เซมินารี
บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน: หลักคำสอนและพันธสัญญา 41–44 (หน่วย 10)


บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 41–44 (หน่วย 10)

เนื้อหาเตรียมสอนสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

บทสรุปของบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านประจำวัน

บทสรุปต่อไปนี้ของเหตุการณ์ หลักคำสอน และหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 41–44 (หน่วย 10) ไม่ได้มีเจตนาให้ใช้สอนในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 41)

จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 41นักเรียนเรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงยินดีจะอวยพรเราเมื่อเราฟังและเชื่อฟังพระองค์ เรากลายเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์เมื่อเรารับกฎของพระองค์และทำตาม โดยศึกษาการเรียกเอดเวิร์ด พาร์ทริจเป็นอธิการคนแรกของศาสนจักร นักเรียนเรียนรู้เช่นกันว่าอธิการได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า สนับสนุนโดยเสียงของสมาชิก และวางมือแต่งตั้งโดยผู้มีสิทธิอำนาจที่ถูกต้อง

วันที่ 2 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:1–29)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42 รู้กันว่าเป็น “กฎของศาสนจักร” เมื่อนักเรียนศึกษากฎของศาสนจักรส่วนแรก พวกเขาเรียนรู้ว่าหากเราสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธา เราจะได้รับพระวิญญาณมาช่วยเราสอนคนอื่นๆ นอกจากนี้ นักเรียนยังเรียนรู้ด้วยว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทราบสิ่งทั้งปวงและรับสั่งคำพยานถึงพระบิดาและพระบุตร ในบรรดากฎและพระบัญญัติมากมายที่เราศึกษาใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 42 ส่วนนี้ นักเรียนศึกษาความจริงว่าหากเราเกิดตัณหาราคะในผู้อื่น เมื่อนั้นเราย่อมปฏิเสธศรัทธาและสูญเสียพระวิญญาณ

วันที่ 3 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:30–93)

เมื่อนักเรียนศึกษาและสอนเรื่องกฎแห่งการอุทิศถวายของพระเจ้า พวกเขาเรียนรู้ว่าเราต้องดูแลคนจนและคนขัดสน เมื่อเราทำดีต่อผู้อื่น เท่ากับเราทำดีต่อพระเจ้า นักเรียนระบุหลักธรรมเช่นกันว่าหากเราขอ พระเจ้าจะประทานความรู้ซึ่งจะนำสันติและปีติมาให้เรา พวกเขาสรุปบทเรียนโดยเรียนรู้ว่าความผิดที่กระทำในที่ลับควรแก้ไขในที่ลับ

วันที่ 4 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 43–44)

ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 43นักเรียนเรียนรู้ว่าเฉพาะประธานศาสนจักรเท่านั้นที่จะได้รับการเปิดเผยสำหรับทั้งศาสนจักร นักเรียนเข้าใจเช่นกันว่าจุดประสงค์ของการประชุมศาสนจักรคือแนะนำสั่งสอนและจรรโลงใจกัน เราต้องผูกมัดตนให้ปฏิบัติตามความจริงที่เราเรียนรู้ หลังจากศึกษาว่าพระเจ้าทรงบัญชาบุตรธิดาของพระองค์ให้กลับใจและเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์อย่างไร นักเรียนเรียนรู้ว่าระหว่างมิลเลเนียม ซาตานจะถูกมัดและพระเยซูคริสต์จะทรงปกครองผู้คนของพระองค์บนแผ่นดินโลก

คำนำ

ในบทนี้ นักเรียนจะเน้นคำสอนของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 42 เกี่ยวกับความตายและการรักษา ซึ่งไม่อยู่ในบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านของนักเรียน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:43–52

พระเจ้าประทานคำแนะนำเกี่ยวกับความตายและการรักษา

ให้ท่านถือขวดเล็กบรรจุน้ำมันมะกอกที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์แล้วสำหรับให้พรผู้ป่วยในมือข้างหนึ่ง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งให้ถือขวดยา

  • ของเหล่านี้ใช้สำหรับอะไร

  • เราควรใช้สิ่งใดในยามที่เราเจ็บป่วย

หลังจากนักเรียนแบ่งปันความคิดพอสังเขปแล้ว ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:43–44 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำแนะนำของพระเจ้าเกี่ยวกับสิ่งที่เราควรใช้ยามเจ็บป่วย เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจข้อเหล่านี้ ท่านอาจจะอธิบายว่าสมุนไพรและอาหารอ่อนตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 43 หมายถึงการรักษาพยาบาลที่ทำกันทั่วไปในช่วงประทานการเปิดเผยนี้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการรักษาจะหายได้โดยศรัทธา และ การรักษาพยาบาล ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขณะที่นักเรียนอ่าน ให้ชั้นเรียนฟังว่าการรักษาจะหายผ่านทางศรัทธาและการแพทย์ได้อย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเชื่อเรื่องการประยุกต์ใช้ความรู้และเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้ผลดีที่สุด เราใช้โภชนาการ การออกกำลังกาย และวิธีปฏิบัติอื่นๆ เพื่อรักษาสุขภาพและเราขอความช่วยเหลือจากผู้ชำนาญการ เช่น อายุรแพทย์และศัลยแพทย์เพื่อฟื้นฟูสุขภาพ

“การใช้วิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่ขัดกับการสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาและความเชื่อมั่นในพรฐานะปุโรหิต …

“แน่นอนว่าเราไม่ต้องรอใช้วิธีอื่นจนหมดจึงจะสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาหรือให้พรฐานะปุโรหิตเพื่อรักษา ในกรณีฉุกเฉิน การสวดอ้อนวอนและการให้พรมาก่อน ส่วนใหญ่แล้วเรามักใช้ความพยายามทุกวิถีทางควบคู่กัน” (“รักษาคนป่วย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 58)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องใช้การสวดอ้อนวอนและพรฐานะปุโรหิตพร้อมกับการรักษาพยาบาลเมื่อเราเจ็บป่วย

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 44 ผู้ป่วยทุกคนที่ได้รับพรฐานะปุโรหิตจะหายหรือไม่

บอกนักเรียนว่าพระเจ้าทรงอธิบายว่าเหตุใดคนที่ได้รับพรฐานะปุโรหิตอาจจะไม่หายป่วย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:48 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาหลักธรรมที่กำหนดว่าคนนั้นจะหายเป็นปรกติเพราะพรฐานะปุโรหิตหรือไม่

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 48 อะไรคือปัจจัยหลักที่กำหนดผลของพรฐานะปุโรหิต (หากบุคคลมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์และไม่ถูกกำหนดให้ตาย เขาจะหายเป็นปรกติ ท่านอาจต้องอธิบายว่าวลี “ไม่ถูกกำหนดให้ตาย” หมายถึงข้อเท็จจริงที่ว่าความตายหรือการรักษาจะหายเป็นปรกติตามจังหวะเวลา พระปรีชาญาณ และพระประสงค์ของพระเจ้า)

  • เหตุใดจึงไม่ใช่ทุกคนที่มีศรัทธาในพระเยซูคริสต์จะหายเป็นปรกติ

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องมีศรัทธาในพระประสงค์และจังหวะเวลาของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับเราแต่ละคน

เชื้อเชิญให้นักเรียนระบุหลักธรรมหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:48 เกี่ยวกับการหายเป็นปรกติจากความทุพพลภาพของเรา ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: หากเรามีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราจะหายเป็นปรกติตามพระประสงค์ของพระองค์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำหรือวลีใน ข้อ 48 ที่สอนหลักธรรมนี้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าศรัทธาของเราต้องมีศูนย์รวมอยู่ที่พระเยซูคริสต์ไม่ใช่ผลที่เราปรารถนา ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนฟังเหตุผลว่าทำไมศรัทธาของเราจึงต้องมีศูนย์รวมอยู่ที่พระเยซูคริสต์

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ในฐานะลูกของพระผู้เป็นเจ้า การรู้เรื่องความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์และความรู้สูงสุดของพระองค์ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับความผาสุกนิรันดร์ของเราทำให้เราวางใจพระองค์ หลักธรรมพระกิตติคุณข้อแรกคือศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ และศรัทธาหมายถึงวางใจ ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความวางใจนั้นในคำพูดที่ลูกพี่ลูกน้องของข้าพเจ้ากล่าวในพิธีศพของหญิงสาววัยรุ่นผู้สิ้นชีวิตจากโรคร้าย เขาพูดคำเหล่านี้ซึ่งตอนแรกทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจและเป็นอุทาหรณ์สอนใจข้าพเจ้าหลังจากนั้น ‘ผมรู้ว่านี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่เธอสิ้นชีวิต เธอได้รับการรักษาอย่างดี เธอได้รับพรฐานะปุโรหิต ชื่อของเธออยู่ในรายชื่อสวดอ้อนวอนในพระวิหาร คนหลายร้อยคนสวดอ้อนวอนให้เธอมีสุขภาพดีดังเดิม และผมรู้ว่าครอบครัวนี้มีศรัทธามากพอว่าเธอจะหายเว้นแต่คราวนี้พระเจ้าทรงมีพระประสงค์จะนำเธอกลับบ้าน’ ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความวางใจเดียวกันในถ้อยคำของบิดาเมื่อลูกสาวที่น่ารักอีกคนของเขาสิ้นชีวิตด้วยโรคมะเร็งขณะยังเป็นวัยรุ่น เขาประกาศว่า ‘ศรัทธาของครอบครัวเราอยู่ในพระเยซูคริสต์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมา’ คำสอนเหล่านี้เป็นจริงสำหรับข้าพเจ้า เราทำทุกอย่างสุดความสามารถเพื่อรักษาคนที่เรารัก และจากนั้นเราวางใจพระเจ้าสำหรับผลที่ตามมา” (“รักษาคนป่วย,”61)

  • แต่ละบุคคลที่เอ็ลเดอร์โอ๊คส์พูดถึงใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์อย่างไร

  • บางครั้งการเห็นคนที่เรารักสิ้นชีวิตหรืออดทนต่อความความเจ็บป่วยยาวนานต้องใช้ศรัทธามากกว่าการเห็นพวกเขามีชีวิตหรือหายป่วย ท่านคิดว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์แม้เราอาจไม่ได้รับผลสมปรารถนา

ถามนักเรียนว่าพวกเขารู้จักใครที่ตายจากไปทั้งที่ทำตามคำแนะนำของแพทย์และแสวงหาการรักษาผ่านการสวดอ้อนวอนและพรฐานะปุโรหิต (จงละเอียดอ่อนเป็นพิเศษต่อความรู้สึกของคนที่อาจเคยประสบสถานการณ์นี้) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:45–47 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำหรือวลีที่อาจจะปลอบโยนผู้เคยประสบความตายของคนที่เขารัก

  • ข้อ 45 บอกเราว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะโศกเศร้าเมื่อต้องสูญเสียคนที่เรารัก หลักคำสอนใดใน ข้อ 46 อาจจะปลอบโยนคนที่โศกเศร้าเมื่อต้องสูญเสียคนที่เขารัก (ความตายจะหวานสำหรับคนที่ตายในพระเจ้า ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายที่คำหรือวลีที่สอนความจริงนี้)

  • ท่านคิดว่าตายในพระเจ้าหมายความว่าอย่างไร (วิธีหนึ่งที่จะอธิบายคือคนนั้นอดทนและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์อย่างซื่อสัตย์จนถึงเวลาสิ้นชีวิต)

  • ท่านคิดว่าความตายจะ “หวาน” สำหรับคนที่รักพระเจ้าหมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่าถึงแม้คนซื่อสัตย์ที่สิ้นชีวิตจะประสบความเจ็บปวดทางกาย แต่คำสัญญานี้หมายถึงสันติสุขและการพักผ่อนที่เขาจะประสบในโลกวิญญาณ)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาดำเนินชีวิตถึงขนาดที่ความตายจะ “หวาน” สำหรับพวกเขาหรือไม่หากต้องตายวันนี้ (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนความคิดของพวกเขาลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์)

สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่สอนในบทเรียนวันนี้

หน่วยถัดไป (หลักคำสอนและพันธสัญญา 45–48)

ถามนักเรียนว่าพวกเขาเคยรู้สึกทุกข์ใจหรือกังวลใจกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์หรือไม่ อธิบายว่าในหน่วยถัดไปนักเรียนจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับเครื่องหมายการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จมา เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้พร้อมสำหรับเวลานั้น