เซมินารี
บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน: หลักคำสอนและพันธสัญญา 24–29:30 (หน่วย 7)


บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 24–29:30 (หน่วย 7)

เนื้อหาเตรียมสอนสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

บทสรุปของบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านประจำวัน

บทสรุปต่อไปนี้ของเหตุการณ์ หลักคำสอน และหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 24–29:30 (หน่วย 7) ไม่ได้มีเจตนาให้ใช้สอนในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 24–26)

โดยผ่านคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีเกี่ยวกับการตอบสนองการทดลอง นักเรียนเรียนรู้ว่าเราควรอดทนและทนต่อความทุกข์ของเราเพราะพระเจ้าทรงอยู่กับเรา เมื่อนักเรียนศึกษาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่เอ็มมา สมิธเกี่ยวกับบทบาทของเธอในศาสนจักร พวกเขาระบุหลักธรรมหลายข้อและเลือกข้อหนึ่งที่รู้สึกจะนำมาใช้ในชีวิตพวกเขาได้ สุดท้าย นักเรียนศึกษาคำประกาศของพระเจ้าว่าต้องทำสิ่งทั้งปวงโดยความเห็นชอบร่วมกันในศาสนจักรและพิจารณาว่าพวกเขาจะทำตามคำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนผู้ได้รับการเรียกและการสนับสนุนให้รับใช้ในวอร์ดหรือสาขาของพวกเขาให้ดีขึ้นได้อย่างไร

วันที่ 2 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 27)

เมื่อนักเรียนศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 27พวกเขาเรียนรู้ว่าเมื่อเรารับส่วนศีลระลึก เราพึงระลึกถึงการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พวกเขาเรียนรู้เช่นกันว่าเรามีชีวิตอยู่ในสมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลา ซึ่งนำกุญแจ ศาสนพิธี และความจริงพระกิตติคุณทั้งหมดของสมัยการประทานในอดีตมารวมกัน เพื่อจะสามารถต้านทานความชั่วร้ายในสมัยของเรา พวกเขาได้รับการกระตุ้นให้สวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระผู้เป็นเจ้า

วันที่ 3 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 28)

จากคำแนะนำที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่ออลิเวอร์ คาวเดอรี นักเรียนเรียนรู้ว่าในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ สมาชิกแต่ละคนไม่ได้รับการเปิดเผยเพื่อนำทางคนที่เป็นประธานเหนือพวกเขาและเฉพาะประธานศาสนจักรเท่านั้นที่จะได้รับการเปิดเผยสำหรับทั้งศาสนจักร อย่างไรก็ดี เราอาจได้รับการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ของเราเองและช่วยเราในการเรียกและงานมอบหมายที่เราได้รับ นักเรียนเรียนรู้เช่นกันว่าผู้นำศาสนจักรมีความรับผิดชอบในการตำหนิติเตียนคนที่กำลังนำผู้อื่นออกนอกลู่นอกทางและในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ต้องทำสิ่งทั้งปวงตามระเบียบ

วันที่ 4 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:1–30)

จากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองและเหตุการณ์ต่อจากมิลเลเนียม นักเรียนเรียนรู้ว่าคนที่มาหาพระผู้ช่วยให้รอดจะพร้อมรับการทดลองและความยากลำบากของวันเวลาสุดท้ายและจะได้รับชีวิตนิรันดร์ บทนี้ช่วยให้นักเรียนเข้าใจเช่นกันว่าเพราะพระเยซูคริสต์ทรงชดใช้บาปของเราและทรงเป็นผู้วิงวอนพระบิดาแทนเรา เราจึงสามารถรื่นเริงใจและยินดี

คำนำ

บทนี้ให้โอกาสนักเรียนเข้าใจความสำคัญของการสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อนักเรียนเรียนเรื่องยุทธภัณฑ์แต่ละชิ้นของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาจะมีโอกาสประเมินความแข็งแรงของยุทธภัณฑ์ของตนและเปลี่ยนแปลงสิ่งที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงกระตุ้นเตือน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:15–18

พระเจ้าทรงบัญชาให้ผู้คนของพระองค์สวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระผู้เป็นเจ้า

นำอุปกรณ์ป้องกันบางอย่างมาชั้นเรียน เช่นอุปกรณ์ป้องกันขณะเล่นกีฬา กระจกนิรภัย ถุงมือแพทย์ หมวกนิรภัย หรือเสื้อเกราะ ขอให้นักเรียนอธิบายจุดประสงค์ของอุปกรณ์และสิ่งนั้นใช้คุ้มครองผู้สวมใส่อย่างไร อธิบายว่าแม้สิ่งเหล่านี้คุ้มครองเราทางกาย แต่พระเจ้าประทานคำแนะนำเพื่อช่วยคุ้มครองเราทางวิญญาณ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:15 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสว่าเราต้องทำเพื่อรับความคุ้มครองทางวิญญาณ

  • เราจำเป็นต้องทำอะไรจึงจะได้รับความคุ้มครองทางวิญญาณ

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับคนที่สวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระผู้เป็นเจ้า

เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: หากเราสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้า เราจะสามารถต้านทานความชั่วร้ายได้

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการสวมยุทธภัณฑ์ ทั้งชุด ของพระผู้เป็นเจ้าไม่ใช่แค่บางชิ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:16–18 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุยุทธภัณฑ์ทางวิญญาณแต่ละชิ้นที่เราจำเป็นต้องสวมจึงจะสามารถต้านทานความชั่วร้ายได้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งเป็นผู้จดและเขียน (หรือวาด) ยุทธภัณฑ์แต่ละชิ้นบนกระดานขณะชั้นเรียนบอกชื่อยุทธภัณฑ์เหล่านั้น (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าอัครสาวกเปาโลสอนเช่นกันเกี่ยวกับยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระผู้เป็นเจ้า [ดู เอเฟซัส 6:11–17])

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจนัยของความคุ้มครองทางวิญญาณดังที่อธิบายไว้ในข้อเหล่านี้ ให้แบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ และมอบหมายยุทธภัณฑ์ให้กลุ่มละชิ้น แจกสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานฮาโรลด์ บี. ลีรวมทั้ง ข้อมูลและคำถามต่อไปนี้ เกี่ยวกับยุทธภัณฑ์แต่ละชิ้นที่มอบหมาย เชื้อเชิญให้นักเรียนทำงานภายในกลุ่มของตนเพื่อตอบคำถามสำหรับยุทธภัณฑ์ที่พวกเขาได้รับมอบหมายและเตรียมแบ่งปันคำตอบกับชั้นเรียน

ภาพ
ประธานฮาโรลด์ บี. ลี

“เรามีอวัยวะสี่ส่วนที่อัครสาวกเปาโลบอกว่า [เป็น] อวัยวะเปราะบางที่สุดต่ออำนาจของความมืด เอว เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ทางเพศ หัวใจ เป็นสัญลักษณ์ของความประพฤติของเรา เท้าของเรา เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของเราในชีวิต และสุดท้ายคือศีรษะของเรา ความคิดของเรา” (ฮาโรลด์ บี. ลี, Feet Shod with the Preparation of the Gospel of Peace, Brigham Young University Speeches of the Year [Nov. 9, 1954], 2)

“คาดเอวไว้ด้วยความจริง” (ดู คพ. 27:15–16):

ประธานลีกล่าวว่า “เอวเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่อยู่ระหว่างซี่โครงล่างกับสะโพกซึ่งท่านคงทราบดีว่ามีอวัยวะสำคัญเกี่ยวกับการสืบพันธุ์อยู่ในนั้น” (Feet Shod, 2) การ คาด หมายถึงการรัดเข็มขัดแน่นๆ

  • ท่านคิดว่าเหตุใดซาตานจึงโจมตีความสะอาดหมดจด คุณธรรม และความบริสุทธิ์ทางเพศของเรา

  • ท่านคิดว่าการรู้มาตรฐานศีลธรรมของพระผู้เป็นเจ้าจะช่วยให้เราสะอาดหมดจด มีคุณธรรม และบริสุทธิ์ทางเพศได้อย่างไร

การศึกษาพระคัมภีร์ช่วยคาดเราไว้ในความจริง ช่วยปกป้องคุณธรรมและความบริสุทธิ์ทางเพศ

“เกราะอกแห่งความชอบธรรม” (คพ. 27:16):

  • ตามที่ประธานลีกล่าว เกราะอกป้องกันอะไร

  • ท่านคิดว่าความชอบธรรมของใจเรา (ความปรารถนาของเรา) ส่งผลอย่างไรต่อความสามารถในการสู้รบทางวิญญาณของเรา

“สวมเท้าเจ้าไว้ด้วยการเตรียมพระกิตติคุณแห่งสันติสุข” (คพ. 27:16):

การ “สวม” เท้าของท่านหมายถึงการสวมรองเท้าหรือการป้องกันเท้า

  • ตามที่ประธานลีกล่าว เท้าของเราหมายถึงอะไร

  • ซาตานโจมตีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของเราในชีวิตอย่างไร

  • พระผู้เป็นเจ้าประทานอะไรให้เรา “ยึด” เพื่อช่วยให้เท้าของเราก้าวไปตามเส้นทางชีวิตสู่เป้าหมายของเรา (ดู 1 นีไฟ 8:24)

  • การจดจ่อกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมจะช่วยให้เราเอาชนะการล่อลวงได้อย่างไร

“โล่แห่งศรัทธา” (คพ. 27:17):

  • ท่านคิดว่า “ดับลูกศรเพลิง [การล่อลวง] ทั้งหมดของคนชั่วร้าย” หมายความว่าอย่างไร

  • ศรัทธาของท่านเป็นโล่ป้องกันท่านอย่างไร

“หมวกเหล็กแห่งความรอด” (คพ. 27:18):

  • ตามที่ประธานลีกล่าว เราป้องกันอะไรเมื่อเราคลุมศีรษะ

  • เหตุใดการควบคุมความคิดของเราจึงสำคัญ

  • ซาตานโจมตีความคิดของเราอย่างไร

  • อะไรคือสิ่งที่เรากำหนดได้ว่าเราจะทำเพื่อป้องกันความคิดของเรา

“ดาบแห่งพระวิญญาณ” (คพ. 27:18):

  • พระวิญญาณจะทรงช่วยให้เราเอาชนะการโจมตีของซาตานได้อย่างไร

  • การมีพระวิญญาณทำให้เราได้เปรียบอะไรในการต่อสู้กับความชั่วร้าย

  • พระคำของพระผู้เป็นเจ้าช่วยให้เราใช้ดาบแห่งพระวิญญาณอย่างไร

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่ออัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในชีวิตท่านมากขึ้น

หลังจากนักเรียนรายงานคำตอบของตนแล้ว ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้นักเรียนฟังวิธีที่เราสวมและเสริมความแข็งแรงให้ยุทธภัณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้า

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“ข้าพเจ้าชอบนึกถึงยุทธภัณฑ์ทางวิญญาณนี้ในแบบที่ไม่ใช่ชิ้นเหล็กแข็งที่ถูกหลอมให้พอดีตัวแต่เป็นเสื้อเกราะที่ทำด้วยโซ่เหล็กร้อยกัน เสื้อเกราะดังกล่าวประกอบด้วยเหล็กชิ้นเล็กจิ๋วหลายร้อยชิ้นผูกเข้าด้วยกันเพื่อให้ผู้ใช้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยไม่สูญเสียการป้องกัน ข้าพเจ้าพูดเช่นนั้นเพราะข้าพเจ้ามีประสบการณ์ว่าเราไม่สามารถติดอาวุธทางวิญญาณให้ตัวเราด้วยสิ่งสำคัญและใหญ่โตสิ่งเดียวได้ พลังทางวิญญาณที่แท้จริงขึ้นอยู่กับการกระทำเล็กน้อยหลายสิ่งหลายอย่างที่ถักทอเข้าด้วยกันเป็นผืนผ้าแห่งปราการทางวิญญาณที่จะปกป้องและคุ้มกันเราจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง” (“Be Strong in the Lord,” Ensign, July 2004, 8)

  • การกระทำเล็กๆ น้อยๆ อะไรบ้างที่จะรวมพลังกันช่วยคุ้มครองเราให้รอดพ้นการล่อลวงและความชั่ว

เชื้อเชิญให้นักเรียนย้อนกลับไปดูบรรทัดต้นๆ ของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:15

  • เราควรมีเจตคติเช่นไรขณะสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระผู้เป็นเจ้า (เราควร “รื่นเริงใจและชื่นชมยินดี”) เหตุใดเราจึงควรมีเจตคติเช่นนี้

  • สัปดาห์นี้ท่านเรียนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้อใดที่แนะนำให้เรารื่นเริงใจและยินดีเช่นกัน (คพ. 25:13 ท่านอาจจะให้นักเรียนพูดทบทวนด้วยกันหรือท่องจากความทรงจำ)

  • การทำตามพระบัญชาใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:13 ให้แนบสนิทกับพันธสัญญาของเรากับพระบิดาบนสวรรค์จะคุ้มครองเราให้รอดพ้นซาตานได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนพิจารณาสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในบทเรียนวันนี้ และเชื้อเชิญให้พวกเขาเลือกสิ่งหนึ่งที่ทำได้เพื่อสวมยุทธภัณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้าได้ดีขึ้น กระตุ้นให้พวกเขาเขียนสิ่งที่จะทำลงในแผ่นกระดาษเพื่อพวกเขาจะสามารถดูได้บ่อยๆ เป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงคำมั่นสัญญาของตน

เพื่อสรุปบทเรียนนี้ ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับความจริงที่สอนในบทเรียน

หน่วยถัดไป (หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:31–50; 30–35)

บุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ถูกขับออกจากสวรรค์ในชีวิตก่อนเกิดกี่คน เหตุใดจึงถูกขับออก “ย่ำประชาชาติให้หลุดออกจากรวง” หมายความว่าอย่างไร ในหน่วยถัดไป นักเรียนจะเรียนรู้คำตอบของคำถามเหล่านี้ พวกเขาจะเรียนรู้เช่นกันเกี่ยวกับสมาชิกศาสนจักรยุคแรกผู้ได้รับเรียกให้ “ย่ำประชาชาติให้หลุดออกจากรวงโดยอำนาจแห่งพระวิญญาณ” (คพ. 35:13)