คลังค้นคว้า
บทที่ 100: โรม 4–7


บทที่ 100

โรม 4–7

คำนำ

เปาโลอธิบายว่าอับราฮัมได้รับการรับรองว่าชอบธรรมผ่านพระคุณอย่างไร จากนั้นเปาโลบรรยายถึงพรซึ่งมาสู่คนที่ได้รับการชำระให้ชอบธรรมและสอนว่าบัพติศมาเป็นเครื่องหมายของการตายต่อบาปและมีชีวิตในพระคริสต์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โรม 4–5

เปาโลอธิบายว่าอับราฮัมได้รับการรับรองว่าชอบธรรมผ่านพระคุณ

คัดลอก ภาพ และวลีต่อไปนี้ลงบนกระดาน

ภาพ
วาดรูป ผู้ชายคลานในทะเลทราย

เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขากำลังจะสิ้นใจในทะเลทรายเนื่องจากความกระหายน้ำและมีขวดน้ำอยู่บนยอดเนินเขาใกล้เคียง

  • สิ่งใดต่อไปนี้จะช่วยชีวิตท่าน (ก) ความเชื่อของท่านที่ว่าน้ำสามารถช่วยให้ท่านรอดชีวิต (ข) ความพยายามของท่านในการตักน้ำและดื่ม หรือ (ค) ตัวน้ำเอง (ไม่ต้องบอกว่าคำตอบของนักเรียนถูกหรือไม่)

อธิบายว่าสถานการณ์สมมตินี้จะช่วยให้เราเข้าใจคำสอนของเปาโลใน โรม 4–7 เกี่ยวกับศรัทธา ความประพฤติ และพระคุณเกี่ยวข้องกับหลักคำสอนเรื่องการรับรองความชอบธรรมอย่างไร (เตือนนักเรียนว่าคำสอนของเปาโลเกี่ยวกับการรับรองความชอบธรรมมีคำแนะนำใน โรม 1–3)

  • ตามคำสอนของเปาโลใน โรม 1–3 การถูกชำระให้ชอบธรรมหมายถึงอะไร (ได้รับการอภัยโทษจากบาปและประกาศว่าไม่มีความผิดหรือชอบธรรม)

จัดเตรียมบริบทสำหรับ โรม 4 โดยอธิบายว่าวิสุทธิชนชาวยิวบางคนในโรมเน้นมากเกินไปเรื่องความสำคัญของความพยายามด้วยตนเองและกฎของโมเสสในการถูกชำระให้ชอบธรรม

  • บางคนในสมัยปัจจุบันอาจมีความเข้าใจผิดที่คล้ายกันเกี่ยวกับการรับรองความชอบธรรมอย่างไร

  • ข้อใดที่เขียนบนกระดานสามารถแทนแนวคิดที่ว่าเรารอดได้โดยความประพฤติของเราเอง (เขียน (ความประพฤติ) ข้างๆ ข้อ ข.)

อธิบายว่าเปาโลพยายามแก้ไขความเข้าใจผิดที่มีอยู่ในสมัยของพวกเขาโดยเตือนชาวยิวเกี่ยวกับอับราฮัมผู้ประสาทพรสมัยโบราณ คนที่ชาวยิวมองว่าเป็นคนที่ถูกชำระให้ชอบธรรม

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง งานแปลของโจเซฟ สมิธ, โรม 4:2–5 (ในคู่มือพระคัมภีร์) ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเหตุใดอับราฮัมจึงได้รับการตัดสินว่าเป็นคนชอบธรรม

  • อับราฮัม ไม่ ถูกชำระให้ชอบธรรมโดยอะไร (“กฎการประพฤติ”)

  • ตามคำสอนของเปาโลดังที่บันทึกใน โรม 1–3 เหตุใดเราจึงไม่สามารถถูกชำระให้ชอบธรรมโดยกฎของการประพฤติ (เปาโลสอนว่า “ทุกคนทำบาป และเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า” [โรม 3:23] เพื่อถูกชำระให้ชอบธรรมโดยกฎของการประพฤติจะเรียกร้องให้เราไม่ทำบาปเลย)

อธิบายว่าดังที่บันทึกใน โรม 4:6–8 เปาโลใช้คำพูดของกษัตริย์เดวิดเพื่อแสดงให้เห็นมากขึ้นว่าการประพฤติของเราอย่างเดียวไม่ทำให้เราชอบธรรมหรือทำให้เราบริสุทธิ์

เพื่อสรุป โรม 4:9–15เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้

เพื่อลดความน่าเชื่อถือของแนวคิดที่ว่าเฉพาะคนที่เข้าสุหนัตและรักษากฎโมเสสจะได้รับพรของการเป็นคนที่เชื่อ เปาโลสอนว่าอับราฮัมได้รับพรแห่งความเชื่อของเขา ก่อน เขาเข้าสุหนัตและการเข้าสุหนัตเป็น หมายสำคัญ ของความเชื่อของเขา อับราฮัมยังคงซื่อสัตย์ต่อไปหลังจากทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าและเข้าสุหนัต ในวิธีนี้ อับราฮัมจึงเป็นบิดาของ ทุกคน ที่เชื่อแม้ว่าจะไม่ได้เข้าสุหนัต (คนต่างชาติ) หรือเข้าสุหนัต (ชาวยิว)

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงงานแปลของโจเซฟ สมิธ โรม 4:16 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาคำอธิบายที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นว่าเราถูกชำระให้ชอบธรรมได้อย่างไร

  • เราถูกชำระให้ชอบธรรมได้อย่างไร (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนทำนองนี้ เราถูกชำระให้ชอบธรรมโดยศรัทธาและการประพฤติผ่านพระคุณ)

เตือนนักเรียนว่า พระคุณ หมายถึงพร พระเมตตา ความช่วยเหลือ และพลังที่มีให้เราเนื่องจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

  • ข้อใดที่เขียนบนกระดานสามารถหมายถึงการชดใช้และพระคุณของพระเยซูคริสต์ ข้อใดหมายถึงศรัทธาของเราในพระองค์ (หลังจากนักเรียนตอบ ให้เขียน (การชดใช้และพระคุณของพระเยซูคริสต์) ข้างข้อ ค. และ (ศรัทธา) ข้างข้อ ก.)

  • หากเราอยู่ในสถานการณ์นี้ เราจะรอดโดยความเชื่อและความพยายามของเราหากไม่มีน้ำได้หรือไม่ (ไม่) น้ำในเรื่องนี้เปรียบเหมือนการชดใช้และพระคุณของพระเยซูคริสต์อย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“ความรอดไม่สามารถซื้อได้ด้วยสกุลเงินแห่งการเชื่อฟัง แต่ซื้อได้ด้วยพระโลหิตของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า [ดู กิจการของอัครทูต 20:28] …

“พระคุณคือของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า และความปรารถนาที่จะเชื่อฟังพระบัญญัติ แต่ละข้อของพระผู้เป็นเจ้าคือการเอื้อมมือมรรตัยของเราออกไปรับของประทานศักดิ์สิทธิ์นี้จากพระบิดาบนสวรรค์” (“ของประทานแห่งพระคุณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 109, 110)

ชี้ให้เห็นว่าแม้สถานการณ์สมมติที่แสดงบนกระดานจะช่วยเราเข้าใจว่าศรัทธา การประพฤติ และพระคุณส่งผลให้เราถูกชำระให้ชอบธรรมได้อย่างไร สิ่งนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นทุกวิธีที่เราสามารถได้รับพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์ไม่เพียงประทานน้ำช่วยชีวิตที่หมายถึงพระคุณของพระองค์ ซึ่งจะชำระเราให้ชอบธรรมและชำระเราให้สะอาดจากบาปเท่านั้น แต่พระองค์ทรงทำให้เรามีศรัทธาและความเข้มแข็งที่เราต้องการเพื่อให้ได้น้ำมาหรือเข้าถึงพระคุณของพระองค์ด้วย เราสามารถได้รับพรจากพระคุณนี้ก่อน ระหว่าง และหลังจากเราใช้ศรัทธาในพระองค์และทำงานดี

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“พลังแห่งการชดใช้ทำให้การกลับใจอยู่ในวิสัยที่ทำได้และ … ยังเสริมสร้างให้เราเห็นสิ่งดี ทำความดี และเป็นคนดีในวิธีที่เราจะไม่มีวันรับรู้หรือทำสำเร็จได้ด้วยความสามารถแบบมรรตัยที่มีขีดจำกัดของเรา” (“ฉะนั้นพวกเขาจึงข่มความกลัว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 47)

  • พระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้เราใช้ศรัทธาในพระองค์และทำงานดีได้อย่างไร

  • มีงานอะไรบ้างที่เราสามารถทำได้เพื่อแสดงศรัทธาของเราในพระคริสต์และถูกชำระให้ชอบธรรมผ่านพระคุณของพระองค์ (กลับใจ เชื่อฟังพระบัญญัติ และรับศาสนพิธีแห่งพระกิตติคุณ)

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละสองถึงสามคนพร้อมกับอธิบายให้กันฟังว่าศรัทธาและงานที่ชอบธรรมช่วยให้เราได้รับพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อเราจะถูกชำระให้ชอบธรรมได้อย่างไร (ให้แน่ใจว่านักเรียนเข้าใจว่าศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์และในพลังอำนาจของพระองค์เพื่อช่วยเราให้รอดจะกระตุ้นเราให้รับศาสนพิธีที่จำเป็นและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งจะทำให้เราถูกชำระให้ชอบธรรมผ่านพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอด)

สรุป โรม 5 โดยอธิบายว่าเปาโลสอนถึงความสงบสุขที่มาถึงคนที่เข้าถึงพระคุณของพระคริสต์โดยศรัทธา (ดู ข้อ 1–2) เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าพระคุณที่มีให้เราเพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์มากเกินพอที่จะเอาชนะผลของการตก

โรม 6–7

เปาโลสอนวิธีที่เราจะเป็นอิสระจากบาปและรับชีวิตนิรันดร์

ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไรในสถานการณ์ต่อไปนี้

เพื่อนของท่านวางแผนว่าในที่สุดจะรับใช้งานเผยแผ่แต่ตอนนี้กำลังทำการเลือกที่ขัดกับมาตรฐานของพระเจ้า เมื่อท่านแสดงความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมของเพื่อนท่าน เขาพูดว่า “นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะการชดใช้ ฉันสามารถกลับใจได้ตลอดเวลาก่อนที่ฉันจะไปรับใช้งานเผยแผ่ของฉัน”

อธิบายว่าบางคนเจตนาฝ่าฝืนพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า โดยวางแผนว่าจะกลับใจภายหลัง เช่น ก่อนไปพระวิหารหรือรับใช้งานเผยแผ่ เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษา โรม 6 เพื่อมองหาสาเหตุที่เจตคติแบบนี้แสดงถึงความเข้าใจผิดอันร้ายแรงเกี่ยวกับหลักคำสอนเรื่องพระคุณ

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญแต่ละคู่ให้อ่านออกเสียง โรม 6:1–6, 11–12 ด้วยกันและสนทนาว่าคำสอนของเปาโลจะแก้ไขความคิดของเพื่อนพวกเขาได้อย่างไร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามว่า

  • เปาโลตอบสนองต่อความเข้าใจผิดว่าพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดจะทำให้เราเป็นอิสระจากบาปของเราโดยอัตโนมัติอย่างไร

  • ท่านคิดว่า “ตายต่อบาป” (ข้อ 2) และถูก “ฝังไว้กับพระองค์แล้วโดยการรับบัพติศมาเข้าในการตายนั้น” (ข้อ 4) หมายถึงอะไร

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ การบัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัวเป็นสัญลักษณ์ของอะไร (หลังจากนักเรียนตอบ ช่วยให้พวกเขาระบุหลักคำสอนต่อไปนี้ บัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัวจะเป็นสัญลักษณ์ของการตายต่อบาปของเราและการเป็นขึ้นใหม่ของชีวิตทางวิญญาณ)

อธิบายว่าชีวิตใหม่ทางวิญญาณที่เราเริ่มเมื่อเรารับบัพติศมารวมถึงการรับการปลดบาปของเราและการผูกมัดว่าจะเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

เพื่อช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมเพิ่มเติมใน โรม 6 ให้นักเรียนดูเงินจำนวนหนึ่ง

  • ใครเป็นคนจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง เหตุใดนายจ้างจึงไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างของคนอื่น

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โรม 6:13 ในใจ โดยมองหา “นายจ้าง” หรือเจ้านายสองคนที่บางคนอาจถวายตัวและรับใช้ (ท่านอาจต้องการอธิบายว่า ถวายตัว หมายถึงการเสนอตัวหรืออุทิศตัวท่านเอง) ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

วาดแผนภูมิต่อไปนี้บน กระดาน

ค่าจ้างของบาป

ค่าจ้างของพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โรม 6:14–23 ในใจ ขอให้นักเรียนครึ่งชั้นมองหา “ค่าจ้าง” (ข้อ 23) หรือผลของบาปและอีกครึ่งมองหาค่าจ้างของพระผู้เป็นเจ้า หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชิญนักเรียนสองสามคนออกมาที่กระดานและเขียนสิ่งที่พวกเขาพบในแผนภูมิ (ใต้ “ค่าจ้างของบาป” นักเรียนควรเขียน ความตาย [ดู ข้อ 16, 21, 23] และใต้ “ค่าจ้างของพระผู้เป็นเจ้า” พวกเขาควรเขียน ความชอบธรรม [ดู ข้อ 16], ความบริสุทธิ์ [ดู ข้อ 19, 22], ชีวิตนิรันดร์ [ดู ข้อ 22], และ ชีวิตนิรันดร์ [ดู ข้อ 23]) อธิบายว่าความตายที่เป็นค่าจ้างของบาปหมายถึง “การแยกจากพระผู้เป็นเจ้าและอิทธิพลของพระองค์” หมายถึง “การสิ้นชีวิตในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความชอบธรรม” (คู่มือพระคัมภีร์, “ความตาย, ทางวิญญาณ,” scriptures.lds.org)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจาก โรม 6:16 เกี่ยวกับผลของการยอมตนต่อบาป (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ หากเรายอมตนต่อบาป เราจะเป็นทาสของบาป)

  • การยอมตนต่อบาปอย่างหนึ่งทำให้เราเป็นทาสของบาปนั้นอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองถึงตัวอย่างเมื่อการยอมตนต่อบาปของบางคนนำไปสู่การสูญเสียอิสรภาพ

พูดถึงรายการใต้ “ค่าจ้างของพระผู้เป็นเจ้า”

  • อะไรคือประโยชน์ของการรับใช้ความชอบธรรมแทนที่จะรับใช้บาป

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากคำสอนของเปาโลเกี่ยวกับการเป็นอิสระจากบาปและได้รับของประทานแห่งชีวิตนิรันดร์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ หากเราถวายตัวแด่พระผู้เป็นเจ้า เราจะเป็นอิสระจากบาปและได้รับของประทานแห่งชีวิตนิรันดร์)

  • เราจะถวายตัวแด่พระผู้เป็นเจ้าในทางใดได้บ้าง

  • ท่านเคยมีอิสระจากบาปโดยการถวายตัวของท่านแด่พระผู้เป็นเจ้าใน ทางใดบ้าง

เป็นพยานถึงความสำคัญของการถวายตัวของท่านแด่พระผู้เป็นเจ้า เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนเป้าหมายเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาจะถวายตัวแด่พระผู้เป็นเจ้าได้ดียิ่งขึ้น

สรุป โรม 7 โดยอธิบายว่าเปาโลใช้อุปลักษณ์เรื่องการแต่งงานเพื่อสอนว่าสมาชิกศาสนจักรเป็นอิสระจากกฎของโมเสสและได้เข้าร่วมกับพระคริสต์ เขาเขียนเกี่ยวกับการต่อสู้ดิ้นรนระหว่าง “เนื้อหนัง” (ข้อ 18) ความอยากทางร่างกาย และ “ส่วนลึกในใจ” (ข้อ 22)หรือความเข้มแข็งทางวิญญาณ

สรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงที่สนทนาในบทนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

โรม 4:16 พระคุณ

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดชี้แจงถึงวิธีที่เราจะได้รับพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดดังนี้

“ศาสดาพยากรณ์นีไฟช่วยให้เราเข้าใจเกี่ยวกับพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าดีขึ้นเมื่อ ท่านประกาศว่า ‘เราทำงานอย่างขยันหมั่นเพียร … เพื่อชักชวนลูกหลานเรา, และพี่น้องเราด้วย, ให้เชื่อในพระคริสต์, และให้คืนดีกับพระผู้เป็นเจ้า; เพราะเรารู้ว่า โดยพระคุณนั่นเองที่เราได้รับการช่วยให้รอด, หลังจากเรา ทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว’ [2 นีไฟ 25:23; เน้นตัวเอน]

“อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าสงสัยว่าบางครั้งเราตีความวลีที่ว่า ‘หลังจากเราทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว’ ผิดไปหรือไม่เราต้องเข้าใจว่า ‘หลังจาก’ ไม่เหมือนกับ ‘เพราะว่า’

“เราไม่ได้รอด ‘เพราะว่า’ ทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว มีใครที่ทำจน สุด ความสามารถแล้วบ้าง พระผู้เป็นเจ้าทรงรอจนเราใช้ความพยายามทุกอย่างก่อนที่จะทรงแทรกเข้ามาในชีวิตเราด้วยพระคุณที่ช่วยให้รอดของพระองค์หรือ …

“ข้าพเจ้าแน่ใจว่านีไฟรู้ว่าพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอด ช่วยให้ และ ทำให้ เราเอาชนะบาปได้ [ดู 2 นีไฟ 4:19–35; แอลมา 34:31] นี่คือสาเหตุที่นีไฟทำงานอย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อชักชวนลูกหลานและพี่น้อง ‘ให้เชื่อในพระคริสต์, และให้คืนดีกับพระผู้เป็นเจ้า’ [2 นีไฟ 25:23]” (“ของประทานแห่งพระคุณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 110)

เอ็ลเดอร์บรูซ ซี. ฮาเฟนแห่งสาวกเจ็ดสิบอธิบายว่าพระคุณจะช่วยให้เราเติบโตทางวิญญาณอย่างไรดังนี้

“การเติบโตหมายถึงความเจ็บปวด หมายถึงการเรียนรู้จากความผิดพลาดในกระบวนการต่อเนื่องที่เป็นไปได้โดยพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดซึ่งพระองค์ประทานทั้งในระหว่างและ ‘หลังจากเราทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว’ [2 นีไฟ 25:23; เพิ่มตัวเอน]” (“การชดใช้: ทั้งหมดเพื่อทั้งหมด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 119)

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“ด้วยเหตุผลบางประการ เราคิดว่าการชดใช้ของพระคริสต์ประยุกต์ใช้ แค่ เมื่อสิ้นสุดของชีวิตมรรตัยเพื่อการไถ่จากการตก จากความตายทางวิญญาณ การชดใช้เป็นยิ่งกว่านั้นมาก การชดใช้เป็นพลังอำนาจในปัจจุบันเพื่อร้องขอในชีวิตประจำวัน” (The Touch of the Master’s Hand, May 2001, 23)

โรม 5:6–8 การใช้คำว่า พระคุณในแบบต่างๆ

โรม 5:6–8 สนทนาว่าพระคุณเป็นสิ่งที่เราได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าโดยไม่ขึ้นอยู่การกระทำของเรา ตัวอย่างเช่น โดยผ่านพระคุณของพระเยซูคริสต์ มนุษยชาติทุกคนได้รับการไถ่จากผลของการตกอย่างไม่มีเงื่อนไข ข้อความอื่นๆ ของพระคัมภีร์อธิบายว่าพระคุณเป็นบางสิ่งที่เราได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าอันเป็นผลมาจากสิ่งที่เราทำ ตัวอย่างเช่น การกระทำของเราจะทำให้เราเติบโตขึ้นในพระคุณหรือหล่นจากพระคุณ (ดู ยอห์น 1:16; กาลาเทีย 5:4; 2 เปโตร 3:18; คพ. 93:12–13, 19–20) นอกจากนี้ ผ่านทางพระคุณเราได้รับการให้อภัยบาปของเรา “โดยเงื่อนไขแห่งการกลับใจ” (คพ. 18:12) อย่างไรก็ตาม “ผู้ไม่ใช้ศรัทธาสู่การกลับใจจะเปิดโอกาสให้กฎทั้งหมดของข้อเรียกร้องแห่งความยุติธรรม” (แอลมา 34:16)