คลังค้นคว้า
บทที่ 117: 2 โครินธ์ 10–13


บทที่ 117

2 โครินธ์ 10–13

คำนำ

อัครสาวกเปาโลสอนเกี่ยวกับสงครามทางวิญญาณที่บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้ากำลังต่อสู้ เขาปกป้องตนเองจากคนที่ต่อต้านเขา เขาเล่าว่าเขาถูกรับขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นที่สามและบรรยายว่าความอ่อนแอของเขาเป็นพรอย่างไร ก่อนที่จะจบสาส์นของเขา เปาโลแนะนำวิสุทธิชนในเมืองโครินธ์ให้พิจารณาตนเองและพิสูจน์ความซื่อสัตย์ของตนเอง

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 โครินธ์ 10–11

เปาโลเขียนเกี่ยวกับสงครามทางวิญญาณ การหลอกลวงของซาตาน และความยากลำบากของเขาเอง

เขียนคำว่า สงคราม ไว้บนกระดาน

  • เราต่อสู้ในสงครามกับซาตานในทางใดบ้าง

  • การต่อสู้ที่ยากที่สุดที่เราเผชิญในสงครามทางวิญญาณนี้มีอะไรบ้าง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 โครินธ์ 10:3–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนว่าเราต้องทำเพื่อประสบความสำเร็จในสงครามต่อสู้กับซาตานนี้

  • เราต้องทำอะไรเพื่อประสบความสำเร็จในสงครามต่อสู้กับซาตานนี้

  • ท่านคิดว่าการ “ยึดกุมความคิดทุกประการให้มาเชื่อฟังพระคริสต์” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 5)

  • เราเรียนรู้หลักธรรมอะไรจาก ข้อ 5 เกี่ยวกับวิธีที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้นในสงครามต่อสู้กับซาตาน (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน เมื่อเราควบคุมความคิดของเราในการเชื่อฟังพระเยซูคริสต์ เราจะประสบความสำเร็จมากขึ้นในสงครามต่อสู้กับซาตาน)

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อควบคุมความคิดของเรา (ในบรรดาสิ่งต่างๆ ที่เราทำได้ เราสามารถสวดอ้อนวอน ท่องจำพระคัมภีร์ และร้องหรือท่องจำเพลงสวด)

ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ที่แสดงว่าการควบคุมความคิดของท่านในการเชื่อฟังพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้ท่านเอาชนะอิทธิพลของซาตานอย่างไร ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขาเช่นกัน เชื้อเชิญให้นักเรียนตั้งเป้าหมายควบคุมความคิดของพวกเขาในการเชื่อฟังพระผู้ช่วยให้รอดได้ดีขึ้น

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงสรุปความต่อไปนี้

ใน 2 โครินธ์ 10:7–18 เราเรียนรู้ว่าเปาโลสรรเสริญพระเจ้าและสอนว่าความอ่อนแอของเขาควรใช้ตัดสินการไม่ฟังพระองค์ ใน 2 โครินธ์ 11 เราอ่านว่าเปาโลพูดถึงวิธีเพิ่มเติมที่ซาตานพยายามทำให้ความคิดของเราเสื่อมทรามและนำเราออกจากพระเยซูคริสต์ รวมถึงการใช้พระคริสต์ปลอมและอัครทูตปลอม เปาโลเล่าถึงความทุกข์ทรมานที่เราต้องทนในฐานะอัครสาวกที่แท้จริงของพระผู้ช่วยให้รอด

2 โครินธ์ 12

เปาโลเล่าถึงการถูกรับขึ้นไปสวรรค์และสอนว่าการยอมรับความอ่อนแอของเราจะเป็นประโยชน์ต่อเราได้อย่างไร

นำเอาหนามมาที่ชั้นเรียน หรือวาด ภาพ หนามบนกระดานที่คล้ายกับภาพที่แสดง เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาถูกหนามตำ

ภาพ
กิ่งไม้กับหนาม
  • หนามทำให้ชีวิตยากลำบากในทางใดได้บ้าง

อธิบายว่าเปาโลให้แนวคิดเรื่องหนามเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการทดลองหรือความอ่อนแอที่เขาประสบ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังและพิจารณาว่าการทดลองหรือความอ่อนแอแบบใดบ้างที่พวกเขาหรือคนที่พวกเขารักประสบ

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“บางคนแบกภาระหนัก บางคนสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักให้แก่ความตายหรือต้องดูแลคนที่ทุพพลภาพ บางคนเจ็บปวดจากการหย่าร้าง … บางคนมีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ บางคนต่อสู้กับความเสน่หาเพศเดียวกัน บางคนมีความรู้สึกซึมเศร้าหรือบกพร่องทางจิตใจอย่างรุนแรง ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม หลายคนแบกภาระหนัก” (“พระองค์ทรงรักษาผู้ที่แบกภาระหนัก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 6)

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา 2 โครินธ์ 12 ที่จะช่วยพวกเขาขณะประสบกับการทดลองและความอ่อนแอ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 โครินธ์ 12:1–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหานิมิตที่เปาโลมี (อธิบายว่าข้อเหล่านี้พูดถึงเปาโลเป็นบุคคลที่สาม)

  • ท่านคิดว่าเปาโล “ถูกรับขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นที่สาม” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 2) (เขามีนิมิตเกี่ยวกับอาณาจักรซีเลสเชียล)

อธิบายว่าวลี “ทั้งร่างกาย … หรือไปโดยไม่มีร่างกายข้าพเจ้าไม่รู้” (ข้อ 2) หมายความว่าเปาโลไม่รู้ว่าเขาถูกนำขึ้นไปอาณาจักรซีเลสเชียลหรือเห็นนิมิตของอาณาจักร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 โครินธ์ 12:5–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลตอบสนองต่อนิมิตนี้อย่างไร

  • เปาโลตอบสนองต่อนิมิตนี้อย่างไร

  • เปาโลกังวลว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขาอวดตัวเขาเอง (เปาโลเป็นกังวลว่าคนอื่นอาจจะชื่นชมเขาอยู่เมื่อเขายังคงมีการต่อสู้ดิ้นรนทางมรรตัยที่เขาต้องเอาชนะ)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 โครินธ์ 12:7–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระเจ้าทรงช่วยให้เปาโลยังคงอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างไร ท่านอาจต้องการอธิบายว่า “ไม่ยกตัวเกินไป” (ข้อ 7) หมายถึงจองหอง

  • พระเจ้าทรงช่วยให้เปาโลยังอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างไร

  • เปาโลสวดอ้อนวอนกี่ครั้งเพื่อให้ “หนามในเนื้อ” หลุดออกไป

ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้เปาโลสวดอ้อนวอน แต่ดูเหมือนว่าพระเจ้าทรงเลือกที่จะไม่ทำให้ “หนามในเนื้อ” ของเปาโลหลุดออกไป

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเปาโลเกี่ยวกับสาเหตุที่พระเจ้าอาจทรงยอมให้เราประสบกับความอ่อนแอและการทดลอง (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ พระเจ้าทรงยอมให้เราประสบกับความอ่อนแอและการทดลองเพื่อเราจะเรียนรู้ที่จะอ่อนน้อมถ่อมตน เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน 2 โครินธ์ 12:9–10 ในใจและมองหาความจริงที่เปาโลเรียนรู้ซึ่งช่วยให้เขาอดทนต่อความอ่อนแอของเขา ขอให้นักเรียนเขียนความจริงที่พวกเขาระบุลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • ความจริงอะไรที่เปาโลเรียนรู้เพื่อช่วยให้เขาอดทนต่อความอ่อนแอของเขา (นักเรียนอาจระบุความจริงหลายข้อ เช่น พระคุณของพระเยซูคริสต์เพียงพอที่จะเสริมสร้างเราให้เข้มแข็งในความอ่อนแอของเรา พระเจ้าไม่ทรงนำเอาความท้าทายของเราออกไป แต่พระองค์จะทรงเสริมสร้างเราให้เข้มแข็งเมื่อเราอดทนต่อสิ่งเหล่านี้อย่างซื่อสัตย์)

เตือนนักเรียนว่า พระคุณ คือ “ความช่วยเหลือหรือพลังจากสวรรค์” ประทานผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์” (คู่มือพระคัมภีร์, “พระคุณ”)

  • พระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดมีมากพอจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เราในความอ่อนแอของเราหมายความว่าอย่างไร (โดยผ่านความเข้มแข็งที่เราได้รับจากพระผู้ช่วยให้รอด เราสามารถทำทุกสิ่งที่พระองค์ทรงขอให้เราทำ)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“อำนาจการรักษาของพระเจ้าพระเยซูคริสต์—ไม่ว่าจะขจัดภาระของเราหรือทำให้เราเข้มแข็งเพื่ออดทนและอยู่กับมันเหมือนอัครสาวกเปาโล—มีให้กับความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงในชีวิตบนโลกนี้” (“พระองค์ทรงรักษาผู้ที่แบกภาระหนัก,” 8)

  • ความจริงที่เราระบุใน ข้อ 9–10 สามารถช่วยเราเมื่อเราประสบกับความอ่อนแอและการทดลองอย่างไร

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักเมื่อใด (เตือนนักเรียนไม่ให้แบ่งปันเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป) ประสบการณ์นั้นเป็นพรแก่ท่านหรือพวกเขาอย่างไร

2 โครินธ์ 13

เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชนพิจารณาตนเองและพิสูจน์ความชื่อสัตย์ของพวกเขา

เตือนนักเรียนว่ามีครูสอนปลอมท่ามกลางวิสุทธิชนชาวโครินธ์ที่ท้าทายเปาโลและสิทธิอำนาจของเขาในฐานะอัครสาวก

  • มีตัวอย่างใดบ้างของวิธีที่บุคคลอาจท้าทายคนที่ได้รับเรียกในตำแหน่งผู้นำในศาสนจักร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 โครินธ์ 13:3 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าสมาชิกศาสนจักรบางคนในเมืองโครินธ์กำลังมุ่งหาข้อพิสูจน์เรื่องอะไร

  • สมาชิกศาสนจักรบางคนในเมืองโครินธ์กำลังมุ่งหาข้อพิสูจน์เรื่องอะไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 โครินธ์ 13:5–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลแนะนำวิสุทธิชนชาวโครินธ์ให้ทำแทนที่จะสงสัยว่าพระเจ้าตรัสผ่านเขาในฐานะอัครสาวกหรือไม่ อธิบายว่า ผู้ที่ไม่สามารถผ่านการพิสูจน์ เป็นคนที่เสื่อมหรือไร้ศีลธรรม

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5 เปาโลแนะนำวิสุทธิชนชาวโครินธ์ให้ทำอะไร (ท่านอาจต้องการกระตุ้นให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำกริยา พิจารณาตนเอง พิสูจน์ และ ตระหนัก ในข้อนี้)

  • เปาโลบอกว่าวิสุทธิชนเหล่านี้จำเป็นต้องพิจารณาตนเองเกี่ยวกับอะไร (อธิบายว่าการ “ดำรงอยู่ในความเชื่อ” [ข้อ 5] หมายถึงซื่อสัตย์ต่อศาสนจักรของพระเจ้า)

  • เราเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับสิ่งที่เราควรทำแทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำศาสนจักร (นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำศาสนจักร สมาชิกศาสนจักรควรพิจารณาความซื่อสัตย์ของตนเอง)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“[หากคนหนึ่ง] ลุกขึ้น กล่าวโทษผู้อื่น จับผิดศาสนจักร และพูดว่าคนเหล่านั้นออกนอกลู่นอกทาง ส่วนตัวเขาเป็นคนชอบธรรม เมื่อนั้นจะรู้แน่นอนว่าคนๆ นั้นอยู่ในทางหลวงที่นำไปสู่การละทิ้งความเชื่อ และหากเขาไม่กลับใจ พระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์อยู่ฉันใด เขาจะละทิ้งความเชื่อแน่นอนฉันนั้น” (ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 343)

  • จะเกิดอะไรขึ้นหากเราวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำแทนที่จะพิจารณาความซื่อสัตย์ของตนเอง

เพื่อช่วยให้นักเรียนพิจารณาความซื่อสัตย์ของพวกเขาและเจตคติที่มีต่อผู้นำศาสนจักร ให้แจกสำเนา คำถาม ต่อไปนี้ให้พวกเขา ให้เวลานักเรียนพอที่จะอ่านและตอบคำถามอย่างเงียบๆ

ภาพ
เอกสารแจก

คู่มือครูเซมินารี พันธสัญญาใหม่—บทที่ 117

  1. ในระดับคะแนน 1 ถึง 10 (10 คือสมบูรณ์แบบ) ท่านทำตามคำแนะนำของผู้นำศาสนจักรดีเพียงใด

  2. มีมาตรฐานอะไรอย่างหนึ่งที่สอนโดยศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่ท่านสามารถทำตามได้อย่างซื่อสัตย์มากขึ้น

  3. ในระดับคะแนน 1 ถึง 10 (10 คือทุกโอกาสที่ท่านมี) ท่านแสดงความขอบคุณผู้นำศาสนจักร ทั้งส่วนตัวและในการสวดอ้อนวอนบ่อยเพียงใด

  4. ท่านสามารถทำอะไรได้เพื่อแสดงความขอบคุณต่อการเสียสละและความพยายามที่ผู้นำของท่านทำเพื่อท่าน

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามว่า

  • พรอะไรที่จะมาจากการพิจารณาตนเองทางวิญญาณอย่างสม่ำเสมอเช่นนี้

สรุป 2 โครินธ์ 13:7–14 โดยอธิบายว่าเปาโลแนะนำวิสุทธิชนให้หลีกเลี่ยงสิ่งชั่วร้ายและมุ่งหาความดีพร้อม

เป็นพยานถึงความจริงที่ท่านสนทนาในบทเรียนนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนเป้าหมายที่เจาะจงเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาจะประยุกต์ใช้หนึ่งในความจริงเหล่านี้ในชีวิตพวกเขา

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

ความเข้าใจของนักเรียนเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์จะเพิ่มขึ้นเมื่อพวกเขาคิดคำถามของพวกเขาเองเกี่ยวกับข้อเหล่านั้น แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสองทีม (หรือมากกว่านั้น) เชื้อเชิญให้ทุกทีมเขียนคำใบ้ที่ชี้ไปยังข้อความผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้อใดข้อหนึ่ง (ท่านอาจต้องการเลือกกลุ่มพระคัมภีร์ที่ท่านอยากให้นักเรียนเรียนรู้หรือทบทวน) กระตุ้นไม่ให้นักเรียนคิดคำใบ้ที่ยากเกินไป หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญทุกทีมผลัดกันอ่านออกเสียงคำใบ้และดูว่าทีมอื่นสามารถระบุข้อได้ถูกต้องหรือไม่

หมายเหตุ: หากท่านไม่มีเวลาทำกิจกรรมนี้ในบทเรียนนี้ ท่านอาจจะใช้ในวันอื่น (บทเรียนต่อไปนี้สั้นๆ ท่านอาจมีเวลาใช้กิจกรรมนี้) สำหรับกิจกรรมทบทวนอื่นๆ ดูภาคผนวกในช่วงท้ายของคู่มือเล่มนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

2 โครินธ์ 12:4 “ไม่อนุญาตให้มนุษย์กล่าวถึง”

เช่นเดียวกับเปาโลที่ “ได้ยิน ‘ถ้อยคำที่บอกไม่ได้’ ซึ่ง ‘ไม่อนุญาตให้มนุษย์กล่าวถึง’ เมื่อเขาถูกรับขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นที่สาม (2 โครินธ์ 12:2, 4) เราเองก็อาจมีประสบการณ์ทางวิญญาณที่เราควรแบ่งปันเฉพาะเมื่อพระวิญญาณทรงนำเราให้ทำเช่นนั้น ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“‘ข้าพเจ้าเชื่อ… ว่าเป็นการไม่ฉลาดที่จะพูดอย่างต่อเนื่องถึงประสบการณ์ทางวิญญาณที่ไม่ธรรมดา ประสบการณ์เหล่านั้นต้องได้รับการปกป้องด้วยความใส่ใจและแบ่งปันเมื่อพระวิญญาณกระตุ้นท่านให้ใช้เพื่อเป็นพรแก่คนอื่นเท่านั้น’ [The Candle of the Lord, Jan. 1983, 53]” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 407)

2 โครินธ์ 12:7 “หนาม” ที่ทำให้เปาโลลำบากคืออะไร

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแนะนำว่าหนามของเปาโลอาจเป็น “ความทุพพลภาพทางกายที่ไม่ระบุ เห็นได้ชัดว่าเป็นสิ่งที่ทุกข์ทรมานซึ่งอัครสาวกได้ทนทุกข์มาอย่างต่อเนื่องหรือเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 2:448)

2 โครินธ์ 12:9 “เพราะว่าความอ่อนแอมีที่ไหน ฤทธานุภาพของเราก็ปรากฏเต็มที่ที่นั่น”

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองดึงจากประสบการณ์ส่วนตัวของท่านเกี่ยวกับความท้าทายทางกายมาอธิบายพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดที่ทำให้เราเข้มแข็งในความอ่อนแอ ดังนี้

“สองปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้ารอคอยให้พระเจ้าทรงสอนบทเรียนในชีวิตมรรตัยแก่ข้าพเจ้า ตลอดช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดทางร่างกาย ความทุกข์ทรมานทางใจ และการไตร่ตรอง ข้าพเจ้าเรียนรู้ว่าความเจ็บปวดที่ต่อเนื่องและรุนแรงคือสิ่งหล่อหลอมความบริสุทธิ์ที่ทำให้เรานอบน้อมถ่อมตนและใกล้ชิดพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น หากเราฟังและทำตาม พระวิญญาณของพระองค์จะทรงนำทางเรา และเราจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์ด้วยความมานะบากบั่นทุกวัน

“มีหลายครั้งที่ข้าพเจ้าถามคำถามตรงไปตรงมาบางอย่างในการสวดอ้อนวอนเช่น ‘พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าพระองค์เรียนรู้บทเรียนอะไรจากประสบการณ์เหล่านี้’

“ขณะศึกษาพระคัมภีร์ระหว่างช่วงวิกฤติของชีวิต ม่านบางลงและคำตอบมาถึงข้าพเจ้า ดังที่บันทึกไว้ในชีวิตของผู้ที่ประสบกับความยากลำบากสาหัสกว่ามาแล้วว่า …

“บางครั้ง ข้าพเจ้าทูลพระเจ้าว่า ข้าพระองค์เรียนรู้บทเรียนที่ทรงสอนแล้ว และข้าพระองค์ไม่จำเป็นต้องอดทนกับความทุกข์ทรมานอีก ดูเหมือนคำสวดอ้อนวอนดังกล่าวจะไร้ประโยชน์ เพราะเป็นที่กระจ่างชัดว่าจะต้องอดทนต่อกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ของการทดสอบนี้ในเวลาของพระเจ้าและในวิธีของพระเจ้า สิ่งหนึ่งที่สอนคือ ‘ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์’ (มัทธิว 26:42) อีกสิ่งหนึ่งคือให้ดำเนินชีวิตตามนั้น ข้าพเจ้าเรียนรู้ด้วยว่า ตนเองไม่ได้ถูกปล่อยให้เผชิญกับการทดสอบและความยากลำบากนี้เพียงลำพัง แต่เหล่าเทพผู้พิทักษ์จะดูแลข้าพเจ้า …

“ประสบการณ์ในสองปีที่ผ่านมาทำให้ข้าพเจ้าเข้มแข็งขึ้นในวิญญาณ และมีความกล้าที่จะเป็นพยานอย่างองอาจมากขึ้นต่อโลกถึงความรู้สึกลึกซึ้งในใจ ” (“พันธสัญญาแห่งบัพติศมา: อยู่ในอาณาจักรและเป็นของอาณาจักร,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 6–7)