เซมินารี
บทที่ 111: หลักคำสอนและพันธสัญญา 106:1–107:20


บทที่ 111

หลักคำสอนและพันธสัญญา 106:1–107:20

คำนำ

วันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1834 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 106 ในการเปิดเผยนี้ พระเจ้าทรงเรียกวอร์เรน เอ. คาวเดอรีพี่ชายของออลิเวอร์ คาวเดอรีให้เป็นประธานดูแลศาสนจักรในเมืองฟรีดอม รัฐนิวยอร์ก และชุมชนโดยรอบ โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107 ราวเดือนเมษายน ค.ศ. 1835 เมื่อสมาชิกทุกคนของโควรัมอัครสาวกสิบสองกำลังเตรียมรับใช้งานเผยแผ่ทางภาคตะวันออกของสหรัฐ ในถ้อยแถลงเป็นลายลักษณ์อักษร อัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “เวลาที่เราจะแยกจากกันใกล้เข้ามาแล้ว และเราจะพบกันอีกเมื่อใด พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่ทรงทราบ ด้วยเหตุนี้เราจึงรู้สึกว่าต้องขอให้คนที่เรายอมรับเป็นศาสดาพยากรณ์และผู้หยั่งรู้ของเราทูลถามพระผู้เป็นเจ้าให้เรา และได้รับการเปิดเผย … เพื่อเราจะคิดพิจารณาเมื่อเราแยกจากกัน เพื่อใจเราจะได้รับการปลอบโยน” (ใน History of the Church, 2:209–10) การเปิดเผยบันทึกไว้ในปี 1835 แต่ “บันทึกทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่า ข้อ 60 ถึง 100 ส่วนใหญ่รวมการเปิดเผยที่ประทานผ่านโจเซฟ สมิธเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1831 ไว้ด้วย” (คำนำของ ภาค 107) บทนี้เป็นบทแรกของสามบทในคู่มือเล่มนี้เกี่ยวกับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 107

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 106

พระเจ้าทรงเรียกวอร์เรน คาวเดอรีเป็นมหาปุโรหิตควบคุมในเมืองฟรีดอม รัฐนิวยอร์ก

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาสนับสนุนอธิการหรือประธานสาขาคนใหม่

  • ท่านคิดว่าบุคคลนั้นรู้สึกอย่างไรเมื่อเขาได้รับการสนับสนุน

อธิบายว่าในปี 1834 ศาสนจักรประสบการเติบโตอย่างยิ่งยวดในฟรีดอม นิวยอร์กห่างจากเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอไม่ถึง 200 ไมล์ (ประมาณ 320 กิโลเมตร) พระเจ้าทรงเรียกผู้นำฐานะปุโรหิตคนหนึ่งให้เป็นประธานดูแลสมาชิกที่นั่น เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 106:1–3 ในใจ

  • พระเจ้าทรงแนะนำวอร์เรน คาวเดอรีให้ทำอะไร

อธิบายว่าความรู้สึกของบราเดอร์คาวเดอรีอาจจะคล้ายกับความรู้สึกของอธิการหรือประธานสาขาคนใหม่ในปัจจุบัน พระเจ้าประทานคำปลอบโยนเมื่อบราเดอร์คาวเดอรียอมรับการเรียกใหม่ของเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 106:6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและค้นหาว่าเหตุใดพระเจ้าพอพระทัยบราเดอร์คาวเดอรี

  • ท่านคิดว่าวลี “คำนับคทาของเรา” หมายถึงอะไร (เพื่อช่วยนักเรียนตอบคำถามนี้ ท่านอาจต้องการอธิบายว่าคทาคือกระบองที่กษัตริย์และราชินีถือ คทาเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ)

  • ท่านคิดว่าวลี “แยกตนเองจากการฉ้อฉลของมนุษย์” หมายถึงอะไร

เขียนบนกระดานว่า หาก เมื่อนั้น  เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 106:7–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยค้นหาคำแนะนำและสัญญาของพระเจ้าต่อบราเดอร์คาวเดอรี เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนสิ่งที่พวกเขาค้นพบโดยเขียนหลักธรรม “หาก–เมื่อนั้น” ลงในพระคัมภีร์ของพวกเขา หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันหลักธรรมที่พวกเขาค้นพบ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรพูดถึงหลักธรรมต่อไปนี้: หากเรานอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระเจ้า เมื่อนั้นพระองค์จะทรงเมตตาเรา ยกเราขึ้น ประทานพระคุณและความมั่นใจแก่เรา)

  • พระเจ้ายกทรงคนที่นอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระองค์ขึ้นด้วยวิธีใด

เป็นพยานว่าเราจะได้รับพรที่สัญญาไว้กับวอร์เรน คาวเดอรีหากเรานอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระเจ้า

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:1–20

พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับ ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเคคและฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน

อธิบายว่าการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107 ช่วยให้ความกระจ่างเรื่องการจัดตั้งและความรับผิดชอบของฝ่ายประธานสูงสุด โควรัมอัครสาวกสิบสอง และโควรัมสาวกเจ็ดสิบ

อ่านคำบรรยายต่อไปนี้เกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ท่านหนึ่งในพันธสัญญาเดิม เชื้อเชิญให้นักเรียนทายว่ากำลังพูดถึงใคร

ศาสดาพยากรณ์ท่านนี้ “เป็นบุรุษแห่งศรัทธา, ผู้กระทำความชอบธรรม; และเมื่อเป็นเด็ก เขาเกรงกลัวพระผู้เป็นเจ้า, และปิดปากฝูงสิงโต, และดับความร้อนแรงของไฟ” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ปฐมกาล 14:26 [ในภาคผนวกของพระคัมภีร์ไบเบิล]) ในฐานะกษัตริย์ของเมืองซาเลม ท่าน “สถาปนาสันติขึ้นในแผ่นดินในวันเวลาของท่าน; ฉะนั้นท่านจึงมีชื่อว่าประมุขแห่งสันติ” (แอลมา 13:18) ศาสดาพยากรณ์อับราฮัมจ่ายส่วนสิบให้ท่าน (ดู แอลมา 13:15)

หลังจากนักเรียนสองสามคนพยายามทายชื่อศาสดาพยากรณ์ท่านนี้แล้ว ให้เขียน เมลคีเซเดค ไว้บนกระดาน ขอให้นักเรียนค้นคว้า หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:1–4 ในใจโดยมองหาว่าข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับเมลคีเซเดค

  • ก่อนสมัยของเมลคีเซเดคเรียกฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคว่าอะไร เหตุใดปัจจุบันจึงเรียกว่าฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคเป็นไปตามระเบียบของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีนี้ใน ข้อ 3

  • หลักธรรมนี้เสนอแนะอะไรเกี่ยวกับวิธีที่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตควรทำความรับผิดชอบของตนให้เกิดสัมฤทธิผล

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“เมื่อใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตอย่างถูกต้องเหมาะสม เท่ากับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตทำสิ่งที่พระองค์ [พระเยซูคริสต์] จะทรงทำหากพระองค์ทรงอยู่ที่นี่” (“พลังอำนาจของฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 8)

เขียนชื่อองค์การต่อไปนี้ของศาสนจักรไว้บนกระดาน: สมาคมสงเคราะห์ โรงเรียนวันอาทิตย์ เยาวชนชาย เยาวชนหญิง และ ปฐมวัย เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:5, 8–9 ในใจโดยมองหาคำหรือวลีที่สอนว่าองค์การเหล่านี้เกี่ยวข้องกับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคอย่างไร ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ส่วนประกอบคืออะไร (ส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น แขนหรือขา)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 8ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคถือสิทธิและดำรงสิทธิอำนาจอะไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจต้องการเขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคถือสิทธิของการเป็นประธาน และสิทธิอำนาจเหนือตำแหน่งทั้งหมดในศาสนจักร และสิทธิอำนาจดูแลเรื่องทางวิญญาณ อธิบายว่า “[การ] ดูแลในเรื่องทางวิญญาณ” รวมถึงการให้พร ปฏิบัติศาสนพิธี และพันธสัญญา)

อธิบายว่าฝ่ายประธานที่กล่าวไว้ใน ข้อ 9 คือฝ่ายประธานสูงสุด เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:10 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าใครมีสิทธิ์ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายประธานสูงสุดอีกบ้าง ขณะนักเรียนรายงานสิ่งที่เรียนรู้ จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าฝ่ายประธานสเตคและฝ่ายอธิการเป็นตัวอย่างของมหาปุโรหิตผู้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของตนภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายประธานสูงสุด

ให้ดูชื่อองค์การต่างๆ ที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างองค์การเหล่านี้กับผู้นำฐานะปุโรหิตของวอร์ดและสเตค ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ

ภาพ
ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ

“ไม่มีการปกครองใดในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แยกจากกัน แบ่งแยกออกไป อยู่เหนือ หรืออยู่นอกฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์หรือสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิต … [องค์การช่วย] ไม่อยู่นอก อยู่เหนือ ทั้งไม่อยู่เกินกว่าขอบเขตของฐานะปุโรหิต องค์การเหล่านี้ยอมรับหลักธรรมของฐานะปุโรหิต ไม่ว่าพวกเขาอยู่ที่ใด พวกเขายังคงอยู่กับความคิดที่จะทำสิ่งดีมากมายให้สำเร็จ คิดถึงความรอดของจิตวิญญาณ ทั้งทางโลกและทางวิญญาณ” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ เอฟ. สมิธ [1998], 375)

เชื้อเชิญให้นักเรียนค้นคว้า หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:18–19 ในใจเพื่อดูว่าฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคถือสิทธิอำนาจอะไรเพิ่มเติม

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 18ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคถือสิทธิอำนาจอะไร (เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดานขณะที่นักเรียนระบุ: ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคถือกุญแจทั้งหลายของพรทางวิญญาณทั้งปวงของศาสนจักร)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงนี้ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ขอให้ชั้นเรียนฟังพรทางวิญญาณที่ผ่านมาทางฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“[ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค] เป็นช่องทางที่ความรู้ทั้งมวล หลักคำสอน แผนแห่งความรอด และเรื่องสำคัญทุกเรื่องได้รับการเปิดเผยจากสวรรค์” (ใน History of the Church, 4:207)

  • พรทางวิญญาณใดใน ข้อ 19 ประทับใจท่าน เพราะเหตุใด

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าผู้ที่ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคต้องใช้ฐานะปุโรหิตนั้นช่วยให้ผู้อื่นได้รับพร อาทิ ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์และพรของพระวิหาร

  • ท่านเคยได้รับพรอะไรบ้างผ่านฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

อธิบายว่าพระเจ้าทรงอธิบายความจริงที่เปิดเผยเกี่ยวกับสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนด้วย เชิญนักเรียนสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:13–14, 20 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุสิทธิอำนาจที่ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนถืออยู่

  • ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนถือสิทธิอำนาจอะไร (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนถือกุญแจทั้งหลายแห่งการปฏิบัติของเหล่าเทพและการปฏิบัติศาสนพิธีภายนอก)

  • ใน ข้อ 20กล่าวถึงศาสนพิธีอะไร สิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนปฏิบัติศาสนพิธีภายนอกอะไรอีก (ศีลระลึก)

  • ท่านเคยได้รับพรอะไรบ้างผ่านฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน

เขียนเป็นหัวข้อบนกระดาน ดังนี้

ตำแหน่งฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ตำแหน่งฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนตำแหน่งฐานะปุโรหิตต่อไปนี้ลงในกระดาษแผ่นละคำ: มัคนายก ผู้สอน ปุโรหิต อธิการ เอ็ลเดอร์ มหาปุโรหิต ผู้ประสาทพร สาวกเจ็ดสิบ อัครสาวก ใส่กระดาษไว้ในภาชนะโดยไม่ต้องเรียงตามลำดับ

ณ จุดนี้ในบทเรียน แบ่งกระดาษให้นักเรียนสองสามคน เชิญนักเรียนมาที่กระดานและเรียงแต่ละตำแหน่งให้ตรงตามหัวข้อ

นักเรียนบางคนอาจบอกว่าตำแหน่งอธิการคือตำแหน่งฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค หากเป็นเช่นนั้น ให้เชิญคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:13, 15 ขอให้นักเรียนใช้ข้อเหล่านี้ตัดสินใจว่าพวกเขาควรวางตำแหน่งอธิการไว้ที่ใดบนกระดาน อธิบายว่าคำว่าตำแหน่งอธิการเป็นตำแหน่งในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน อธิการเป็นประธานของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและเป็นมหาปุโรหิตควบคุมในวอร์ดของเขา (สังเกตว่าการเรียกสายเลือดแท้ของอาโรนดังกล่าวไว้ใน ข้อ 16–17พูดไปแล้วใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:15–21 และบทที่ 74)

พึงแน่ใจว่าวางตำแหน่งบนกระดานได้ถูกต้อง (ตำแหน่งฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคได้แก่เอ็ลเดอร์ มหาปุโรหิต ผู้ประสาทพร สาวกเจ็ดสิบ และอัครสาวก ตำแหน่งฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนได้แก่ มัคนายก ผู้สอน ปุโรหิต และอธิการ) อธิบายว่ารายชื่อเหล่านี้จะเตรียมนักเรียนให้พร้อมเรียนสองบทถัดไป ซึ่งพวกเขาจะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งฐานะปุโรหิต

สรุปโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้และรู้สึกในชั้นเรียนวันนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:1 อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนกับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนดังนี้

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“แม้จะมีฐานะปุโรหิตสองอย่าง แต่ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคครอบคลุมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนหรือเลวี และเป็นหัวหน้าใหญ่ และดำรงสิทธิอำนาจสูงสุดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฐานะปุโรหิต และถือกุญแจทั้งหลายของอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าในทุกยุคของโลกจนถึงลูกหลานรุ่นสุดท้ายบนแผ่นดินโลก และเป็นช่องทางที่ความรู้ทั้งมวล หลักคำสอน แผนแห่งความรอด และเรื่องสำคัญทุกเรื่องได้รับการเปิดเผยจากสวรรค์” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 116)

“ฐานะปุโรหิตทั้งหมดคือเมลคีเซเดค แต่มีหลายส่วนหรือหลายระดับ … ศาสดาพยากรณ์ทุกท่านมีฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ, 117)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:8–9, 18 กุญแจฐานะปุโรหิต

“กุญแจฐานะปุโรหิตคือสิทธิอำนาจที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ผู้นำฐานะปุโรหิตเพื่อกำกับดูแล ควบคุม และ ปกครองการใช้ฐานะปุโรหิตของพระองค์บนแผ่นดินโลก การใช้อำนาจฐานะปุโรหิตปกครองโดยผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต (ดู คพ. 65:2; 81:2; 124:123) ผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตมีสิทธิ์ควบคุมดูแลและกำกับดูแลศาสนจักรภายในขอบเขตอำนาจที่กำหนดไว้

“พระเยซูคริสต์ทรงถือกุญแจฐานะปุโรหิตทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศาสนจักรของพระองค์ พระองค์ทรงประสาทสุญแจทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลกแก่อัครสาวกแต่ละคนของพระองค์ อัครสาวกผู้มีอาวุโสสูงสุดที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งได้แก่ประธานศาสนจักร เป็นเพียงคนเดียวบนแผ่นดินโลกที่มีสิทธิอำนาจใช้กุญแจฐานะปุโรหิตทั้งปวง (ดู คพ. 43:1–4; 81:2; 107:64–67, 91–92; 132:7)

“สาวกเจ็ดสิบปฏิบัติหน้าที่ตามงานมอบหมายและสิทธิอำนาจที่ได้รับจากฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง ประธานภาคได้รับมอบหมายให้ดูแลภาคโดยได้รับสิทธิอำนาจจากฝ่ายประธานสูงสุดและอัครสาวกสิบสอง ฝ่ายประธานโควรัมสาวกเจ็ดสิบได้รับการวางมือมอบหน้าที่และได้รับกุญแจในการควบคุมดูแลโควรัมสาวกเจ็ดสิบ

“ประธานศาสนจักรมอบกุญแจฐานะปุโรหิตให้ผู้นำฐานะปุโรหิตคนอื่นๆ กระทำแทนเพื่อให้ผู้นำเหล่านั้นสามารถควบคุมดูแลในขอบเขตความรับผิดชอบของตน กุญแจฐานะปุโรหิตจะมอบให้ประธานพระวิหาร ประธานคณะเผยแผ่ ประธานสเตค ประธานท้องถิ่น อธิการ ประธานสาขา และประธานโควรัม สิทธิอำนาจในการควบคุมดูแลนี้ใช้ได้เฉพาะในขอบเขตความรับผิดชอบและขอบเขตพื้นที่ซึ่งกำหนดไว้ในการเรียกของผู้นำแต่ละคน เมื่อผู้นำฐานะปุโรหิตได้รับการปลดจากการเรียกใด ผู้นำเหล่านั้นจะไม่ถือกุญแจที่เกี่ยวข้องกับการเรียกนั้นอีกต่อไป

“ที่ปรึกษาของผู้นำฐานะปุโรหิตไม่ได้รับกุญแจ ที่ปรึกษาได้รับการวางมือมอบหน้าที่และทำงานในการเรียกตามงานมอบหมายและสิทธิอำนาจที่ได้รับ

“องค์การช่วยทุกองค์การในวอร์ดและสเตคดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของอธิการหรือประธานสเตคซึ่งเป็นผู้ถือกุญแจในการควบคุม ประธานองค์การช่วยและที่ปรึกษาไม่ได้รับกุญแจ แต่ได้รับสิทธิอำนาจซึ่งมอบหมายให้ทำงานการเรียกในตำแหน่งของตน” (คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร [2010], 2.1.1)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:8–12 ฝ่ายประธานสูงสุด ฝ่ายประธานของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

“ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่าพระเจ้าทรงเปิดเผยพระประสงค์ผ่านฝ่ายประธานของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคิเซเดค อันหมายถึงฝ่ายประธานสูงสุด: ‘ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคระดับสูงไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากฐานะปุโรหิตของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า … มีศาสนพิธีบางอย่างที่เป็นของฐานะปุโรหิตนี้ ซึ่งมีผลบางอย่างมาจากศาสนพิธีเหล่านั้น และประธานหรือฝ่ายประธานเป็นผู้ควบคุมดูแลศาสนจักร และการเปิดเผยพระดำริและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าต่อศาสนจักรต้องผ่านมาทางฝ่ายประธาน นี่คือระเบียบของสวรรค์ อำนาจและสิทธิพิเศษของฐานะปุโรหิตนี้’ (ใน History of the Church, 2:477)” (คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 348)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:18 ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคถือ “กุญแจทั้งหลายของพรทางวิญญาณทั้งปวงของศาสนจักร”

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์สอนดังนี้

ภาพ
ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“[ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค] เป็นวิธีที่พระเจ้าทรงทำงานผ่านมนุษย์เพื่อช่วยจิตวิญญาณให้รอด หากปราศจากอำนาจฐานะปุโรหิตนี้ มนุษย์หลงทางแน่นอน โดยผ่านอำนาจนี้เท่านั้นที่มนุษย์ ‘ถือกุญแจทั้งหลายของพรทางวิญญาณทั้งปวงของศาสนจักร’ อันเปิดทางให้เขาได้รับ ‘ความลี้ลับของอาณาจักรแห่งสวรรค์, ให้สวรรค์เปิด’ ต่อเขา (ดู คพ. 107:18–19) เปิดทางให้เขาเข้าสู่พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน ให้ภรรยาและบุตรธิดาผูกพันกับเขาในสายสัมพันธ์เป็นนิจ เปิดทางให้เขาเป็นปิตุของลูกหลานตลอดกาล และเปิดทางให้เขาได้รับพรครบถ้วนของพระเจ้า” (“The Example of Abraham,” Ensign, June 1975, 3; ดู คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001], 348)

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเป็นพยานถึงพรทางวิญญาณเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ข้าพเจ้าเคยเห็นเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าประจักษ์ชัดในบ้านและในการปฏิบัติศาสนกิจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเคยเห็นการประณามความชั่วและการควบคุมธาตุต่างๆ ข้าพเจ้ารู้ความหมายของการเคลื่อนย้ายภูเขาแห่งความยากลำบากและการแยกทะเลแดงที่ดูเหมือนไม่น่าจะแยกได้ ข้าพเจ้ารู้ความหมายของการให้เทพผู้ทำลาย ‘ผ่านพวกเขาไป’ [คพ. 89:21] การได้รับสิทธิอำนาจและการใช้อำนาจ ‘ฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์, ตามระเบียบของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า’ [ดู คพ. 107:1–3] เป็นพรประเสริฐสำหรับข้าพเจ้าและสำหรับครอบครัวเท่าที่ข้าพเจ้าจะหวังได้ในโลกนี้ และสุดท้าย นั่นคือความหมายของฐานะปุโรหิตในคำพูดธรรมดาสามัญ—หาใดเทียบได้ ไม่สิ้นสุด สามารถให้พรได้ตลอดเวลา” (“ลักษณะเด่นที่สุดของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2005, 56)