คลังค้นคว้า
บทที่ 102: โรม 12–16


บทที่ 102

โรม 12–16

คำนำ

เปาโลสอนสมาชิกศาสนจักรในกรุงโรมให้ถวายตัวของพวกเขาเพื่อเป็นเครื่องบูชาอันบริสุทธิ์ที่มีชีวิตแด่พระผู้เป็นเจ้าและให้เชี่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า เปาโลสอนวิสุทธิชนถึงวิธีที่จะส่งเสริมความสงบสุขเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเนื่องจากความคิดเห็นส่วนตัว เมื่อจบสาส์นฉบับนี้ เปาโลเตือนถึงคนที่พยายามหลอกลวง

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โรม 12–13

เปาโลสอนให้วิสุทธิชนถวายตัวของพวกเขาเพื่อเป็นเครื่องบูชาอันบริสุทธิ์ที่มีชีวิตแด่พระผู้เป็นเจ้าและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์

นำเอาภาชนะสองชิ้นที่มีรูปร่างต่างกันและแก้วน้ำหนึ่งใบมาที่ชั้นเรียน ให้ดูน้ำและภาชนะชิ้นหนึ่ง

  • ถ้าฉันเทน้ำลงในภาชนะนี้ รูปทรงของน้ำจะเปลี่ยนไปอย่างไร (น้ำจะเปลี่ยนรูปทรงตามภาชนะ)

เทน้ำลงในภาชนะนั้น จากนั้นเทน้ำลงในภาชนะชิ้นที่สองและชี้ให้เห็นว่าน้ำอยู่ในรูปทรงของภาชนะนั้นอีกครั้ง

อธิบายว่าในการสาธิตตัวอย่างนี้ น้ำหมายถึงคน ภาชนะหมายถึงความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ทางโลก

  • อันตรายอะไรที่มาจากการปรับตัวเองให้เข้ากับความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ทางโลกอย่างต่อเนื่อง

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โรม 12:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลแนะนำให้สมาชิกศาสนจักรในโรมทำ

  • เปาโลแนะนำให้สมาชิกศาสนจักรเหล่านี้ทำอะไร

อธิบายว่าในการวิงวอนสมาชิกศาสนจักรให้ถวายตัวของพวกเขาเป็น “เครื่องบูชาอันบริสุทธิ์ที่มีชีวิต” (ข้อ 1) เปาโลกำลังเปรียบเทียบธรรมเนียมปฏิบัติในพันธสัญญาเดิมเรื่องการพลีบูชาสัตว์ สัตว์เหล่านี้เป็นเครื่องพลีบูชาอุทิศแด่พระผู้เป็นเจ้า

  • ท่านคิดว่าเปาโลหมายถึงอะไรเมื่อเขาเขียนว่า “ถวายตัวของท่านแด่ … พระองค์ เพื่อเป็นเครื่องบูชาอันบริสุทธิ์ที่มีชีวิต” (ข้อ 1) (สมาชิกศาสนจักรต้องอุทิศตัวของพวกเขาเองแด่พระผู้เป็นเจ้าอย่างสมบูรณ์แบบโดยการละทิ้งความปรารถนาที่เต็มไปด้วยบาป)

  • ตามคำแนะนำของเปาโลใน ข้อ 1–2 พระผู้เป็นเจ้าทรงคาดหวังอะไรจากเรา (ช่วยนักเรียนระบุความจริงต่อไปนี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงคาดหวังให้เราอุทิศชีวิตของเราแด่พระองค์และละเว้นจากการปรับตัวเองให้เข้ากับโลก เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

อธิบายว่าตลอดทั้ง โรม 12–13 เปาโลสอนหลักธรรมหลายข้อให้สมาชิกศาสนจักรที่จะช่วยพวกเขาอุทิศชีวิตตนแด่พระผู้เป็นเจ้าและละเว้นจากการเป็นเหมือนโลก เพื่อช่วยให้นักเรียนค้นหลักธรรมเหล่านี้ดู และแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสามคน จัดเตรียมเอกสารเต็มแผ่นที่รวมถึง คำแนะนำ ต่อไปนี้ข้างบน (ก่อนชั้นเรียน ให้วงกลมข้ออ้างอิงพระคัมภีร์หนึ่งในสามข้อในกระดาษแต่ละแผ่น ให้แน่ใจว่านักเรียนแต่ละคนในแต่ละกลุ่มได้รับกระดาษที่มีข้อพระคัมภีร์ซึ่งวงกลมไว้ไม่เหมือนกัน)

ภาพ
เอกสารแจก

คู่มือครูเซมินารี พันธสัญญาใหม่—บทที่ 102

โรม 12:9–16

โรม 12:17–21

โรม 13:8–13

  1. อ่านข้อพระคัมภีร์ที่วงกลมไว้ซึ่งอยู่บนสุดของกระดาษแผ่นนี้

  2. เลือกคำสอนของเปาโลหนึ่งเรื่องในข้อที่ท่านอ่าน และเขียนพระคัมภีร์นั้นไว้ในที่ว่างด้านล่าง ให้เขียนด้วยว่าการดำเนินชีวิตตามคำสอนนี้จะช่วยท่านอุทิศชีวิตของท่านแด่พระผู้เป็นเจ้าและละเว้นจากการเป็นเหมือนโลกได้อย่างไร (หากท่านไม่ใช่คนแรกที่ได้รับกระดาษแผ่นนี้ ให้เพิ่มเติมความคิดของท่านต่อจากข้อความที่ผู้เขียนก่อนหน้าเขียนไว้ด้านล่างหรือเขียนเกี่ยวกับคำสอนอีกเรื่องหนึ่งในข้อที่วงไว้)

อธิบายให้นักเรียนรู้ว่าพวกเขามีเวลาสามนาทีที่จะทำกิจกรรมให้เสร็จตามคำสั่งในกระดาษของพวกเขา หลังจากสิ้นสุดเวลาสามนาที เชื้อเชิญให้พวกเขาส่งกระดาษไปให้นักเรียนอีกคนในกลุ่มของพวกเขา ทำกิจกรรมซ้ำอีกครั้งเพื่อว่านักเรียนแต่ละคนจะได้อ่านและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์ทั้งสามข้อ ให้แน่ใจว่านักเรียนได้รับกระดาษต้นฉบับของเขากลับมา

ให้เวลานักเรียนทบทวนความคิดเห็นของพวกเขาในกระดาษต้นฉบับ เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนรายงานบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถอุทิศตนแด่พระผู้เป็นเจ้าและละเว้นจากการเป็นเหมือนโลก

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โรม 13:14 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและโดยมองหาสิ่งที่เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชนทำ

  • ท่านคิดว่าเปาโลหมายความว่าอย่างไรกับประโยคนี้ “จงประดับกายด้วยพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า”

  • คำสอนที่เราศึกษาใน โรม 12–13 สามารถช่วยให้เราเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร (หลังจากนักเรียนตอบ ให้แก้ไขความจริงที่เขียนบนกระดานก่อนหน้านี้ให้อ่านได้ดังนี้ เมื่อเราอุทิศตนแด่พระผู้เป็นเจ้าและละเว้นจากการเป็นเหมือนโลก เราจะเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้น)

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างของการอุทิศชีวิตแด่พระผู้เป็นเจ้าและละเว้นจากการเป็นเหมือนโลกอย่างไร

  • เราจะละเว้นจากการปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานของโลกได้อย่างไร (ท่านอาจต้องการให้ตัวอย่างที่เจาะจงบางอย่างเช่นการถือปฏิบัติวันสะบาโต รูปแบบการแต่งกาย หรือบางทีความคิดเห็นในเรื่องวัฒนธรรมหรือสังคมที่ขัดแย้งกับหลักธรรมพระกิตติคุณ

ขอให้นักเรียนนึกถึงคนบางคนที่พวกเขารู้จักที่มุ่งอุทิศชีวิตของตนแด่พระผู้เป็นเจ้าและละเว้นจากการเป็นเหมือนโลก

  • ท่านนึกถึงใคร เพราะเหตุใด

  • บุคคลนี้เป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นในทางใดบ้าง

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนเกี่ยวกับวิธีหนึ่งที่พวกเขาสามารถอุทิศชีวิตของพวกเขาแด่พระผู้เป็นเจ้าและละเว้นจากการเป็นเหมือนโลก กระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเขียนไว้

โรม 14:1–15:3

เปาโลแนะนำสมาชิกศาสนจักรให้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งในเรื่องที่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว

ขอให้นักเรียนยกมือถ้าพวกเขาจะตอบว่าใช่ต่อคำถามข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ท่านอาจเปลี่ยนคำถามเหล่านี้บางข้อเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมในท้องที่ของท่าน หากท่านทำเช่นนั้น ให้เลือกตัวอย่างที่เกี่ยวกับการเลือกส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องการเชื่อฟังเพื่อนิยามพระบัญญัติให้ชัดเจน คำตอบของคำถามเหล่านี้ควรตอบว่า ใช่

  • เป็นเรื่องยอมรับได้สำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่จะ (1) รับประทานอาหารมังสวิรัติ (2) รับประทานช็อกโกแลต (3) สวมกางเกงขาสั้นในที่สาธารณะ (4) ใช้เทคโนโลยีในวันสะบาโต (5) มีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองวันหยุดที่มีต้นกำเนิดมาจากประเพณีทางศาสนาหรือวัฒนธรรมอื่น

อธิบายว่าขณะที่พฤติกรรมบางอย่างพระบัญญัติจากพระเจ้ากำหนดให้ทำหรือห้ามไว้อย่างชัดเจน แต่พฤติกรรมอื่นๆ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวหรือดุลพินิจของสมาชิกศาสนจักรแต่ละคน เรื่องเหล่านี้จะรวมถึงการเลือกบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิง เสื้อผ้า อาหาร การถือปฏิบัติวันสะบาโต และกฎที่บิดามารดากำหนดไว้สำหรับลูกๆ พระเจ้าประทานมาตรฐานและพระบัญญัติเพื่อนำทางการเลือกของเราในเรื่องบางเรื่องเหล่านี้ เช่นการสวมกางเกงขาสั้นที่สุภาพเรียบร้อย แต่การตัดสินใจบางอย่างขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละบุคคล บางครั้งสมาชิกอาจตัดสินใจบางเรื่องโดยอาศัยการดลใจสำหรับสถานการณ์หรือความต้องการที่เจาะจงของพวกเขา

ขณะที่นักเรียนศึกษา โรม 14:1–15:3 เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงที่เปาโลสอนเกี่ยวกับวิธีที่เราควรจัดการกับเรื่องที่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวในศาสนจักร

สรุป โรม 14:1–5 โดยอธิบายว่าเรื่องที่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวเรื่องหนึ่งที่สมาชิกศาสนจักรในสมัยของเปาโลเผชิญนั้นเกี่ยวกับการรับประทานอาหารของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง บางคนไม่ยึดถือข้อจำกัดเรื่องอาหารเลย บางคนละเว้นจากการรับประทานเนื้อและรับประทานผักเท่านั้นเพื่อเป็นการคงไว้ซึ่งกฎการรับประทานอาหารที่อยู่ภายใต้กฎของโมเสส แม้ว่าข้อห้ามเหล่านี้ไม่ได้กำหนดให้ทำอีกต่อไป นอกจากนี้ สมาชิกศาสนจักรบางคนเลือกที่จะยึดถือประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติ และวันหยุดเทศกาลของชาวยิว

  • ปัญหาอะไรที่ท่านคิดว่าอาจเกิดขึ้นภายในศาสนจักรเมื่อสมาชิกทำการเลือกส่วนตัวที่ต่างกันไปในเรื่องเหล่านี้

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โรม 14:3 ในใจ โดยมองหาว่าความคิดเห็นส่วนตัวเรื่องอาหารการกินอะไรที่อาจนำให้สมาชิกศาสนจักรบางคนทำ

  • ปัญหาอะไรที่สมาชิกศาสนจักรกำลังประสบ (สมาชิกศาสนจักรบางคนรังเกียจและตัดสินสมาชิกคนอื่นที่เลือกต่างจากตน)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน โรม 14:10–13, 15, 21 เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนสมาชิกศาสนจักรให้ละเว้นจากการทำในเรื่องที่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนี้ หลังจากนักเรียนอ่าน ข้อ 15 อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธของข้อนี้อ่านว่า 14:15 “ถ้าพี่น้องเป็นทุกข์เพราะอาหารที่ท่านกิน ท่านก็ไม่ได้ประพฤติตามทางแห่งความรักหากท่านกิน ฉะนั้น พระคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อใคร ก็อย่าให้คนนั้นพินาศเพราะอาหารที่ท่านกินเลย”

  • ตามสิ่งที่เปาโลสอนใน ข้อ 13 เราสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เราควรละเว้นจากการทำในเรื่องซึ่งไม่ได้ให้พระบัญญัติไว้โดยเฉพาะ (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนถึงความจริงต่อไปนี้ ในเรื่องซึ่งไม่ได้ให้พระบัญญัติไว้โดยเฉพาะคือ เราต้องละเว้นจากการตัดสินการเลือกของผู้อื่น)

  • เหตุใดจึงเป็นปัญหาเมื่อสมาชิกศาสนจักรดูหมิ่นหรือกล่าวโทษสมาชิกศาสนจักรคนอื่นที่ทำการเลือกต่างออกไปในเรื่องที่ไม่มีพระบัญญัติข้อใดกำหนดหรือห้ามพฤติกรรมบางอย่าง

ชี้ให้เห็นว่าวลี “วางสิ่งซึ่งทำให้พี่น้องสะดุดหรือสิ่งกีดขวางทางของเขา” ใน ข้อ 13 อธิบายว่าข้อนี้หมายถึงการส่งผลให้บางคนสะดุดล้มทางวิญญาณขณะที่พวกเขาพยายามเชื่อในพระเยซูคริสต์และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระองค์

  • การกินอาหารบางอย่างของสมาชิกศาสนจักรส่งผลให้คนอื่นๆ สะดุดล้มทางวิญญาณได้อย่างไร

  • เปาโลแนะนำให้สมาชิกศาสนจักรทำอะไรหากการเลือกกินอาหารของพวกเขาสามารถทำร้ายผู้อื่นทางวิญญาณ (เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชนคำนึงถึงการประพฤติปฏิบัติส่วนตัวของพวกเขาที่มีผลกระทบต่อผู้อื่นและให้เต็มใจละทิ้งการกระทำอันจะส่งผลให้ผู้อื่นสะดุดทางวิญญาณ)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากคำแนะนำของเปาโลเกี่ยวกับการกระทำของเราในเรื่องซึ่งไม่ได้ให้พระบัญญัติไว้โดยเฉพาะ (ช่วยนักเรียนระบุความจริงต่อไปนี้ ในเรื่องซึ่งไม่ได้ให้พระบัญญัติไว้โดยเฉพาะ เราต้องคำนึงว่าการเลือกของเราส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร หมายเหตุ: ความจริงที่คล้ายคลึงกันจะนำมาสนทนาอย่างลึกซึ้งมากขึ้นใน 1 โครินธ์ 8)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โรม 14:19 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาสิ่งที่เปาโลกระตุ้นให้สมาชิกศาสนจักรแสวงหา

  • การทำตามคำแนะนำของเปาโลเกี่ยวกับความคิดเห็นส่วนตัวส่งผลต่อความสงบสุขและการจรรโลงใจกันที่สมาชิกศาสนจักรประสบด้วยกันอย่างไร

เตือนนักเรียนเกี่ยวกับความคิดเห็นส่วนตัวที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ ขอให้นักเรียนอธิบายว่าสมาชิกศาสนจักรจะทำตามคำแนะนำของเปาโลในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร

โรม 15:4–16:27

เปาโลจบสาส์นของเขาต่อชาวโรมัน

อธิบายว่าเมื่อเปาโลเริ่มจบสาส์นของเขา เขาให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่สมาชิกศาสนจักรในกรุงโรม เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โรม 15:4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับสาเหตุที่มีการเขียนพระคัมภีร์

  • เราเรียนรู้ความจริงอะไรจาก ข้อ 4 เกี่ยวกับสาเหตุที่มีการเขียนพระคัมภีร์ (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนความจริงต่อไปนี้ พระคัมภีร์เขียนไว้เพื่อสอนเราและให้ความหวังแก่เรา)

อธิบายว่าจากนั้นเปาโลแสดงให้เห็นความจริงนี้โดยพูดถึงข้อพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมหลายข้อเพื่อยืนยันกับวิสุทธิชนอีกครั้งว่างานเผยแผ่ศาสนาท่ามกลางคนต่างชาติยังดำเนินไปตามแผนของพระผู้เป็นเจ้า (ดู โรม 15:9–12)

สรุปที่เหลือของ โรม 15–16 โดยอธิบายว่าเปาโลจบสาส์นของเขาโดยบรรยายถึงความพยายามของเขาในการสั่งสอนพระกิตติคุณ เขาเตือนคนที่ก่อความแตกแยก สอนหลักคำสอนผิดๆ และพยายามหลอกลวงคนอื่นด้วย (ดู โรม 16:17–18)

สรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงที่สนทนาในบทเรียนนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

โรม 12:1 “ให้ถวายตัวของพวกเขาเพื่อเป็นเครื่องบูชาอันบริสุทธิ์ที่มีชีวิต”

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับประเภทของการเสียสละที่เราสามารถถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า

“เรายังคงได้รับบัญชาให้พลีบูชา แต่ไม่ใช่โดยการหลั่งโลหิตของสัตว์ การพลีบูชาที่สูงส่งที่สุดของเราบรรลุผลเมื่อเราทำให้ตัวเราเองศักดิ์สิทธิ์หรือบริสุทธิ์มากขึ้น เราทำเช่นนี้โดยการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น กฎของการเชื่อฟังและการพลีบูชาเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ได้ … เมื่อเราทำตามพระบัญญัตินี้และพระบัญญัติอื่นๆ บางสิ่งที่ยอดเยี่ยมเกิดขึ้นกับเรา เรามีวินัย เรากลายเป็นสานุศิษย์ เราศักดิ์สิทธิ์หรือบริสุทธิ์มากขึ้น—เหมือนกับพระเจ้าของเรา!” (Lessons from Eve, Nov. 1987, 88)

โรม 13:1–7 “จงยอมอยู่ใต้บังคับของผู้ที่มีอำนาจปกครอง”

งานแปลของโจเซฟ สมิธ โรม 13:1–7 ระบุว่าคำพูดของเปาโลในข้อเหล่านี้ประยุกต์ใช้ทั้งกับสิทธิอำนาจของพลเมืองและสิทธิอำนาจของศาสนจักร ตัวอย่างเช่น ในงานแปลของโจเซฟ สมิธ, โรม 13:1 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเพิ่มคำว่า “ในศาสนจักร”: “ไม่มีอำนาจใดเลย ในศาสนจักร ที่ไม่ได้มาจากพระเจ้า”

ในงานแปลของโจเซฟ สมิธ, โรม 13:4 “ดาบ” เปลี่ยนเป็น “ไม้” และในงานแปลของโจเซฟ สมิธ, โรม 13:6 “ส่วย” (ภาษี) เปลี่ยนเป็น “การอุทิศถวายของเจ้า”

คำแนะนำของเปาโลให้ “ยอมอยู่ใต้บังคับของผู้ที่มีอำนาจปกครอง” (โรม 13:1) สะท้อนถึงหลักแห่งความเชื่อข้อสิบสองที่ว่า “เราเชื่อในการขึ้นอยู่กับกษัตริย์ ประธานาธิบดี ผู้ปกครอง และผู้พิพากษา ในการทำตาม การยกย่อง และการสนับสนุนกฎหมาย” โดยอธิบายว่าสิทธิอำนาจของพลเมืองคือ “พระเจ้าทรงแต่งตั้ง” และ “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” (โรม 13:1, 6) เปาโลยอมรับว่าทุกคนที่ดำรงตำแหน่งซึ่งมีอำนาจรายงานต่อพระผู้เป็นเจ้า และพวกเขาดำรงอำนาจในขอบเขตที่พระผู้เป็นเจ้าทรงอนุญาตเท่านั้น (ดู ยอห์น 19:11) เปาโลเตือนวิสุทธิชนด้วยว่าโดยการนำเอางานดีออกมา พวกเขาจะไม่ต้องกลัวอำนาจของผู้นำที่อยู่เหนือพวกเขา แต่โดยการทำ “ความดี” วิสุทธิชนจะเป็นที่พอใจของผู้นำ (ดู โรม 13:2–4)

โรม 14:1–15:3 เรื่องซึ่งไม่ได้ให้พระบัญญัติโดยเฉพาะ

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่าแทนที่จะสอนกฎที่ให้ไว้โดยเฉพาะในบางเรื่อง ผู้นำศาสนจักรและครูสอนหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณแทน จากนั้นท่านกล่าวต่อไปนี้

“ครู … ต้องไม่สอนกฎเกณฑ์หรือการประยุกต์ใช้ที่เฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่น เขาจะไม่สอนกฎเกณฑ์ใด ๆ เพื่อชี้ชัดว่าอะไรคือส่วนสิบเต็ม และเขาจะไม่ให้รายการ ทำได้ และ ทำไม่ได้ สำหรับการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ ทันทีที่ครูสอนคำสอนและหลักธรรมที่เกี่ยวข้องจากพระคัมภีร์และศาสดาพยากรณ์ที่ยังมีชีวิต โดยปกติแล้วการประยุกต์ใช้หรือกฎเกณฑ์เฉพาะอย่างดังกล่าวจะเป็นความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลและครอบครัว” (“การสอนพระกิตติคุณ,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 89)

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดเตือนถึงอันตรายของการปล่อยให้การขยายความหลักธรรมพระกิตติคุณกลายเป็นความคาดหวังต่อผู้อื่น

“บางครั้งการอธิบายหลักธรรมจากเบื้องบนด้วยเจตนาดี—ซึ่งส่วนมากมาจากแหล่งที่ไม่ได้รับการดลใจ—ยิ่งทำให้เรื่องราวซับซ้อนขึ้นไปอีก เพราะส่วนที่มนุษย์เพิ่มเข้ามานั้นทำให้ความบริสุทธิ์ของความจริงจากเบื้องบนลดลง ความคิดที่ดีของคนๆ หนึ่ง—สิ่งที่อาจได้ผลกับเขา—จะหยั่งรากจนกลายเป็นความคาดหวัง และหลักธรรมนิรันดร์จะค่อยๆ หายไปในทางวกวนของ ‘ความคิดดีๆ” เหล่านั้น’” (“ความรักของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 25)