เซมินารี
บทที่ 83: หลักคำสอนและพันธสัญญา 78–80


บทที่ 83

หลักคำสอนและพันธสัญญา 78–80

คำนำ

วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1832 พระเจ้าทรงเปิดเผยต่อโจเซฟ สมิธ การเปิดเผยที่เวลานี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 78 ในการเปิดเผยนี้ พระเจ้ารับสั่งให้ท่านศาสดาพยากรณ์จัดตั้งห้างหุ้นส่วน (ต่อมาเรียกว่าห้างหุ้นส่วนเอกภาพ) เพื่อบริหารคลังและงานในด้านสิ่งพิมพ์ของศาสนจักร พระเจ้าตรัสถึงพรที่วิสุทธิชนจะได้รับด้วยหากพวกเขาเชื่อฟังพระบัญชาให้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนนี้ เพื่อคุ้มครององค์กรที่ศาสนจักรดำเนินการนี้ให้พ้นจากศัตรูของศาสนจักร จึงมีการเปลี่ยนภาษาของการเปิดเผยนี้เล็กน้อยเมื่อจัดพิมพ์ครั้งแรกในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาฉบับปี 1835 ตัวอย่างเช่น พูดถึงห้างหุ้นส่วนเอกภาพว่า “ระเบียบ” หรือ “ระเบียบเอกภาพ” ราวช่วงเวลาเดียวกับที่พระเจ้าทรงบัญชาโจเซฟ สมิธให้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนเอกภาพ พระเจ้าประทานการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 79–80 ในการเปิดเผยเหล่านี้ พระเจ้าทรงเรียกเจเร็ด คาร์เตอร์, สตีเฟน เบอร์เนตต์ และอีเดน สมิธให้รับใช้เป็นผู้สอนศาสนา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:1–16

พระเจ้าทรงบัญชาศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนเอกภาพ

ชูเงินจำนวนเล็กน้อยให้ดู และถามคำถามต่อไปนี้

  • เราจะใช้เงินเพื่อจุดประสงค์ชั่วได้อย่างไร

  • เราจะใช้เงินเพื่อทำให้อุดมการณ์ดีก้าวหน้าได้อย่างไร

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้อธิบายว่าในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1831 พระเจ้าทรงบัญชาให้ตั้งคลังเพื่อรวมรวมสิ่งของและเงินที่เกินจำเป็นเพื่อประโยชน์ของคนจน (ดู คพ. 51) ด้วยเหตุนี้จึงตั้งคลังสองแห่ง แห่งหนึ่งดำเนินการโดยซิดนีย์ กิลเบิร์ตในอินดิเพนเดนซ์ มิสซูรี และอีกแห่งดำเนินการโดยนูเวล เค. วิทนีย์ในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ ในความรับผิดชอบนี้ บราเดอร์กิลเบิร์ตและบราเดอร์วิทนีย์ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของศาสนจักร คลังเหล่านี้จะจัดหาสิ่งของจำเป็นให้สมาชิก ขณะเดียวกันก็จัดหาเงินทุนให้ซื้อที่ดินและเป็นค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์การเปิดเผยที่โจเซฟ สมิธได้รับ คลังเหล่านี้จะช่วยคนตกทุกข์ได้ยากเช่นกัน (ดู คพ. 72:10–12)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทของการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 78ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำนำของภาคนั้นในพระคัมภีร์ฉบับปี 2013

“เดิมทีการเปิดเผยนี้แนะนำให้ท่านศาสดาพยากรณ์, ซิดนีย์ ริกดัน, และนูเวล เค. วิทนีย์เดินทางไปมิสซูรีและจัดระบบงานร้านค้าและงานตีพิมพ์โดยตั้ง ‘ห้างหุ้นส่วน’ ขึ้นมาควบคุมดูแลงานเหล่านี้ จัดหาเงินทุนเพื่อการสถาปนาไซอัน และเพื่อประโยชน์ของคนจน ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเรียกว่าห้างหุ้นส่วนเอกภาพ จัดตั้งในเดือนเมษายน ค.ศ. 1832 และเลิกล้มในปี ค.ศ. 1834 (ดู ภาค 82) หลังจากเลิกห้างหุ้นส่วนได้ระยะหนึ่ง ภายใต้การกำกับดูแลของโจเซฟ สมิธ ศาสนจักรใช้วลี ‘กิจจานุกิจของคลังสำหรับคนจน’ แทน ‘สถานประกอบการร้านค้าและการตีพิมพ์’ ในการเปิดเผย และใช้คำ ‘ระเบียบ’ แทนคำ ‘ห้างหุ้นส่วน’”

นักเรียนพึงเข้าใจว่าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 78 คำว่า ระเบียบ (ดู ข้อ 4) หมายถึงห้างหุ้นส่วนเอกภาพ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:3–4 และเชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาว่าห้างหุ้นส่วนหรือระเบียบนี้จะยอมให้วิสุทธิชนทำอะไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 4 อะไรคืออุดมการณ์ที่พระเจ้าทรงต้องการทำให้ก้าวหน้าผ่านการตั้งห้างหุ้นส่วนดังกล่าว (ความรอดของมนุษย์)

  • เราสามารถใช้เงินทำให้อุดมการณ์แห่งความรอดก้าวหน้าด้วยวิธีใดบ้าง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:5–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาเหตุผลที่พระเจ้าทรงบัญชาให้วิสุทธิชนช่วย “คนจนแห่งผู้คน [ของพระองค์]” (คพ. 78:3) ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • การช่วยเหลือคนจนจะช่วยให้วิสุทธิชน “เท่าเทียมกันในเรื่องแห่งแผ่นดินโลก” อย่างไร

ท่านอาจต้องเตือนความจำนักเรียนว่าในการเปิดเผยครั้งก่อนพระเจ้าทรงนิยามความเท่าเทียมกันในแง่ของสภาวการณ์ ความจำเป็น และความต้องการของครอบครัว (ดู คพ. 51:3) ด้วยเหตุนี้ พระบัญชาให้เท่าเทียมกันในเรื่องทางโลกจึงไม่บ่งบอกว่าทุกคนจะต้องมีจำนวนทรัพย์สินเท่ากัน แต่หมายความว่าทุกครอบครัวจะมีพอตามความจำเป็นและความต้องการของพวกเขา ตามสภาวการณ์ของพวกเขาแต่ละคน

กล่าวถึงวลี “เรื่องแห่งสวรรค์” ใน ข้อ 5–6

  • ท่านคิดว่าพระเจ้าทรงปรารถนาให้เราเท่าเทียมกันใน “เรื่องแห่งสวรรค์” อะไรบ้าง

  • การเท่าเทียมกันในเรื่องแห่งแผ่นดินโลกจะทำให้เราเท่าเทียมกันในเรื่องแห่งสวรรค์ได้อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:7 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาเหตุผลเพิ่มเติมว่าเหตุใดพระเจ้าทรงบัญชาวิสุทธิชนให้ดูแลคนจน เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ท่านคิดว่าการดูแลคนจนจะเตรียมวิสุทธิชนให้พร้อมสืบทอดอาณาจักรซีเลสเชียลเป็นมรดกในด้านใด

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อนี้ที่ประยุกต์ใช้กับเราในปัจจุบัน (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: การเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าเตรียมเราให้พร้อมรับสถานที่ในอาณาจักรซีเลสเชียล)

ขอให้นักเรียนเขียนพระบัญญัติของพระเจ้าให้มากที่สุดเท่าที่พวกเขาจะเขียนได้ในหนึ่งนาที เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน เชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกพระบัญญัติหนึ่งข้อที่เขียนไว้บนกระดาน และเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาสักสองสามประโยคเพื่ออธิบายว่าการเชื่อฟังพระบัญญัติข้อนั้นจะช่วยเตรียมพวกเขาให้พร้อมรับอาณาจักรซีเลสเชียลอย่างไร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เขียน

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจจุดประสงค์ที่พระเจ้าประทานพระบัญญัติแก่เรามากขึ้น ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“การแสดงออกภายนอกเท่านั้นไม่พอ พระบัญญัติ ศาสนพิธี และพันธสัญญาของพระกิตติคุณไม่ใช่รายการเงินฝากที่ต้องทำไว้ในบัญชีสวรรค์ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นแผนที่แสดงให้เราเห็นวิธีเป็นอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้เราเป็น” (“การท้าทายเพื่อที่จะเป็น,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 47)

  • การเข้าใจจุดประสงค์ที่พระเจ้าประทานพระบัญญัติแก่เราจะช่วยให้เราเชื่อฟังพระองค์ด้วยความซื่อสัตย์มากขึ้นได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนสองคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:8–9 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาชื่อคนที่พระเจ้าทรงกำหนดให้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนเอกภาพ เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 9 ชายสามคนนี้ได้รับบัญชาให้นั่งในสภากับใคร (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าวลี “วิสุทธิชน … ในไซอัน” หมายถึงสมาชิกศาสนจักรในอินดิเพนเดนซ์ มิสซูรี)

อธิบายว่าโจเซฟ สมิธ, นูเวล เค. วิทนีย์, ซิดนีย์ ริกดัน, ปีเตอร์ วิตเมอร์ จูเนียร์ และ เจสส์ กอสเชื่อฟังพระบัญชานี้และเดินทางไปมิสซูรีในเดือนเมษายน ค.ศ. 1832 ไม่นานหลังจากมาถึง คนทั้งสามจัดประชุมสภาเพื่อจัดตั้งห้างหุ้นส่วนเอกภาพตามแนวทางในการเปิดเผยนี้ ห้างหุ้นส่วนประกอบด้วยโจเซฟ สมิธ, ซิดนีย์ ริกดัน, นูเวล เค. วิทนีย์, เอดเวิร์ด พาร์ทริจ, ซิดนีย์ กิลเบิร์ต, ออลิเวอร์ คาวเดอรี, จอห์น วิตเมอร์, วิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์ส และมาร์ติน แฮร์ริส

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:10–16 โดยอธิบายว่าในข้อเหล่านี้พระเจ้าทรงเน้นว่าสมาชิกในห้างหุ้นส่วนควรผูกมัดกันผ่านพันธสัญญาว่าจะบริหารกิจการของศาสนจักร โดยซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญานี้ พวกเขาจึงได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าในการทำให้พระบัญญัติของพระองค์บรรลุผล พระเจ้าทรงอธิบายเช่นกันว่าหากวิสุทธิชนทำตามคำแนะนำของพระองค์ ศาสนจักรจะสามารถยืนหยัดเป็นอิสระจากองค์กรทางโลกทั้งหมด

หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:17–22

พระเจ้าตรัสถึงพรที่มีให้คนที่รักษาพระบัญญัติของพระองค์

ขอให้นักเรียนบอกชื่อของประทานหรือพรบางอย่างที่พวกเขาได้รับเมื่ออายุยังน้อยที่พวกเขาเห็นค่ามากกว่าเวลานี้ที่พวกเขาอายุมากขึ้น

  • เหตุใดเวลานี้ท่านจึงเห็นค่าของประทานหรือพรเหล่านี้มากขึ้น

  • ท่านคิดว่าสิ่งนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับพรที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงเตรียมไว้ให้เรา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:17–18 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าวิสุทธิชนเป็นเหมือนเด็กน้อยอย่างไร

  • เหตุใดบางครั้งเราจึงไม่เข้าใจพรที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ให้เรา

  • ถึงแม้เราอาจจะไม่สามารถเข้าใจหรือทนทุกสิ่งได้ แต่พระเจ้าประทานพระดำรัสเชื้อเชิญอะไร (จงรื่นเริงเถิด)

  • การรู้ว่าพระเจ้า “จะนำทาง [เรา] ไป” (คพ. 78:18) ให้ผ่านพ้นสิ่งที่เราไม่สามารถเข้าใจหรือทนได้จะช่วยให้เรารื่นเริงได้อย่างไร

ขอให้นักเรียน อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:19 ในใจโดยมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่วิสุทธิชน เชื้อเชิญให้พวกเขารายงานสิ่งที่เรียนรู้

  • พระเจ้าตรัสว่าอะไรจะเกิดกับคนที่เลือกรับสิ่งทั้งปวงด้วยความขอบคุณ (นักเรียนควรระบุหลักธรรมคล้ายๆ หลักธรรมต่อไปนี้: หากเรารับสิ่งทั้งปวงด้วยความขอบคุณ พระเจ้าจะทรงทวีพรของเรา)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าจะทรงทวีพรให้คนที่รับสิ่งทั้งปวงด้วยความขอบคุณ

  • การเลือกรับสิ่งทั้งปวงด้วยความขอบคุณจะช่วยให้เรารื่นเริงได้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะรับสิ่งทั้งปวงด้วยความขอบคุณมากขึ้นได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:20–22 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสว่าเราควรทำเนื่องจากเราเข้าใจคำสัญญาที่อธิบายไว้ใน ข้อ 19 เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 79–80

เจเร็ด คาร์เตอร์, สตีเฟน เบอร์เนตต์ และอีเดน สมิธได้รับเรียกให้รับใช้งานเผยแผ่

บอกนักเรียนว่าในการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 79 และ 80 พระเจ้าทรงเรียกชายสามคนให้รับใช้เป็นผู้สอนศาสนา มอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นคู่ ขอให้คนหนึ่งศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 79 และอีกคนหนึ่งศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 80 เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาหลักธรรมที่ประยุกต์ใช้กับงานเผยแผ่ศาสนาขณะพวกเขาศึกษาภาคที่ได้รับมอบหมาย

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันหลักธรรมที่ค้นพบให้แก่คู่ของพวกเขา จากนั้นขอให้นักเรียนเขียนหลักธรรมหนึ่งข้อที่พวกเขาเรียนรู้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนสองสามประโยคว่าพวกเขาจะใช้หลักธรรมนั้นแบ่งปันพระกิตติคุณให้คนรู้จักได้อย่างไร

สรุปบทเรียนนี้โดยแสดงประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักคำสอนและหลักธรรมที่สนทนาในชั้นเรียนวันนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:5–6 “เท่าเทียมกันในเรื่องแผ่นดินโลก”

ในข้อความต่อไปนี้ เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเตือนสมาชิกศาสนจักรไม่ให้ใจหมกมุ่นกับเรื่องแผ่นดินโลก

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“เราอาจถามตัวเราว่าการที่เราหลายคนอยู่ในสังคมที่บูชาทรัพย์สินและความพึงพอใจนั้น เรายังคงออกห่างจากความโลภและความอยากมีอยากได้สิ่งของทางโลกมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ วัตถุนิยมเป็นมากกว่าการนับถือรูปเคารพและความหยิ่งผยองซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของบาบิโลน เราเรียนรู้ได้ว่าต้องพอใจกับสิ่งจำเป็นที่เรามีเพียงพอ” (“มาสู่ไซอัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 50)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:15 อาดัม-ออนได-อาห์มัน

อาดัม-ออนได-อาห์มันเป็นสถานที่ซึ่งอาดัมอวยพรลูกหลานที่ชอบธรรมของท่านสามปีก่อนท่านสิ้นชีวิต (ดู คพ. 107:53–56) และที่ซึ่งท่านจะมาพบกับวิสุทธิชนก่อนเวลาของการเสด็จมาครั้งที่สอง (ดู คพ. 116)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:15–16 มีคาเอลและกุญแจแห่งความรอด

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ สอนดังนี้

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“อาดัมเป็นหนึ่งในสัตภาวะรู้แจ้งที่พระเจ้าตรัสกับอับราฮัมว่าพระองค์ทรงกำหนดให้เป็นผู้ปกครองโลกนี้ เขาคือมีคาเอล เจ้าชาย และบุตรของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงเลือกให้มาโลกนี้ และยืนเป็นหัวหน้าลูกหลานของเขา ถือ ‘กุญแจแห่งความรอดภายใต้คำแนะนำและการนำทางของพระผู้บริสุทธิ์, ผู้ทรงปราศจากการเริ่มต้นของวันหรือการสิ้นสุดของชีวิต’ [คพ. 78:16] พระผู้บริสุทธิ์องค์นี้คือพระเยซูคริสต์ บนแผ่นดินโลกรู้ว่ามีคาเอลคืออาดัม ในสภาพก่อนเกิดเขาเป็นวิญญาณเหมือนลูกคนอื่นๆ ของพระบิดาของเรา” (Answers to Gospel Questions, comp. Joseph Fielding Smith Jr., 5 vols. [1957–66], 1:5–6) (ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 230)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:20 บุตรอาห์มัน

ภาพ
เอ็ลเดอร์ออร์สัน แพรทท์

เอ็ลเดอร์ออร์สัน แพรทท์ชี้ให้เห็นว่า “มีการเปิดเผยหนึ่งที่คนเหล่านี้ไม่คุ้นเคย ข้าพเจ้าคิดว่าไม่เคยตีพิมพ์ แต่น่าจะอยู่ในประวัติศาสนจักร ซึ่งให้ไว้ในรูปคำถามและคำตอบ คำถามแรกคือ ‘พระนามของพระผู้เป็นเจ้าในภาษาที่บริสุทธิ์คืออะไร’ คำตอบคือ ‘อาห์มัน’ ‘พระนามของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าคืออะไร’ คำตอบคือ ‘บุตรอาห์มัน—ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาบทบาททั้งหมดของพระผู้เป็นเจ้ายกเว้นอาห์มัน’” (“Discourse,” Deseret News, May 23, 1855, 82 [part one of this discourse published in Deseret News, May 16, 1855, 76]; see also Documents, Volume 2: July 1831–January 1833, vol. 2 of the Documents series of The Joseph Smith Papers [2013], 215)

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธสอนว่า “พระเยซูคริสต์ได้รับเรียกว่าบุตรอาห์มันเช่นกัน (ดู คพ. 95:17) ด้วยเหตุนี้ พระนามของพระองค์จึงเกี่ยวข้องกับชื่อสถานที่ซึ่งอาดัมอาศัยอยู่ เพราะเหตุนี้เอ็ลเดอร์แพรทท์จึงตีความสถานที่แห่งนี้ว่า ‘หุบเขาของพระผู้เป็นเจ้า’” (Church History and Modern Revelation, 2 vols. [1953], 1:310) (ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 230)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 79 ใครคือเจเร็ด คาร์เตอร์

เจเร็ด คาร์เตอร์และภรรยาเข้าร่วมศาสนจักรในปี 1831 ขณะอยู่ในนิวยอร์ก พวกเขาย้ายไปธอมพ์สัน รัฐโอไฮโอพร้อมกับวิสุทธิชนโคลสวิลล์ เจเร็ดรับใช้งานเผยแผ่ในช่วงปลาย ค.ศ. 1831 และต้นค.ศ. 1832 ในโอไฮโอ เพนน์ซิลเวเนีย นิวยอร์ก และเวอร์มอนต์ ไม่นานหลังจากกลับบ้านที่แอมเฮิร์สต์ รัฐโอไฮโอ เขาเดินทางไปไฮรัม รัฐโอไฮโอเพื่อเยี่ยมท่านศาสดาพยากรณ์และสอบถามเกี่ยวกับงานเผยแผ่ครั้งต่อไปของเขา วันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1832 โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่เวลานี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 79โดยเรียกเจเร็ด คาร์เตอร์ให้ทำงานเผยแผ่อีกครั้ง เขาไปทำงานเผยแผ่ครั้งนี้วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1832 งานเผยแผ่ของเขาใช้เวลา 6 เดือน 2 วัน และเขาให้บัพติศมา 79 คน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 80 ใครคือสตีเฟน เบอร์เนตต์

ไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากรับบัพติศมาโดยพาร์ลีย์ พี. แพรทท์ในเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอ จอห์น เมอร์ด็อกแบ่งปันพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูให้สตีเฟน เบอร์เนตต์และครอบครัวปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1830 ไม่ถึงหนึ่งปีต่อมา ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1831 สตีเฟน เบอร์เนตต์ได้รับแต่งตั้งเป็นมหาปุโรหิตเมื่ออายุ 17 ปีที่การประชุมใหญ่ของศาสนจักรในเมืองออเรนจ์ รัฐโอไฮโฮ วันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1832 สตีเฟนได้รับการเรียกให้ไปสั่งสอนพระกิตติคุณกับรักเกิลส์ อีมส์ (ดู คพ. 75:35) การเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 80ได้รับวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1832 รวมถึงการเรียกสตีเฟนให้สั่งสอนพระกิตติคุณอีกครั้ง คราวนี้ไปกับอีเดน สมิธ สตีเฟนไปทำงานเผยแผ่ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1832 และเริ่มสั่งสอนกับอีเดน สมิธในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน สตีเฟน เบอร์เนตต์รับใช้งานเผยแผ่ในนิวแฮมป์เชียร์และรัฐอื่นทางตะวันออกตั้งแต่ ค.ศ. 1832 ถึง 1834