คลังค้นคว้า
บทที่ 10: มัทธิว 5:17–48


บทที่ 10

มัทธิว 5:17-48

คำนำ

ขณะที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานคำเทศนาบนภูเขาในแคว้นกาลิลี พระองค์ทรงอธิบายว่าพระองค์ไม่ได้เสด็จมาเพื่อทำลายกฎของโมเสสแต่เพื่อทำให้กฎเกิดสัมฤทธิผล พระผู้ช่วยให้รอดประทานพระบัญญัติแก่สานุศิษย์ของพระองค์เช่นกัน ซึ่งพวกเขาต้องทำตามเพื่อให้ดีพร้อมเหมือนอย่างพระบิดาบนสวรรค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มัทธิว 5:17–48

พระเยซูคริสต์ทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ให้ดีพร้อมเหมือนอย่างพระบิดาบนสวรรค์

ก่อนชั้นเรียน เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน พระบัญญัติใดที่ท่านคิดว่าคนรักษาได้ยากที่สุด เมื่อเริ่มชั้นเรียน ขอให้นักเรียนตอบคำถามนี้ เขียนคำตอบของพวกเขาบนกระดาน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 5:48 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพระบัญญัติที่ยากต่อการรักษา ท่านอาจต้องการอ่านงานแปลของโจเซฟ สมิธ ในมัทธิว 5:48 ซึ่งอ่านว่า “เพราะฉะนั้นพวกท่านได้รับบัญชาให้เป็นคนดีพร้อม เหมือนอย่างที่พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงดีพร้อม”

  • พระบัญชาให้ดีพร้อมทำให้ท่านรู้สึกอย่างไร

  • ท่านคิดว่าการเป็นคนดีพร้อมหมายความว่าอย่างไร

อธิบายว่าคำว่า “ดีพร้อม” แปลจากคำภาษากรีกว่า “สมบูรณ์” “เสร็จสิ้น” หรือ “พัฒนาเต็มที่” ถามชั้นเรียนว่านี่ช่วยทำให้เข้าใจข้อนี้ดีขึ้นได้อย่างไร อธิบายว่าการเป็นคนสมบูรณ์หรือพัฒนาเต็มที่หมายถึงการเป็นเหมือนอย่างพระบิดาบนสวรรค์

ขณะที่นักเรียนศึกษาคำเทศนาบนภูเขาของพระผู้ช่วยให้รอดใน มัทธิว 5 ต่อ ให้พวกเขามองหาหลักธรรมที่พวกเขาต้องทำตามเพื่อก้าวหน้าไปสู่การเป็นคนดีพร้อมเหมือนอย่างพระบิดาในสวรรค์ของเรา

สรุป มัทธิว 5:17–20 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อทำให้กฎของโมเสสเกิดสัมฤทธิผล ไม่ใช่เพื่อทำลาย หรือขจัดความจริงนิรันดร์ใดๆ ในกฎของโมเสส พระเยซูคริสต์ทรงฟื้นฟูความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณที่สูญหายไปเนื่องจากความชั่วร้ายและการละทิ้งความเชื่อ ทรงแก้ไขคำสอนที่ผิดๆ และทำให้คำพยากรณ์ที่พยากรณ์ไว้โดยศาสดาพยากรณ์พันธสัญญาเดิมเกิดสัมฤทธิผล ในท้ายที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนของการฟื้นฟูของความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณ มีการเลิกใช้กฎของโมเสสบางด้าน เช่นการเข้าสุหนัตและสัตวบูชา

อธิบายว่า มัทธิว 5:21–48 มีคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับกฎและประเพณีต่างๆ ที่ชาวยิวได้พัฒนาขึ้นหรือเพิ่มเข้าไปในกฎของโมเสส เมื่อพระเยซูคริสต์อธิบายความหมายที่แท้จริงของกฎ พระองค์ทรงสอนวิถีที่สูงขึ้นแห่งความชอบธรรม สมาชิกอาณาจักรของพระองค์ต้องดำเนินชีวิตตามกฎที่สูงขึ้นนี้ กฎที่สูงขึ้นนี้ให้การนำทางที่จะช่วยสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์หลีกเลี่ยงการละเมิดพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

เพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมศึกษาคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเรื่องความโกรธ ให้พวกเขานึกถึงเวลาที่พวกเขาโกรธใครสักคน

  • การไม่ควบคุมความโกรธของเรามีอันตรายอะไรบ้าง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 5:21-22 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ากฎของโมเสสสอนอะไรเกี่ยวกับความรุนแรงและความโกรธ ความจริงเพิ่มเติมใดที่พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับความโกรธซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกฎที่สูงขึ้น

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรเกี่ยวกับความรุนแรงและความโกรธ (อธิบายว่าคำว่า พูดเหยียดหยาม ใน ข้อ 22 หมายถึงเป็นคนด้อยสติปัญญา โง่เง่า หรือไม่มีสมอง)

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ จะเกิดอะไรขึ้นหากเราไม่เรียนรู้ที่จะควบคุมความโกรธของเรา

อธิบายว่าในงานแปลของโจเซฟ สมิธ ใน มัทธิว 5:22 ได้นำเอาวลี “โดยไม่มีเหตุ” (ฉบับ KJV) ออกจากข้อนี้ ทำให้ข้อความเป็นดังนี้ “แต่เราบอกพวกท่านว่า ใครโกรธพี่น้องของตน คนนั้นจะต้องถูกพิพากษา ถ้าใครพูดกับพี่น้องอย่างเหยียดหยาม คนนั้นจะต้องถูกนำไปยังศาลสูงให้พิพากษา และถ้าใครพูดว่า อ้ายโฉด คนนั้นจะมีโทษถึงไฟนรก”

  • ทำไมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่มีการละวลี “โดยไม่มีเหตุ” (ฉบับ KJV) จากข้อนี้

  • การควบคุมความโกรธของเราจะช่วยเราก้าวหน้าไปสู่การเป็นคนดีพร้อมอย่างไร

เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน เพราะฉะนั้น ถ้าท่านจะมาหาเรา หรือปรารถนาจะมาหาเรา…

อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธได้เพิ่มวลี “ถ้าท่านจะมาหาเรา หรือปรารถนาจะมาหาเรา” ในตอนต้นของ ข้อ 23 ดังนั้นจึงอ่านได้ว่า “เพราะฉะนั้น ถ้าท่านจะมาหาเรา หรือปรารถนาจะมาหาเรา หรือถ้าท่านนำเครื่องบูชามาถึงแท่นบูชาแล้ว และระลึกขึ้นได้ว่า พี่น้องมีเหตุขัดเคืองข้อใดข้อหนึ่งกับท่าน” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 5:25)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 5:23–24 รวมถึงวลีที่เพิ่มเข้ามาจากงานแปลของโจเซฟ สมิธ ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยหาดูว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าเราต้องทำอะไรกับความโกรธที่เรามีต่อผู้อื่นหากเราปรารถนาจะมาหาพระองค์

  • วลีที่ว่า “จงวางเครื่องบูชาไว้ที่หน้าแท่นบูชา และกลับไป” หมายความว่าอย่างไร (ก่อนที่คนจะถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้า พวกเขาต้องไปแก้ไขสัมพันธภาพกับคนอื่นเสียก่อน)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 24 เราต้องทำอะไรหากเราปรารถนาจะมาหาพระคริสต์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ ถ้าเราปรารถนาจะมาหาพระคริสต์ เราต้องทำส่วนของเราในการคืนดีกับคนอื่นก่อน)

  • การคืนดีกับบางคนหมายความว่าอย่างไร (การยุติข้อขัดแย้งหรือฟื้นฟูความเป็นหนึ่งเดียวในสัมพันธภาพ นี่รวมถึงคนที่มีความรู้สึกไม่ดีต่อเราหรือคนที่เราอาจมีความรู้สึกไม่ดีกับเขา)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราต้องยุติข้อขัดแย้งกับคนอื่นเพื่อมาหาพระคริสต์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 5:25-26 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าเราจะทำอะไรได้เพื่อคืนดีกับคนอื่น

  • ท่านคิดว่าการปรองดองกับปฏิปักษ์ของเราโดยเร็วหมายความว่าอย่างไร (หากนักเรียนต้องการความช่วยเหลือ อธิบายว่าวลี “ปรองดองกับ” แปลจากภาษากรีกที่หมายความว่า “มีความรู้สึกเมตตาโดยเร็วสำหรับ, ถูกขจัดออกไปอย่างดี”)

  • การเลือกที่จะมีความรู้สึกเมตตาต่อคนบางคนช่วยให้เรายุติข้อขัดแย้งหรือฟื้นฟูสัมพันธภาพที่เสียหายกับเขาได้อย่างไร

เชิญนักเรียนให้นึกถึงเวลาที่พวกเขายุติข้อขัดแย้งกับอีกคนและสามารถเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้นเพราะเหตุนั้น ท่านอาจต้องการเชิญให้นักเรียนหนึ่งหรือสองคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา หากประสบการณ์เหล่านั้นไม่เป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป กระตุ้นให้นักเรียนยุติข้อขัดแย้งกับคนอื่นเพื่อพวกเขาจะก้าวหน้าไปสู่การเป็นคนดีพร้อมเหมือนพระบิดาในสวรรค์ของเรา

ภาพ
แดนดิไลออน

นำวัชพืชมาให้นักเรียนดู (หรือแสดง ภาพ ของวัชพืช)

  • จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่ถอนวัชพืชออกจากสวน

  • วัชพืชเป็นเหมือนบาปอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 5:27-28 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยหาบาปอย่างหนึ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนเราและกฎที่สูงขึ้นที่พระองค์ทรงคาดหวังให้สานุศิษย์ของพระองค์ดำเนินชีวิตตาม

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรเกี่ยวกับคนที่รื่นเริงอยู่กับความคิดหรือความปรารถนาที่เต็มไปด้วยตัณหาราคะ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าเป็นที่ชัดเจนว่า หากเรารื่นเริงอยู่กับความคิดและความปรารถนาที่เต็มไปด้วยตัณหาราคะ ก็เป็นเหมือนการประพฤติล่วงประเวณีในใจเรา)

อธิบายว่าถึงแม้เราจะไม่สามารถป้องกันความคิดที่ไม่บริสุทธิ์ให้เข้ามาสู่ความคิดเราได้ตลอดเวลา แต่เราสามารถป้องกันไม่ให้มันอยู่ที่นั่น

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 5:29-30 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเกี่ยวกับการขจัดความคิดที่ไม่บริสุทธิ์ออกไป

  • พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าเราต้องทำอะไรเพื่อขจัดความคิดที่ไม่บริสุทธิ์ออกไป

  • ท่านคิดว่าการควักดวงตาออกไปและตัดมือของคนๆ หนึ่งออกทิ้งเสียในข้อเหล่านี้หมายความว่าอย่างไร

อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธ ในมัทธิว 5:30 เพิ่มประโยค “และบัดนี้เราจะกล่าว อุปมาเรื่องบาปของท่าน ดังนั้น จงตัดทิ้งเสียจากท่าน เพื่อท่านจะไม่ถูกตัดและทิ้งเข้าไปในกองไฟ” เข้าไปในท้ายของข้อนี้ ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่างานแปลของโจเซฟ สมิธช่วยให้เราเข้าใจว่าการควักดวงตาหรือตัดมือของคนๆ หนึ่งทิ้งเสียในข้อเหล่านี้หมายความว่าอย่างไร เชิญนักเรียนให้รายงานสิ่งที่พบ

  • ตามที่พระเจ้าทรงสอนใน มัทธิว 5:29–30 อาจจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่ขจัดบาปออกไปจากชีวิตเรา (หลังจากนักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: ถ้าเราเลือกที่จะไม่ขจัดบาปออกไปจากชีวิตเรา มันจะทำลายเราทางวิญญาณ)

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อขจัดบาปออกไปจากชีวิตเรา

  • เราต้องทำอะไรเพื่อขจัดบาปออกไปจากชีวิตเราและให้แน่ใจว่าเราจะไม่ทำบาปเหล่านั้นอีก

กระตุ้นให้นักเรียนคิดเกี่ยวกับบาปที่พวกเขาต้องการขจัดออกจากชีวิตของพวกเขา และจากนั้นให้ตั้งเป้าหมายที่จะทำเช่นนั้นโดยการกลับใจและแทนที่บาปด้วยการกระทำที่ชอบธรรม

สรุป มัทธิว 5:31-37 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับการหย่าร้าง การแต่งงาน และการกล่าวคำสาบาน

ให้นักเรียนจินตนาการว่าเพื่อนคนหนึ่งที่โรงเรียนพูดจาก้าวร้าวและให้ร้ายพวกเขา ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 5:38 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ากฎของโมเสสสอนอะไรเกี่ยวกับการลงโทษบุคคลที่ทำบาปหรือกระทำความผิด ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ อธิบายว่าวลี “ตาแทนตาและฟันแทนฟัน” หมายความว่าภายใต้กฎของโมเสส การลงโทษต้องสาสมกับความร้ายแรงของความผิดนั้น

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชิญคนหนึ่งในคู่อ่าน มัทธิว 5:39–42 และคนที่สองอ่าน มัทธิว 5:43–-47 ขอให้พวกเขามองหากฎที่สูงขึ้น หลังจากให้เวลาพอสมควร ขอให้นักเรียนสนทนาถึงคำถามต่อไปนี้กับคู่ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้บน กระดาน หรือทำเป็นเอกสารแจก)

ตามที่พระผู้ให้รอดทรงสอน กฎที่สูงขึ้นคืออะไร

กฎที่สูงขึ้นสอนเราเกี่ยวกับวิธีที่เราควรตอบสนองต่อคนที่ทำให้เราขุ่นเคืองอย่างไร

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขากับชั้นเรียน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 5:45 อีกครั้ง ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเรารักศัตรูของเราและทำดีกับคนที่เกลียดเรา

  • จะเกิดอะไรขึ้นหากเรารักศัตรูของเราและทำดีกับคนที่เกลียดเรา

  • โดยที่รู้ว่าเราทุกคนเป็นบุตรธิดาทางวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า ท่านคิดว่าการเป็นบุตรธิดาของพระบิดาในสวรรค์ในข้อนี้หมายความว่าอย่างไร (หมายความว่าเป็นเหมือนพระองค์และกลายเป็นทายาทของอาณาจักรของพระองค์)

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงแบบอย่างของการรักศัตรูของพระองค์และการทำดีกับคนอื่นระหว่างพระชนม์ชีพของพระองค์อย่างไร

ให้นักเรียนไตร่ตรองถึงสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ใน มัทธิว 5 เกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อเป็นคนดีพร้อมเหมือนพระบิดาบนสวรรค์

  • เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะดีพร้อมเหมือนพระบิดาบนสวรรค์ของเรา (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมคล้ายกับหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเราทำตามคำสอนและพระบัญญัติของพระผู้ช่วยให้รอด เราจะดีพร้อมเหมือนพระบิดาในสวรรค์ของเรา)

ทบทวนกับนักเรียนว่าโดยผ่านพระเยซูคริสต์และโดยพระคุณของพระองค์เท่านั้นที่เราจะดีพร้อมได้ (ดู โมโรไน 10:32)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจขั้นตอนของการเป็นคนดีพร้อม เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“เราต้องไม่ท้อใจหากความพยายามอย่างจริงใจของเราในการไปสู่ความดีพร้อมตอนนี้ดูเหมือนลำบาก [ยากเข็ญ] และไม่สิ้นสุด ความดีพร้อมอยู่ระหว่างดำเนินการ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์หลังจากการฟื้นคืนชีวิตและผ่านทางพระเจ้าเท่านั้น ความดีพร้อมรอทุกคนที่รักพระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์” (Perfection Pending, Ensign, พ.ย. 1995, 88)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์เนลสันกล่าว เมื่อใดเราจึงจะบรรลุถึงความดีพร้อม

  • ข้อความนี้จะช่วยคนบางคนที่รู้สึกหนักใจและท้อแท้จากความไม่ดีพร้อมของเขาอย่างไร

กระตุ้นให้นักเรียนเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าต่อไปเพื่อว่าพวกเขาจะเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์ของเราในท้ายที่สุด

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

มัทธิว 5:22 คำว่า พูดเหยียดหยาม หมายถึงอะไร

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายความหมายกว้างๆ ของคำว่า พูดเหยียดหยาม

“คำพูดสบถและหยาบคายมีความแตกต่างหลากหลายจากประชาชาติสู่ประชาชาติ และยุคสู่ยุค แต่จุดมุ่งหมายของข้อความนี้คือการกล่าวโทษวาจาใดก็ตามที่ถ่ายทอดความรู้สึกไม่เหมาะสมเกี่ยวกับคนอีกคนหนึ่ง” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:222)

มัทธิว 5:27–28 “ใครมองผู้หญิงด้วยใจกำหนัดในหญิงนั้น”

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวถึงความร้ายแรงของบาปอันเกิดจากตัณหาราคะดังนี้

“เหตุใดตัณหาราคะจึงเป็นบาปหนัก นอกเหนือจากผลกระทบร้ายแรงต่อจิตวิญญาณเราในการขับไล่พระวิญญาณออกไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งนี้เป็นบาปเพราะมันแปดเปื้อนสัมพันธภาพสูงสุดและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เราในความเป็นมรรตัย นั่นคือ—ความรักที่ชายกับหญิงมีให้กันและความปรารถนาที่คู่สามีภรรยานั้นจะนำลูกๆ มาสู่ครอบครัวที่เจตนาให้เป็นนิรันดร์ … ความรักทำให้เราเอื้อมไปหาพระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่นโดยสัญชาตญาณ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ตัณหาราคะไม่ได้มีความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าแต่กลับเชิดชูการปล่อยตัวให้หลงระเริง ความรักทำให้เราเปิดใจและอ้าแขนรับผู้คน แต่ตัณหาราคะทำให้เรามีแต่ความหิวกระหาย” (“ไม่มีที่แก่ศัตรูของจิตวิญญาณของข้าพเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 44–45)

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดเกี่ยวกับผลของสื่อลามกที่มีต่อคนที่ใช้มัน

“สื่อลามกทำให้เราชื่นชมความสัมพันธ์ทางอารมณ์ ทางใจ และทางวิญญาณตามปกติกับเพศตรงข้ามได้น้อยลง มันทำลายสิ่งกีดขวางทางศีลธรรมที่ป้องกันพฤติกรรมไม่เหมาะสม ผิดปกติ และผิดกฎหมาย เมื่อจิตสำนึกเย็นชา ผู้เสพสื่อลามกจะถูกชักนำให้ทำตามสิ่งที่เห็นโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบอันจะเกิดแก่ชีวิตตนและชีวิตผู้อื่น” (“สื่อลามก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2005, 110)

มัทธิว 5:31-37 “ใครจะหย่าภรรยา”

ในสมัยของพระเยซู หนึ่งในแนวคิดชาวยิวได้ตีความมาตรฐานของกฎโมเสส (ดู กันดารวิถี 24:1–2) ในแบบที่อนุญาตให้หย่าเพราะเหตุผลเล็กน้อยได้ ตัวอย่างเช่น หากชายคนหนึ่งปรารถนาภรรยาที่สาวหรือสวยกว่าหรือหากภรรยาของชายคนหนึ่งทำลายอาหารมื้อเย็นของเขา ปรากฏกายในที่สาธารณะโดยไม่คลุมศีรษะ สาเหตุเหล่านี้เป็นที่ยินยอมให้เขาหย่าได้ ตามที่บันทึกใน มัทธิว 5:31–37เช่นเดียวกันกับที่อื่นๆ ในคำเทศนาบนภูเขา พระเยซูทรงหมายมั่นจะเรียกผู้ติดตามของพระองค์ให้ไปสู่มาตรฐานความชอบธรรมที่สูงขึ้นและให้พวกเขาเข้าใจว่าการแต่งงานเป็นสถาบันที่ควรให้เกียรติและธำรงไว้ตามรูปแบบที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสถาปนาไว้กับการแต่งงานนิรันดร์ของอาดัมกับเอวา (ดู บรูซ อาร์. แมคคองกี, Doctrinal New Testament Commentary, 4 vols. [1979-81], 3:291–97; ดู มัทธิว 19:3–9ด้วย)

มัทธิว 5:43 “ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้”

พระบัญญัติให้ “รักเพื่อนบ้านของท่าน” มีอยู่ใน เลวีนิติ 19:18 แต่ไม่มีพระคัมภีร์ในพันธสัญญาเดิมที่บัญชาให้เราเกลียดศัตรูของเรา ดูเหมือนว่าพระผู้ช่วยให้รอดรับสั่งถึงคำกล่าวโดยทั่วไปในยุคสมัยของพระองค์