เซมินารี
บทที่ 150: ผู้บุกเบิกด้วยรถลาก ค.ศ. 1856–1860


บทที่ 150

ผู้บุกเบิกด้วยรถลาก ค.ศ. 1856–1860

คำนำ

วิสุทธิชนผู้มาถึงหุบเขาซอลท์เลคในปี 1847 ไปช่วยกันพัฒนาแหล่งทรัพยากรการเกษตรและทรัพยากรอื่นๆ สำหรับการย้ายถิ่นในอนาคต ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1851 บริคัม ยังก์กับที่ปรึกษาของท่านในฝ่ายประธานสูงสุดย้ำคำขอร้องให้วิสุทธิชนทุกคนที่อยู่ในไอโอวาและทั่วโลกมารวมกันในหุบเขาซอลท์เลค วิสุทธิชนยุคสุดท้ายจำนวนมากตอบรับคำขอของประธานยังก์ด้วยการเสียสละอย่างมาก ศาสนจักรส่งสมาชิกอัครสาวกสิบสองไปควบคุมดูแลการย้ายถิ่น และในปี 1852 วิสุทธิชนเดินตามรอยผู้บุกเบิกไปหุบเขาซอลท์เลคมากกว่าปีอื่น นอกจากนี้วิสุทธิชนจำนวนมากยังได้เดินทางไปหุบเขาซอลท์เลคในคณะรถลากระหว่าง ค.ศ. 1856 ถึง ค.ศ. 1860 ด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

วิสุทธิชนเชื่อฟังคำแนะนำให้ไปรวมกันในหุบเขาซอลท์เลค

ขอให้นักเรียนสมมติว่าผู้นำขอให้พวกเขาเดินเท้า 1,300 ไมล์ (ราว 2,090 กิโลเมตร) ขณะดึงรถลากไปด้วยและอนุญาตให้พวกเขานำข้าวของส่วนตัวไปได้เพียง 17 ปอนด์ (ราว 7.7 กิโลกรัม) เท่านั้น ถามว่าใครในชั้นเรียนจะอาสาเดินทางครั้งนี้

ให้นักเรียนดูรูปรถลากหรือวาด ภาพประกอบ บนกระดาน อธิบายว่าในปี ค.ศ. 1856 ประธานบริคัม ยังก์เสนอให้ผู้ย้ายถิ่นเดินทางโดยใช้รถลากแทนเกวียนเพราะมีความลำบากทางการเงิน รถลากถูกกว่ามากและจะทำให้วิสุทธิชนย้ายถิ่นได้มากขึ้น ระหว่าง ค.ศ. 1856 ถึง ค.ศ. 1860 วิสุทธิชนเกือบ 3,000 คนเลือกเดินทางไปตะวันตกข้ามทุ่งราบของสหรัฐไปยูทาห์โดยลากข้าวของที่ใส่ไว้ในรถลาก คณะรถลากส่วนใหญ่ขนสัมภาระ ของใช้ส่วนตัว และอาหารพอประมาณใส่รถลากและเดินทางจากไอโอวาซิตี้ รัฐไอโอวา ไปซอลท์เลคซิตี้ รัฐยูทาห์ สามคณะสุดท้ายเริ่มการเดินทางของพวกเขาในเมืองฟลอเรนซ์ รัฐเนบราสกา

ภาพ
แผนที่ เส้นทางรถลาก
ภาพ
รถลาก

ให้ดูกล่องหรือถังใส่ของหนักทั้งหมด 17 ปอนด์ (ราว 7.7 กิโลกรัม) ให้นักเรียนสองสามคนยกของ อธิบายว่าผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เดินทางในคณะรถลากจะนำข้าวของไปได้ 17 ปอนด์ เด็กแต่ละคนนำไปได้ 10 ปอนด์ (ราว 4.5 กิโลกรัม) ข้าวของส่วนตัวได้แก่เสื้อผ้าและของใช้อื่นๆ ข้าวของของแต่ละคนจะถูกชั่งน้ำหนัก และหากน้ำหนักเกินกำหนดจะต้องทิ้งส่วนเกินนั้น

  • หากท่านเป็นคนหนึ่งในผู้บุกเบิกด้วยรถลากเหล่านี้ ท่านจะเลือกนำทรัพย์สมบัติทางโลกอะไรไปบ้าง เพราะเหตุใด

  • ท่านคิดว่าเหตุใดวิสุทธิชนจึงเต็มใจเสียสละมากขนาดนั้นเพื่อไปยูทาห์

ถึงแม้การเดินทางจะยากลำบาก แต่คณะรถลากแปดในสิบคณะระหว่าง ค.ศ. 1856 ถึง ค.ศ. 1860 เดินทางเป็นผลสำเร็จ แต่ในปี 1856 คณะรถลากคณะที่สี่และห้าเริ่มปลายฤดู พวกเขาจึงประสบการทดลองแสนสาหัส พวกเขาคือคณะรถลากวิลลีนำโดยเจมส์ จี. วิลลี และคณะรถลากมาร์ตินนำโดยเอ็ดเวิร์ด มาร์ติน หลังจากเดินทางเกือบ 1,000 ไมล์ (ราว 1,600 กิโลเมตร) จากไอโอวาไปตะวันตก ทั้งสองคณะมีอาหารและสัมภาระเหลือน้อยมากจนเป็นอันตราย ในเดือนตุลาคม ทั้งสองคณะติดอยู่ในพายุรุนแรงของฤดูหนาวบนที่ราบสูงของไวโอมิงทำให้การเดินทางของพวกเขาหยุดชะงัก วิสุทธิชนเหล่านี้ทนทุกข์แสนสาหัสในความหนาวเหน็บและหิมะ (ท่านอาจจะให้ดูภาพผู้บุกเบิกด้วยรถลาก เช่น ผู้บุกเบิกด้วยรถลากกำลังเข้าสู่หุบเขาซอลท์เลค [หนังสือภาพพระกิตติคุณ (2009), หน้า 102; ดู LDS.orgด้วย])

ภาพ
ผู้บุกเบิกด้วยรถลากกำลังเข้าสู่หุบเขาซอลท์เลค

หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้จัดเตรียม สำเนาเรื่องราวต่อไปนี้ ของแอรันกับเอลิซาเบธ แจ็คสันแจกนักเรียน อธิบายว่าครอบครัวแจ็คสันเดินทางอยู่ในคณะมาร์ตินซึ่งปกติจะอยู่หลังคณะวิลลีประมาณ 100 ไมล์ (ประมาณ 160 กิโลเมตร) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน ออกเสียงเรื่องนี้ ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาหลักฐานยืนยันศรัทธาของแอรันกับเอลิซาเบธ

วันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1856 สมาชิกของคณะรถลากมาร์ตินต้องข้ามแม่น้ำกว้างสายหนึ่งในช่วงพายุฤดูหนาว สมาชิกหลายคนในคณะรวมทั้งแอรัน แจ็คสันอ่อนแอและป่วย และการข้ามแม่น้ำทำให้พวกเขาเสียชีวิตและบาดเจ็บ เอลิซาเบธ แจ็คสันบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นกับสามีในช่วงสองสามวันต่อมาว่า

“ราวสามทุ่มดิฉันเข้านอน … ดิฉันหลับจนถึงประมาณเที่ยงคืน ดิฉันคิดว่าราวนั้น ดิฉันหนาวมาก อากาศเย็นเยียบ ดิฉันฟังสามีว่าหายใจหรือไม่—เขานอนนิ่งมาก ดิฉันไม่ได้ยินเขา ดิฉันตกใจ ดิฉันวางมือบนตัวเขา ดิฉันกลัวจนตัวสั่นเมื่อพบว่าเรื่องที่ดิฉันกลัวที่สุดเกิดขึ้นแล้ว สามีของดิฉัน ตายแล้ว … ดิฉันร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ ที่อยู่ในเต็นท์ พวกเขาไม่สามารถช่วยเหลือได้ … เมื่อถึงรุ่งเช้า ชายบางส่วนในคณะเตรียมฝังศพเขา … พวกเขาห่อศพไว้ในผ้าห่มและวางกองรวมกับอีกสิบสามคนที่เสียชีวิตแล้ว จากนั้นจึงคลุมไว้ด้วยหิมะ …

“ดิฉันจะไม่พยายามอธิบายความรู้สึกเมื่อพบว่าตนเองถูกทิ้งให้เป็นม่ายอยู่กับลูกอีกสามคนภายใต้สภาวการณ์อันแสนเจ็บปวดเช่นนั้น ดิฉันอธิบายไม่ถูก แต่ดิฉันเชื่อว่าเทพได้จารึกไว้ในจดหมายเหตุบนสวรรค์แล้ว และความทุกข์ยากทั้งหลายของดิฉันเพื่อเห็นแก่พระกิตติคุณจะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์เพื่อประโยชน์ของดิฉัน” (Leaves from the Life of Elizabeth Horrocks Jackson Kingsford [1908], 6–7; see also history.lds.org)

  • เอลิซาเบธกล่าวว่าความทุกข์ยากของเธอเพื่อเห็นแก่พระกิตติคุณจะทำอะไรให้เธอ ท่านคิดว่าวลี “ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์เพื่อประโยชน์ของดิฉัน” หมายความว่าอย่างไร (ความทุกข์ยากของเธอจะถูกทำให้บริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์เพื่อประโยชน์ของเธอ)

  • จะเกิดอะไรกับเราได้บ้างหากเราต้องทนทุกข์เพื่อเห็นแก่พระกิตติคุณ (เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: หากเราทนทุกข์เพื่อเห็นแก่พระกิตติคุณ ความทุกข์นั้นสามารถชำระเราให้บริสุทธิ์เพื่อประโยชน์ของเรา [ดู คพ. 122:7; 2 นีไฟ 2:2])

  • ถึงแม้ท่านอาจไม่ทนทุกข์เหมือนเอลิซาเบธ แจ็คสัน แต่ท่านอาจจะต้องทนทุกข์ในด้านใดบ้างเพื่อเห็นแก่พระกิตติคุณ ท่านได้รับพรอย่างไรผ่านประสบการณ์เหล่านี้

อธิบายว่าในช่วงสองสามวันติดต่อกันหลังจากแอรัน แจ็คสันเสียชีวิต คณะมาร์ตินเดินไปได้ประมาณ 10 ไมล์ (ประมาณ 16 กิโลเมตร) หลายคนเสียชีวิตระหว่างนี้ด้วย คืนหนึ่งระหว่างการเดินทางช่วงนี้ ไม่มีใครแข็งแรงพอจะกางเต็นท์ เอลิซาเบธ แจ็คสันนั่งบนโขดหินโดยมีลูกคนหนึ่งนั่งตักและอีกสองคนนั่งขนาบเธอคนละข้าง เธออยู่ในท่านั้นจนถึงเช้า เอลิซาเบธท้อแท้หมดกำลังใจ ต่อจากนั้นในคืนวันที่ 27 ตุลาคม เธอมีประสบการณ์ที่ให้ความหวังว่าจะรอดชีวิต เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องราวต่อไปนี้ และขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่เอลิซาเบธเรียนรู้ในความฝัน

“ใครๆ ก็รับรู้ได้ทันทีว่าภายใต้สภาวการณ์เลวร้ายเช่นนั้นดิฉันท้อแท้มาก ดิฉันจากบ้านเกิดเมืองนอนมาหกถึงเจ็ดพันไมล์ ในประเทศกว้างใหญ่แถบเทือกเขาร็อกกี ในสภาพแร้นแค้น พื้นดินปกคลุมด้วยหิมะ แม่น้ำปกคลุมด้วยน้ำแข็ง และดิฉันอยู่กับลูกไร้บิดาสามคนที่ไม่มีสิ่งใดคุ้มครองป้องกันพวกเขาจากพายุที่ไร้เมตตา เมื่อดิฉันเข้านอนคืนนั้น เป็นวันที่ 27 ตุลาคม ดิฉันได้รับการเปิดเผยที่น่าประหลาดใจ ในความฝัน สามีดิฉันยืนอยู่ข้างๆ ดิฉันและพูดว่า—‘ร่าเริงหน่อย เอลิซาเบธ การปลดปล่อยอยู่แค่เอื้อม’” (Leaves from the Life of Elizabeth Horrocks Jackson Kingsford, 8; ดู history.lds.orgด้วย)

บอกนักเรียนว่าความฝันเป็นจริงเมื่อผู้ช่วยชีวิตจากซอลท์เลคซิตี้มาถึงคณะมาร์ตินวันรุ่งขึ้น

อธิบายว่าวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1856 หลายสัปดาห์ก่อนพายุฤดูหนาวกระหน่ำคณะรถลาก คนเดินทางรายงานต่อประธานบริคัม ยังก์ว่าคณะผู้บุกเบิกยังอยู่บนทุ่งราบห่างออกไปหลายร้อยไมล์ วันถัดมา ในการประชุมวันอาทิตย์ บริคัม ยังก์พูดถึงการช่วยชีวิตผู้บุกเบิกด้วยรถลากเหล่านี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของท่าน ขอให้ชั้นเรียนฟังหลักธรรมที่ประธานยังก์กำลังสอนวิสุทธิชน (หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้จัดเตรียม สำเนาคำกล่าวนี้ แจกให้นักเรียนดูตาม)

ภาพ
ประธานบริคัม ยังก์

“พี่น้องชายหญิงของเราจำนวนมากอยู่กับรถลากบนทุ่งราบ และตอนนี้หลายคนน่าจะอยู่ห่างจากที่นี่เจ็ดร้อยไมล์ [1,100 กิโลเมตร] เราต้องไปพาพวกเขามาที่นี่ เราต้องส่งคนไปช่วยพวกเขา …

“นั่นเป็นศาสนาของข้าพเจ้า นั่นเป็นคำบัญชาของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ข้าพเจ้าครอบครอง เราต้องช่วยผู้คนให้รอด … นี่เป็นความรอดที่ข้าพเจ้าแสวงหาอยู่เวลานี้เพื่อช่วยชีวิตพี่น้องของเราที่อาจจะตายหรือทนทุกข์แสนสาหัสหากเราไม่ส่งคนไปช่วยพวกเขา

“ข้าพเจ้าจะเรียกใช้อธิการวันนี้ ข้าพเจ้าจะไม่คอยจนถึงพรุ่งนี้หรือจนถึงวันถัดไปเพื่อให้ได้ทีมล่อดีๆ 60 ทีมและเกวียน 12 หรือ 15 เล่ม … [กับ] แป้ง 12 ตัน และคนขับเกวียนเก่ง ๆ อีก 40 คนนอกเหนือจากคนที่ขับเกวียนบรรทุกเหล่านั้น …

“ข้าพเจ้าจะบอกท่านทุกคนว่าศรัทธา ศาสนา และการนับถือศาสนาของท่านจะไม่ช่วยจิตวิญญาณท่านให้รอดในอาณาจักรซีเลสเชียลของพระผู้เป็นเจ้าแม้แต่จิตวิญญาณเดียว เว้นแต่ท่านจะปฏิบัติตามหลักธรรมที่ข้าพเจ้ากำลังสอนท่านอยู่ขณะนี้ จงไปพาคนเหล่านั้นที่อยู่บนทุ่งราบมาเดี๋ยวนี้” (“Remarks,” Deseret News, Oct. 15, 1856, 252)

  • ประธานบริคัม ยังก์สอนอะไรวิสุทธิชน (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมต่างกัน แต่พวกเขาพึงเข้าใจว่า ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เราต้องช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก)

อธิบายว่าชายหญิงจำนวนมากขานรับ และภายในสองวันหลังจากฟังโอวาทของประธานยังก์ พวกผู้ชายขับเกวียนบรรทุกสัมภาระออกไปหาผู้ย้ายถิ่น

  • การพยายามช่วยชีวิตครั้งนี้เป็นการเสียสละสำหรับวิสุทธิชนในหุบเขาซอลท์เลคอย่างไร

  • เราจะเสียสละอะไรได้บ้างเพื่อช่วยคนตกทุกข์ได้ยากทางกาย

  • เราจะเสียสละอะไรได้บ้างเพื่อช่วยคนตกทุกข์ได้ยากทางวิญญาณ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ขอให้ชั้นเรียนฟังวิธีอื่นที่เราจะสามารถช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“ข้าพเจ้าขอบพระทัยที่วันนี้ไม่มีใครในพวกเราติดอยู่บนที่ราบสูงไวโอมิง แต่ข้าพเจ้ารู้ว่าในบรรดาพวกเรามีหลายคนต้องการความช่วยเหลือและสมควรได้รับการช่วยชีวิต พันธกิจของเราในชีวิตในฐานะผู้ติดตามพระเจ้าพระเยซูคริสต์จะต้องเป็นพันธกิจแห่งการช่วยให้รอด มีคนเร่ร่อน คนหิวโหย คนอัตคัดขัดสน สภาพของพวกเขาเห็นได้ชัด เราทำไปมากแล้ว เราทำได้มากขึ้นเพื่อช่วยคนที่มีชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย

“เราสามารถยื่นมือช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้คนที่เกลือกกลิ้งอยู่ในปลักของสื่อลามก ศีลธรรมเสื่อมทราม และยาเสพติด คนมากมายติดมากจนพวกเขาสูญเสียอำนาจการควบคุมจุดหมายของตน พวกเขาทุกข์ทนหม่นหมอง ทอดอาลัยในชีวิต เราสามารถช่วยกอบกู้และช่วยชีวิตพวกเขาได้ …

“ทุกวันนี้เราไม่ต้องเป็นห่วงคนบนที่ราบสูงของไวโอมิงแล้ว เราต้องเป็นห่วงคนมากมายรอบข้างเรา ในครอบครัวเรา ในวอร์ดและสเตคของเรา ในละแวกบ้านและชุมชนของเรา” (“Our Mission of Saving,” Ensign, Nov. 1991, 59)

  • ท่านเคยเห็นคนบางคนช่วยผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทางกายและทางวิญญาณเมื่อใด พวกเขาช่วยอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองและสวดอ้อนวอนให้รู้ว่าพวกเขาจะช่วยผู้อื่นได้อย่างไร ท่านอาจจะให้เวลาพวกเขาสักครู่เขียนความคิดของตนลงในสมุดจดหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่าเราได้รับพรเมื่อเราอดทนต่อการทดลองด้วยศรัทธา เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านเรื่องราวต่อไปนี้

คริสต์ศักราช 1856 ฟรานซิสกับเบทซี เว็บสเตอร์มีเงินมากพอจะเดินทางด้วยเกวียนไปยูทาห์ แต่พวกเขาบริจาคเงินเข้ากองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยวิสุทธิชนย้ายถิ่นฐานไปยูทาห์ (กองทุนต่อเนื่องเพื่อการอพยพ) เงินบริจาคของพวกเขาช่วยให้อีกเก้าคนเดินทางด้วยรถลากได้ ฟรานซิสกับเบทซีที่กำลังจะคลอดบุตรเดินทางไปซอลท์เลคซิตี้กับคณะรถลากมาร์ตินและทนทุกข์ตลอดทางกับคนอื่นๆ ในคณะ

หลายปีต่อมา ขณะบราเดอร์เว็บสเตอร์นั่งในชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ เขาฟังสมาชิกศาสนจักรบางคนวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำศาสนจักรเพราะเรื่องราวอันน่าสลดใจเกี่ยวกับรถลาก เขาไม่สามารถระงับความรู้สึกได้ เขาจึงลุกขึ้นและเป็นพยานถึงพรของการอยู่ในคณะรถลากมาร์ติน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงประจักษ์พยานของฟรานซิส เว็บสเตอร์ และขอให้นักเรียนบอกหนึ่งด้านที่ผู้ทนทุกข์กับคณะรถลากได้รับพร

“ผมขอให้พวกคุณหยุดวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้เพราะคุณกำลังพูดถึงเรื่องที่คุณไม่รู้อะไรเลย ข้อเท็จจริงที่ล้าสมัยทางประวัติศาสตร์ไม่มีความหมายอะไรที่นี่เพราะไม่ตีความคำถามที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง ผิดไหมที่ส่งคณะรถลากออกไปปลายฤดู ผิด แต่ผมอยู่ในคณะนั้นและภรรยาผมก็อยู่ด้วย … เราทนทุกข์เกินกว่าพวกคุณจะนึกภาพออกและหลายคนเสียชีวิตจากความหนาวเย็นและความอดอยาก แต่พวกคุณเคยได้ยินคนรอดชีวิตของคณะนั้นเอ่ยคำวิพากษ์วิจารณ์สักคำไหม …

“ผมเหลียวกลับไปมองหลายครั้งเพื่อดูว่าใครกำลังดันรถลากของผมแต่ผมไม่เห็นใคร ผมรู้ในขณะนั้นว่าเหล่าเทพของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ที่นั่น

“ผมเสียใจไหมที่เลือกมาโดยรถลาก ไม่มี ไม่เลย ไม่เคยเสียใจแม้ชั่วขณะเดียวของชีวิตผมนับแต่นั้น ราคาที่เราจ่ายเพื่อให้คุ้นเคยกับพระผู้เป็นเจ้านับเป็นสิทธิพิเศษที่ได้จ่ายและผมขอบพระทัยที่ผมได้รับสิทธิพิเศษให้มาไซอันในคณะรถลากมาร์ติน” (ใน William R. Palmer, “Pioneers of Southern Utah,” The Instructor, vol. 79, no. 5 [May 1944], 217–18)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากประจักษ์พยานของฟรานซิส เว็บสเตอร์ (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราอดทนต่อความทุกข์ยากอย่างซื่อสัตย์ เราจะคุ้นเคยกับพระผู้เป็นเจ้า)

  • ท่านเคยเห็นเจตคติหรือพฤติกรรมแบบใดในคนที่อดทนต่อความทุกข์ยากอย่างซื่อสัตย์ ท่านเคยคุ้นเคยกับพระผู้เป็นเจ้าในด้านใดผ่านการทดลองที่ท่านประสบ

เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับหลักธรรมหนึ่งข้อที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้ ท่านอาจต้องการเพิ่มประจักษ์พยานของท่านเอง

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

การทดลองและความทุกข์สามารถนำไปที่ใด

ขณะตรึกตรองการเสียสละของผู้บุกเบิกวิสุทธิชนยุคสุดท้ายยุคแรก ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดตั้งข้อสังเกตว่า

ภาพ
ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“ในความเจ็บปวดราดร้าวของชีวิต ดูเหมือนเราจะฟังสุรเสียงกระซิบแผ่วเบาของพระเมษบาลแห่งสวรรค์ดีขึ้น

“มีวันที่เจ็บปวดสิ้นหวังของความยากลำบากและความทรมานในทุกชีวิต ดูเหมือนจะมีความปวดร้าวเต็มขนาด ความเศร้าโศก และความช้ำใจบ่อยครั้งสำหรับทุกคน รวมทั้งคนที่หมายมั่นทำสิ่งถูกต้องและซื่อสัตย์ อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงความท้าทายของท่านเองว่า ‘และเพื่อไม่ให้ข้าพเจ้ายกตัวเกินไป … ก็ทรงให้มีหนามในเนื้อของข้าพเจ้าซึ่งเป็นทูตของซาตานที่คอยโบยตีข้าพเจ้า’ [2 โครินธ์ 12:7]

“หนามที่ทิ่มแทงในเนื้อ ที่ทำให้เจ็บ บ่อยครั้งเปลี่ยนชีวิตซึ่งดูเหมือนช่วงชิงความหมายและความหวัง การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นผ่านกระบวนการขัดเกลาซึ่งมักจะดูเหมือนยากและโหดร้าย ในวิธีนี้จิตวิญญาณจะเป็นเหมือนดินเหนียวนุ่มในพระหัตถ์พระอาจารย์ในการสร้างชีวิตแห่งศรัทธา ความใช้การได้ ความสวยงาม และความเข้มแข็ง สำหรับบางคน ไฟของคนถลุงแร่ทำให้สูญเสียความเชื่อและศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า แต่คนที่มองไกลถึงนิรันดรเข้าใจว่าการถลุงเช่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำให้ดีพร้อม …

“การทดลองและความยากลำบากเป็นการเตรียมก่อนเกิดใหม่” (“Refined in Our Trials,” Ensign, Feb. 2006, 4)

การอยู่อย่างซื่อสัตย์ในแดนทุรกันดารทางวัฒนธรรม

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ขอบคุณความยากลำบากที่เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางส่วนตัวของเราในโลกทุกวันนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์

“หากเราซื่อสัตย์วันนั้นจะมาถึงเมื่อผู้บุกเบิกและบรรพชนที่มีคุณงามความดีเหล่านั้นผู้ที่เรายกย่องพวกเขาในการเอาชนะความยากลำบากของการเดินทางผ่านแดนทุรกันดาร จะยกย่องคนซื่อสัตย์ในปัจจุบันที่ฟันฝ่าทะเลทรายแห่งความสิ้นหวังได้สำเร็จและผ่านพ้นแดนทุรกันดารทางวัฒนธรรมขณะที่ยังจรรโลงไว้ซึ่งศรัทธา” (If Thou Endure It Well [1996], 28)