คลังค้นคว้า
บทที่ 125: ฟีลิปปี 4


บทที่ 125

ฟีลิปปี 4

คำนำ

เปาโลกระตุ้นให้วิสุทธิชนในฟีลิปปีสวดอ้อนวอนและแสวงหาสิ่งใดก็ตามที่ชอบธรรม เขาประกาศความมั่นใจของเขาในพลังความเข้มแข็งของพระเยซูคริสต์ เปาโลจบจดหมายของท่านด้วยการแสดงความขอบคุณวิสุทธิชนชาวฟีลิปปีอีกครั้งสำหรับการสนับสนุนที่มีต่อเขาในยามยากลำบาก

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ฟีลิปปี 4:1–14

เปาโลบอกวิสุทธิชนในฟีลิปปีให้สวดอ้อนวอนและแสวงหาสิ่งใดก็ตามที่ชอบธรรม

ก่อนเริ่มชั้นเรียน ให้เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาษแต่ละแผ่น และแจกกระดาษให้นักเรียนคนละแผ่น

“ฉันกังวลเรื่องสอบผ่านในการสอบที่จะมาถึง”

“ฉันกังวลเกี่ยวกับสมาชิกครอบครัวที่ป่วย”

“ฉันกังวลเกี่ยวกับการยืนหยัดในความเชื่อของฉัน”

“ฉันกังวลว่าฉันจะเป็นผู้สอนศาสนาที่ประสบความสำเร็จได้หรือไม่”

เริ่มบทเรียนโดยเขียนคำว่า กังวล บนกระดาน ชี้ให้เห็นว่าตลอดชีวิตของเรา เราจะประสบกับความท้าทายหรือสภาพการณ์ที่อาจนำเราไปสู่ความกังวล เชื้อเชิญให้นักเรียนที่มีกระดาษยืนขึ้นและอ่านข้อความทีละคน ขอให้ชั้นเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขามีความกังวลที่คล้ายกัน

  • มีความกังวลอื่นใดอีกที่เราอาจประสบเนื่องจากความท้าทายหรือสภาวการณ์ที่ยาก

ขอให้นักเรียนเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเกี่ยวกับความท้าทายหนึ่งอย่างที่พวกเขาหรือบางคนที่พวกเขารู้จักกังวล เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมขณะที่พวกเขาศึกษา ฟีลิปปี 4 ที่จะช่วยพวกเขาเมื่อพวกเขากังวล

เตือนนักเรียนว่าในจดหมายของเปาโลถึงสมาชิกศาสนจักรในเมืองฟีลิปปี เขาแนะนำให้สมาชิกศาสนจักรซื่อสัตย์ (ดู ฟีลิปปี 2:12) และสอนพวกเขาเกี่ยวกับรางวัลนิรันดร์ที่มีให้แก่คนที่เสียสละเพื่อพระเยซูคริสต์และซื่อสัตย์ต่อพระองค์ สรุป ฟีลิปปี 4:1–5 โดยอธิบายว่าเปาโลแนะนำวิสุทธิชนให้ยืนหยัดในความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า ชื่นชมยินดีในพระเจ้า และให้ความอ่อนสุภาพของพวกเขาทั้งหลายประจักษ์แก่ทุกคน

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความแรกของ ฟีลิปปี 4:6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำแนะนำของเปาโลที่ให้แก่วิสุทธิชน อธิบายว่าข้อความ “อย่ากระวนกระวายในสิ่งใดๆ เลย” หมายความว่าอย่ากังวลเกี่ยวกับอะไรมากเกินไป

เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาน ในฐานะสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูคริสต์ ถ้า…

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงส่วนที่เหลือของ ฟีลิปปี 4:6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชนทำแทนที่จะกังวล ท่านอาจอธิบายว่า การวิงวอน เป็นการร้องขอด้วยความอ่อนน้อมและตั้งใจจริง

  • ท่านจะสรุปคำแนะนำของเปาโลใน ข้อ 6 ว่าอย่างไร (เขียนคำตอบของนักเรียนบนกระดานเป็นข้อความ “ถ้า” ทำนองนี้ ในฐานะสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูคริสต์ ถ้าเราสวดอ้อนวอนด้วยการวิงวอนและน้อมขอบพระทัย …)

เติมคำว่า แล้ว เข้าไปในข้อความบนกระดาน เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีลิปปี 4:7 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพรที่เปาโลสัญญาไว้สำหรับการสวดอ้อนวอนด้วยการวิงวอนและน้อมขอบพระทัย อธิบายว่าคำว่า คุ้มครอง ในข้อนี้หมายถึงปกป้อง

  • ท่านจะสรุปพรที่เปาโลสัญญาไว้ว่าอย่างไร (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดานหลังจากคำว่า แล้ว นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ ในฐานะสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูคริสต์ ถ้าเราสวดอ้อนวอนด้วยการวิงวอนและน้อมขอบพระทัย แล้วพระผู้เป็นเจ้าจะประทานพรเราด้วยสันติสุขของพระองค์)

  • เมื่อเรากังวล การแสดงความขอบพระทัยในคำสวดอ้อนวอนของเราจะช่วยนำสันติสุขมาสู่เราได้อย่างไร

  • สันติสุขของพระผู้เป็นเจ้าคุ้มครองจิตใจและความคิดของเราจากอะไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่ามีวิธีอื่นใดที่สันติสุขของพระผู้เป็นเจ้าจะช่วยเราได้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“เพราะทรงเคารพในสิทธิ์เสรีของท่าน พระบิดาในสวรรค์จะไม่ทรงบังคับให้ท่านสวดอ้อนวอน แต่เมื่อท่านใช้สิทธิ์เสรีนั้นโดยมีพระองค์อยู่ในทุกแง่มุมของชีวิตประจำวัน ใจท่านจะเริ่มเพิ่มพูนด้วยสันติสุขที่เต็มไปด้วยความเบิกบานใจ สันติสุขดังกล่าวจะรวมแสงนิรันดร์ส่องบนความยากลำบากของท่าน ซึ่งจะช่วยให้ท่านรับมือกับเรื่องท้าทาย เหล่านั้นได้จากมุมมองนิรันดร์” (“ทำให้การใช้ศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 93)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์สก็อตต์กล่าว สันติสุขของพระผู้เป็นเจ้าสามารถช่วยเรารับมือกับความท้าทายที่เราประสบได้อย่างไร

  • ท่านเคยสวดอ้อนวอนด้วยการวิงวอนและน้อมขอบพระทัยในเวลาที่กังวลและได้รับพรด้วยสันสิสุขของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อใด

ขอให้นักเรียนไปดูความกังวลที่พวกเขาเขียนก่อนหน้านี้ในบทเรียน กระตุ้นให้พวกเขาสวดอ้อนวอนด้วยการวิงวอนและน้อมขอบพระทัยแทนที่จะกังวล หากนักเรียนเขียนเกี่ยวกับความกังวลของคนอื่น กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันหลักธรรมนี้กับคนนั้น

เพื่อเตรียมให้นักเรียนระบุหลักธรรมอีกข้อหนึ่งที่เปาโลสอนวิสุทธิชนชาวฟีลิปปี ให้แบ่งนักเรียนออกเป็นสามส่วน มอบหมายให้หนึ่งในสามของชั้นเรียนนึกถึงอาหารโปรดของพวกเขา อีกหนึ่งในสามนึกถึงภาพหรือเรื่องราวที่ตลก และที่เหลือให้นึกถึงภาพหรือประสบการณ์ในพระวิหาร เชื้อเชิญให้นักเรียนจดจ่ออยู่กับความคิดนี้ 30 วินาที

  • การจดจ่ออยู่กับเรื่องนี้ส่งผลอะไรกับท่าน หากมี

ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เรานึกถึงจะมีอิทธิพลต่อความปรารถนาและพฤติกรรมของเรา เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีลิปปี 4:8–9 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชนชาวฟีลิปปีนึกถึงและทำ ท่านอาจอธิบายว่า “ใคร่ครวญ” หมายถึงให้คิดอย่างถี่ถ้วน ต่อเนื่อง

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาทำเครื่องหมายทุกสิ่งที่เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชนจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น

  • นอกจากนึกถึงเรื่องเหล่านี้แล้ว เปาโลแนะนำให้สมาชิกศาสนจักรทำอะไร

  • พรอะไรที่เปาโลสัญญากับวิสุทธิชนหากพวกเขาทำตามคำสอนและแบบอย่างของเขา

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากสิ่งที่เปาโลสอนวิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ใน ฟีลิปปี 4:8–9 (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ ถ้าวิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์จดจ่ออยู่กับสิ่งใดก็ตามที่ชอบธรรมและถ้าพวกเขาทำตามอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ พระผู้เป็นเจ้าแห่งสันติสุขจะทรงอยู่กับพวกเขา)

  • การจดจ่ออยู่กับสิ่งใดก็ตามที่ชอบธรรมมีอิทธิพลต่อความปรารถนาและพฤติกรรมของเราได้อย่างไร

ขอให้ชั้นเรียนเปิดไปที่หลักแห่งความเชื่อในพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงหลักแห่งความเชื่อข้อที่สิบสาม ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาความคล้ายคลึงกับ ฟีลิปปี 4:8

  • ท่านสังเกตเห็นความคล้ายคลึงอะไรบ้างระหว่างสองข้อนี้

ชี้ให้เห็นว่าเมื่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอ้าง “คำแนะนำของเปาโล” นี้จาก ฟีลิปปี 4:8 ในหลักแห่งความเชื่อข้อที่สิบสาม ท่านเปลี่ยน “ไตร่ตรองดูสิ่งเหล่านี้” ให้กระตือรือร้นมากขึ้น เป็น “แสวงหาสิ่งเหล่านี้”

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราจะแสวงหาสิ่งที่ซื่อสัตย์ แน่วแน่ บริสุทธิ์ (หรือไร้มลทิน) เป็นคุณธรรม งดงาม และควรค่าแก่การสรรเสริญ

  • การแสวงหาสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราจดจ่อกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสามถึงสี่คน แจกสำเนาของ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน (จุลสาร, 2011) และเอกสารแจกต่อไปนี้ ให้แต่ละกลุ่มทำงานมอบหมายสองหัวข้อจาก เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน: “การออกเดท” “การแต่งกายและรูปลักษณ์ภายนอก” “การศึกษา” “ความบันเทิงและสื่อ” “เพื่อน” “ภาษา” และ “ดนตรีและการเต้นรำ” (ปรับขนาดของกลุ่มและจำนวนหัวข้อขึ้นอยู่กับขนาดของชั้นเรียน) บอกให้นักเรียนทำตามคำแนะนำใน เอกสารแจก

ภาพ
เอกสารแจก

ฟีลิปปี 4:8–9

คู่มือครูเซมินารี พันธสัญญาใหม่—บทที่ 125

เขียนหัวข้อที่รับมอบหมายของท่านที่นี่:

สำหรับแต่ละหัวข้อเหล่านี้ ให้สนทนาคำถามต่อไปนี้

  • เราสามารถใช้คำแนะนำของเปาโลใน ฟีลิปปี 4:8–9 เพื่อนำทางการเลือกของเราที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเหล่านี้ได้อย่างไร

  • เมื่อเราพยายามทำตามคำแนะนำของเปาโล ความท้าทายใดที่เราอาจเผชิญอันเกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้

จากนั้นให้สนทนาคำถามต่อไปนี้

  • เหตุใดการมีพระผู้เป็นเจ้าแห่งสันติสุขอยู่กับเราจึงคุ้มค่ากับความพยายามในการแสวงหาสิ่งที่ชอบธรรมและการทำตามอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มให้รายงานต่อชั้นเรียนถึงสิ่งที่กลุ่มของเขาสนทนาเกี่ยวกับแต่ละหัวข้อ

  • ขณะที่ท่านจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ชอบธรรม พระผู้เป็นเจ้าแห่งสันติสุขแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงอยู่กับท่านอย่างไร

กระตุ้นให้นักเรียนเขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนถึงวิธีหนึ่งที่พวกเขาสามารถพัฒนาความพยายามของพวกเขาที่จะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ชอบธรรมและทำตามอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า

สรุป ฟีลิปปี 4:10 โดยอธิบายว่าเปาโลขอบคุณวิสุทธิชนชาวฟีลิปปีสำหรับการสนับสนุนและความห่วงใยที่มีต่อเขาระหว่างที่เขาเผชิญกับการทดลอง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีลิปปี 4:11–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลบอกวิสุทธิชนว่าเขาได้เรียนรู้

  • เปาโลเรียนรู้ที่จะทำอะไรในทุกสภาวการณ์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่ง อ่าน ออกเสียงฟีลิปปี 4:13–14 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าใครเป็นแหล่งที่มาของกำลังของเขา

  • เปาโลบอกว่าใครคือแหล่งที่มาของกำลังของเขา

อธิบายว่าถ้อยคำของเปาโลใน ข้อ 13 เกี่ยวข้องกับความสามารถของเขา ในกำลังที่ได้รับจากพระเยซูคริสต์ ให้ทำทุกสิ่งที่ชอบพระทัยหรือกำหนดโดยพระผู้เป็นเจ้า รวมถึงการยอมรับได้ในทุกสภาวการณ์

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจาก ข้อ 13 (โดยใช้คำพูดของพวกเขาเอง นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้ เราสามารถทำทุกสิ่งผ่านพระเยซูคริสต์ ผู้ประทานกำลังแก่เรา [ดู แอลมา 26:12] ด้วย)

  • เราสามารถทำอะไรได้เพื่อเข้าถึงกำลังที่พระเยซูคริสต์ประทาน

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านออกเสียงคำพูดต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด ขอให้ชั้นเรียนฟังว่ากำลังนี้ทำให้เราทำอะไรได้

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเทพรแห่งอำนาจและพลังทำให้เราสามารถบรรลุผลสำเร็จในสิ่งต่างๆ ที่ไกลเกินเอื้อมหากเราไม่ได้รับพรเช่นนั้น ด้วยพระคุณอันน่าพิศวงของพระผู้เป็นเจ้า บุตรธิดาของพระองค์สามารถเอาชนะคลื่นใต้น้ำและทรายดูดของผู้ลวงโลก อยู่เหนือบาปและ ‘ดีพร้อมในพระคริสต์’ [โมโรไน 10:32]” (“ของประทานแห่งพระคุณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 108)

  • เราอาจประสบกับกำลังและพระคุณนี้ในทางใดบ้าง (คำตอบที่เป็นไปได้รวมถึงความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้น ความแน่วแน่ ความกล้าหาญ ความอดทน ความอุตสาหะ กำลังและพลังอำนาจทางกาย จิตใจ หรือวิญญาณ)

  • พระเยซูคริสต์เคยประทานพลังให้ท่านทำสิ่งที่ดีเมื่อใด (ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวเช่นกัน)

ฟีลิปปี 4:15–23

เปาโลจบสาส์นที่เขาเขียนถึงชาวฟีลิปปีด้วยการแสดงความขอบคุณ

สรุป ฟีลิปปี 4:15–23 โดยอธิบายว่าเปาโลขอบคุณวิสุทธิชนชาวฟีลิปปีอีกครั้งที่สนับสนุนเขาในยามยากลำบาก ของประทานของวิสุทธิชนเป็นของถวายที่ชอบพระทัยต่อพระผู้เป็นเจ้า และเปาโลสัญญาว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบสนองความต้องการของพวกเขาเช่นกัน

สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่สนทนาในบทนี้

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—ฟีลิปปี 4:13

ช่วยนักเรียนท่องจำ ฟีลิปปี 4:13 โดยการเขียนข้อนี้บนกระดานและพูดออกเสียงพร้อมกัน ลบหนึ่งคำและพูดพร้อมกันอีกครั้ง ทำซ้ำจนลบออกทุกคำ

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ฟิลิปปี 4:6 แสดงความขอบคุณท่ามกลางความท้าทาย

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่าการมีเจตคติแห่งการสำนึกคุณจะเป็นพรแก่เราอย่างไรในสภาวการณ์ที่เราต้องเผชิญกับความท้าทายทุกอย่าง รวมถึงสภาวการณ์ที่อาจทำให้เรากังวล ดังนี้

“ข้อพระคัมภีร์อ้างอิงส่วนใหญ่ไม่ได้พูดถึงความสำนึกคุณ สำหรับ สิ่ง ต่างๆ หากแต่พูดถึงความรู้สึกโดยรวมหรือเจตคติของความสำนึกคุณ …

“เราเลือกสำนึกคุณได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

“ความสำนึกคุณเช่นนี้อยู่เหนือสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นรอบข้างเรา ข้ามพ้นความผิดหวัง ความท้อแท้ และความสิ้นหวัง …

“เมื่อเราสำนึกคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า ใน สภาวการณ์ของเรา เราจะประสบสันติสุขอันอ่อนโยนท่ามกลางความลำเค็ญ ในยามโศกเศร้า เรายังสรรเสริญได้ด้วยใจยินดี ในยามเจ็บปวด เราสามารถสดุดีการชดใช้ของพระคริสต์ ในความเหน็บหนาวแห่งโทมนัสอันขมขื่น เราสามารถสัมผัสอ้อมกอดอันอบอุ่นแนบแน่นจากสวรรค์ …

“ความสำนึกคุณต่อพระบิดาในสวรรค์เปิดการรับรู้ของเราให้กว้างและทำให้วิสัยทัศน์ของเราชัดเจน” (“สำนึกคุณในทุกสภาวการณ์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 70, 75, 77)

ฟีลิปปี 4:6–7 สันติสุขของพระเจ้า

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน สอนเกี่ยวกับสันติสุขที่จะเกิดขึ้นได้หากเราสวดอ้อนวอน ดังนี้

“มีเวลาที่ท่านต้องเดินบนเส้นทางเต็มไปด้วยขวากหนามและความยากลำบาก อาจมีบางเวลาที่ท่านรู้สึกโดดเดี่ยว—แม้กระทั่ง ถูกแยก—จากพระผู้ประทานของประทานอันดีทุกอย่าง ท่านกังวลว่าท่านเดินตามลำพัง ความกลัวแทนที่ศรัทธา

เมื่อท่านรู้สึกตัวว่าตกอยู่ในสภาวการณ์เช่นนั้นข้าพเจ้าขอร้องท่านให้นึกถึงการสวดอ้อนวอน ข้าพเจ้าชอบคำพูดของประธาน เอสรา แทฟท์ เบ็นสันเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน ท่านบอกว่า

“‘ตลอดชีวิตข้าพเจ้า คำแนะนำให้พึ่งการสวดอ้อนวอนมีค่ามากกว่าข้อเสนอแนะเกือบทั้งหมดที่ข้าพเจ้าเคย…ได้รับ การสวดอ้อนวอนเป็นส่วนสำคัญของข้าพเจ้า—เป็นสมอ เป็นบ่อเกิดอันคงที่ของพลังและพื้นฐานความรู้ของข้าพเจ้าในเรื่องศักดิ์สิทธิ์ …

“‘… แม้เกิดความล้มเหลว เราจะพบความมั่นใจอีกครั้งในการสวดอ้อนวอน เพราะพระผู้เป็นเจ้าจะรับสั่งความสงบแก่จิตวิญญาณ ความสงบนั้น วิญญาณแห่งความเยือกเย็นเป็นพรประเสริฐสุดของชีวิต’ [เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, ‘Pray Always,’ Ensign, Feb. 1990, 4–5]

“อัครสาวกเปาโลเตือนว่า

“‘จงทูลพระเจ้าให้ทรงทราบทุกสิ่งที่พวกท่านขอ

“‘แล้วสันติสุขของพระเจ้าที่เกินความเข้าใจ จะคุ้มครองจิตใจและความคิดของท่านทั้งหลายไว้ในพระเยซูคริสต์’ [ฟีลิปปี 4:6–7]

“สัญญานี้ประเสริฐนัก! สันติสุขคือสิ่งที่เราแสวงหา สิ่งที่เราโหยหา

“เราไม่ได้ถูกวางไว้บนโลกนี้ให้เดินตามลำพัง บ่อเกิดอันน่าพิศวงของอำนาจ พลัง และการปลอบโยนมีให้เราแต่ละคน” (“เราไม่มีวันเดิน ตามลำพัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 121)

ฟิลิปปี 4:8 คำแนะนำของเปาโล

“เปาโลแนะนำวิสุทธิชนให้ ‘ใคร่ครวญ’ (ให้นึกอย่างถี่ถ้วน ต่อเนื่องเกี่ยวกับ) สิ่งที่เป็นจริง สิ่งที่ยุติธรรม สิ่งที่บริสุทธิ์ สิ่งที่น่ารัก สิ่งที่ควรแก่การสรรเสริญ (ฟีลิปปี 4:8) เมื่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ … อ้างอิง ‘คำแนะนำของเปาโล’ ในหลักแห่งความเชื่อข้อที่สาม ท่านเปลี่ยน ‘ไตร่ตรองดูสิ่งเหล่านี้’ ให้มีพลังมากขึ้น เป็น ‘แสวงหา สิ่งเหล่านี้’ (หลักแห่งความเชื่อ 1:13; เพิ่มตัวเอน) เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน (1917–2008) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสนทนาคำแนะนำเรื่องการ ‘แสวงหาสิ่งเหล่านี้’

“‘คำว่า แสวงหา หมายถึงไปค้นคว้า พยายามค้นหา พยายามได้มา ซึ่งเรียกร้องวิธีการที่ต้องทำ มุ่งมั่นในชีวิต … ซึ่งตรงกันข้ามกับการรอคอยโดยไม่ทำอะไรให้สิ่งที่ดีมาสู่เรา โดยปราศจากความพยายามในฝั่งของเรา

“‘เราสามารถเติมเต็มชีวิตของเราได้ด้วยความดี โดยไม่เหลือที่ให้สิ่งอื่น เรามีความดีมากมายให้เลือกจนเราไม่ต้องไปมีส่วนเกี่ยวข้องในสิ่งชั่วร้ายเลย …

“หากเราแสวงหาสิ่งที่บริสุทธิ์และน่ารัก เราจะพบแน่นอน ในทางตรงกันข้าม หากเราแสวงหาสิ่งชั่วร้าย เราจะพบมันเช่นกัน’ (Seeking the Good, May 1992, 86)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 437–38)

เช่นเดียวกัน เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองได้แนะนำสมาชิกของศาสนจักรให้ “มองหาสิ่งที่ดีและจรรโลงใจในทุกสิ่ง …

“ในความคิดเห็นของโลกนี้ อาจเป็นเรื่องง่ายที่จะมุ่งความสนใจไปที่เรื่องลบหรือสิ่งชั่วร้าย หรือบั่นทอนพลังงานเราไปกับเรื่องและการงานอันน่าสงสัยว่ามีค่าควรและจะเกิดผลหรือไม่ …

“ข้าพเจ้าคิดว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในการกดดันตนเองให้ชื่นชมยินดีในพระเจ้า ให้สรรเสริญพระองค์สำหรับพระกรุณาธิคุณและพระคุณของพระองค์ ให้ไตร่ตรองความจริงนิรันดร์ของพระองค์ในใจพวกเขา และให้ตั้งมั่นจิตใจของพวกเขาไปที่ความชอบธรรม …

“มีกฎนิรันดร์ ซึ่งสถาปนาโดยพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เองก่อนการวางรากฐานของโลก ว่ามนุษย์ทุกคนจะเก็บเกี่ยวสิ่งที่เขาหว่าน หากเรานึกถึงสิ่งชั่วร้าย ลิ้นของเราจะพูดสิ่งที่ไม่สะอาดออกมา หากเราพูดถ้อยคำแห่งความชั่วร้าย ในที่สุดเราจะทำงานแห่งความชั่วร้าย หากความคิดของเรามุ่งไปที่ตัณหาราคะและสิ่งชั่วร้ายของโลก แล้วสิ่งทางโลกและความไม่ชอบธรรมจะดูเหมือนเป็นวิถีชีวิตปกติสำหรับเรา หากความคิดเราหมกมุ่นกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการผิดศีลธรรมทางเพศ ไม่นานเราจะคิดว่าทุกคนไร้ศีลธรรมและไม่สะอาด สิ่งนี้จะทำลายกำแพงระหว่างเรากับโลก …

“ในทางตรงกันข้าม หากเราครุ่นคิดในจิตใจเราถึงสิ่งที่ชอบธรรม เราจะชอบธรรม” (Think on These Things, Jan. 1974, 46–48)

ฟิลิปปี 4:13 พระเยซูคริสต์ประทานกำลังให้เราทำสิ่งดีทั้งปวง

กำลังที่พระเยซูคริสต์ประทานแก่เราเพื่อทำสิ่งดีทั้งปวงเรียกว่าพระคุณ (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “พระคุณ”) ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนสิ่งต่อไปนี้เกี่ยวกับกำลังที่พระเยซูคริสต์ประทานให้เราทำสิ่งดีทั้งปวง

“พระคัมภีร์มักจะเรียกการแสดงออกถึงความรัก [ของพระคริสต์] นั้นว่า พระคุณของพระผู้เป็นเจ้า—ความช่วยเหลือจากสวรรค์และการประสาทพรแห่งความเข้มแข็งซึ่งโดยสิ่งนั้นเราเติบโตจากสัตภาวะที่บกพร่องและมีข้อจำกัดอย่างทุกวันนี้เข้าสู่สัตภาวะที่สูงส่งของ ‘ความจริงและแสงสว่าง, จน [เรา] รุ่งโรจน์ในความจริงและ [รู้] สิ่งทั้งปวง’ [หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:28] …

“… พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเทพรแห่งอำนาจและพลัง ทำให้เราสามารถบรรลุผลสำเร็จในสิ่งต่างๆ ที่ไกลเกินเอื้อมหากเราไม่ได้รับพรเช่นนั้น ด้วยพระคุณอันน่าพิศวงของพระผู้เป็นเจ้าบุตรธิดาของพระองค์สามารถเอาชนะคลื่นใต้น้ำและทรายดูดของผู้ลวงโลก อยู่เหนือบาปและ ‘ดีพร้อมในพระคริสต์’ [โมโรไน 10:32]

“แม้เราทุกคนจะมีความอ่อนแอ แต่เราเอาชนะสิ่งเหล่านั้นได้ แน่นอนว่าโดยพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งหากเรานอบน้อมถ่อมตนและมีศรัทธา สิ่งอ่อนแอจะกลับเข้มแข็งได้ [ดู อีเธอร์ 12:27]

“ตลอดชีวิตเรา พระคุณของพระผู้เป็นเจ้าประสาทพรทางโลกและของประทานทางวิญญาณที่ขยายความสามารถและเพิ่มพูนความสมบูรณ์ให้ชีวิตเรา พระคุณขัดเกลาเรา พระคุณช่วยให้เรากลายเป็นคนดีที่สุดได้ …

“เราเข้าใจความเป็นหนี้ที่เรามีต่อพระบิดาบนสวรรค์และทูลวิงวอนขอพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดจิตวิญญาณของเราหรือไม่ ” (“ของประทานแห่งพระคุณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 107–109)

เอ็ลเดอร์ จอห์น เอช. โกรเบิร์กแห่งสาวกเจ็ดสิบได้แบ่งปันตัวอย่างของการที่พระผู้เป็นเจ้าประทานกำลังแก่ชายที่ชื่อสัตย์ซึ่งทำให้เขาทำงานชอบธรรมสำเร็จ (ดู The Lord’s Wind, Nov. 1993, 26–28)