คลังค้นคว้า
บทที่ 137: ฮีบรู 7–10


บทที่ 137

ฮีบรู 7–10

คำนำ

เปาโลสอนว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นสื่อกลางของ “พันธสัญญาใหม่” (ฮีบรู 8:8) เขาอธิบายว่าการพลีพระชนม์ชีพของพระคริสต์นั้นยิ่งใหญ่กว่าการพลีบูชาตามกฎของโมเสสและศาสนพิธีตามกฎของโมเสสมุ่งชี้ให้ผู้คนไปสู่พระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ฮีบรู 7–8

เปาโลสอนว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นสื่อกลางของพันธสัญญาใหม่

ให้ใช้ไฟฉายสร้างเงาของวัตถุเล็กๆ (เช่นกุญแจหรือกรรไกร) บนกระดาน ถามนักเรียนว่าพวกเขาสามารถระบุว่าเป็นวัตถุอะไรโดยการมองที่เงาอย่างเดียวได้หรือไม่ ชี้ให้เห็นว่าเรามักจะบอกได้ว่าเป็นวัตถุอะไรโดยมองที่เงา

ภาพ
พระเยซูทรงสวดอ้อนวอนในเกทเสมนี

แสดงภาพ พระเยซูทรงสวดอ้อนวอนในเกทเสมนี (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 56; ดู LDS.org ด้วย) อธิบายว่าพันธสัญญาเดิมบันทึกพิธีการและศาสนพิธีที่ทำหน้าที่เป็นแม่แบบหรือเงา หรือเป็นสัญลักษณ์และแสดงล่วงหน้าถึงพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์

  • มีตัวอย่างใดที่บันทึกไว้ในพันธสัญญาเดิมเกี่ยวกับรูปแบบและเงาของพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์

อธิบายว่าทุกด้านของกฎของโมเสสมุ่งทำหน้าที่เป็น แม่แบบ หรือเงาที่ชี้ให้ชาวอิสราเอลไปสู่พระเยซูคริสต์และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ (ดู 2 นีไฟ 11:4; เจคอบ 4:4–5) เปาโลอธิบายถึงวีธีที่กฎหลายส่วนทำสิ่งนี้ เขาต้องการช่วยให้วิสุทธิชนชาวยิวยังคงซื่อสัตย์ต่อพระเยซูคริสต์แทนที่จะกลับไปทำตามกฎของโมเสส

สรุป ฮีบรู 7:1–22 โดยอธิบายว่าเปาโลกล่าวถึงคำพยากรณ์ในพันธสัญญาเดิมเกี่ยวกับการมาของปุโรหิต “ตามอย่างเมลคีเซเดค” (สดุดี 110:4; ดู ฮีบรู 7:1 ด้วย) เขาสอนว่าพระเยซูคริสต์ทรงทำให้คำพยากรณ์นี้เกิดสัมฤทธิผล เมลคีเซเดคเป็นกษัตริย์ที่ชอบธรรมและเป็นมหาปุโรหิตที่ปกครองอับราฮัม (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ปฐมกาล 14:25–40 [ใน คู่มือพระคัมภีร์]; แอลมา 13:14–19; Bible Dictionary, Melchizedek) เปาโลใช้เมลคีเซเดคเป็นแม่แบบและเงาของพระเยซูคริสต์ เขาสอนว่าพระเยซูคริสต์และฐานะปุโรหิตของพระองค์จำเป็นเพราะฐานะปุโรหิตเผ่าเลวี รวมทั้งกฎของโมเสสที่ปฏิบัติอยู่ ไม่สามารถทำให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าดีพร้อม (ดู ฮีบรู 7:11) ท่านอาจต้องการอธิบายว่าฐานะปุโรหิตเผ่าเลวีหมายถึงสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนซึ่งดำรงโดยสมาชิกของเผ่าเลวี (ดู Bible Dictionary, Aaronic Priesthood)

ภาพ
โมเสสมอบฐานะปุโรหิตให้อาโรน

แสดงภาพ โมเสสมอบฐานะปุโรหิตให้อาโรน (หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 15; ดู LDS.org ด้วย) คู่กับภาพ พระเยซูทรงสวดอ้อนวอนในเกทเสมนี อธิบายว่าดังที่บันทึกใน ฮีบรู 7 เปาโลเปรียบเทียบปุโรหิตเผ่าเลวีกับพระเยซูคริสต์ ท่านอาจอธิบายว่าบทบาทหนึ่งของปุโรหิตเผ่าเลวีคือทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ยืนระหว่างผู้คนกับพระผู้เป็นเจ้าเพื่อแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างสองฝ่าย

เขียน ฮีบรู 7:23–28 บนกระดาน แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ และเชื้อเชิญให้แต่ละคู่อ่านออกเสียงข้อเหล่านี้ด้วยกัน ขอให้พวกเขาอ่าน งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ฮีบรู 7:25–26 ด้วย พระคัมภีร์นี้อยู่ในคู่มือพระคัมภีร์ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งในแต่ละคู่ให้มองหาวลีที่จะบรรยายถึงปุโรหิตเผ่าเลวี และขอให้นักเรียนอีกคนในคู่มองหาวลีที่บรรยายถึงพระเยซูคริสต์ อธิบายว่าคำว่า พวกเขา ใน ฮีบรู 7:23 หมายถึงปุโรหิต

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนซึ่งมองหาวลีที่บรรยายถึงปุโรหิตรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ สรุปคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดานใต้ภาพโมเสสและอาโรน (คำตอบของพวกเขาอาจรวมถึงคำตอบต่อไปนี้ ปุโรหิตจำเป็นต้องมีการสืบทอดตำแหน่งโดยปุโรหิตคนอื่นเมื่อพวกเขาสิ้นชีวิต [ดู ฮีบรู 7:23] พวกเขาถวายเครื่องบูชาทุกวันสำหรับบาปของตนเองและบาปของประชาชน [ดู ฮีบรู 7:27] และปุโรหิตมีข้อบกพร่อง [ดู ฮีบรู 7:28])

เชื้อเชิญให้นักเรียนซึ่งมองหาวลีที่บรรยายถึงพระเยซูคริสต์รายงานสิ่งที่พวกเขาพบ เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดานใต้ภาพพระเยซูคริสต์ (คำตอบของพวกเขาอาจรวมถึงข้อความทำนองนี้ พระเยซูคริสต์และฐานะปุุโรหิตของพระองค์ “ไม่เปลี่ยนแปลง” หรือดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ [ฮีบรู 7:24] พระองค์สามารถช่วยคน “ที่เข้ามาใกล้พระเจ้าโดยทางพระองค์” [ฮีบรู 7:25] พระองค์ทรงพระชนม์เพื่อ “ทูลขอเผื่อ [เรา]” [ฮีบรู 7:25] พระองค์ทรงปราศจากบาปและจึง “ไม่จำเป็นต้องถวายเครื่องพลีบูชาเพื่อบาปของพระองค์เอง” [งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ฮีบรู 7:26] พระองค์ทรงถวายพลีบูชาเพียงครั้งเดียว ซึ่งคือ “เพื่อบาปของผู้คน” [งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ฮีบรู 7:26] และพระองค์ทรง “เพียบพร้อมชั่วนิรันดร์” [ฮีบรู 7:28])

อธิบายว่าประโยคนี้ “พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ทุกเวลา เพื่อทูลขอเผื่อคนเหล่านั้น” (ฮีบรู 7:25) หมายถึงพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอดคือทรงแทรกแซงแทนเราเพื่อช่วยเรากลับไปหาพระผู้เป็นเจ้า

  • ท่านจะอธิบายความแตกต่างระหว่างพระเยซูคริสต์กับปุโรหิตเผ่าเลวีอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 8:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ามหาปุโรหิตทั้งหมด รวมถึงพระเยซูคริสต์ได้รับแต่งตั้ง หรือเรียกให้ทำอะไร

  • มหาปุโรหิตได้รับแต่งตั้งให้ทำอะไร

อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธ ฮีบรู 8:4 อ่านว่า “ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงอยู่ในโลก พระชนม์ชีพของพระองค์เป็นเครื่องบูชาเพื่อบาปของผู้คน บัดนี้ ปุโรหิตทุกคนภายใต้กฎ ต้องนำของมาถวายหรือเครื่องบูชาตามธรรมบัญญัติ” ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาเครื่องบูชาที่พระเยซูคริสต์ถวาย

  • เราเรียนรู้ความจริงอะไรจากข้อนี้เกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงทำเพื่อเรา (โดยใช้คำพูดของพวกเขาเอง นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้ พระเยซูคริสต์ทรงถวายพระชนม์ชีพของพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาเพื่อบาปของเรา)

  • วลีใดที่เขียนบนกระดานที่ช่วยให้เราเข้าใจสาเหตุที่พระเยซูคริสต์ทรงสามารถถวายพระชนม์ชีพของพระองค์เป็นเครื่องบูชาเพื่อบาปเราได้

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์มีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร ขอให้พวกเขาเติมข้อความต่อไปนี้ให้ครบถ้วนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  1. ฉันสำนึกคุณพระผู้ช่วยให้รอดเพราะ …

  2. ฉันรู้พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักฉันเพราะ …

  3. ฉันได้รับพรจากการชดใช้เพราะ …

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียนหากพวกเขารู้สึกว่าไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป

สรุป ฮีบรู 8:5–13 โดยอธิบายว่าเนื่องจากการพลีบูชาของพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงเป็น “คนกลางแห่งพันธสัญญาอันประเสริฐกว่า” (ข้อ 6) พันธสัญญาซึ่งหากผู้คนรับจะช่วยให้พวกเขา “รู้จักองค์พระผู้เป็นเจ้า” (ข้อ 11) และได้รับการชำระให้สะอาดจากความชั่วช้าสามานย์ของพวกเขา

ฮีบรู 9–10

เปาโลแสดงว่าศาสนพิธีตามกฎของโมเสสชี้ไปที่การชดใช้อย่างไร

ภาพ
แผนภาพ พลับพลา

ก่อนชั้นเรียน ให้วาด แผนภาพ ประกอบต่อไปนี้บนกระดาน

อธิบายว่าดังที่บันทึกไว้ใน ฮีบรู 9–10 เปาโลยังคงเปรียบเทียบมหาปุโรหิตเผ่าเลวีกับพระเยซูคริสต์ต่อไปโดยสนทนาถึงหน้าที่ซึ่งปุโรหิตทำในวันลบมลทิน เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้

ปีละครั้งในวันศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิวที่เรียกว่าวันลบมลทิน (หรือที่เรียกว่ายม คิปปูร์) มหาปุโรหิตจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุด (หรือเรียกว่าอภิสุทธิสถานเหนือวิสุทธิสถานทั้งหลาย) ในพลับพลาหรือต่อมาคือพระวิหารเยรูซาเล็ม ที่นั่น มหาปุโรหิตจะถวายพลีบูชาวัวและแพะตัวผู้ เขาประพรมเลือดสัตว์ในสถานที่ซึ่งกำหนดไว้ในสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุดเพื่อเป็นสัญลักษณ์การชดใช้ของพระคริสต์เพื่อบาปของปุโรหิตและบาปของประชาชน จากนั้นมหาปุโรหิตจะย้ายบาปของประชาชนไปที่แพะตัวผู้อีกตัวโดยเป็นสัญลักษณ์ (เรียกว่าแพะฉลากตก) ซึ่งจะถูกปล่อยเข้าไปในป่า เป็นสัญลักษณ์ของการลบบาปของประชาชน เขาพลีบูชาแกะตัวผู้สองตัวเป็นเครื่องเผาบูชาเพื่อตัวเขาเองและประชาชน (ดู Bible Dictionary, Fasts; ดู เลวีนิติ 16:22 ด้วย)

มอบหมายให้ครึ่งหนึ่งของชั้นเรียนอ่าน ฮีบรู 9:11, 12, 24, 28 และอีกครึ่งหนึ่งอ่าน ฮีบรู 10:1, 4, 10–12 ขอให้กลุ่มหนึ่งอ่านข้อที่ได้รับมอบหมายของพวกเขาในใจ โดยมองหาเหตุการณ์ในวันลบมลทินที่เป็นรูปแบบและเงาแห่งการพลีบูชาของพระเยซูคริสต์ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนจากแต่ละกลุ่มรายงานสิ่งที่พบ จากนั้นให้ถามว่า

  • เช่นเดียวกับมหาปุโรหิตเข้าไปยังสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพลับพลาในวันลบมลทิน “สถานศักดิ์สิทธิ์” (ฮีบรู 9:12) ใดที่พระผู้ช่วยให้รอดเข้าไปได้เนื่องจากการชดใช้ของพระองค์ (ที่ประทับของพระบิดาบนสวรรค์ หรือรัศมีภาพซีเลสเชียล)

  • การพลีบูชาของพระเยซูคริสต์สามารถทำอะไรที่ “เลือดวัวผู้และเลือดแพะ” (ฮีบรู 10:4) ทำไม่ได้

  • เหตุใดมหาปุโรหิตจึงทำการพลีบูชาเหล่านี้ในวันลบมลทิน (เพื่อแสดงให้เห็นถึง “เงาของสิ่งประเสริฐทั้งหลายที่จะมาในภายหลัง” [ฮีบรู 10:1] หรือชี้ไปที่การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 10:17–20 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าการชดใช้ทำให้เกิดอะไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 19 เพราะการชดใช้ของพระเยซู เราสามารถเข้าสู่สถานที่ใด ( “สถานศักดิ์สิทธิ์” หรือที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าในอาณาจักรซีเลสเชียล)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 20เราจะเข้าไปในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

อธิบายว่า “ทางใหม่และเป็นทางที่มีชีวิต” หมายถึงพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ หรือแผนซึ่งทำให้เราได้รับการให้อภัยและได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ผ่านการชดใช้ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้จึงมีค่าควรที่จะกลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน เนื่องจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราสามารถเข้าสู่อาณาจักรซีเลสเชียลหาก …

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 10:22–23 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเราต้องทำอะไรเพื่อเข้าสู่อาณาจักรซีเลสเชียล เชื้อเชิญนักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนเพื่อให้อ่านว่า เนื่องจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราสามารถเข้าสู่อาณาจักรซีเลสเชียลหากเรายึดมั่นศรัทธาของเราในพระองค์

  • ท่านคิดว่า “ยึดมั่น” (ข้อ 23) ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 10:35–38 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำแนะนำของเปาโลเพื่อจะช่วยให้เรายึดมั่นศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อยึดมั่นศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์

  • “อย่าละทิ้งความไว้วางใจของท่าน” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 35)

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ซึ่งท่านอธิบายว่า “อย่าละทิ้งความไว้วางใจ [ของเรา]” หมายความว่าอย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ในคำพูดของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ว่า แน่นอนว่าเป็นเรื่องยาก—ก่อนที่ท่านจะเข้าร่วมกับศาสนจักร ขณะที่ท่านพยายามจะเข้าร่วม และหลังจากท่านเข้าร่วมแล้ว เปาโลบอกว่า เป็นอย่างนั้นเสมอ แต่อย่ายอมแพ้ อย่าวิตกและยอมแพ้ อย่าละทิ้งความไว้วางใจของท่าน อย่าลืมว่าครั้งหนึ่งท่านเคยรู้สึกอย่างไร อย่าเลิกไว้ใจประสบการณ์ที่ท่านมี การยืนหยัดนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยโมเสสและโจเซฟ สมิธเมื่อพวกท่านเผชิญปฏิปักษ์ และนั่นเป็นสิ่งที่จะช่วยท่าน” (Cast Not Away Therefore Your Confidence, Mar. 2000, 8)

  • ท่านรู้จักใครที่เป็นแบบอย่างที่ดีของการยึดมั่นศรัทธาของเขาในพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองข้อผูกมัดของพวกเขาที่จะยึดมั่นศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์ ขอให้พวกเขาเขียนว่าพวกเขาจะเพิ่มข้อผูกมัดและความสามารถที่จะทำสิ่งนี้อย่างไร

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ฮีบรู 7:1–2 เมลคีเซเดค

“เมลคีเซเดคเป็น ‘มหาปุโรหิต ศาสดาพยากรณ์ และผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในภาคพันธสัญญาเดิมผู้ที่มีชีวิตอยู่หลังเหตุการณ์น้ำท่วมและในสมัยของอับราฮัม ท่านได้รับการขนานนามว่ากษัตริย์ของซาเลม (เยรูซาเล็ม) กษัตริย์แห่งสันติสุข กษัตริย์แห่งความชอบธรรม (ซึ่งเป็นความหมายในภาษาฮีบรูของคำว่าเมลคีเซเดค) และปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด’ (คู่มือพระคัมภีร์, ‘เมลคีเซเดค’; scriptures.lds.org) พระคัมภีร์อื่นๆ บอกว่าเมลคีเซเดคประสาทฐานะปุโรหิตให้อับราฮัม รับส่วนสิบจากอับราฮัม และไม่มีผู้ใดยิ่งใหญ่ไปกว่าท่าน (ดู คพ. 84:14; ฮีบรู 7:4; ปฐมกาล 14:18–20; งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ปฐมกาล 14:25–40 [ใน คู่มือพระคัมภีร์]; แอลมา 13:19) ในสาส์นถึงคนฮีบรู เมลคีเซเดคยืนเป็นรูปแบบของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า” (ดู ฮีบรู 7:15–16)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 480)

ฮีบรู 7:3 “ปราศจากบิดา, ปราศจากมารดา”

“งานแปลของโจเซฟ สมิธของ ฮีบรู 7:3 ชี้แจงว่านี่เป็นฐานะปุโรหิตที่ ‘ปราศจากบิดา, ปราศจากมารดา’: ‘เพราะเมลคีเซเดคผู้นี้ได้รับแต่งตั้งเป็นปุโรหิตตามระเบียบของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, ซึ่งระเบียบนั้น ปราศจากบิดา, ปราศจากมารดา,’ (ในคู่มือพระคัมภีร์) วลีนี้ระบุว่า โดยที่แตกต่างจากระเบียบเลวีหรืออาโรนในสมัยโบราณ การประสาทฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคไม่ได้ขึ้นอยู่กับเชื้อสายแต่เพียงอย่างเดียว เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี … แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า ‘สิทธิในฐานะปุโรหิตระดับสูงกว่านี้ไม่ได้สืบทอดในรูปแบบเดียวกับกรณีของเผ่าเลวีและบุตรของอาโรน ความชอบธรรมเป็นข้อกำหนดอย่างแท้จริงสำหรับการประสาทฐานะปุโรหิตระดับสูงกว่า’ (Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 478)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 480)