีลธรรมโดยการสอนว่าหลักคำสอนเรื่องพระคุณยอมให้ทำบาปได้เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าจะทรงให้อภัยด้วยพระเมตตา พวกเขาปฏิเสธความจริงบางอย่างเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เช่นกัน วลี “การลงโทษคนพวกนี้มีเขียนไว้นานแล้ว” (ข้อ 4) หมายถึงการลงโทษคนพวกนั้นมีเขียนไว้นานแล้ว

  • โดยที่รู้ถึงคำสอนเท็จและการปฏิบัติอันเสื่อมทรามที่คนเหล่านี้กำลังเผยแพร่ ยูดาแนะนำให้สมาชิกศาสนจักรที่ซื่อสัตย์ทำอะไร (“ให้ต่อสู้เพื่อหลักความเชื่อ” [ข้อ 3])

อธิบายว่า “หลักความเชื่อที่ได้ทรงมอบให้กับพวกธรรมิกชนครั้งเดียว” (ข้อ 3) หมายถึงพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์—ความจริง กฎ และศาสนพิธีซึ่งสอนโดยพระผู้ช่วยให้รอดและอัครสาวกของพระองค์

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรเกี่ยวกับความรับผิดชอบของสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ในการจัดการกับคำสอนเท็จและการปฏิบัติอันเสื่อมทราม (นักเรียนอาจใช้คำพูดของพวกเขาเองเพื่อระบุความจริงต่อไปนี้ สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ควรต่อสู้เพื่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อย่างแข็งขันเพื่อต่อต้านคำสอนเท็จและการปฏิบัติที่เสื่อมทราม)

  • ท่านคิดว่าการต่อสู้เพื่อพระกิตติคุณอย่างแข็งขันหมายความว่าอย่างไร (เราต้ององอาจในการสอนและเป็นพยานถึงพระกิตติคุณ อย่างไรก็ตามเราไม่ควรขาดเมตตา บังคับหรือขัดแย้งเมื่อเราสอน [ดู แอลมา 38:12; 3 นีไฟ 11:29])

  • เราจะต่อสู้เพื่อพระกิตติคุณโดยไม่ขัดแย้งได้อย่างไร

เตือนนักเรียนถึงสถานการณ์ซึ่งนำเสนอก่อนหน้านี้ในบทเรียน

  • ในสถานการณ์เหล่านี้และที่คล้ายคลึงกัน มีทางใดบ้างที่เราจะต่อสู้เพื่อพระกิตติคุณในการต่อต้านคำสอนเท็จและการปฏิบัติอันเสื่อมทราม

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่าเยาวชนหญิงคนนี้ต่อสู้เพื่อพระกิตติคุณอย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

“เมื่อไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าพูดกับกุลสตรีคนหนึ่งจากสหรัฐ ข้าพเจ้าอ้างจากอีเมลของเธอดังนี้

“‘ปีที่ผ่านมาเพื่อนบางคนของดิฉันบนเฟสบุ๊คเริ่มโพสต์ความเห็นเกี่ยวกับการแต่งงาน หลายคนสนับสนุนการแต่งงานเพศเดียวกัน และเยาวชนแอลดีเอสหลายคนบอกว่าพวกเขา “ไลค์” โพสต์เหล่านั้น ส่วนดิฉันไม่แสดงความเห็น

“‘ดิฉันตัดสินใจประกาศความเชื่อเรื่องการแต่งงานตามจารีต

“‘ดิฉันเพิ่มคำอธิบายเข้ากับรูปโปรไฟล์ของดิฉันว่า “ดิฉันเชื่อเรื่องการแต่งงานระหว่างชายกับหญิง” ดิฉันได้รับข้อความแทบจะทันทีว่า “เธอเห็นแก่ตัว” “เธอชอบตัดสิน” มีคนหนึ่งเปรียบดิฉันกับเจ้าของทาส ดิฉันได้รับโพสต์นี้จากเพื่อนที่ดีคนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกที่เข้มแข็งของศาสนจักรว่า “คุณต้องตามให้ทันยุคสมัย สถานการณ์เปลี่ยน คุณก็ควรเปลี่ยน”

“‘ดิฉันไม่ตอบโต้’ เธอบอก ‘แต่ดิฉันไม่ลบข้อความของดิฉันออก’

“เธอสรุปว่า ‘บางครั้ง เหมือนที่ประธานมอนสันพูดไว้‘ “คุณต้องยืนคนเดียว” หวังว่าพวกเราเยาวชนจะยืนด้วยกันในความซื่อตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อคำสอนของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต’” (“ลมหมุนทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 19–20)

  • เยาวชนหญิงคนนี้ต่อสู้เพื่อพระกิตติคุณอย่างไร

  • ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักเคยต่อสู้เพื่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เมื่อใด ท่านเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์นั้น

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างในการต่อสู้เพื่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อย่างแข็งขัน กระตุ้นให้พวกเขาทำตามการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณที่พวกเขาได้รับ

สรุป ยูดา 1:5–7 โดยอธิบายว่ายูดาเปรียบเทียบสมาชิกศาสนจักรที่กบฎเหล่านี้กับผู้คนในสมัยพันธสัญญาเดิมที่กบฎต่อพระผู้เป็นเจ้าและได้รับการพิพากษาจากพระองค์ คนเหล่านี้รวมถึงลูกหลานของอิสราเอลหลายคนที่ถูกทำลายในแดนทุรกันดารและผู้คนในเมืองโสโดมและเมืองโกโมราห์ที่ต้องรับโทษด้วยการถูกทำลายในไฟ ยูดาเปรียบเทียบสมาชิกศาสนจักรผู้เป็นกบฎกับผู้ที่กบฎต่อพระผู้เป็นเจ้าใน “สถานะแรกของพวกเขา” หรือการดำรงอยู่ก่อนเกิดและถูกขับออกจากที่ประทับของพระองค์ (ยูดา 1:6; ดู อับราฮัม 3:22–26 ด้วย)

เขียนหัวข้อต่อไปนี้บนกระดาน อุปนิสัยของผู้สอนเท็จ

อธิบายว่าใน ยูดา 1:8–16 เราอ่านคำบรรยายของยูดาถึงอุปนิสัยหลายอย่างซึ่งจะช่วยให้สมาชิกศาสนจักรรู้จักคนที่กำลังเผยแพร่ปรัชญาและการปฏิบัติที่เสื่อมทรามในศาสนจักร เพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวคิดนี้ ให้ชี้ไปที่วลี “เมฆที่ไม่มีน้ำที่ถูกพัดลอยไปตามลม ” และ “ต้นไม้ที่ไร้ผลในฤดูที่ออกผล” ใน ยูดา 1:12

  • ผู้สอนเท็จเหล่านี้อาจเป็นเหมือนเมฆที่ไม่มีน้ำและต้นไม้ที่ไร้ผลอย่างไร

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสามถึงสี่คน ให้นักเรียนอ่าน ยูดา 1:8, 10, 14–19 กับสมาชิกกลุ่มของพวกเขา โดยมองหาอุปนิสัยเพิ่มเติมของผู้สอนเท็จ เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาพบ ท่านอาจต้องการอธิบายว่า “ในวาระสุดท้าย (ข้อ 18) หมายถึงช่วงเวลาที่ยูดามีชีวิตอยู่เช่นเดียวกันกับยุคสุดท้ายที่เรามีชีวิตอยู่

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนออกมาที่ กระดาน และเขียนอุปนิสัยอย่างหนึ่งของผู้สอนเท็จที่พวกเขาพบ อุปนิสัยที่นักเรียนอาจเขียนรวมถึงสิ่งต่อไปนี้ (ท่านอาจจำเป็นต้องใช้ข้อความเหล่านี้บางข้อเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่พวกเขาอ่าน)

อุปนิสัยของผู้สอนเท็จ

ทำให้ตัวเป็นมลทิน (ข้อ 8)

ปฏิเสธสิทธิอำนาจขององค์พระผู้เป็นเจ้า และพูดลบหลู่เทวทูตผู้มีศักดิ์ศรี (ข้อ 8)

พูดลบหลู่สิ่งที่เขาเองไม่เข้าใจ (ข้อ 10)

โดยสิ่งที่พวกเขารู้ตามสัญชาตญาณ อย่างสัตว์ที่ไร้เหตุผล เขาจึงถูกทำลาย (ข้อ 10)

ทำไปตามวิถีทางอธรรม (ข้อ 15)

กล่าวร้ายต่อพระองค์ (ข้อ 15)

ช่างบ่นช่างติ (ข้อ 16)

ดำเนินชีวิตตามความปรารถนาชั่วของตัวเอง (ข้อ 16)

คุยโวโอ้อวด (ข้อ 16)

ยกยอผู้อื่นเพื่อหวังประโยชน์ของตน (ข้อ 16)

เยาะเย้ยศาสนจักรของพระเจ้าและมาตรฐานของศาสนจักร (ข้อ 18)

แยกตนเองออกจากผู้เชื่อ (ข้อ 19)

คิดและทำตามโลกียวิสัย (ข้อ 19)

ปราศจากพระวิญญาณ (ข้อ 19)

  • การไม่มีพระวิญญาณนำไปสู่การพัฒนาอุปนิสัยที่เขียนไว้บนกระดานอย่างไร

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้จักอุปนิสัยของผู้สอนเท็จเหล่านี้

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีอุปนิสัยอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างจากอุปนิสัยเหล่านี้หรือคนที่สอนบางอย่างผิดไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สอนเท็จดังที่ยูดาบรรยายไว้ คนเช่นนั้นอาจเข้าใจผิดในหัวข้อที่สอนโดยไม่เจตนา อย่างไรก็ตาม อุปนิสัยเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้จักผู้สอนเท็จที่เจตนาของเขาคือทำให้ศรัทธาและการเชื่อฟังของคนอื่นอ่อนแอลงโดยหลอกลวงพวกเขาและสนับสนุนความชั่วร้าย

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน ยูดา 1:17–18 ในใจ

  • ใครเคยเตือนสมาชิกศาสนจักรเกี่ยวกับผู้สอนเท็จมาก่อน

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่อัครสาวกและศาสดาพยากรณ์สามารถช่วยเราในความพยายามต่อสู้กับผู้สอนเท็จ (นักเรียนอาจใช้คำพูดของพวกเขาเองแต่ควรระบุความจริงทำนองนี้ อัครสาวกและศาสดาพยากรณ์เตือนเราและช่วยให้เรามองออกว่าใครพยายามบั่นทอนศรัทธาและการเชื่อฟังของเรา เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่าคำกล่าวของท่านสะท้อนความจริงนี้อย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“วันนี้เราขอเตือนท่านว่ามีศาสดาพยากรณ์ปลอมและผู้สอนปลอมเกิดขึ้นแล้ว และหากเราไม่ระวัง แม้คนที่อยู่ในบรรดาสมาชิกที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายก็อาจตกเป็นเหยื่อในการหลอกลวงของเขาได้” (ดู“ระวังศาสดาปลอมและผู้สอนปลอม,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 76)

  • เมื่อพิจารณาความจริงนี้ เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องศึกษาคำของอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์

  • ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกสมัยปัจจุบันเตือนให้เราระวังคำสอนเท็จอะไรบ้าง

ยูดา 1:20–25

ยูดาแนะนำให้วิสุทธิชนสร้างชีวิตของพวกเขาบนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และช่วยคนอื่นให้รอด

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้บนกระดาน เราจะยังคงแน่วแน่ต่อศรัทธาได้โดย …

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยูดา 1:20–21 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ยูดาแนะนำให้วิสุทธิชนทำเพื่อยังคงแน่วแน่ต่อศรัทธา ท่านอาจจำเป็นต้องอธิบายว่า “อธิษฐานโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์” หมายถึงการสวดอ้อนวอนด้วยความช่วยเหลือของการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 20–21 ท่านจะเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนอย่างไร (วิธีหนึ่งที่นักเรียนอาจเติมข้อความให้ครบถ้วนคือเติมดังนี้ เราจะยังคงแน่วแน่ต่อศรัทธาได้โดยสร้างชีวิตของเราบนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์)

  • การทำตามคำแนะนำเพิ่มเติมของยูดาใน ข้อ 20–21 สามารถช่วยเราสร้างชีวิตของเราบนพระกิตติคุณได้อย่างไร

  • เหตุใดการยังคงแน่วแน่ต่อศรัทธาจึงคุ้มค่ากับความพยายาม

  • การดำเนินชีวิตตามคำแนะนำของยูดาช่วยท่านและผู้อื่นที่ท่านรู้จักให้ยังคงแน่วแน่ต่อศรัทธาอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนเกี่ยวกับวิธีหนึ่งที่พวกเขาสามารถปรับปรุงเพื่อทำตามคำแนะนำของยูดา กระตุ้นให้พวกเขาประยุกต์ใช้สิ่งที่เขียนไว้

สรุป ยูดา 1:22–25 โดยอธิบายว่ายูดาแนะนำสมาชิกที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักรให้ช่วยผู้อื่นที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนทางวิญญาณ เนื่องจากอิทธิพลของผู้สอนเท็จ และเขาสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า

สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่สนทนาในบทนี้

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

มอบหมายข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ให้นักเรียนคนละข้อ แนะนำให้พวกเขาเขียนสถานการณ์สมมติในชีวิตจริงลงบนแผ่นกระดาษซึ่งสามารถประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรมในข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่พวกเขาได้รับมอบหมาย หลังจากนักเรียนทำเสร็จแล้ว ให้รวบรวมสถานการณ์สมมติของพวกเขา อ่านสถานการณ์สมมติสองสามเรื่อง และเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันหลักคำสอนและหลักธรรมในข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่สามารถใช้หรือประยุกต์ใช้กับสถานการณ์แต่ละเรื่อง ท่านอาจนำเสนอสถานการณ์สมมติบางเรื่องเมื่อเริ่มหรือจบบทเรียนในช่วงสัปดาห์หน้า

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยูดา 1:3 “ต่อสู้เพื่อหลักความเชื่อ”

เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เพื่อต่อต้านคำสอนเท็จและการปฏิบัติที่เสื่อมทรามดังนี้

“เมื่อความชั่วร้ายต้องการโจมตีและทำลายแก่นแท้ในงานของพระผู้เป็นเจ้า มันจะจู่โจมครอบครัว ชักจูงไม่ให้เรานำพากฎความบริสุทธิ์ทางเพศ ทำให้สับสนเรื่องเพศ เย็นชาต่อความรุนแรง ทำให้คำพูดดูหมิ่นและหยาบคายเป็นมาตรฐาน และทำให้พฤติกรรมที่ผิดศีลธรรมและบิดเบือนดูคล้ายกับเป็นหลักปฏิบัติไม่ใช่ข้อยกเว้น

“เราต้องจำคำกล่าวของเอ็ดมันด์ เบิร์กไว้ ‘สิ่งเดียวที่จำเป็นต่อชัยชนะของซาตานคือ ไม่ให้คนดีทำอะไรเลย’ [อยู่ใน John Bartlett, comp., Familiar Quotations, 15th ed. (1980), ix] เราต้องเปล่งเสียงเตือนพลเมืองคนอื่นๆ ทั่วโลกที่ห่วงใยเรื่องนี้ให้ต่อต้านกระแสแนวโน้มดังกล่าว” (ดู“เปล่งเสียงให้ได้ยิน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 21)

อัครสาวกสมัยปัจจุบันแนะนำสมาชิกศาสนจักรเกี่ยวกับวิธีต่อสู้เพื่อพระกิตติคุณโดยไม่ขัดแย้ง ตัวอย่างเช่น ดู เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์: คุณค่าแห่งความเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 89–92; เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ราคา—และพร—ของการเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 6–9; และเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “รักผู้อื่นและอยู่กับผู้ที่แตกต่าง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 25–28.

ยูดา 1:9, 14–15 หนังสืออะพอครีฟา

ยูดาอาจพูดถึงหนังสืออะพอครีฟาว่าเป็นการสันนิษฐานของโมเสส (ดู ข้อ 9) และหนังสือของเอโนค (ดู ข้อ 14–15) พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าหลายสิ่งที่อยู่ในหนังสืออะพอครีฟาถูกต้อง และคนที่ได้รับความสว่างจากพระวิญญาณจะได้ประโยชน์จากการอ่านนั้น อย่างไรก็ตามหนังสือบางเล่มมีการเพิ่มเติมที่ผิดไปจากเนื้อความเดิม (ดู คพ. 91) สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอะพอครีฟา ดู คู่มือพระคัมภีร์ “อะพอครีฟา”