เซมินารี
บทที่ 102: หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:23–48


บทที่ 102

หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:23–48

คำนำ

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1833 ราวสองสัปดาห์หลังจากการข่มเหงวิสุทธิชนในมิสซูรีรุนแรงขึ้น การเปิดเผยนี้ให้แนวทางสำหรับวิสุทธิชนที่ถูกทำร้าย ในนั้นพระเจ้าทรงสอนวิสุทธิชนว่าพวกเขาควรตอบโต้ศัตรูอย่างไร

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:23–32

พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าวิสุทธิชนควรตอบโต้การข่มเหงอย่างไร

ก่อนชั้นเรียน ให้แบ่ง กระดาน เป็นสามคอลัมน์และเขียนหัวข้อของแต่ละคอลัมน์ว่า กฎของพระเจ้าว่าด้วยการแก้แค้น (คพ. 98:23–32); กฎของพระเจ้าว่าด้วยสงคราม (คพ. 98:33–38); และ กฎของพระเจ้าว่าด้วยการให้อภัย (คพ. 98:39–48)

ขอให้นักเรียนบอกสองสามวิธีที่ผู้คนตอบสนองเมื่อมีคนทำร้ายหรือทำให้พวกเขาขุ่นเคือง อธิบายว่าในการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98พระเจ้าทรงสอนหลักธรรมที่สามารถช่วยให้เรารู้วิธีตอบโต้เมื่อเราถูกคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นทำร้าย กระตุ้นให้นักเรียนมองหาหลักธรรมเหล่านี้ตลอดบทเรียนวันนี้

เตือนความจำนักเรียนว่าการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98 ประทานให้ในปี 1833 ไม่นานหลังจากการข่มเหงวิสุทธิชนในมิสซูรีรุนแรงขึ้น ขอให้นักเรียนนึกถึงรายละเอียดจากบทก่อนเกี่ยวกับการทำร้ายที่วิสุทธิชนประสบ

เชื้อเชิญให้นักเรียนลอกแผนภูมิบนกระดานลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:23–27 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนวิสุทธิชนเกี่ยวกับการแก้แค้น ขอให้พวกเขาสังเกตคำแนะนำซ้ำๆ ของพระเจ้าในข้อเหล่านี้

  • วลีใดสอนซ้ำเกี่ยวกับการแก้แค้น (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลี “หาสบประมาทไม่” และ “รับไว้อย่างอดทน” ใน ข้อ 23–27)

  • พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับวิสุทธิชนหากพวกเขาจะรับการข่มเหงอย่างอดทนและไม่หาทางแก้แค้น

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากพระดำรัสของพระเจ้าใน ข้อ 23–27 (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเรารับการทำร้ายอย่างอดทนและไม่แก้แค้น พระเจ้าจะประทานรางวัลแก่เรา เชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนความจริงนี้ไว้ใต้หัวข้อ กฎของพระเจ้าว่าด้วยการแก้แค้น)

อธิบายว่าเมื่อกลุ่มคนร้ายรวมตัวกันในเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรีวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.1833 พวกเขาต้องการทำอย่างอื่นนอกเหนือไปจากทำลายทรัพย์สิน พวกเขามุ่งหมายทำร้ายสมาชิกศาสนจักรด้วย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องราวประวัติศาสตร์ต่อไปนี้ และขอให้ชั้นเรียนฟังว่าอธิการเอดเวิร์ด พาร์ทริจและชาร์ลส์ อัลเลนผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสวัย 27 ปีจากเพนน์ซิลเวเนียตอบโต้การข่มเหงอย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์บี. เอช. โรเบิร์ตส์

“กลุ่มคนร้ายจับอธิการเอดเวิร์ด พาร์ทริจและชาร์ลส์ อัลเลนลากพวกเขาฝ่าฝูงชนที่บ้าคลั่งซึ่งพูดแดกดันและทำร้ายพวกเขาตลอดทางถึงจัตุรัสสาธารณะ มีทางเลือกให้พวกเขาสองทาง คือ พวกเขาต้องเลิกศรัทธาใน พระคัมภีร์มอรมอน หรือไม่ก็ออกจากเทศมณฑล พวกเขาจะไม่ปฏิเสธ พระคัมภีร์มอรมอน ทั้งไม่ยอมออกจากเทศมณฑล เมื่อได้รับอนุญาตให้พูดอธิการพาร์ทริดจ์จึงกล่าวว่าวิสุทธิชนต้องทนทุกข์กับการข่มเหงในทุกยุคทุกสมัยของโลก และเขายอมทนทุกข์เพื่อเห็นแก่พระคริสต์ เช่นเดียวกับวิสุทธิชนในอดีตทนทุกข์มาแล้ว เขาไม่ได้ทำสิ่งใดให้ใครขุ่นเคือง และหากคนเหล่านั้นทำร้ายเขา พวกเขากำลังทำให้ผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บ ความชุลมุนวุ่นวายของฝูงชนกลบเสียงของเขา หลายคนตะโกนว่า ‘ร้องทูลพระผู้เป็นเจ้าให้ปลดปล่อยคุณสิ … !’ บราเดอร์พาร์ทริดจ์และบราเดอร์อัลเลนถูกเปลื้องเสื้อผ้า และถูกป้ายด้วยน้ำมันดินผสมปูนขาวหรือด่างโปแตสเซียมคาร์บอเนตหรือกรดบางอย่างที่กัดผิว และขนนกจำนวนหนึ่งติดทั่วตัวพวกเขา พวกเขาทนรับการหยามเกียรติและการกระทำทารุณกรรมอย่างโหดร้ายครั้งนี้ด้วยความนอบน้อมทำให้ฝูงชนรามือและค่อนข้างประหลาดใจกับสิ่งที่พวกเขาเห็น ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ไปจากที่นั่นอย่างเงียบๆ ” (B. H. Roberts, A Comprehensive History of the Church, 1:333; ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร], 2003, 134)

  • ท่านประทับใจอะไรกับวิธีที่ชาร์ลส์ อัลเลนและอธิการพาร์ทริดจ์ตอบโต้การข่มเหง

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:28–32 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงแนะนำวิสุทธิชนว่าหากศัตรูทำร้ายพวกเขาสามครั้งโดยไม่ประสบกับการแก้แค้นของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาควรเตือนศัตรูในพระนามของพระเจ้าว่าอย่าทำร้ายพวกเขาอีก หากศัตรูยังขืนทำร้ายพวกเขาหลังจากเตือนแล้ว วิสุทธิชนไม่ผิดถ้าจะให้ “รางวัลเขาตามงานของเขา” แต่พระเจ้ารับสั่งว่าหากวิสุทธิชนไว้ชีวิตศัตรูทั้งที่มีเหตุผลสมควรให้แก้แค้น พวกเขาจะได้รับรางวัลสำหรับความชอบธรรมของพวกเขา

หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:32–38

พระเจ้าทรงอธิบายว่าเมื่อใดมีเหตุผลสมควรให้ทำสงคราม

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขารู้หรือไม่ว่าพระเจ้าตรัสอะไรเกี่ยวกับสงคราม ท่านอาจจะถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านคิดว่ากฎของพระเจ้าว่าด้วยสงครามคืออะไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:32–34 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งกับศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณเกี่ยวกับสงคราม

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 33พระเจ้าประทานกฎอะไรแก่ศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณ (ขณะที่นักเรียนตอบให้เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดานใต้หัวข้อ กฎของพระเจ้าว่าด้วยสงคราม ชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าประทานกฎนี้ให้เฉพาะคนที่อยู่ในยุคสมัยและวัฒนธรรมต่างจากเรา ถึงแม้หลักธรรมของกฎนี้เป็นจริง แต่ปัจจุบันเราอยู่ใต้บังคับกฏหมายของประเทศที่เราอาศัยอยู่)

  • ศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณต้องทำอะไรหากมีคนประกาศสงครามกับพวกเขา (เติมคำตอบบนกระดานใต้หัวข้อ กฎของพระเจ้าว่าด้วยสงคราม)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:35–38 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งให้ศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณทำหากอีกฝ่ายไม่ยอมรับข้อเสนอสงบศึกของพวกเขา ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับกฎของพระเจ้าว่าด้วยสงคราม (นักเรียนอาจบอกหลักธรรมหลากหลาย แต่พึงเน้นดังนี้: เรามีเหตุผลสมควรให้ทำสงครามภายใต้สภาวการณ์ที่พระเจ้าทรงกำหนด เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดานได้หัวข้อ กฎของพระเจ้าว่าด้วยสงคราม)

อธิบายว่าพวกเราส่วนใหญ่จะไม่ต้องตัดสินใจว่าเราจะไปทำสงครามกับประเทศอื่นหรือไม่ แต่คำสอนเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้ว่าต้องทำอะไรในความสัมพันธ์ส่วนตัวของเรา—ตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีความไม่ลงรอยกับผู้อื่น

  • จากสิ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับคำแนะนำของพระเจ้าเรื่องสงคราม เราควรทำอะไรเมื่อเราไม่ลงรอยกับผู้อื่น (ช่วยนักเรียนระบุความจริงต่อไปนี้: เราควรหาทางยุติความไม่ลงรอยของเราอย่างสันติ)

  • พรอะไรจะมาจากการหาทางยุติอย่างสันติ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:39–48

พระเจ้าทรงสอนวิสุทธิชนว่าพวกเขาควรตอบโต้ศัตรูอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง เรื่องราวต่อไปนี้

ภาพ
อธิการคีธ บี. แมคมุลลิน

“ในฮอลแลนด์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัวแคสเปอร์ เทน บูมใช้บ้านของพวกเขาเป็นที่ซ่อนของคนที่ถูกพวกนาซีตามล่า นี่เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตตามความเชื่อแบบชาวคริสต์ของพวกเขา สมาชิกสี่คนในครอบครัวเสียชีวิตเพราะให้ที่ลี้ภัยครั้งนี้ คอร์รี เทน บูมกับเบทซีพี่สาวอยู่อย่างหวาดผวานานหลายเดือนในค่ายกักกันราเวนส์บรูคอันอื้อฉาว เบทซีสิ้นชีวิตที่นั่น—คอร์รีรอดชีวิต

“ในราเวนส์บรูค คอร์รีกับเบทซีเรียนรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยเราให้อภัย หลังสงคราม คอร์รีตัดสินใจแบ่งปันข่าวสารนี้ มีอยู่ครั้งหนึ่งเธอพูดกับคนกลุ่มหนึ่งในเยอรมนีที่กำลังประสบความบอบช้ำจากสงคราม ข่าวสารของเธอคือ ‘พระผู้เป็นเจ้าทรงให้อภัย’ เวลานั้นความซื่อสัตย์ของคอร์รี เทน บูมนำมาซึ่งพร

“ชายคนหนึ่งเดินมาหาเธอ เธอจำได้ว่าเขาเป็นทหารยามสุดโหดคนหนึ่งในค่าย ‘คุณเอ่ยถึงราเวนส์บรูคในคำพูดของคุณ’ เขาบอก ‘ผมเป็นทหารยามที่นั่น … ผมเป็นชาวคริสต์ … ตั้งแต่ตอนนั้น’ เขาอธิบายว่าเขาขอให้พระผู้เป็นเจ้าประทานอภัยในเรื่องโหดร้ายทั้งหลายที่เขาเคยทำ เขายื่นมือออกมาแล้วถามว่า ‘คุณจะให้อภัยผมไหมครับ’

“คอร์รี เทน บูมกล่าวต่อจากนั้นว่า

“‘เขาคงจะยืนอยู่ตรงนั้นไม่กี่วินาที—ยื่นมือค้างไว้—แต่สำหรับดิฉันเหมือนนานหลายชั่วโมงขณะดิฉันพยายามจะทำเรื่องยากสุดเท่าที่เคยทำมา

“‘… ข่าวสารที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงให้อภัยมี … เงื่อนไขคือเราต้องให้อภัยคนที่ทำร้ายเรา …

“… ‘โปรดช่วยข้าพระองค์ด้วย!’ ดิฉันสวดอ้อนวอนในใจ ‘ข้าพระองค์ยกมือได้ ทำได้เท่านั้นจริงๆ โปรดเสริมความรู้สึกด้วยเถิด’

“‘… ดิฉันยืนตัวแข็งทื่อ ยื่นมือไปจับมือที่เขายื่นให้ดิฉัน ขณะทำเช่นนั้น เรื่องเหลือเชื่อก็เกิดขึ้น เกิดกระแสไฟฟ้าในไหล่ดิฉัน แล่นลงไปตามแขน ฉีดซ่านเข้ามาในมือที่จับกัน จากนั้นความอบอุ่นของการเยียวยาครั้งนี้ดูเหมือนจะท่วมร่างดิฉันจนทำให้ดิฉันน้ำตาคลอ

“‘ดิฉันให้อภัยคุณ บราเดอร์!’ ดิฉันร้องไห้ ‘ด้วยความจริงใจ’

“เราจับมือกันครู่ใหญ่ อดีตทหารยามกับอดีตนักโทษ ดิฉันไม่เคยรู้ถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าแรงกล้าเท่านี้มาก่อน’ [Corrie ten Boom, Tramp for the Lord (1974), 54–55.]” (คีธ บี. แมคมุลลิน, “เส้นทางแห่งหน้าที่ของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 15)

หลังจากนักเรียนอ่านจบแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านประทับใจอะไรกับเรื่องนี้

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:39–40 ขอให้ชั้นเรียนมองหากฎของพระเจ้าว่าด้วยการให้อภัย

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เราควรทำอะไรเมื่อมีคนขอการให้อภัย

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 40เราต้องให้อภัยคนที่กลับใจและขออภัยจากเรากี่ครั้ง (“จนถึงเจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด” บอกเป็นนัยว่าเราควรให้อภัยผู้อื่นมากครั้งเท่าที่พวกเขากลับใจและขออภัยหลังจากทำร้ายหรือทำให้เราขุ่นเคือง ถึงแม้เราได้รับบัญชาว่าเราพึงให้อภัย แต่มิได้หมายความว่าเราควรยอมให้ผู้อื่นทำร้ายเราอยู่ร่ำไป)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:41–43 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาความจริงที่พระเจ้าทรงสอนวิสุทธิชนเกี่ยวกับศัตรูของพวกเขาที่ไม่ยอมกลับใจ เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • เหตุใดความจริงเหล่านี้จึงสำคัญที่วิสุทธิชนในมิสซูรีต้องเข้าใจ

  • ท่านจะสรุปกฎของพระเจ้าว่าด้วยการให้อภัยอย่างไร (ช่วยนักเรียนระบุพระบัญชาต่อไปนี้: พระเจ้าทรงบัญชาว่าเราพึงให้อภัยศัตรูของเรา เขียนพระบัญชานี้ไว้บนกระดานใต้หัวข้อ กฎของพระเจ้าว่าด้วยการให้อภัย)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงได้รับบัญชาว่าเราพึงให้อภัยผู้อื่นแม้พวกเขาไม่ขออภัย

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:44–48 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงสัญญาว่าหากศัตรูของวิสุทธิชนยอมกลับใจ พวกเขาจะหนีพ้นการแก้แค้นของพระองค์ (หมายเหตุ: ใน ข้อ 44วลี “เจ้าไม่พึงให้อภัย” หมายความว่าผู้กระทำผิดควรรับผิดชอบการกระทำของตนอย่างเต็มที่ ไม่ได้หมายความว่าวิสุทธิชนควรรู้สึกจงเกลียดจงชังอยู่ร่ำไป)

สรุปโดยกระตุ้นให้นักเรียนทำตามกฎของพระเจ้าว่าด้วยการให้อภัยโดยพยายามให้อภัยคนที่ทำร้ายพวกเขาหรือคนที่พวกเขาห่วงใย

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 98 แมรีย์ เอลิซาเบธ รอลลินส์กับแครอไลน์ รอลลินส์ช่วยเก็บหนังสือพระบัญญัติมาได้หลายหน้า

เอ็ลเดอร์สตีเวน อี. สโนว์แห่งฝ่ายประธานโควรัมสาวกเจ็ดสิบเล่าเรื่องของแมรีย์ เอลิซาเบธกับแครอไลน์ รอลลินส์ดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์สตีเวน อี. สโนว์

“หลังจากย้ายมาอยู่อินดิเพนเดนซ์ มิสซูรีกับมารดาของพวกเธอในฤดูใบไม้ร่วงปี 1831 ไม่นานแมรีย์ เอลิซาเบธกับแครอไลน์ รอลลินส์สองพี่น้องก็ทราบเรื่องความยากลำบากและการข่มเหงที่วิสุทธิชนประสบที่นั่น คืนหนึ่งกลุ่มคนร้ายที่โกรธแค้นบุกบ้านของพวกเธอ มีอยู่ครั้งหนึ่งพวกเธอเห็นคนร้ายบุกสำนักพิมพ์ที่เพิ่งสร้างใหม่บนบ้านพักชั้นบนของวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์ส

“ระหว่างบุกสำนักพิมพ์ [วันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1833] กลุ่มคนร้ายบังคับให้ครอบครัวเฟลพ์สออกจากบ้านและโยนข้าวของของพวกเขาไปที่ถนน ต่อจากนั้นพวกคนร้ายลงมือทำลายอุปกรณ์การพิมพ์และโยนต้นฉบับที่ยังไม่เย็บเล่มลงมาจากชั้นบน บางคนดึงกระดาษปึกใหญ่ออกมาและประกาศว่า ‘นี่คือบัญญัติของพวกมอรมอน!’ [“Mary Elizabeth Rollins Lightner,” The Utah Genealogical and Historical Magazine, July 1926, 196] ถึงตอนนี้ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยศักดิ์สิทธิ์มากมาย การเปิดเผยบางเรื่องได้รับเมื่อต้นปี 1823 เมื่อเทพโมโรไนปรากฏต่อศาสดาพยากรณ์หนุ่ม โจเซฟบันทึกการเปิดเผยหลายเรื่องด้วยลายมือท่านเอง แต่ไม่ได้ทำเป็นเล่มแจกจ่ายให้สมาชิกของศาสนจักรใช้ประโยชน์ วิสุทธิชนในมิสซูรีตั้งตารอการเปิดเผยเหล่านี้ตีพิมพ์ออกมาเป็น ‘หนังสือพระบัญญัติ’ ด้วยความตื่นเต้นมาก งานนี้ดำเนินการอยู่ที่สำนักพิมพ์ขณะกลุ่มคนร้ายบุกโจมตี แมรีย์ เอลิซาเบธเวลานั้นอายุ 15 ปี เธอบรรยายเหตุการณ์ดังนี้

“‘ดิฉันกับแครอไลน์น้องสาว [อายุ 13 ปี] เฝ้าดูพวกเขาอยู่มุมรั้วเมื่อพวกเขาพูดถึงพระบัญญัติที่ดิฉันตั้งใจว่าจะต้องเอาบางส่วนมาให้ได้ น้องสาวบอกว่าถ้าดิฉันไปเอาเธอจะไปด้วย แต่พูดว่า “พวกเขาจะฆ่าเราแน่นอน”’ [“Mary Elizabeth Rollins Lightner,” 196]

“ขณะที่กลุ่มคนร้ายวุ่นอยู่อีกด้านหนึ่งของบ้าน เด็กสาวทั้งสองวิ่งเข้าไปหอบกระดาษล้ำค่าเหล่านั้นมาเต็มอ้อมแขน กลุ่มคนร้ายเห็นพวกเธอและสั่งให้หยุด แมรีย์ เอลิซาเบธจำได้ว่า ‘เราวิ่งเร็วที่สุดเท่าที่เราจะวิ่งได้ สองคนไล่ตามหลังเรา พอเห็นช่องรั้ว เรามุดรั้วเข้าไปในทุ่งข้าวโพดกว้างใหญ่ วางกระดาษไว้บนพื้น และซ่อนตัว ข้าวโพดสูงห้าฟุตถึงหกฟุต และหนามาก พวกเขาตามหาเราจนทั่ว และมาใกล้เรามากแต่ไม่เห็นเรา’ [“Mary Elizabeth Rollins Lightner,” 196]” (“Treasuring the Doctrine and Covenants,” Ensign, Jan. 2009, 50)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:23–27 “หาสบประมาทศัตรูเจ้าไม่, และรับไว้อย่างอดทน”

ถึงแม้เราต้องรับการทำร้ายอย่างอดทนและไม่แก้แค้น แต่นี่มิได้หมายความว่าเราควรยอมให้ผู้อื่นกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายเรา คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร กล่าวว่า “จุดยืนของศาสนจักรคือไม่ยอมรับการกระทำทารุณกรรมทุกรูปแบบ คนที่กระทำทารุณกรรมหรือโหดร้ายต่อคู่สมรส บุตรธิดา สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว หรือใครก็ตามถือว่าละเมิดกฎของพระผู้เป็นเจ้าและมนุษย์” (คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร [2010], 21.4.2)