เซมินารี
บทที่ 32: หลักคำสอนและพันธสัญญา 25


บทที่ 32

หลักคำสอนและพันธสัญญา 25

คำนำ

การข่มเหงต่อต้านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายดำเนินต่อไปในช่วงฤดูร้อน ปี 1830 เอ็มมาภรรยาของโจเซฟรับบัพติศมาวันที่ 28 มิถุนายน แต่การข่มเหงสมาชิกทำให้การยืนยันเธอต้องเลื่อนออกไปจนถึงเดือนสิงหาคม ปี 1830 ปลายเดือนมิถุนายน ระหว่างบัพติศมากับการยืนยันเอ็มมา โจเซฟได้รับการเปิดเผยใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25 ในนั้นพระเจ้าประทานคำปลอบโยนและคำแนะนำแก่เอ็มมาเกี่ยวกับครอบครัวเธอและความรับผิดชอบของเธอในศาสนจักร

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:1–3

พระเจ้าตรัสว่าเอ็มมาเป็นสตรีที่ทรงเลือกไว้

ก่อนชั้นเรียน ให้นักเรียนสามคนทำความคุ้นเคยกับเรื่องย่อต่อไปนี้เกี่ยวกับชีวิตและอุปนิสัยของเอ็มมา สมิธ ภรรยาของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ เริ่มชั้นเรียนโดยเชิญนักเรียนทั้งสามบอกสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับเอ็มมา สมิธ ท่านอาจต้องการให้ดู รูปภาพของเอ็มมา สมิธ (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], หน้า 88; ดู LDS.orgด้วย)

ภาพ
เอ็มมา สมิธ
  1. เอ็มมาช่วยโจเซฟ สมิธระหว่างแปลพระคัมภีร์มอรมอน

    ไม่นานหลังจากเอ็มมา เฮลแต่งงานกับโจเซฟ สมิธ เทพโมโรไนบอกโจเซฟว่าถึงเวลาที่เขาต้องได้รับแผ่นจารึกทองคำแล้ว เช้าตรู่วันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1827 โจเซฟกับเอ็มมานั่งเกวียนไปเนินเขาคาโมราห์ด้วยกัน โจเซฟได้รับแผ่นจารึกที่นั่น เพราะการข่มเหงในนิวยอร์ก โจเซฟกับเอ็มมาจึงย้ายไปฮาร์โมนีย์ รัฐเพนน์ซิลเวเนีย พวกท่านซื้อที่ดินจากบิดามารดาของเอ็มมา ที่นั่นในฮาร์โมนีย์ ท่านศาสดาพยากรณ์เริ่มแปลแผ่นจารึก เอ็มมาทำหน้าที่เป็นผู้จดชั่วคราวขณะโจเซฟแปล จนถึงเวลานี้โจเซฟได้รับบัญชาว่าท่านไม่ควรให้ใครเห็นแผ่นจารึก แม้แต่เอ็มมา ถึงแม้เอ็มมาจะเห็นแผ่นจารึกวางอยู่บนโต๊ะคุลมด้วยผ้าลินิน แต่เธอไม่เคยเปิดผ้าดูแผ่นจารึกเลย

  2. เอ็มมาประสบเรื่องสลดใจ ความปวดร้าวใจ และการข่มเหง

    ขณะอยู่ในฮาร์โมนีย์ รัฐเพนน์ซิลเวเนีย เอ็มมาให้กำเนิดบุตรชายชื่ออัลวินที่มีชีวิตอยู่ไม่นาน ตัวเอ็มมาป่วยหนักมาก และโจเซฟกลัวเธอจะเสียชีวิต เมื่ออาการทุเลา เธอทราบข่าวที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักว่ามาร์ติน แฮร์ริสเพื่อนของโจเซฟทำต้นฉบับหาย 116 หน้า แม้สุขภาพอ่อนแอ แต่เอ็มมาก็ปลอบสามีที่ใจแหลกสลายผู้สูญเสียอำนาจในการแปล ท่านทั้งสองรอคอยพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับการแปลแผ่นจารึก ต่อมาเธอถูกบีบให้ออกจากบ้านในฮาร์โฮนีย์เพราะคำขู่จากคนประสงค์ร้าย

  3. วันที่เอ็มมารับบัพติศมา โจเซฟถูกจับ

    ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1830 โจเซฟกับผู้เชื่อกลุ่มเล็กๆ สร้างทำนบในลำธารใกล้โคลสวิลล์ รัฐนิวยอร์กเพื่อสร้างสระน้ำให้ลึกพอจะประกอบพิธีบัพติศมา แต่คนร้ายกลุ่มหนึ่งเข้ามาพังทำนบก่อนจะประกอบพิธี วันต่อมา วิสุทธิชนสร้างทำนบขึ้นใหม่และประกอบพิธีบัพติศมาให้ 13 คน รวมทั้งเอ็มมา สมิธ คืนนั้น ก่อนประกอบพิธียืนยัน โจเซฟถูกจับข้อหา “ก่อความวุ่นวาย” (History of the Church, 1:88) ท่านถูกไต่สวนและพ้นผิด แต่หลังจากสอบสวนแล้วท่านถูกตำรวจจากเทศมณฑลใกล้เคียงจับอีกครั้งทันทีด้วยข้อหาเดิม ท่านได้รับการปล่อยตัวอีกครั้ง เพราะการต่อต้านงานเผยแผ่ศาสนามีมาไม่ขาดสาย สมาชิกศาสนจักรจึงต้องเลื่อนการประชุมยืนยันออกไป เอ็มมาไม่ได้รับการยืนยันเป็นสมาชิกของศาสนจักรและไม่ได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์จนถึงต้นเดือนสิงหาคม ปลายเดือนมิถุนายน ระหว่างบัพติศมากับการยืนยันเธอ โจเซฟได้รับการเปิดเผยตรงถึงเอ็มมา ซึ่งเวลานี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับเอ็มมา สมิธเมื่อท่านเรียนรู้ประสบการณ์บางอย่างของเธอ

ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:1–3 ในใจโดยมองหาคำและวลีที่อาจจะปลอบใจเอ็มมาได้ เชิญนักเรียนสองสามคนรายงานสิ่งที่พบและอธิบายว่าเหตุใดพวกเขาจึงคิดว่าคำหรือวลีเหล่านั้นอาจปลอบใจเอ็มมาได้

  • การรู้ว่าท่านเป็นบุตรหรือธิดาในอาณาจักรของพระเจ้าช่วยท่านในยามยากลำบากอย่างไร

  • พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับเอ็มมาถ้าเธอจะซื่อสัตย์และ “เดินในวิถีแห่งคุณธรรม”

  • ท่านคิดว่า “เดินในวิถีแห่งคุณธรรม” หมายความว่าอย่างไร บุคคลจะได้รับความคุ้มครองโดยเดินในวิถีแห่งคุณธรรมได้อย่างไร

ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่วลี “สตรีที่เราเลือกไว้” ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:3 ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายวลีนี้ อธิบายว่าเมื่อจัดตั้งสมาคมสงเคราะห์ในปี 1842 (เกินสิบปีหลังจากได้รับการเปิดเผยนี้) เอ็มมา สมิธได้รับเรียกเป็นประธานคนแรกขององค์การ คราวนั้นศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอ่านการเปิดเผยที่อยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25 ต่อจากนั้นท่านอธิบายว่าเอ็มมาเป็นสตรีที่ “เลือกไว้” เพราะเธอได้รับ “เลือกให้ทำงานอย่างหนึ่ง … และการเปิดเผยเกิดสัมฤทธิผลหลังจากนั้นเมื่อ [เธอ] ได้รับเลือกเป็นประธานของสมาคม เธอได้รับแต่งตั้งก่อนแล้วให้อรรถาธิบายพระคัมภีร์” (ใน History of the Church, 4:552–53)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:4–16

เอ็มมา สมิธได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับครอบครัวและหน้าที่ของเธอในศาสนจักร

เขียน คำต่อไปนี้ บนกระดานและเชื้อเชิญให้นักเรียนลอกลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

คำแนะนำ

การเรียก

คำสัญญา

เชื้อเชิญให้นักเรียน อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:4–16 ในใจ และมองหาวลีหรือแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับประเภทต่างๆ สามประเภทบนกระดาน (พวกเขาอาจจะทำเป็นส่วนตัวหรือกับคู่ก็ได้) ขอให้พวกเขาเขียนสิ่งที่พบไว้ใต้ประเภทที่เหมาะสม (ตัวอย่างเช่น ในข้อสี่ พระดำรัสแนะนำของพระเจ้าว่า “อย่าพร่ำบ่น” เพราะเธอไม่เห็นแผ่นจารึกน่าจะอยู่ในประเภทคำแนะนำ) หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนสนทนาคำถามต่อไปนี้เป็นกลุ่มเล็กๆ ท่านจะเขียนคำถามไว้บนกระดานหรือเตรียมเป็นเอกสารแจกให้แต่ละกลุ่มก็ได้ ท่านอาจต้องการมอบหมายให้ผู้นำการสนทนาในแต่ละกลุ่มถามคำถามและกระตุ้นให้นักเรียนแต่ละคนมีส่วนร่วม

  • วลีหรือแนวคิดใดแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงรู้จักและรักเอ็มมา สมิธ อธิบายว่าแต่ละวลีหรือแนวคิดเป็นหลักฐานยืนยันความรักของพระเจ้าอย่างไร

  • หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:16 เป็นคำประกาศของพระเจ้าว่าพระองค์ทรงประสงค์จะให้ประยุกต์ใช้คำแนะนำและคำสัญญาในภาคนี้กับเราด้วย ท่านเรียนรู้บทเรียนอะไรบ้างจากพระดำรัสของพระเจ้าต่อเอ็มมา (เมื่อท่านค้นพบความจริงเหล่านี้ ให้จดไว้)

หลังจากกลุ่มสนทนาคำตอบของคำถามเหล่านี้แล้ว ขอให้พวกเขารายงานหลักธรรมที่ค้นพบใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:4–16 ต่อชั้นเรียน คำตอบของพวกเขาอาจรวมถึงหลักธรรมต่อไปนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน (แม้พวกเขาอาจจะใช้คำพูดต่างกัน)

เราต้องละทิ้งสิ่งต่างๆ ของโลกและแสวงหาสิ่งที่เป็นนิรันดร์

เมื่อเรานมัสการพระเจ้าผ่านเพลงที่ชอบธรรม พระองค์จะทรงอวยพรเรา

เราสามารถพบปีติและการปลอบโยนได้ในการแนบสนิทกับพันสัญญาที่เราทำไว้กับพระผู้เป็นเจ้า

หากเราจะรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าอยู่เสมอ เราจะได้รับมงกุฎแห่งความชอบธรรม

ขณะนักเรียนรายงานสิ่งที่ค้นพบ ให้สนทนาคำตอบของพวกเขากับชั้นเรียน ทำตามการนำทางของพระวิญญาณขณะท่านเชื้อเชิญให้นักเรียนอธิบายสิ่งที่พวกเขาพบและแบ่งปันข้อคิดและตัวอย่าง คำถามและคำแนะนำด้านล่างอาจเป็นประโยชน์ขณะที่ท่าน นำการสนทนานี้

เราต้องละทิ้งสิ่งต่างๆ ของโลกและแสวงหาสิ่งที่เป็นนิรันดร์ (ดู คพ. 25:10)

  • ท่านคิดว่าคำแนะนำให้สิ่งที่เป็นนิรันดร์มาก่อนสิ่งต่างๆ ของโลกนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อเอ็มมาอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะภรรยาของโจเซฟ สมิธ (อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าอธิบายว่าเอ็มมา เฮลได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวที่ร่ำรวย แต่หลังจากแต่งงาน เธอมักจะมีชีวิตอยู่ในสภาพแร้นแค้นมาก)

  • คำแนะนำให้สิ่งที่เป็นนิรันดร์มาก่อนสิ่งต่างๆ ของโลกเป็นประโยชน์ต่อเราทุกวันนี้อย่างไร

  • ผู้คนมีแนวโน้มจะให้สิ่งใดของโลกมาก่อนพระผู้เป็นเจ้า

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสวงหาสิ่งที่เป็นนิรันดร์

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาให้สิ่งทางโลกมาก่อนพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

เมื่อเรานมัสการพระเจ้าผ่านเพลงที่ชอบธรรม พระองค์จะทรงอวยพรเรา (ดู คพ. 25:12)

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ สิ่งหนึ่งที่พระเจ้าทรงเบิกบานคืออะไร พระองค์ตรัสอะไรเกี่ยวกับพรที่มาผ่าน “เพลงจากคนชอบธรรม”

  • ท่านได้รับพรใดบ้างอันเนื่องจากการนมัสการพระเจ้าผ่านเพลงที่เหมาะสม

ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้นักเรียนตั้งเป้าหมายฟังเพลงที่เหมาะสมและคู่ควร กระตุ้นให้พวกเขามองหาพรที่จะมาเมื่อพวกเขาทำเป้าหมายนี้ให้ลุล่วง

เราสามารถพบปีติและการปลอบโยนได้ในการแนบสนิทกับพันธสัญญาที่เราทำไว้กับพระผู้เป็นเจ้า (ดู คพ. 25:13)

ท่านอาจต้องการอธิบายว่าวลี “แนบสนิทกับพันธสัญญา” หมายถึงยึดถือหรือยึดมั่นคำสัญญาที่เราทำไว้กับพระผู้เป็นเจ้า

นึกถึงคนรู้จักที่ยังคงซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาของเขาแม้ในยามยากลำบาก

  • ความซื่อสัตย์นั้นเป็นพรแก่เขาอย่างไร

  • ท่านเคยได้รับพรเพราะท่านซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาที่ทำไว้เมื่อใด

เชื้อเชิญให้นักเรียนคิดว่าพวกเขาจะรื่นเริงใจและแน่วแน่ต่อพันธสัญญาของพวกเขาได้อย่างไร

หากเราจะรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าอยู่เสมอ เราจะได้รับมงกุฎแห่งความชอบธรรม (ดู คพ. 25:15)

อธิบายว่าวลี “มงกุฎแห่งความชอบธรรมเจ้าจะได้รับ” หมายถึงการได้รับความสูงส่งในอาณาจักรซีเลสเชียล (ดู คพ. 29:13ด้วย)

  • คำสัญญานี้จะช่วยคนที่ประสบมาแล้วหรือกำลังประสบกับช่วงเวลายากลำบาก ได้อย่างไร

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเชื่อฟังอย่างต่อเนื่องไม่ใช่แค่เป็นช่วงๆ

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะปรับปรุงการเชื่อฟังอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร ท่านอาจต้องการขอให้พวกเขาเขียนความคิดลงในสมุดจดหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

หลังจากสนทนาความจริงเหล่านี้จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 25 กับชั้นเรียนแล้ว ให้นักเรียนพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนและจดสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้พวกเขาทำโดยใช้สิ่งที่เรียนรู้ในชั้นเรียนวันนี้ กระตุ้นให้พวกเขาทำตามความรู้สึกเหล่านี้