เซมินารี
บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน: หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101:42 (หน่วย 21)


บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101:42 (หน่วย 21)

เนื้อหาเตรียมสอนสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

บทสรุปของบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านประจำวัน

บทสรุปต่อไปนี้ของเหตุการณ์ หลักคำสอน และหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101:42 (หน่วย 21) ไม่ได้มีเจตนาให้ใช้สอนในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 98)

ขณะที่นักเรียนศึกษาเรื่องการใช้ความรุนแรงของกลุ่มคนร้ายที่วิสุทธิชนประสบในเทศมณฑลแจ็คสัน รัฐมิสซูรี พวกเขาเรียนรู้ว่าเราพิสูจน์ตนต่อพระเจ้าโดยรักษาพันธสัญญาของเรา แม้เมื่อรักษาได้ยาก นักเรียนเรียนรู้เช่นกันว่าหากเราอดทนต่อการปฏิบัติไม่ดีของผู้อื่นและไม่แก้แค้น เมื่อนั้นพระเจ้าจะประทานรางวัลแก่เรา สุดท้าย พวกเขาเรียนรู้ว่าการเข้าสู่สงครามจะถูกต้องภายใต้สภาวการณ์ที่พระเจ้าทรงกำหนด

วันที่ 2 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 99–100)

ในบทนี้นักเรียนเรียนรู้ว่าเราเป็นตัวแทนของพระเจ้าเมื่อเรารับใช้งานเผยแผ่และคนที่รับพระกิตติคุณ “ดังเด็กเล็กๆ” (คพ. 99:3) ย่อมได้รับพระเมตตา พวกเขาเรียนรู้เช่นกันว่าหากเราจะเปล่งเสียงแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นในความสำรวมแห่งใจและในวิญญาณแห่งความอ่อนโยน เมื่อนั้นพระเจ้าจะทรงช่วยให้เรารู้ว่าจะพูดอะไรและพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเป็นพยานยืนยันข่าวสารของเรา นักเรียนค้นพบเช่นกันว่าสิ่งทั้งปวงจะร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของเราหากเราดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรงต่อพระพักตร์พระเจ้า

วันที่ 3 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:1–16)

ขณะที่นักเรียนศึกษาเรื่องการขับไล่วิสุทธิชนออกจากเทศมณฑลแจ็คสัน รัฐมิสซูรี พวกเขาเรียนรู้ว่าเมื่อเราละเมิดพระบัญญัติ พระผู้เป็นเจ้าทรงยอมให้เราทนทุกข์ นี่ต่างจากการทดลองและประสบการณ์ยากๆ ของคนชอบธรรม พวกเขาเรียนรู้เช่นกันว่าหากเราจะไม่อดทนต่อการตีสอน เราจะรับการชำระให้บริสุทธิ์ไม่ได้ นักเรียนค้นพบว่าแม้เมื่อเราทำบาป พระเจ้าจะยังทรงเมตตาสงสารเรา เมื่อเราดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม เราจะพบการปลอบโยนในความรู้ที่ว่าคนทั้งปวงอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า

วันที่ 4 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:17–42)

ส่วนหนึ่งของบทเรียนนี้คือนักเรียนเรียนรู้วิธีที่เราสามารถเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด พวกเขาระบุหลักธรรมว่าผู้ประสบการข่มเหงเพราะพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดและอดทนด้วยศรัทธาจะรับส่วนรัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาค้นพบด้วยว่าเพื่อช่วยให้ผู้คนของแผ่นดินโลกได้รับพรของพระผู้เป็นเจ้า เราต้องกลับใจจากบาปของเราและนอบน้อมถ่อมตน

คำนำ

บทนี้เน้นคำแนะนำบางประการใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98 ที่พระเจ้าประทานแก่วิสุทธิชนผู้ถูกกลุ่มคนร้ายข่มเหง บทนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจได้ว่าเราควรตอบสนองสถานการณ์ยากๆ อย่างไร และนั่นจะช่วยเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาถึงเดชานุภาพและพระกรุณาของพระเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 98

พระเจ้าประทานความเชื่อมั่นแก่วิสุทธิชนระหว่างความทุกข์ยากของพวกเขา

ก่อนเริ่มชั้นเรียน ให้เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ท่านจะรู้สึกอย่างไร ท่านจะทำอย่างไร

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าบทเรียนวันนี้พวกเขาจะเรียนเรื่องการทดลองบางอย่างและการข่มเหงที่วิสุทธิชนในเทศมณฑลแจ็คสัน รัฐมิสซูรีประสบในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1833 อธิบายว่าชาวมิสซูรีบางคนโกรธวิสุทธิชนเพราะความต่างทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และศาสนา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้

วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1833 พลเมืองมิสซูรีที่โกรธเกรี้ยวราว 400 ถึง 500 คนประชุมกันที่สำนักงานศาลในเมืองอินดิเพนเดนซ์ รัฐมิสซูรี พวกเขาเลือกคณะกรรมการชุดหนึ่งให้ร่างเอกสารสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องจากชาวมอรมอน พวกเขาเรียกร้องไม่ให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายย้ายเข้ามาเทศมณฑลแจ็คสันอีกและกล่าวว่าคนที่เข้ามาอยู่ที่นั่นแล้วต้องสัญญาว่าจะออกไปให้เร็วที่สุด นอกจากนี้พวกเขายังเรียกร้องให้หนังสือพิมพ์ของศาสนจักรหยุดตีพิมพ์ด้วย เมื่อเสนอข้อเรียกร้องเหล่านี้ต่อผู้นำศาสนจักรในมิสซูรี ผู้นำศาสนจักรตกใจและขอเวลาสามเดือนพิจารณาข้อเสนอและหารือกับผู้นำศาสนจักรในโอไฮโอ กลุ่มพลเมืองมิสซูรีที่เสนอข้อเรียกร้องปฏิเสธคำขอของผู้นำศาสนจักร ต่อจากนั้นวิสุทธิชนขอเวลา 10 วัน แต่พวกเขาได้รับอนุญาตให้ตอบภายใน 15 นาที (ดู ประวัติศาสนจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 276–289)

ขอให้นักเรียนตอบคำถามบนกระดาน

เชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้

ชาวมิสซูรีที่ประชุมในสำนักงานศาลอินดิเพนเดนซ์กลายเป็นกลุ่มคนร้ายอย่างรวดเร็ว พวกเขาตัดสินใจทำลายสำนักพิมพ์และแท่นพิมพ์ กลุ่มคนร้ายบุกสำนักพิมพ์ โยนเฟอร์นิเจอร์ไปที่ถนนและสวน ทำลายแท่นพิมพ์ เทตัวพิมพ์กระจายเกลื่อน และทำลายงานพิมพ์เกือบทั้งหมด รวมทั้งแผ่นหนังสือพระบัญญัติส่วนใหญ่ที่ยังไม่เย็บเล่ม กลุ่มคนร้ายต้องการทำลายร้านกิลเบิร์ตและวิทนีย์เป็นรายต่อไป อย่างไรก็ดี ซิดนีย์ กิลเบิร์ตพบกลุ่มคนร้ายก่อนที่พวกเขาจะดำเนินการตามแผนและสัญญาว่าเขาจะเก็บข้าวของออกไปในสามวัน (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา, 289)

ขอให้นักเรียนตอบคำถามบนกระดานอีกครั้ง

เชื้อเชิญให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้

สามวันต่อมา วันที่ 23 กรกฎาคม กลุ่มคนร้ายปรากฏตัวอีกครั้งในเทศมณฑลแจ็คสัน รัฐมิสซูรี คราวนี้พกปืนยาว ปืนสั้น ถือแส้ และไม้พลองมาด้วย กลุ่มคนร้ายจุดไฟเผากองฟางและทุ่งธัญพืช ทำลายบ้านเรือนหลายหลัง ยุ้งฉาง และธุรกิจต่างๆ สุดท้ายกลุ่มคนร้ายเผชิญหน้ากับผู้นำศาสนจักรหกคนผู้เสนอชีวิตตนเองเป็นค่าไถ่เมื่อเห็นว่าทรัพย์สินและชีวิตของวิสุทธิชนอยู่ในอันตราย หัวหน้ากลุ่มคนร้ายปฏิเสธข้อเสนอ และขู่ว่าจะเฆี่ยนชายหญิงและเด็กทุกคนหากพวกเขาไม่ยอมออกจากเทศมณฑล เมื่อถูกกดดัน เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่จึงลงนามยินยอมออกจากเทศมณฑลแจ็คสัน—สมาชิกศาสนจักรกึ่งหนึ่งและผู้นำส่วนใหญ่จะออกไปวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1834 และที่เหลือจะออกไปวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1834 กลุ่มคนร้ายยอมให้จอห์น คอร์ริลล์และซิดนีย์ กิลเบิร์ตอยู่ขายทรัพย์สินของวิสุทธิชนที่ถูกขับไล่ออกไป (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา, 290)

ขอให้นักเรียนตอบคำถามบนกระดานอีกครั้ง

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำนำภาคของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 98 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าอะไรทำให้ได้รับการเปิดเผยนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ตามที่กล่าวไว้ในคำนำภาค อะไรน่าสังเกตเกี่ยวกับจังหวะเวลาของการเปิดเผย

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่วิสุทธิชน (อาจเป็นประโยชน์ถ้าอธิบายว่า ซาบาโอธ ใน ข้อ 2เป็นคำภาษาฮีบรูมักจะหมายถึงไพร่พลหรือกองทัพ การใช้คำดังกล่าวในข้อนี้บอกเป็นนัยว่าพระเจ้าทรงมีกองทัพเหล่าเทพหรือไพร่พล และกองทัพของอิสราเอลหรือวิสุทธิชนตามพระบัญชาของพระองค์ [ดู Bible Dictionary, “Sabaoth”])

  • พระเจ้าประทานคำแนะนำอะไรแก่วิสุทธิชน (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่วิสุทธิชนต้องขอบพระทัยในยามยากลำบาก

  • ท่านคิดว่ารอคอยพระเจ้าอย่างอดทนหมายความว่าอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าการรอคอยพระเจ้าอย่างอดทนหมายความว่าอย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์

“การรอคอยพระเจ้าหมายถึงอะไร ในพระคัมภีร์ คำว่า รอ หมายถึงหวัง คาดหวัง และวางใจ การหวังและวางใจในพระเจ้าเรียกร้องศรัทธา ความอดทน ความอ่อนน้อม ความอ่อนโยน ความอดกลั้น การรักษาพระบัญญัติ และการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่” (“การรอคอยพระเจ้า: ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 92)

  • คำกล่าวของเอ็ลเดอร์เฮลส์ช่วยให้ท่านเข้าใจความหมายของการรอคอยพระเจ้าอย่างอดทนว่าอย่างไร

  • เหตุใดคำแนะนำให้รอคอยพระเจ้าอย่างอดทนจึงสำคัญสำหรับวิสุทธิชนในมิสซูรี

  • พระเจ้าประทานคำปลอบโยนอะไรแก่วิสุทธิชนใน ข้อ 2

เขียนหลักธรรมที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: หากเราน้อมขอบพระทัยในทุกสิ่งและรอคอยพระเจ้าอย่างอดทน เมื่อนั้น …

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสัญญากับวิสุทธิชนหากพวกเขาจะเชื่อฟังคำแนะนำของพระองค์

  • ท่านจะเติมหลักธรรมบนกระดานให้ครบถ้วนว่าอย่างไรโดยอ้างอิงกับ ข้อ 3 (ต่อไปนี้เป็นด้านหนึ่งที่นักเรียนจะเติมหลักธรรมให้ครบถ้วน: หากเราน้อมขอบพระทัยในทุกสิ่งและรอคอยพระเจ้าอย่างอดทน เมื่อนั้นพระเจ้าจะทรงทำให้ความทุกข์ของเราร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของเรา)

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงคนรู้จักบางคนผู้รอคอยพระเจ้าอย่างอดทนในยามยากลำบากและพบเหตุผลให้สำนึกคุณ

  • ความทุกข์ก่อให้เกิดผลดีในชีวิตบุคคลนั้นในด้านใด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:18 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาพรที่คนซื่อสัตย์จะได้รับ

สรุปโดยเป็นพยานถึงหลักธรรมที่ท่านสนทนาในชั้นเรียนวันนี้

หน่วยถัดไป (หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:43–101; 102–105)

เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขาจะตอบอย่างไรหากพระเจ้าทรงเรียกให้พวกเขาเดินทัพหลายร้อยไมล์ตลอดหลายเดือนเพื่อไปช่วยสมาชิกศาสนจักรที่ตกทุกข์ได้ยาก อธิบายว่าเมื่อพวกเขาศึกษาส่วนที่เหลือของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 101 และภาค 102 ถึง 105 ระหว่างสัปดาห์ที่จะมาถึง พวกเขาจะเรียนรู้เกี่ยวกับคนกลุ่มหนึ่งที่อาสาเดินทางจากโอไฮโอไปมิสซูรีเพื่อช่วยเพื่อนสมาชิกศาสนจักร กลุ่มนี้เรียกกันว่าค่ายไซอัน