คลังค้นคว้า
บทที่ 101: โรม 8–11


บทที่ 101

โรม 8–11

คำนำ

เปาโลสอนเกี่ยวกับพรของการเกิดใหม่ทางวิญญาณและการยอมตนต่อพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ เขาสอนเกี่ยวกับการปฏิเสธพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าของอิสราเอลเช่นกันและเกี่ยวกับการเผยแผ่พระกิตติคุณท่ามกลางคนต่างชาติ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โรม 8

เปาโลบรรยายถึงพรของการเกิดใหม่ทางวิญญาณ

เริ่มบทเรียนนี้โดยถามคำถามต่อไปนี้

  • มรดกคืออะไร?

  • ถ้าท่านสามารถรับทรัพย์สมบัติของใครก็ได้เป็นมรดก ทรัพย์สมบัติของใครที่ท่านเลือกจะรับเป็นมรดกและเพราะเหตุใด

  • โดยปรกติใครรับทรัพย์สมบัติของบางคนเป็นมรดก

ขอให้นักเรียนพิจารณาพรที่บางคนอาจได้รับในฐานะทายาทของทุกสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงครอบครอง เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาสิ่งที่พวกเขาต้องทำเมื่อพวกเขาศึกษา โรม 8:1–18 เพื่อรับมรดกทุกสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมี

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โรม 8:1, 5–7, 13 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับการดำเนิน “ตามเนื้อหนัง” หรือยอมตนต่อแนวโน้มในการทำบาปและการทำ “ตามพระวิญญาณ” (ข้อ 5)

  • การ “เอาใจใส่เนื้อหนัง” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 6) (การมุ่งตอบสนองความปรารถนาและตัณหาของร่างกาย)

  • การ “เอาใจใส่พระวิญญาณ” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 6)

อธิบายว่าการ “ทำลายกิจการทางร่างกาย” (ข้อ 13) หมายถึงทำให้ตายหรือทำให้ความอ่อนแอ การล่อลวง และบาปที่เกี่ยวข้องกับทางร่างกายมรรตัยของเราน้อยลง (ดู โมไซยาห์ 3:19)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจาก ข้อ 13 เกี่ยวกับสิ่งที่จะช่วยเราเอาชนะแนวโน้มในการทำบาปของมนุษย์ปุถุชน (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเราทำตามอิทธิพลของพระวิญญาณ เราจะเอาชนะแนวโน้มในการทำบาปของมนุษย์ปุถุชน เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โรม 8:14–16 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลเรียกคนที่ทำตามพระวิญญาณว่าอย่างไร

  • เปาโลเรียกคนที่ทำตามพระวิญญาณว่าอย่างไร (อธิบายว่า คำว่า บุตร ในบริบทนี้หมายถึงทั้งบุตรและธิดา [ดู คพ. 25:1])

ชี้ให้เห็นประโยคนี้ “พระวิญญาณจะทรงทำให้ท่านมีฐานะเป็นบุตรของพระเจ้า” (ข้อ 15) อธิบายว่า “วิญญาณของเรา” (ข้อ 16) หมายถึงร่างทางวิญญาณของเราที่สร้างโดยพระบิดาบนสวรรค์ทำให้ทุกคนเป็นบุตรธิดาทางวิญญาณของพระบิดาบนสวรรค์ อย่างไรก็ตาม โดยการทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าผ่านศาสนพิธีและจากนั้นรักษาพันธสัญญาเหล่านั้นที่ผู้คนจะเกิดใหม่ทางวิญญาณ หรือทำให้มีฐานะเป็นบุตรและธิดาในพันธสัญญาพระกิตติคุณ การมีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่เป็นเพื่อนแสดงให้เห็นว่าคนนั้นไม่ได้เป็นเพียงบุตรธิดาทางวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าโดยทางฤทธิ์เดชของการสร้างเท่านั้น แต่พวกเขาเป็นบุตรธิดาแห่งพันธสัญญาของพระองค์ด้วย

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โรม 8:17–18 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาสิ่งที่บุตรธิดาแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าสามารถเป็นได้

  • บุตรธิดาแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าสามารถเป็นอะไรได้ (เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน โดยเหลือช่องว่างไว้สำหรับคำว่า ซื่อสัตย์ หากเราเป็นบุตรธิดาแห่งพันธสัญญาที่ ซื่อสัตย์ ของพระผู้เป็นเจ้า เราจะเป็นทายาทร่วมกับพระเยซูคริสต์ในทุกสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมี)

  • ทายาทร่วมคืออะไร (คนที่ได้รับมรดกเท่ากับทายาทคนอื่นๆ )

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 17 บุตรธิดาแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าต้องทำอะไรเพื่อเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์

อธิบายว่าเพื่อ “ทนทุกข์ทรมานด้วยกันกับ [พระเยซูคริสต์]” (ข้อ 17) ไม่ได้หมายความว่าเราทนทุกข์ทรมานเช่นเดียวกับพระผู้ช่วยให้รอดอันเป็นส่วนหนึ่งของการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ ทว่า เช่นเดียวกับพระผู้ช่วยให้รอด เราต้องปฏิเสธตนจากความไม่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทุกอย่าง รักษาพระบัญญัติ และทนต่อการต่อต้านอย่างซื่อสัตย์ (ดู มัทธิว 16:24; งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 16:26 [ในคู่มือพระคัมภีร์]) เติมคำว่า ซื่อสัตย์ เพื่อให้หลักธรรมบนกระดานสมบูรณ์ เขียนแผนภูมิสามช่องบนกระดาน ให้เขียนกำกับช่องแรกว่า ข้อกำหนด ช่องกลาง การต่อต้าน และช่องที่สาม มรดก ให้เขียนคำตอบของนักเรียนต่อคำถามต่อไปนี้ลงในช่องที่เหมาะสม

  • เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อเป็นบุตรธิดาแห่งพันธสัญญาที่ซื่อสัตย์ของพระผู้เป็นเจ้า

  • มีตัวอย่างของการต่อต้านใดบ้างที่เราอาจประสบเมื่อเราพยายามดำเนินชีวิตในฐานะบุตรธิดาแห่งพันธสัญญาที่ซื่อสัตย์ของพระผู้เป็นเจ้า

  • เราจะได้รับพรใดบ้างเป็นมรดกจากพระบิดาบนสวรรค์หากเราพยายามดำเนินชีวิตในฐานะบุตรธิดาแห่งพันธสัญญาที่ซื่อสัตย์ของพระผู้เป็นเจ้า (คำตอบหนึ่งที่เป็นไปได้คือเราจะเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์ )

ขอให้นักเรียนพิจารณารายการบนกระดาน

  • หลังจากอ่านคำสอนของเปาโลใน ข้อ 18 ท่านคิดว่าข้อกำหนดของการเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์เป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับพร เพราะเหตุใด

อธิบายว่าใน โรม 8:19–30 เราอ่านว่าเปาโลสอนว่าพระวิญญาณช่วยเราในความอ่อนแอของเราและช่วยให้เรารู้ว่าจะสวดอ้อนวอนขออะไร เราอ่านด้วยว่าพระเยซูคริสต์ทรงได้รับเรียกในการดำรงอยู่ก่อนเกิดให้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, โรม 8:29–30 )

หมายเหตุ: ใน โรม 8:29–30 คำว่า กำหนดไว้ก่อนนั้น หมายถึงแต่งตั้งล่วงหน้าหรือเรียก นักเรียนจะศึกษาคำสอนบางอย่างของเปาโลในเรื่องการแต่งตั้งล่วงหน้าในบทเรียน เอเฟซัส 1

เชื้อเชิญให้นักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียง โรม 8:28, 31–39 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาความจริงที่เปาโลสอนเกี่ยวกับความรักของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการต่อต้าน ความท้าทาย และความยากลำบากของความเป็นมรรตัย ชี้ให้เห็นว่างานแปลของโจเซฟ สมิธ โรม 8:31 แทนวลี “ขัดขวาง” ด้วย “เป็นต่อ”

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากข้อเหล่านี้ (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมหลากหลาย รวมถึงหลักธรรมต่อไปนี้ หากเรารักพระผู้เป็นเจ้า สิ่งทั้งปวงจะร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของเรา โดยผ่านพระเยซูคริสต์ เราสามารถเอาชนะความท้าทายและความยากลำบากทั้งหมดของความเป็นมรรตัย ไม่มีอะไรจะแยกเราออกจากความรักของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งแสดงให้ประจักษ์ในการชดใช้ของพระเยซูคริสต์)

  • พระเยซูคริสต์และคำสอนของพระองค์จะช่วยเราเอาชนะความท้าทายและความยากลำบากของความเป็นมรรตัยได้อย่างไร

  • พิจารณาถึงความท้าทายและความยากลำบากของความเป็นมรรตัยที่ท่านเคยประสบ ข้อความใดในข้อต่อไปนี้ที่โดดเด่นสำหรับท่าน เพราะเหตุใด

  • ท่านเคยประสบกับความรักของพระผู้เป็นเจ้าท่ามกลางความท้าทายและความยากลำบากของท่านอย่างไร

เชื้อเชิญ ให้นักเรียนเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาถึงสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าได้รับการกระตุ้นให้ทำเพื่อว่าโดยผ่านพระเยซูคริสต์ พวกเขาจะเอาชนะความท้าทายและความยากลำบากของพวกเขาได้ กระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้สิ่งที่เขียนไว้

โรม 9–11

เปาโลสอนเกี่ยวกับการที่อิสราเอลปฏิเสธพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าและการนำพระกิตติคุณไปสู่คนต่างชาติ

ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไรในสถานการณ์สมมติต่อไปนี้

  1. ท่านกับอธิการของท่านไปเยี่ยมเยาวชนชายคนหนึ่งที่ครอบครัวของเขาแข็งขันในศาสนจักรแต่เขาไม่แข็งขัน เมื่ออธิการพยายามช่วยเยาวชนชายคนนั้นอย่างมีเมตตาให้เข้าใจผลของการไม่ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ เยาวชนชายคนนั้นพูดว่า “ไม่ต้องห่วงหรอกครับ ผมรับบัพติศมาแล้ว และพ่อแม่ของผมก็แข็งขัน พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรงยั้งพรใดๆ ไว้จากผมหรอกครับ”

  2. ท่านเพิ่งผูกมิตรกับเยาวชนหญิงคนหนึ่งที่นับถือศาสนาต่างจากท่าน เธอถามเกี่ยวกับมาตรฐานที่ท่านดำเนินชีวิต หลังจากที่ท่านบรรยายถึงมาตรฐานของพระเจ้า เธอพูดว่า “ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมเธอถึงทำสิ่งทั้งหมดนั้น ทั้งหมดที่เธอต้องทำเพื่อได้รับความรอดคือเชื่อในพระเยซูคริสต์”

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา โรม 9–11 ที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าข้อกำหนดในการรับพรของพระกิตติคุณคืออะไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำอธิบายต่อไปนี้เกี่ยวกับคำสอนของเปาโลใน โรม 9–11ดังนี้

ดังที่บันทึกไว้ใน โรม 9–11 เปาโลใช้คำว่า อิสราเอล และ คนอิสราเอล แทนที่จะเป็น ชาวยิว ในการสนทนาถึงการเลือกหลายๆ ข้อที่ชาวยิวทำ บางครั้งบุตรธิดาแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าได้รับเรียกว่าเป็นเชื้อสายแห่งอิสราเอล ในสมัยพันธสัญญาเดิม พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกผู้สืบตระกูลของยาโคบหรืออิสราเอล ให้เป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาของพระองค์กับอับราฮัม (ดู โรม 9:4–5) ซึ่งรวมถึงพรที่ยิ่งใหญ่เช่นพระกิตติคุณ สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต ชีวิตนิรันดร์ ความรุ่งเรืองนิรันดร์ ดินแดนแห่งมรดก และความรับผิดชอบในการมอบพรให้โลกด้วยพระกิตติคุณ

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โรม 9:6, 8 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับสมาชิกของเชื้อสายแห่งอิสราเอล

  • ท่านคิดว่าเปาโลหมายความว่าอย่างไรเมื่อเขากล่าวว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่เกิดมาจากอิสราเอลนั้น เป็นคนอิสราเอลแท้” (ข้อ 6) (ชาวยิวหลายคนเชื่ออย่างผิดๆ ว่าเชื้อสายของพวกเขาผ่านอับราฮัมจึงรับประกันว่าพวกเขาจะได้รับพรแห่งพันธสัญญา)

อธิบายว่าใน โรม 9:25–30เราอ่านว่าเปาโลสอนว่าบรรดาคนต่างชาติที่เข้าร่วมศาสนจักรสามารถได้รับพรทั้งหมดของพันธสัญญาและเป็นคนชอบธรรมโดยการใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญให้นักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โรม 9:31–33; 10:1–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าคนอิสราเอลบางคนในสมัยของเปาโลพยายามเป็นคนชอบธรรมต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไร อธิบายว่า “ความชอบธรรมตามธรรมบัญญัติ” (โรม 9:31) หมายถึงกฎของโมเสส “ก้อนหินที่ให้สะดุด” (โรม 9:32, 33) คือพระเยซูคริสต์ และ “ความชอบธรรมของพระเจ้า” (โรม 10:3) หมายถึงพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน โรม 9:31–33 คนอิสราเอลบางคนพยายามเป็นคนชอบธรรมต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไร (โดยการประพฤติตามกฎของโมเสสอย่างเคร่งครัด)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน โรม 10:3–4 คนอิสราเอลเหล่านี้ปฏิเสธอะไร (พระเยซูคริสต์และความชอบธรรมที่เป็นไปได้ผ่านทางพระองค์)

อธิบายว่าดังที่บันทึกไว้ใน โรม 10:8–13 เปาโลอธิบายว่าจะสามารถได้รับ “ความชอบธรรมที่เกิดขึ้นโดยความเชื่อ” (โรม 9:30) ได้อย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียง โรม 10:8–13 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาวิธีที่จะได้สภาพของความชอบธรรมนี้

  • บุคคลต้องทำอะไรจึงจะได้รับความชอบธรรมที่มาจากศรัทธา

อธิบายว่าคำในภาษากรีกที่แปลว่า ยอมรับด้วยปาก ใน ข้อ 9 หมายถึงการตอบรับว่ายอมรับ หรือรับพันธสัญญาอย่างเปิดเผย และคำในภาษากรีกที่แปลว่า เชื่อ หมายถึงการผูกมัดที่ไว้ใจ การไว้วางใจอย่างลึกซึ้งในพระผู้ช่วยให้รอดนำผู้คนให้ยอมรับพระองค์อย่างเปิดเผยในวิธีที่พระองค์ทรงกำหนด วิธีที่ได้รับแต่งตั้งเหล่านี้ได้แก่การเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า การกลับใจ และรับศาสนพิธีแห่งความรอด เช่น บัพติศมาและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • ตามคำสอนของเปาโล เราต้องทำอะไรหากเราปรารถนาจะได้รับพรแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า รวมถึงความรอด (ช่วยให้นักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้ หากเรายอมรับและเชื่อฟังพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ เราจะได้รับพรแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าและรอด เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

ชี้ให้เห็นว่าบางคนใช้ โรม 10:9, 13 เพื่ออ้างว่าทั้งหมดที่เราต้องทำเพื่อความรอดคือสารภาพความเชื่อของเราในพระเยซูคริสต์ด้วยปาก เตือนนักเรียนถึงสถานการณ์สมมติที่นำเสนอก่อนหน้านี้ในบทเรียน

  • ความจริงต่างๆ ในบทเรียนนี้ช่วยท่านตอบสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร

สรุปที่เหลือของ โรม 10–11 โดยอธิบายว่าเปาโลสอนว่าการได้ยินพระคำของพระผู้เป็นเจ้าจำเป็นต่อการพัฒนาศรัทธาในพระคริสต์ เขาใช้การเปรียบเทียบเรื่องการต่อกิ่งจากมะกอกเทศป่าเข้ากับต้นมะกอกสวนเพื่อแสดงถึงการรับเอาคนต่างชาติเข้ามาสู่เชื้อสายแห่งอิสราเอล (ดู เจคอบ 5:3–14) เขาสอนด้วยว่าพระกิตติคุณจะเสนอให้แก่ชาวยิวอีกครั้ง

สรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงที่สนทนาในบทนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

โรม 8:14–17 “เราเป็นลูกของพระเจ้า”

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเป็นพยานถึงมรดกแห่งสวรรค์ของเราในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าดังนี้

“พระบิดาบนสวรรค์ของท่านทรงทราบชื่อท่านและทรงรู้ถึงสภาวการณ์ของท่าน พระองค์ทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของท่าน พระองค์ทรงทราบความหวังและความฝันของท่าน รวมทั้งความกลัวและความผิดหวังของท่าน พระองค์ทรงทราบว่าท่านสามารถเป็นอะไรได้ด้วยศรัทธาในพระองค์ เนื่องจากมรดกจากสวรรค์นี้ ท่านพร้อมกับพี่น้องทางวิญญาณทุกคนของท่าน มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสายพระเนตรของพระองค์และได้รับพลังโดยผ่านการเชื่อฟังเพื่อจะเป็นทายาทที่ถูกต้องในอาณาจักรนิรันดร์ของพระองค์ เป็น “[ทายาท] ของพระเจ้า และเป็น [ทายาท] ร่วมกับพระคริสต์” [โรม 8:17] จงแสวงหาเพื่อเข้าใจความสำคัญของหลักคำสอนนี้ (“แด่หญิงสาวทั้งหลาย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 28)

“พระคัมภีร์พูดถึงเราในฐานะ ‘ลูกของพระเจ้า’ มากกว่าหนึ่งความหมาย (โรม 8:16) ประการแรก มนุษย์ทุกคนเป็นปิยบุตรหรือปิยธิดาทางวิญญาณของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์” (ดู มาลาคี 2:10; กิจการของอัครทูต 17:29; ฮีบรู 12:9; ‘ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,’ เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165) ประการที่สอง เรา ‘เกิดใหม่’ ในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าผ่านสัมพันธภาพแห่งพันธสัญญาเมื่อเราแสดงศรัทธาในพระเยซูคริสต์ กลับใจ รับบัพติศมา และรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ [และศาสนพิธีอื่นๆ] (ดู ยอห์น 1:12; กาลาเทีย 3:26–29; โมไซยาห์ 5:7; คพ. 11:30; [คพ. 84:33–38;] โมเสส 6:65–68)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 348)

พระวิญญาณไม่เพียงยืนยันว่าเราเป็นบุตรธิดาแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แต่จะยืนยันกับวิญญาณของเราด้วยว่าเราเป็นปิยบุตรปิยธิดาที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้าและเราอยู่กับพระองค์ก่อนเราเกิด

โรม 8:15 “พระวิญญาณจะทรงให้ท่านมีฐานะเป็นบุตร”

“การรับบุตรบุญธรรมเป็นเรื่องปกติในสังคมของชาวโรมันและน่าจะเป็นแนวคิดที่คุ้นเคยดีของคนที่อ่านงานของเปาโล บุคคลคนหนึ่งรับบางคนเป็นบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยมอบให้คนนั้นมีสิทธิ์และสิทธิพิเศษทุกประการดังลูกที่เกิดตามธรรมชาติพึงมี ดังนั้นเมื่อเราได้รับ ‘พระวิญญาณจะทรงให้ท่านมีฐานะเป็นบุตร’ (โรม 8:15) ผ่านการเข้าสู่พันธสัญญาพระกิตติคุณ เรากลายเป็นบุตรของพระเจ้าและ ‘ทายาทร่วมกับพระคริสต์’ (โรม 8:17)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 348)

ในพระคัมภีร์มอรมอน กษัตริย์เบนจามินสอนวิธีที่เราจะเป็น “ลูกๆ ของพระคริสต์” (ดู โมไซยาห์ 5:5–10) ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธสอนว่าพระเยซูคริสต์ทรง “เป็นพระบิดาของเรา” เพราะ “พระองค์ทรงมอบชีวิตให้เรา ชีวิตนิรันดร์ ผ่านการชดใช้ซึ่งทรงทำเพื่อเรา” ประธานสมิธอธิบายว่า “เรากลายเป็นลูก บุตรและธิดาของพระเยซูคริสต์ ผ่านพันธสัญญาของเราว่าจะเชื่อฟังพระองค์” [Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. (1954–56), 1:29])

โรม 8:31–32 “ถ้าพระเจ้าทรงอยู่ฝ่ายเรา ใครจะขัดขวางเราได้”

“เปาโลสอนว่าการชดใช้ของพระคริสต์แสดงให้เห็นว่า ‘พระเจ้า [ทรงอยู่] ฝ่ายเรา’ ทรงผูกมัดกับเราและความเป็นอยู่นิรันดร์ของเรา เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าประทานพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์เพื่อเรา เราสามารถมั่นใจได้ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะยังคงทำงานต่อไปเพื่อความรอดของเราและเตรียมเราให้เป็นทายาทของทุกสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์จะประทานแก่เรา เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ให้ข้อคิดแก่สมาชิกของศาสนจักรดังนี้

“‘เมื่อพิจารณาถึงการสูญเสียซึ่งมิอาจเข้าใจได้ของการตรึงกางเขนและการชดใช้ ข้าพเจ้าสัญญากับท่านได้ว่าพระองค์จะไม่ทรงหันพระปฤษฎางค์ให้เราในเวลานี้ … พี่น้องทั้งหลาย ไม่ว่าความกลัดกลุ้มของท่านคืออะไร โปรด อย่ายอมแพ้’ (‘แตกสลายแต่ซ่อมได้,’ หรือ เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 85–86)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาศาสนจักร, 2014], 350)

โรม 8:29–30; 9:11; 11:2, 5, 7, 28 การกำหนดไว้ก่อน การแต่งตั้งล่วงหน้า และการเลือก

“ใน โรม 8:29–30 คำในภาษากรีกที่แปลว่า กำหนดไว้ก่อน หมายถึง ‘การแต่งตั้งหรือระบุไว้ก่อน’ และหมายถึงการแต่งตั้งล่วงหน้าที่บางคนได้รับ โดยขึ้นอยู่กับการรู้ล่วงหน้าของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อติดตามพระเยซูคริสต์และเป็นเหมือนพระองค์ (ดู เอเฟซัส 1:3–4; 1 เปโตร 1:2ด้วย) ‘การแต่งตั้งล่วงหน้ามิได้รับประกันว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้รับการเรียกหรือความรับผิดชอบตามที่กำหนด โอกาสเช่นนั้นเกิดขึ้นในชีวิตนี้เนื่องจากการใช้สิทธิ์เสรีอย่างชอบธรรม เฉกเช่นการแต่งตั้งล่วงหน้าเกิดขึ้นเนื่องจากความชอบธรรมในการดำรงอยู่ก่อนเป็นมนุษย์’ (‘การแต่งตั้งล่วงหน้า,’ แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพธานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 30; ดู แอลมา 13:3–4 ด้วย)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาศาสนจักร, 2014], 350)

พจนานุกรมพระคัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่า การเลือก เป็น “เป็นคำศัพท์ทางศาสนาที่ในเบื้องต้นหมายถึงการเลือกของพระผู้เป็นเจ้าของเชื้อสายแห่งอิสราเอลให้เป็นผู้คนแห่งพันธสัญญาด้วยสิทธิพิเศษและความรับผิดชอบต่างๆ ว่าพวกเขาอาจเป็นเครื่องมือในการเป็นพรแก่ทั้งโลก …

“ผู้ที่พระองค์ทรงเลือกไว้ได้รับเลือกแม้ ‘ก่อนที่จะทรงสร้างโลก’ กระนั้นไม่มีใครที่ได้รับเลือกโดยปราศจากเงื่อนไขสู่ชีวิตนิรันดร์ แต่ละคนต้องฟังพระกิตติคุณ รับศาสนพิธีและพันธสัญญาด้วยตนเองจากมือผู้รับใช้ของพระเจ้าเพื่อรับความรอด หากคนหนึ่งได้รับเลือกแต่ไม่รับใช้ กล่าวได้ว่าการเลือกของเขาไม่เกิดประโยชน์ ดังที่เปาโลพูดใน 2 โครินธ์ 6:1

“… คนที่ ‘พระเจ้าได้ทรงเลือกไว้ในพระคุณ’ ที่พูดใน … โรม 11:1–5 เป็นการกล่าวถึงสถานการณ์ของคนหนึ่งในความเป็นมรรตัย ซึ่งคือการเกิดในเวลา สถานที่ และในสภาวะที่คนนั้นจะโชคดีได้พบกับพระกิตติคุณ การเลือกนี้เกิดขึ้นในการดำรงอยู่ก่อนเกิด คนที่ซื่อสัตย์และขยันหมั่นเพียรในกระกิตติคุณในความเป็นมรรตัยได้รับการเลือกซึ่งเป็นที่ปรารถนายิ่งกว่าในชีวิตนี้และเป็นคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือก คนเหล่านี้ได้รับสัญญาว่าจะได้ความสมบูรณ์ของรัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าในนิรันดร (คพ. 84:33–41)” (Bible Dictionary, “Election”; ดู แอลมา 13:3–4ด้วย)

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายว่า “การเลือกบุคคลอย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อได้รับชีวิตนิรันดร์ [การกำหนดไว้ก่อนนั้น] ไม่ได้สอนโดยอัครสาวก แท้จริงแล้วพระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกหรือกำหนดไว้ก่อนนั้น ว่าทุกคนที่จะรอด ควรรอดในพระเยซูคริสต์ และผ่านการเชื่อฟังพระกิตติคุณ” (ใน History of the Church, 4:360) กล่าวคือ ทุกคนที่จะรอดจะได้รับความรอดผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และไม่ใช่ในทางอื่น

โรม 11:25 “พวกต่างชาติได้เข้ามาครบจำนวน”

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “พวกต่างชาติได้เข้ามาครบจำนวน” หมายความว่าอย่างไร

“มีช่วงเวลาและเวลาที่กำหนดไว้สำหรับชาวยิวที่จะได้ยินพระคำ และจากนั้นมีช่วงเวลาสำหรับคนต่างชาติที่จะมาก่อน เวลาสำหรับคนต่างชาติเป็นช่วงโอกาสพิเศษซึ่งพระกิตติคุณจะไปสู่พวกเขา และจะดำเนินต่อไปจนพวกเขามีโอกาสอย่างสมบูรณ์ในการรับความจริง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือจนกว่าคนต่างชาติจะเข้ามาครบจำนวน จากนั้นข่าวสารจะไปสู่ชาวยิวอีกครั้ง หมายถึงชาวยิวในฐานะชนชาติหนึ่งและในฐานะผู้คนกลุ่มหนึ่ง” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:399–401)

หลายศตวรรษก่อนที่เปาโลจะเขียนสาส์นของเขา นีไฟสอนพี่ชายของเขาว่าโดยผ่านความบริบูรณ์ของคนต่างชาติในยุคสุดท้ายที่พระกิตติคุณจะถูกนำไปสู่ลูกหลานของพวกเขาและลูกหลานของพี่ชายของเขา สิ่งนี้จะทำให้พวกเขา “เข้าถึงความรู้เกี่ยวกับพระผู้ไถ่ของพวกเขาและประเด็นนั้นๆ ของหลักคำสอนของพระองค์, เพื่อพวกเขาจะรู้ว่าจะมาหาพระองค์และรับการช่วยให้รอดได้อย่างไร” (1 นีไฟ 15:14) การรวบรวมลูกหลานของลีไฮเป็นส่วนหนึ่งของการนำเอากิ่งเดิมต่อเข้ากับต้นมะกอกในยุคสุดท้ายดังที่เปาโลและซีนัสพยากรณ์ไว้ (ดู โรม 11:23–25; เจคอบ 5:52, 60, 63, 67–68).

เมื่อเทพโมโรไนปรากฏต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธในปี 1823 โมโรไนบอกว่า “ความบริบูรณ์ของคนต่างชาติจะเข้ามาในไม่ช้า” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:41)