เซมินารี
บทที่ 128: หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:34–46


บทที่ 128

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:34–46

คำนำ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:34–46 เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายที่โจเซฟ สมิธเขียนด้วยการดลใจจากคุกลิเบอร์ตี้ ในจดหมายส่วนนี้ ท่านศาสดาพยากรณ์สอนหลักธรรมเกี่ยวกับพลังอำนาจและสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิต ท่านอธิบายว่าเหตุใดหลายคนได้รับเรียกแต่น้อยคนได้รับเลือก และผู้ดำรงฐานะปุโรหิตจะดึงอำนาจแห่งสวรรค์มารับใช้ผู้อื่นได้อย่างไร

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:34–40

โจเซฟ สมิธสอนว่าสิทธิของฐานะปุโรหิตเกี่ยวข้องกับอำนาจแห่งสวรรค์

ให้ดูภาพโคมไฟที่ยังไม่เสียบปลั๊กไฟ ให้แน่ใจว่าสวิทช์โคมไฟอยู่ที่ “ปิด” เพื่อโคมไฟจะไม่ติดขณะเสียบปลั๊ก ถ้าท่านไม่สามารถนำโคมไฟมาได้ ให้วาดภาพ ภาพประกอบ (โดยไม่เขียนคำใดๆ) บนกระดาน

ภาพ
แผนภาพโคมไฟ

อธิบายว่าในบทเรียนวันนี้ โคมไฟหมายถึงผู้ดำรงฐานะปุโรหิต แสงสว่างจากโคมไฟหมายถึงพรที่ผู้คนจะได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าผ่านการรับใช้ของผู้ดำรงฐานะปุโรหิต หากท่านมีโคมไฟมาด้วย ให้เขียนติดโคมไฟว่า ผู้ดำรงฐานะปุโรหิต หากไม่มี ให้เขียนวลีนี้ในตำแหน่งที่เหมาะสมบนแผนภาพ

ขณะที่นักเรียนเริ่มศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:34–46 วันนี้ ขอให้พวกเขาพิจารณาว่าความชอบธรรมส่วนตัวของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตมีผลอย่างไรต่อความสามารถของเขาในการช่วยให้ผู้อื่นได้รับพรของฐานะปุโรหิต ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้ข้อเหล่านี้รับสั่งโดยตรงกับผู้ดำรงฐานะปุโรหิต แต่มีหลักธรรมที่ประยุกต์ใช้ได้กับสมาชิกทุกคนของศาสนจักร

เตือนความจำนักเรียนว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 121 ประกอบด้วยจดหมายที่โจเซฟ สมิธได้รับการดลใจให้บอกคนจดเขียนตามเมื่อท่านอยู่ในคุกลิเบอร์ตี้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:34 ขอให้ชั้นเรียนสังเกตคำถามในข้อนี้

เพื่อช่วยให้นักเรียนไตร่ตรองและสนทนาว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตได้รับ “เรียก” และ “เลือก” หมายความว่าอย่างไร ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ที่ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวกับผู้ดำรงฐานะปุโรหิต

ภาพ
ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“เราได้รับเรียกเมื่อวางมือบนศีรษะเราและเราได้รับฐานะปุโรหิต แต่เราไม่ได้รับเลือกจนกว่าเราจะแสดงให้พระผู้เป็นเจ้าเห็นความชอบธรรม ความซื่อสัตย์ และความมุ่งมั่นของเรา” (“ได้รับเรียกและเลือก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 66)

  • ตามที่ประธานเฟาสท์กล่าว การได้รับ “เรียก” สำหรับเยาวชนชายหมายความว่าอย่างไร

ชี้ให้เห็นว่าการได้รับ “เรียก” ไม่เหมือนกับการได้รับ “เลือก” เพื่อเป็นคนหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรง “เลือก” ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตต้องดำเนินชีวิตจนเขาสามารถดึงอำนาจแห่งสวรรค์มาช่วยให้ผู้อื่นได้รับพรของฐานะปุโรหิต

อธิบายว่าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:35–39เราเรียนรู้ว่าเหตุใดผู้ดำรงฐานะปุโรหิตบางคนจึงไม่ได้รับเลือก เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:35–36 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาบทเรียนที่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตทุกคนควรเรียนรู้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 36 ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตทุกคนควรเรียนรู้บทเรียนอะไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนใน ข้อ 36 ให้ดูแหล่งกำเนิดไฟฟ้าในห้องเรียนหรือในแผนภาพบนกระดาน

  • ไฟฟ้าอาจหมายถึงวลีใดใน ข้อ 36 (“อำนาจแห่งสวรรค์” เขียน อำนาจแห่งสวรรค์ ไว้บนกระดานข้างภาพเต้ารับ หรือเขียนวางไว้ใกล้แหล่งกำเนิดไฟฟ้าจริงๆ)

  • ใน ข้อ 36 ท่านคิดว่าวลี “สิทธิของฐานะปุโรหิต” หมายถึงอะไร (คำตอบของนักเรียนควรแสดงให้เห็นว่าชายได้รับสิทธิให้ใช้ฐานะปุโรหิตเมื่อประสาทสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้เขาโดยการวางมือ)

เขียนติดที่สายไฟว่า สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต หากท่านให้ดูโคมไฟ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งเสียบสายไฟเข้ากับแหล่งกำเนิดไฟฟ้า

  • เหตุใดโคมไฟไม่ติด (เพราะปิดสวิตช์)

  • สวิตช์น่าจะเปรียบได้กับวลีใดใน ข้อ 36 (“หลักธรรมแห่งความชอบธรรม” อธิบายว่าวลีนี้หมายถึงความรับผิดชอบของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตในการดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม)

เขียนติดที่สวิตช์ว่า หลักธรรมแห่งความชอบธรรม เชิญนักเรียนคนหนึ่งเปิดสวิตช์

  • ในการเปรียบเทียบนี้ การดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมเหมือนการเปิดสวิตช์อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนกล่าวหลักธรรมจาก ข้อ 36 ด้วยคำพูดของพวกเขาเอง สรุปคำตอบของพวกเขาโดยเขียนหลักธรรมต่อไปนี้—หรือทำนองนี้—ไว้บนกระดาน: ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตสามารถดึงอำนาจแห่งสวรรค์มาใช้ได้หากพวกเขาดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมเท่านั้น ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนหลักธรรมนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:37–38 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นกับความสามารถของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตในการดึงอำนาจแห่งสวรรค์มาใช้หากเขาไม่ดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม

  • เกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตไม่ดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม (อำนาจแห่งสวรรค์ถอนตัวและสิทธิอำนาจของเขาไร้ประโยชน์ ท่านอาจต้องการอธิบายว่าวลี “เตะถีบปฏัก” หมายถึงสัตว์ต่อต้านไม้แหลมที่ใช้นำทางมันไปสู่จุดหมายที่ปรารถนา สำหรับเรา วลีนี้หมายถึงต่อต้านการนำทางจากพระเจ้าหรือผู้รับใช้ของพระองค์)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมบนกระดาน ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

สิทธิอำนาจ ในฐานะปุโรหิตมาจากการแต่งตั้ง แต่ อำนาจ ในฐานะปุโรหิตมาจากการดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์และเชื่อฟังการให้เกียรติพันธสัญญา อำนาจนี้เพิ่มขึ้นโดยการฝึกใช้ฐานะปุโรหิตในความชอบธรรม” (“พลังอำนาจของฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 11)

เขียนบนกระดาน ดังนี้

ทำให้การเชื่อมต่ออ่อนกำลัง ทำให้การเชื่อมต่อเสถียรมากขึ้น

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านทวน ข้อ 35 และ 37 ในใจโดยมองหาเจตคติและการกระทำไม่ถูกต้องซึ่งทำให้การเชื่อมต่อของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตกับอำนาจแห่งสวรรค์อ่อนกำลัง ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ เชิญนักเรียนคนหนึ่งทำหน้าที่ผู้จดโดยเขียนคำตอบไว้ใต้ “ทำให้การเชื่อมต่ออ่อนกำลัง” หลังจากเขียนคำตอบของนักเรียนแล้ว ให้อ่านตัวอย่างต่อไปนี้ หลังจากอ่านแต่ละตัวอย่าง ขอให้นักเรียนระบุเจตคติหรือการกระทำที่พวกเขาเขียนไว้บนกระดาน

  1. เพื่อให้เข้ากับเพื่อนที่โด่งดังบางคนได้ ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตคนหนึ่งจึงร่วมวงกับพวกเขาหัวเราะเยาะเพื่อนร่วมชั้นที่โรงเรียน

  2. ประธานโควรัมผู้สอนชอบกีฬา และเขาไม่ยอมเข้าร่วมวางแผนกิจกรรมโควรัมที่ไม่เกี่ยวกับฟุตบอลหรือบาสเกตบอล เมื่อใดก็ตามที่โควรัมเข้าร่วมกิจกรรมหรือรับใช้ เขาจะเรียกร้องให้เยาวชนชายคนอื่นๆ ทำอย่างที่เขาพูดเพราะเขาเป็นประธานโควรัม

  • มีตัวอย่างอะไรบ้างของคนที่พยายามปกปิดบาปของตน

  • มีตัวอย่างอะไรบ้างของคนที่ใจหมกมุ่นอยู่กับสิ่งต่างๆ ของโลกนี้และแสวงหาเกียรติของมนุษย์

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเจตคติและการกระทำเหล่านี้จึงขัดขวางไม่ให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตดึงอำนาจแห่งสวรรค์มาใช้

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:39–40 ขอให้ชั้นเรียนมองหาเหตุผลว่าทำไมบางคนจึงใช้อำนาจการปกครองที่ไม่ชอบธรรม ให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:41–46

โจเซฟ สมิธสอนว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตควรประพฤติตนอย่างไร

อธิบายว่าหลังจากสอนเรื่องเจตคติและการกระทำที่ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างผู้ดำรงฐานะปุโรหิตกับอำนาจแห่งสวรรค์อ่อนกำลังแล้ว โจเซฟ สมิธสอนเรื่องเจตคติและการกระทำที่ทำให้การเชื่อมต่อนั้นแข็งแกร่งขึ้นด้วย แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ และขอให้พวกเขา อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:41–45 ด้วยกัน ขอให้พวกเขามองหาเจตคติและการกระทำที่ช่วยให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตดึงอำนาจแห่งสวรรค์มาใช้ช่วยผู้อื่น (ก่อนอ่าน ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าใน ข้อ 41คำว่า นอกจาก หมายถึง “เว้นแต่”)

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ เชิญนักเรียนคนหนึ่งเป็นผู้จดโดยเขียนคำตอบไว้ใต้ “ทำให้การเชื่อมต่อเสถียรมากขึ้น” ขณะนักเรียนระบุหลักธรรมแห่งความชอบธรรม ท่านอาจต้องการขอให้พวกเขาอธิบายหรือยกตัวอย่างหลักธรรมแต่ละข้อ หากจำเป็น ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านคิดว่าการกระทำด้วยความรักที่ไม่เสแสร้งและปราศจากความหน้าซื่อใจคดหรือมารยาหมายความว่าอย่างไร (คำตอบอาจได้แก่ รักผู้อื่นอย่างจริงใจและแท้จริง และมีแรงจูงใจที่ชอบธรรม) เหตุใดคุณสมบัติเหล่านี้จึงสำคัญสำหรับผู้ดำรงฐานะปุโรหิต

  • ใน ข้อ 43 คำว่า ว่ากล่าว หมายถึงการบอกบางคนว่าเขาทำผิด โดยปกติจะบอกด้วยท่าทีที่สุภาพหรือนุ่มนวล คำว่า ไม่ชักช้า หมายถึง “เนิ่นๆ” หรือ “ทันกาล” คำว่า ความเฉียบขาด จะหมายถึงการที่ต้องเผยความคิดหรือความรู้สึกของเราอย่างชัดเจน ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ผู้นำฐานะปุโรหิตต้องว่ากล่าวชัดเจน ถูกเวลา และตามการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องแสดงความรักเพิ่มขึ้นหลังจากว่ากล่าวคนนั้น ท่านเคยได้ประโยชน์จากการแก้ไขเช่นนั้นเมื่อใด

  • ท่านคิดว่าการให้อุทรของท่านเปี่ยมด้วยจิตกุศลต่อมนุษย์ทั้งปวงหมายความว่าอย่างไร (ดู ข้อ 45) ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตต้องสุภาพอ่อนน้อมในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

  • ท่านคิดว่าการให้คุณธรรมประดับความนึกคิดของเราไม่เสื่อมคลายหมายความว่าอย่างไร (ดู ข้อ 45) เราจะทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อรักษาความนึกคิดของเราให้มีคุณธรรม

  • ท่านคิดว่าเหตุใดผู้ดำรงฐานะปุโรหิตจึงต้องทำตามหลักธรรมแห่งความชอบธรรมเหล่านี้จึงจะดึงอำนาจแห่งสวรรค์มาใช้ได้

ชี้ให้ดูคำว่า เมื่อนั้น ใน ข้อ 45 อธิบายว่าคำนี้ชี้ให้เห็นผลของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมแห่งความชอบธรรมที่พบใน ข้อ 41–45 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:45–46 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาพรที่มาถึงผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ดึงอำนาจแห่งสวรรค์มาใช้ผ่านการดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม (ก่อนนักเรียนอ่าน ท่านอาจต้องการอธิบายว่าคทาคือตะบองที่กษัตริย์หรือราชินีถือ เป็นสัญลักษณ์ของสิทธิอำนาจและพลังอำนาจ)

  • พรของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมแห่งความชอบธรรมมีอะไรบ้าง

  • นึกถึงผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ท่านรู้จักผู้ดำเนินชีวิตในแบบที่ช่วยเขาดึงอำนาจแห่งสวรรค์มาใช้ ท่านได้รับพรอย่างไรผ่านการรับใช้ของเขา

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพรที่ท่านได้รับผ่านสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตและพลังอำนาจฐานะปุโรหิต เชิญนักเรียนแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาเช่นกัน เชื้อเชิญให้พวกเขาเลือกหลักธรรมแห่งความชอบธรรมที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:41–45 หนึ่งประการและตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินชีวิตตามหลักธรรมนั้นให้ดีขึ้น

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:36–37 “สิทธิของฐานะปุโรหิต” และ “อำนาจแห่งสวรรค์”

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเน้นว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตจำเป็นต้องดำเนินชีวิตจนพวกเขามีทั้งสิทธิอำนาจและพลังอำนาจของฐานะปุโรหิต

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“อำนาจของฐานะปุโรหิตคืออำนาจของพระผู้เป็นเจ้าที่ทำงานผ่านเด็กหนุ่มและผู้ชายเช่นเรา และเรียกร้องความชอบธรรมส่วนตัว ความซื่อสัตย์ การเชื่อฟัง และความขยันหมั่นเพียร เด็กหนุ่มหรือชายคนหนึ่งจะได้รับสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตโดยการวางมือ แต่เราจะไม่มีพลังอำนาจฐานะปุโรหิตหากเขาไม่เชื่อฟัง ไม่มีค่าควร หรือไม่เต็มใจรับใช้ …

“…ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตทั้งเยาว์วัยและสูงวัยต้องมีทั้งสิทธิอำนาจและพลังอำนาจ—การอนุญาตที่จำเป็นและความสามารถทางวิญญาณที่จะเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าในงานแห่งความรอด” (“อำนาจแห่งสวรรค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 49)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:34, 40 “หลายคนได้รับเรียก, แต่น้อยคนได้รับเลือก”

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“การได้รับหรือจะได้รับเลือกไม่ใช่สถานะผูกขาดที่มอบให้เรา แต่ท่านและข้าพเจ้าคือผู้กำหนดว่าเราจะได้รับเลือกหรือไม่ …

“ข้าพเจ้าเชื่อว่าความหมายโดยนัยของข้อเหล่านี้ [คพ. 121:34–35] ค่อนข้างตรงไปตรงมา พระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงมีรายชื่อคนโปรดซึ่งเราต้องหวังว่าสักวันหนึ่งชื่อของเราจะอยู่ในนั้น พระองค์มิได้ทรงจำกัด ‘คนที่ได้รับเลือก’ ให้มีเพียงเล็กน้อย แต่ใจ ของเรา ความมุ่งมาดปรารถนา ของเรา และการเชื่อฟัง ของเรา คือตัวกำหนดว่าเราจะถูกนับเป็นคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกหรือไม่” (“พระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2005, 125)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:43 “ว่ากล่าวโดยไม่ชักช้าด้วยความเฉียบขาด”

เอ็ลเดอร์เอช. เบิร์ค พีเตอร์สันแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอช. เบิร์ก พีเตอร์สัน

“บางทีเราควรพิจารณาว่าการว่ากล่าวด้วยความเฉียบขาดหมายถึงอะไร การว่ากล่าวด้วยความเฉียบขาดหมายถึงว่ากล่าวด้วยความชัดเจน ความหนักแน่น ความรัก และเจตนาที่จริงจัง ไม่ได้หมายถึงการว่ากล่าวด้วยคำประชดประชันหรือด้วยความอาฆาตแค้น หรือขบฟันแน่นและขึ้นเสียง คนที่ว่ากล่าวเฉกเช่นพระเจ้ามุ่งไปที่หลักธรรม ไม่ใช่บุคลิกภาพ เขาไม่โจมตีอุปนิสัยหรือลดค่าของบุคคล

“เกือบทุกสถานการณ์ที่ต้องแก้ไข การว่ากล่าวเป็นส่วนตัวย่อมดีกว่าการว่ากล่าวต่อหน้าผู้อื่น ถ้าหากไม่จำเป็นต้องตำหนิทั้งวอร์ด อธิการควรพูดกับบุคคลนั้นดีกว่าใช้วิธีตำหนิเป็นกลุ่ม ทำนองเดียวกัน เด็กหรือคู่ครองมีสิทธิ์รับการว่ากล่าวเป็นส่วนตัวหากทำผิด การแก้ไขต่อหน้าผู้อื่นมักโหดร้ายหรืออย่างน้อยก็นำไปผิดทาง” (“Unrighteous Dominion,” Ensign, July 1989, 10)