เซมินารี
บทที่ 28: หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37, 68–84


บทที่ 28

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37, 68–84

คำนำ

ในส่วนนี้ของภาค 20 พระเจ้าประทานคำแนะนำเกี่ยวกับการปกครองศาสนจักรของพระองค์ รวมถึงคำอธิบายเกี่ยวกับข้อกำหนดสำหรับบัพติศมาและการยืนยัน วิธีปฏิบัติศาสนพิธีบัพติศมา การยืนยัน และศีลระลึกให้ถูกต้อง

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37, 68–74

พระเจ้าทรงเปิดเผยข้อกำหนดสำหรับแต่ละคนก่อนและหลังบัพติศมา

เชื้อเชิญให้นักเรียนคิดว่าพวกเขาจะพูดอะไรในสถานการณ์ต่อไปนี้

เพื่อนที่นับถือศาสนาอื่นได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู เธอถามท่านว่า “ฉันต้องทำอะไรจึงจะรับบัพติศมาเป็นสมาชิกในศาสนจักรของคุณได้”

ขอให้นักเรียนเขียนคำตอบของคำถามข้อนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา จากนั้นให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 โดยมองหาข้อกำหนดสำหรับคนที่ปรารถนาจะรับบัพติศมา ท่านอาจเสนอแนะให้นักศึกษาทำเครื่องหมายข้อกำหนดแต่ละข้อที่ค้นพบ เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของข้อนี้ดีขึ้น ท่านอาจต้องการอธิบายว่าผู้มี “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” จะนอบน้อมถ่อมตนและยอมรับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขารู้สึกเสียใจเพราะบาปและปรารถนาจะกลับใจอย่างแท้จริง

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ก่อนผู้คนจะได้รับบัพติศมา พวกเขาต้อง …

เชิญนักเรียนคนหนึ่งมาที่กระดานและเป็นคนเขียนกระดาน ถามคำถามต่อไปนี้กับชั้นเรียน

  • จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37บุคคลต้องแสดงให้เห็นอะไรก่อนจึงจะรับบัพติศมาได้ (ขณะที่นักเรียนตอบคำถามนี้ ขอให้คนเขียนเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วน เขาอาจจะเขียนทำนองนี้: ก่อนผู้คนจะได้รับบัพติศมา พวกเขาต้องนอบน้อมถ่อมตน กลับใจ เต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์ และตั้งใจจะรับใช้พระองค์จนกว่าชีวิตจะหาไม่)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเขาจึงต้องบรรลุข้อกำหนดเหล่านี้ก่อนรับบัพติศมา

ชี้ให้เห็นว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 สรุปพันธสัญญาที่เราทำเมื่อเรารับบัพติศมาเช่นกัน เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองสิ่งที่พวกเขาทำเวลานี้เพื่อดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาบัพติศมา

ให้พวกเขาสมมติว่าเพื่อนคนเดิมถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคนหนึ่งรับบัพติศมา หลังจากนักเรียนสองสามคนตอบแล้ว ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:72–74 ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายแบบฉบับของบัพติศมาตามที่พระเจ้าทรงกำหนด

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 72–74 พระเจ้าทรงต้องการให้ประกอบพิธีบัพติศมาอย่างไร (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: บัพติศมาต้องทำโดยการจุ่มลงไปในน้ำทั้งตัวและประกอบพิธีโดยผู้ดำรงสิทธิอำนาจที่ถูกต้อง เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดานใต้หลักธรรมที่เขียนก่อนหน้านี้)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:68–69 ในใจโดยระบุความคาดหวังของพระเจ้าสำหรับเราแต่ละคนหลังจากเรารับบัพติศมา ท่านอาจเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายความคาดหวังเหล่านี้

  • ท่านค้นพบว่าพระเจ้าทรงคาดหวังสิ่งใดจากเราบ้างหลังจากเรารับบัพติศมา

หมายเหตุ: นักเรียนอาจถามเกี่ยวกับข้อกำหนดใน ข้อ 68 ที่ว่าเอ็ลเดอร์ต้องสอนสมาชิกที่รับบัพติศมาใหม่ก่อนพวกเขาจะได้รับการยืนยัน อธิบายว่าปัจจุบันการสอนบทเรียนผู้สอนศาสนาให้ผู้สนใจก่อนบัพติศมาจะยอมให้ผู้คนได้รับการยืนยันและรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ทันทีหลังจากพวกเขารับบัพติศมา

  • จาก ข้อ 69 ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราแสดงให้พระเจ้าเห็นความมีค่าควรของเราหลังจากเรารับบัพติศมา (คำตอบของนักเรียนอาจหลากหลาย แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หลังจากบัพติศมา เราแสดงให้พระเจ้าเห็นความมีค่าควรของเราผ่านการดำเนินชีวิตและการสนทนาตามวิถีแห่งพระผู้เป็นเจ้า เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดานใต้หลักธรรมสองข้อก่อนหน้านี้)

  • ท่านคิดว่าการ “แสดง … การดำเนินชีวิตและการสนทนาตามวิถีแห่งพระผู้เป็นเจ้า [ให้ประจักษ์]” หมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่าบุคคลแสดงให้ประจักษ์หรือแสดงให้เห็น “การดำเนินชีวิตและการสนทนาตามวิถีแห่งพระผู้เป็นเจ้า” ผ่านการกระทำ เจตคติ และคำพูดที่สอดคล้องกับพระผู้เป็นเจ้า)

หากจำเป็นท่านอาจจะขอให้นักเรียนเปิดไปที่หมวด เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน เพื่อหาคำแนะนำจำเพาะเจาะจงมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีที่เยาวชนจะแสดง “การดำเนินชีวิตและการสนทนาตามวิถีแห่งพระผู้เป็นเจ้า” ให้ประจักษ์

  • ท่านเคยเห็นคนอื่นๆ “แสดง … การดำเนินชีวิตและการสนทนาตามวิถีแห่งพระผู้เป็นเจ้าให้ประจักษ์” เมื่อใด ท่านคิดว่าการกระทำและเจตคติของพวกเขามีอิทธิพลต่อคนรอบข้างอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ ให้พวกเขาไตร่ตรองว่าพวกเขาจะแสดง “การดำเนินชีวิตและการสนทนาตามวิถีแห่งพระผู้เป็นเจ้า” ให้ประจักษ์อย่างเต็มที่มากขึ้นในสองสามวันต่อจากนี้ได้อย่างไร ถ้านักเรียนรู้สึกสบายใจกับการแบ่งปันว่าพวกเขามีแผนทำสิ่งนี้อย่างไร ให้พวกเขาแบ่งปันแนวคิดกับชั้นเรียน ท่านอาจต้องการทำเหมือนกันโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพรที่เกิดขึ้นเมื่อเราให้เกียรติพันธสัญญาบัพติศมาของเรา

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:75–79

พระเจ้าประทานคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติศีลระลึก

เชิญนักเรียนสองคนออกมาหน้าชั้น ขอให้คนหนึ่งเป็นตัวแทนของเพื่อนที่มาการประชุมศีลระลึกครั้งแรกและต้องการรู้ว่าเหตุใดจึงส่งผ่านขนมปังและน้ำไปให้ผู้เข้าร่วมประชุม ขอให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอธิบายเรื่องศาสนพิธีของศีลระลึกกับเพื่อนคนนั้น หลังจากนักเรียนแบ่งปันข้อคิดของเขาแล้ว ขอให้ชั้นเรียนมองหาข้อพระคัมภีร์สนับสนุนสิ่งที่นักเรียนอธิบาย และข้อคิดเพิ่มเติมที่พวกเขาจะใช้อธิบายเรื่องศีลระลึกขณะพวกเขาศึกษาอีกหลายข้อถัดไป

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:75 และขอให้ชั้นเรียนดูตาม (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันเราใช้น้ำแทนเหล้าองุ่นในศีลระลึก ดู คพ. 27:1–2)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงได้รับบัญชาให้รับส่วนศีลระลึกด้วยกันบ่อยๆ

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เมลวิน เจ. บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าเมื่อเอ็ลเดอร์บัลลาร์ดพูดถึง “[การ] ปรากฏตัวที่โต๊ะศีลระลึก” ท่านเพียงกล่าวถึงการรับส่วนศีลระลึก)

ภาพ
เอ็ลเดอร์เมลวิน เจ. บัลลาร์ด

“สิ่งหนึ่งที่จะให้ความปลอดภัยของชายหญิงทุกคนคือการปรากฏตัวที่โต๊ะศีลระลึกทุกวันสะบาโต เราจะไม่ห่างเหินมากนักในหนึ่งสัปดาห์—เราต้องสำรวจตนเองเพื่อดูว่าเราไม่ห่างเหินมากจนไม่สามารถแก้ไขความผิดที่เราทำได้ … ถนนไปโต๊ะศีลระลึกคือเส้นทางของความปลอดภัยสำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย” (ใน ไบรอัน เอส. ฮิงค์ลีย์, Sermons and Missionary Services of Melvin Joseph Ballard [1949], 151)

เขียนหัวข้อ ต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน:

สิ่งที่เราสัญญา สิ่งที่พระเจ้าทรงสัญญา

ขอให้นักเรียนครึ่งชั้นอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77–79โดยมองหาสิ่งที่เราสัญญาขณะรับส่วนศีลระลึก เชิญนักเรียนอีกครึ่งชั้นอ่านข้อเดียวกันโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสัญญา หลังจากนักเรียนมีเวลาศึกษาพอสมควรแล้ว ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ เชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดานใต้หัวข้อที่เหมาะสม ขณะนักเรียนทำรายการเหล่านี้ พวกเขาจะค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้

เมื่อเรารับส่วนศีลระลึก เราเป็นพยานว่าเราเต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์ เราจะระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา และเราจะรักษาพระบัญญัติของพระองค์

เมื่อเราซื่อสัตย์ต่อสัญญาที่เราทำระหว่างศีลระลึก เราจะมีพระวิญญาณอยู่กับเราตลอดเวลา

ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายความจริงเหล่านี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • โดยเปรียบเทียบรายการบนกระดานกับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 ท่านเห็นความคล้ายคลึงอะไรบ้างในสัญญาที่ทำระหว่างศีลระลึกกับพันธสัญญาบัพติศมา

อธิบายว่าเมื่อเรารับส่วนศีลระลึกเราต่อพันธสัญญาที่ทำไว้เมื่อครั้งรับบัพติศมาและการยืนยัน

  • เราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าเราเต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์ (คำตอบอาจได้แก่ การยืนหยัดทำสิ่งถูกต้อง บอกคนอื่นๆ ว่าเราเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย แบ่งปันความเชื่อในพระองค์ และมีส่วนร่วมในงานของพระองค์)

  • เราจะทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลา

  • การรับส่วนศีลระลึกช่วยเรา “แสดง … การดำเนินชีวิตและการสนทนาตามวิถีแห่งพระผู้เป็นเจ้า [ให้ประจักษ์]” อย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจคุณค่าของการมีพระวิญญาณอยู่กับเรา ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านข้อความต่อไปนี้จาก แน่วแน่ต่อศรัทธา ขอให้ชั้นเรียนฟังพรของการต่อพันธสัญญาบัพติศมาของเรา

“ท่านได้รับพรมากมายเมื่อท่านรักษาพันธสัญญาบัพติศมา ขณะที่ท่านต่อพันธสัญญา พระเจ้าทรงต่อสัญญาว่าจะปลดบาปให้ท่าน เมื่อท่านสะอาดจากบาป ท่านย่อม “มีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับ [ท่าน] ตลอดเวลา” (คพ. 20:77) การมีพระวิญญาณเป็นเพื่อนตลอดเวลาเป็นของประทานยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งที่ท่านจะได้รับในความเป็นมรรตัย พระวิญญาณจะทรงนำทางท่านในวิถีแห่งความชอบธรรมและสันติ โดยนำท่านไปสู่ชีวิตนิรันดร์กับพระบิดาในสวรรค์และพระเยซูคริสต์” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 219)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรอง (หรือเขียน) ว่าพวกเขาจะเตรียมตนเองอย่างไรให้พร้อมรับส่วนศีลระลึกสัปดาห์นี้ ท่านอาจต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับคุณค่าของการต่อพันธสัญญาบัพติศมาทุกสัปดาห์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:80–84

พระเจ้าทรงแนะนำผู้นำศาสนจักรให้จดบันทึกสมาชิกภาพศาสนจักรอย่างถูกต้อง

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:81–84 โดยบอกนักเรียนว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตในศาสนจักรสมัยแรกได้รับคำแนะนำให้บันทึกชื่อคนที่เข้าร่วมศาสนจักร พวกเขาบันทึกชื่อเหล่านี้ไว้ในสมุด ชื่อของคนที่ตกไปจากศาสนจักรถูกลบออกจากสมุด นอกจากนี้ สมาชิกศาสนจักรที่ย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งต้องนำจดหมายรับรองการเป็นสมาชิกของพวกเขาไปมอบให้ผู้นำฐานะปุโรหิตคนใหม่ของพวกเขา ในสมัยของเรา ผู้นำศาสนจักรยังคงจดบันทึกสมาชิกภาพอย่างถูกต้อง แต่วิธีบันทึกมีประสิทธิภาพมากกว่า

ท่านอาจต้องการสรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักคำสอนและหลักธรรมที่สนทนาในบทนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37, 68–74 ปีติเมื่อบุคคลที่เรารักรับบัพติศมา

วันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1830 ส่วนหนึ่งของการประชุมเพื่อจัดตั้งศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์คือโจเซฟ สมิธ และออลิเวอร์ คาวเดอรียืนยันคนที่รับบัพติศมาก่อนหน้านี้และมอบของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้พวกเขา (ดู History of the Church, 1:61)

บิดามารดาของโจเซฟ สมิธรับบัพติศมาและการยืนยันวันนั้น นี่เป็นเวลาน่ายินดีสำหรับท่านศาสดาพยากรณ์ผู้ร้องอุทานว่า “สรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าของผม! ที่ผมได้อยู่เห็นคุณพ่อรับบัพติศมาเข้ามาในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์!” (ใน ลูซี แม็ค สมิธ, History of Joseph Smith by His Mother, ed. Preston Nibley [1958], 168; ดู History of the Church, 1:79 ด้วย) (ใน ลูซี แมค สมิธ, History of Joseph Smith by His Mother, ed. Preston Nibley [1958], 168, 1:79 ด้วย)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77 “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา”

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าการสวดอ้อนวอนและการศึกษาพระคัมภีร์ช่วยให้เรารักษาพันธสัญญาบัพติศมาว่าจะระลึกถึงพระเจ้าตลอดเวลา

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“ขอให้พิจารณาเหตุผลที่เราสวดอ้อนวอนและศึกษาพระคัมภีร์ … นิสัยที่งดงามเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วเป็นวิธีทำให้เราระลึกถึงพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์ตลอดเวลา และเป็นสิ่งที่เราต้องทำก่อนจึงจะมีพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเพื่อนตลอดไป” (“ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 122)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77, 79 “เพื่อพวกเขาจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับพวกเขาตลอดเวลา”

คำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดช่วยให้เราเข้าใจคุณค่าความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์

ภาพ
ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“บัพติศมาโดยการลงไปในน้ำทั้งตัวเป็น ‘ศาสนพิธีเบื้องต้นของพระกิตติคุณ และต้องตามด้วยบัพติศมาของพระวิญญาณจึงจะสมบูรณ์’ [Bible Dictionary, “Baptism,” 618.] …

“หากมีค่าควร ผู้มีของประทานฝ่ายวิญญาณนี้จะมีความเข้าใจ การเพิ่มพูน และการนำทางมากยิ่งขึ้นในกิจกรรมทุกอย่างของชีวิต ทั้งฝ่ายวิญญาณและฝ่ายโลก พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานยืนยันความจริงต่อเราและทรงทำให้จิตวิญญาณเรารู้ซึ้งถึงการดำรงอยู่จริงพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ จนไม่มีพลังหรืออำนาจใดในโลกแยกเราจากความรู้นั้นได้ [ดู 2 นีไฟ 31:18] โดยแท้แล้วการไม่มีของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็เหมือนกับการมีร่างกายแต่ไม่มีระบบภูมิคุ้มกัน …

“ผู้ครอบครองของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์หลังจากรับบัพติศมาและการยืนยันจะได้รับความสว่างและประจักษ์พยานมากขึ้น นี่เป็นเพราะของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์คือ ‘พยานถาวรและพรที่สูงกว่าการแสดงให้ประจักษ์โดยทั่วไปของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์’ [ใน James R. Clark, comp., Messages of the First Presidency of The Church of Jesus Christ of Latter-day Saints, 6 vols. (1965–75), 5:4.] นี่เป็นพรที่สูงกว่าเพราะของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถเป็น ‘สิ่งที่ชำระบุคคลให้บริสุทธิ์และสะอาดจากบาปทั้งหมด’ [Bible Dictionary, “Holy Ghost,” 704.]” (“การบังเกิดใหม่,” เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 81, 82)