เซมินารี
บทที่ 54: หลักคำสอนและพันธสัญญา 46


บทที่ 54

หลักคำสอนและพันธสัญญา 46

คำนำ

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1831 เกือบหนึ่งปีหลังจากจัดตั้งศาสนจักร พระเจ้าทรงเตือนวิสุทธิชนให้ดำเนินการประชุมต่างๆ ของศาสนจักรโดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ในการเปิดเผยเดียวกัน พระองค์ทรงเน้นว่าต้องไม่ขับคนที่ไม่เป็นสมาชิกของศาสนจักรออกจากการประชุมสาธารณะ นอกจากแก้ไขการขับผู้ไม่เชื่อออกจากการประชุมแล้ว พระเจ้าทรงสอนเรื่องของประทานแห่งพระวิญญาณด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:1–6

พระเจ้าทรงแนะนำวิสุทธิชนเกี่ยวกับการประชุมต่างๆ ของศาสนจักร

ขอให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขากำลังรับผิดชอบวางแผนการประชุมศีลระลึก

  • ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าจะรวมสิ่งใดไว้ในการประชุม ท่านจะเลือกเพลงและตัดสินใจอย่างไรว่าใครจะเป็นผู้พูด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานเกี่ยวกับวิธีดำเนินการประชุมต่างๆ ของศาสนจักร ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าความรับผิดชอบในการดำเนินการประชุมรวมถึงความรับผิดชอบในการเตรียมการประชุมด้วย ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ คำตอบของพวกเขาอาจหลากหลาย แต่พวกเขาควรกล่าวถึงหลักธรรมต่อไปนี้: ผู้นำศาสนจักรพึงได้รับการนำทางจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพวกเขาดำเนินการประชุม

  • ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าผู้นำได้รับการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการประชุม

  • สมาชิกศาสนจักรทุกคนจะเชื้อเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในการประชุมศาสนจักรได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนเขียนวิธีหนึ่งที่พวกเขาจะปรับปรุงการเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักรลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

เขียนบนกระดานดังนี้: ยินดีต้อนรับทุกท่าน ขอให้นักเรียนระบุสถานที่ซึ่งพวกเขาเคยเห็นวลีนี้ ถามว่าพวกเขาเคยเห็นวลีนี้นอกอาคารประชุมของศาสนจักรหรือไม่ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำนำภาคของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 46 ขอให้ชั้นเรียนดูตามในพระคัมภีร์ของพวกเขาและมองหาคนที่วิสุทธิชนยุคแรกยอมให้เข้าร่วมการประชุมของพวกเขา เชื้อเชิญให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ จากนั้นขอให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:3–6 ในใจโดยมองหาวลีที่แก้ไขการปฏิบัติในยุคนั้น

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงต้องการให้เราปฏิบัติต่อผู้อื่น (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: พระเจ้าทรงบัญชาให้เราต้อนรับทุกคนที่มาการประชุมสาธารณะของเรา)

  • เราจะช่วยให้คนอื่นๆ รู้ได้อย่างไรว่าเรายินดีต้อนรับพวกเขาที่การประชุมของศาสนจักร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงนี้ลึกซึ้งขึ้น ขอให้ยกตัวอย่างดังนี้

สมาชิกเยาวชนคนหนึ่งของศาสนจักรมาเยี่ยมวอร์ดใหม่กับครอบครัวเธอเป็นครั้งแรก หลังจากการประชุมศีลระลึก สมาชิกวอร์ดคนหนึ่งทักทายครอบครัวและบอกพวกเขาว่าจะไปโรงเรียนวันอาทิตย์ห้องใด เขาพาเยาวชนหญิงเข้าชั้นเรียนและแนะนำให้เธอรู้จักครู เยาวชนชายหญิงในชั้นตอบรับสั้นๆ จากนั้นก็คุยกันเองโดยไม่สนใจเธอ

กระตุ้นให้นักเรียนต้อนรับคนที่เข้าร่วมการประชุม ชั้นเรียน และกิจกรรมศาสนจักร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:7–33

พระเจ้าทรงอธิบายจุดประสงค์ของของประทานแห่งพระวิญญาณ

เตือนนักเรียนว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1831 โจเซฟ สมิธสมทบกับวิสุทธิชนในเคิร์ทแลนด์ (ดูบทที่ 50 ในคู่มือเล่มนี้) เมื่อท่านมาถึง ท่านพบว่าสมาชิกศาสนจักรเหล่านี้ปฏิบัติบางอย่างไม่ถูกต้อง การปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างหนึ่งคือการขับคนออกจากการประชุมศาสนจักร ดังอธิบายไว้ข้างต้นในบทนี้ อีกอย่างหนึ่งคือสมาชิกบางคนมีพฤติกรรมแปลกๆ เมื่อพวกเขาเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร พวกเขาอ้างว่าการกระทำของพวกเขาได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ สมาชิกบางคนเชื่อและอีกหลายคนรู้สึกว่าพฤติกรรมเหล่านั้นไม่ได้มาจากพระผู้เป็นเจ้า ในการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 46 พระเจ้าทรงสอนหลักธรรมที่จะช่วยให้วิสุทธิชนไม่ถูกหลอกและจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจของประทานแห่งพระวิญญาณอย่างแท้จริง

  • ถูกหลอกหมายความว่าอย่างไร (ถูกชักนำให้หลงผิดหรือถูกหลอกลวงให้เชื่อสิ่งที่ไม่เป็นความจริง) ท่านนึกออกหรือไม่เมื่อท่านถูกหลอก

ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:7–8 ในใจและมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงแนะนำให้ผู้คนของพระองค์ทำเพื่อพวกเขาจะไม่ถูกหลอก ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาค้นพบ

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับวิธีหลีกเลี่ยงการถูกหลอก (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้: วิธีหลีกเลี่ยงการถูกหลอกคือทำตามการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในความบริสุทธิ์ทั้งปวง)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 8เราควรแสวงหาอะไรอย่างตั้งใจจริง (ของประทานที่ดีที่สุด)

เขียนบนกระดานดังนี้: หากเราแสวงหาของประทานที่ดีที่สุดอย่างตั้งใจจริง …

ขณะที่นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อไปนี้ ให้พวกเขามองหาพรที่จะมาถึงเมื่อพวกเขาแสวงหาของประทานแห่งพระวิญญาณ ท่านอาจต้องการอธิบายว่าของประทานแห่งพระวิญญาณคือ “พรหรือความสามารถที่ประทานโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระผู้เป็นเจ้าประทานของประทานอย่างน้อยหนึ่งอย่างให้สมาชิกที่ซื่อสัตย์ทุกคนของศาสนจักร” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2005], 209)

ก่อนชั้นเรียนให้เขียนเลข 13 ถึง 25 และ 27 ลงบนกระดาษแผ่นหนึ่งในที่ใดก็ได้ตามใจชอบ จากนั้นให้ตัดกระดาษเป็นชิ้นปริศนาสิบสี่ชิ้นๆ ละหนึ่งตัวเลข

แจกชิ้นปริศนาให้นักเรียน ท่านอาจต้องแจกให้กลุ่มเล็กๆ กลุ่มละหนึ่งชิ้นหรือให้คนหนึ่งมากกว่าหนึ่งชิ้นขึ้นอยู่กับขนาดของชั้นเรียน เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนช่วยกันต่อภาพปริศนา

  • ในภาพปริศนา เหตุใดแต่ละชิ้นจึงสำคัญ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:8–12, 26 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาจุดประสงค์ของของประทานที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้เรา

  • ของประทานแห่งพระวิญญาณใช้สำหรับอะไร (“เพื่อผลประโยชน์ของบุตรธิดาพระผู้เป็นเจ้า”)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 9ของประทานแห่งพระวิญญาณมอบให้ใคร (ให้คนที่รักพระผู้เป็นเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ และให้คนที่ “หมายมั่นจะทำเช่นนั้น”)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 11มีกี่คนในพวกเราได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณ

  • จากที่ท่านเรียนรู้ในข้อเหล่านี้ ท่านจะเติมประโยคบนกระดานให้ครบถ้วนว่าอย่างไร (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่คำตอบของพวกเขาควรแสดงหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราแสวงหาของประทานที่ดีที่สุดอย่างตั้งใจจริง พระผู้เป็นเจ้าจะประทานแก่เราเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ท่านอาจเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีในพระคัมภีร์ของพวกเขาที่สอนความจริงนี้)

ดึงความสนใจของนักเรียนมายังภาพปริศนาที่พวกเขาต่อ เตือนให้พวกเขานึกถึงความสำคัญของทุกชิ้นในภาพปริศนา

  • เหตุใดสมาชิกทุกคนจึงสำคัญในศาสนจักรของพระเจ้า (ทุกคนมีของประทานที่สามารถเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น)

แยกภาพปริศนาและแจกแต่ละชิ้นคืนให้นักเรียน อธิบายว่าตัวเลขบนแต่ละชิ้นหมายถึงข้อต่างๆ ที่อยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 46 และแต่ละข้อเหล่านี้บอกชื่อของประทานแห่งพระวิญญาณอย่างหนึ่ง เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านออกเสียงข้อตรงกับตัวเลขที่ได้รับ

หลังจากอ่านแต่ละข้อ ให้นักเรียนบอกสถานการณ์ที่ของประทานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า นักเรียนอาจไม่เข้าใจของประทานบางอย่าง คำอธิบายต่อไปนี้เกี่ยวกับของประทานบางอย่างอาจช่วยท่านนำการสนทนาของพวกเขา

ของประทานเพื่อรู้ความแตกต่างของการบริหารงานมักประจักษ์ในผู้นำที่มองออกว่าของประทานจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างไรในการรับใช้ตำแหน่งต่างๆ

ของประทานเพื่อรู้ประเภทของการทำงานประจักษ์ในบุคคลที่สามารถมองเห็นความแตกต่างระหว่างของประทานแท้ๆ หรือการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์กับวิญญาณเท็จ หลักคำสอนผิดๆ หรือพระบัญญัติปลอม

ของประทานของพระคำแห่งปัญญาไม่ได้หมายถึงพระบัญญัติที่เราเรียกว่าพระคำแห่งปัญญา แต่หมายถึงพรแห่งปัญญาที่มาถึงผู้ “ทูลขอจากพระเจ้าผู้ประทานให้กับทุกคนด้วยพระทัยกว้างขวาง” (ยากอบ 1:5)

ของประทานแห่งการเล็งเห็นวิญญาณทำให้บุคคลนั้นรับรู้หรือเข้าใจเจตนาแท้จริงและแรงจูงใจแอบแฝงของผู้อื่น ของประทานนี้ช่วยให้บุคคลนั้นสังเกตเห็นความชั่วแอบแฝงและมองเห็นความดีในผู้อื่น

ของประทานแห่งการพูดภาษาต่างๆ และของประทานแห่งการแปลภาษาต่างๆ โดยทั่วไปประจักษ์ในผู้สอนศาสนาที่สามารถเรียนรู้และเข้าใจภาษาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว คนที่ต้องเอาชนะอุปสรรคด้านภาษาเพื่อเรียนและสอนพระกิตติคุณอาจได้รับของประทานเหล่านี้เช่นกัน

  • เหตุใดเราพึงแสวงหาของประทานฝ่ายวิญญาณ ท่านคิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสวงหาของประทานเหล่านี้ (อาจช่วยได้ถ้าชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าทรงสามารถเปิดเผยของประทานฝ่ายวิญญาณผ่านปิตุพรหรือพรฐานะปุโรหิตอื่นๆ)

  • ท่านเคยเห็นคนบางคนได้รับของประทานฝ่ายวิญญาณเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นเมื่อใด

ขอให้นักเรียน ค้นคว้า หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:30–33 ด้วยตนเอง และระบุสิ่งที่เราต้องทำสี่อย่างขณะใช้ของประทานฝ่ายวิญญาณของเรา (คำตอบอาจได้แก่ เราควรทูลขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า กระทำในพระนามของพระเยซูคริสต์ น้อมขอบพระทัยสำหรับพรที่เราได้รับ และบ่มเพาะคุณธรรมและความบริสุทธิ์)

แสดงความสำนึกคุณต่อของประทานแห่งพระวิญญาณและต่ออิทธิพลเหล่านั้นในชีวิตท่าน เปิดโอกาสให้นักเรียนทำเช่นเดียวกัน เป็นพยานว่าพระเจ้าทรงปรารถนาให้ทุกคนรู้ว่าศาสนจักรของพระองค์ต้อนรับและต้องการพวกเขา

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:4 ต้อนรับทุกคนเข้าสู่การประชุมของศาสนจักร

เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า

ภาพ
เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์

“ชุมชนวิสุทธิชนของเราไม่ใช่ชุมชนของการกีดกันแต่เป็นการรวมไว้ด้วยกัน สร้างบนรากฐานของอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ โดยมีพระเยซูคริสต์เป็นศิลามุมเอก ชุมชนนี้เปิดรับเราทุกคนผู้รัก เห็นคุณค่า และมีความเห็นใจลูกๆ ของพระบิดาในสวรรค์” (“การสร้างชุมชนของสิทธิชน,” เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 52)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:11–12 “แก่มนุษย์ทุกคนมีของประทานให้ไว้”

เอ็ลเดอร์ออร์สัน แพรทท์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า

ภาพ
เอ็ลเดอร์ออร์สัน แพรทท์

“เมื่อใดก็ตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตในบุคคลใด พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่เพียงชำระเขาให้สะอาด ศักดิ์สิทธิ์ และบริสุทธิ์ตามสัดส่วนที่เขายอมต่ออิทธิพลของพระองค์เท่านั้น แต่ทรงมอบของประทานบางอย่างให้เขาด้วยเพื่อประโยชน์ของตัวเขาและผู้อื่น ไม่มีใครที่เกิดจากพระวิญญาณและยังคงซื่อสัตย์เพียงพอจะถูกปล่อยให้ขาดของประทานฝ่ายวิญญาณ …

“สมาชิกแต่ละคนไม่ได้รับของประทานทั้งหมดนี้ แต่กระจายอยู่ทั่ว [ศาสนจักร] ตามพระประสงค์และพระปรีชาญาณของพระวิญญาณ … บางคนอาจมีของประทานทั้งหมดนี้มอบให้พวกเขา ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจทั้งหมด และพร้อมสังเกตเห็นของประทานเท็จ และให้ควบคุมทั่วทั้งศาสนจักรเพื่อทุกคนจะได้รับประโยชน์ ของประทานฝ่ายวิญญาณเหล่านี้กระจายอยู่ในหมู่สมาชิกของศาสนจักร ตามความซื่อสัตย์ สภาวการณ์ ความสามารถตามธรรมชาติ หน้าที่ และการเรียกของพวกเขา เพื่อทุกคนจะได้รับการสอนอย่างถูกต้อง การยืนยัน การทำให้ดีพร้อม และรอด” (Masterful Discourses and Writings of Orson Pratt, comp. N. B. Lundwall [1946], 539–41) (ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001), 135)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:11. ของประทานมากมายของพระวิญญาณ

ของประทานฝ่ายวิญญาณระบุไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 46 และใน 1 โครินธ์ 12:1–13 และ โมโรไน 10:8–18ด้วย แต่ของประทานฝ่ายวิญญาณที่เราได้รับไม่ได้มีเท่านี้ เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“ของประทานฝ่ายวิญญาณมีมากมายไม่สิ้นสุดและหลากหลายเหลือคณานับ ของประทานที่ระบุไว้ในคำเปิดเผยเป็นเพียงตัวอย่างของการหลั่งเทของพระคุณจากเบื้องบนอย่างไร้ขอบเขตที่พระผู้เป็นเจ้าทรงพระกรุณาประทานแก่คนที่รักและรับใช้พระองค์” (A New Witness for the Articles of Faith [1985], 371)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:12 “แก่บางคนประทานให้อย่างหนึ่ง; และแก่บางคนประทานให้อีกอย่างหนึ่ง”

เอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตัน แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตัน

“โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่ข้าพเจ้าจะพูดถึงของประทานบางอย่างที่ไม่ปรากฏชัดหรือไม่น่าสนใจเสมอไปแต่สำคัญมาก …

“… ของประทานแห่งการซักถาม ของประทานแห่งการฟัง ของประทานแห่งการได้ยินและใช้สุรเสียงสงบแผ่วเบา ของประทานแห่งความสามารถหลั่งน้ำตา ของประทานแห่งการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ของประทานแห่งการเห็นด้วย ของประทานแห่งการหลีกเลี่ยงคำพูดซ้ำๆ ไร้สาระ ของประทานแห่งการแสวงหาสิ่งชอบธรรม ของประทานแห่งการไม่ตัดสิน ของประทานแห่งการพึ่งพาพระผู้เป็นเจ้าเพื่อทูลขอการนำทาง ของประทานแห่งการเป็นสานุศิษย์ ของประทานแห่งการดูแลผู้อื่น ของประทานแห่งความสามารถไตร่ตรอง ของประทานแห่งการสวดอ้อนวอน ของประทานแห่งการแสดงประจักษ์พยานอันทรงพลัง และของประทานแห่งการได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์” (“There Are Many Gifts,” Ensign, Nov. 1987, 20)